
11/01/2025
คนไทยถูกคุกคามโดยพวก ‘ทุจริตชน’ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ว่างเว้นวัน สร้างความเสียหายทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก บางคนเลือกวิธีจบชีวิตตัวเองเพราะต้องเสียทรัพย์สินที่หามาทั้งชีวิตไป ซึ่งเรื่องนี้เองก็พอจะมีหวัง หลัง DE ขยับให้ธนาคารและค่ายมือถือต้องร่วมรับผิดชอบ เรื่องนี้จริงๆแล้วมันเป็นอย่างไร ฅนคลองกระแชงจะเล่าให้ฟัง
จากข้อมูลในปี 2023 ชี้ว่าประเทศไทยสูญเสียทรัพย์สินจากการถูกหลอกลวงทางออนไลน์สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก คนไทยต้องเจอกับคอลเซ็นเตอร์ไม่ว่างเว้นวัน แม้จะป้องกัน เรียนรู้เท่าทัน หรือแม้แต่คิดว่าเราทันกลโกงของ ‘ทุจริตชน‘ เหล่านี้แล้วก็ตามทีแต่ไม่เลยเหมือนเราก้าวตามหลังพวกเขาเหล่านั้น 1 ก้าวเสมอ
ยิ่งล่าสุดทางการสิงคโปร์เตรียมบังคับใช้กฎหมายให้ธนาคารและค่ายมือถือร่วมรับผิดชอบหากลูกค้าโดนหลอกโอนเงิน ยิ่งทำให้เกิดคำถามขึ้นในสังคมว่าแม้เราจะพยายามป้องกันตัวเต็มที่แล้วก็ตาม หน่วยงานต่างๆก็น่าจะมีหนทางช่วยเหลือเราบ้าง
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า เราก็มีการดำเนินการในเรื่องนี้เช่นเดียวกันโดยเป็นการแก้ไขพระราชกำหนดว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านไซเบอร์ และขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกา โดยมาตรการที่หนึ่ง การมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบของธนาคารพาณิชย์และโอเปอเรเตอร์ , มาตรการที่สองคือการจ่ายเงินคืน และมาตรการที่สาม คือ กาาเพิ่มโทษผู้กระทำความผิด และไม่ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาฯ สามารถดำเนินการได้เลย และเร่งรัดเรื่องนี้อยู่
“ถ้าเราออกมาตรการไปแล้ว และหากโอเปอเรเตอร์และธนาคารไม่ปฏิบัติตาม ทำให้เกิดความเสียหาย ก็ต้องมีส่วนร่วมในเงินที่ประชาชนเสียไป ส่วนมาตรการดังกล่าวมีการสอบถามค่ายมือถือและธนาคารแล้วหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า มีการพูดคุยแล้ว ซึ่งเขาเห็นด้วย และเป็นมติของที่ประชุมว่าต้องดำเนินการ เพื่อตัดทุกช่องทางของมิจฉาชีพ “ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว
นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การแก้กฎหมายที่ให้หลายหน่วยงานต้องรับผิดชอบ กรณีที่ประชาชนถูกหลอกออนไลน์ ซึ่งไม่ได้มีแค่ส่วนของธนาคารที่ต้องรับผิดชอบเท่านั้น มีส่วนผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการต่างๆ ด้วย
ทั่วโลกพยายามออกกฎหมายเพื่อป้องกันการหลอกลวงทางไซเบอร์ หากมีการพิสูจน์ว่าแบงก์ไม่ได้ทำ ก็ถือว่าแบงก์บกพร่อง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกข้อหาจะเป็นความผิดของแบงก์ เมื่อมีการฟ้องร้องสุดท้ายคำตัดสินขึ้นอยู่กับศาลเป็นผู้พิจารณา
คนไทยต่างเฝ้ารอมาตรการเหล่านี้ออกมา ดังที่ย้ำไปตั้งแต่ตอนต้นว่า เราทุกคนต่างหาทรัพย์สินมาด้วยความเหนื่อยยาก แต่กลับถูกเหล่าคนร้ายขโมยไปอย่างง่ายดาย หากมีกลไกลหรือกฎหมายจากภาครัฐเข้ามาช่วยบ้างคงอุ่นใจไม่น้อย
#แก๊งคอลเซ็นเตอร์