SHIFTER INDEPENDENT TOGETHER

06/05/2023
04/04/2023

มาร่วมค้นมายาคติ (Myth) หาคำตอบว่าอะไรคือ 'รัฐสวัสดิการ' จากปาก รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ที่จะอธิบายทีละคำถามว่าระบบที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของประชาชนเป็นแบบไหน และมีปัจจัยอะไรที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยปฏิเสธรัฐสวัสดิการ

PR : BANGKOK THROUGH POSTER โปรเจกต์ประจำปีจัดขึ้นเป็นครั้ง ที่ 4 โดย KINJAI CONTEMPORARY แกลเลอรีศิลปะและการออกแบบร่วมส...
23/03/2023

PR : BANGKOK THROUGH POSTER
โปรเจกต์ประจำปีจัดขึ้นเป็นครั้ง ที่ 4 โดย KINJAI CONTEMPORARY แกลเลอรีศิลปะและการออกแบบร่วมสมัยย่านบางพลัดที่ ต้องการเป็น ส่วนหนึ่งในการผลักดันและเปิดพื้นที่ให้กับทุกคนเพื่อสื่อสารและแสดงออกต่อสาธารณะ โดยโปรเจกต์นี้จะรวบรวมนักสร้างสรรค์มาร่วมกันเป็น กระบอกเสียงเพื่อพูด และ สื่อสารบางสิ่ง ต่อสังคมผ่านผลงานสร้างสรรค์ ในรูปแบบของโปสเตอร์ดีไซน์

โดยในปีนี้เป็นโปรเจกต์พิเศษภายใต้ความร่วมมือระหว่าง iLawโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน และ BANGKOK THROUGH POSTER เนื่องในวาระการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 เราจึงมีความตั้งใจที่จะเชิญชวนนักสร้างสรรค์มาร่วมออกแบบโปสเตอร์ที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เป็นกระบอกเสียงใน “การรณรงค์ให้ทกุคออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งปี2566” โดยเรามีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการออกไปใช้สิทธิของทุกคนจะนําประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ในครั้งนี้เราจะคัดเลือกและจัดแสดงชิ้นงานทั้งหมด 66 ชิ้น ซึ่งจะประกอบด้วย ผลงานจากนักสร้างสรรค์ที่ได้รับเชิญไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ นักวาด ศิลปิน องค์กร หรือ นักสร้างงสรรค์ประเภทอื่นๆ จำนวน 33 ชิ้น และ ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากรอบ Opencall อีกจำนวนน 33 ชิ้น โดยผลงานทั้งหมดจะถูกจัดแสดง ณ แกลเลอรี KINJAI CONTEMPORARY ในวันที่ 23 - 30 เมษายน 2566 อีกทั้งชิ้นงานทั้งหมดจะมีการนําไปโพสต์และทำแคมเปญส่งต่อให้ประชาชนได้นําไปใช้ประชาสัมพันธ์ผ่าน Hashtag #ทราบแล้วโหวต และ ช่องทางออนไลน์ต่างๆต่อไป

นอกเหนือจากการจัดแสดงโปสเตอร์ทั้ง 66 ชิ้นแล้ว ในนิทรรศการ #ทราบแล้วโหวต ยังมีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็น เสวนา workshop และ เวทีแลกเปลี่ยน ที่จะทำให้ผู้ชมเข้าใจและได้รับความรู้เกี่ยวกับการเลือกเลือกตั้งมากขึ้น รวมทั้งตลาดสุดสัปดาห์บนดาดฟ้าในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 29 - 30 เมษายน 2566 ที่จะเปิดพื้นที่ให้กับนักสร้างสรรค์และศิลปินในแขนงต่างๆได้มีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าอีกด้วย

กำหนดการและกิจกรรม
นิทรรศการ “ #ทราบแล้วโหวต | Election Through Poster 2023” และกิจกรรมต่างๆ จะจัดขึ้นระหว่างวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2566 ถึง วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2566 เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 11.00 - 19.00 น. ณ Kinjai Contemporary
ในวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2566 นี้ จะเป็นวันแรกในการจัดแสดงนิทรรศการ “ #ทราบแล้วโหวต | Election Through Poster 2023” โดยมีกำหนดการดังนี้
13.00 น. เปิดนิทรรศการ “ #ทราบแล้วโหวต | Election Through Poster 2023”
17.00 น. กิจกรรมเสวนา เวทีแลกเปลี่ยน และ กิจกรรมอื่นๆ (แจ้งรายละเอียดภายหลัง)

#ทราบแล้วโหวต #เลือกตั้ง66

ตอนอายุ 17 'ไบรอัน เอ็มมานูเอล ซูวาร์โน' เด็กหนุ่มหน้าตี๋จากอินโดนีเซียปรากฏตัวในคลิปวิดีโอ เขาใส่เสื้อโปโลชมพู กางเกงกา...
25/11/2022

ตอนอายุ 17 'ไบรอัน เอ็มมานูเอล ซูวาร์โน' เด็กหนุ่มหน้าตี๋จากอินโดนีเซียปรากฏตัวในคลิปวิดีโอ เขาใส่เสื้อโปโลชมพู กางเกงกากีขาสั้น และคาดกระเป๋าคาดเอวใบโต ซึ่งดูเป็นชุดที่เหมาะกับชายวัยกลางคนมากกว่าวัยรุ่นอย่างเขา ไบรอันนั่งๆ ยืนๆ ทำท่าพนมมือ เทเหล้าในขวดลงพื้นก่อนจะเริ่มแร็ปอย่างดุดัน เนื้อเพลงโดยรวมแสดงถึงการต่อต้านผู้มีอำนาจในสังคม (ตำรวจ) และความขบถแบบวัยรุ่น ต่อมาคนรู้จักเขาในนาม 'Rich Brian' จากค่าย '88rising'
ฮิปฮอปกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักที่วัยรุ่นทั่วโลกพร้อมโอบรับ ในเอเชียมีศิลปินฮิปฮอปทั้งใต้ดินและบนดินเกิดขึ้นทุกวัน พวกเขาใช้บีทและแร็ปในการแสดงความเป็นตัวเอง บอกเล่าประวัติศาสตร์ หรือต่อต้านความอยุติธรรมที่ตัวเองพบเจอ ฮิปฮอปเป็นเหมือนภาษาที่เชื่อมคนจากหลากหลายพื้นเพ เชื้อชาติ และฐานะเอาไว้ด้วยกัน
ทุกวันนี้ตลาดอเมริการับรู้การมีตัวตนและเปิดรับศิลปินฮิปฮอปเอเชียแล้ว ความเท่ในแบบเอเชียกลายเป็นที่ประจักษ์และน่าหลงใหล แต่กว่าจะได้ 'Asian Coolness' ที่ทุกคนรับรู้ร่วมกันแบบทุกวันนี้ ฮิปฮอปเอเชียมีความเป็นมาอย่างไร และกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางไหนกันแน่
[ จากบรองซ์สู่มะนิลา ]
วัฒนธรรมฮิปฮอปประกอบขึ้นจากหลากหลายแขนงศิลปะ แต่มีแขนงที่เป็นต้นตำรับฮิปฮอปอยู่ 4 ประเภทได้แก่ การเล่นดีเจ (DJing) การแร็ป การเต้นเบรกแดนซ์หรือบีบอย และศิลปะกราฟฟิตี้ ภายหลังศิลปะทั้ง 4 แขนงที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายฮิปฮอปแบบ OG จะส่งอิทธิพลต่อดนตรี แฟชั่น ศิลปะ ภาษา การเมือง สื่อ และอื่นๆ จนทำให้ฮิปฮอปแพร่หลายไปทั่วโลก
ฮิปฮอปถูกเผยแพร่จากย่านบรองซ์ นิวยอร์กที่ตั้งอยู่ในฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ไปสู่ฝั่งตะวันตกที่มีผู้อพยพชาวเอเชียอาศัยอยู่มาก ก่อนสายลมจะพัดพาคลื่นกระแสใหม่นี้มายังเอเชียในยุค 80 ว่ากันว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในเอเชียที่รู้จักฮิปฮอป เพราะความใกล้ชิดทางประวัติศาสตร์และการเมืองกับสหรัฐอเมริกา ประเทศอื่นๆ ในเอเชียได้รับอิทธิพลมาบ้างแต่ก็จำกัดเฉพาะกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ฮิปฮอปยังเป็นของแปลกและเข้าถึงยากสำหรับคนเอเชียในยุคนั้น
ปี 1979 มีเพลงฮิปฮอปที่เรียกได้ว่า "แมส" เพลงแรกในสหรัฐฯ เพลง 'Rapper' s Delight' ของวง 'The Sugarhill Gang' ดังไปทั่วประเทศและอัลบั้มดังกล่าวก็ถูกส่งต่อไปทั่วโลก rapper's Delight ติดอันดับชาร์ตเพลงในหลากหลายประเทศ ดิสโก้เทคในมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ก็เริ่มเอาเพลงนี้มาเปิดกันทั่ว จนเกิดแรงบันดาลใจให้ดาราตลกปินอย 'จอร์จ ฮาเวียร์' (George Javier) ทำเวอร์ชั่นเพลงแปลงภาษาตากาล็อกออกมาในชื่อ 'Na Onseng Delight' นับว่าเป็นเพลงฮิปฮอปเพลงแรกที่ถูกบันทึกเสียงนอกสหรัฐอเมริกา และเป็นเพลงฮิปฮอปเพลงแรกที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ด้วยความดังของ Rapper's Delight ประกอบกับ Na Onseng Delight ไม่กี่ปีต่อมาก็มีดาราตลกฟิลิปปินส์อีกคนที่ชื่อ 'วินเซนต์ แดฟฟาลอง' (Vincent Daffalong) ปล่อยเพลงแปลง Rapper's Delight ออกมาอีกเวอร์ชั่นหนึ่งในชื่อ 'Ispraken Delight' ถึงแม้ทั้งแดฟฟาลองและฮาเวียร์จะไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นศิลปินฮิปฮอป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งคู่ได้เบิกทางและเบิกหูให้ฮิปฮอปได้เข้ามาอยู่ในเพลย์ลิสต์ของคนฟิลิปปินส์ ก่อนจะขยายไปสู่ประเทศอื่นในเอเชียในเวลาต่อมา
[ ความพยายามจะส่งออกฮิปฮอปเอเชียกลับไปยังบ้านเกิด ]
ในทศวรรษ 90 หลังสงครามเย็น กระแสอเมริกันได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเทศที่มีฐานทัพอเมริกัน พวกเขาแนะนำให้คนท้องถิ่นรู้จักแฟชั่น อาหาร วัฒนธรรม และดนตรีแบบอเมริกัน เทปเพลงฮิปฮอปจากสหรัฐฯ ถูกนำมาวางขายในร้านขายแผ่นตามเมืองต่างๆ การเต้นเบรกแดนซ์ปรากฏในภาพยนตร์ ด้วยจังหวะท่าทางที่ดูเท่และแปลกใหม่ทำให้วัยรุ่นจับกลุ่มกันแกะท่าเพื่อเต้นตาม รายการกีฬา เช่น บาสเก็ตบอล นำเสียงสแครชแผ่นและเพลงแร็ปมาเป็นดนตรีประกอบ จนคนเคยชินและซึมซับความเป็นฮิปฮอปไปอย่างไม่รู้ตัว และนับแต่นั้นฮิปฮอปก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของซีนดนตรีในเอเชียอย่างแยกไม่ขาด
ในเอเชีย เพลงแร็ปผ่านการร้อยเรียงจากภาษาถิ่นปนภาษาอังกฤษจนเกิดเป็นบทเพลงฮิปฮอปในแบบฉบับของตัวเอง ในบางครั้งผู้ฟังอาจไม่เข้าใจภาษาที่ร้องเลยแม้แต่น้อย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะฮิปฮอปเป็นภาษาสากลที่ทุกคนพร้อมจะเปิดรับและสนุกไปกับจังหวะ ยิ่งในปัจจุบันที่ศิลปินปล่อยผลงานเพลงผ่านสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มหรือยูทูบ ฮิปฮอปจากหลากหลายภูมิภาคจึงมีโอกาสได้เฉิดฉายมากขึ้น แล้วจะฝันไกลไปไหมถ้าฮิปฮอปเอเชียจะไป "โชว์ของ" ให้ตลาดฮิปฮอปออริจินอลได้ดูว่าความเท่แบบเอเชียเป็นอย่างไร
หนึ่งในความพยายามที่เห็นผลที่สุดคือ 88rising ค่ายเพลงต้นสังกัดของริชไบรอันที่ได้กล่าวไปข้างต้น 'ฌอน มิยาชิโร' (Sean Miyashiro) หนึ่งในผู้ก่อตั้งค่ายรู้ดีว่าฮิปฮอปเป็นสัญลักษณ์ของความเท่ทั้งในอเมริกาและเอเชีย เขาต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของวงการนี้ ความพยายามแรกๆ ของมิยาชิโรคือการนำศิลปินเอเชียอย่าง 'คริส วู' (Kris Wu) และ 'ทราวิส สก็อต' (Travis Scott) มาคอลแลบ หรือสร้างผลงานร่วมกัน เพื่อให้ศิลปินเอเชียคนอื่นๆ เห็นว่า "เราก็สามารถไปอยู่จุดนั้นได้" และอีกอย่างคือเป็นการอาศัยชื่อศิลปินตะวันตกในการเบิกทางให้แฟนเพลงอเมริกันเปิดใจรับฟังผลงานของศิลปินที่มาคอลแลบ นอกจากคริส วูแล้ว ก็ยังมีศิลปินอีกหลายคนที่เคยใช้สูตรนี้ เช่น 'HANGOVER' - 'ไซ' (Psy) ราชากังนัมสไตล์ฟีทเจอริ่งคู่กับ 'สนูป ด็อกก์' (Snoop Dogg) แร็ปเปอร์ตัวพ่อ 'Wake Up (Bangkok City)' - 'ไทเทเนียม' (Thaitanium) ตำนานฮิปฮอปเมืองไทยฟีทฯ กับสนูป ด็อกก์ (อีกแล้ว) 'Summer Time' - 'จี๋เค่อ จวิ้นอี้' (Jike Junyi) ศิลปินสาวจีนร่วมร้องกับสนูป ด็อกก์ (หรือนี่จะเป็นแผนของสนูป ด็อกก์ในการตีตลาดเอเชียกันแน่) เป็นต้น
[ ความเป็นเอเชียที่แท้ในวัฒนธรรมฮิปฮอป ]
ทุกวันนี้ศิลปินเอเชียได้รับการยอมรับและมีที่ทางในสหรัฐฯ ตลาดเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลกเรียบร้อยแล้ว แฟนเพลงศิลปินเอเชียไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประชากรกลุ่มเอเชียนอเมริกัน คนขาว คนดำ คนละติน หรือใครก็สามารถเพลิดเพลินไปกับพวกเขาได้ ปรากฏการณ์นี้ทำให้ความรู้สึก "ด้อยกว่า" ของคนเอเชียในสังคมตะวันตกลดน้อยลง เมื่อปี 2018 มิยาชิโรกล่าวว่า "จริงๆ คนที่วิพากษ์วิจารณ์ 88rising แรงท่ีสุดคือคนเอเชียนอเมริกันนะ" ถึงจะตั้งรกรากมานานแค่ไหน คนเอเชียนอเมริกันก็ยังรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก พวกเขาพยายามทำตัวเป็นชนกลุ่มน้อยที่ดีให้คนขาวยอมรับ ใครที่ทำตัวแปลกแยก หรือ "เด่น" ขึ้นมา อาจถูกมองด้วยสายตาระแวดระวังจากคนรอบข้าง แต่ในขณะเดียวกัน ฮิปฮอปแบบคนดำที่พูดเรื่อง "ความเป็นอื่น" ก็โดนใจพวกเขาอย่างจัง ตำแหน่งที่ต้องประนีประนอมอยู่ตรงกลางนี้ทำให้เกิดความกังวลต่อการเห็นคนเอเชียโด่งดังจากวัฒนธรรมฮิปฮอป "เราเผลอทำให้ใครไม่พอใจไหม เราต้องอยู่ในที่ปลอดภัยนะ เราได้ฉกฉวยวัฒนธรรมใครมาหรือเปล่า"
แก่นของการขายฮิปฮอปเอเชียให้ตลาดเพลงอเมริกันคือการนำเสนอความเป็นเอเชียให้ทุกคนเข้าถึงได้และรู้สึกร่วมกัน ซึ่งในบางครั้งก็มีการลดทอนรายละเอียด จับมัดยัดรวมจนออกมาเป็น Asianness กลมๆ เกลี้ยงๆ จากยุคแรกๆ ที่ศิลปินเอเชียแร็ปภาษาบ้านเกิดอย่างภาคภูมิใจ ทุกวันนี้ถ้าจะโกอินเตอร์อย่างไรก็ต้องมีเพลงอังกฤษล้วนให้รู้สึกย่อยง่าย ในบางครั้งก็เกิดข้อสงสัยว่าเราได้ละเลยความหลากหลายในเอเชียไปหรือเปล่า จนกลายเป็นว่าจากที่ตั้งใจจะส่งเสริมความภาคภูมิใจในความเป็นเอเชีย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ดันย้อนมาสนับสนุนวาทกรรมที่ว่า "คนเอเชียก็เหมือนๆ กันหมด"
ความตั้งใจที่จะผลักดันฮิปฮอปเอเชียให้ก้าวยืนบนเวทีโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่อาจเป็นไปได้จริงถ้าศิลปินเอเชียถูกนำเสนอผ่านการทำให้วัฒนธรรมเอเชียดูเป็นก้อนเดียวกันไปเสียหมด เราต่างรู้ดีว่าความเป็นเอเชียที่แท้ไม่มีจริง ทุกวัฒนธรรมล้วนแตกต่างตามภูมิภาค ภาษา ชาติพันธุ์ แก่นแท้ของฮิปฮอปคือเล่าเรื่องราวผ่านแร็ป ส่งต่อประวัติศาสตร์ บาดแผล การต่อสู้ และความเจ็บปวดผ่านจังหวะ โดยไม่ลืมว่าเรามาจากไหนและเราเป็นใคร
ทุกวันนี้เราเห็นศิลปินใหม่ๆ ที่พยายามนำเสนออัตลักษณ์ของตัวเองโดยไม่สนบรรทัดฐานของสังคมตะวันตกที่มองความเป็นเอเชียอย่างแคบๆ 'ยัง ราชา' (Yung Raja) แร็ปเปอร์สิงคโปร์-ทมิฬ ที่ผสมผสานเนื้อแร็ปสองภาษาอย่างกลมกลืน 'บิบิ' (BIBI) ศิลปินดาวรุ่งวัย 24 จากอุลซาน เกาหลีใต้ เจ้าของบทเพลงดังอย่าง 'BINU' 'The Weekend' และ 'She Got It (cigarette and condom)' หรือ 'ชันมินะ' (CHANMINA) แร็ปเปอร์ลูกครึ่งญี่ปุ่น-เกาหลี ผู้โดดเด่นเรื่องสไตล์ฉูดฉาดในเอ็มวี และอีกหลายๆ คนที่ไม่ได้กล่าวถึง ทุกคนต่างก็มีสีสันและเอกลักษณ์โดดเด่นน่าจับตา ความภูมิใจในอัตลักษณ์ของพวกเขาอัดแน่นอยู่แทบทุกท่วงทำนองจนคนฟังสัมผัสได้ถึงฮิปฮอปแห่งความหลากหลายในเอเชียอย่างเต็มเปี่ยม
Writer: Karaked S.
Graphic Designer: Chutimol k.
อ้างอิง
Dazed: https://bit.ly/3EFCu66
HIPHOP.PH: https://bit.ly/3OmAhQ9
ICON Collective: https://bit.ly/3TNr847
Navigating the Pacific: https://bit.ly/3hRCWFs
The New Yorker: https://bit.ly/2GBRrpS

เราควรปล่อยให้เป็นเรื่อง “บ้านใครบ้านมัน” ไหม หากเด็กกลายเป็นคอนเทนต์ตั้งแต่ลืมตาดูโลก?’ความเป็นส่วนตัว’ เป็นเรื่องถูกหย...
23/11/2022

เราควรปล่อยให้เป็นเรื่อง “บ้านใครบ้านมัน” ไหม หากเด็กกลายเป็นคอนเทนต์ตั้งแต่ลืมตาดูโลก?
’ความเป็นส่วนตัว’ เป็นเรื่องถูกหยิบมาพูดถึงมากขึ้น ในยุคที่เทคโนโลยีแทบจะกลายเป็นอีกอวัยวะหนึ่งของมนุษย์และกลมกลืนไปกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างแยกไม่ขาด แล้วเรื่องนี้ก็กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง จากกรณีที่ครอบครัวของดาราดังอดีตบอยแบนด์ยุคต้นปี 2000 โพสต์รูปลูกแฝดที่เพิ่งคลอดได้ไม่กี่วันคู่กับผลิตภัณฑ์ของครอบครัว โดยหลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ดาราดังคนนี้ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองว่า ที่ลูกทำแบบนี้เป็นการช่วยพ่อแม่ “ครอบครัวจะได้เจริญรุ่งเรือง ลูกจะได้สบายในอนาคต” ถ้าเป็นตัวเองก็คงยินดีช่วยพ่อแม่เหมือนกัน
กระแสวิพากษ์วิจารณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่หลายคนรู้สึกว่าครอบครัวดังกล่าวถ่ายทอดทุกความเคลื่อนไหวของลูกผ่านอินเตอร์เน็ตมากเกินไป จนกลายเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก แต่เสียงอีกฝั่งหนึ่งที่ดังไม่แพ้กันก็เห็นเด็กแฝดเหล่านี้เป็น “ความสุขในชีวิตประจำวัน” และเชื่อว่าถ้าจะถ่าย vlog ลงยูทูปหรือไลฟ์ลงเฟซบุ๊กก็เป็นสิทธิของพ่อแม่ และเป็นการตัดสินใจของแต่ละครอบครัว “สิ่งที่เขาทำไม่ได้ยืมลูกใครมา นี่คือสิ่งที่ดีที่พ่อแม่ลูกช่วยกันทำมาหากิน” ดาราตลกชื่อดังคนหนึ่งกล่าวไว้
แล้วสิทธิและอำนาจในการตัดสินใจของเด็กล่ะอยู่ตรงไหน?
ในบทความนี้ เราจะพาไปสำรวจถึงปรัชญาของแนวคิดเรื่องความเป็นส่วนตัว เพื่อตีแผ่ให้เห็นว่า ‘Family vloggers’ หรือวัฒนธรรมการทำคอนเทนต์จากชีวิตประจำวันของเด็กนั้นละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างไร แล้วทำไมสังคมไทยถึงพร้อมใจที่จะละเลยสิทธินี้ได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเมื่อเรื่องนี้ถูกโยงเข้ากับเด็กและครอบครัว
[ ย้อนดูนิยามของความเป็นส่วนตัว ]
แม้การอธิบายเรื่องความเป็นส่วนตัวจะมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ จากหลากหลายมุมมอง แต่นักคิดหลายคนก็เห็นตรงกันว่าความเป็นส่วนตัวนั้นวางอยู่บนฐานของ ‘เสรีภาพ’ (freedom) ‘การควบคุม’ (control) และ ‘การกำหนดชีวิตตัวเอง’ (self-determination) ซึ่งเป็นสามสิ่งที่มนุษย์ให้ความสำคัญในฐานะปัจจัยที่จะทำให้เรามีชีวิตที่ดี หนึ่งในนิยามของความเป็นส่วนตัวที่ถูกพูดถึงมากที่สุดถูกเขียนไว้โดยอลัน เวสต์อิน (Alan Westin) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชาวอเมริกัน ซึ่งกล่าวไว้ว่า:
“ความเป็นส่วนตัวคือสิทธิของบุคคล กลุ่มคน หรือสถาบันในการกำหนดว่าข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาจะถูกสื่อสารไปเมื่อไหร่ อย่างไร และแค่ไหน หากมองจากมุมของปัจเจกและการมีส่วนร่วมในสังคม ความเป็นส่วนตัวคือการปลีกตัวจากสังคมแบบสมัครใจและชั่วคราว ทั้งทางกายหรือทางใจ ซึ่งอาจเป็นการปลีกตัวมาอยู่คนเดียว อยู่ในกลุ่มเล็กๆ ที่ทุกคนใกล้ชิดกัน หรือหากอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก อาจเป็นการอยู่ในภาวะนิรนามหรือในพื้นที่ของตัวเอง”
ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมความเป็นส่วนตัวถึงสำคัญ อลัน เวสต์อินได้อธิบายไว้ว่า หน้าที่ของความเป็นส่วนตัวมีหลักๆ 4 อย่างคือ 1) เพื่อให้เรามีอำนาจเหนือชีวิตตัวเอง มีสิทธิเลือก และมีโอกาสพัฒนาในฐานะปัจเจก 2) เพื่อปลดปล่อยอารมณ์และพักผ่อน 3) เพื่อเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนตัวเอง บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ และช่วยในการตัดสินใจ และ 4) เพื่อเปิดช่องให้เราได้สื่อสารแบบวงแคบกับคนใกล้ชิด
สรุปง่ายๆ เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกสูญเสียความสามารถในการควบคุม ไม่สามารถกำหนดได้ว่าใครจะรู้เรื่องราวในชีวิตของเราบ้าง และไม่มีอิสระในการเลือกว่าตอนไหนอยากใช้ชีวิตอย่างสันโดษ และตอนไหนอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม นั่นคือสิทธิความเป็นส่วนตัวของเราถูกละเมิดแล้ว ถ้าเราเชื่อเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวและหน้าที่ของมันตามนี้ คงจะพอจินตนาการได้ไม่ยากว่าถ้าไม่มีความเป็นส่วนตัวชีวิตคนเราจะไขว้เขวหรืออึดอัดแค่ไหน
[ Family Vloggers - เมื่อการตัดสินใจของพ่อแม่ครอบงำการตัดสินใจของเด็ก ]
เมื่อกลับมาย้อนดูที่ปรากฏการณ์การบูมของคอนเทนต์ออนไลน์แนวครอบครัว ที่แบ่งปันให้โลกรู้ถึงชีวิตลูกตั้งแต่ขั้นอัลตราซาวน์ ยาวไปจนถึงวันที่ลูกเข้าโรงเรียน นี่คงเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เผยชัดถึงด้านมืดที่อาจตามมาเมื่อความเป็นส่วนตัวถูกกัดกร่อน
ทวิตเตอร์แอคเคาท์หนึ่งได้ยกประเด็นขึ้นมาว่า มีช่วงหนึ่งที่ชีวิตของเด็กแฝดอายุ 3 ขวบถูกถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตาม 1.7 ล้านคนแทบทุกวัน แม้แต่ช่วงที่ลูกทะเลาะกันเองจนคนดูเริ่มเกิดอคติต่อเด็ก ไลฟ์ก็ยังคงดำเนินต่อไป นี่ยังไม่นับวิดีโอในยูทูปอาทิตย์ละ 3-4 คลิป ที่แทบจะเห็นทุกฝีก้าวของลูกวัยสามขวบ ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยว พฤติกรรมงอแง ความกลัว หรือพัฒนาการต่างๆ
แต่ครอบครัวนี้ก็ไม่ใช่ครอบครัวเดียวที่หารายได้โดยการเผยแพร่การเติบโตของลูกสู่สาธารณะ เพราะวิถีชีวิตเช่นนี้เหมือนจะเป็นปกติของเซเลปในไทยไปแล้ว
นั่นหมายความว่า เมื่อพ่อแม่ยึดอำนาจในการตัดสินใจว่าจะถ่ายและโพสต์คอนเทนต์แบบไหนลง และบ่อยแค่ไหน โดยมีความต้องการของ ‘แฟนคลับ’ ลูกค้า และกลไกเรื่องอัลกอริธึมของโลกออนไลน์เป็นแรงผลักดัน กลายเป็นว่าเด็กไม่มีสิทธิในการกำหนดว่าส่วนไหนบ้างของชีวิตเขาที่จะถูกเปิดเผยกับสาธารณะ พื้นที่ส่วนตัวที่ควรช่วยให้เด็กได้เติบโตอย่างปราศจากคำตัดสินหรืออิทธิพลที่มากเกินไปของคนภายนอกกลับถูกยุบรวมกับพื้นที่ส่วนรวม ใครจะเข้ามาสอดส่องชีวิตเขาเมื่อไหร่ก็ได้
ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดลงโซเชียลมีเดียก่อนที่เด็กจะรู้ว่าผลของการมีตัวตนในพื้นที่นั้นคืออะไร พ่อแม่อินฟลูเอ็นเซอร์ทั้งหลายอาจจะอ้างว่าลูกเต็มใจอยากถ่าย หรืออยากให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการหาเงินด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก แต่เด็กช่วงวัยไม่ถึงสิบขวบเหล่านั้นรับรู้ได้จริงไหมว่า ทุกอย่างที่เขาทำ ไม่ว่าจะน่ารักหรือน่าอายแค่ไหน จะอยู่บนโลกนี้ตลอดไปในรูปแบบ digital footprint ใครๆ ก็ย้อนกลับมาขุดคุ้ยได้ และหากเขารู้สึกเสียดายที่เรื่องราวของเขาถูกแชร์ในอดีต เขาก็กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว และตัวตนของเขาก็อาจจะถูกสร้างและนิยามไปแล้วด้วยสิ่งที่พ่อแม่เลือกเผยแพร่
ดาราฮอลีวู้ดหลายคนถึงกับให้สัมภาษณ์ว่าเสียใจที่ตัวเองมีชื่อเสียงในวัยเด็ก ตัวอย่างเช่น เดเนียล แรดคลิฟฟ์ (Daniel Radcliff) นักแสดงชายผู้เป็นที่จดจำจากบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter ซึ่งอายุเพียง 11 ปีตอนที่เขาเริ่มแสดง ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ชื่อเสียงโด่งดังที่มากับการอยู่ในวงการบันเทิงนั้นควรหลีกเลี่ยงทุกกรณี” และถ้าเป็นไปได้ ไม่อยากให้ลูกต้องเติบโตมากับชื่อเสียงอย่างเช่นเขา อย่างที่เราก็รู้กันดีว่าสิ่งที่ติดสอยห้อยตามมากับชื่อเสียงคือสายตาของสื่อและคนแปลกหน้าที่จับจ้องราวกับคนดังเหล่านั้นเป็นสิ่งมีชีวิตในสวนสัตว์ “ในกรณีของผม วิธีที่เร็วที่สุดที่จะลืมว่าคุณกำลังถูกจับจ้องอยู่คือต้องเมาแบบสุดๆ” เดเนียลกล่าวถึงช่วงเวลาที่เขาต้องหันไปพึ่งแอลกอฮอล์เพื่อช่วยรับมือกับอาชีพในวัยเด็ก
ในฐานะอินฟลูเอ็นเซอร์ เด็กไม่สามารถเลือกหรือตัดสินใจได้อย่างรอบด้านเกี่ยวกับ “อาชีพ” ของตัวเอง พวกเขาจึงไม่ต่างอะไรกับสินค้าและทรัพย์สินภายใต้การดูแลของพ่อแม่ที่ยอมปล่อยให้บทบาทของ “นักธุรกิจ” ขึ้นมานำหน้าความสัมพันธ์อื่นๆ ที่มีกับคนเป็นลูก และคิดถึงผลประโยชน์เรื่องเงินก่อนผลกระทบเรื่องอื่นๆ ที่จะตามมาจากการเปิดประตูบ้านให้คนนับล้านเข้ามาจับจองพื้นที่
เพราะฉะนั้น คงไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่าในกรณีของ Family vloggers อำนาจและสิทธิเหนือตัวเองของเด็ก โดยเฉพาะสิทธิเรื่องความเป็นส่วนตัว จึงถูกเสียสละไปเพื่อแลกกับเงินและสถานะทางสังคมของพ่อแม่
[ ความเป็นส่วนตัว: สิ่งแปลกปลอมในสังคมไทย ]
ท่ามกลางความเห็นที่หลากหลายเรื่องการพยายามทำให้ลูกตัวเองเป็นดาราในโลกออนไลน์ คนไทยจำนวนมากพร้อมที่จะมองข้ามข้อความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของเด็กอย่างง่ายดาย แต่อะไรล่ะที่ส่งผลให้สังคมไทยเป็นเช่นนี้?
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมไทยที่มีลักษณะใกล้เคียงกับวัฒนธรรมการอยู่แบบรวมกลุ่ม (Collectivist Culture) ซึ่งให้คุณค่ากับการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากว่าการอยู่แบบปัจเจก และมุ่งบ่มเพาะความแน่นเฟ้นในครอบครัวและอัตลักษณ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนอื่นในสังคม การทำตามเป้าหมายของส่วนรวมเป็นเรื่องที่ถูกปลูกฝังในวัฒนธรรมนี้ ซึ่งลดทอนความสำคัญของการใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมันที่ทุกคนมีอิสระในการสร้างความเป็นตัวตนของตัวเอง
วัฒนธรรมเช่นนี้แสดงตัวเด่นชัดในการเติบโตของคนไทย พ่อแม่หลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติที่ตัวเองจะต้องรู้รายละเอียดเกี่ยวกับทุกๆ ความสัมพันธ์ของลูก การที่ลูกนอนห้องเดียวกับตัวเองจนโตไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หรือถ้าเขยิบออกไปหน่อย ญาติหรือป้าข้างบ้านก็ไม่รู้สึกเขินอายที่จะถามไถ่ว่าลูกเรียนที่ไหน จะสอบเข้าอะไร ได้เงินเดือนเท่าไหร่ เหมือนกับว่าเรื่องของเด็กเป็นเรื่องของตัวเอง ความเป็นส่วนตัวจึงกลายเป็นเรื่องหายากอยู่แล้วในสังคมไทย
ผนวกกับแนวคิดเรื่องความกตัญญูที่ฝังรากลึกไม่แพ้กัน หน้าที่และความคาดหวังที่คนเป็นลูกต้องแบกรับทันทีที่ลืมตาดูโลกคือ ‘การเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่า’ หลายคนมีมุมมองเรื่องการมีลูกไม่ต่างกับการวางแผนการเงินวัยเกษียณ เมื่อความสัมพันธ์ในครอบครัวถูกออกแบบมาเช่นนี้ เท่ากับว่ายิ่งลูกช่วยพ่อแม่หาเงินได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งได้รับการยกย่องชื่นชมมากเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กแฝดที่ดังที่สุดในไทยตอนนี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “อภิชาตบุตร” และการละเมิดความเป็นส่วนตัวของเด็กจึงถูกปัดไปเป็นเรื่องรอง
[ เมื่อทุกการเคลื่อนไหวคือเงิน และการหาเงินคือการตอบแทนบุญคุณ ]
โลกของการทำคอนเทนต์สะท้อนถึงยุคที่ทุกแง่มุมของชีวิตมนุษย์ถูกทำให้เป็นแหล่งรายได้ งานอดิเรกต้องสร้างเงิน เมื่อแนวคิดเช่นนี้ลุกลามมาถึงการทำคอนเทนต์ชีวิตลูก เราควรกลับมาตั้งคำถามได้หรือยังว่า โครงสร้างสังคมเราบิดเบี้ยวถึงขนาดที่อิสระ การควบคุม และอำนาจในการกำหนดชีวิตตัวเองของเด็กต้องถูกลิดรอน เพราะ “ลูกต้องช่วยพ่อแม่หาเงิน” แล้วหรือ?
การเลี้ยงดูเด็กควรเป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ ประกอบกับการสนับสนุนของรัฐ เพื่อให้เด็กได้เติบโตมาอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าไหม?
ในสังคมยุคดิจิทัลที่ความเป็นส่วนตัวแทบจะไม่หลงเหลือ คงจะเป็นการดีกว่า หากทุกคนสามารถเลือกที่จะรับความเสี่ยงในการมีตัวตนอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ตตลอดกาล เมื่อเขาพร้อมและเข้าใจความอันตรายของมันจริงๆ
Writer: Preeyanun Thamrongthanakij
Graphic Designer: Chutimol k.

อ้างอิง
บทความ History of Privacy (Jan Holvast) https://bit.ly/3VgTmpj
Daily Mail: https://bit.ly/3hVryZ1
Science Direct: https://bit.ly/3UKzV8l
คมชัดลึก: https://bit.ly/3EfVbMc; https://bit.ly/3UU5tIT

21/11/2022

สังคมไทยวนเวียนอยู่กับปัญหายาเสพติดมานานหลายสิบปี โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่ายาบ้า แถมปัญหาก็ดูรุนแรงมากขึ้นทุกวันๆ จากรายงานของ UNODC ในปี 2021 พบว่าแค่เฉพาะภูมิภาคเซาท์อีสเอเชียอย่างเดียว มีการจับยึดยาบ้ารวมกันได้ถึง 1,000 ล้านเม็ด ซึ่งในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเนี่ย ปริมาณยาบ้าที่จับได้มีเพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่า!
พอยาบ้าในตลาดเพิ่มมากขึ้น ราคาก็ถูกลงเรื่อยๆ การเข้าถึงก็ง่ายขึ้นโดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นช่วงอายุ 19-24 ปี และอาชญากรรมอื่นๆ ก็ตามมาเป็นหางว่าว ทำไมปัญหาเรื่องยาบ้าถึงไม่หมดไปสักที การประกาศสงครามกับยาเสพติดมันได้ผลจริงหรือเปล่า แล้วมีวิธีการแบบไหนที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้ วันนี้เราจะพาทุกคนไปสำรวจเรื่องนี้กัน
#ยาบ้า
#ยาเสพติด

"ผมไม่ได้ซื้อทวิตเตอร์เพราะอยากได้เงินเพิ่ม ผมทำเพราะผมพยายามจะช่วยมนุษยชาติที่ผมรัก" นี่เป็นส่วนหนึ่งจากคำชี้แจงของ 'อี...
11/11/2022

"ผมไม่ได้ซื้อทวิตเตอร์เพราะอยากได้เงินเพิ่ม ผมทำเพราะผมพยายามจะช่วยมนุษยชาติที่ผมรัก" นี่เป็นส่วนหนึ่งจากคำชี้แจงของ 'อีลอน มัสก์' (Elon Musk) มหาเศรษฐีผู้เป็นเจ้าของคนใหม่ของ 'ทวิตเตอร์' (Twitter) โซเชียลมีเดียนกฟ้าที่ไม่รู้ว่าจะโบยบินไปทางใด
ตั้งแต่มัสก์ปิดดีลซื้อทวิตเตอร์ไปไม่ถึงครึ่งเดือน ก็ยังไม่มีวันไหนที่ชื่อของเขาหลุดจากหน้าสื่อ เพราะมีการรายงานข่าวความเปลี่ยนแปลงในองค์กรทวิตเตอร์อยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่การแบกอ่างล้างจานเข้าบริษัทที่เป็นการเล่นมุกคำพ้องเสียง (Let that sink in ความหมายตรงตัวคือให้อ่างล้างจานเข้ามาข้างใน แต่ความหมายอีกอย่างคือเข้าใจหรือตกตะกอนในแนวคิด/ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น) ซึ่งก็คงเรียกเสียงหัวเราะแหะๆ ได้บ้าง ไปจนถึงการเลย์ออฟฟ้าผ่าพนักงานนับพันที่ไม่มีใครขำออก สั่งให้วิศวกรปรินต์โค้ดทั้งหมดลงกระดาษให้มัสก์ตรวจ มอบหมายงานโดยคาดหวังให้พนักงานทำงานไม่หยุดเสาร์อาทิตย์วันละ 12 ชั่วโมง และอื่นๆ ผู้คนที่เฝ้าตามข่าวก็ได้แต่ขมวดคิ้วสงสัยว่า "อะไรของมัสก์เนี่ย"
บางคนอาจสงสัยว่าทำไมเราต้องสนใจทวิตเตอร์ด้วยล่ะ มีอีกหลายโซเชียลมีเดียที่มีปัญหาในแบบของตัวเองนะ ซึ่งก็ไม่ผิดเสียทีเดียว แต่สิ่งที่เราอยากชวนให้ทุกคนจับตามองก็คือ เหตุผลของอีลอน มัสก์ที่อ้างว่าเขาต้องการให้ทวิตเตอร์เป็นเหมือน "จัตุรัสกลางเมืองดิจิตอล" ที่ความเชื่ออันหลากหลายสามารถนำมาถกเถียงกันได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า แล้วเราควรให้พื้นที่ทางการแสดงออกกับทุกความเชื่อ แม้กระทั่งความเชื่อที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น จริงๆ หรือ?
[ ชาวทวิตอย่ากลัวไป เจ้าชายฟรีสปีชมาช่วยแล้ว ]
โดยปกติแล้ว ทวิตเตอร์มักถูกมองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง มีแต่คนเถียงกันเรื่องความเห็นที่ไม่ลงรอย หลายครั้งที่ดราม่าเกิดขึ้นและดับไปในทวิตเตอร์ ถึงอย่างนั้น ผู้คนก็ยังนิยมใช้ทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มที่เน้นสื่อสารผ่านตัวอักษร และแพร่กระจายเนื้อหาไปได้ทั่วโลกผ่านการ "รีทวิต" เราสามารถอ่านเนื้อหาจากเพื่อนของเรา รุ่นพี่ที่คณะ แฟนคลับวงที่เราชอบ หรือคนดังจากหลากหลายวงการ ซึ่งพวกเขาจะมี "เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า" อยู่ท้ายยูสเซอร์เนมเพื่อยืนยันว่าบัญชีนี้เป็นบุคคลหรือแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในสังคม เนื้อหาที่ทวิตเป็นสิ่งที่ถูกรับรอง และเกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์
อีลอน มัสก์ออกตัวว่าเขาเป็น “ผู้ที่เชื่อในเสรีภาพในการพูดอย่างสมบูรณ์” (Free speech absolutist) ในทางทฤษฎีหมายถึง เชื่อว่าบุคคลมีสิทธิในการแสดงออกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ และรัฐไม่ควรจำกัดเสรีภาพนี้ ผู้ที่เชื่อในเสรีภาพการพูดอย่างสมบูรณ์ถึงกับปฏิเสธที่จะขีดเส้นแบ่งระหว่าง "ฟรีสปีช" และ "เฮตสปีช" ด้วยซ้ำ แต่ในความเป็นจริง ประเทศตะวันตกในยุโรปทุกประเทศมีข้อกำหนดที่ต่อต้านเฮตสปีชอย่างจริงจัง ภายหลังมัสก์ก็ออกมาชี้แจงว่าฟรีสปีชในความหมายของเขาคือสิ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมาย เขาจะไม่ยอมรับการเซนเซอร์นอกเหนือกฎหมาย ถ้าผู้คนต้องการให้เสรีภาพในการพูดจำกัดวงแคบลง พวกเขาก็จะเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อควบคุมการพูดเอง ดังนั้นการเซนเซอร์ที่นอกเหนือกฎหมายจึงเป็นการขัดต่อเจตจำนงประชาชน
ทวิตเตอร์ซึ่งเป็นองค์กรโซเชียลมีเดียจากสหรัฐฯ ก็มีกฎชุมชนเพื่อควบคุมเนื้อหาไม่ให้มีการโจมตีหรือข่มขู่บุคคลจากเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สัญชาติ วรรณะ เพศวิถี เพศ อัตลักษณ์ทางเพศ ศาสนา อายุ ความพิการ และโรค เพื่อปกป้องผู้ใช้ของแพลตฟอร์ม แต่ทันทีที่ข่าวมัสก์เทคโอเวอร์ทวิตเตอร์แพร่ออกไป 'โยเอล รอธ' (Yoel Roth) หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยและความถูกต้อง (ปัจจุบันโยเอล รอธเพิ่งลาออกจากทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน) ก็รายงานว่า ผู้ใช้แพลตฟอร์มทวิตถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังพุ่งสูงขึ้นใน 12 ชั่วโมงแรกหลังออกข่าว เช่น มีการใช้คำที่เรียกคนดำในเชิงดูถูกเพิ่มขึ้น 500% คำเหยียดเชื้อชาติคนยิว คำเหยียดเพศ คำเหยียดคนข้ามเพศ เป็นต้น จนทวิตเตอร์ต้องลบบัญชีผู้ใช้ออกถึง 1,500 บัญชี เพื่อลดการมองเห็นของคำเหล่านี้ให้เหลือน้อยที่สุด เหตุผลของนักเลงคีย์บอร์ดเหล่านี้ก็คือต้องการทดสอบว่าพวกเขาจะล้ำเส้นได้แค่ไหนภายใต้ "ฟรีสปีช" ของมัสก์
[ "จะเป็นกลางทางการเมืองได้ต้องทำให้พวกซ้ายจัดและขวาไม่พอใจเท่าๆ กัน" จริงหรือ? ]
ปรากฏการณ์ที่กล่าวมาก็ไม่ใช่สิ่งที่มัสก์ปรารถนาเช่นกัน เขาระบุว่าไม่อยากให้ทวิตเตอร์กลายเป็นสมรภูมิน้ำลายที่ใครจะพ่นอะไรออกมาก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ ทวิตเตอร์ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นของแต่ละประเทศ มัสก์เสนอแนวทางแก้ไขว่าในอนาคตจะมีสภาตรวจสอบเนื้อหาที่รวบรวมคนจากหลากหลายจุดยืนทางความคิด ฟังแล้วก็ดูยุติธรรมและมีเหตุผล แต่โชคไม่ดีที่ผู้สนับสนุนหลักของมัสก์คือกลุ่มอนุรักษ์นิยมและฝ่ายขวา ส.ส. และส.ว. ของพรรครีพับลิกันบางส่วนออกมาทวิตแสดงความดีใจกับอนาคตของเสรีภาพทางการพูดในทวิตเตอร์ จำนวนผู้ติดตามบัญชีผู้ใช้ที่มีจุดยืนขวาจัดเพิ่มสูงขึ้น ตัวมัสก์เองก็มักจะมีปากเสียงกับส.ส. ฝ่ายซ้ายอยู่เสมอ เมื่อเร็วๆ นี้เขายังกล่าวหากลุ่มนักกิจกรรมว่าทวิตเตอร์เสียรายได้เพราะพวกเขาไปกดดันผู้ลงโฆษณาบนแพลตฟอร์ม "นักกิจกรรมพวกนี้กำลังบ่อนทำลายเสรีภาพในการพูดของอเมริกา" เลยเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนเคลือบแคลงว่าทวิตเตอร์ในการบริหารของมัสก์จะยุติธรรมและสนับสนุนจุดยืนทุกเฉดได้จริงหรือเปล่า
และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือไอเดียการหารายได้ใหม่ของมัสก์ ที่เพียง 8 ดอลลาร์สหรัฐ คุณก็สามารถได้รับ "ติ๊กฟ้า" หรือเครื่องหมายยืนยันตัวตนเหมือนกับเหล่าคนดังได้แล้ว ซึ่งมันจะเปลี่ยนแปลงความหมายของติ๊กฟ้าไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่ติ๊กฟ้าเป็นสัญลักษณ์ในการยืนยันความน่าเชื่อถือของบัญชีผู้ใช้นั้นๆ กลายเป็นว่าใครๆ ก็สามารถซื้อความน่าเชื่อถือบนโซเชียลมีเดียได้ และอัลกอริทึมจะแสดงเนื้อหาของบัญชีผู้ใช้ที่มีเครื่องหมายติ๊กฟ้าให้มากกว่าบัญชีธรรมดา กลายเป็นว่าใครที่มีทุนหนากว่าก็สามารถช่วงชิงพื้นที่ออนไลน์ได้มากกว่า ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่เพื่อโปรโมตสินค้าหรือบริการ หรือการจงใจเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อชักจูงความคิดเห็นของประชาชน
[ ภัยร้ายจากการบิดเบือนข้อมูล ]
สิ่งที่มัสก์กำลังทำสุดท้ายแล้วก็จะย้อนมากัดกร่อนฟรีสปีชที่ตัวเขาอ้างว่าต้องการปกป้องเสียเอง เสรีภาพในการพูดเป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย และมัสก์ก็เคยกล่าวยืนยันเช่นนี้ มันครอบคลุมถึงสิทธิในการฟังและการถูกรับฟัง การพูดเพื่อโน้มนำ เพื่อถกเถียง เพื่อตั้งคำถามและหาความจริง คุณค่าของเสรีภาพในการพูดเป็นเหมือนการปลดปล่อยความคิดของประชาชน เราพูดเพื่อระบุปัญหาในสังคมและร่วมกันหาคำตอบให้กับปรากฏการณ์ต่างๆ และปัจจุบันโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกในลักษณะดังกล่าวของทุกๆ คน
แต่เมื่อการรับรองความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มถูกทำให้ซื้อได้ด้วยเงิน ทีมที่ดูแลการตรวจสอบข่าวปลอมถูกไล่ออก ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนถูกละเลย การจงใจบิดเบือนข่าวสาร (Disinformation) จึงเกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่งสิ่งนี้แตกต่างจากการให้ข้อมูลที่ผิด (Misinformation)ที่เรามักพบเป็นประจำ เช่น ญาติผู้ใหญ่ที่ส่งต่อวิธีการรักษาโควิดด้วยสมุนไพรมาทางไลน์ ในกรณีนี้เกิดจากความไม่ตั้งใจเพราะไม่ทราบข้อเท็จจริง ส่งต่อข่าวเพราะหวังดีไม่ได้หวังผลประโยชน์ส่วนตน แต่การจงใจบิดเบือนข่าวสารเป็นการตั้งใจสร้างและส่งต่อข้อมูลที่ผิดเพี้ยนเพื่อชี้นำความคิดคน และทำไปเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือการเมือง
ลองคิดภาพปฏิบัติการไอโอที่ยกระดับด้วยการลงทุนซื้อติ๊กฟ้าเพื่อจงใจเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน ทวิตเตอร์ไทยคงจะปั่นป่วนและน่าสับสนเป็นอย่างมาก ในที่สุดสิ่งนี้จะส่งผลกระทบถึงสภาพสังคมในชีวิตจริง เหมือนกรณีที่รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาผ่านการโฆษณาเฟซบุ๊กในปี 2016
'วลาดีมีร์ เลนิน' (Vladimir Lenin) นักปฏิวัติมาร์กซิสต์เคยกล่าวไว้ว่า "เสรีภาพในสังคมทุนนิยมก็เหมือนเสรีภาพในรัฐกรีกโบราณ: เป็นเสรีภาพของเหล่าเจ้านายทาสเท่านั้น" คนจนและคนชายขอบถูกปิดปากเงียบเพราะต้องกัดฟันทำงานหามรุ่งหามค่ำ เสียงของพวกเขาถูกลบเลือน พื้นที่ในการแสดงออกมีอยู่จำกัดจำเขี่ย ปัญหาของพวกเขาเล็กกะจ้อยร่อยและแทบไม่มีใครรับรู้ โซเชียลมีเดียควรเป็นแพลตฟอร์มแห่งการพูดคุย เรียนรู้ เรียกร้อง แสดงออกสำหรับทุกคน โซเชียลมีเดียต้องรับผิดชอบในการควบคุมตรวจสอบเนื้อหาไม่ให้ใครถูกกลั่นแกล้งหรือโจมตี โซเชียลมีเดียควรพัฒนาการเข้าถึงและการใช้งานให้เอื้อกับคนทุกกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าถึงโอกาส เรื่องราว ความบันเทิง และข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียม
หวังว่าแผนการพัฒนาที่ อีลอน มัสก์ อยากให้ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่แห่งการอยู่ร่วมกันของความเห็นอันหลากหลายจะเป็นไปได้จริงตามที่เขาอ้าง เพราะดูจากวิธีการที่เขารับมือกับผู้ใช้ที่ทวิตล้อเลียนตัวเขาเองด้วยการระงับบัญชี แล้วสร้างกฎว่า "ต่อไปนี้ ถ้ามีการทวิตแสดงบทบาทเป็นคนอื่นโดยไม่ระบุว่า "เพื่อการล้อเลียน" จะถูกระงับบัญชีถาวร" ดูเหมือนมัสก์จะไม่ได้ใจกว้างและมีอารมณ์ขันมากเท่าที่เขาออกตัวเท่าไหร่นัก สีสันและเสน่ห์ของทวิตเตอร์ก็คงจะจืดชืดลงทันตา
เหมือนมุกตลกของมัสก์นั่นแหละ 🙂
Writer: Karaked S.
Graphic Designer: Chutimol k.

อ้างอิง
Civil Liberties Union for Europe: https://bit.ly/3hhSGB3
The Hindu: https://bit.ly/3WBFDuu
The Indian Express: https://bit.ly/3NMLWr0
Insider: https://bit.ly/3TnSQEq, https://bit.ly/3DQL8wK
Los Angeles Time: https://lat.ms/3FY5bfm

แทบทุกครั้งที่มีการถกเถียงเรื่องสวัสดิการของแรงงาน เราตั้งตารอได้เลยว่าจะต้องมีแนวคิดโต้แย้งชุดนี้โผล่มา ‘ต้องมองจากมุมน...
04/11/2022

แทบทุกครั้งที่มีการถกเถียงเรื่องสวัสดิการของแรงงาน เราตั้งตารอได้เลยว่าจะต้องมีแนวคิดโต้แย้งชุดนี้โผล่มา ‘ต้องมองจากมุมนายจ้างบ้าง’ หรือ ‘ไม่สนับสนุนเพราะไม่ใช่ทุกคนจะได้ประโยชน์จากสวัสดิการนี้’ แน่นอนว่าเรื่องสวัสดิการลาคลอดก็เช่นกัน แล้วแรงงานหญิงต้องอยู่ตรงไหนถ้าเรานึกถึงแต่ประโยชน์ของนายทุนและหลับหูหลับตาเรื่องการกดขี่ที่คนบางกลุ่มต้องเผชิญ?
จริงอยู่ที่ประเทศไทยผ่านการต่อสู้จนได้กฎหมายลาคลอด 30 วัน มาสักพักใหญ่ๆ จนเราอาจหลงคิดไปว่าปัญหาการเอารัดเอาเปรียบแรงงานหญิงคงไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่าแต่ก่อน ผู้หญิงมีเวลาพักฟื้น ได้อยู่กับลูก และไม่ต้องทนเจ็บแผลระหว่างทำงานหนัก บวกกับการที่ประเทศไทยห้ามไม่ให้เลิกจ้างงานด้วยเหตุตั้งครรภ์ ความพยายามปิดบังว่าตัวเองท้อง หรือไปทำแท้งเพียงเพราะกลัวโดนไล่ออกก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยเหมือนช่วงก่อนที่จะมีกฎหมายนี้
แต่ถ้าเราเปิดดูสถิติช่องว่างทางรายได้ของชายและหญิง เราจะเห็นทันทีว่าการเลือกปฏิบัติทางเพศในตลาดแรงงานไม่เคยหายไปไหน เพียงแต่ความรุนแรงที่ลูกจ้างผู้หญิงต้องพบเจอเกิดขึ้นในรูปแบบที่แนบเนียนขึ้น และไม่ออกตัวชัดเจนว่ากีดกัน “เพศหญิง” มิหนำซ้ำยังมีหลักการที่ดูเชื่อถือได้มารองรับอีกต่างหาก
[ การเลือกปฏิบัติหน้าตาเป็นอย่างไรเมื่อกฎหมายสั่งห้าม? ]
ข้อมูลจากสถาบันวิจัย TDRI ชี้ว่าในปี 2560 ผู้หญิงมีอัตราการว่างงานสูงกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงวัย 15-29 ปีมีอัตราว่างงานอยู่ที่ 4.6% สูงที่สุดจากทุกช่วงอายุ และสูงกว่าผู้ชายวัยเดียวกันที่มีอัตราว่างงานเพียง 3.7% รวมถึงค่าเฉลี่ยค่าจ้างของผู้หญิงก็น้อยกว่าผู้ชายไม่ว่าจะจบการศึกษาระดับใด ยิ่งในระดับปริญญาตรีด้วยแล้ว ก็พบว่าผู้หญิงได้ค่าจ้างเฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชายถึง 28% สวนทางกับข้อมูลในรายงานเดียวกันที่ระบุว่าแรงงานหญิงที่จบปริญญาตรีมีจำนวนมากกว่าแรงงานชายในระดับการศึกษาเดียวกัน
แน่นอนว่าความแตกต่างในอัตราการว่างงานและค่าจ้างที่ว่าเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย แต่เหตุผลหลักๆ ข้อหนึ่งที่นักวิชาการต่างเห็นตรงกันก็คือผู้หญิงถูกกีดกันเพราะนายจ้างกลัวว่าจะต้องเสียกำลังการผลิตไปกับการลาคลอดและเลี้ยงลูก เพราะในมุมมองของนายทุน การจ้างพนักงานที่มีโอกาสตั้งครรภ์เท่ากับการแบกรับความเสี่ยงที่จะขาดกำลังแรงงาน แถมต้องเพิ่มต้นทุนเพื่อจ่ายเงินให้หยุดงานสามเดือน
แต่ในเมื่อกระแสทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยหันมาห้ามการเลือกปฏิบัติทางเพศในที่ทำงาน และมองว่าการแยกใครสักคนเพราะอัตลักษณ์ที่ติดตัวมาเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมยุคใหม่
Statistical Discrimination คือแนวคิดที่อธิบายว่าความไม่เท่าเทียมที่ฝังรากลึกในตลาดแรงงานถูกค้ำจุนไว้ด้วยภาพลวงของการยึดหลักการและเหตุผล เนื่องจากนายจ้างย่อมต้องคัดเฉพาะลูกจ้างที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดและคำนึงถึงกำไรเป็นหลัก แต่ข้อมูลของผู้สมัครงานเพียงอย่างเดียวไม่สามารถการันตีคุณสมบัตินี้ได้อย่างครอบคลุม บริษัทจึงคาดการณ์ความสามารถในการทำงานโดยดึงข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มคนที่มีลักษณะภายนอกเหมือนๆ กัน เช่น เพศหรือสีผิว อาจเป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลพนักงานของบริษัท เช่น สถิติในการขาด ลา มาสาย ความถี่ในการลาออก และอาจจะรวมถึงภาพจำเกี่ยวกับคนกลุ่มนั้นที่มีอยู่เดิม
ยกตัวอย่างเช่น นายจ้างอาจเลือกจ้างผู้ชายมากกว่าผู้หญิงที่มีคุณสมบัติพอๆ กัน หรือกำหนดค่าจ้างให้ผู้หญิงน้อยกว่า เพราะประเมินจากสถิติแล้วว่าผู้หญิงมีแนวโน้มจะลาไปตรวจครรภ์ คลอดลูก หรือทุ่มเทเวลาให้กับการดูแลครอบครัวมากกว่างาน ไม่ก็ลาออกไปเลยเพื่อเป็นแม่บ้านเต็มตัว ซึ่งนายจ้างจะประเมินจากปัจจัยเหล่านี้ แล้วอ้างว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องข้อมูลผู้สมัครไม่เพียงพอ (Imperfect Information) ที่อยู่บนหลักเหตุและผล ไม่ได้มีต้นเหตุมาจากอคติหรือความรู้สึกเหยียดหยามกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หลายคนยังเห็นด้วยว่า บริษัททำไปเพื่อปกป้องประโยชน์สูงสุดของตัวบริษัทเองเท่านั้น
ในทางปฏิบัติ หลายๆ บริษัทในไทยมีคำถามคัดกรองตอนสมัครงานที่เจาะจงสำหรับผู้หญิง เช่น แต่งงานหรือยัง มีแพลนจะมีลูกไหม หรือถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์อ้อมๆ เพื่อให้รู้ว่าผู้หญิงคนนี้มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างครอบครัวหรือไม่ บางบริษัทถึงกับขอให้ตรวจครรภ์ในขั้นตอนการตรวจสุขภาพ ข้อมูลเหล่านี้ที่ HR ได้มาก็จะถูกนำมาสนับสนุนเหตุผลที่ว่า ผู้สมัครที่อยู่ในกลุ่มนี้ (เพศหญิง) น่าจะเป็นพนักงานที่ไม่สามารถทำงานสร้างกำไรให้บริษัทได้อย่างเต็มที่จริงๆ
ถึงนายจ้างจะมองว่าแนวคิดนี้เป็นกลาง และเชื่อว่าเป็นการพิจารณาจากความจริงที่เห็น แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงงานผู้หญิงคือกลุ่มคนที่ถูกกดทับและปฏิบัติอย่างแตกต่างเพียงเพราะเรื่องเพศ โดยไมเคิล สเปนซ์ (Michael Spence) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน หนึ่งในนักคิดคนสำคัญที่เสนอทฤษฎีเรื่อง Statistical Discrimination ยังชี้ด้วยว่าระบบการตัดสินใจเช่นนี้ของนายจ้างนำไปสู่วัฏจักรของการกดขี่ที่ไม่จบสิ้น
พูดให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือถ้านายจ้างมองว่าผู้หญิงมีแนวโน้มจะลาออกไปเลี้ยงลูกหรือทุ่มให้กับครอบครัว ก็จะให้ค่าจ้างน้อยกว่า และถ้าผู้หญิงได้ค่าจ้างน้อยกว่า ก็มีแนวโน้มที่จะลาออก
[ เมื่อผู้หญิงถูกกีดกัน ระบบสวัสดิการของรัฐคือคำตอบ ]
แนวคิดเรื่อง Statistical Discrimination เป็นเพียงวิธีหนึ่งในการอธิบายความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในตลาดแรงงาน เพราะปัจจัยอื่นๆ นอกจากการรับเข้าทำงานก็เพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้ไม่แพ้กัน เช่น ผู้หญิงที่เป็นแม่อาจจะต้องลดชั่วโมงการทำงานลง หรือแบ่งเวลาทำงานไปดูแลลูก ยิ่งโดยเฉพาะคนที่มีลูกเล็กซึ่งต้องปั๊มนมในที่ทำงานหรือพาลูกมาทำงานด้วย
เมื่อผู้หญิงต้องบาลานซ์ชีวิตโดยมีหน้าที่แม่ไว้บนหนึ่งไหล่ และอีกไหล่เป็นหน้าที่พนักงาน ความเห็นเอกฉันท์ที่สังคมมีต่อพวกเธอนั้นห่างไกลจากความเห็นอกเห็นใจไม่น้อย “มีลูกแล้วทุ่มกับงานไม่ได้เท่าเดิม” “เอาเปรียบเพื่อนร่วมงานคนอื่น” “ชอบเลิกงานก่อนเวลา” “ลางานบ่อย” ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เมื่อถูกสะท้อนในการประเมิน Performance ก็จะส่งผลให้เงินเดือนไม่ขึ้น หรือไม่ได้เลื่อนตำแหน่งอย่างที่ควรจะเป็น
แต่ถ้าเราลองขยับมามองให้ลึกลงไปในข้อมูลหรือทัศนคติด้านลบเหล่านี้ที่ถูกผูกติดอยู่กับแรงงานหญิง ไม่ว่าจะในมุมนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงานเอง ก็จะเห็นว่าตัวการเบื้องหลังก็คือ ‘ภาระการเลี้ยงดูลูกที่ถูกผลักให้ผู้หญิงแบกรับอยู่ฝ่ายเดียว’ โดยที่ผู้ชายหรือรัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเพียงน้อยนิด เมื่อผู้หญิงถูกผูกโยงกับบทบาทแม่ มากกว่าที่ผู้ชายถูกผูกโยงอยู่กับบทบาทพ่อ แน่นอนว่าการทำงานของผู้หญิงต้องถูกกระทบมากกว่า (รายงาน NIDA ชี้ว่าแรงงานหญิงที่มีลูกรายได้น้อยกว่าแรงงานหญิงที่ไม่มีลูกถึง 22% เทียบกับตัวเลขเดียวกันของผู้ชายซึ่งอยู่ที่ 17%)
เพราะฉะนั้น หนึ่งในทางออกที่ชัดเจนที่สุดก็คือสิทธิลาคลอดต้องถูกจัดสรรให้กับผู้ชายเช่นเดียวกัน เพราะการลาคลอดไม่ได้เกี่ยวกับการพักฟื้นจากแผลคลอดหรือให้นมบุตรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดูแลในส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานง่ายๆ การให้สิทธิลาคลอดกับเพศเดียวก็เท่ากับเป็นการกำหนดแล้วว่าใครที่ต้องทำหน้าที่ทั้งหมดในส่วนนี้
กลับกัน ถ้าให้สวัสดิการเดียวกันกับพ่อด้วย แบบในญี่ปุ่นที่มีสวัสดิการสำหรับพ่อโดยเฉพาะเป็นระยะเวลาหนึ่งปี หรืออย่างในสวีเดนที่ให้พ่อและแม่จัดสรรเวลากันเองในระยะเวลา 480 วัน ก็อาจจะช่วยแบ่งเบาภาระงานของผู้หญิง และช่วยลดการกีดกันผู้หญิงตอนรับเข้าทำงาน หากไม่ได้มีแค่ผู้หญิงที่ถูกจับจ้องเรื่องการลาคลอดและพันธะผูกมัดกับครอบครัว ซึ่งสวัสดิการลาคลอดที่กว้างขึ้นก็ไม่ควรหยุดอยู่แค่ครอบครัวชาย-หญิงตามธรรมเนียม แต่คนที่รับลูกบุญธรรม หรือคนเพศหลากหลาย (เมื่อมีสิทธิแต่งงานและรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมได้) ก็ต้องได้รับสิทธินี้อย่างไม่แปลกแยก
นอกเหนือไปจากนั้น การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตไม่ควรเป็นเรื่องของคนแค่สองคน สำหรับหลายบ้าน เงินที่ได้รับช่วงลาคลอดไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และดำรงชีวิตอยู่ได้ยากหากทั้งพ่อและแม่ไม่ได้ทำงาน แต่แทนที่จะห้ามคนจนไม่ให้มีลูก และกล่าวโทษแค่ว่า “มีลูกเมื่อพร้อม” สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือรัฐต้องเข้ามาสนับสนุน สร้างระบบศูนย์เลี้ยงเด็กที่ยืดหยุ่นและเพียงพอ รวมทั้งให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กที่มากกว่าแค่ 600 บาทต่อเดือน ถ้าเราจะจินตนาการถึงสังคมที่เพศและชนชั้นเท่าเทียม สิทธิของบุคคลในการมีลูกและสิทธิของเด็กในการเติบโตอย่างมีคุณภาพก็ควรเป็นของทุกคนเช่นเดียวกัน
[ เพราะโครงสร้างอย่างเดียวไม่เพียงพอ ]
แม้สวัสดิการจะสำคัญแค่ไหน แต่อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กันคือการต่อต้านค่านิยมเดิม ทั้งเรื่องบทบาททางเพศและสวัสดิการที่ทุกคนควรได้รับ ทางออกนี้อาจจะจับต้องได้น้อยกว่า แต่สวัสดิการแทบจะไม่เกิดผลดีถ้าเราไม่ร่วมกันรื้อถอนเรื่องความคิดและความเชื่อที่ฝังรากลึก การที่แม่ต้องเลี้ยงดูลูกและทำงานในบ้านเป็นหลักไม่ใช่ “เรื่องธรรมชาติ” แต่ทั้งพ่อ แม่ และสังคมต้องมีส่วนร่วมในความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กอย่างตลอดรอดฝั่ง ไม่ใช่แค่ช่วงแรกเกิด
ที่สำคัญ สังคมที่ทุกคนต้องกระเสือกกระสนกันเองเพื่ออยู่รอดก็ไม่ใช่ “เรื่องธรรมดา” อีกเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งเหล่านี้ใหม่ว่าสวัสดิการรัฐและสวัสดิการแรงงาน อาจไม่จำเป็นต้องสร้างมาเพื่อเป็นประโยชน์โดยตรงกับ ‘ทุกคน’ แต่ความสำคัญจริงๆ ของระบบนี้ก็คือการหนุนเสริมให้คนบางกลุ่มที่ถูกกดทับด้วยโครงสร้างสังคมมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมและใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ส่วนประโยชน์ที่ทุกคนจะได้รับคือการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
Writer: Preeyanun Thamrongthanakij
Graphic: Chutimol k.

อ้างอิง:
หนังสือ Why Women Have Better S*x Under Socialism (2018) โดย Kristen R. Ghodsee
วิจัย Statistical Discrimination and the Rationalization of Stereotypes. American Sociological Review https://bit.ly/3DvWW8K
PIER: https://bit.ly/3SSn9TH
TDRI: https://bit.ly/2m1s3nR
Brand inside: https://bit.ly/3TDdHol
The 101: https://bit.ly/3W4q8uP

ที่อยู่

Bangkok Noi

เบอร์โทรศัพท์

+66870785577

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ SHIFTERผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

ติดต่อ ธุรกิจของเรา

ส่งข้อความของคุณถึง SHIFTER:

วิดีโอทั้งหมด

แชร์

ตำแหน่งใกล้เคียง บริษัท สื่อ


ครีเอเตอร์วิดีโอ อื่นๆใน Bangkok Noi

แสดงผลทั้งหมด

คุณอาจจะชอบ