ข่าวเกษตร

  • Home
  • ข่าวเกษตร

ข่าวเกษตร ข่าวสารเกี่ยวกับการเกษตร ฯลฯ

28/08/2024
กรมพัฒนาที่ดินแนะแผนรับมือภัยดินโคลนถล่มในช่วงฤดูฝน พร้อมแนวทางฟื้นฟูดินในพื้นที่การเกษตร-------------------------------...
28/08/2024

กรมพัฒนาที่ดินแนะแผนรับมือภัยดินโคลนถล่มในช่วงฤดูฝน พร้อมแนวทางฟื้นฟูดินในพื้นที่การเกษตร
---------------------------------------
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกในปัจจุบัน (Climate Change) ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เกิดฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย สำหรับในประเทศไทยได้เกิดเหตุการณ์ดินถล่ม สร้างความเสียหาย และการเสียชีวิตของประชาชนจำนวนหลายครั้ง โดยที่สำคัญเมื่อปี พ.ศ.2531 เกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่มที่ อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช และปี พ.ศ.2544 เกิดเหตุการณ์ดินถล่มขนาดใหญ่ที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งภายหลังเกิดเหตุส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสูญหาย ทรัพย์สินและบ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจพบว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยดินโคลนถล่ม จะมีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน อยู่ใกล้ลำน้ำ เป็นทางของน้ำป่าไหลผ่าน มีรอยดินเลื่อนหรือแยกจากการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นบ่อยครั้ง ประกอบกับเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน หรือนานกว่า 6 ชั่วโมง ก่อนเกิดเหตุดินโคลนถล่มจะมีสัญญาณความผิดปกติของธรรมชาติ เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำและลำห้วยเพิ่มสูงขึ้น น้ำมีสีขุ่นมากกว่าปกติ เปลี่ยนเป็นสีเดียวกับสีดินบนภูเขา ดินมีสภาพอิ่มน้ำ หรือชุ่มน้ำมากกว่าปกติ
กรมพัฒนาที่ดินมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรจึงแนะแนวทางและมาตรการรับมือกับภัยดินโคลนถล่มในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันและช่วยลดความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1) ก่อนเกิดภัย ให้หมั่นสังเกตความผิดปกติของธรรมชาติดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีประวัติดินถล่ม เกิดน้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลันบ่อยครั้ง หากได้รับสัญญาณเตือนภัย ให้อพยพไปในพื้นที่สูงและมั่นคง ตามเส้นทางที่จัดเตรียมไว้
ระยะที่ 2) เพิ่มศักยภาพพื้นที่ให้สามารถรับมือกับภัยดินถล่มที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การทำขั้นบันไดดิน ทำคันคูรับน้ำขอบเขา สร้างฝายชะลอความเร็วน้ำ ปลูกหญ้าแฝกเพื่อให้รากของหญ้าแฝกช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย รวมทั้งปลูกพืชหมุนเวียน
ระยะที่ 3) รักษาฟื้นฟูสภาพดิน ปลูกพืชคลุมดิน ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ปลูกไม้ยืนต้นบริเวณป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมเพื่อรักษาหน้าดินและชะลอความแรงของน้ำ ป้องกันดินถล่มในระยะยาว
ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินได้ติดตามสถานการณ์ และข้อมูลพยากรณ์อากาศ พร้อมเฝ้าระวังและแจ้งข่าวสารให้กับเกษตรกรเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยที่อาจเกิดขึ้นอย่างรู้เท่ากันสถานการณ์ โดยสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์:irw101.ldd.go.th หรือทาง Facebook NCARP Disaster
-------------------------------------

ไทย สปป.ลาว เมียนมา ร่วมรับรองแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (พ.ศ.2567-...
28/08/2024

ไทย สปป.ลาว เมียนมา ร่วมรับรองแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (พ.ศ.2567-2573)
--------------------------------
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า เมื่อปี 2566 ประเทศไทย สปป.ลาว และเมียนมา ได้ประกาศยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) เพื่อร่วมกันจัดการปัญหาหมอกควันข้ามแดน และได้พัฒนาแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (พ.ศ. 2567 - 2573) ซึ่งเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 จึงมีการประชุมเพื่อรับรองแผนดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2567 ซึ่งการประชุมรับรองแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (พ.ศ.2567 – 2573) มีอธิบดีสถาบันค้นคว้าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว อธิบดีกรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมียนมา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย และผู้แทนจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งของไทย สปป.ลาว และเมียนมา เข้าร่วมประชุม ซึ่งแผนปฎิบัติการร่วมฉบับนี้มีกรอบการดำเนินงานหลักใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การควบคุมและดับไฟจากการเผาในที่โล่ง การคาดการณ์และติดตามตรวจสอบสถานการณ์หมอกควัน การจัดการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันข้ามแดนของกฎหมายแต่ละประเทศ
"ผลจากการประชุมครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะนำแผนปฏิบัติการร่วมฯ ไปสู่การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างสามประเทศอย่างเป็นทางการโดยเร็วและในอนาคต โดยกรมควบคุมมลพิษ จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และประเทศไทยจะเชิญรัฐมนตรีจาก สปป.ลาว และเมียนมา มาร่วมกันเปิดตัวแผนปฏิบัติการดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป" นางสาวปรีญาพร กล่าว
----------------------------------
#กรมควบคุมมลพิษ #คพ. #สิ่งแวดล้อม #ยุทธศาสตร์ฟ้าใส #หมอกควันข้ามแดน

วช. ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาหลอดพลาสติกชีวภาพ สู่เป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน--------------------------------     ดร.วิภารัตน์ ...
28/08/2024

วช. ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาหลอดพลาสติกชีวภาพ สู่เป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน
--------------------------------
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือระหว่าง วช.กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมควบคุมมลพิษ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อพัฒนาหลอดพลาสติกชีวภาพ ผ่านการวิจัยแบบครบวงจรตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการเสนอแนวทางการจัดการหลังการใช้งาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม และรองรับการเปลี่ยนแปลงพลวัตรของสภาพแวดล้อมในประเทศและบริบทของโลก โดยมี นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายทัพพ์เทพ จีระอดิวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันลงนามในครั้งนี้ ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)“ ครั้งที่ 19 ณ เวทีกิจกรรม Highlight Stage ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดย วช. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผลักดันโครงการวิจัยผลิตหลอดพลาสติกชีวภาพจากวัตถุดิบภายในประเทศ เช่น ข้าวโพดและอ้อย เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกและส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ หลอดพลาสติกชีวภาพชนิดที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้บริโภคทุกกลุ่ม ความร่วมมือครั้งนี้คาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ถึง 3,000 ตันต่อปี และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตรไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล
ด้าน นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงความสำคัญในกาาร่วมมือ ว่า หลอดดูดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเป็นปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสัตว์น้ำที่กลืนกินเข้าไป กรมควบคุมมลพิษจึงมีแผนลดและเลิกใช้หลอดพลาสติกตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก แม้ว่าจะสามารถลดการใช้หลอดพลาสติกได้ 33% แล้ว แต่ปัญหาเรื่องการรีไซเคิลหลอดพลาสติกยังคงมีอยู่ เนื่องจากต้นทุนสูงและกระบวนการที่ซับซ้อน แผนปฏิบัติการระยะที่ 2 จึงมุ่งเน้นไปที่การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนอาหาร เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องกำจัด และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพลาสติกชีวภาพให้มีประสิทธิภาพและต้นทุนที่เหมาะสม ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการจัดการขยะพลาสติกตาม Roadmap ที่กำหนดไว้
ขณะที่ ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้วิจัยหลอดพลาสติกชีวภาพจากวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายผลิตในระดับอุตสาหกรรม ต้นทุนต่ำ สลายตัวได้ง่าย และมีการจัดการหลังการใช้งานอย่างยั่งยืน โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก วช. และร่วมมือกับภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อพัฒนาหลอดพลาสติกชีวภาพให้เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยข้อมูลจากการวิจัยจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตสอดคล้องกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย หลอดพลาสติกชีวภาพที่พัฒนาขึ้นไม่เพียงแต่ลดปริมาณขยะและมลพิษเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตรไทยและส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เป้าหมายต่อไปคือการขยายผลสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากวัสดุชีวภาพ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับสากล
------------------------------------

สทนช.ประกาศ ฉบับที่ 12/2567 เรื่องเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำโขง------------------------------     น...
28/08/2024

สทนช.ประกาศ ฉบับที่ 12/2567 เรื่องเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำโขง
------------------------------
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 12/2567 เรื่องเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำโขง ทั้งนี้ ด้วยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง พบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และปัจจุบันมีน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในอัตรา 17,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร แนวถนน ชุมชน และผู้ประกอบกิจกรรมบริเวณริมน้ำโขง ในช่วงวันที่ 28 สิงหาคม - 1 กันยายน 2567 โดย สทนช. ได้คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ดังนี้
1. จังหวัดเชียงราย พบว่า บริเวณสถานีเชียงแสน ปัจจุบันระดับน้ำ 6.98 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 5.51 เมตร แนวโน้มทรงตัว

2. จังหวัดเลย พบว่า บริเวณสถานีเชียงคาน ปัจจุบันระดับน้ำ 14.91 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.09 เมตร คาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 1.00 - 1.75 เมตร และมีแนวโน้มล้นตลิ่ง ในวันที่ 29 สิงหาคม 2567 (สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.25 - 0.50 เมตร) จะส่งผลกระทบบริเวณอำเภอเชียงคาน (ตำบลเชียงคาน นาซ่าว บุฮม และปากตม) อำเภอปากชม (ตำบลปากชม ห้วยพิชัย และหาดคัมภีร์)

3. จังหวัดหนองคาย และจังหวัดบึงกาฬ พบว่า บริเวณสถานีหนองคาย ปัจจุบันระดับน้ำ 12.18 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.02 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 2.00 - 2.50 เมตร และมีแนวโน้มล้นตลิ่ง ในวันที่ 29 สิงหาคม 2567 (สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.80 – 1.50 เมตร) ส่งผลกระทบบริเวณอำเภอเมืองฯ (ตำบลกวนวัน ค่ายบกหวาน ในเมือง บ้านเดื่อ ปะโค พระธาตุบังพวน โพธิ์ชัย มีชัย เมืองหมี วัดธาตุเวียงคุก สีกาย หนองกอมเกาะ หาดคำ และหินโงม) อำเภอท่าบ่อ (ตำบลกองนาง ท่าบ่อ น้ำโมง บ้านเดื่อ บ้านถ่อนโพนสา และหนองนาง) อำเภอเฝ้าไร่ (ตำบลหนองหลวง) อำเภอโพนพิสัย (ตำบลกุดบง จุมพล ชุมช้าง ทุ่งหลวงนาหนัง วัดหลวง สร้างนางขาว และเหล่าต่างคำ) อำเภอรัตนวาปี (ตำบลบ้านต้อน พระบาทนาสิงห์ โพนแพง และรัตนวาปี) อำเภอศรีเชียงใหม่ (ตำบลบ้านหม้อ พระพุทธบาท พานพร้าว และหนองปลาปาก) อำเภอสังคม (ตำบลแก้งไก่ บ้านม่วง ผาตั้ง และสังคม) จังหวัดบึงกาฬ บริเวณอำเภอเมืองฯ (ตำบลโคกก่อง ไคสี ชัยพร โนนสมบูรณ์ โนนสว่าง บึงกาฬ วิศิษฐ์ และหอคำ) อำเภอเซกา (ตำบลโสกก่าม) อำเภอบึงโขงหลง (ตำบลดงบัง และท่าดอกคำ) อำเภอบุ่งคล้า (ตำบลโคกกว้าง บุ่งคล้า และหนองเดิ่น) อำเภอปากคาด (ตำบลนากั้ง นาดง โนนศิลา และปากคาด)

4. จังหวัดนครพนม พบว่า บริเวณสถานีนครพนม ปัจจุบันระดับน้ำ 10.44 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.56 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 1.50 - 2.00 เมตร และคาดการณ์ระดับน้ำจะมีแนวโน้มล้นตลิ่ง ในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 (สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.30 - 0.60 เมตร) ส่งผลกระทบบริเวณอำเภอเมืองฯ (ตำบลขามเฒ่า คำเตย ดงขวาง ท่าค้อ นาราชควาย ในเมือง บ้านกลาง หนองญาติ หนองแสง และอาจสามารถ) อำเภอท่าอุเทน (ตำบลไชยบุรี ท่าจำปา ท่าอุเทน โนนตาล พนอม พะทาย รามราช เวินพระบาท และหนองเทา) อำเภอธาตุพนม (ตำบลกุดฉิม ดอนนางหงส์ ธาตุพนม ธาตุพนมเหนือ นาถ่อน นาหนาด น้ำก่ำ ฝั่งแดง พระกลางทุ่ง และแสนพัน) อำเภอบ้านแพง (ตำบลนาเข นางัว บ้านแพง ไผ่ล้อม โพนทอง หนองแวง) อำเภอเรณูนคร (ตำบลนาขาม โพนทอง เรณูใต้ หนองย่างชิ้น) อำเภอศรีสงคราม (ตำบลหาดแพง)

5. จังหวัดมุกดาหาร พบว่า บริเวณสถานีมุกดาหาร ปัจจุบันระดับน้ำ 9.72 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 2.78 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 1.50 - 1.90 เมตร (ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.04 เมตร) ในวันที่ 1 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบบริเวณอำเภอเมืองฯ (ตำบลนาสีนวน บางทรายใหญ่ มุกดาหาร และศรีบุญเรือง) อำเภอหว้านใหญ่ (ตำบลชะโนด ดงหมู บางทรายน้อย ป่งขาม และหว้านใหญ่)

6. จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า บริเวณสถานีโขงเจียม ปัจจุบันมีระดับน้ำ 10.53 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 3.97 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 2.50 - 2.80 เมตร (ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.40 เมตร) ในวันที่ 1 กันยายน 2567
ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงด้านท้ายเขื่อนไซยบุรี สปป.ลาว ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว และจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โปรดประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชน และผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่เสี่ยงริมแม่น้ำให้รับทราบและเตรียมความพร้อมจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงระมัดระวังการสัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง รวมทั้งให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่ีอาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำโขง ประกาศ ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2567
-----------------------------

สทนช.ประกาศ ฉบับที่ 12/2567 เรื่องเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำโขง นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ร....

สศก.โชว์ผลการจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสานสำเร็จ -------------------------------     นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเ...
28/08/2024

สศก.โชว์ผลการจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสานสำเร็จ
-------------------------------
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามผลการจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสาน ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติทดแทนสารเคมีทางการเกษตร มีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเจ้าภาพ ซึ่งด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงถือเป็นศัตรูพืชสำคัญที่ทำลายภายในเมล็ดของผลมะม่วง โดยในช่วงระหว่างปี 2561 - 2566 ได้พบด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงในผลผลิตมะม่วงไทยที่ส่งออกไปยังสาธารณรัฐเกาหลี จากผลผลิตพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ฉะเชิงเทรา พิษณุโลก พิจิตร และกำแพงเพชร ส่งผลทำให้มะม่วงถูกสั่งทำลายทิ้ง สร้างความเสียหายให้ผู้ประกอบการส่งออก และเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงของไทย เนื่องจากถูกระงับนำเข้า มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดทำแปลงเรียนรู้การจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสาน ร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ระบาด เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้และสามารถกำหนดรูปแบบการจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสานที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
จากการลงพื้นที่ติดตามของ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ตามโครงการส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน กาฬสินธุ์ และชัยภูมิ พบว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ได้คัดเลือกแปลงปลูกมะม่วงที่พบการระบาดของด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง จังหวัดละ 1 แปลง รวม 4 แปลง และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงส่งออกที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมกิจกรรม โดยจัดทำแปลงเรียนรู้การจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสาน ได้แก่ การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย การใช้พลาสติกสีเหลืองหรือฟิล์มยืดพันพาเลทพันรอบโคนต้นแล้วทาด้วยกาวเหนียวดักแมลง เพื่อป้องกันด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงขึ้นไปผสมพันธุ์ที่ช่อดอก และการใช้สารชีวภัณฑ์ (เชื้อราเมตาไรเซียม) อัตราส่วน 500 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ต่อมะม่วง 10 ต้น ความถี่ 15 วันต่อครั้ง ในระยะติดผลอ่อน (หลังจากช่อดอกโรย) จนถึงมะม่วงเข้าไคล (เข้ากะลา) เพื่อกำจัดด้วงงวงเจาะเมล็ดวางไข่ในดิน การใช้ถังพลาสติกสีดำแขวนด้วยฟีโรโมนล่อด้วง และการใช้สารสกัดสะเดาฉีดพ่นในอัตราส่วน 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ความถี่ 7 วันต่อครั้ง และการห่อผลมะม่วงด้วยถุงคาร์บอน ภายหลังเข้าร่วมโครงการ (ปีการผลิต 2567) พบว่า ปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดและป้องกันด้วงงวงเจาะลดลง เหลือเฉลี่ย 1.39 ลิตรต่อไร่ จากก่อนเข้าร่วมโครงการ (ปีการผลิต 2566) ที่มีการใช้สารเคมีเฉลี่ย 1.93 ลิตรต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 28) สำหรับค่าใช้จ่ายในการกำจัดและป้องกันด้วงงวงเจาะลดลง เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 901 บาทต่อไร่ จากก่อนเข้าร่วมโครงการมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,258 บาทต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 28) ซึ่งเป็นผลมาจากการนำสารสกัดสะเดาและสารชีวภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุน มาใช้ในแปลงของตนเอง ร่วมกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องและปลอดภัย ด้านผลผลิต พบว่า หลังเข้าร่วมโครงการฯ ผลผลิตมีคุณภาพ ความเสียหายจากการทำลายของด้วงงวงเจาะลดลง เหลือ 633.51 กิโลกรัมต่อไร่ จากปีก่อนที่พบผลผลิตเสียหาย 1,477.16 กิโลกรัมต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 57) เนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสานอย่างเป็นระบบตลอดฤดูการผลิต ทำให้ไม่พบการระบาดของด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง เป็นผลให้มะม่วงมีคุณภาพดีขึ้น ด้านราคา เกษตรกรจำหน่ายได้ราคาเพิ่มขึ้น โดยราคาเฉลี่ย 28.14 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาเฉลี่ยปีก่อน 18.21 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 55) และกลุ่มเกษตรกรมีการขยายแหล่งจำหน่ายผลผลิตจากโรงรับซื้อมะม่วง (ล้งมะม่วง) และตลาดกลางค้าส่งขนาดใหญ่ สู่โรงงานแปรรูปผลไม้ และส่งออกผลผลิตไปยังประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย ฮ่องกง จีน และตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ ภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติทดแทนสารเคมีทางการเกษตรในระยะต่อไป นอกจากการจัดทำแปลงเรียนรู้ และการสนับสนุนปัจจัยควบคุมศัตรูพืชแล้ว ควรขยายกลุ่มเป้าหมายการจัดการด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแบบผสมผสานให้ครอบคลุมพื้นที่ระบาดอื่น ๆ ร่วมกับการส่งเสริมการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อลดปัญหาด้วงงวงเจาะกับมะม่วงที่ส่งออกไปยังปลายทาง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพิ่มมาตรการตรวจรับรองมาตรฐานให้เข้มงวดขึ้น เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่พบการระบาด สามารถติดต่อขอคำแนะนำการป้องกันและจำกัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องในเบื้องต้นได้จากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช 9 ศูนย์ใกล้บ้านท่าน หรือติดต่อมายังกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เบอร์โทรศัพท์ 0 2940 6190
-----------------------------

28/08/2024

ธ.ก.ส. นำอาหารและสินค้าเกษตรคุณภาพ มาจำหน่ายในงาน “BAAC Food Fair” 28-30 ส.ค.นี้
----------------------------
นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ ในฐานะโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้จัดงานตลาดนัดของดี วิถีชุมชนลูกค้า ธ.ก.ส. ประจำเดือนสิงหาคม 2567 ภายใต้ Theme “BAAC Food Fair” เพื่อเปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าของเกษตรกร ผู้ประกอบการลูกค้า ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้อยู่ดี กินดี อย่างยั่งยืน โดยภายในงานรวบรวมอาหารพร้อมรับประทานจาก 4 ภาค สินค้าเกษตร ผักผลไม้อินทรีย์นานาชนิด และผลิตภัณฑ์แปรรูปคุณภาพได้มาตรฐานจากฟาร์มเกษตรกรโดยตรงกว่า 60 ร้านค้า อาทิ กาแฟชายเก๋ จ.ชุมพร กะหรี่ปั๊บตามเอก จ.เพชรบุรี น้ำพริกหนุ่มแม่ศรีนวล จ.ลำพูน เจ๊ติ้งซาลาเปาทับหลี จ.ระนอง น้องแหวนขนมไทยโบราณ กรุงเทพฯ เฮียเคี้ยง เฉาก๊วย จ.ภูเก็ต กล้วยปิ้งแม่ต่าย จ.ปทุมธานี น้ำอ้อยไร่ไม่จน จ.ราชบุรี อุ๋งอิ๋งไส้กรอกสมุนไพร จ.นนทบุรี งบทะเลปิ้งย่าง จ.ประจวบคีรีขันธ์ พอร์ชก๋วยเตี๋ยวเรือ จ.อยุธยา และนายหนุ่มขนมถ้วย จ.เพชรบุรี เป็นต้น มาให้ผู้บริโภคได้ร่วมชิม และเลือกซื้อสินค้ากันอย่างเต็มที่
ในโอกาสนี้ ธ.ก.ส.ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้สนใจมาชม ชิม ช้อป อาหารเครื่องดื่มสินค้าจากเกษตรกรตัวจริงที่มีคุณภาพ ในงาน“BAAC Food Fair” ระหว่างวันที่ 28 -30 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 07.00 – 17.00 น. ณ บริเวณด้านหน้า ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ อาคารบางเขน กรุงเทพมหานคร
-------------------------

ครอบครองปลาหมอคางดำนอกพื้นที่แพร่ระบาด โทษหนัก จับ จำคุก ปรับจริง 1–2 ล้านบาท------------------------------     นายบัญชา...
23/08/2024

ครอบครองปลาหมอคางดำนอกพื้นที่แพร่ระบาด โทษหนัก จับ จำคุก ปรับจริง 1–2 ล้านบาท
------------------------------
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ หรือ Blackchin tilapia (Sarotherodon melanotheron) ในแหล่งน้ำสาธารณะและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมือง ระบบนิเวศแหล่งน้ำ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพด้านประมงเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาหมอคางดำเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่แพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และรุกรานแก่งแย่งที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังเป็นปลาที่มีความทนทานปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก และนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ.2564 และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 โดย “ปลาหมอคางดำ” เป็นหนึ่งในสัตว์น้ำเอเลียนสปีชีส์ที่ถูกระบุไว้ในประกาศทั้ง 2 ฉบับ แต่ปัจจุบันพบแพร่ระบาดในพื้นที่ 19 จังหวัด เกิดจากการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำไปยังพื้นที่อื่นๆ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ.2567 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2567 โดยมีสาระสำคัญ คือ ห้ามมิให้บุคคลมีไว้ในครอบครองปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำมีชีวิตนอกพื้นที่การแพร่ระบาด ตามที่อธิบดีกรมประมงประกาศกำหนด ซึ่งขณะนี้มีจังหวัดที่ประกาศเป็นเขตพื้นที่ระบาดทั้งหมด 19 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 76 อำเภอ/เขต ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ชลบุรี พัทลุง และปราจีนบุรี ส่วนปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิต สามารถนำออกนอกพื้นที่ได้ แต่มีข้อกำหนดตามประกาศ ดังนี้
1. กรณีมีการครอบครองโดยการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิต มีลักษณะและแนวทางปฏิบัติ ได้แก่
1.1 การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแช่เย็นด้วยน้ำแข็ง ต้องใส่ในภาชนะบรรจุมิดชิด โดยอาจบรรจุปลาลงในถุงหรือวัสดุอื่นเพื่อป้องกันไข่ปลาสัมผัสกับน้ำ แล้ววางในภาชนะอีกชั้นหนึ่ง เช่น การบรรจุปลาลงในถุงแล้วใส่ลงกล่องโฟม หรือถังน้ำแข็ง เป็นต้น หลังจากนั้นให้ใส่น้ำแข็งให้เต็มภาชนะเพื่อให้ปลาตายสนิท ก่อนนำออกนอกพื้นที่แพร่ระบาด
1.2 การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแช่แข็ง โดยอาจจะบรรจุปลาลงในถุงแล้วนำไปแช่แข็งเพื่อให้ปลาตายสนิท ก่อนนำออกนอกพื้นที่แพร่ระบาด
1.3 การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแปรรูปเบื้องต้นแล้ว เช่น การตัดหัว ควักไส้ แล่เป็นชิ้น หมักเกลือ เป็นต้น ทั้งนี้ เศษซากของปลาที่เหลือทิ้งจากการแปรรูปห้ามทิ้งลงสู่แหล่งน้ำหรือท่อระบายน้ำทิ้ง และต้องมีการจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ปลาหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำ เช่น นำไปทำปุ๋ยชีวภาพ นำไปต้มทำอาหารสัตว์ เป็นต้น
2. กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิตเพื่อนำไปแปรรูปเป็นปลาป่น ต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้ง และอยู่ในภาชนะบรรจุมิดชิด โดยต้องมีภาชนะรองรับซากปลา เช่น ผ้าใบ ถังพลาสติก เป็นต้น เมื่อนำซากปลาใส่ลงในภาชนะแล้ว ต้องมีการปิดภาชนะให้มิดชิด เช่น คลุมทับด้วยผ้าใบหรือพลาสติก เพื่อป้องกันเศษซากร่วงหล่นในระหว่างการเคลื่อนย้าย
3. กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิต เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบตามโครงการของรัฐ เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น โดยต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้ง และอยู่ในภาชนะบรรจุมิดชิด โดยอาจมีภาชนะรองรับซากปลา เช่น ผ้าใบ ถังพลาสติก และเมื่อนำซากปลาใส่ลงในภาชนะแล้วต้องปิดภาชนะให้มิดชิด เช่น คลุมทับด้วยผ้าใบหรือผ้าพลาสติก เพื่อป้องกันเศษซากร่วงหล่นในระหว่างการเคลื่อนย้าย
4. กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิตที่กระทำโดยทางราชการ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดและกำจัดออกจากที่จับสัตว์น้ำ หน่วยงานราชการที่ดำเนินการต้องทำให้ปลาตายสนิทและบรรจุซากใส่ในภาชนะก่อนเคลื่อนย้ายซากไปทำลาย
ทั้งนี้ การล้างอุปกรณ์ ภาชนะ รวมไปถึงพาหนะในการขนส่งปลา ห้ามเทน้ำล้างอุปกรณ์ลงในแหล่งน้ำและท่อน้ำทิ้งสาธารณะ เนื่องจากไข่ปลาหมอคางดำอาจติดมาและอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำอื่นได้
ประกาศดังกล่าวนี้มีผลบังคับใช้นับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 16 สิงหาคม 2567) ทั้งนี้ หากฝ่าฝืน มีความผิดตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าหากนำปลาหมอคางดำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนทราบ เพื่อป้องกันการกระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็นปลาหมอคางดำ ขอให้รีบแจ้งมายังสำนักงานประมงจังหวัดหรือหน่วยงานกรมประมงในพื้นที่
-----------------------------------

“ชวนบริโภคลำไย ผลไม้ดีเมืองไทยภาคเหนือ” 19 - 30 ส.ค.67 ณ ตลาด อ.ต.ก. จตุจักร---------------------------------      นายปร...
23/08/2024

“ชวนบริโภคลำไย ผลไม้ดีเมืองไทยภาคเหนือ” 19 - 30 ส.ค.67 ณ ตลาด อ.ต.ก. จตุจักร
---------------------------------
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงาน “ชวนบริโภคลำไย ผลไม้ดีเมืองไทยภาคเหนือ” ภายใต้โครงการส่งเสริมตลาดผู้บริโภคผลไม้ไทย ประจำปี 2567 โดยมี นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสถาบันเกษตรกรเข้าร่วม ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 30 สิงหาคม 2567 ณ ตลาด อ.ต.ก. จตุจักร ว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายลำไยคุณภาพให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสถาบันเกษตรกร ส่งเสริมสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตร ช่วยกระจายผลผลิตลำไยของเกษตรกรออกนอกพื้นที่ เพิ่มมูลค่าทางการตลาดของผลผลิตลำไย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสถาบันเกษตรกร นำผลผลิตลำไยคุณภาพมาจัดแสดงและประชาสัมพันธ์สินค้าของตนเองหรือสมาชิกในกลุ่มให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น นำมาสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกร
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย อ.ต.ก. ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมอุดหนุนสินค้าคุณภาพในงาน “ชวนบริโภคลำไย ผลไม้ดีเมืองไทยภาคเหนือ” ทั้งลำไย ผลไม้คุณภาพ และสินค้าเด่นจากภาคเหนือเกรดพรีเมี่ยม ที่คัดสรรมาให้ช้อป ชิม กันอย่างจุใจ ตั้งแต่วันที่ 19 - 30 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น -16.00 น. ณ ตลาด อ.ต.ก. พหลโยธิน จตุจักร นอกจากนี้ ยังมีการหมุนเวียนไปจัดจำหน่ายลำไยยังหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเป็นการกระจายผลผลิตอย่างทั่วถึง โดยในวันที่ 26 สิงหาคม 2567 จัดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมทางหลวงชนบท , วันที่ 27 สิงหาคม 2567 จัดที่กระทรวงแรงงาน และกรมวิชาการเกษตร , วันที่ 29 สิงหาคม 2567 จัดที่กระทรวงมหาดไทย และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (TOT) และวันที่ 30 สิงหาคม 2567 จัดที่กระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (TOT) อีกด้วย” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
-------------------------------

23/08/2024

‘ดีป้า’ ขยายเวลารับสมัครเข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ)
---------------------------------
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ขยายเวลารับสมัครกลุ่มชุมชนและช่างชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วม โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) เพื่อรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร พร้อมพัฒนาทักษะการบินโดรน การซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรเพื่อสร้างอาชีพใหม่ ตอบโจทย์การขับเคลื่อนชุมชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้กระจายตัวและทั่วถึงในวงกว้าง เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและเพิ่มผลผลิต ตลอดจนพัฒนาไปสู่การแข่งขันเชิงธุรกิจรูปแบบใหม่อย่างยั่งยืน
สำหรับคุณสมบัติของกลุ่มชุมชนที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ต้องเป็นกลุ่มชุมชนที่มีการรวมตัวกันของสมาชิกในชุมชนและมีการจดทะเบียน หรือจัดตั้งกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การผลิต การค้า หรือบริการในชุมชน โดยมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้รับรองการจดจัดตั้งกลุ่ม หรือการรวมตัวกันดำเนินกิจกรรมตามที่กฎหมายให้อำนาจ เช่น วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ สภาองค์กรชุมชน และเกษตรแปลงใหญ่ โดยต้องมีสมาชิกในกลุ่มไม่น้อยกว่า 20 ครัวเรือน ส่วนช่างชุมชนต้องเป็นร้านให้บริการงานช่างในชุมชน หรือเป็นผู้ที่มีความรู้และชำนาญในงานช่างที่มีความต้องการเปิดธุรกิจบริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรในชุมชน
ขอเชิญชวนกลุ่มชุมชนและช่างชุมชนทั่วประเทศ ยกระดับทักษะ บินได้ ซ่อมเป็น สร้างอาชีพนักบินโดรนกับโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคม 2567 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://short.depa.or.th/u2zlb หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน โทร. 06-5442-4347, 06-5442-4729 อีเมล [email protected]
----------------------------

23/08/2024

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำปัจจุบัน ณ วันที่ 20 ส.ค.2567 ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 44,988 ล้าน ลบ.ม. (59% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 31,349 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,165 ล้าน ลบ.ม. (49% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 12,706 ล้าน ลบ.ม. ด้านสถานการณ์น้ำท่าในลุ่มน้ำสายหลักส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะปกติ โดยที่สถานีวัดน้ำ C2. อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ปริมาณน้ำมีแนวโน้มลดลง กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำทางตอนบน โดยจะรักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อทดน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เกษตรกรได้เพาะปลูกจนกว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบันมีแนวโน้มทรงตัว กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำในลำน้ำและอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกัก พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 19 -25 ส.ค.2567 ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนภาคเหนือ และประเทศลาว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 24 ส.ค.2567 จะมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบน ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับในช่วงวันที่ 23 - 25 ส.ค.2567 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง นั้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กรมชลประทาน ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำและอ่างเก็บน้ำ รวมไปถึงสถานีโทรมาตรและพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ล่วงหน้า 3-7 วัน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและการคาดการณ์ พิจารณาพร่องน้ำในลำน้ำและอ่างเก็บน้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา การประมง และพื้นที่ท้ายน้ำ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยงเพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที
------------------------------

กตส.รวมพลังขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็งด้วยบัญชี ----------------------------     นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสห...
23/08/2024

กตส.รวมพลังขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็งด้วยบัญชี
----------------------------
นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการเงินการบัญชีแก่เกษตรกรและประชาชน สามารถใช้บัญชีเป็นเครื่องมือในการวางแผนการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความสมดุลในการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงิน ต่อยอดสู่การมีเงินออม และเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 72 พรรษา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างวินัยทางการเงินภาคครัวเรือนขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็งเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ โดยน้อมนำพระราชปณิธานมาสานต่อการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยทางการเงินภาคครัวเรือน ส่งเสริมการออมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งพัฒนาและสร้างชุมชนเข้มแข็ง ตามหลักแนวคิด “บวร” (บ้านหรือชุมชน วัด และราชการ) รวมไปถึงองค์กรทุกเครือข่ายในพื้นที่ มาเป็นพลังในการขับเคลื่อนชุมชน โดยจัดให้มีกิจกรรมการ Kick off เปิดตัวโครงการและขับเคลื่อนการดำเนินงานพร้อมกันทั่วประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการโดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มุ่งหวังในการเสริมสร้างวินัยทางการเงิน ส่งเสริมการออมเงินไปสู่ประชาชนให้กว้างขวาง มีเป้าหมายคือ ชุมชนทั่วประเทศ 77 จังหวัด รวมแล้วกว่า 7,800 ราย ให้ได้รับองค์ความรู้การจัดทำบัญชีและมีเงินออม ผ่านการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ได้แก่ กิจกรรมสอนการจัดทำบัญชีรับ - จ่ายในครัวเรือน ผ่านสมุดบัญชี Smart phone กิจกรรมฝึกอาชีพเสริมรายได้ กิจกรรมเสริมสัมพันธ์ อาทิ กิจกรรมเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กิจกรรมสืบสานวัฒนธรรม และกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อกระตุ้นการออมเงินตลอดทั้งปีจนสิ้นสุดโครงการ ในเดือนธันวาคม 2567 คาดหวังว่าจะมีเงินออมรวมกันถึง 20 ล้านบาท
ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอรรถกร ศิริลัทธยากร) ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในการสร้างความเข้มแข็งและสร้างความยั่งยืนด้านการเงินการบัญชีแก่เกษตรกร ซึ่งเป็นการทำงานขั้นพื้นฐานเพื่อยกระดับเกษตรกรในทุกมิติ วางรากฐานให้ทุกภาคส่วนได้นำแนวคิดการออมอย่างมีระบบมาใช้ให้เกิดการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดกิจกรรมดังกล่าวจึงถือเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต พัฒนาสังคมและจิตใจ เพื่อสร้างวินัยทางการเงินภาคครัวเรือน ส่งเสริมการออมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงแก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งเพื่อพัฒนาและสร้างชุมชนเข้มแข็ง ทำให้ชุมชนมีความรู้และเข้าใจการจดบันทึกบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพและประกอบอาชีพของตนเองได้ ผ่านกิจกรรมฝึกอาชีพเสริมรายได้ นอกจากนี้ ยังจัดให้มีกิจกรรมเสริมสัมพันธ์ ทำให้คนในชุมชนมีความรักใคร่สามัคคี มีส่วนร่วมในการเทิดทูนสถาบันชาติ ทำนุบำรุงศาสนา มีความเสียสละในการร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสาธารณประโยชน์ตลอดจนน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต ซึ่ง ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2567มีผู้เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ประกอบด้วย เกษตรกร ประชาชน และบุคลากรของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รวมทั้งสิ้น 10,350 ราย โดยในวันที่ 5 ธันวาคม 2567 จะจัดให้มีกิจกรรม “เปิดกระปุก ปิดโครงการ” พร้อมกันทั่วประเทศผ่านระบบ Zoom และ Facebook LIVE กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
--------------------------------

กตส.รวมพลังขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็งด้วยบัญชี นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรม...

Address


Alerts

Be the first to know and let us send you an email when ข่าวเกษตร posts news and promotions. Your email address will not be used for any other purpose, and you can unsubscribe at any time.

Contact The Business

Send a message to ข่าวเกษตร:

Videos

Shortcuts

  • Address
  • Alerts
  • Contact The Business
  • Videos
  • Claim ownership or report listing
  • Want your business to be the top-listed Media Company?

Share