03/07/2024
ผู้ลิขิตชีวิตโลก ใน ๕๐๐ ปีมานี้
500 ปีมานี้ คนเรามาได้ไกลมาก
ประชากรในปี ค.ศ. 1500 มีประมาณ 500 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2000 มี 7,000 ล้านคน เพิ่ม 14 เท่า
ผลผลิตเพิ่ม 240 เท่า พลังงานที่บริโภคเพิ่มขึ้น 115 เท่า
คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องสมัยนี้ เก็บหนังสือได้หมดห้องสมุดยุคกลางของยุโรป
ปี ค.ศ. 1522 แล่นเรือรอบโลกใช้เวลาสามปี ปี ค.ศ. 1969 เราไปโลกพระจันทร์
ค.ศ.1674 เราเพิ่งรู้จัก microorganismผ่านกล้องจุลทรรศน์
ค.ศ. 1945 ทดลองปรมาณูลูกแรกในมลรัฐนิวเม็กซิโก แล้วทิ้งจริงในเดือนกรกฎาคม ปีนั้นเอง และผ่านมาจนวันนี้ มีปรมาณูเพียงพอจะจบประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้เลย
โฟกัสที่ยุโรป
ย้อนไปไกลกว่าปี ๑๕๐๐ ยุโรปเหนือในสมัยโรมันเป็นป่า มีแร่ธาตุอุดม
ยุโรปเมื่อ ๕๐๐ ปีก่อน เว้นแต่คนจำนวนน้อยที่เป็นอยู่โอ่อ่า บริบูรณ์ คนส่วนมากอยู่ปริ่ม ๆ กับความไม่มี ผู้คนทำอาชีพเกษตรเป็นหลัก การเพาะปลูกขึ้นกับดินฟ้าอากาศ เมื่อใดที่ฝนฟ้าไม่อำนวย ก็อดอยากขาดแคลน
การสาธารณสุขมีน้อย มีโรคระบาดร้ายแรง คือกาฬโรค ที่ทำให้เมืองกลายเป็นเมืองร้าง
เมื่อ ๕๐๐ ปีที่แล้ว ส่วนมากของดินแดนเป็นกลุ่มชนที่ยึดโยงกันด้วยภาษา หรือศาสนา แคว้นน้อยใหญ่ ทำสงครามกันบ้าง เป็นพันธมิตรกันบ้าง
ในช่วง ๕๐๐ ปีที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีซึ่งเกิดขึ้นในโลกของยุโรปเป็นหลัก มีส่วนสำคัญที่เปลี่ยนโลก และทำให้ความเป็นอยู่ของคนในโลกมีช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้น
Renaissance
เริ่มในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ นครรัฐต่าง ๆ ในคาบสมุทรที่เป็นประเทศอิตาลีในปัจจุบัน ก้าวพ้นยุคกลาง (Medieval time) เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance) งานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมสมัยนั้น เป็นสิ่งตกทอดมาให้ชาวโลกชื่นชมจนทุกวันนี้
ความสนใจหาความรู้ และการศึกษาเล่าเรียน ค่อยๆ กระจายไปทั่วยุโรป
นักสังคมศาสตร์กล่าวว่ายุคนี้ (renaissance) คนจำนวนหนึ่งเริ่มหันมามองตนเองในฐานะบุคคลมากกว่าสมัยก่อนหน้า (คือสมัยกลาง) ที่เชื่อศาสนา เกรงกลัวธรรมชาติ และนับถือผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมกันไป
การศึกษาขยายไปสู่คนกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะวงของศาสนจักร
คนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับตนเอง และกับโลกรอบ ๆ ตัว
นักประวัติศาสตร์รายหนึ่ง (Harari) กล่าวว่า ความคิดของนิวตัน (mathematic principle of natural philosophy ค.ศ. 1687) ซึ่งใช้ภาษาคณิตศาสตร์ (หรือภาษาขนาด) วัดและคำนวณความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของโลกกายภาพ เปิดมิติความคิดด้านวิทยาศาสตร์ให้รุดหน้าอย่างรวดเร็ว
เมื่อก้าวพ้นร่มเงาของความเชื่อทางศาสนาในสมัยนั้นที่ครอบงำชีวิตและวิถีความคิด สิ่งที่ถูกปลดปล่อยออกมาด้วยคือ ความใคร่รู้ ความทะนงตน การแข่งกันมีอำนาจ ซึ่งมีผลทั้งบวกและลบต่อชาวโลกทั้งมวลในเวลาต่อมา
ยุคตื่นขึ้นมาศึกษาศิลปวิทยาการกันอีกครั้งนี้ จบลงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 (ค.ศ. 1600 กว่า ๆ)
ดินแดนโพ้นทะเล
ค.ศ. 1500 ถึงราวๆ ค.ศ. 1750 เป็นยุครุ่งเรืองของยุโรปทั้งทางด้านการทหาร การเมือง การค้า และการส่งต่อความเชื่อของตนไปสู่ต่างแดน
จากเดิมที่ติดต่อค้าขายกันทางบกในทวีปยูเรเซียด้วยกัน มีอาหรับและจีนที่ค้าขายกันทางเรือบ้างในตะวันออกไกล การเดินเรือของคนยุโรปเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการค้าและการแผ่อำนาจ
แสนยานุภาพทางทะเลคือใบเบิกทางให้ออกเดินทางจากดินแดนอันคับแคบของตน สำรวจไปทั่วแล้วเข้าครอบครองดินแดนโพ้นทะเล สเปนข้ามไปครองทวีปอเมริกาใต้ ตามมาด้วยดัทช์และอังกฤษ ในศตวรรษต่อ ๆ มา ที่แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก
ตรงนี้ผิดกับจักรวรรดิในเอเชียที่ไม่สนใจการครอบครองดินแดนห่างไกล ไม่ว่าจะเป็น ทวีปอเมริกาหรือดินแดนอื่น ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิค
ในขณะที่เดินทางออกสำรวจ ยึดครอง และค้าขาย คนขาวก็กระจายตัวไปทั่วดินแดนใหม่ พร้อมๆ กับนำคริสต์ศาสนาไปเผยแผ่ด้วย
ผลพลอยได้ที่ไม่คาดก็คือ ชาวโลกมีพืชพันธุ์ธัญญาหารที่หลากหลายขึ้น จนอาจจะเรียกได้ว่า เป็นโลกาภิวัตน์แบบหนึ่ง
สงครามปลดแอก
ตลอดประวัติศาสตร์ของคน ความต้องการมีชีวิตรอด ความโลภ ความต้องการควบคุม ผู้อื่น เป็นพลังขับเคลื่อนที่ทำให้คนด้วยกันจับอาวุธฆ่าฟันกันเอง โดยในบางเวลาและบางพื้นที่ อาจจะมีการกล่าวถึงเหตุผลจำเพาะ เช่น ในยุโรป ศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ เป็นการปะทะกันเพราะความเชื่อที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นคริสต์ศาสนาด้วยกัน
สมัยนั้นคริสต์ศาสนาเป็นความเชื่อที่ครอบคลุมทุกด้านของชีวิตของผู้นับถือ และความยึดมั่นมากมายนำไปสู่ความรุนแรงได้ เช่น ในสเปน เคยมีช่วงเวลาที่เผาคนทั้งเป็นเพื่อกำจัด คนที่ถูกกล่าวหาว่า นอกคอก ทำให้คริสต์ศาสนาผิดเพี้ยนไป
ยุโรปในศตวรรษที่ 16 เกิดขบวนการปฏิรูปคริสต์ศาสนา (reformation) (1521) โดยฝ่ายโปรเตสแตนต์ แยกตัวออกมาจากหลักเดิมที่เป็นโรมันคาธอลิก นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งตั้งข้ออธิบายย้อนหลังว่า ความคิดแบบโปรเตสแตนต์เอื้อต่อเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมากกว่า จึงได้ผู้ศรัทธาในระยะแรกและเติบโตในยุโรปเหนือ
ความคิดเดิมคือ การงานและชีวิตประสบความสำเร็จต้องขึ้นอยู่กับพระเจ้าอวยพระพรให้ มุมนี้เน้นการสวดมนต์ภาวนาขอพร และการเป็นคนดีตามหลักศาสนา
ความคิดใหม่กลับข้างกับหลักคิดเดิมคือ ชีวิตที่ประสบความสำเร็จเป็นประจักษ์พยานว่า ตนเป็นคนที่พระเจ้าประทานพรให้ จึงเน้นความบากบั่นทำงานเพื่อพิสูจน์ตน
แน่นอนที่ว่า ศาสนจักรที่มีอำนาจอยู่ย่อมไม่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิดหรือว่าอำนาจที่จะลดลง เพราะในสมัยก่อนนั้นพระสันตปาปามีอำนาจยิ่งล้น เป็นทั้งผู้แต่งตั้งกษัตริย์ และถึงขนาดปลดกษัตริย์ได้ด้วย
ส่วนศาสนิกเองก็มีกลุ่มที่ยึดมั่นในความเชื่อเดิม และต่อต้านความคิดใหม่รุนแรง
ยุโรปตอนเหนือ เกิดสงคราม ๒ สงครามซ้อนกัน คือ
- สงคราม 80 ปี (1568 - 1648) พวกดัทช์กบถต่อรัฐบาลสเปน (เรื่องศาสนา การถูกปกครองอย่างเข้มงวดจากสเปน และการถูกเก็บภาษีสูง)
- สงคราม 30 ปี (1618 - 1648) เป็นสงครามศาสนา รบกันในยุโรปเหนือ (ส่วนในฝรั่งเศส มีการสังหารหมู่ด้วยเหตุแบบเดียวกัน)
เมื่อสงครามยุติลง ดัทช์ได้เป็นประเทศเอกราช ตอนนั้นพลเมืองในดินแดนต่างๆ ในยุโรปเหนือ ส่วนที่เรียกรวมๆ กับว่าเป็นเยอรมนี หายไปครึ่งหนึ่ง (ทั้งตาย ทั้งอพยพลี้ภัย)
สมัยต่อมา ชาวคริสต์ผู้ศรัทธาหันไปมุ่งเผยแผ่ศาสนาของตนไปทั่วโลก ด้วยกลยุทธ์สารพัดอย่าง รวมทั้งกีดกันคนศาสนาหรือความเชื่ออื่นด้วย [รื่องนี้อีกยาว]
แอกของความเชื่อเป็นแอกที่ปลดยากยิ่ง เพราะราวกับจะผสานเป็นเนื้อเดียวกับคน
หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจระบบตลาดมีพลังมากขึ้น Harari สรุปในหนังสือ Sapiens ของเขาว่า ความอยากครอบครองเกิดจาก “ทุนนิยม”
ยุคอุตสาหกรรม
ช่วงร้อยปี ระหว่าง 1760 - 1850 ขอเรียกรวม ๆ ว่า เป็นยุคปฏิวัติ
หลังจากที่การศึกษาแพร่หลาย นวัตกรรมต่างๆ ก็ผลิบาน เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง เพิ่มศักยภาพของคน เพื่อควบคุมพลังในธรรมชาติ มีการปฏิวัติสีเขียว (ด้านการเกษตร และเลี้ยงสัตว์) ปฎิวัติอุตสาหกรรม (นำเครื่องจักรไอน้ำ และเครื่องจักรพลังงานไฟฟ้ามาช่วยแรงคน ทำให้คนมีศักยภาพสูงกว่าความสามารถของร่างกายตามธรรมชาติ)
ด้านการเมือง เกิดเป็นประเทศอันเป็นหน่วยปกครองที่ใหญ่กว่าแว่นแคว้นของเดิม
ด้านการปกครอง จัดวางความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับรัฐ
ด้านธุรกิจ จัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างคน แรงงาน และเงินทุน “เงินทุน” กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งที่สร้างอำนาจให้คนที่มีทุน
ค.ศ. 1775 ทวีปเอเชียมีระดับเศรษฐกิจ 80% ของเศรษฐกิจโลก อินเดียและจีนร่วมกันผลิตสินค้าได้สองในสามของโลก ต่อจากนั้นมา ก็กลายเป็นยุคของคนขาวในยุโรปและอเมริกาเหนือที่มาแรง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1950 ยุโรปตะวันตกและอเมริกามีผลผลิตรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตของทั้งโลก ในขณะที่การผลิตของจีนเหลือแค่ 5%
ยุคเย้ยฟ้า ท้าธรรมชาติ 1850 - ปัจจุบัน
หลังจากได้เครื่องเล่น ๒ ชิ้นเก่งคือวิทยาศาสตร์และทุนนิยมมา คนเราก็ทำตัวเก่งขึ้นเป็นลำดับ ดำน้ำได้ เหาะเหินเดินอากาศได้ ออกไปท่องอวกาศก็ได้ สร้างพันธุ์ใหม่ของพืชและสัตว์โดยการดัดแปลงพันธุกรรมก็ได้ สร้างปัญญาประดิษฐ์ก็ได้
สิ่งที่สร้างได้ มีทั้งที่เป็นคุณ ทั้งที่เป็นโทษ ต่อตน และต่อผู้อื่น และผลในระยะยาวมีทั้งที่เป็นดังที่คาดหวัง และที่คาดไม่ถึง
เราจึงมีไวรัสที่คนประดิษฐ์
มีสัตว์อีกหลายชนิดที่คนสร้างให้มีคุณสมบัติสนองความต้องการของคน
มีขยะท่วมโลก
มีมหาอำนาจที่คิดว่า ตนคุมได้ “ทุกอย่าง”
เมื่อมีปัญหาใด ก็คิดเทคโนโลยีใหม่มาแก้ ซึ่งไม่แน่ว่าแก้ได้เบ็ดเสร็จหรือไม่ หรือว่าแก้แล้วมีผลทางลบใดอีก โดยไม่คิดควบคุมความต้องการของตนให้อยู่ในขอบเขตที่ไปได้กับโลกกายภาพหรือธรรมชาติ
แต่คนเราคุมได้ทุกอย่าง แน่หรือ
ขอจบวันนี้ด้วยข้อความจาก “มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก” พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
“โลกทั้งโลกนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยมโนกรรม” คือเจตจำนง แรงจูงใจ มาจากแนวความคิด ความเชื่อความยึดถือในค่านิยม หลักการ อุดมการณ์ (ทิฏฐิ) ต่อไปก็แสดงออกทางกาย ทางวาจา “ตัวการสำคัญคืออุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลน แต่กลายเป็นวัตถุนิยม ฐานความคิดใหญ่ของฝรั่งคือความมุ่งหมายที่จะพิชิตธรรมชาติ … สวรรค์บนดินจะเกิดขึ้น เมื่อมนุษย์พิชิตธรรมชาติได้สำเร็จ จะพรั่งพร้อมสุขสมบูรณ์ วิทยาศาสตร์ + เทคโนโลยี คืออารยธรรมปัจจุบันของตะวันตก จึงเกิดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
จะทำอย่างไรจึงจะทำให้ “คน” เห็นว่าชีวิตคือการอยู่ร่วมกัน
Living is sharing
#ประวัติศาสตร์ฉบับย่อ #มหาอำนาจ #ปฏิวัติอุตสาหกรรม #เรื่องของคน