07/02/2023
การตายในหน้าที่ของคนทำสื่อฯ จริงๆ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ก็มีพี่ๆ พนักงานของสื่อช่องใหญ่เก่าแก่ ตายคาห้องทำงานเช่นกัน
พูดตามตรงว่าอาชีพสื่อฯ มวลชนเป็นอาชีพที่ทำงานหนัก เกือบทุกที่ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ มีวันหยุดแค่วันเดียว การทำงานเกินเวลาเป็นเรื่องที่โคตรปกติ โดยเฉพาะสายข่าว ซึ่งเราก็คือคนๆ นั้นที่เคยผ่านชีวิตแบบนี้มาแล้ว และอยู่กับมันเป็นสิบๆ ปี
เชื่อหรือไม่ว่า สื่อใหญ่เกือบทุกช่อง พนักงานของสถานีที่ต้องทำงานล่วงเวลาแทบไม่มี OT ซึ่งมันไม่มีมาตั้งแต่ที่เข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล เพราะแต่ละช่องต่างเจ็บเนื้อเจ็บตัวกันกับการลงทุนที่มหาศาล และเกิดสภาวะขาดทุนยับเยินจนหลายช่องต้องปิดตัวลงอย่างที่เป็นข่าว
และการแข่งขันเพื่อช่วงชิงเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณา ทำให้คนในวงการนี้ต้องทำงานหนักอย่างมากโดยเฉพาะคนเบื้องหลัง และคนภาคสนาม ซึ่งแลกมากกับเงินเดือนอันน้อยนิด เมื่อเทียบกับคนเบื้องหน้า
ในฐานะที่ผมเองก็ผ่านชีวิตของการเป็นคนเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาหมดแล้ว และอยู่มาหลายช่อง ผมบอกได้เลยว่า พนักงานระดับปฎิบัติการทั่วไปเช่น ผู้สื่อข่าวภาคสนาม ช่างภาพ ฝ่ายเทคนิค ตัดต่อ ฝ่ายออกอากาศ หรือแม้แต่พนักงานรีไรท์ข่าว รายได้ต่อเดือนต่างจากผู้ประกาศข่าว หรือพิธีกรราว 2 - 10 เท่า แถมทำงานหนักกว่ามาก
เช่นนักข่าวภาคสนาม เงินเดือนราว 20,000 บาท บวกค่า OB รายงานสดนอกสถานที่ (ซึ่งมีแค่บางช่อง) รวมแล้วอาจจะได้ 23,000 ต่อเดือน ทำงาน 9 ชั่วโมง++ ซึ่งในความจริง ไม่มีหรอก 9 ชั่วโมงเนี่ย ลากกันไป 12 ชั่วโมงกันแทบทั้งนั้น
แต่ผู้ประกาศข่าว หรือพิธีกร ถ้าเป็นพนักงานประจำช่องเอกชน เงินเดือนขั้นต่ำที่ได้เลยคือ 30,000++ บาท และยังมีค่าอ่านต่อชั่วโมงหรือต่อรายการราว 800 - 3,000++ บาท
ถ้าเป็นผู้ประกาศประจำมีรายการที่ต้องนั่งประจำของตัวเองทุกวัน ก็บวกค่าอ่านไป 6 วันต่อสัปดาห์ = 4,800 - 12,000++ บาท
ทำงานเดือนนึงมี 24 วัน 19,200 - 72,000++ บาท
รวมๆ แล้วรายได้ต่อเดือนก็อยู่ที่ราว 40,000 - 100,000++
นี่คือรายได้ขั้นต่ำของผู้ประกาศข่าว ซึ่งจริงๆ แล้วผู้ประกาศข่าวหรือพิธีกรอาจจะได้มากกว่านี้ในปัจจุบัน แถมถ้าใครไปอ่านแทนสล็อตของเพื่อนที่ต้องสลับหรือลาหยุดกัน ก็ได้ค่าอ่านเพิ่ม รวมทั้งยังสามารถใช้ชื่อเสียงไปรับงานนอก รับเป็นพิธีกรนอกได้อีกด้วย โดยเรตค่าตัวต่อชั่วโมงก็หลักหมื่นขึ้นต่อ 1 อีเวนท์
โดยไม่จำเป็นต้องนั่งแช่อยู่ที่สถานีตลอดเวลา บางช่องเข้างานก่อนหน้ารายการจะเข้าเพียงชั่วโมงเดียว แต่งหน้าทำผม เปลี่ยนเสื้อผ้า และวิ่งเข้าสตูฯ อ่านเสร็จออกไปพักผ่อน ไปนอนงีบ หรือไปรับงานต่อได้ ไม่ต้องอยู่ครบลูปประจำเช่นคนทำงานเบื้องหลัง
บางคนที่มีชื่อเสียงประมาณหนึ่งรายได้มากกว่า 200,000 ต่อเดือน หรืออาจจะถึง 400,000 ต่อเดือน ขึ้นอยู่กับการดีลซื้อตัวไป และชื่อเสียงของคนๆ นั้น
เชื่อมั้ยว่าในขณะที่คนเบื้องหลังเงินเดือนแทบไม่ขึ้น หรือขอให้ลดเงินเดือน แต่คนเบื้องหน้าจะเป็นตำแหน่งท้ายๆ ที่ถูกให้ขอลดเงินเดือน เพราะจริงๆ ช่องกลัวการย้ายช่องของผู้ประกาศข่าวมากๆ เพราะนั่นคือโลโก้ของช่อง ไม่ต่างจากดารา - นักแสดง
ฐานันดรของผู้ประกาศข่าวนั้นมีอภิสิทธิ์ค่อนข้างสูงในสถานี หลายช่องมีที่จอดรถเฉพาะให้เหมือนผู้บริหาร มีลิฟต์ส่วนตัวที่ไม่ต้องไปใช้ปนกับพนักงาน สามารถขึ้นลิฟต์ตรงไปที่สตูดิโอได้เลย
นี่คือประสบการณ์ตรงของผมที่เคยทำงานนะ ไม่ได้จะมาดิสเครติดใคร แต่จะบอกให้เห็นภาพว่า ในสังคมคนทำข่าวเอง ก็มีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างคนเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ซึ่งหลายช่องให้ความสำคัญไม่เท่ากัน
ทุกวันนี้นับช่องได้เลยว่าที่ไหนให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งแทบไม่มีแล้ว บางช่องพนักงานเป็นการต่อสัญญารายปี รายสองปี บางช่องเป็นระบบไซน์คอนแทคฯ และไม่มีสวัสดิการใดๆ
บางครั้งทำให้คิดได้ว่า อาชีพที่เป็นดังความภาคภูมิใจของคนที่เข้ามาอยู่อาชีพนี้ เป็นฐานันดรที่ 4 ของสังคม เป็นกระบอกเสียงที่ทำงานอย่างหนักหน่วง แต่คุณภาพชีวิตกลับตรงกันข้ามจริงๆ