07/02/2023
‘ค่าตั๋วแพง’ หรือ ‘หนังไทยรอบฉายน้อย’ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่สะท้อนระบบนิเวศโครงสร้างธุรกิจการจัดจำหน่ายและฉายภาพยนตร์ของสังคมไทย ในวันที่โรงภาพยนตร์มีเพียงสองเครือใหญ่ที่ครองตลาด และธุรกิจสายหนังที่นับว่ายังมีอิทธิพลในสังคมอยู่ โครงสร้างดังกล่าวส่งผลเสียต่อทั้งศิลปิน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ จนถึงผู้ชม ทำให้เห็นภาพผู้สร้างภาพยนตร์ออกมาวอนผู้ชมให้ไปดูก่อนที่จะถูกถอดรอบทั้งหมด
101 พูดคุยกับ รศ.ดร.อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และกลุ่มทุนภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและฉายภาพยนตร์ เพื่อร่วมอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ร่วมกันหาทางออก และในวันที่สตรีมมิงเข้ามา โครงสร้างธุรกิจจะเดินต่อไปได้ไหม หรือนี่จะเป็นจุดจบของโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย
อ่านบทความได้ที่ https://www.the101.world/unaloam-chanrungmaneekul-interviews/
“ช่วงที่โรงภาพยนตร์และสายหนังพบเจอวิกฤตมากที่สุด คือ ‘การเข้ามาของวิดีโอและดีวีดี’ ไม่มีคนเข้าโรงหนังเลย ผู้คนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาดูสื่อบันเทิงในโรงภาพยนตร์แล้ว แต่โรงภาพยนตร์และสายหนังก็ปรับตัวเองในเชิงวัฒนธรรมตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงภาพยนตร์ ผ่านการนำธุรกิจตนเองไปผูกกับวัฒนธรรมการบริโภคของห้างสรรพสินค้า เห็นจากโรงภาพยนตร์เริ่มไปเปิดในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เพราะสามารถดึงผู้คนเข้ามาดูภาพยนตร์ได้พร้อมกับวิถีการบริโภคแบบใหม่ได้”
“การพิสูจน์ตนเองในระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย คือการพิสูจน์ด้วยการสร้างยอดรายได้จากภาพยนตร์ แต่กว่าจะถึงตรงนั้นเส้นทางตีบตันมาก ดังนั้นอุตสาหกรรมไทยจึงเกิดศิลปินหน้าใหม่น้อยมาก ศิลปินหน้าใหม่ต่อให้จะเก่งเพียงใด หากคุณอยู่ภายใต้ระบบเช่นนี้ การเติบโตเป็นไปได้ยากมาก”
“ในสังคมไทยมีหลายประเด็นมากๆ ที่พูดถึงไม่ได้ นำเสนอในฐานะสื่อยิ่งไม่ได้เลย ทั้งที่ชีวิตจริงเราอยู่กับมันตลอดเวลา เช่น การคอร์รัปชัน ตำรวจ ทหาร ระบบอุปถัมภ์ หรือการเมือง ต้องอวยกันอย่างเดียวเลย ทั้งที่สื่อภาพยนตร์โดยธรรมชาตินั้นต้องอาศัยเนื้อหาที่แปลกใหม่ ชวนคิดชวนตั้งคำถาม จุดประกายทางความคิด เปิดเผยความจริงระดับวิพากษ์ระบบและสังคมได้ ภาพยนตร์จึงจะก้าวไปสู่โลกกว้างได้”
“ถ้าสังคมไหนไม่มีการเรียนรู้ทางสุนทรียศาสตร์หรือความงามศิลปะอันหลากหลาย สังคมนั้นจะกลายเป็นสังคมที่มืดบอดทางปัญญา เพราะเพียงแค่ปัญญาที่คุณจะซึมซับประสบการณ์ศิลปะหลายๆ แบบยังมีไม่ได้ คุณจะเอาปัญญาอะไรไปต่อยอด สร้างภาพยนตร์ที่แปลกแหวกแนวและให้ความบันเทิงตอบสนอง ยกระดับจิตใจของมนุษย์”
เรื่อง: ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา
ภาพ: สุเมธ สุวรรณเนตร
ภาพประกอบ: พิรุฬพร นามมูลน้อย