
06/03/2025
สิ่งที่มาพร้อมกับการก้าวข้ามจากการเป็นแค่สถานที่ช้อปปิ้ง สู่การเป็น Community ของการใช้ชีวิตของคนแต่ละกลุ่ม ก็คือ แนวคิดในการเลือกวางองค์ประกอบของศูนย์การค้าให้สามารถเชื่อมโยงเข้ากับไลฟ์สไตล์ของแต่ละกลุ่มที่ค่อนข้างจะซับ เซ็กเม้นต์ หรือแยกย่อยออกไปอย่างมากในปัจจุบัน
ซึ่งหากไล่เรียงการวางส่วนผสมของศูนย์การค้าตั้งแต่อดีตแล้ว จะพบว่า ศูนย์การค้าแต่ละแห่งหนีไม่พ้นที่จะเลือกวางส่วนผสมของแม่เหล็กในศูนย์แต่ละตัวออกมาเป็นช้อปปิ้ง เอนเตอร์เทน ร้านอาหาร และบริการต่างๆ ซึ่งย้อนไปในอดีต ส่วนของช้อปปิ้งอาจจะถูกให้น้ำหนักมากที่สุด
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เอนเตอร์เทน อาจจะเป็นมิกซ์ที่สำคัญสำหรับการสร้างแรงดึงดูดของศูนย์การค้า เพราะคนไทย มักจะใช้เวลาพักผ่อนส่วนใหญ่ด้วยการมาศูนย์การค้า ต่อเมื่อศูนย์การค้าก้าวข้ามจากแค่การช้อปปิ้งมาสู่การใช้ชีวิตอย่างเต็มรูปแบบอย่างในปัจจุบัน ร้านอาหาร จึงถูกให้ความสำคัญและมีสัดส่วนมากขึ้น เพราะออนไลน์ทำให้คนสามารถช้อปปิ้งจากที่ไหน ในช่วงเวลาใดก็ได้ การมาช้อปในศูนย์การค้าจึงเป็นเรื่องของการส่งมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ รวมถึงการสร้างคอมมูนิตี้ของคนแต่ละไลฟ์สไตล์ขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้ามาใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน
นั่นคือ การมองศูนย์การค้าในเชิงกายภาพ ซึ่งเทรนด์หรือแนวโน้มของศูนย์การค้าของบ้านเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดย ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการค้าปลีก ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เทรนด์ของศูนย์การค้าทั่วโลกรวมถึงบ้านเรา กำลังก้าวข้ามจากแค่การเป็น The third place มาสู่การเป็น The fourth place ที่เป็นเรื่องของ to be myself ที่สะท้อนตัวตนในสิ่งที่เขาอยากเป็น เป็นการก้าวข้ามจากแค่เรื่องของการเป็น Community ของศูนย์การค้า
เรียกได้ว่า เป็นการก้าวข้ามจากมุมมองแค่เรื่องของกายภาพที่เป็นมุมมองเดิมๆ ในเรื่องของกลุ่มเป้าหมายของศูนย์การค้าที่มองลูกค้าในเชิง Demographic เป็นหลัก
หากมองเข้ามาที่พัฒนาการของศูนย์การค้าในบ้านเราแล้ว จะพบว่า เริ่มต้นจากการเป็นสถานที่ช้อปปิ้งที่รวบรวมเอาร้านค้าและบริการเข้ามาไว้ในศูนย์ ก่อนที่จะก้าวมาสู่เรื่องของการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า เป็นการก้าวข้ามจากแค่เรื่องของการบริหารพื้นที่ขายหรือ Space Management เพื่อให้ได้กำไรจากค่าเช่ามากที่สุด มาสู่การบริหารประสบการณ์ลูกค้า ทำให้ศูนย์การค้าไม่ได้เป็นแค่สถานที่ช้อปปิ้ง แต่เป็น Community ตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละกลุ่ม
ทำให้ การเลือกวางส่วนผสมของศูนย์การค้า ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของ Lifestyle Mix ที่ต้องผสมผสานการใช้ชีวิตของคนแต่ละไลฟ์สไตล์ให้ผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัว
ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็คือ การดีไซน์ให้ศูนย์การค้าเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ มีสเปซสำหรับคนรักสัตว์ หรือมีลู่วิ่งออกกำลังกาย เพื่อตอบโจทย์การเป็นชุมชนตามความชอบของคนแต่ละไลฟ์สไตล์
ว่าไปแล้ว เรื่องของการก้าวขึ้นมาเป็น The fourth place ของศูนย์การค้านั้น ยังคาบเกี่ยวกับเรื่องของการเป็น Community ของแต่ละไลฟ์สไตล์ แต่อาจจะมีการลงลึกถึงการตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้าโดยเฉพาะในคนกลุ่ม Gen Z ที่มีความเป็นตัวของตัวเองค่อนช้างสูง โดยต้องส่งมอบในเรื่องสิ่งที่พวกเขาต้องการเป็น หรือสะท้อนความเป็นตัวตนของพวกเขา ซึ่ง ดร.ฉัตรชัย มองว่า ในอนาคต เราอาจจะเห็นมอลล์ที่เป็นที่แสดงตัวตนของกลุ่ม LGBT
ในอดีต เราคงคุ้นเคยกับคำว่า The Third Place แต่ปัจจุบัน คำว่า Third Place อาจจะไม่พอเพียงกับสำหรับคน Generation นี้ อีกต่อไป แต่ต้องเป็น Fourth Place
การเป็น fourth place ของศูนย์การค้านั้น จะเป็นเรื่องของความต้องการพื้นที่ในการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง หรือ Be My Self ของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่เพียงแค่การต้องการแค่สถานที่ช้อปปิ้งเหมือนคนใน Generation อื่นๆ แต่การก้าวข้ามจากการตอบโจทย์แค่เรื่องของการช้อปปิ้งมาสู่การเป็น Community ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของลูกค้า ขณะเดียวกันก็ต้องก้าวข้ามจากเรื่องของการเป็นแค่ Point of Sale มาสู่การเป็น Point of Connect อีกด้วย