
05/04/2025
#ข่าวภัยพิบัติ
// ขั้วโลกเหนือ ทะเลอาร์กติกปริมาณน้ำแข็งลดต่ำในรอบ47ปี //
05/04/2025
ปริมาณน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกลดลงต่ำสุดเท่าที่เคยบันทึกมา เมื่อวันที่ 22 มีความที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่าขั้วโลกเหนือสร้างพื้นที่น้ำแข็งได้เพียง 14.33 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลผ่านดาวเทียมในรอบ 47 ปี
โดยทั่วไปแล้วเดือนมีนาคมจะเป็นช่วงที่ขั้วโลกของเราเพิ่งผ่าน ‘ความมืดมิด’ หลายเดือน ซึ่งเต็มไปด้วยอากาศหนาวเย็นจัดและเป็นช่วงเวลาที่มหาสมุทรส่วนใหญ่ในบริเวณนั้นเริ่มก่อตัวกลายเป็นแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ล้อมรอบอาร์กติก
และเมื่อดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมา ดาวเทียมก็จะมองเห็นผืนน้ำแข็งยักษ์ที่สามารถวัดพื้นที่ได้นับหลายล้านตารางกิโลเมตร แต่ในวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา นักวิทยศาสตร์ต้องพบความน่ากังวล เมื่อผืนน้ำแข็งปีนี้ก่อตัวขึ้นเพียง 14.33 ล้านตารางกิโลเมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 1981-2010 ประมาณ 1.3 ล้านตร.กม.
“น้ำแข็งในทะเลกำลังทำหน้าที่เหมือน ‘นกขมิ้นในเหมืองถ่านหิน’ (สำนวนที่ใช้เปรียบถึงสิ่งที่เป็นสัญญาณเตือนอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยนกขมิ้นมักถูกใช้เป็นตัวตรวจจับก๊าซพิษในเหมือง)” Don Perovich นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยดาร์ตมัธ กล่าว “มันบอกได้อย่างชัดเจนว่าโลกกำลังร้อนขึ้น”
ตามข้อมูลของ NSIDC (National Snow and Ice Data Center) ระบุว่าการสูญเสียน้ำแข็งดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในพื้นที่ตอนเหนือสุดของอาร์กติก ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1 ถึง 2 °C ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อาร์กติกร้อนเร็วขึ้นกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของโลกถึง 4 เท่า
สิ่งเหล่านี้ทำให้ขั้วโลกเหนือไม่สามารถสร้างน้ำแข็งในทะเลอย่างที่มันเคยทำได้ ไม่เพียงเท่านั้น น้ำแข็งที่น้อยลงนี้อาจไปกระตุ้นให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นไปอีก เนื่องจาก ในฤดูหนาวที่มหาสมุทรมักจะอุ่นกว่าอากาศโดยรอบ น้ำแข็งในทะเลจะทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันความร้อนไม่ให้รั่วไหลออกสู่ชั้นบรรยากาศ
และเมื่อถึงฤดูร้อนที่ดวงอาทิตย์จะส่องลงมายังอาร์กติกตลอด 24 ชม.นั้น น้ำแข็งก็จะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันโดยสะท้อนแสงมากกว่าครึ่งหนึ่งของที่ส่องลงมากลับสู่อวกาศ
“เราต้องการให้น้ำแข็งในทะเลทำหน้าที่เหมือนเครื่องปรับอากาศสำหรับโลก” Melinda Webster นักวิทยาศาสตร์น้ำแข็งในทะเลจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าว
แต่เมื่อน้ำแข็งน้อยลง แสงอาทิตย์ก็จะส่องถึงมหาสมุทรได้มากขึ้น และมหาสมุทรก็จะดูดซับความร้อนได้เยอะกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้บริเวณดังกล่าวอุ่นขึ้นแล้วทำให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น กลายเป็นวงจรป้อนกลับที่ทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นยิ่งกว่าเดิม
แต่ผลกระทบจะไม่หยุดอยู่แค่อาร์กติก นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการสูญเสียน้ำแข็งจะทำให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น กระแสลมเปลี่ยนไป กระแสน้ำไม่เหมือนเดิม และท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อสารอาหารที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตทั่วโลก
“สิ่งที่เกิดขึ้นในอาร์กติกจะไม่ได้มีผลแค่ในอาร์กติกเท่านั้น” Perovich กล่าว
ที่มา
-nasa.gov
-washingtonpost.com
-iflscience.com
-theguardian.com
Cr เรียบเรียง : environman