
27/05/2016
สถาบันแหล่งน้ำฯ จับมือ KIT เร่งวิจัยพัฒนาฝาย มข. โมเดลแก้แล้ง&รักษ์โลก
นักวิจัย มข.เร่งวิจัยพัฒนาฝาย มข.ที่มีมาตรฐานตามหลักวิศวกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงระบบนิเวศรอบฝายให้มีความชุ่มชื่น หวังแก้ปัญหาภัยแล้งอีสานอย่างยั่งยืน
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกับ Karlsruhe institute of technology หรือ KIT สถาบันเทคโนโลยีคาร์ลส์รูล ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันที่ใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดทางด้านการวิจัยงานวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ในประเทศเยอรมนี และติดอันดับโลก โดย สถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาปรับปรุงฝาย แบบ มข.2527 จากเดิมที่ได้มาตรฐานตามหลักวิศวกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยปรับปรุงการออกแบบฝายใหม่ให้ปลาสามารถว่ายน้ำผ่านฝายได้ และออกแบบเพื่อระบายและลดการตกตะกอนบริเวณหน้าฝาย ทำให้ลดการตื้นเขินบริเวณหน้าฝาย ปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ก็จะมีปริมาณมากขึ้น ถ้ามากเพียงพอก็จะทำให้มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ระบบนิเวศรอบข้างก็จะมีความชุ่มชื่น เกิดระบบการไหลของน้ำใต้ดินที่ดีขึ้น นับเป็นการฟื้นฟูทั้งระบบ โดยมีบ้านคำแมด อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น เป็นพื้นที่ตัวอย่างการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ และจะเป็นต้นแบบให้พื้นที่ต่างๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป เพื่อหวังแก้ปัญหาภัยแล้งของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.วิเชียร ปลื้มกมล ผู้อำนวยการสถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ Karlsruhe institute of technology หรือ KIT สถาบันเทคโนโลยีคาร์ลส์รูล ประเทศเยอรมนี เพื่อร่วมมือทางด้านวิชาการ การศึกษา และการวิจัย ภายใต้ความร่วมมือในโครงการ “จัดตั้งโครงสร้างการวิจัยร่วมกันเพื่อการพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในภาคอีสาน” ซึ่ง KIT จะสนับสนุนทุนที่ได้รับจากกระทรวงศึกษาธิการและการวิจัย หรือ BMBF จากรัฐบาลของประเทศเยอรมันนี จากนั้นภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ จะนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนไทยเยอรมัน โดยจะมีการร่วมกันวิจัยพัฒนาปรับปรุงฝาย แบบ มข.2527 จากเดิมที่มีมาตรฐานตามหลักวิศวกรรมอยู่แล้ว ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยปรับปรุงการออกแบบฝายใหม่ให้ปลาสามารถว่ายน้ำผ่านฝายได้ และออกแบบเพื่อระบายและลดการตกตะกอนบริเวณหน้าฝาย โดยมี บ้านคำแมด อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น เป็นพื้นที่ตัวอย่างในการทำวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ ฝาย หรือ ฝายน้ำล้น คือฝายที่กั้นทางน้ำโดยปกติเวลาฝนตกน้ำจะไหลบ่าลงมาในอ่างน้ำหรือตามคูคลองอย่างรวดเร็ว ภายในชั่วระยะเวลาหนึ่งน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ทำให้น้ำในอ่างคูคลองจะเหลือลดน้อยลง ดังนั้น การสร้างฝายมากั้นจะช่วยชะลอและกักเก็บน้ำให้ไหลช้าลง ยิ่งทำฝายกั้นเป็นระยะหรือเป็นช่วงๆ น้ำก็จะไหลช้ามากขึ้น ผลที่ได้จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีน้ำอุปโภคบริโภคและใช้ด้านเกษตรกรรม โดยมีแหล่งน้ำได้ใช้ในระยะยาวขึ้นหรือได้ตลอดปี อย่างไรก็ตาม ฝายจะต้องได้รับการบำรุงรักษา ดังนั้น การจะแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืนจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่จะต้องคอยเป็นหูเป็นตาช่วยกันดูแลรักษาให้ฝายมีสภาพการใช้งานที่ดีอยู่ตลอดเวลา”
ผศ.ดร.กิตติเวช ขันติยวิชัย รองผู้อำนวยการสถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อว่า “ฝาย แบบ มข.2527 ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว และถูกเผยแพร่ให้นำไปใช้ได้อย่างสาธารณะ จนได้รับความนิยมถึงปัจจุบัน โดย สถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกก่อตั้งขึ้น ให้เป็นแหล่งรวม อาจารย์ นักวิจัย วิศวกร และนักวิชาการ ในสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันศึกษาค้นคว้า วิจัย ทดลอง พัฒนา เผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม โดยออกแบบฝายมาตรฐานที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น เหมาะสมทั้งทางด้านประโยชน์ใช้สอย ความประหยัด และความคงทนเชิงวิศวกรรม แต่จะมีความแตกต่างจากการออกแบบฝายทั่วไป คือ ฝายแบบ มข. 2527 ถูกออกแบบให้มีความกว้างเท่ากับความกว้างของลำน้ำ และสามารถผันน้ำที่ระดับสูงสุดของลำน้ำในอัตราเท่ากับอัตราการไหลที่ลำน้ำสามารถลำเลียงได้ก่อนการสร้างฝาย ทั้งนี้ก็เพียงพอโดยไม่จำเป็นต้องออกแบบให้สามารถผันน้ำในอัตราสูงสุดที่ไหลมาจากพื้นที่รับน้ำ แม้ว่าอาจจะเกิดน้ำนองได้เมื่ออัตราการไหลของน้ำมากกว่าความสามารถที่จะลำเลียงน้ำของลำน้ำได้ น้ำส่วนเกินก็จะไหลล้นตลิ่งเข้าสู่พื้นที่สองฝั่งของลำน้ำและไหลลงท้ายน้ำฝาย โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างของฝาย และลักษณะเด่นอีกประการหนึ่ง คือ ชาวบ้านสามารถช่วยกันแบบประชาอาสาในการสำรวจ ออกแบบ ประมาณปริมาณงาน และก่อสร้างได้เองโดยไม่มีค่าจ้างแรงงาน”
ผู้อำนวยการสถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า “ปัจจุบันสถานการณ์น้ำเข้าขั้นวิกฤตภัยแล้งซึ่งมีความรุนแรงค่องข้างมาก ใกล้เคียงปี 2536 ซึ่งเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังมีความเสี่ยงสูงที่อาจจะเผชิญวิกฤตที่หนักหนาสาหัสมากกว่าในช่วงต่อจากนี้ไป โดยเฉพาะเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยซึ่งมักประสบปัญหาภัยแล้งมากกว่าพื้นที่อื่น จากข้อมูล ณ วันที่ 16 มีนาคม 2559 รายงานปริมาณน้ำในเขื่อนโดยเฉลี่ยซึ่งเหลือประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ของความจุของอ่างที่จัดเก็บน้ำดิบ โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ในเขตจังหวัดขอนแก่นซึ่งเหลือปริมาณน้ำประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีปริมาณน้ำเหลือเพียง 613 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณใช้การได้จริงเพียง 32 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีน้ำไหลเข้าเขื่อนปริมาณน้อยมาก แต่มีการระบายน้ำ 500,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อการอุปโภคบริโภค ทำให้จังหวัดขอนแก่นเกิดพื้นที่ประสบภัยแล้ง 16 อำเภอ 105 ตำบล 1,005 หมู่บ้าน ประกอบด้วยอำเภอ พระยืน สีชมพู แวงใหญ่ บ้านแฮด เวียงเก่า ชนบท ชุมแพ บ้านฝาง พล มัญจาคีรี หนองนำคำ ภูเวียง หนองสองห้อง แวงน้อย เมืองขอนแก่น และเปือยน้อย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 53,454 คน และพื้นที่การเกษตรนาข้าวได้รับความเสียหาย 478,373 ไร่ ทั้งนี้ หากไม่มีน้ำไหลเข้ามาเพิ่มในช่วงนี้ คาดการณ์ว่าน้ำที่มีอยู่จะสามารถใช้ได้ถึงประมาณวันที่ 11 เม.ย.2559 นี้เท่านั้น”
รองผู้อำนวยการสถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดภัยแล้งว่า “ภัยแล้ง คือ ภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำ มีความแห้งแล้งของลมฟ้าอากาศ มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ หรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ ครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ก่อให้เกิดผลกระทบทั่งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดภัยแล้งในประเทศไทย นอกจากปริมาณน้ำฝนแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นองค์ประกอบอีกหลายอย่าง เช่น ระบบการหมุนเวียนของบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงส่วนผสมของบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างบรรยากาศกับน้ำทะเลหรือมหาสมุทร ดังนั้นการเกิดภัยแล้งจึงไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่พอจะประมวลสาเหตุของการเกิดภัยแล้งได้ ดังนี้ เนื่องจากสภาวะอากาศในฤดูร้อนที่ร้อนมากกว่าปกติ เนื่องจากการพัดพาของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เนื่องจากความผิดปกติของตำแหน่งร่องมรสุม ทำให้ฝนตกในพื้นที่ไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากความผิดปกติ จากพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่ผ่านประเทศไทยน้อยกว่าปกติ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความสมดุลของพลังงานที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ เช่น การเผาพลาสติก น้ำมัน และถ่านหิน ทำให้เกิดรูโหว่บนชั้นโอโซน เนื่องจากผลกระทบจากปรากฏการณ์ภาวะเรือนกระจก จากส่วนผสมของบรรยากาศ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ ลอยขึ้นไปเคลือบชั้นล่างของชั้นล่างของชั้นโอโซน ทำให้ความร้อนสะสมอยู่ในอากาศใกล้ผิวโลกมากขึ้น ทำให้อากาศร้อนกว่าปกติ และเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของภูมิอากาศ เช่น ฝน อุณหภูมิ และความชื้น ดังนั้น การแก้ปัญหาดังกล่าว จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน งานวิศวกรรมจึงเข้ามามีบทบาทในการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาป้องกันและบรรเทา โดยองค์ความรู้ทางด้านต่างๆ อาทิ การวิเคราะห์ค่าฝนเฉลี่ย การวิเคราะห์ดัชนีภัยแล้ง ซึ่งเป็นการพยากรณ์องค์ประกอบต่างๆ ที่จะส่งผลต่อปริมาณน้ำ การวางแผนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ การออกแบบทางอุทกวิทยาและชลศาสตร์ของโครงการ การศึกษาวิจัย ตลอดจนการจัดการโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ อาทิ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ ชลประทาน ระบบระบายน้ำ และฝายน้ำล้น”
โครงการฝาย มข.เป็นอีกหนึ่งโครงการวิจัยเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นับเป็นสิ่งยืนยันปณิธานที่มุ่งมั่นตั้งแต่ก่อตั้งและดำเนินบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาอันเป็นที่พึ่งของสังคมตลอดมา โดยเฉพาะบทบาทการเป็นที่พึ่งในการแก้ปัญหาของประชาชนเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับเป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย การเรียนการสอนตลอดจนการศึกษาวิจัยในทุกศาสตร์ทุกสาขาวิชาล้วนมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือสังคม ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยได้ผลิตบัณฑิตที่นอกจากจะมีความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการแล้ว ยังสามารถประยุกต์ปฏิบัติให้เกิดผลดีแก่ส่วนร่วมได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยจิตใจที่ถูกหล่อหลอมจากเจตนารมณ์ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งยังคงพัฒนาสานต่อโครงการฝาย มข. 2527 ให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กักเก็บน้ำได้ปริมาณมากขึ้น เพื่อให้มีน้ำไหลเพียงพอตลอดทั้งปี พื้นฟูระบบนิเวศรอบข้างให้มีความชุ่มชื่น เกิดระบบการไหลของน้ำใต้ดินที่ดี โดยยังเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาวิจัยแก่ประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อบูรณาการการบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำโดยเฉพาะภัยแล้งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ได้อย่างยั่งยืน
ที่มา www.kku.ac.th/news/v.php?q=0011966&l=th