Korat Daily
- หน้าหลัก
- ประเทศไทย
- Nakhon Ratchasima
- Korat Daily
เริ่มต้นจาก นสพ.โคราชรายวัน สู่ "โคราชคนอีสาน" ยืนหยัด 50 ปี มีทั้งwww.koratdaily.com และเพจ Koratdaily
ที่อยู่
779/21-23 ถ. จอมสุรางค์ยาตร์
Nakhon Ratchasima
30000
เบอร์โทรศัพท์
เว็บไซต์
แจ้งเตือน
รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ Korat Dailyผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา
ติดต่อ ธุรกิจของเรา
ส่งข้อความของคุณถึง Korat Daily:
ทางลัด
ประเภท
Our Story
14 ตุลาคม 2516 นอกจากเป็นวันสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นยังเปรียบเสมือนแรงบันดาลใจ และเป็นแรงผลักดันให้กลุ่มคนที่มีความคิดก้าวหน้า กล้าวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์บ้านเมือง และที่สุดก็ได้ก้าวเข้าสู่การทำหน้าที่สื่อมวลชน เพื่อนำเสนอข่าว วิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา ตามแนวทางของสื่อสารมวลชนที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ลุล่วง ถึงต้นเดือนมีนาคมพ.ศ.2517ยุคสมัยของประชาธิปไตยเบ่งบาน “โคราชสัปดาห์วิจารณ์” ถูกก่อตั้งขึ้น โดยคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น นำโดย สุนทร จันทร์รังสี และผองเพื่อนอาทิเช่น อ.ศรีศักดิ์ นพรัตน์ อ.สุขสันต์ เหมือนนิรุธ และวิจิตร สมนึก เป็นต้น โดยว่าจ้างโรงพิมพ์จุรีรัตน์ ถนนโพธิ์กลาง ของอดีตครูรัตน์ ผาสุกมูล ซึ่งรับพิมพ์ด้วยความคิดที่สอดคล้องกัน แต่ผู้ก่อการทั้งหมดไม่มีใครคิดถึงอนาคตเลย หลังจากโคราชสัปดาห์ วิจารณ์ออกมาสร้างความแปลกใหม่แก่สังคมโคราชเพียง ๔ เดือน “ครูรัตน์” ใช้สายตาของผู้อาวุโสวางแผนก้าวกระโดดเงียบๆ แล้วเย็นวันหนึ่งก็กล่าวกับ สุนทร จันทร์รังสีว่า “เราจะทำหนังสือพิมพ์โคราชรายวันนะ ติดป้ายในสวนรักแล้ว จะวางตลาดในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๗ มีคำถามจากคนฟังว่าใครจะเป็นคนทำ? ครูรัตน์ตอบดื้อๆว่า “นายนั่นแหละเป็นคนทำ เราเชื่อมือแล้วว่านายทำได้" เรารับผิดชอบค่าพิมพ์ “สุนทร จันทร์รังสี” ไม่มีโอกาสปฎิเสธภารกิจที่ท้าทายได้ จึงวางมือจากการทำโคราชสัปดาห์วิจารณ์ ผันตัวเองและคณะโดดเข้าสู่เวทีที่เข้มข้นและตรากตรำขึ้น ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากนักหนังสือพิมพ์รุ่นพี่ว่า”ไม่เกิน๗วันก็หมอบ จะมีข่าวอะไรมาลงทุกวัน” แต่ก็ผิดคาด โคราชรายวัน กลับวิ่งฉิวปลิวลมด้วยความแรงที่ไม่สิ่งใดมาหยุดยั้งกระทั่งปลายปี ครูรัตน์ก็ขีดชะตาชีวิตของตัวเองใหม่ ด้วยจิตใจที่ต้องการรับใช้บ้านเมืองอีกระดับหนึ่ง จึงลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พร้อมกับยกโคราชรายวันให้“สุนทร จันทร์รังสี” บริหารและรับผิดชอบเต็มตัว การนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา กัดไม่ปล่อย และไม่ยอมตกอยู่ภายใต้ผลประโยชน์ที่นำมาล่อ หนังสือพิมพ์โคราชรายวัน จึเป็นความไม่พอใจของผู้มีอิทธิพล “สุนทร จันทร์รังสี” ในฐานะบรรณาธิการอำนวยการ จึงตกเป็นเป้าหมายของการกำจัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยนโยบายขวาพิฆาตซ้ายของพลตรีประมาณ อดิเรกสาร รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ในคืนวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๑๙เวลา๔ทุ่ม สุนทร ถูกยิงด้วยอาวุธสงครามเช่นปืนขนาด๑๑ม.ม.และปืนกลเอ็ม๑๖หน้าสำนักงานสนั่น เมือง ขณะจะขึ้นรถไปตรวจข่าว อาการสาหัสร่อแร่ไม่มีใครคิดว่าจะรอดชีวิต การถูกสังหารด้วยอาวุธสงครามอย่างเหี้ยมโหด แม้สร้างบาดแผลทางกายให้กับสุนทรอย่างหนัก ต้องผ่าตัดอวัยวะสำคัญภายใน แต่ยิ่งทำให้สภาพจิตใจของความเป็นสื่อมวลชนกล้าแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม เห็นได้จากหลังรอดตายราวปาฏิหาริย์ด้วยฝีมือของนายแพทย์อนุศักดิ์ ตั้งไพบูลย์ ซึ่งภายหลังได้กลับมาเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช แม้พ่อแม่จะขอร้องให้หยุดอาชีพนักหนังสือพิมพ์เพราะเป็นห่วงในสวัสดิภาพ แต่เมื่อหัดเดินได้แข็งใกล้จะเหมือนเดิม “สุนทร” กลับนำเงินจากแม่๓หมิ่นบาทไปหาซื้อแท่นพิมพ์จากกรุงเทพฯเพื่อทำโรงพิมพ์ เพราะสรุปว่าถ้าจะทำหนังสือพิมพ์ต่อต้องมีโรงพิมพ์ของตัวเอง หลังเหตุการณ์ลอบสังหารแต่รอดตายเหนือความคาดหมาย สุนทรยังคงเจอปัญหาจากการทำอาชีพนักหนังสือพิมพ์ต่อเนื่อง เวลาผ่านไปโคราชรายวันโด่งดังมากขึ้นจึงถูกมุ่งทำลายอีกครั้ง โดยหวังจะให้ได้รับโทษจำคุกถึง๑๒ปีจากกฎหมายอาญามาตรา๑๑๒ สุนทร จันทร์รังสี ในฐานะบรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์โคราชรายวัน ถูกผู้ร่วมอาชีพแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ที่สุดแล้ว ศาลทหารได้พิจารณาตัดสินยกฟ้อง โดยพิพากษาว่า การทำหน้าที่ของสุนทร มีเจตนาปกป้องพระบรมเดชานุภาพ “โคราชรายวัน” ณ ช่วงเวลาที่มรสุมผ่านพ้นไป กลายเป็นชื่อหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการกล่าวถึง และให้การยอมรับมากที่สุด ทั้งในจังหวัดนครราชสีมา ระดับประเทศ รวมถึงนานาชาติ ซึ่งสุนทร จันทร์รังสี ได้รับเชิญจากรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อศึกษาดูงาน ทั้งในทวีปเอเชีย สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังเป็นสนามให้นิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะด้านนิเทศศาสตร์หรือ สื่อสารมวลชน ได้มีโอกาสฝึกงาน เป็นเสมือนห้องเรียนที่บ่มเพาะสื่อมวลชนรุ่นใหม่ก่อนเข้าสู่วงการวิชาชีพ สื่อในอนาคต ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานการทำหน้าที่สื่อมวลชนท้องถิ่นที่ เข็มแข็ง สะท้อนให้เห็นความสามารถของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ รวมถึงระบบโรงพิมพ์ที่พัฒนาเติบโตอย่างต่อเนื่อง และด้วยเหตุที่คนหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ในประเทศชอบพอและนับถือ “สุนทร” จึงถูกเลือกเป็นตัวแทนเข้าคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และที่สุดได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2550 นับเป็น สสร.คนเดียวของจังหวัดนครราชสีมา โดยก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครราชสีมา ประธานสภาเทศบาลนครราชสีมาถึง 3 สมัย ประธานกรรมการประจำสภาเทศบาลนครราชสีมา ประธานองค์กรกลางอำเภอเมือง นครราชสีมาแล้ว ในด้านวิชาชีพมีบทบาทต่อองค์กรวิชาชีพสื่อทั้งระดับ จังหวัดและระดับประเทศ โดยดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมาพันธ์สื่อมวลชนพันธมิตรนคราชสีมาหลายสมัย ประธานเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสานสองสมัยติดต่อกัน กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และได้รับเลือกให้เป็นรองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติคนที่ 1 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552 นับเป็นนักหนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดที่มีตำแหน่งสูงสุด กระทั่งปี พ.ศ.๒๕๕๐มีการเลือกตั้งสภาระดับต่างๆทั่วประเทศ “หนังสือพิมพ์โคราชรายวัน” จึงเพิ่มชื่อเป็น “โคราชคนอีสาน” เพื่อตอบสนองการทำหน้าที่สื่อหนังสือพิมพ์ ที่ไม่จำเพาะแต่เพียงในจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น แต่ยังขยายเนื้อหาครอบคลุมทั้งภาคอีสาน