เมื่อมีการจัดตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยามขึ้น โดยพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และมีการประชุมกรรมการิณีสภาขึ้นในครั้งแรก เมื่อ 20 พฤษภาคม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)คณะกรรมการสมัยนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญของการให้การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไปยัง หัวเมืองต่าง ๆ ด้วยดังสำเนาจดหมายเหตุประชุมกรรมการิณีสภา บันทึกการประชุมตอนหนึ่งว่า
“ ...จะได้เลือกหาผู้รับธุระแทนสภาตั้งไว้ในมณฑลและหัวเมืองต่าง ๆ ที่พลทหารตั้งรักษาพระราชอาณาเขตต์ตั้งอยู่นั้น มีเจ้าหน้าที่ออกเรี่ยไรในแขวงนั้นและเป็นธุระรับส่งยาและเครื่องพยาบาลตรวจดูแลการพยาบาลตามแต่สภาจะต้องการนั้นด้วยมีเมืองนครจำปาศักดิ์เป็นต้น .. ”
จะเห็นได้ว่าสภาอุณาโลมแดงได้พยายามดำเนินการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้คือ การรักษาพยาบาลผู้ป่วยเจ็บผู้ประสบสาธารณภัยและภัยพิบัติต่าง ๆ โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชั้น วรรณะ ภาษา ลัทธิ ศาสนาและอุดมการณ์ทางการเมือง การดำเนินการในระยะแรกมีเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ ๆ มีการรับสมัครสมาชิกสภากาชาดเท่าที่หลักฐานปรากฏมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2461 และได้ดำเนินการตลอดมา โดยมีวัตถุประสงค์เก็บเงินบำรุงเพื่อใช้จ่ายในกิจการของสภากาชาดตามเขตหัวเมือง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2480 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สภานายิกาสภากาชาดสยามในสมัยนั้นทรงพระดำริว่า บัดนี้เป็นการสมควรที่จะเปิดโอกาสให้ท้องที่ต่าง ๆ มีส่วนได้ดำริดำเนินการกาชาดเองด้วย เพื่อให้เหมาะแก่ความต้องการแห่งท้องที่ยิ่งขึ้นและในงานวันกาชาด พ.ศ. 2480 พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“ ...ฉันรู้สึกว่าที่จะให้การกุศลอันนี้เจริญรุ่งเรืองต่อไปภายหน้าโดยสมบูรณ์ทั่วอาณาเขตต์จักต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำและช่วยกันบำรุง ฉันในหน้าที่สภานายิกาโดยความตกลงยินยอมของสภากรรมการและความส่งเสริมของกระทรวงมหาดไทย จะได้ออกข้อบังคับวางระเบียบจัดการสาขากาชาดตามท้องถิ่น ซึ่งเป็นโอกาสให้ฉันได้ชักชวนผู้ใจบุญร่วมมือกันช่วยดำเนินการให้ได้ผลดีที่สุดได้ และเหมาะสมตามความต้องการของท้องถิ่นด้วย ”
จากพระราชดำริของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเป็นการกระตุ้นเตือนให้คณะกรรมการและกระทรวงมหาดไทยมีบทบาทในการสนับสนุนส่งเสริมกิจการของเหล่ากาชาดจังหวัดมากยิ่งขึ้น ดังข้อความตอนหนึ่งที่พระยาพณิชศาสตรวิธานหัวหน้ากองกลาง(สำนักงานกลางในปัจจุบัน)เสนอมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาพิชัยญาติ อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยามในสมัยนั้นว่า
“ ..รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสนับสนุนกระตุ้นเตือนจังหวัดต่าง ๆ ให้หันมามองกาชาดบ้างแล้ว เชื่อกันว่าการกาชาดจะก้าวหน้าไปอีกไกล อย่างน้อยเวลาประชุมข้าหลวงประจำจังหวัดมีกล่าวขวัญถึงการกาชาดบ้าง ก็จะได้ผลไม่น้อย ..”
ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2485 พลโท มังกร พรหมโยธี(ยศในสมัยนั้น) อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอยู่ด้วยมีข้อดำริที่จะเร่งรัดให้มีการจัดตั้งเหล่ากาชาดจังหวัดขณะนั้น เรียกว่า องค์กรเหล่ากาชาดจังหวัดจึงได้สั่งการในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงให้จังหวัดที่มีสมาชิกสามัญสภากาชาดไทยตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป หรือจังหวัดที่มีสถานีกาชาดและ หรือจังหวัดที่มีกองอาสากาชาดจังหวัด ให้จัดตั้งเหล่ากาชาดและอนุสนธิหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 14561/2485 ลงวันที่ 14 กันยายน 2485 กระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งให้จังหวัดใหญ่ ๆ รวม 17 จังหวัด ดำเนินการจัดตั้งองค์กรเหล่ากาชาดจังหวัดขึ้น แต่ยังคงไม่มีการจัดตั้งจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย(เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศอุปนายกผู้อำนวยการสภาการชาดไทย) เห็นว่าการจัดตั้งเหล่ากาชาดตั้งแต่อดีตมายังมิได้เริ่มทำการอย่างจริงจัง จึงมีพระราชดำริที่จะให้มีการจัดตั้งเหล่ากาชาดจังหวัดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทยจึงได้มีหนังสือถึง พลเอก ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ ...บัดนี้สภากาชาดไทยดำริเห็นสมควรที่จะริเริ่มให้ตั้งแต่เหลากาชาดจังหวัดขึ้น แต่เรื่องนี้จะเป็นผลสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความเมตตากรุณาของผู้มีใจบุญทั้งหลาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคด้วย …”
ด้วยอำนาจพระบารมีของสมเด็จองค์สภานายิกาสภากาชาดไทยและรัฐบาลได้เล็งเห็นการปฏิบัติงานของสภากาชาดอย่างต่อเนื่อง สภากาชาดไทยจึงได้รับการสนับสนุนจาก พลเอก ประภาสจารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในการจัดตั้งเหล่ากาชาดจังหวัดอย่างเป็นทางการทั่วทุกจังหวัดในขณะนั้น รวม 69 จังหวัด เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2504 ด้วยเหตุนี้สภากาชาดไทยจึงกำหนดให้ วันที่ 27 มกราคม ของทุกปี เป็นวันก่อกำเนิดเหล่ากาชาดจังหวัดทั่วประเทศและปัจจุบันมีเหล่ากาชาดจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 76 จังหวัดและได้จัดตั้งกิ่งกาชาดอำเภอขึ้น เพื่อต้องการเป็นกำลังช่วยเหลือเหล่ากาชาดจังหวัดแล้วจำนวน 155 กิ่ง (มิ.ย. 2542)
เหล่ากาชาดจังหวัดดำเนินการโดยสมาชิกสภากาชาด และดำเนินการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์สภากาชาดไทย ดังพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภาการชาดไทย ตอนหนึ่งว่า
“ ...สภากาชาดไทยมีอุดมคติในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากทุกข์ภัยและเป็นที่พึ่งของบุคคลผู้ยากไร้เหล่ากาชาดถือเป็นตัวแทนของสภากาชาดไทยในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยในขั้นต้น... ”
การดำเนินการของเหล่ากาชาดจังหวัดต้องอาศัยทั้งกำลังกาย และกำลังทรัพย์ของสมาชิกหรืออาจเป็นทางใดทางหนึ่งตามกำลังศรัทธา ซึ่งเป็นการเสียสละร่วมกันทำงานดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของสมเด็จองค์อุปนายิกาสภากาชาดไทย ว่า
“ ..การช่วยด้านกำลังทรัพย์ หรือให้ทุนรอนอันนี้ก็อยากจะเน้นว่าการที่จะช่วยในด้านทุนรอนนั้นขอให้เน้นเรื่องการร่วมใจกันทำ ไม่ใช่ว่าเน้นด้านเงินทุนทุนรอนแต่เป็นเรื่องของการเสียสละ เป็นการร่วมกันระหว่างคนหลายคน... ”
จะเห็นได้ว่า การดำเนินงานของเหล่ากาชาดจังหวัดและกิ่งกาชาดอำเภอต้องอาศัยความร่วมมือและความเสียสละของสมาชิกสภากาชาด โดยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับสภากาชาดไทยในการบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยากทั้งในยามปกติ ยามเกิดภัยพิบัติ และภัยสงคราม รวมทั้งช่วยสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ของสภากาชาดไทยอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอดอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด