17/05/2024
นอร์เวย์ ประกาศทำน้ำปลาจากปลาแซลมอน จะกระทบน้ำปลาไทยหรือไม่?
นอร์เวย์ มีจุดเด่นเรื่องปลาแซลมอน เมื่อประกาศทำน้ำปลาจากปลาแซลมอน ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะ เนื้อปลาแซลมอนอร่อยและถูกปากคนทั่วโลก แบบนี้ถ้าเอาปลาแซลมอนมาทำน้ำปลา ก็น่าสนใจไม่น้อย
ขณะที่น้ำปลาของไทยผลิตจากปลากะตักเป็นหลัก ใช้วิธีการหมักกับเกลือเป็นระยะเวลา 12-24 เดือนขึ้นกับแต่ละโรงงาน คุณสมบัตินอกจากให้รสเค็มแล้ว ยังเพิ่มความอร่อยให้อาหารด้วยรส “อูมามิ” และทำให้อาหารมีกลิ่นหอมชวนรับประทานด้วย
แม้ว่ายังไม่โอกาสได้ลิ้มลองน้ำปลาจากปลาแซลมอน แต่ก็เกิดคำถามว่า ถ้าเทียบน้ำปลาไทย กับ น้ำปลาแซลมอน จะเป็นอย่างไร?
กวิน ยงสวัสดิกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง จำกัด พูดชื่อบริษัทแบบนี้ไม่คุ้นเท่าไรแต่ถ้าบอกว่า แบรนด์น้ำปลา ตราคนแบกกุ้ง กับ ตราหอยเป๋าฮื้อ หลายคนน่าจะคุ้นเคยมากกว่า ให้ข้อมูลได้อย่างน่าสนใจว่า
การที่ นอร์เวย์ และอาจรวมถึงประเทศยุโรปอื่นๆ หันมาสนใจผลิตน้ำปลา และเป็นน้ำปลาจากปลาแซลมอน อาจต้องรอดูผลิตภัณฑ์ชัดๆ อีกครั้ง แต่คาดการณ์ว่า คุณค่าและมูลค่าหลักของปลาแซลมอนคือ เนื้อปลาที่นิยมกันทั่วโลก การจะหมักน้ำปลาน่าจะใช้ส่วนอื่นๆ ที่เหลือเพื่อลด Waste เท่ากับว่าไม่ได้ใช้ปลาทั้งตัว ถ้าจะนำปลาทั้งตัวมาหมักน่าจะไม่คุ้มค่าและทำให้น้ำปลามีราคาสูง
การใช้ปลาทั้งตัว จะทำให้ได้กรดอะมิโนจากตัวปลา และได้รสชาติที่อูมามิมากกว่า ทำให้อาหารอร่อยขึ้น
ในอดีตประเทศไทยเคยทดลองผลิตนำ้ปลาจากปลาทูน่ามาแล้ว เพราะประเทศไทยถือเป็นประเทศส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าอันดับต้นๆ ของโลก จึงมีส่วนเหลือของปลาอยู่ไม่น้อย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า จึงทดลองนำมาผลิตเป็นน้ำปลา แต่ได้น้ำปลาที่ไม่อร่อยเท่ากับหมักจากปลาทั้งตัว จึงไม่มีการพัฒนาต่อ และนำส่วนเหลือของปลาทูน่าไปทำอาหารสัตว์เลี้ยงจะได้ประโยชน์มากกว่า
ดังนั้น ถ้าถามว่า น้ำปลาจากปลาแซลมอนจะเป็นอย่างไร เบื้องต้นไม่น่าจะส่งผลอะไรกับน้ำปลาไทย แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการพัฒนาต่อไปในอนาคตหรือไม่ แต่อีกมุมหนึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าประเทศทางยุโรปให้ความสนใจน้ำปลามากขึ้น และเป็นโอกาสของน้ำปลาจากไทย ที่จะเข้าไปทำตลาดมากขึ้นด้วย ต่อไปน้ำปลาไทยอาจไม่ได้อยู่แค่ในอาหารไทยเท่านั้น เชื่อว่าจะมีการพัฒนาให้เหมาะกับอาหารหลากหลายประเภทมากขึ้น
เมื่ออาหารไทยมีชื่อเสียงได้รับความนิยมไปทั่วโลกโลก เช่น ต้มยำกุ้ง ผัดไท แกงมัสมั่น ล้วนต้องใช้เครื่องปรุงรส หนึ่งในนั้นคือ น้ำปลามาสร้างความกลมกล่อมให้กับรสชาติ เช่นนั้น น้ำปลาไทย ก็อาจกลายเป็นเครื่องปรุงรสระดับสากล และขยับไปอยู่บนโต๊ะอาหารในอีกหลายประเทศทั่วโลกได้เช่นกัน
และขอทิ้งท้ายว่า สำหรับคนรักสุขภาพก็สามารถใช้น้ำปลาในการปรุงอาหารได้ ปัจจุบันมีน้ำปลาโซเดียมต่ำเป็นทางเลือกแล้ว แต่อีกส่วนที่สำคัญคือ ผู้บริโภคต้องใช้ในปริมาณที่พอเหมาะด้วย จะทำให้ได้อาหารที่รสชาติอร่อยและมีสุขภาพที่ดีไปพร้อมกัน