01/01/2025
ขอบคุณ Filmvirus ที่กล่าวถึงนักเขียนทั้งสองของสนพ.แมวกบนะคะ ดีใจที่ได้เป็นหนึ่งในความทรงจำของปี 2024 ปีนี้ก็ขอให้ได้อ่านหนังสือสนุกๆ เยอะๆเลย
Top Bookvirus 2024
หนังสืออ่านต้นปีมันนาน ลืมๆไปแล้ว แถมใส่เข้าตู้ไปเรียบร้อย ขี้เกียจรื้อ เอาแค่ช่วงกลางปีท้ายปีพอนะ ไม่ต้องเขียนยาวเกินกว่านี้ด้วย
นอกเหนือจากในภาพนี้ ก็จำได้ว่ามีจดหมาย อองตวน แซงเต็กซูเปรี เขียนถึงแม่
แล้วก็ Scandal ของ Shuzaku Endo (คนแต่ง Silence ที่ Scorsese เอาไปทำหนัง) อ่านไปสี่รอบในรอบสามสิบปีนี้ มันหลอนและบาดใจน่ะ เรื่องแนว Doppelganger ทั้งนิยายและทั้งหนังพยายามจับแนวนี้ แต่มักเอาไม่อยู่ หนังอเมริกันก็มักหลงทาง หนัง Kiyoshi Kurosawa เล่าน่ากลัวอยู่ดีๆ กลายเป็นตลกซะงั้น ก็สนุกดี แต่ไม่เต็มอารมณ์ ส่วนนิยายของ Endo นี่เล่าได้ถึง เหมือนเอาชีวิตนักเขียนของตัวเองที่เป็นคาธอลิกในญี่ปุ่น ต้องอยู่ในสำรวม แต่ตัวตนอีกคนกลับเป็นชายแก่ตัณหากลับที่ฝืนทุกกฏ และซิ่งทุกไฟแดง
จากในภาพก็เริ่มกันด้วยเล่มบนสุด
โปรดอ่านคำแนะนำทั้งหมดก่อนใช้งาน – เล่มนี้อ่านแล้วฮาตลอด ภู่มณีนี่มันศรีธนญชัย ยำใหญ่ใส่สารพัด วางจานจัดร้ายเหลือ ลูกกวนเยอะนะจ๊ะ จำไม่ได้ว่าครบไตรภาคของนายมิวแล้วหรือยัง แถมช่างกล้าจบแบบเจ้าชายกบได้เจ้าหญิงอีกแน่ะ ยอมใจ
อันกามการุณย์ ของ ลาดิด ก็ไม่รู้ลาดิดเธออยู่ละแวกไหนระหว่าง Virginia Woolf, Maguerite Duras และJudith Hermann นะ อ่านตั้งแต่หน้าแรก ภาษาแบบนี้ก็รู้ว่าสมกับเกิดมาเป็นนักเขียนตัวจริง คมจริง กวีจริง เจาะใจเจ็บ จดหมายกระแสสำนึกของแม่ถึงลูก ที่เหมือนเป็นด้านกลับให้หนัง Chantal Akerman (จดหมายถึงแม่) และหนัง Sink or Swim ที่เป็นจดหมายร้าวรอนจากลูกถึงพ่อของ Su Friedrich
Death and the Maiden, Ghost Town และ Murder of Crows มูนสเคป หรือ อภินุช เป็นนักเขียนที่เคี้ยวใบกระเพราสลับกินเบเกอรี่แบบไม่กลัวขย้อน ปลุกวิญญาณวัยรุ่นวัยดรุณด้วยแสงแฟนตาซีต้องคำสาป รื้อตะเข็บแผลวัยเรียนขึ้นมาเขย่า ๆ จับมายามาผึ่งแดด ถลกผ้าถุงโปเกม่อนของระบบกดขี่หลายชนชั้น ที่ได้ทับถมและกลายร่างเป็นคำขวัญวันหลอกเด็กให้ท่องจำลืมไม่ลงถึงวันนี้ ในความโรแมนติกชวนฝันนั้นคุกรุ่นด้วยความเกรี้ยวกราดจวนระเบิด
เมตามอร์โฟสิส และ แดนลงทัณฑ์ Franz Kafka (เอามาอ่านซ้ำเป็นระยะๆ) และเพิ่มนิยายภาพคาฟก้าเข้าไปด้วย เวลาอ่านนิยายเขาก็รู้สึกป่วยหนักนะคาฟก้า แต่ทำไมดูซีรี่ส์ชีวิตเขาเหมือนคนไม่เคยเหงา เพื่อนๆ รัก แถมสาวหลงตรึม มันจะเกินไปไหมพ่อคู้นนนน
Tales of Hoffmann หนังสือรวมจินตนาการประหลาดๆ ของ ETA Hoffmann เคยอ่านเล่มอื่นมาสองเล่ม เล่มนี้มีอีกหลายเรื่องที่ไม่เคยอ่าน ก็เพลินกันไป อลัน โพ, คาฟก้า, ดอสโตเยฟสกี้ คงติดเชื้อพารานอยด์ไปจากฮอฟมันน์หรือเปล่านะ ไม่บ้าก็บอ ไม่พ้อก็เผ็ด
Women and Ghosts ของ Alison Lurie อ่านซ้ำบางเรื่อง และอ่านครั้งแรกบางเรื่อง แอลิสัน มุมมองเธอพิเศษ อ่านให้หลอนๆ ก็ได้ ขำก็ดี ภาษาเหมือนง่าย สั้นกระชับ คมคาย แต่เขียนให้ดีมันยาก หลายเรื่องในเล่มนี้อ่านแล้วลืมยาก
จะเป็นใครกันที่หยิบฉันออกจากชั้นหนังสือ ของ ซาโกะ โอซาวะ ถึงจะเป็นหนังสือเยาวชน ที่แลดูไร้สาระ เรื่องวันรุ่นเปลี่ยวเหงา โดนบูลลี่ มีหนังสือเป็นเพื่อนใจ แต่การค้นพบหนังสือของแต่ละคนมันงดงาม ทำให้เชื่อได้ว่าคนญี่ปุ่นมีทางลัดในเส้นทางสู่ความละเอียดอ่อนได้มากกว่าคนไทยเพราะอะไร และถ้าใครไม่เข้าใจตัวละครในหนัง Perfect Days ก็อาจเริ่มจากหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ที่มีแกนและจุดร่วมอยู่ที่ตัวเอกเด็กนักเรียนผู้หญิง ครูแนะนำการอ่าน และมี “ห้องสมุด” เป็นตัวเอกสำคัญ โดยแต่ละเรื่องสั้นมีจุดเหล่านี้เชื่อมโยงกัน (ตลกด้วยที่มีตัวเด็กผู้หญิงบ่นถึงหนังเมืองคานส์ของ โชเฮ อิมามูระ)
ผู้หญิงอาเซีย รวมเรื่องสั้นประเทศเอเชียและเพื่อนบ้าน เสียงผู้หญิงบรรยายเรื่องเป็นเสียงที่น่าฟังเสมอ ทั้งลีลากวี และแยบย้อน ซ่อนเร้น
ติดบ้าน (Daheim) และอีกเล่ม The Summerhouse, Later สองเล่มของ Judith Hermann เล่มสองอ่านซ้ำ เพราะอ่าน ติดบ้าน แล้วต้องย้อนไปต่ออารมณ์วิญญาณนักเขียนโดยแท้ เล่าเหมือนไม่เล่าเรื่องอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ชวนสะดุดใจหลายกึก ใครที่เป็นนักเขียนแล้วอ่านหนังสือคนไหนที่เขียนได้แบบนี้แล้ว ถ้ายังไม่เห็นคุณค่าและรีบยกมือไหว้อีก ก็ขอให้ไปเช่าหอคอยแล้วอยู่ชั้นบนสุดโดยไว อ่านแล้วต้องรีบไปดูซ้ำหนังผู้หญิงกำกับโดยพลัน Eliza Hittman, Mia Hansen-Løve, Josephine Decker และนิยายของ Siri Hustvedt เรื่อง The Blindfold
Light คนหมู่บ้านนี้ไปตามหารักในฝันที่ต่างหมู่บ้าน ไปหาตัวเธอไม่เจอ แต่ได้กระต่ายตัวหนึ่งกลับมาแทน นำมาสู่โรคระบาดที่ล้างบางคนทั้งหมู่บ้าน แต่ที่น่าช็อคกว่า คือปฏิกิริยาของคนที่ยังเหลือในหมู่บ้าน ปีใหม่นี้ว่าจะอ่านนิยายของ Torgny Lindgren อย่างตั้งใจจริงๆ ล่ะ (ที่บ้านมีอีกเล่มดองมาเกินยี่สิบปี) คนที่สร้างโลกอึมครึมพิลึกพิลั่นกัดเจ็บแบบนี้ เป็นคนพิเศษโดยแท้ เล่มนี้อ่านซ้ำยังพิสดารไม่หาย ถึงจะสะดุดตอนจบนิดหน่อย
เปโดร ปาราโม Pedro Paramo อ่านซ้ำหลังจาก 30 กว่าปีผ่านไป รอบนี้เข้าใจชัดเจนยิ่งกว่าปริ้นท์ดิจิตอล ต้นทางเมจิค เรียลลิสต์ และหมู่บ้านมาคอนโดของ Marquez ใช่ไหม ชวนฝัน ชวนสลด ชวนเพ้อ วิญญาณของหมู่บ้านหลังเขาและหลังของเขา – หลังผู้นำที่พ้นยุค ซึ่งทั้งหมดสมควรจรลา แต่ไม่วายเป็นผีลุกออกจากหลุมมาเล่านิทานพันหนึ่งราตรี
What Moves The Dead เล่าเรื่อง Fall of House of Usher ในแบบ Q***r หน่อยๆ เพ้อนิดๆ อ่านพร้อมๆ กับ Mexican Gothic ซึ่งมีอะไรคล้ายกันทางเห็ดโดยบังเอิญ แต่เรื่องนี้ตรงใจกว่า ไม่เยิ่นเย้อด้วย แต่พูดก็พูดเถอะ เรื่องแนวหลอนลึกต้อง Susan Hill เขียน
The Dylanists โดย Brian Morton นักเขียนในดวงใจ อ่านหนังสือเขาแล้วมักจะสะเทือนกระดูก ตัวละครเขากระแทกใจทุกเรื่อง เขียนตัวละครผู้หญิงก็เก่ง นี่ล่ะนะคนตกรถด่วนคันสุดท้ายก็อาการนี้แหละ
อ้ายเหว่ยเหว่ย 12 นักกษัตร นิยายภาพเล่มนี้ทรงคุณค่าจริงๆ รูปก็สวยมากด้วย อ่านแล้วได้รู้เยอะในมุมมองและชาติตระกูลอ้ายสามชั่วรุ่น รอยอดีตในประวัติศาสตร์จีนที่ซ้อนทับให้มองผ่านปริซึ่มหลายชั้น
The Fade Out นิยายภาพโดย Ed Brubaker และ Sean Philips นี่มันนิยายฟิล์มนัวร์ชั้นดีที่ได้แรงบันดาลใจจากนิยาย L A Confidential ของ James Ellroy และคดี Blue Dahlia อะไรพวกนั้น แต่ทำได้เนื้อหนัง วาดดี และจบสวย ใครรู้จักดาราฮอลลีวูดเก่าๆ และนโยบายล่าแม่มดคอมมิวนิสต์จะยิ่งสนุก (คล้ายมังงะเรื่อง Red Rat in Hollywood ที่มีแปลออกมาในบ้านเรา)
The Final Cut นิยายภาพทุกเล่มของ Charles Burns เป็นเหมือนยมทูตจากอเวจีที่น่าหวาดหวั่น เย้ายวนชวนฝัน เต็มไปด้วยอันตรายในโลกพิศวง แม้แต่ David Lynch ก็เทียบไม่ติดน่ะ และ Lynch อาจจะดูเด็กน้อยและทำตัวป็อปเอาใจคนดูเกินไปเลยด้วยซ้ำ
City ของ Murakami ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตัวเองเตือนตัวเองให้เลิกอ่านมูมู่ 1. เพราะเข็ดจากเล่มหลังๆ จนเลิกอ่านไปหลายปี 2. เพราะเพื่อนอย่างน้อยสามคนทักมา แต่ในเมื่อเราเองก็เคยตามอ่านมูมู่กันมานาน นานตั้งแต่ก่อนมีร้านหนังสือคิโนะร้านแรกในเมืองไทย และก่อนมีคนแปลไทยมูรากามิเล่มแรก สมัยที่คนอ่านมูมู่ทั้งประเทศไม่รู้จะมีถึงสิบคนหรือร้อยคนไหม ถ้ามีก็กระจายไปไม่เคยเห็นหน้า อย่างน้อยจนกระทั่งมาเจอคุณ Bob (Robert) Halliday ตัดไปสามสิบกว่าปีต่อมา พอมาเจอเรื่องย่อที่ชวนให้นึกถึงนิยายเล่มเก่าอย่าง Hard Boiled Wonderland ก็แน่ใจได้เลยว่า เล่มนี้ต้องอ่าน ได้มาก็อ่านเลยเกือบห้าร้อยหน้า แล้วก็เข้าใจลึกซึ้งว่าทำไมมูรากามิถึงต้องย้อนกลับไปหาโครงพล็อตเดิม ด้วยการตีความและขยายสาขาใหม่ เพราะอะไรพล็อตนี้ถึงได้คาใจเขามานานตั้งแต่วัยรุ่น (สมัยเขียนร่างแรกเป็นนิยายสั้น) ว่าทำไมเขาไม่เคยเขียนมันได้ดั่งที่มันสมควรเป็น และสุดท้ายเขาก็ทำได้ในวัย 70 กว่า เขียน ๆ หยุดๆ อยู่ราวสามปี แบ่งเป็นสามบท ตั้งแต่ช่วงโควิด งานนี้คิดว่ามูรากามินอนตายตาหลับได้แล้วนะ เหมือน Wim ทำ Perfect Days หรือ Tarkovsky ทำ The Sacrifice และ Robert Bresson ทำ L' Argent (Money) น่ะ เป็นงานปิดจ็อบได้เลย แม้จะไม่ใช่อะไรที่เซอร์ไพรส์แฟนคลับ แต่ก็สรุปผลงานทั้งหมดที่ผ่านมาได้สวย