เริ่มก่อตั้งประมาณ พ.ศ.2499 ได้มีครูบาอาจารย์หัวก้าวหน้า มีความเห็นตรงกันว่า ควรจะมี น.ส.พ.ท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรีสักฉบับหนึ่ง เพื่อเสนอข่าวสารที่ประชาชนควรรู้ และเพื่อท้วงติงการบริหารงานของทางราชการ ได้รวมตัวกันออกหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อ “เพชรภูมิ” มีนายสมชาย เกตุจำนงค์ ทนายความเป็นบรรณาธิการคนแรก
เพชรภูมิยุคแรกพิมพ์จำหน่ายได้เพียง 3 ฉบับก็มีอันต้องล้มเลิกเพราะไม่มีแท่นพิมพ์และอุปกรณ์การพิมพ์เป็นของตนเอง ไม่มีโรงพิมพ์รับพิมพ์ให้ (จากบทความใน น.ส.พ.เพชรภูมิ 16 มกราคม 2526) ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2514 นายปรุง สุนทรวาทะ ทนายความได้ชักชวนเพื่อนๆ ที่เคยร่วมกันออกหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบุรีในครั้งแรกกลับมา ร่วมกันออก น.ส.พ.อีก ครั้งและก็ยังคงใช้ชื่อว่า เพชรภูมิ มีนายแพทย์อภิชัย ศิริอักษร เป็นผู้ออกทุนดำเนินการ ในครั้งนี้ได้ว่าจ้างนายชาญ เกสะวัฒนะ เจ้าของโรงพิมพ์อนุกูลกิจ ถ.ดำเนินเกษม อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นผู้พิมพ์ ขนาดแทบลอยด์ เนื้อหาประมาณ 12 หน้า ใช้ตัวเรียงตะกั่วระบบเลตเตอร์เพลส นายปรุง รับเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา
สภาวะบ้านเมืองในขณะนั้นอยู่ในระบอบเผด็จการทหาร โดย 3 ทรราช พลเอกถนอม กิตติขจร พลเอกประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน จนเกิดการเคลื่อนไหวของนักศึกษา และประชาชนในกรุงเทพเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการปกครองแบบประชาธิปไตย เกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ระบอบเผด็จการทหารล่มสลาย
น.ส.พ.เพชร ภูมิในเวลานั้น มีแนวทางเดียวกับนักศึกษาและประชาชนผู้รักประชาธิปไตย บทความต่างๆ ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ นายปรุงได้ตัดสินใจเข้าสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรค พลังใหม่ ที่มีนายแพทย์กระแส ชนะวงษ์ เป็นหัวหน้าพรรค ได้หมายเลข 8 จึงมีคำเรียกว่า “ปรุงแปด” นับแต่นั้นมา ผลการเลือกตั้ง นายปรุง ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
น.ส.พ.เพชรภูมิก็ยังคงวางจำหน่ายตามปกติ ทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือนพร้อมใบผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล นายปรุงได้วางนโยบายเผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตย มีการแจกจ่าย น.ส.พ.ไปยังที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านและห้องสมุดของโรงเรียนใน จ.เพชรบุรี ทุกแห่ง ในการดำเนินการขาดทุนมาตลอด ด้วยการจ้างโรงพิมพ์นั้น ทำให้ต้นทุนสูงและควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ได้ นายปรุงในฐานะที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของสมาคมชาวจีน ได้ปรึกษากับนักธุรกิจชาวจีนใน จ.เพชรบุรีหลายท่าน จึงได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน ด้วยการตั้งวงแชร์ นำมาสร้างโรงพิมพ์ขนาดเล็ก ยังคงใช้ระบบเลตเตอร์เพลส พร้อมกับรับงานพิมพ์การ์ด บิลต่างๆ ช่วยค่าใช้จ่าย โดยตั้งอยู่ที่สำนักงานทนายความของตนเอง เลขที่ 93 ถ.ดำเนินเกษม อ.เมือง จ.เพชรบุรี ทำพิธีเปิดเมื่อประมาณเดือน สิงหาคม พ.ศ.2518
เปลี่ยนบรรณาธิการเป็น บก.หญิง #นางประโยชน์สุนทรวาทะ
นางประโยชน์ สุนทรวาทะ ภริยานายปรุง เป็น บุตรของ ขุนชาญใช้จักร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้เข้ามารับเป็นบรรณาธิการแทนนายปรุง ด้วยเหตุผลว่า น่าจะทำให้การขออนุญาตเป็นไปได้ง่าย น.ส.พ.เพชรภูมิ ยุคที่มีผู้หญิงเป็นบรรณาธิการฉบับแรก ก็ได้ออกวางจำหน่ายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2523 หน้าปกเป็นบทสัมภาษณ์นักการเมืองท้องถิ่นสตรีสองท่าน ส่วนนายปรุงก็ยังคงเขียนบทความอยู่อย่างสม่ำเสมอ แนวทางก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่เน้นไปที่การโกงการเลือกตั้ง และการใช้เงินซื้อเสียงของนักการเมือง
หนังสือ พิมพ์เพชรภูมิฉบับแรก (16 กรกฎาคม 2523) ในยุคเปลี่ยนบรรณาธิการเป็นนางประโยชน์ หลังจากถูกคณะปฏิรูปฯสั่งปิดมานานกว่า 3 ปี เป็นขนาดแทบลอยด์(11 x 16 นิ้ว) ใช้กระดาษปรู๊ฟ เป็นบทสัมภาษณ์นักการเมืองหญิง จ.เพชรบุรี แต่หน้าปกเกิดความเสียหายบางส่วนจากระบบการเก็บรักษาในเวลานั้น
#ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัวเพชรภูมิ
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2527 เวลาประมาณ 11.00 น. ได้มีคนร้าย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์ติดตามนายปรุง ซึ่งขับรถยนต์ส่วนตัวมุ่งหน้าไปทางศาลากลาง จ.เพชรบุรี เมื่อนายปรุงขับรถยนต์ไปถึงบริเวณน้ำพุ หน้าประตูจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ใกล้กับศาลากลาง จ.เพชรบุรี รถจักรยานยนต์ของคนร้ายเข้าประกบด้านคนขับ มือปืนที่ซ้อนท้ายจักรยานยนต์ได้ใช้อาวุธปืนขนาด 11 มม. กระหน่ำยิ่งนายปรุงเสียชีวิตในทันที ท่ามกลาง ประชาชนและข้าราชการที่อยู่ในบริเวณนั้นจำนวนมาก ส่วนมือปืนได้หลบหนีไปอย่างลอยนวล จนบัดนี้เป็นการจบชีวิตนักหนังสือพิมพ์ที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมาตลอด ชีวิต
เมื่อเสาหลักของครอบครัวได้สูญเสียไปอย่างกะทันหัน นางประโยชน์ มีความคิดจะเลิกล้มกิจการทั้งหมดขอใช้ชีวิตอย่างสงบ ยอมรับชะตากรรม แต่เหตุการณ์กลับตรงข้าม เนื่องจาก นางประโยชน์นั้น แม้จะเป็นเพียงแม่บ้านธรรมดา แต่ก็มีญาติพี่น้องมากมาย ด้วยบิดาเคยเป็นผู้ว่าฯหลายจังหวัดและเป็นนักประวัติศาสตร์ นักเขียนที่มีผลงานมากมายในอดีต ประกอบกับนายปรุงก็มีผู้ที่รักนับถือในความกล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ จึงมีผู้มาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก นักเขียนที่เขียนอยู่ประจำ เช่น อ.ล้อม เพ็งแก้ว ก็ได้เข้ามาคลุกคลีมากขึ้น นายชลิต เลาหสถิตย์ (เฮียง้วน) นายเสมา นาคะเวช ก็ยังยืนยันขอเขียนต่อไปแม้ไม่มีนายปรุง นายศักดิ์สิทธิ์ วิบูลศิลป์โสภณ ทนายความลูกเมืองเพชรที่ไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯก็ได้เข้ามาช่วย และได้แสดงความสามารถจนได้เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการในเวลาต่อมา น.ส.พ.เพชรภูมิจึงยืนหยัดมาได้อย่างมั่นคงนับแต่วันนั้น
ขยายเป็นฉบับใหญ่ยอดขายสูงสุดใน จ.เพชรบุรี
ในการทำงานของกองบรรณาธิการในขณะที่เกิดวิกฤตินั้น ทุกคนเหมือนเป็นแรงดลใจและมีความมุ่งมั่นจะรักษา น.ส.พ.ฉบับนี้ไว้ให้เป็นสมบัติของคนเพชรบุรีไว้ให้ได้ ต่างร่วมมือร่วมใจกันเต็มที่ มีการประชุมกันบ่อยครั้งขึ้น สังสรรค์กันมากขึ้น ในการประชุมครั้งหนึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว ได้ชู น.ส.พ.เพชรภูมิขึ้นในระหว่างทานอาหาร พร้อม เสนอว่า ถ้า น.ส.พ.มีหน้ากว้างขึ้นหากวางบนแผงหนังสือ จะทำให้น่าสนใจมากขึ้น นางประโยชน์จึงได้ดำเนินการสั่งแท่นพิมพ์ขนาดตัด 2 (เท่ากับ น.ส.พ.ส่วนกลาง) แต่ก็ยังคงใช้ระบบเลตเตอร์เพลส ตัวเรียงตะกั่วเช่นเดิม ฉบับวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2529 เป็นฉบับแรกที่มีขนาดตัด 2 จากที่มีบทความหลากหลายและขนาดรูปเล่มใหญ่กว่าฉบับอื่นๆ ใน จ.เพชรบุรี ทำให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของ จ.เพชรบุรี
เปลี่ยนระบบการพิมพ์เป็นออฟเซท
ในขณะเดียวกันสถานการณ์ของ จ.เพชรบุรี มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านการเมือง เกิดนักการเมืองรุ่นใหม่เช่น นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวทางใหม่ของการเมือง จ.เพชรบุรี น.ส.พ.เพชรภูมิได้เปิดกว้างให้หลายๆ ฝ่ายสามารถแสดงบทบาทได้อย่างเต็มที่ คณะทำงานที่เป็นหลักของกองบรรณาธิการจะไม่ฝักไฝ่กลุ่มการเมืองใด ไม่สมัครรับการเลือกตั้งในทุกระดับ ทำให้ น.ส.พ.เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย ยอดขายพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว ปัญหาการผลิตไม่เพียงพอแก่ความต้องการของผู้อ่าน อีกทั้งจำนวนหน้าเพิ่มมากขึ้นจากโฆษณาที่เข้ามาจนต้องส่งไปพิมพ์บางส่วนใน กรุงเทพ แต่ก็ยังไม่ทันต่อความต้องการของผู้อ่าน แท่นพิมพ์ระบบออฟเซทไฮเดลเบิรก์ลูกผสม (KORD) ที่มีอยู่แล้ว แต่ก็เป็นขนาดเล็กรับพิมพ์งานทั่วๆ ไปเท่านั้นไม่สามารถพิมพ์ น.ส.พ.ได้ นางประโยชน์ได้ตัดสินใจสั่งเครื่องพิมพ์ ROLAND 2 C ขนาดพิมพ์ใหญ่สุด 25 x 36 นิ้ว เปลี่ยนการผลิต น.ส.พ.จากตัวเรียงตะกั่ว เลตเตอร์เพลส มาเป็นระบบออฟเซท ทำให้มีความรวดเร็ว ภาพและตัวอักษรคมชัด แต่ยังคงพิมพ์ปกเป็น 2 สี (เขียวและดำ) ส่วนด้านในเป็นเพียงสีเดียว แต่ก็ถือว่าทันสมัยที่สุดใน จ.เพชรบุรีและใกล้เคียงขณะนั้น แท่นพิมพ์ติดตั้งเสร็จเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2535 (น.ส.พ. เพชรภูมิ 16 ธันวาคม 2535)
พัฒนาเป็นปกกระดาษปอนด์ขาวพิมพ์สี่สีสวยสด
ใน ปี พ.ศ.2536 น.ส.พ.เพชรภูมิ ก้าวกระโดดด้านเทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงรูปแบบ เริ่มต้นจาก น.ส.พ.ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม 2535 มีการทดลองใช้กระดาษปอนด์ขาวพิมพ์สอดสี 4 สีหน้าปกเป็นครั้งแรกเพื่ออวยพรปีใหม่ผู้อ่าน ต่อมาฉบับวันที่ 16 มีนาคม 2536 ทดลองพิมพ์หน้าปก 3 สี เพื่อปรับเป็น 4 สี ในฉบับต่อไป คือ ฉบับวันที่ 1 เมษายน 2536 นับแต่นั้นเป็นต้นมา น.ส.พ.เพชรภูมิจึงเป็น น.ส.พ.ท้องถิ่น จ.เพชรบุรี ฉบับแรกที่มีการพิมพ์ภาพสีหน้าปก ทั้งนี้เกิดจากความทุ่มเทแรงกายแรงใจจากฝ่ายผลิตทุกคน โดยเฉพาะหัวหน้าช่างอาร์ต นายพงษ์ชัย สัจจารุ่งเรือง หรือวุ้น
ขยายตลาดสู่อำเภอหัวหิน
ด้วยการตื่นตัวของประชาชนที่ต้องการรับรู้ข่าวสารมากขึ้นหลังจากถูกรัฐบาล เผด็จการปิดกั้นมานาน ทำให้ยอดจำหน่าย น.ส.พ.เพชรภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการไม่จำกัดอยู่เฉพาะ จ.เพชรบุรี จังหวัดใกล้เคียงก็อยู่ในลักษณะอย่างเดียวกัน อ.หัวหินเป็นอำเภอที่มีความเจริญ คนเพชรบุรีจำนวนมากได้ย้ายถิ่นเข้าไปทำงานใน อ.หัวหิน กองบรรณาธิการจึงวางแผนเปิดตัวจำหน่าย น.ส.พ.เพชรภูมิใน อ.หัวหิน และเป็นผลสำเร็จในฉบับวันที่ 16 กันยายน 2536 มีการเพิ่มหน้า น.ส.พ.เพื่อเสนอข่าวและบทความจากทีมงานกองบรรณาธิการ อ.หัวหิน ที่เข้ามาเสริม ช่วงจังหวะนั้นเกิดคดีนางสยามล ลาภก่อเกียรติ ภรรยา น.พ.บัณฑิต โฆษิตชัยวัฒน์ นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลหัวหิน ถูกสังหารโหดต่อหน้า ด.ญ.บารมี บุตรสาวซึ่งมีอายุเพียง 2 ขวบเศษ ซึ่งเป็นคดีที่โด่งดังไปทั่วประเทศ ทำให้ยอดขาย น.ส.พ.เพชรภูมิ ในเขต อ.หัวหินสูงขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ติดตลาดในทันที เพราะทีมข่าวอาชญากรรมเพชรภูมิได้เจาะลึกข่าวนี้แบบถึงแก่น
ย้ายมาอยู่อาคารเพชรภูมิ ริมถนนเพชรเกษม
ช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจขยายตัวแบบรวดเร็ว น.ส.พ.เพชรภูมิ ก็เช่นเดียวกันจากหน้าปกติ 16 หน้า ขยายเพิ่มเป็น 38 หน้า บางครั้งมีหน้า 4 สี ถึง 10 หน้า ยอดพิมพ์ก็เพิ่มทุกเดือน งานพิมพ์ก็มีลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว ปัญหาสถานที่โรงพิมพ์เก่าคับแคบเกินไป จำต้องขยายกำลังคนและกำลังการผลิต นางประโยชน์ได้ตัดสินใจซื้อที่ดิน ริม ถ.เพชรเกษม ต.บ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ก่อสร้างอาคารสำนักงาน 4 ชั้น 4 คูหา ด้านซ้ายเป็นโรงพิมพ์ มีการรับสมัครพนักงานมาเพิ่มและสั่งแท่นพิมพ์ใหม่หลายตัว เปลี่ยนระบบการจัดการบริหารจากเดิมมาเป็นรูปบริษัท ชื่อ บริษัทเพชรภูมิการพิมพ์ จำกัด และ บริษัท น.ส.พ.เพชรภูมิ จำกัด และได้ย้ายเข้ามาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2539
สูญเสียนักหนังสือพิมพ์อาวุโส
วัน ที่ 5 ธันวาคม 2539 วงการสื่อมวลชนเพชรบุรีได้สูญเสียนักหนังสือพิมพ์อาวุโสชื่อดังของ จ.เพชรบุรี และใกล้เคียง นายชลิต เลาหสถิตย์ หรือเฮียง้วน ผู้ช่วยบรรณาธิการ น.ส.พ.เพชรภูมิ ผู้สื่อข่าว น.ส.พ.เดลินิวส์ ฐานเศรษฐกิจ แนวหน้า วัฎจักร ซึ่งล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ปอดและเสียชีวิตอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพ
#กระหน่ำยิงนายสนั่นวรรณพุกหัวหน้าข่าวอาชญากรรม น.ส.พ.เพชรภูมิ เสียชีวิต
เมื่อ วันที่ 21 สิงหาคม 2543 เวลา 22.45 น. ณ บริเวณหน้าร้านเทียนชัยสเต็กเฮ้าส์ สามชาวเพชรต.ไร่ส้ม อ.เมือง จ.เพชรบุรี ได้มีคนร้ายจำนวน 3 คน ร่วมกันใช้อาวุธปืนกระหน่ำยิงนายสนั่น วรรณพุกหัวหน้าข่าวอาชญากรรม น.ส.พ.เพชรภูมิเสียชีวิตคารถปิกอัพคู่ชีพ ต่อมาหลังเกิดเหตุหนึ่งปีเศษนายมานัส หรือนัด นาเมือง อายุ 31 ปี นายสุวัตรหรือตา เจี้ยมดี อายุ 35 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของตำรวจในคดียิงนายสนั่น ได้เข้ามอบตัว โดยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ คือ นายธานินทร์ หรือดำ แก้วสกุล ยังคงหลบหนี สาเหตุการตายนั้นเป็นที่แน่ชัดว่า นายสนั่นได้เสนอข่าวอย่างเที่ยงตรงไม่หวั่นเกรงอิทธิพล จึงไปขัดแย้งกับกลุ่มอิทธิพลกลุ่มหนึ่ง แม้จะทราบว่าใครบงการแต่ขณะนี้ก็ยังไม่อาจหาพยานหลักฐานสาวไปถึงได้
นางประโยชน์ สุนทรวาทะเข้ารับพระราชทานปริญญามหาบัณฑิต
เมื่อ วันที่ 27 ธันวาคม 2545 เวลา 13.00 น. ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นายกสภาประจำสถาบันราชภัฏเพชรบุรี เป็นประธานการประชุมสภาสถาบันฯ ประจำเดือนธันวาคม 2545 มีกรรมการเข้าร่วมประชุม 30 ท่าน โดยมีวาระการเสนอบุคคลเพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ของสถาบัน ราชภัฏเพชรบุรี ปรากฏว่า นางประโยชน์ สุนทรวาทะ บรรณาธิการ น.ส.พ.เพชรภูมิและนายกสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวารสารศาสตร์ และในวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 นางประโยชน์ สุนทรวาทะ ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวารสารศาสตร์ จากพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารฯ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร กรุงเทพฯ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
นางประโยชน์ สุนทรวาทะ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ ได้ใช้ความรู้ความสามารถบริหารหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ ได้เจริญรุดหน้าในทุกๆ ด้าน แต่ที่เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งก็คือ สามารถรวบรวมผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ด้วยอัธยาศัยไมตรี มีน้ำใจแก่ผู้ร่วมงานแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การมีความเที่ยงตรงต่อการนำเสนอข่าวตลอด 23 ปีที่ ผ่านมา ไม่ฝักใฝ่การเมือง และไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการเมือง หรือผลประโยชน์แอบแฝงทางด้านอื่น ดำรงตนเป็นนักหนังสือพิมพ์มืออาชีพ นำเสนอข่าวจากความจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น บางครั้งอาจจะถูกข่มขู่คุกคามก็ไม่เคยท้อถอย แต่ก็มิได้ประมาท
ยึดอุดมการณ์-ทางอยู่รอด
น.ส.พ. เพชรภูมิ เป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ (ออกพร้อมวันออกสลากกินแบ่งรัฐบาล) แม้จะจำหน่ายอยู่ในจังหวัดเล็กๆ แค่ จ.เพชรบุรี – จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ยอดพิมพ์จนถึงขณะนี้ทะลุกว่า 1 หมื่นฉบับ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสำนึกตนตลอดเวลาว่าเรามิได้แข่งกับใคร แต่แข่งกับตัวเอง คิดเสมอว่าในแต่ละงวดจะนำเสนอข่าวหรือบทความอย่างไรจึงจะได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจากประชาชน
ขณะ เดียวกันกองบรรณาธิการฯ ได้ตรวจสอบและประเมินถึงสาเหตุที่เพชรภูมิได้รับความนิยมและมียอดจำหน่ายมี ปริมาณสูงกว่าหมื่นฉบับ พอจะประมวลเป็นสังเขปได้ว่า เนื่องจาก จ.เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่มีอิทธิพลของนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ตลอดจนบริวารว่านเครือ มักใช้ความรุนแรงยุติปัญหา ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่ไม่กล้าพูดหรือกล้าแสดงออก เมื่อ น.ส.พ.เพชรภูมิ เป็นสื่อที่มีอุดมการณ์ทำหน้าที่เพื่อประชาชนโดยไม่ยึด ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร้องทุกข์เพื่อส่งผ่านเรื่องราวไปยังผู้มีอำนาจใน บ้านเมืองโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง ขณะเดียวกันก็คัดกรองบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่นักข่าว นักเขียนประจำฯที่มีอุดมการณ์ตรงกัน
ดัง นั้นกว่า 20 ปีที่ผ่านมาผู้เสพข่าว น.ส.พ.เพชรภูมิ และประชาชนทั่วไปทราบดีว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นที่พึ่งให้ แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้ แม้บางครั้งบุคคลหรือองค์กรที่เราพาดพิงถึงในทางลบเป็นผู้ที่มีอุปการคุณใน การสนับสนุนด้านโฆษณาและงานพิมพ์ แต่เมื่อมีเหตุอันสมควรต้องกล่าวถึงก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราคำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะเกิดกับประชาชนเป็นหลัก นอกจากข่าวที่เข้มข้นกล้านำเสนอข้อเท็จจริงต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา แล้ว เนื้อหาในเล่มยังมีความหลากหลายของบทความต่างๆ อาทิ การเมือง ศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา กีฬา และอื่นๆ วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา เราเชื่อว่าแนวทางนี้จะเกิดความศรัทธาจากมหาชน กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่เราคิดเป็นจริง การตอบรับด้วยการซื้อ น.ส.พ.เพชรภูมิ อ่านทะยานทะลุหลักหมื่นฉบับในห้วงหลายปีที่ผ่านมา
ถูกฟ้องพร้อมต่อสู้คดี
การ นำเสนอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องปัญหาความทุกข์ร้อน และของชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ย่อมมีฝ่ายที่เสียประโยชน์ไม่พอใจแนวทางการนำเสนอข่าวของ น.ส.พ.เพชรภูมิค่อนข้างจะสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายที่จะได้รับ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ไปแตะผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นหรือข้า ราชการในระดับต่างๆ อย่างไรก็ตามทุกครั้งก่อนที่จะออกหนังสือพิมพ์ประมาณ 3-4 วัน จะมีการ“ประชุมข่าว” เพื่อคัดกรองข่าวและบทความที่จะลงตีพิมพ์ แม้จะพยายามหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในการทำงานข่าว แต่เราก็ถูกฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งมาแล้วหลายคดี ส่วนใหญ่เป็นคดีหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหายเกี่ยวเนื่องกับคดีหมิ่น ประมาทหากถึงขั้นเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลและมีการไกล่เกลี่ย น.ส.พ.เพชรภูมิก็ยินดีที่จะเจรจาประนีประนอมด้วย เนื่องจากไม่อยากเสียเวลากับเรื่องคดีความ แต่ทั้งนี้การประนีประนอมต้องอยู่ในเงื่อนไขที่เรายอมรับได้ คดีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่เคยจบลงที่การไกล่เกลี่ยของผู้ประนีประนอมประจำ ศาล แต่จบลงที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลไม่ประทับรับฟ้อง ทั้งนี้เราเชื่อว่าการต่อสู้ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนย่อมได้รับความคุ้ม ครองตามกฎหมาย
เปลี่ยนตัวบรรณาธิการบรรณาธิการ น.ส.พ.เพชรภูมิ 2551-ปัจจุบัน
ในปี 2550 นางประโยชน์ สุนทรวาทะ บรรณาธิการ น.ส.พ.เพชรภูมิ ได้ขอวางมือตำแหน่งบรรณาธิการฯ เนื่องจากอายุมากและต้องการให้ผู้ที่มีความสามารถและมีประสบการณ์เข้ามาทำ หน้าที่แทน ได้มอบหมายให้นายศักดิ์สิทธิ์ วิบูลศิลป์โสภณหัวหน้ากองบรรณาธิการฯ ขึ้นรับตำแหน่งบรรณาธิการ โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานการพิมพ์จังหวัดเพชรบุรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550 ขณะเดียวกันได้แต่งตั้งให้นายอภิชาต พวงน้อย ผู้สื่อข่าวประจำกองบรรณาธิการฯ ขึ้นรับตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณาธิการฯ
เมื่อ วันที่ 18 สิงหาคม 2551 บริษัท เพชรภูมิการพิมพ์ จำกัด โดยนายปริญญา สุนทรวาทะ กรรมการผู้จัดการได้ดำเนินการติดตั้งแท่นพิมพ์ขนาดใหญ่ 28 x 40 นิ้ว ยี่ห้อ โรแลนด์ พิมพ์ได้ครั้งละ 4 สี พร้อมระบบ I R (ระบบเป่าแห้งด้วยแสง) ซึ่งเป็นแท่นพิมพ์ระบบออฟเซทหน่วยที่ 3 ของโรงพิมพ์ และเป็นแห่งแรกในจังหวัดเพชรบุรี
บริษัท เพชรภูมิการพิมพ์ จำกัด ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มรูปแบบ ติดตั้งเครื่อง CTP (Computer to Plate) ขนาดใหญ่สุดจากเยอรมัน เป็นแห่งแรกของจังหวัดเพชรบุรี
นางวิลาวัณย์ สุนทรวาทะ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท เพชรภูมิการพิมพ์ จำกัดได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเพชรภูมิว่า บริษัท เพชรภูมิการพิมพ์ จำกัด ซึ่งได้ดำเนินธุรกิจด้านสิ่งพิมพ์มานานกว่า ๓๐ ปี มีการพัฒนาคุณภาพงานพิมพ์มาต่อเนื่องยาวนาน นับแต่การติดตั้งเครื่องพิมพ์ทันสมัยขนาดใหญ่ ๔ สี จากเยอรมันเป็นแห่งแรกในจังหวัดเพชรบุรี ทำให้สามารถขยายธุรกิจได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ในภาคกลางตอนล่าง ในปัจจุบันสามารถเข้าไปแข่งขันสร้างผลงานด้านงานพิมพ์หนังสือวารสาร ในรูปแบบปกอ่อนและปกแข็ง จนเป็นที่ยอมรับในระดับชาติมีลูกค้าระดับโรงเรียนชั้นนำของประเทศ ไม่ว่าจะโรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนนนทรีวิทยา ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย (จ.นครปฐม) และอีกมากมายหลายสิบโรงเรียนในการทางานด้านการพิมพ์นั้น
นอกจากจะต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบงานพิมพ์อย่างถ่องแท้ และมีประสบการณ์หลายสิบปีแล้ว บริษัท เพชรภูมิการพิมพ์ จำกัด ยังได้ลงทุนสั่งซื้อเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาใช้งานให้มีคุณภาพสูงสุดอยู่ตลอดเวลา อาจกล่าวได้ว่ามีความล้ำหน้าโรงพิมพ์บางแห่งในกรุงเทพฯ เสียอีก
ในวันที่ ๒๙ มกราคมที่ผ่านมา บริษัท เพชรภูมิการพิมพ์ จำกัดได้ดำเนินการติดตั้งเครื่อง CTP (Computer to Plate) เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยสมบูรณ์ พร้อมทำงานได้อย่างมีคุณภาพยอดเยี่ยมกว่าเดิมหลายเท่า เครื่อง CTP นี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้กระบวนการผลิตแม่พิมพ์ (Plate) ที่เดิมใช้ฟิล์มเป็นตัวสร้างภาพเพื่อไปถ่ายทอดลงบนแม่พิมพ์ (Plate) อีกต่อหนึ่ง ทำให้ต้องเสียเวลาและมีการสูญเสีย
แผ่นฟิล์มเป็นจำนวนมาก แต่เครื่อง CTP (Computer to Plate) เป็นการใช้หัวแสงเลเซอร์ที่มีความละเอียดสูงมาก ทำการสร้างภาพลงบนแผ่นแม่พิมพ์โดยตรง โดยไม่มีการใช้แผ่นฟิล์มอีกต่อไป จึงหมดยุคของฟิล์ม เป็นการเข้าสู่กระบวนการดิจิตอลเต็มรูปแบบ เครื่อง CTP นี้จะทำให้ลดการเสียเวลาในขั้นตอนการถ่ายฟิล์ม ภาพที่ปรากฏบนแผ่นแม่พิมพ์ (Plate) ก็จะคมชัดกว่าเก่า เพราะไม่สูญเสียความคมชัดในขณะที่เป็นฟิล์มเพื่อถ่ายลงบนแม่พิมพ์อีกต่อ หนึ่ง
บริษัท เพชรภูมิการพิมพ์ จำกัด ตัดสินใจลงทุนในครั้งนี้เป็นการลงทุนครั้งสำคัญของบริษัทฯ อีกครั้งหนึ่ง เพราะเครื่อง CTP เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่สลับซับซ้อนดังนั้น เราจึงยังคงมอบความไว้วางใจกับ บริษัท พรีเพรสโซลูชั่น จำกัด เป็นตัวแทนนำเข้าเครื่อง CTP ยี่ห้อ Basys Print UV-Setter Series 7 เป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศเยอรมันอีกเช่นเดิม เหมือนกับเครื่องจักรในโรงพิมพ์ของเราทุกเครื่อง
บริษัท พรีเพรส โซลูชั่น จำกัด นั้น เหมือนเป็นพันธมิตรกับโรงพิมพ์เพชรภูมิมายาวนานหลายสิบปี ผู้บริหารสูงสุดของทั้งสองคือ นายปริญญา สุนทรวาทะ เจ้าของบริษัท เพชรภูมิการพิมพ์ จำกัด และนายวิษณุ กิจเต่ง เจ้าของบริษัท พรีเพรส โซลูชั่น จำกัด ได้คลุกคลีอยู่ในวงการพิมพ์มาด้วยกันนับแต่เริ่มต้น มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจสิ่งพิมพ์แบบทะลุปรุโปร่ง คือเข้าใจปัญหาทุกขั้นตอนแต่ที่สำคัญที่สุด พวกเราชาวเพชรภูมิ เชื่อมั่นในศักยภาพของพนักงานของเราว่า มีคุณภาพทัดเทียมกับโรงพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในกรุงเทพฯ ถ้าเรามีทุนซื้อเครื่องมือที่ทันสมัยมาใช้งาน พวกเราก็สามารถแข่งขันได้ไม่ว่าจะเวทีไหน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพราะเราตระหนักอยู่เสมอว่า “คุณภาพ คือ ความอยู่รอด” นางวิลาวัลณ์ สุนทรวาทะ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เพชรภูมิการพิมพ์ จำกัด กล่าวในที่สุด
#สิ้นเสาหลักครอบครัวเพชรภูมิ “คุณประโยชน์ สุนทรวาทะ” #เจ้าของบริษัทเพชรภูมิการพิมพ์ จำกัด สิริอายุ 82 ปี
เมื่อเวลา 15.06 น. ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ณ รพ.พระจอมเกล้า อ.เมือง จ.เพชรบุรี นายปริญญา สุนทรวาทะ กรรมการผู้จัดการบริษัท เพชรภูมิการพิมพ์ จำกัด บุตรชายคุณประโยชน์ สุนทรวาทะ ได้แจ้งว่า นางประโยชน์ สุนทรวาทะ เจ้าของบริษัท เพชรภูมิการพิมพ์ จำกัด ผู้เป็นมารดา ได้เสียชีวิตด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า สิริอายุ 82 ปี
ประวัติคุณประโยชน์ สุนทรวาทะ เกิดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2478 เป็นธิดาของ รอ.ขุนชาญใช้จักร รน. อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และ นางเปื่อม ชาญใช้จักร คุณประโยชน์ สุนทรวาทะ (นามสกุลเดิม “ชาญใช้จักร”) สมรสกับ นายปรุง สุนทรวาทะ ทนายความ บรรณาธิการและเจ้าของ นสพ.เพชรภูมิ มีบุตรธิดารวม 4 คน ได้แก่ นางปรียนาถ สุนทรวาทะ นางปรียนุช สุนทรวาทะ นางปรียนันทน์ สุนทรวาทะ และ นายปริญญา สุนทรวาทะ
คุณประโยชน์ในอดีตประกอบอาชีพครูสอนหนังสือที่โรงเรียนศึกษาปัญญา จ.เพชรบุรี ภายหลังแต่งงานกับนายปรุง สุนทรวาทะ จึงได้ลาออกมาดูแล นสพ.เพชรภูมิ และธุรกิจงานพิมพ์ของโรงพิมพ์เพชรภูมิที่ตั้งอยู่บริเวณถนนดำเนินเกษม (ใกล้วัดพลับพลาชัย) อ.เมือง จ.เพชรบุรี ต่อมาได้เข้ามารับหน้าที่บรรณาธิการ นสพ.เพชรภูมิ แทนนายปรุง สุนทรวาทะ หลังจากถูกคณะปฏิรูปฯ สั่งปิดหนังสือพิมพ์มานานกว่า 3 ปี เริ่มพิมพ์ครั้งแรกฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2523 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2527 ได้เกิดเหตุการณ์คนร้ายจำนวน 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงนายปรุง สุนทรวาทะ จนเสียชีวิต ขณะที่นายปรุงขับรถยนต์ส่วนตัวมุ่งหน้าไปทางศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี บริเวณน้ำพุหน้าประตูจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ทำให้นายปรุงเสียชีวิตในทันที นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัวสุนทรวาทะและหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ แต่คุณประโยชน์ยังยืนยันทำหน้าที่บรรณาธิการ นสพ.เพชรภูมิ ร่วมกับนักเขียนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน อาทิ อ.ล้อม เพ็งแก้ว นายชลิต เลาหสถิต นายศักดิ์สิทธิ์ วิบูลศิลป์โสภณ และอีกหลายคนร่วมกันสานต่ออุดมการณ์ของนายปรุงมุ่งมั่นที่จะรักษา นสพ.เพชรภูมิ ไว้เป็นสมบัติของคนเพชรบุรี
ต่อมาคุณประโยชน์ได้ปรับขนาดรูปเล่มของหนังสือพิมพ์เพชรภูมิให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีจำนวนหน้ามากขึ้น ประกอบกับมีเนื้อหาข่าวและบทความที่หลากหลาย ทำให้ยอดขายของ นสพ.เพชรภูมิ เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี คุณประโยชน์จึงเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต้องความต้องการของชาวเพชรบุรี ประกอบกับมีงานพิมพ์หนังสือ วารสารต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทุกเดือน ในปี พ.ศ.2539 จึงตัดสินใจซื้อที่ดินริมถนนเพชรเกษม ต.บ้านหม้อ อ.เมือง จงเพชรบุรี ก่อสร้างอาคารสำนักงาน 4 ชั้น มีการรับสมัครพนักงานและสั่งแท่นพิมพ์ใหม่หลายตัว
ในปี พ.ศ.2545 สภาสถาบันราชภัฏเพชรบุรี นำโดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นายกสภาสถาบันราชภัฏเพชรบุรี ได้มีมติให้คุณประโยชน์ สุนทรวาทะ บรรณาธิการ นสพ.เพชรภูมิ และนายกสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวารสารศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.2545
ต่อมาในปี พ.ศ.2550 คุณประโยชน์ ได้ขอวางมือจากตำแหน่งบรรณาธิการ นสพ.เพชรภูมิ เนื่องจากอายุมากและต้องการให้ผู้ที่มีความสามารถ และมีประสบการณ์เข้ามาทำหน้าที่แทน ได้มอบหมายนายศักดิ์สิทธิ์ วิบูลศิลป์โสภณ หัวหน้ากองบรรณาธิการฯ ขึ้นรับตำแหน่งบรรณาธิการ นสพ.เพชรภูมิ
นอกจากนี้ คุณประโยชน์ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมมาโดยตลอด จึงได้รับพระราชทานรางวัลและรางวัลต่าง ๆ อันเป็นเครื่องแสดงถึงการดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม อาทิ ได้รับพระราชทานเหรียญสมณาคุณสภากาชาดไทย ชั้น 3 เมื่อ พ.ศ.2535ได้รับพระราชทานเข็มเครื่องหมาย พอ.สว. เมื่อ พ.ศ.2530ได้รับโล่เชิดชูเกียรติ “ผู้หญิงเก่ง ระดับเขต 7 สาขาสื่อมวลชน” ประจำปี พ.ศ.2540ได้รับโล่เชิดชูเกียรติกัลยาณมิตร ปปช. จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำปี 2547 ได้รับเกียรติบัตรและเข็มคนดีศรีแผ่นดิน ปี 2549 ได้รับการคัดเลือกจากสภาสตรีแห่งชาติ ในพระราชินูปถัมภ์ ให้เป็นสตรีไทยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2548เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฯลฯ
ทั้งนี้ คุณประโยชน์ สุนทรวาทะ ได้ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบเมื่อเวลา 15.06 น. ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ณ รพ.พระจอมเกล้า อ.เมืองเพชรบุรี สิริอายุ 82 ปี ครอบครัวสุนทรวาทะกำหนดประกอบพิธีรดน้ำศพที่วัดคงคารามวรวิหาร อ.เมืองเพชรบุรี ในวันที่ 6 ก.พ. 2561 เวลา 16.00 น. กำหนดสวดพระอภิธรรมศพวันที่ 6 – 10 ก.พ. 2561 เริ่มเวลา 20.00 น. บรรจุศพหลังพิธีสวดพระอภิธรรมคืนสุดท้าย (10 ก.พ. 61) จึงเรียนผู้ที่รักเคารพร่วมแสดงความอาลัย.