The Econ News เพจรวบรวมข่าวเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจที่น่าสนใจ Economic and Social News You can TRUST

23/09/2021

📰 เริ่มแล้ว กสทช.สั่งค่ายมือถือบล็อกส่ง SMS หลอกลวง ลามก เงินกู้ พนันออนไลน์

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.เป็นต้นไป โอเปอเรเตอร์ทุกรายได้แก่ AIS TRUE DTAC NT และ 3BB จะบล็อก SMS ที่มีเนื้อหาหลอกลวง ลามกอนาจาร สินเชื่อออนไลน์ และเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ รวมถึงให้แชร์ข้อมูล SMS ลักษณะดังกล่าวระหว่างกัน แล้วกำหนดเป็นแบล็คลิส เพื่อให้ทุกค่ายดำเนินการบล็อก SMS จากผู้ส่งรายเดียวกันด้วย

ทั้งนี้ หากสำนักงาน กสทช. ได้รับแจ้งจากโอเปอเรเตอร์ว่า บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งให้บริการขายต่อ SMS กับผู้ให้บริการด้านเนื้อหาเป็นผู้ส่ง SMS ที่มีลักษณะเนื้อหาหลอกลวง ลามกอนาจาร สินเชื่อออนไลน์ และเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ สำนักงาน กสทช. จะตรวจสอบและพิจารณาลงโทษทางปกครอง ตั้งแต่ เตือน ปรับ พักใช้ใบอนุญาต โดยโทษสูงสุดคือ การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการและจะดำเนินคดีตามกฎหมายกับบริษัทด้วย

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. จะนำข้อมูลเกี่ยวกับ SMS ดังกล่าว ทั้งชื่อผู้ส่ง เนื้อหา ตัวอย่างข้อความ เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. www.nbtc.go.th เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกหลอกลวง รวมทั้งอาจถูกแฮก หรือขโมยข้อมูลจนนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์ได้
………..
👍 ฝากติดตาม The Paper Thailand ด้วยนะจ๊ะ... หรือติดตามเราผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ทั้ง Youtube ▶️ Twitter 🕊 blockdit 🅱️ ได้ด้วยจ้า... ❤..........
#กสทช #หลอกลวง

22/09/2021
21/09/2021

เคาะกรอบลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 65 ทั้ง 44 แห่ง วงเงินดำเนินการ 1.48 ล้านล้านบาท
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ก.ย. 2564 เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง ภายใต้สังกัด 15 กระทรวง ประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงินดำเนินการ (วงเงินสำหรับให้รัฐวิสาหกิจใช้เป็นกรอบลงนามในสัญญาเพื่อลงทุน) จำนวน 1.48 ล้านล้านบาท (1,485,456 ล้านบาท) และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน (วงเงินที่มีการเบิกจ่ายจริงเพื่อใช้ดำเนินการตามสัญญา) จำนวน 3.07 แสนล้านบาท (307,479 ล้านบาท) ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ซึ่งได้มีการทบทวนและปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ความจำเป็น และความพร้อมในการลงทุน
ทั้งนี้ เมื่อรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทในเครือ จำนวน 5 แห่ง รวมรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 49 แห่ง แล้ว ทำให้ในภาพรวมจะมีการลงทุนตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่องในปี 2565 มีวงเงินดำเนินการจำนวน 1.51 ล้านล้านบาท (1,512,726 ล้านบาท) และวงเงินเบิกจ่ายลงทุนจำนวน 4.68 แสนล้านบาท (468,833 ล้านบาท)
น.ส.รัชดา กล่าวว่า เงินลงทุนของรัฐวิสากิจทั้ง 44 แห่งนี้ จะทำให้ เกิดการขยายตัว GDP ของประเทศไทยได้ร้อยละ 0.17 % หากรวมรัฐวิสาหกิจอีก 5 แห่ง GDP จะเกิดการขยายตัว 0.31% ช่วยให้เกิดการจ้างงานในระบบกว่า 1.63 แสนคน และนำเงินส่งรายได้ให้แก่รัฐ 1.24 แสนล้านบาท..
#มติครม #งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ

21/09/2021

อนุมัติอีก 838 โครงการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก 6 จังหวัด
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 21 ก.ย. 2564 ได้เห็นชอบโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข็มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากครั้งที่6 รวม 6 จังหวัด รวม 838 โครงการ กรอบวงเงิน 1,942 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ตามบัญชีท้ายพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 พร้อมทั้งให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565
ทั้งนี้ 6 จังหวัดที่ได้รับอนุมัติงบประมาณครั้งนี้ ประกอบด้วย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สกลนคร ชัยนาท ราชบุรี และสุพรรณบุรี ซึ่งโครงการที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด 834 โครงการนี้ แยกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1)กลุ่มโครงการพัฒนาสินค้าท่องเที่ยว บริการและการค้า 21 โครงการ 2)กลุ่มโครงการยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร 21 โครงการ 3)โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน 13 โครงการ และ 4)โครงการที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน 779 โครงการ
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับนั้น คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงาน 16,836 คน มีผู้ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 1,356,370 คน ไม่น้อยกว่า 102,723 ครัวเรือน รวมถึงช่วยยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้า ทักษะและความรู้ในการประกอบอาชีพ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวและการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจในหมู่บ้านและชุมชน
ทั้งนี้ เมื่อรวมผลการพิจารณากลั่นกรองโครงการตั้งแต่ครั้งที่ 1-6 ทำให้มีจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว 76 จังหวัด รวม 9,350 โครงการ มีเงินเข้าหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 21,847.23 ล้านบาท
ในวันเดียวกันนี้ ครม.ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 427.17 ล้านบาท เพื่อให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) นำไปใช้จ่ายในการเยียวยาการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า
การดำเนินการเยียวยาดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จูงใจให้มีการนำตู้สินค้าเปล่าเข้ามาในประเทศไทยเพื่อบรรจุสินค้าส่งออก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศในช่วงที่ภาคการส่งออกกำลังฟื้นตัว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กทท. ได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนม.ค.-มี.ค. 2564 โดยการปรับลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้าผ่านท่าเรือ 2 แห่ง ในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู ประกอบด้วย
ท่าเรือกรุงเทพ ระหว่างเดือนม.ค.-มี.ค. 2564 มีปริมาณตู้สินค้าเข้า 5,087.25 ทีอียู ใช้วงเงินสนับสนุน 5.08 ล้านบาท และท่าเรือแหลมฉบัง ระหว่างเดือนม.ค.-มี.ค. 2564 มีปริมาณตู้สินค้าเข้า 422,085.25 ทีอียู ใช้วงเงินสนับสนุน 422.08 ล้านบาท รวมท่าเรือ 2 แห่ง มีปริมาณตู้สินค้าเข้า 427,172.50 ทีอียู วงเงินสนับสนุนรวม 427.17 ล้านบาท ..
#มติครม #ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก #โควิด19 #การท่าเรือแห่งประเทศไทย

21/09/2021

ครม. เคาะงบกลาง 2.7 หมื่นล้านอุดหนุนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-ผู้พิการ พร้อมเตรียมเปิดลงทะเบียนรอบใหม่
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 21 ก.ย. 2564 อนุมัติงบกลาง ปี 2564 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 27,005.66 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการดูแลประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนี้
1) วงเงิน 2,018 ล้านบาท เพื่อขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ/ค่าไฟ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 (12 เดือน) -กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกัน 3 เดือน ให้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรี ตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน กรณี ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย/เดือน ให้ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ในวงเงิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน กรณีใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด ครอบคลุม 1.9 ล้านครัวเรือน
สนับสนุนค่าน้ำประปา วงเงิน 100 บาท /ครัวเรือน /เดือน ในกรณีใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท โดยส่วนเกินต้องชำระด้วยตนเอง และกรณีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ รับภาระในการชำระค่าน้ำประปาเองทั้งหมด ครอบคลุมประมาณ 186,625 ครัวเรือน
2) วงเงิน 18,815 ล้านบาท สนับสนุน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยความพิการ ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ โดยผู้มีสิทธิที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับ 200 บาท/คน/เดือน ในส่วนผู้มีสิทธิที่มีรายได้ ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับ 300 บาท/คน/เดือน และได้รับส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 55บาท/คน/3 เดือน
ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาทิ ค่าโดยสาร ขสมก. ระบบ e-Ticket /รถไฟฟ้า บขส. รถไฟ ประเภทละ 500 บาท/คน/เดือน และเบี้ยความพิการ จำนวน 1,000 บาท/คน/เดือน อีกด้วย
3) วงเงิน 1,642 ล้านบาท ดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) เพื่อรองรับกระบวนการลงทะเบียนรอบใหม่ โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียนของหน่วยรับลงทะเบียน และค่าใช้จ่ายในการผลิตและบริหารจัดการบัตรฯ
4) วงเงิน 4,530.66 ล้านบาท สำหรับจัดสรรสวัสดิการแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีบัตรฯ และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้ผู้สมัครรอบใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

“การช่วยเหลือลดอัตราค่าน้ำ/ค่าไฟ ตลอดจนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลห่วงใยเพื่อให้สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ รวมทั้งการยกระดับและพัฒนา คุณภาพชีวิตแก่ประชาชนให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี" นายธนกร กล่าว..
#มติครม #โควิด19 #บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

21/09/2021

ครม.วางขอบเขตโครงการใช้เงินกู้ฯ ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด19 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ว่า ครม.เห็นชอบกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 (แผนงานที่ 3) วงเงิน 170,000 ล้านบาท ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือ สถานประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการทั่วไป แรงงานในระบบ ประชาชนทั่วไป เกษตรกร สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร) วิสาหกิจชุมชน ผู้ว่างงาน และวัยแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยขอบเขตโครงการที่จะขอใช้เงินกู้ฯ ต้องมีลักษณะเพื่อเป้าหมายอย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
1.เพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และส่งเสริมการจ้างงานของ SMEs หรือในชุมชน ลักษณะโครงการเกี่ยวกับการสร้างรายได้และอาชีพ ให้กับประชาชนในชุมชนพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ วงเงินเบื้องต้น 70,000 ล้านบาท
2.เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการในสาขาที่ไทยมีความได้เปรียบและมีศักยภาพในการพัฒนา และสามารถกระจายผลประโยชน์ไปสู่ระดับฐานราก ลักษณะโครงการเกี่ยวกับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ยกระดับประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตและบริการโดยมีการประยุกต์ใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการลงทุนที่สามารถเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะระดับชุมชนและ SMEs เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก
3.เพื่อกระตุ้นการบริโภคกระตุ้นตลาด และพยุงอุปสงค์ให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลักษณะโครงการเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนหรือครัวเรือน กระตุ้นให้เกิดการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องทั้งนี้ วงเงินเบื้องต้นในข้อ 2 และข้อ 3 รวมกัน 100,000 ล้านบาท
สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินงาน แบ่งช่วงการพิจารณาอย่างน้อย 2 รอบ คือ รอบที่ 1 เริ่มเดือนตุลาคม 2564 กรอบวงเงิน 100,000-120,000 ล้านบาท รอบที่ 2 เริ่มเดือนมีนาคม 2565 กรอบวงเงิน 50,000-70,000 ล้านบาท ส่วนผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คือ 1.สามารถรักษาการจ้างงานผู้ประกอบการ SMEs ในระบบประกันสังคมได้ประมาณ 3.9 แสนราย
2.เกิดการยกระดับประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตและบริการ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะระดับชุมชนและ SMEs ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนและท้องถิ่น 3.สามารถพยุงระดับการบริโภคภายในประเทศเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19..
#มติครม #โควิด19 #พรกเงินกู้5แสนล้าน

21/09/2021

กำหนดความผิดเกี่ยวกับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานตามกฎหมายคนเข้าเมืองเป็นความผิดมูลฐานการฟอกเงิน
วันที่ 21 ก.ย. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ และให้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและรับความเห็นกระทรวงยุติธรรมที่มีความเห็นว่าให้ดำเนินการให้เกิดความสอดคล้องระหว่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราบการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง จากนั้นส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มเติมบทนิยามของความผิดมูลฐาน โดยกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นความผิดผลฐานในการกระทำผิดฐานฟอกเงินด้วย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ จะทำให้กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของไทยมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน(Financial Action Task Force :FATF) แนะนำให้แต่ละประเทศปฏิบัติ ลดช่องว่างทางกฎหมายในการประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำให้การปราบปรามการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การมีกฎหมายที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล ย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล ผู้ประกอบการ และนักลงทุนจากต่างประเทศในการเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อการสร้างงานสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
พร้อมกันนี้ ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมง โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล(ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2561 ซึ่งปัจจุบันกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพการจ้างแรงงานและสภาพการทำงานในเรือประมงทะเล
สำหรับรายละเอียดสำคัญที่ปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ กำหนดห้ามนายจ้าง จ้างลูกจ้างที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในเรือประมง และกำหนดให้นายจ้างดำเนินการจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพัก จัดทำสัญญาจ้าง นำลูกจ้างซึ่งเป็นคนประจำเรือกลับเข้ามาในราชอาณาจักร และจัดทำทะเบียนลูกจ้าง จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุด, กำหนดให้ยื่นคำร้องว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง, กำหนดให้มีการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุด กำหนดให้จ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเป็นค่าจ้างรายเดือน และจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างผ่านบัญชีธนาคารของลูกจ้าง
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำปี มีสิทธิลาป่วย และให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศเนื่องจากการทำงาน, กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีอาหาร น้ำดื่มที่มีคุณภาพถูกสุขลักษณะในปริมาณที่เพียงพอ อุปกรณ์หรือระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม และให้ความรู้แก่ลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการทำงาน การใช้เครื่องมือ สุขภาพอนามัย สภาพความเป็นอยู่บนเรือ และอุปกรณ์ความปลอดภัยบนเรือก่อนการทำงาน และหากนายจ้างได้จัดทำสัญญาจ้าง ทะเบียนลูกจ้างในงานประมงทะเลตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล(ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2561 ให้ถือว่านายจ้างได้จัดทำสัญญาจ้างและทะเบียนลูกจ้างตามกฎกระทรวงนี้แล้ว...
#มติครม #ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน #ปปง #แรงงานประมง

21/09/2021

ครม.ไฟเขียวยืดเวลาลดเงินสมทบประกันเงินประกันสังคมอีก 3 เดือนถึง พ.ย.64 พร้อมปรับปรุงเราเที่ยวด้วยกัน-ทัวร์เที่ยวไทย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่21 ก.ย. 2564 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขยายเวลาปรับลดอัตราจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 1 กันยายน -30 พฤศจิกายน 2564 ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ในส่วนผู้ประกันตนตาม ม. 39 ให้ปรับลดอัตราจ่ายเงินสมบทจากเดิมในอัตราเดือนละ 432 บาท ลดลงเหลือ 235 บาท /เดือน โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 64 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การลดเงินสมทำดังกล่าวทำให้ผู้ประกันตนในระบบจ่ายเงินสมทบลดลงเป็น 10,721 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายลดลงเป็น 9,629 ล้านบาท ส่งผลดีต่อผู้ประกันตนทำให้สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่าย ช่วยเสริมสภาพคล่องได้ประมาณ 945 – 1,575 บาทต่อคน และนายจ้าง มีสภาพคล่องขึ้น เพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้
นายธนกร กล่าวว่า ครม.ยังได้เห็นชอบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับปรุงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” และ “โครงการทัวร์เที่ยวไทย” โดยเปลี่ยนแปลงระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินโครงการฯ ทั้ง 2 โครงการ เป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 และกำหนดให้ประชาชนใช้สิทธิ์ได้ไม่เกินวันที่ 31 มกราคม 2565 พร้อมให้ ททท. เร่งรัดการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน รายละเอียด ดังนี้
1. “โครงการทัวร์เที่ยวไทย” ปรับ 2 หลักเกณฑ์ ได้แก่ (1) เปลี่ยนแปลงการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัด สามารถเดินทางได้ทุกวัน จากเดิมเดินทางได้เฉพาะวันอาทิตย์ – พฤหัสบดี (2) เพิ่มรายการนำเที่ยว เป็น 30 รายการต่อบริษัท จากเดิม 15 รายการต่อบริษัท โดย ททท. ได้เตรียมความพร้อมสำหรับแพลตฟอร์มการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว
2. “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” ขณะนี้ได้เตรียมเปิดลงทะเบียนสำหรับผู้ประกอบการที่จะสมัครเข้าร่วม โครงการตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน – 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ คาดการณ์ ว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการและให้ประชาชนใช้สิทธิท่องเที่ยวในเดือนตุลาคม นี้
นายธนกร กล่าวว่า ในส่วนของรายละเอียดโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 คือ รัฐสนับสนุนค่าโรงแรม 40% (ไม่เกิน 3,000 บาท/ ห้อง/คืน) สนับสนุนคูปองอาหาร 600 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 40% (ไม่เกิน 2,000 บาท หรือ 3,000 บาท โดยดูตามเงื่อนไขของแต่ละจังหวัด) ส่วนโครงการทัวร์เที่ยวไทย นั้น รัฐสมทบเงินให้ 40% ของราคาแพ็กเกจท่องเที่ยว หรือไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน
ทั้งนี้ จากสถานการณ์โรคโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การปรับปรุงรายละเอียดของทั้ง 2 โครงการจะส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ จึงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการที่พัก/โรงแรม/ ร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆ ปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการต่าง ๆ ของ ศบค. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการควบคุม ป้องกันโรค ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงในช่วงระหว่างดำเนินโครงการ ททท. ก็สามารถขอยุติดำเนินโครงการฯ ได้ ทั้ง 2 โครงการ ...
#มติครม #ลดเงินสมทบประกันสังคม #เราเที่ยวด้วยกัน

07/09/2021

ครม. เปิดหวูดเลือกตั้งท้องถิ่น คาด เลือก อบต. ทั่วประเทศ ปีนี้
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของ อปท. ได้แก่ อบต. กทม. และเมืองพัทยา ซึ่งทั้งกระทรวงมหาดไทยเตรียมพร้อมด้านงบประมาณ และ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งออกระเบียบและประกาศ กกต. พร้อมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้ด้วยแล้ว
กระทรวงมหาดไทยจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ขององค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา โดยกำหนดรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ไว้ในข้อบัญญัติรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมสำหรับกรณีการจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง ได้ดำเนินการออกระเบียบและประกาศ กกต. ดำเนินการสรรหา กกต. ประจำอปท. ครบทุก อปท. แล้ว พร้อมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้ด้วยแล้ว
นายธนกรฯ ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นว่า หากมีความพร้อม ก็อาจพิจารณาสมควรให้มีการเลือกตั้ง อบต. ทั่วประเทศ ภายในปีนี้ โดยได้มอบให้กกต. พิจารณากรอบระยะเวลาที่เหมาะสม สำหรับการเลือกตั้ง กทม. และเมืองพัทยา จะมีพิจารณา ในลำดับต่อไป .....
#เลือกตั้งท้องถิ่น #เลือกตั้งอบต #มติครม

07/09/2021

เคาะเพิ่มวงเงินเยียวยานายจ้าง-ลูกจ้าง ม. 33 เป็น 17,912 ล้านบาท 13 จังหวัดสีแดงเข้มรับเพิ่มอีก 1 เดือน
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปลี่ยนแปลงรายละเอียด โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการและแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ดังนี้
1. ขยายกรอบวงเงินจาก 17,050.4 ล้านบาท เป็น 17,912.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 862.2 ล้านบาท จากการปรับปรุงจำนวนนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ 29 จังหวัด โดยมีนายจ้างจำนวน 226,394 ราย เพิ่มขึ้น 18,900 รายและผู้ประกันตน ม. 33 จำนวน 3,877,936 ราย เพิ่มขึ้น 400,375 ราย ซึ่งเป็นผลจากการขยายเวลาให้นายจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 16 จังหวัด สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ ยังขยายระยะเวลาในการเบิกจ่ายและดำเนินโครงการฯ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม นี้
2. อนุมัติเงิน 16,103.3 ล้านบาท ช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด เพิ่มเติม 1 เดือน (สิงหาคม) แบ่งเป็น 1) ช่วยเหลือนายจ้างจำนวน 194,660 ราย โดยจ่ายให้ 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,257 ล้านบาท 2) ช่วยเหลือผู้ประกันตนตาม ม. 33 สัญชาติไทย จำนวน 3,538,530 คน โดยจะจ่ายให้ 2,500 บาท/คน/เดือน เป็นจำนวนเงิน 8,846.3 ล้านบาท โดยจะเริ่มโอนเงินเยียวยาภายในเดือนกันยายน 2564 นี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นการอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 16,965.5 ล้านบาท เดิมที่อนุมัติไปแล้ว (เมื่อวันที่ 10 ส.ค.) จำนวน 17,050.4 ล้านบาท ทำให้โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ที่ประกอบด้วยการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม. 33 ในพื้นที่ 13 จังหวัดในระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.- ส.ค.) และในพื้นที่ 16 จังหวัด ระยะเวลา 1 เดือน (ส.ค.) มีกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 34,015.9 ล้านบาท
“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังห่วงใยกลุ่มผู้ขับแท็กซี่และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มผู้ขับแท็กซี่ และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันมาตรา 40 เนื่องจากมีคุณสมบัติอายุเกินที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างครอบคลุมด้วย” นายธนกรฯ กล่าว.....
#เยียวยานายจ้างลูกจ้าง #ม33 #มติครม #โควิด19

07/09/2021

ครม.เห็นชอบแนวทางการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศหลังอินทัช โฮลดิ้งส์ หมดสัมปทานสิ้นก.ย.นี้
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2564 ว่า ครม.เห็นชอบแนวทางการดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และปัจจุบันชื่อบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)) เป็นผู้ได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ มีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 10 กันยายน 2564 สำหรับแนวทางดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศมีรายละเอียด ดังนี้
1.กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (สัญญาฉบับที่ 5) เห็นควรให้ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นใน บมจ. ไทยคม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ในปี 2547 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์) ในบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อย 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และ บมจ. ไทยคม ผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร การที่สัญญาหลักระบุให้บริษัทต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เป็นไปเพื่อให้บริษัทคู่สัญญามีอำนาจควบคุมการบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของรัฐ
2.กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา โดยกำหนดให้ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญา และดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
3.ครม.เห็นชอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตั้งคณะทำงานในการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการที่ผ่านมา ว่าเกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขและผู้รับผิดชอบ เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป.....
#ดาวเทียมไทยคม #ไอพีสตาร์ #มติครม

30/08/2021

ครม.อนุมัติ 4,745 ล้านบาท จัดซี้อ วัคซีนไฟเซอร์ 9.99ล้านโดส
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 ม.ค. 2564 ได้อนุมัติ วงเงิน 4,745 ล้านบาท สำหรับการจัดซื้อ วัคซีน ไฟเซอร์ จำนวน 9,998,820 โดส เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่กลุ่มเป้าหมายหลัก 6 กลุ่มได้แก่ เด็กอายุ 12 - 17 ปี /หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป / บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า (ฉีดกระตุ้นภูมิเข็มที่หนึ่ง) /ผู้สูงอายุและผู้มีและกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง/ ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง และผู้ที่มีความจำเป็นต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศเช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬานักการทูต เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อจัดหาวัคซีน โควิด-19 แล้วจำนวน 80 ล้านโดส วงเงิน 22, 990 ล้านบาทแบ่งเป็นการจัดซื้อจัดหาวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ชิโนแว็กซ์ จำนวน 19 ล้านโดสและบริษัทไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดส
ส่วนการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 9.9 ล้านโดสนี้ ช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนจำนวนอย่างน้อย 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 เพื่อช่วยประชาชนให้เข้าถึงวัคซีน โควิด-19 ตามนโยบายของรัฐสร้างภูมิคุ้มกันโรค ลดอัตราการป่วยและการเสียชีวิตรวมทั้งเป็นการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็วด้วย .....
#วัคซีนไฟเซอร์ #โควิด19 #มติครม

30/08/2021

ครม.เห็นชอบการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 30 ส.ค. 2564 เห็นชอบการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมอบหมายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ดำเนินการดังนี้ คือ
1.เรื่องมาตรการรับมือฤดูฝน 10 มาตรการ เช่น ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ, บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก, ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ, เตรียมพร้อม วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่ฝนน้อยกว่าค่าปกติ, ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 625 แห่ง ดำเนินการไปแล้ว 400 แห่ง, ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา เป็นต้น
2.การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำผ่านระบบบริหารจัดการ แผนงานโครงการ และฐานข้อมูลสำหรับบูรณาการแผนงานเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ หรือระบบ Thai Water Plan (TWP)
3.เรื่องการจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำผ่านระบบ Thai Water Resources(TWR)
4. เรื่องแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการขนาดเล็กด้านทรัพยากรน้ำ และ
5. เรื่องการทบทวนบทบาทภารกิจหน่วยงานในการบริหารทรัพยากรน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นเป้าหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561-2580).....
#แผนบริหารจัดการน้ำ #มติครม

30/08/2021

คืบหน้า Factory Sandbox นำร่องดูแลแรงงาน 9.2 หมื่นคน สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 ส.ค. 2564 ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการนำร่องการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งโครงการนี้เป็นการดำเนินการภายใต้แนวคิด “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข”โดยมุ่งเน้นให้สถานประกอบการ กิจการ โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ (แรงงาน 500 คนขึ้นไป) ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด19
สำหรับการดำเนินการโครงการ Factory Sandbox ในพื้นที่เป้าหมาย จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี ระยะที่ 2 อยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ซึ่งจะมุ่งเป้าไปยังกลุ่มสถานประกอบการ 4 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.ยานยนต์ 2.ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ 3.อาหาร และ 4.อุปกรณ์การแพทย์ โดยขับเคลื่อนภายใต้ 4 หลักการสำคัญคือ
1.ตรวจ ดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด19 ด้วยวิธี RT-PCR แรงงานในสถานประกอบการทุกคน เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจโดยชุดตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
2.รักษา สถานประกอบการจัดให้มีสถานพยาบาลขึ้นดังนี้ 1)สถานแยกกักตัว (Factory Isolation: FAI) และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว 2)โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และ3)ICU สำหรับผู้ป่วยสีแดง
3.ดูแล ดำเนินฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ให้แรงงาน โดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนท้อง และออกใบรับรอง "โรงงานสีฟ้า" เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน
4.ควบคุม ให้สถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ(Bubble and Seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTT)
เบื้องต้น ข้อมูล ณ วันที่ 24 ส.ค. 2562 มีสถานการประกอบการร่วมโครงการ โดยลงนามทำข้อตกลง (MOU) แล้วจำนวน 46 แห่ง และมีสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 4 แห่ง สามารถดูแลผู้ประกันได้จำนวน 9.2 หมื่นคน นอกจากนี้ การดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด19 ด้วยวิธี RT-PCR ได้ดำเนินการตรวจเชื้อในสถานประกอบการแล้วจำนวน 11 แห่ง มีผู้ประกันตนที่ได้รับคัดกรอง จำนวน 1.2 หมื่นคน
น.ส.รัชดา กล่าวว่า การดำเนินโครงการ Factory Sandbox นี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการ 1)รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตส่งออก ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 7แสนล้านบาท 2)ป้องกันคลัสเตอร์โรงงานจากการติดเชื้อ สร้างสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ 3.สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 4.รักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิตส่งออกได้กว่า 3ล้านตำแหน่ง และจากที่เริ่มดำเนินโครงการ สมาคมผู้ประกอบการญี่ปุ่นในพื้นที่ชลบุรี-ระยอง ได้ทำหนังสือขอบคุณมายังนายกรัฐมนตรีด้วย......
#มติครม #โควิด19

30/08/2021

ขยายกรอบวงเงินเยียวยาผู้ประกันตน 29 จังหวัดเป็น 77,785 ล้านบาท
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 30 ส.ค. 2564 ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินสำหรับเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และ มาตรา 40 ในพื้นที่ 29 จังหวัด จาก 33,471 ล้านบาท เป็น77,785.06 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 44,314.05 ล้านบาท
ทั้งนี้ การเยียวยาตามโครงการจะครอบคลุมผู้ประกันตน 9,385,930 คน แยกเป็ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,436,171 คน และผู้ประกันตน มาตรา 40 จำนวน 7,949,759 คน อัตราการให้ความช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน
นอกจากนี้ ครม.ได้อนุมัติกรอบวงเงิน 2,909 บาท สำหรับดำเนินโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 3 จำนวน 1,766 โครงการ ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ แพร่ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อำนาจเจริญ พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี และสระแก้ว ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน 29,765 คน และมีผู้ที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 3,535,704 คน หรือไม่น้อยกว่า 8,354 ครัวเรือน
รวมทั้งยังเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้า ทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจในหมู่บ้านและชุมชนด้วย ......
#มติครม #เงินเยียวยาผู้ประกันตน #โควิด19

30/08/2021

ครม.อนุมัติงบกลาง 105 ล้านบาท ให้กรมประชาสัมพันธ์ใช้จ่ายในโครงการรณรงค์เอาชนะโควิด
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 105.59 ล้านบาท ให้กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เอาชนะโควิดตามมาตรการเร่งด่วน (Thailand Prevention) สำหรับผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์เพื่อการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบอันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) เฉพาะกิจกรรมที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการในระยะเร่งด่วน หรือภายในเดือนธันวาคม2564 โดยคำนึงถึงความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ กรมประชาสัมพันธ์ระบุว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 โดย เฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบมหาศาลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งเกิดการเผยแพร่ข่าวปลอม การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร(Fake News) เป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เข้าใจผิด และอาจเกิดปัญหาความขัดแย้งบานปลายได้
ดังนั้น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว รวมทั้งการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ มาตรการแก้ไขปัญหา วิธีปฏิบัติตน และการรับการเยียวยาจากภาครัฐ จึงเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นเร่งด่วน ที่กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะหน่วยงานสื่อภาครัฐต้องเร่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานสื่อทุกภาคส่วนของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาพรวมประสบความสำเร็จ สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อ สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน......
#มติครม #กรมประชาสัมพันธ์ #โควิด19

ที่อยู่

Bangkok
10110

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ The Econ Newsผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

แชร์

ประเภท


สื่อ อื่นๆใน Bangkok

แสดงผลทั้งหมด