10/12/2024
“ถ้าไม่อินการเมือง ทำไม่ได้หรอก”
เปิดแนวคิดการเมืองท้องถิ่น
ฉบับ เลขาติ่ง-ศรายุทธิ์ ใจหลัก
“ผมอินนะ ถ้าไม่อินการเมือง ทำไม่ได้หรอก”
กว่าหนึ่งชั่วโมงของการพูดคุย เมื่อชัตเตอร์ และไมค์ไวเลส หมดหน้าที่ของวัน ถึงได้ยินประโยคนี้เต็มปากเต็มคำ ด้วยสายตาที่มั่นคง ที่หากใครได้เห็นก็ย่อมไม่แคลงใจ ของเลขาธิการพรรคประชาชน คนปัจจุบัน
ย้อนไปก่อนศึกที่พรรคประชาชนจะเป็นฝ่ายพ่าย ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น นายก อบจ.อุดรธานี ที่ปลุกเลือดในตัวคอการเมืองใครหลายคน รายการ TODAY LIVE มีโอกาสพูดคุยกับ ‘เลขาติ่ง’ ศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลัง ตั้งแต่วันแรกครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่
และอาจจะก่อนหน้านั้น ด้วยสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมถึงชัยธวัช ตุลาธน ทำให้ภาพจำ ‘ติ่ง-ต๋อม-เอก’ กลายเป็นเกราะกำบัง ในวันที่ถูกครหาว่าพวกเขาอาจไม่ใช่ของจริงอยู่บ่อยครั้ง เพราะพวกเขาถือเป็นนักกิจกรรมรุ่นแรกๆ ทีเดียว
“ทุกการเลือกตั้ง คือโอกาสของการเปลี่ยนแปลง” เชื่อว่าใครก็ตามที่ติดตามข่าว ฟังอภิปรายในสภาฯ อ่านบทสัมภาษณ์ของบรรดาแกนนำ และสมาชิกพรรคการเมืองสีส้ม หากลองปิดตา ปิดเสียง ปิดชื่อ เหลือเพียงตัวอักษร คงคาดเดาไม่ได้ ว่าคำพูดดังกล่าวนี้ออกมาจากปากใครกันแน่
เพราะขนาดพื้นที่ห้องสี่เหลี่ยมของสตูดิโอเล็กๆ ของสำนักทูเดย์แห่งนี้ ยังเคยปรากฏบทสนทนาเช่นนี้ อย่างน้อย 3 ครั้ง 3 ครา ทั้งจากอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ชัยธวัช รวมถึงรองโฆษกพรรคฝีปากคมจากแดนใต้ สส.ลิซ่า ภคมน หนุนอนันต์ และล่าสุดในการพูดคุยครั้งนี้ โดยเลขาธิการพรรคคนปัจจุบัน
และไม่รู้สอนกันมาท่าไหน แม้แต่ในวันตั้งโต๊ะแถลงข่าว ยอมรับความพ่ายแพ้ และแสดงความยินดีกับผู้ชนะในสนาม อบจ. อุดรฯ หัวหน้าเท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ก็ย้ำด้วยข้อความไม่ต่างกัน “เราเชื่อว่าการเลือกตั้งทุกสนาม คือโอกาสในการเปลี่ยนแปลง และการทำงานการเมือง คือการรณรงค์ความคิด”
ถัดไปฝั่งซ้ายมือของหัวหน้าเท้งวันนั้น คือ เลขาติ่ง ศรายุทธิ์ ถ้านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือเพียงบทถูกเขียนด้วยปลายปากกาคนเดียวกัน อะไรคือเหตุผลเบื้องหลัง ของเรื่องราว และวิธีคิด ที่ถอดออกมาจากพิมพ์เดียวกันเปะ
[อยากเห็นประเทศไทย มีอนาคตมากกว่านี้]
ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่าย กว่าจะมาเป็นนัดหมายการพูดคุยนัคราวนี้ เพราะศรายุทธิ์ ออกปาก ไม่ถนัดรับบทคนหน้าไมค์เสียเท่าไหร่ “ผมโฟกัสการทํางานตัวเองในเรื่องของ การสร้างพรรค แล้วก็งานท้องถิ่นนะครับ ช่วงที่ผ่านมาความสนใจเรื่องท้องถิ่นก็ไม่ได้เยอะ”
แต่แล้วเมื่อความสนใจในการเมืองท้องถิ่นเริ่มคึกคัก ทั้งจากความพยายามปลุกกระแส และดับความร้อนแรงจนเกิดดราม่าสลับกันไป ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศในช่วงต้นปีหน้า ศรายุทธิ์ ถึงได้เป็นเป้าหมายที่จะพลาดไปไม่ได้
“พวกเราตอนเริ่มต้นคือเป็นคนที่เห็นปัญหา ประเทศนี้ดูไม่มีอนาคต แล้วเราคิดว่าอยากเห็นประเทศไทยที่มีอนาคตมากกว่านี้ เราจะเลือกอยู่เฉยๆ หรือจะเข้ามาทําอะไร เพื่อจะเปลี่ยนให้ประเทศไทยมีอนาคตสําหรับทุกคน นั่นคือจุดเริ่มต้น”
เขาเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น ‘หาเพื่อน’ ที่มีแนวคิดและเป้าหมายเดียวกัน เพื่อยกระดับบทสนทนาในวงแคบ ทั้งที่รู้ดีว่านี่เป็นเกมยาวแน่ จากบทเรียนประวัติศาสตร์ที่เห็นๆ กันอยู่ จนเกิดพรรคอนาคตในตอนนั้น
“คุณธนาธรช่วงนั้นจะพูดว่าพรรคต้องยาว ยาวกว่าพวกเราใช่ไหมครับ ในการที่จะสร้างพรรค คือสิ่งที่เราคิดนะครับ” เมื่อโจทย์ของพวกเขาต่างไป จากขนบพรรคการเมืองแบบเดิม วิธีการเดินหน้าจึงต่างไปด้วย ต้องสร้างพรรคที่เป็นสถาบัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ถึงได้ต้องสร้างระบบ คล้ายเอาคนล่าฝันที่มีชุดความคิดหรืออุดมการณ์ร่วมกัน มารวมตัวกันให้ได้
“คนไหนอยากเป็นนักการเมือง อยากทํางานในสภาฯ ไปลงรับสมัครเลือกตั้ง คนไหนไม่อยากเป็นก็ไม่เป็นไร ก็มาทํางานในส่วนอื่น อย่างผมไม่ได้ต้องการเป็นนักการเมือง แต่ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ผมก็มาช่วยตั้งพรรค”
ศรายุทธิ์ ย้ำว่า พรรคประชาชนปัจจุบัน พยายามทำโครงสร้างของสมาชิก ให้เห็นว่าอํานาจภายในพรรคทั้งหมดยึดโยงกับสมาชิก มีระบบเครือข่ายพื้นที่ เครือข่ายแรงงาน และเครือข่ายชาติพันธุ์ มีการประชุม จัดลำดับการบริหาร ผ่านรูปแบบการเลือกตั้ง
จะว่าไป การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่นี้ เกิดขึ้นจากเหตุที่พรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค “ใช้คําว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงดีกว่านะครับ เพราะผมคิดว่า การที่เราส่ง สส.เข้าไปในสภาฯ หรือคาดหวังที่จะเป็นรัฐบาลในอนาคต ภาพใหญ่คืออยากเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลง” มาถึงตอนนี้ ศรายุทธิ์พูดไป ก็แอบอมยิ้มน้อยๆ
“เราอยากเห็นประชาธิปไตย อํานาจสูงสุดเป็นของประชาชน” คำตอบที่ใครก็คาดเดาได้ ตามมาด้วยคำอธิบาย โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขกฎหมาย และปฏิรูปกองทัพ ด้วยพื้นฐานการคิด ว่าส่วนนี้ขัดขวาง การเปลี่ยนภาพกว้าง ก่อนที่จะไล่ไปยังมิติการทำงานในท้องถิ่น เพื่อเป้าหมายให้ประชาชนมีเสรีภาพ ความเท่าเทียม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านกลไกรัฐ ที่ยังต้องอาศัยเครือข่ายประชาชนร่วมทำงานอีกมาก
[จำเป็นแค่ไหน ที่พรรคการเมืองเปิดหน้าสู้สนามท้องถิ่น?]
ตั้งแต่ บรรดา นายก อบจ. ในหลายจังหวัดทยอยลาออก อย่างกับนับกันมา ด้วยเหตุผลที่ฟังขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง นับจากนั้น สีสันการหาเสียงถึงได้เน่าสนใจ และเพิ่มสปอตไลต์เป็นพิเศษเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เช่น ผู้ช่วยหาเสียงลงพื้นที่ หรือแม้แต่บ้านใหญ่จับมือกัน เหมือนไม่เคยลับฝีปากกันมาก่อน แต่นั่นก็เกิดขึ้นด้วยตัวบุคคล ไม่ใช่อย่างที่พรรคประชาชนเปิดหน้ายึดโยงพื้นที่ ทั้งที่มีผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ให้เห็น ว่าอาจเป็นผลร้ายมากกว่าดี
“การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจริงได้ ต้องเข้าไปทํา การบริหารท้องถิ่นก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่จะทําให้สิ่งที่เราอยากเห็นในประเทศนี้เกิดขึ้นจริงครับ”
“ผมคิดว่ามีนโยบายระดับชาติหลายเรื่อง ที่เราจําเป็นต้องมีประสบการณ์ในการทํางานในระดับท้องถิ่นด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับนโยบายชุดใหญ่ของเรา คือการยุติลักษณะการรวมศูนย์”
ศรายุทธิ์ เริ่มต้นอธิบาย หยิบยกโครงการน้ำประปาดื่มได้ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะถูกนำมาฟาดฟันกันในสนามท้องถิ่นอย่างดุเดือด เพราะราชการรู้ดี ว่าจะสัมฤทธิ์ระยะยาว ต้องปรับปรุงพร้อมกันทั้งระบบ โดยมีสารตั้งต้นมาจากประสบการณ์จริง ผนวกกับแนวคิดการสร้างพรรค ถึงได้ออกมาในแบบที่ว่า “อยากเห็นบ้านเมืองดี อยากเห็นบ้านตัวเองดี ลงไปทําสิ มาลงสมัครท้องถิ่น ชนะแล้วเข้าไปแก้มัน คือชวนคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมาลงมือทําเอง”
“ทุกการเลือกตั้งเราพูดเสมอว่า คือโอกาสของการเปลี่ยนแปลง เวลาผมพูดถึงโอกาส ไม่ได้หมายถึงแค่ชนะเท่านั้น แต่คือโอกาสที่จะทําให้เราไปรณรงค์ทางความคิด รู้ไหมครับว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้นะครับว่า นายก อบจ.ทําอะไร และงบประมาณ อบจ.แต่ละปีเท่าไร”
ชนวนเช่นนี้ ที่ถึงพรรคประชาชนจะไม่ชนะในสนามอุดรธานี แต่ประเด็นงบประมาณ 1,200 ล้านต่อปี ถึงดังอยู่ในความคิดชาวอุดรฯ อย่างเลี่ยงไม่ได้ และไม่ว่าผู้บริหารเมืองเป็นใคร พวกเขาก็ดูจะเฝ้าจับตาใกล้ชิด ทั้งหมด เป็นภาพที่คนเบื้องหลังอย่าง ศรายุทธิ์ คิดไว้ตั้งแต่ต้น แต่ไม่ได้คาดหวังจะเกิดในชั่วพริบตาเดียว เขาถึงไม่ได้มองว่าความพ่ายแพ้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เหนือไปกว่าประสบการณ์ที่ได้กลับมา
“เอาเข้าจริงในตอนคณะก้าวหน้าเนี่ย ความนิยมของพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้สูงขนาดนี้นะ ดังนั้นการที่เราทะเยอทะยานว่าจะชนะเยอะ ผมคิดว่าเป็นความทะเยอทะยานที่เกินกว่าความเป็นจริง หรือคนอื่นคาดหวังว่าเราจะชนะหลายที่ ก็เกินจากพื้นฐานความเป็นจริง…ความนิยมพรรคอนาคตใหม่ ตอนเลือกตั้งปี 2562 อยู่ที่ 17-18% เองครับ แล้วเราจะคาดหวังให้ชนะถล่มทลายมัน เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว”
[ไม่กลัวแพ้ กลัวชนะแล้วทำไม่ได้]
ผ่านไปกว่าครึ่งทางของบทสนทนา ยิ่งเข้าใกล้การเมืองเชิงพื้นที่เท่าไหร่ แทบจะลืมไปเลย ว่าเลขาธิการพรรคคนที่อยู่ตรงหน้านี้ จะขึ้นชื่อว่าพูดน้อย เพราะเขาตอบทุกข้อสงสัยอย่างตรงประเด็น และตรงไปตรงมา
แม้แต่คำถามที่ว่า เหตุใดพรรคประชาชนถึงส่งผู้สมัครในสนามท้องถิ่นน้อย ทั้งที่ชูนโยบายนี้มาตลอด ศรายุทธิ์ ตอบอย่างไม่ปิดบัง “หาคนยากนะ ไม่ง่ายต้องยอมรับ”
ตามที่รู้กัน พรรคประชากรจะมีระบบการสัมภาษณ์ผู้สมัครในนามพรรค ไม่ต่างกับการรับสมัครงาน ดูทั้งศักยภาพ ทัศนคติ รวมไปถึงทิศทางการพัฒนา ผ่านด่านนี้แล้วก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนอบรม เพื่อพัฒนาตัวต้น พัฒนานโยบาย แถมมีการบ้านติดตัวให้กลับ ไม่ต่างกับชีวิตวัยเรียน เพื่อให้ได้นโยบายที่สามารถทําได้จริง
“เราคุยกันตลอดนะครับ ว่าเราไม่ได้กลัวแพ้การเลือกตั้ง หลายคนคิดว่าเรากังวลเรื่องแพ้ ทําไมไม่เลือกคนนั้น คนนั้นมีโอกาสชนะ เราไม่ได้กลัวการแพ้ครับ แพ้เราไม่ได้มีปัญหา สิ่งที่เรากังวลมากกว่า คือชนะแล้วทําไม่ได้” ศรายุทธิ์ แสดงความเห็นพร้อมหัวเราะอยู่ในที เมื่อเล่าเสริมว่า ความคาดหวังของประชาชน ถ้าหากพวกเขาทำไม่ได้ คงโดนด่าเละ
“บางเรื่องอาจจะไม่สําเร็จทีเดียว หลายเรื่องต้องใช้เวลา…พรรคพยายามบอกว่าต้องตรงไปตรงมาต่อประชาชน พูดอะไรต้องทําให้ได้ เรามักจะใช้คําที่เราพูดกัน เคยก็คือคิดในสิ่งที่เชื่อ าในสิ่งที่คิด คิดอะไรก็ทําอย่างนั้น และเมื่อพูดแล้วต้องทําให้ได้ นี่คือความสําคัญของนักการเมือง ดังนั้นทุกเรื่องที่เราออกแบบ นําเสนอ พูดไปไม่ใช่เทคนิคหาเสียงเพื่อชนะการเลือกตั้ง”
[กระแส สู้ กระสุน ได้จริงหรือ?]
ถ้าสิ่งที่ศรายุทธิ์เล่าเป็นสูตรสำเร็จ ที่เกิดขึ้นง่าย คงไม่เกิดภาพที่พรรคประชาชนต้องแถลงแสดงความยินดี และแสดงเจตจำนงพร้อมร่วมทำงานกับผู้ชนะซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะในวันที่พรรคยังถูกมองเป็นสิ่งแปลกปลอมทางการเมือง
ศรายุทธิ์ มองว่า การสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญ แต่ทำยากกว่าการเมืองระดับชาติ ที่ผู้คนพร้อมจะสนใจในช่วงเวลาสั้นๆ พร้อมกัน พรรคถึงต้องให้น้ำหนักกับเครือข่ายสมาชิก
“เวลาผมพูดสิ่งเหล่านี้ดูอุดมคติเนอะ แต่ความเชื่อของเราตอนที่มาทํางานการเมือง คือเราเชื่อในศักยภาพความเป็นมนุษย์ มนุษย์มีแต่ศักยภาพในการที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ เราเชื่ออย่างนั้น ดังนั้นเมื่อเรามีข้อเสนอทางนโยบายที่ดี เขาต้องเลือกเราใช่ไหม เราเชื่อแบบนั้น ปัญหาอยู่ที่เรา เราจะสร้างนโยบายที่ดีได้อย่างไร สื่อสารไปถึงเขาได้อย่างไร”
ใช่ว่าศรายุทธิ์จะไม่รู้ ว่าผู้สมัครของพรรคทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น กำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์ว่ายังเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ไม่มากพอ เลขาธิการรายนี้ไม่ปฏิเสธ เพียงแต่ย้ำว่า ทุกคนมีการบ้านที่ต้องคุย และแสดงความตั้งใจจริงให้หนักขึ้น
“ถ้าเราจะชนะเราต้องทํางานหนัก สร้างเครือข่าย คุยทุกวันเดินทุกวัน เหมือนผมต้องไปเดินทุกวัน…ถ้าเราทําได้ เดินครบทุกหลังให้เขาเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจ เห็นนโยบาย ผมเชื่อว่าประชาชนจะเลือก ผมเชื่อมั่นอย่างนั้น”
[แม่ทัพใหม่ หัวหน้าเท้ง-ณัฐพงษ์]
ในฐานะคนเก่าคนแก่ของพรรคการเมืองที่ยังไม่ถึง 7 ปี ต่ำ พูดติดตลกก็ยังไม่ทันได้ขึ้นประถมชั้นปีที่1 ก็ถูกย้ายโรงเรียนมาแล้วถึง 2 หน เปลี่ยนคุณครู ครูใหญ่ และเพื่อนร่วมชั้นมานับไม่ถ้วน เขาคิดอย่างไรกับ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน
จะมีสักกี่คนที่ติดตามการเมืองทุกวัน ศรายุทธิ์ ตั้งต้นคำตอบนี้ด้วยคำถาม เพราะเขาเชื่อว่า โดยธรรมชาติแล้ว ประชาชนจะสนใจการเมืองช่วงใกล้ๆ เลือกตั้ง และหลังมีรัฐบาลได้ไม่นานก็จะค่อยซาลง จึงไม่แปลกใจที่ประชาชนบางส่วนจะรับรู้เพียงว่า พรรคส้มเปลี่ยนหัวหน้าพรรค แต่ยังจดจำได้น้อย ไม่เว้นกระทั่ง ชื่อบ้านใหม่ของพรรคส้ม คือ ประชาชน
เมื่อผนวกสิ่งเหล่านี้ เข้ากับตัวต้นที่เขาสัมผัสมาตลอด ศรายุทธิ์ จึงเชื่อมั่นต่อหัวหน้าพรรคคนนี้
“คุณเท้งเหมือนเพชรที่กําลังเจีย ผมคิดว่าเขาอย่างไรก็สวยงามอยู่แล้ว น้ำดีอยู่แล้ว แต่ต้องให้เวลาเล็กน้อย ที่จะทําให้ลงตัวครับ แต่ทุกอย่างพร้อม…สําหรับผม ผมมองว่าเขาเป็นหัวหน้าที่พร้อมที่สุดนะ ตั้งแต่เคยทํางานมา เพราะตอนสมัยคุณธนาธร มีความสามารถการบริหาร ทักษะเยอะ แต่มานับหนึ่งเริ่มสร้างพรรคการเมือง ณ วันนั้นถามว่าคุณธนาธรพร้อมไหม ผ่านมาเป็นคุณทิม พิธา ก็กะทันหัน ไม่ได้เข้ามาบริหารพรรคตั้งแต่แรก คุณธวัชนี่ดีขึ้นหน่อย มีส่วนในการบริหารจัดการ” พิจารณาทุกมิติแล้ว เหตุใดเขาจะต้องปฏิเสธหัวหน้าพรรคคนนี้ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ขอเพียงเวลา และประสบการณ์ ให้พิสูจน์ตัวตนอีกนิด
[แล้ววันนั้น...จะมาถึงไหม]
คงจะเหมือนกินข้าวจนอิ่ม แล้วไม่ได้ดื่มน้ำ ถ้าหากเราไม่ปิดท้ายการพูดคุยวันนี้ ด้วยคำถามนี้ ว่าจะได้เห็นพรรคประชาชน คว้าเก้าอี้เพิ่ม เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งหรือไม่? “เนื่องจากสัมภาษณ์ผม ผมก็จะพูดในฐานะผมละกัน ผมจะมองว่าเราต้องได้มากกว่าเดิม มากเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับการทํางานหนักจากนี้ไป ว่าทําได้ดีแค่ไหน” ศรายุทธิ์ ออกตัว
ด้วยบทเรียนที่ผ่านมา หลายครั้งพวกเขาทำได้เกินเป้าหมายที่วางไว้ แต่นั่นก็ไม่ได้การันตีผลลัพธ์ในครั้งถัดๆ ไป เช่นเดียวกับความจริงในอดีต ราวปี 2566 ที่เคยถูกย้ำเตือนว่า ‘เขา’ ไม่อนุญาตให้พรรคประชาชนเป็นรัฐบาล
“ความเป็นจริงในอดีต ไม่ได้การันตีว่าจะเป็นจริงในอนาคตด้วย ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ผมเชื่อในการเปลี่ยนแปลง ความคิดคนก็เปลี่ยนนะครับ สิ่งที่เรามองเห็นคือ คนเริ่มเห็นด้วยมากขึ้น ขยายกลุ่มมากขึ้น…สิ่งที่เรามองเห็นก็คือคนอายุ 40-50 ปี เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมกับเรามากขึ้น”
“ผมเชื่อว่า เมื่อคนในสังคมมีฉันทามติร่วมกัน อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อะไรก็ต้านทานไม่ได้หรอก เราปรับ เขาก็ต้องปรับ คนที่ไม่อยากให้เราเป็นก็ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อจะทําให้ระบบระเบียบสังคมเดินหน้าต่อไปได้”
นั่นถึงกลายเป็นบทสรุปและความคาดหวังส่งท้ายว่า ของ ศรายุทธิ์ ว่า “ถ้าเราชนะและประชาชนในภาพรวม ทุกๆ ฝ่ายเห็น สนับสนุนว่าเราควรจะได้เป็นนายกฯ เราควรได้เป็นรัฐบาล ผมก็เชื่อว่าเราก็จะได้เป็นครับ”
ไม่ว่ามาถึงตอนนี้ คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ชอบหรือไม่ชอบ กับสิ่งที่เขาหรือพรรคประชาชนฝันถึง การพูดคุยครั้งนี้ ทำให้เราได้บทเรียนใหม่ว่า อย่าเชื่อแค่คำร่ำลือ เพราะเลขาติ่ง ไม่ได้พูดไม่เก่ง เมื่อเขาได้ถ่ายทอดความ ‘อิน’ ให้ได้รู้กัน
สำนักข่าว TODAY
สำนักข่าวออนไลน์ เปิดความรู้ ดูทูเดย์
#สำนักข่าวทูเดย์