10/12/2024
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2557 หรือเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งสหราชอาณาจักร (PETA UK) ได้ทำการเผยแพร่ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “เผยความลับสุดช็อกของการท่องเที่ยวช้างของไทย (Uncovers Shocking Secrets of Thailand’s Elephant Tourism)” ซึ่งมีเนื้อหาโจมตีวิถีการเลี้ยงช้างไทยในประเด็นต่าง ๆ
ซึ่งนอกจากจะมีการกล่าวหาว่าช้างไทยนั้นถูกบังคับให้อยู่อาศัยในที่แคบ ๆ ถูกล่ามโซ่ ใช้ตะขออย่างทารุณ และไร้สวัสดิภาพสัตว์ ถูกบังคับให้ทำงานหนัก จนช้างตกอยู่ในสภาวะเครียดจัด และมีปัญหาด้านสุขภาพ อีกทั้งยังมีการสัมภาษณ์ เล็ก-แสงเดือน ชัยเลิญ เจ้าของปางช้าง ENP และประธานมูลนิธิอนุรักษ์สัตว์และสิ่งแวดล้อม
โดยในสารคดีดังกล่าวนั้น นอกจากจะมีการโจมตีปางช้างอื่น ๆ แล้ว ยังมีการกล่าวเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลีกเลี่ยงสถานที่กักขังสัตว์และเลือกประสบการณ์การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์แทน
ซึ่งในตอนหนึ่ง เล็ก-แสงเดือนกล่าวว่าควาญช้างนั้นสร้างปัญหาเอาไว้มาก และในบางครั้งก็มีการให้ยาเสพติดกับช้างด้วย
ทั้งนี้ ได้มีโทรศัพท์เข้าไปสอบถามนางวาสนา ชัยเลิศ ทองสุข เจ้าของปางช้างแม่แตงว่าเป็นความจริงหรือไม่ ที่มีการใช้ยาเสพติดกับช้าง เพื่อให้ช้างทำงานหนักได้ทนทานมากยิ่งขึ้น ซึ่งเธอตอบว่า หากมีการให้ยาเสพติดแก่ช้างจริง ต้องเกิดเหตุช้างคลั่งจนวุ่นวายชนิดควบคุมไม่ได้ ซึ่งรุนแรงกว่าคนติดยาคลั่งหลายเท่า ดังนั้นเรื่องนี้ไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน
สำหรับก่อนหน้านี้นั้น PETA เคยร้องเรียนต่อวุฒิสภาของไทย ว่ามีการทารุณกรรมช้างไทย ในปี 2545 โดยอ้างอิงวีดีโอ ซึ่งมีเล็ก-แสงเดือนเป็นผู้จัดทำ และมีผลการสอบสวนออกมาว่า ภาพที่ปรากฏในคลิปทั้งหมดนั้นเป็นการจัดฉากให้พิธีผ่าจ้าน ซึ่งเป็นประเพณีของควาญช้างในภาคเหนือให้ดูมีความรุนแรงเกินกว่าความเป็นจริง และลูกช้างในคลิปนั้นไม่ได้ถูกทารุณกรรมแต่อย่างใด
อีกทั้งในปี 2563 PETA นั้น ได้ทำการผลิตสื่อโจมตีการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ของไทย ด้วยเนื้อหาที่ไม่เป็นข้อเท็จจริงหลายครั้ง และโหมกระแสจนกระทั่งเกิดการคว่ำบาตรกะทิจากประเทศไทยในปี 2565 จนทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกไปเป็นจำนวนมาก และถูกประเทศคู่แข่งเข้าแย่งชิงตลาดในยุโรปและสหรัฐไปแทน
ซึ่งในปี 2563 ในขณะที่ PETA เริ่มโจมตี ลิงเก็บมะพร้าวของไทยนั้น นายสมชัย สุวรรณบรรณ ได้เขียนบทความเรื่อง “ลิงเก็บมะพร้าวในไทยกับการรณรงค์พิทักษ์สัตว์ในอังกฤษ” ผ่านเว็บไซต์ 101 World กล่าวถึงเรื่องนี้ ก่อนที่จะมีการกล่าวถึงการเลี้ยงสัตว์อื่น ๆ ในประเทศไทย เช่นการเลี้ยงไก่เพื่อเป็นอาหาร, ไก่ชน และปลากัด โดยระบุว่าสิ่งเหล่านี้นั้น “สวนทางกับสิ่งที่มักจะอ้างกันอย่างเคยชินว่าเป็นเมืองพุทธ”
ซึ่งแน่นอนว่า กระแสการโจมตีที่ผ่านมาเหล่านั้น ได้กระตุ้นให้สังคมไทยคิดคำนึงถึงการให้สวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น จนกระทั่งเกิดการผลักดันให้เกิดการประกาศบังคับใช้ พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ขึ้น
อีกทั้งยังทำให้เกิดความตื่นรู้ในสังคมไทย อย่างในกรณีล่าสุด ที่สังคมมีการตั้งคำถามต่อกรณีที่มีการวางยาสลบให้กับแมวในซีรียส์เรื่อง “แม่หยัว” กันอย่าล้นหลาม
อย่างไรก็ดี สังคมเองก็ควรจะตั้งคำถามถึงวิธีการโจมตีประเทศไทยด้วยข้อมูลเท็จ ซึ่งนอกจากจะทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เกิดความเสียหายแล้ว ยังเป็นการทำลายเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำลายผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศอีกด้วย
เราจำเป็นที่จะต้องสร้างเรื่องเท็จ ที่ทำให้คนทั้งประเทศเสียผลประโยชน์ ด้วยการอ้างว่าเพื่อการสร้างกระแสตื่นรู้กันจริงหรือ ?
#ช้าง