31/05/2024
“การพูดเรื่องเพศให้เป็นวิชาการ พูดเพศในองค์ความรู้จากคนไทย ไม่ใช่จากฝรั่ง... ‘รัก-ใคร่’ เป็นคำคู่กัน คนไทยเราจะเน้นเรื่องรัก เราไม่ค่อยพูดเรื่องใคร่”
“ตำราสังวาสส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบตัวเขียนบนใบลานและสมุดไทย บางเล่มได้คัดลอกลงสมุดฝรั่งด้วยลายมือของผู้คัดลอก ฉบับพิมพ์ค่อนข้างหายาก เพราะพิมพ์ในวงการแคบ ๆ ไม่เผยแพร่มากนัก เช่น พระตำรับมวยบ้าน เหตุผลหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเนื้อหาที่เป็นคู่มือการสังวาสใช้คำศัพท์และคำบรรยายตรงไปตรงมา หมิ่นเหม่ต่อคำนิยม ไม่สุภาพ เกินกว่าจะนำมาพิมพ์ขายได้ตามแผงหนังสือปกติต่างจากตำรานรลักษณ์ซึ่งมักรวมอยู่ในตำราโหราศาสตร์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของตำราแพทย์แผนไทย” บางส่วนจากบทความ “มวยในบ้าน และตำราเพศ” ในสมุดจดปกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2477
ปาจารยสาร ปีที่ 53 ฉบับที่ 1 ประจำเดือน มกราคม - พฤษภาคม 2567 จะพาทุกท่านไปหมกมุ่นเรื่องเพศ และเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ในแวดวงวิชาการ ว่ามีการบันทึกไว้อย่างไรบ้าง ในอดีตนั้น ตำราเพศศาสตร์เปรียบเสมือนคู่มือการสังวาสของชนชั้นสูง โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ซึ่งมีพระสนมเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องเรียนรู้ทั้งตำรานรลักษณ์และตำราสังวาส ถึงแม้ในศิลปะศาสตร์ 18 ประการ วิชาที่พระมหากษัตริย์ต้องเรียนรู้จะไม่มีกามศาสตร์รวมอยู่ด้วยก็ตาม (สุกัญญา สุจฉายา, 2564) กองสาราณียกร ภูมิใจนำเสนอให้ผู้อ่านได้สัมผัสเรื่องราวอันร้อนฉ่า ผ่านบทความเรื่องเพศในเล่มนี้ นอกจากจะมอบเกร็ดความรู้เรื่องเพศศึกษาแล้ว แง่มุมมิติเรื่องเพศในทางประวัติศาสตร์ อาจชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามอยู่มิใช่น้อย
ท่านที่สนใจ สามารถสั่งซื้อปาจารยสาร ฉบับ #ตำราเพศ ในปก #รัฐธรรมนูญ ได้ทาง inbox หรือคอมเมนท์ไว้ที่ใต้โพสได้เลย
เล่มละ 130 บาท (รวมค่าส่งแล้ว)