The Kommon แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่การเรียนรู้ และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

นอกจากจะเป็นมรดกวัฒนธรรมที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางศิลปะแล้ว ภาพวาดในพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรียังมีประโยชน์ในฐานะแหล่งข้อมูลด้...
22/12/2024

นอกจากจะเป็นมรดกวัฒนธรรมที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางศิลปะแล้ว ภาพวาดในพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรียังมีประโยชน์ในฐานะแหล่งข้อมูลด้านสภาพอากาศอีกด้วย ล่าสุดนักวิจัยพบว่าผลงานของ โคลด์ โมเนต์ (Claude Monet) มีโอกาสสูงที่จะสะท้อนคุณภาพอากาศของกรุงลอนดอนและปารีสในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเต็มไปด้วยหมอกควันหนาแน่น ไม่ต่างอะไรกับในปัจจุบัน
โมเนต์ คือศิลปินชื่อดังชาวฝรั่งเศสที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1840-1926 ผลงานของเขาโดดเด่นจนได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินระดับโลกด้านงานศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) ที่เน้นการถ่ายทอดความรู้สึกงดงามหรือประทับใจผ่านภาพวาดฟุ้งฝัน เน้นการใช้แสง สี และเงา ผ่านองค์ประกอบภาพอันเป็นเอกลักษณ์ ดูมีความเคลื่อนไหวแต่ยังสบายตาผ่านความพร่ามัวที่น่าหลงใหล
จดหมายของโมเนต์ที่เขียนถึงภรรยาเมื่อปี 1901 ได้นำไปสู่ข้อสันนิษฐานที่เปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับผลงานของเขา นั่นคือข้อความในจดหมายได้บรรยายสภาพอากาศอันเลวร้าย “ทุกอย่างเหมือนตายไปแล้ว ไม่มีรถไฟ ไม่มีควัน ไม่มีเรือ ไม่มีอะไรเลยที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำงาน”
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ในปี 1901 ที่จดหมายฉบับนี้ถูกเขียนขึ้น เป็นช่วงที่โมเนต์อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอนพอดี ช่วงเวลานี้เขาสร้างผลงานกว่า 100 ภาพ ที่คนในยุคปัจจุบันเคยเข้าใจว่าคือการชื่นชมธรรมชาติและถ่ายทอดความฟุ้งฝันตามแบบศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์อย่างที่เขาถนัด
หลักฐานชิ้นใหม่นี้สนับสนุนทฤษฎีที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนเชื่อถือมาอย่างยาวนาน นั่นคือลักษณะเฉพาะในงานของโมเนต์อาจหมายถึง ‘สภาพอากาศอันเลวร้าย’ ที่เขาเห็นเสียมากกว่า
“ฉันทำงานเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศมานาน ตอนที่ฉันเห็นภาพวาดของโมเนต์ จึงสันนิษฐานได้ทันทีว่านี่อาจจะเป็นการสื่อถึงสภาพอากาศที่ย่ำแย่ เพราะแสง สี และเงาในภาพวาดของเขาดูมืดมนขึ้นตามช่วงเวลาที่เขาอยู่ที่นั่น” แอนนา ลี ออลไบรท์ (Anna Lea Albright) นักวิจัยของห้องปฏิบัติการอุตุนิยมวิทยาพลวัต (Laboratoire de Météorologie Dynamique) แสดงความเห็นไว้ถึงข้อสันนิษฐานนี้
อีกทั้งถ้าพิจารณาดูตามหน้าประวัติศาสตร์ของกรุงลอนดอน เราจะพบอีกหนึ่งหลักฐานที่สนับสนุนข้อคิดเห็นดังกล่าว นั่นคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมส่งผลต่อสภาพอากาศอย่างใหญ่หลวงในช่วงปี 1796-1901 ซึ่งตรงกับช่วงที่โมเนต์อาศัยอยู่พอดี ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงมากที่ความพร่าเลือนในภาพวาดจะหมายถึงเขม่าจากถ่านหินที่สร้างหมอกหนาทึบ
เมื่อมีการศึกษาวิจัยภาพวาดของ โจเซฟ มาลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์ (Joseph Mallord William Turner) ศิลปินชาวอังกฤษที่สร้างผลงานศิลปะในช่วงเวลาใกล้เคียงกันควบคู่ไปด้วย ก็จะพบว่าภาพวาดของทั้งสองมีลักษณะร่วม คือความหม่นมัวของอากาศ ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับหมอกควันจากอุตสาหกรรมและเครื่องจักรไอน้ำจึงมีน้ำหนักมากขึ้น
“โดยทั่วไปแล้ว มลพิษทางอากาศจะสร้างหมอกให้คนเห็นขอบของวัตถุได้ยาก อีกทั้งยังทำให้สิ่งที่เราเห็นมีความขาวมากขึ้นด้วย ดังนั้นนี่อาจเป็นเหตุผลให้ภาพของโมเนต์ออกมาฟุ้งฝันก็ได้” แอนนาเสริม
จริงอยู่ที่ถ้าดูตามหลักฐานและงานศิลปะของโมเนต์ที่เราสามารถเสพได้ในปัจจุบัน ชุดข้อมูลนี้มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย อีกทั้งเหล่านักวิจัยรวมถึงนักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายคนก็ต่างออกมาสนับสนุน แต่ถึงกระนั้นเสียงจากฝั่งตรงข้ามก็มีปรากฏขึ้นมาเช่นกัน
เช่น นักวิจารณ์ศิลปะอย่าง เซบาสเตียน ซมี (Sebastian Smee) ได้ออกมาโต้แย้งข้อสันนิษฐานนี้ ว่าความคิดสร้างสรรค์ภายในไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับสิ่งเร้าภายนอกขนาดนั้น ดังนั้นการอนุมานตามหลักฐานแวดล้อมจึงไม่อาจสะท้อนความตั้งใจของศิลปิน ภาพวาดอาจจะไม่จำเป็นต้องสื่อถึงความเป็นจริงก็ได้
ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการศึกษาที่คล้ายกัน นักประวัติศาสตร์ศึกษาภาพวาดยุคกลาง (Medieval) และค้นพบว่าช่วงเวลาระหว่างปี 1300-1500 คือยุคน้ำแข็งน้อย (Little Ice Age) ของยุโรป ที่อากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ ภาพวาดหลายภาพบ่งบอกถึงสภาพอากาศที่แตกต่าง เช่น แม่น้ำในประเทศอังกฤษอย่างแม่น้ำเทมส์ กลายเป็นน้ำแข็งในฤดูหนาวจนชาวลอนดอนสามารถลงไปเล่นสเกตได้ หรือภาพกรุงโรมที่ถูกห่อหุ้มด้วยหิมะขาวโพลน
ผลการศึกษาทั้งหลายได้มาจากการศึกษาภาพวาดจำนวนร้อยๆ ชิ้น ความเป็นจริงในอดีตจะเป็นเช่นไร อาจต้องค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมจากแหล่งอื่น เพื่อเสริมความหนักแน่น แต่อย่างน้อยข้อคิดหนึ่งที่เราได้จากการศึกษาเหล่านี้ คือการได้ทราบว่าข้อมูลใหม่อาจได้มาจากการตั้งข้อสังเกต และผลที่ได้อาจนำมาสู่ข้อถกเถียงที่อาจเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
อ่านบทความได้ที่ https://www.thekommon.co/monet-paintings-reflecting-toxic-air-in-industrial-revolution-era/
ที่มา:
https://www.sciencenews.org/article/pollution-impressionist-monet-painters
https://edition.cnn.com/style/article/monet-haze-air-pollution-study-scn/
https://www.artnews.com/art-news/news/monets-work-was-inspired-by-air-pollution-new-study-claims-1234661705
เรื่อง: หน่อไม้
ภาพ: Public Domain
#สนุกกับการคิดสนุกกับการเรียนรู้

ห้องสมุดกลางแห่งใหม่ของเมืองคัลการี ประเทศแคนาดา เปิดให้บริการวันแรกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2018 เป็นผลงานออกแบบสถาปัตย์...
21/12/2024

ห้องสมุดกลางแห่งใหม่ของเมืองคัลการี ประเทศแคนาดา เปิดให้บริการวันแรกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2018
เป็นผลงานออกแบบสถาปัตย์ร่วมสมัยระดับมาสเตอร์พีซที่ดึงดูดทุกสายตาผู้พบเห็น และสร้างความภาคภูมิใจอย่างยิ่งให้กับชาวเมือง
ความแปลกใหม่ของห้องสมุดกลางแห่งใหม่ในเมืองคัลการี คือการออกแบบให้สร้างคร่อมทางรถไฟฟ้ารางเบาซึ่งมีอยู่แล้วก่อนหน้า ส่วนหนึ่งของอาคารระดับพื้นดินถูกเจาะเป็นอุโมงค์ความยาว 135 เมตร พื้นชั้นล่างบริเวณนี้จึงมีรูปทรงเหมือนสะพานโค้งเพื่อให้ขบวนรถไฟลอดผ่านได้
โดยห้องสมุดได้จัดเก้าอี้ไว้ในโซน ‘ห้องนั่งเล่น’ สำหรับให้ผู้ใช้บริการสามารถนั่งชมขบวนรถไฟวิ่งแล่นผ่านไปมาตลอดทั้งวัน นับเป็นโครงการที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์การออกแบบที่โดดเด่นน่าจับตา และกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของเมืองไปในทันที
แนวคิดการตกแต่งได้แรงบันดาลใจมาจากรูปลักษณ์ของกลุ่มเมฆที่ถูกพัดพามาโดยสายลมชินุค (ชื่อลมประจำถิ่นในเขตทุ่งหญ้าแพรรี่ของแคนาดา พัดมาจากชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก) ซุ้มทางเข้าอาคารเป็นหลังคาไม้ทอดแนวยาวตลอดตัวอาคารด้านหน้า ผ่านประตูทางเข้าจะพบโถงขนาดใหญ่ กำกับสายตาด้วยแนวคดโค้งของระเบียงทางเดินไม้ การตกแต่งภายในด้วยโครงสร้างเป็นรูปโค้ง แต่เชื่อมต่อไขว้ไปมาในแต่ละชั้น ต้องการบ่งบอกถึงที่ตั้งของห้องสมุดซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างย่านกลางเมืองของคัลการีกับย่านอีสต์วิลเลจซึ่งเป็นพื้นที่ชานเมืองที่กำลังถูกพัฒนาตามทิศทางการขยายตัวของเมือง
ภายนอกอาคารตกแต่งให้มีลักษณะคล้ายการตัดแปะ (Collage-Like) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในซึ่งเน้นพื้นที่หลากหลายประเภท แตกต่างไปตามระดับความเป็นส่วนตัวของการใช้งาน ผนังอาคารใช้กระจกสลับวัสดุผิวทึบทำให้ผู้ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมสามารถมองออกมายังถนนภายนอกได้ ขณะที่พื้นที่อ่านเงียบๆ จะอยู่ในส่วนผนังทึบที่ไม่มีสิ่งรบกวนจากภายนอก
ผนังทางเข้าอาคารเป็นผลงานภาพเขียนสีของชนพื้นเมืองดั้งเดิม (First Nations) ใกล้ๆ กันเป็นประติมากรรมโลหะรูปวัวป่าไบซันและตัวอักษรภาษาพื้นเมือง เมื่อเดินเข้ามาที่ชั้นหนึ่ง เป็นโซนหนังสือทั่วไป มีร้านกาแฟ และห้องประชุมขนาด 320 ที่นั่ง สำหรับจัดกิจกรรมนักเขียนพบนักอ่าน ฉายภาพยนตร์ หรือการบรรยายต่างๆ
ขึ้นบันไดไปยังชั้นลอย เป็นห้องสมุดเด็กขนาด 12,000 ตารางฟุต มีหนังสือสำหรับเด็กและของเล่นสารพัด มีสนามเด็กเล่นขนาดย่อมไว้ปีนป่าย ชั้นเรียนสำหรับกิจกรรมสอนอ่าน พร้อมหนังสือสนุกๆ และแบบฝึกหัด บอร์ดเกม รวมถึงแท็บเล็ตสำหรับให้ยืมออกไปได้
ชั้นสองเป็นพื้นที่สำหรับพบปะแลกเปลี่ยนความคิด โซนหนังสือนวนิยายและวรรณกรรม ชั้นสามเป็นพื้นที่สำหรับวัยรุ่น จัดสรรให้เป็นพื้นที่ทดลองเรียนรู้ (Learning Lab) บูธนั่งอ่านหนังสือ และห้องประชุมพูดคุยกลุ่มย่อยหรือทำงานกลุ่ม มีห้องทำงานสำหรับนักเขียนท้องถิ่น ชั้นสี่คือโซนอ่านหนังสือแบบเงียบ มีโต๊ะเก้าอี้นั่งสบายๆ มีหนังสือประเภทประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และสตูดิโอสำหรับศิลปินท้องถิ่น

ชั้นหนังสือของที่นี่ออกแบบความสูงให้ต่ำกว่าระดับสายตา เพื่อให้ผู้ใช้มองเห็นพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการมองเห็นโครงสร้างเสาคอนกรีตสูงจรดเพดานที่เป็นรูปทรงสวยงามราวกับวิหารโบราณของกรีก นับเป็นการออกแบบห้องสมุดที่สุดจะแหวกแนว เพราะนำเอารูปแบบร่วมสมัยมาผสมกับสไตล์สุดโบราณไว้ด้วยกัน
ไมเคิล บราวน์ (Michael Brown) ประธานและซีอีโอบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เมืองคัลการี ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในโครงการห้องสมุดใจกลางเมืองแห่งนี้ กล่าวว่า ห้องสมุดแห่งนี้ไม่เพียงเอื้ออำนวยให้ชุมชนเติบโตท่ามกลางความหลากหลาย แต่ยังจะสอนบทเรียนสำคัญให้กับผู้ใช้ห้องสมุดในเรื่องการยอมรับความแตกต่างด้วย
“ไม่มีสถานที่ใดจะมีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งไปกว่าห้องสมุดประชาชนอีกแล้ว ที่นี่มีเสรีภาพ และเปิดกว้างต้อนรับทุกคน เราหวังว่าผู้ใช้ห้องสมุด โดยเฉพาะเด็กๆ และวัยรุ่น จะได้เรียนรู้เมื่อเข้ามาห้องสมุดว่า มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างคนไร้บ้านกับอาชญากร ยิ่งถ้าหากพวกเขาได้เห็นคนไร้บ้านเข้ามานั่งอ่าน และใช้คอมพิวเตอร์หรือค้นข้อมูลหางาน นั่นยิ่งเป็นเรื่องที่วิเศษ เพราะมันสำคัญมากที่ห้องสมุดจะสอนให้พวกเขาเข้าใจว่า โลกนี้มีความหลากหลายและซับซ้อนเพียงใด”
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาดของห้องสมุด แมรี่ คาพุสตา (Mary Kapusta) เน้นว่าการเข้าใช้งานภายในอาคารมีความปลอดภัยสูง มีกฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่รัดกุม ชัดเจน แต่ไม่แบ่งแยกกีดกัน และไม่มีระเบียบที่ขัดขวางเสรีภาพในการแสวงหาความรู้และการแสดงออก
เงินลงทุน 245 ล้านเหรียญกับอาคาร 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอยกว่า 240,000 ตารางฟุต (22,300 ตารางเมตร) พร้อมหนังสือใหม่กว่า 450,000 รายการ สามารถเรียกที่นี่ได้ว่าเป็น ‘ศูนย์กลางวัฒนธรรมของการเรียนรู้และนวัตกรรม’
บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะไม่มีโต๊ะเก้าอี้ทำงานประจำของตนเอง เพราะทุกคนต้องพร้อมเสมอที่จะเดินไปพบปะผู้ใช้บริการที่ต้องการความช่วยเหลือซึ่งมีความหลากหลายและต่างก็มีปัญหาเฉพาะตัว จะว่าไปแล้วนี่เป็นงานที่เหมือนกับการวิจัยความต้องการเชิงลึกของลูกค้าในอีกรูปแบบหนึ่ง
บทความของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ แนะนำห้องสมุดกลางคัลการีให้เป็นหนึ่งใน ‘52 สถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องเยี่ยมชม’ ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและชาวต่างชาติจำนวนกว่า 5 แสนคนหลั่งไหลแวะเวียนเข้ามาที่นี่ในช่วงสามเดือนแรกของการเปิดให้บริการ
วีดิทัศน์ https://www.youtube.com/watch?v=cDVMeJJSDa8&t=14s
อ่านบทความได้ที่ https://www.thekommon.co/calgary-public-library/
ที่มา:
https://www.atlasobscura.com/places/the-new-central-library
https://calgaryherald.com/news/local-news/spectacular-new-central-library-opens-with-an-emphasis-on-younger-generation
https://www.calgarymlc.ca/new-central-library
https://www.dezeen.com/2018/11/05/snohetta-dialog-new-central-library-calgary-wood-atrium-crystaline-exterior/
เรื่อง: วัฒนชัย วินิจจะกูล
ภาพ: Calgary Public Library/ Michael Grimm, Calgary Public Library
#สนุกกับการคิดสนุกกับการเรียนรู้

ความชื่นชอบวิทยาศาสตร์ของ ‘แทนไท ประเสริฐกุล’ ตั้งแต่เด็กจวบจนถึงทุกวันนี้ ซึมซับเข้าไปในเนื้อในตัว กลายเป็นแรงขับให้เขา...
21/12/2024

ความชื่นชอบวิทยาศาสตร์ของ ‘แทนไท ประเสริฐกุล’ ตั้งแต่เด็กจวบจนถึงทุกวันนี้ ซึมซับเข้าไปในเนื้อในตัว กลายเป็นแรงขับให้เขาเข้าร่วมโครงการต่างๆ อย่างโครงการพัฒนา และส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (พสวท.) และโครงการโอลิมปิก ซึ่งนำพาเขาเข้าไปสู่โลกใบใหม่ของการเรียนรู้
“ในค่ายโอลิมปิก เขาจะให้อ่านหนังสือชีววิทยาเป็นภาษาอังกฤษ เป็นเหมือนคัมภีร์หนา เรียกสั้นๆ ว่า แคมป์เบลล์ (Campbell Biology) พออ่านตำราภาษาอังกฤษได้เราพบว่า รูปประกอบมันสวย การไล่เรียงเรื่องราวดูเป็นเหตุเป็นผล มีตัวอย่างเจ๋งๆ ที่ทำให้เรารู้สึกทึ่งไปกับการอ่าน ทำให้เรายิ่งอินกับชีววิทยามากขึ้น คล้ายกับการเปิดโลกกว้างใหญ่…ตำราที่เราอ่านในภาษาอังกฤษ เขามุ่งไปสู่เป้าหมายว่า ผู้อ่านจะสามารถทำความเข้าใจธรรมชาติอันลึกลับได้อย่างไร”
พรมแดนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของแทนไทถูกขยายให้กว้างขึ้นไปอีก เมื่อได้เข้าไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล นั่นทำให้เขามองเห็นความแตกต่างของ ‘วิทยาศาสตร์’ ระหว่างระบบการศึกษาไทยและต่างประเทศ
“เรามักมองว่าวิทยาศาสตร์มันต้องเป็นประโยชน์ต่ออะไรสักอย่างหนึ่ง ทั้งที่จริงแล้ววิทยาศาสตร์มันกว้าง มันมีทั้งการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง หรือทำให้เกิดประโยชน์บางอย่าง ขณะเดียวกัน วิทยาศาสตร์ยังมีด้านที่เราศึกษาเพราะต้องการค้นหาความจริงอันลึกซึ้งของธรรมชาติ ซึ่งในมุมนี้เมืองไทยจะไม่ค่อยสนใจ เช่น คำถามว่าชีวิตมาจากไหน ชีวิตถือกำเนิดได้ยังไง”
“บรรยากาศโดยรวมของสังคมไทยคือ ทำอะไรตามขั้นตอน ตามสูตร ไม่ต้องแหวกแนว ไม่ต้องตั้งคำถามมาก เช่น กระทั่งการกลับมาบ้าน เจอพ่อแม่ที่คอยบอกให้เราเรียนเพื่อทำงาน ทำงานเพื่อหาเงิน มันเหมือนถูกสังคม และเศรษฐกิจตีกรอบไว้แคบๆ ผมว่าคำถามทางวิทยาศาสตร์นี่แหละ คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสามารถขับเน้นตัวตนความเป็นมนุษย์ในด้านที่อยากจะรู้ให้มาก และลึกที่สุดเท่าที่สมองของเราจะรู้ได้”
นี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งจาก วิทยาศาสตร์ระหว่างบรรทัด ของแทนไท ประเสริฐกุล สามารถอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.thekommon.co/tantai-prasertkul/
#สนุกกับการคิดสนุกกับการเรียนรู้ #แทนไทประเสริฐกุล #นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ #วิทยาศาสตร์

เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 กุนนาร์ อัสพลุนด์ (Gunnar Asplund) สถาปนิกและเพื่อนร่วมงานถูกส่งไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาเต...
20/12/2024

เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 กุนนาร์ อัสพลุนด์ (Gunnar Asplund) สถาปนิกและเพื่อนร่วมงานถูกส่งไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาเตรียมการออกแบบสถาปัตยกรรม และก่อสร้างห้องสมุดประชาชนซึ่งประเทศสวีเดนยังไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาได้ข้อสรุปว่าห้องสมุดแห่งใหม่จะต้องเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนสามารถศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ตอบสนองสังคมประชาธิปไตย และเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
แนวคิดสำคัญคือ สาธารณชนต้องสามารถค้นหาหนังสือด้วยตัวเองได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ห้องสมุด การออกแบบผังควรมีความเรียบง่ายชัดเจน พื้นที่สำหรับเด็กควรออกแบบโดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับโรงเรียน ครูและโรงเรียนเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนรักการอ่าน และแสวงหาความรู้
ห้องสมุดเมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm City Library) เปิดให้บริการเมื่อปี 1928 ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สะท้อนเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมที่สง่างามตามแบบสวีเดน และยังได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของประเทศ
ในต้นศตวรรษที่ 21 ห้องสมุดมีโครงการจะปรับปรุงอาคารห้องสมุดใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น จึงเปิดให้มีการประกวดแบบ ภายใต้เงื่อนไขให้อนุรักษ์เอกลักษณ์ของอาคารเดิม ผลปรากฏว่าผู้ชนะการประกวดออกแบบจากทั้งหมดกว่า 1,700 ชิ้นงาน ตกเป็นของสถาปนิกชาวเยอรมัน แต่ผลงานชิ้นนี้กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จนในที่สุดเมืองสต็อกโฮล์มต้องระงับโครงการก่อสร้างปรับปรุงตามการออกแบบใหม่ที่ชนะเลิศ เนื่องจากเห็นว่าอาจสร้างผลกระทบทางสังคมได้ไม่เทียบเท่ากับงานดั้งเดิมที่อัสพลุนด์ได้ออกแบบไว้ เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนสำคัญถึงความรอบคอบในการปรับโฉมห้องสมุดที่เก่าแก่และมีความละเอียดอ่อนในมิติทางประวัติศาสตร์
แนวคิดการปรับปรุงห้องสมุดเมืองยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ทุกฝ่ายต่างระมัดระวังที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมอาคารเดิม และหันไปปรับภูมิทัศน์ภายนอกอาคารโดยออกแบบให้มีการเชื่อมโยงทางกายภาพมาสู่ตัวอาคารเก่า หนึ่งในไอเดียที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนาพื้นที่ด้านหน้าระหว่างถนนหลักกับทางเข้าห้องสมุด ปรับปรุงให้เป็นทางเดินลาดยกระดับ มีลักษณะเปิดโล่งเป็นพื้นที่สาธารณะ มีสวนหย่อมรายทาง ในขณะที่พื้นที่ใต้ทางเดินซึ่งยกระดับขึ้นมา ออกแบบให้มีการขุดลงใต้ดินอีกชั้นหนึ่ง กลายเป็นพื้นที่ส่วนต่อขยายของห้องสมุด ทำให้ห้องสมุดมีพื้นที่ให้บริการกว้างขวางขึ้น นับเป็นการออกแบบที่พยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาคารเก่าดั้งเดิมกับแนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยไม่แตะต้องตัวอาคารและพื้นที่ใช้งานเดิมที่มีคุณค่า และประโยชน์ใช้สอยดีอยู่แล้ว
ปัจจุบัน สถาปัตยกรรมอาคารทั้งภายใน และภายนอกของห้องสมุดเมืองสต็อกโฮล์มยังคล้ายกับของเดิมเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ห้องอ่านหนังสือเต็มไปด้วยโต๊ะ และที่นั่งซึ่งสามารถจุผู้ใช้บริการจำนวนมาก ตามแนวผนังมีชั้นหนังสือเรียงรายบรรจุหนังสือกว่า 2 ล้านเล่ม เทปเสียง 2.4 ล้านรายการ ที่นี่เปรียบเสมือนห้องสมุดนานาชาติ เพราะมีหนังสือภาษาต่างประเทศจำนวนมากถึงกว่า 100 ภาษาทั่วโลก และเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันเข้ามาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย
รับชมคลิปวิดีโอแนะนำห้องสมุดเมืองสต็อกโฮล์ม https://www.youtube.com/watch?v=tQd3-CIbn0s
อ่านบทความได้ที่ https://www.thekommon.co/stockholm-city-library/
ที่มา
https://en.wikiarquitectura.com/building/stockholm-public-library/
https://www.archdaily.com/92320/ad-classics-stockholm-public-library-gunnar-asplund
https://carusostjohn.com/projects/stockholm-city-library-se/
เรื่อง: วัฒนชัย วินิจจะกูล
ภาพ: Alexandre Van Thuan on Unsplash/ Annica Roos, Mattias Prodromou Dahlqvist och Stockholmsk/ WikiArquitectura
#สนุกกับการคิดสนุกกับการเรียนรู้ #ห้องสมุดเมืองสต็อกโฮล์ม #ห้องสมุดต่างประเทศ #ห้องสมุดสวีเดน

พิพิธภัณฑ์กวานฟู่ (Guanfu Museum) พิพิธภัณฑ์ย่านชานเมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ค้นพบกลยุทธ์การตลาดแบบสร้างสรรค์โดยบังเอิญ ด้ว...
19/12/2024

พิพิธภัณฑ์กวานฟู่ (Guanfu Museum) พิพิธภัณฑ์ย่านชานเมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ค้นพบกลยุทธ์การตลาดแบบสร้างสรรค์โดยบังเอิญ ด้วยการใช้ ‘แมวกวานฟู่’ หรือเจ้าเหมียวที่เข้ามาอาศัยในบริเวณพิพิธภัณฑ์เป็นจุดขาย พร้อมจัดแจงหน้าที่ให้แต่ละตัวเสร็จสรรพ ไม่ต่างกับพนักงานคนหนึ่ง
ว่ากันว่า ที่นี่น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในโลกที่แต่งตั้ง ‘แมว’ ให้เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ยังไม่นับเหล่าภัณฑารักษ์แมวอีกกว่า 30 ตัว ซึ่งมีบทบาทแตกต่างกันไปตามบุคลิกและนิสัย เช่น ‘หม่า เตียวเถียว’ แมวแถบสีดำ-เทา มีหน้าที่เดินตรวจตรางานจำหน่ายตั๋ว หรือ ‘ฮวาง เชียงเชียง’ แมวขาวอัธยาศัยดี รับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิคม คอยรับแขกในอาคารไม้ที่เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์โบราณ
กลยุทธ์การตลาดนี้ได้เปลี่ยนพิพิธภัณฑ์ที่เคยเงียบเหงา ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีกลุ่มวัยรุ่นและครอบครัวมาเยือนไม่ขาดสาย ผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ สามารถเข้าไปในห้องส่วนตัวแล้วใช้เวลากับแมวนางแบบที่โพสต์ท่าอย่างไม่รู้เบื่อ เด็กๆ สามารถเล่นกับแมวทุกตัวอย่างใกล้ชิด โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอันตราย
ไฮไลท์สำคัญคือช่วงเวลาเที่ยงวัน แมวทุกตัวจะมารวมตัวกันที่ลานดิน เรียงแถวกินอาหารในจานเซรามิกฝีมือศิลปินชั้นปรมาจารย์ ส่วนช่วงเวลาอื่น บรรดาแมวมักเดินอวดโฉมไปรอบๆ บ้างก็พักผ่อนในอิริยาบถสบายๆ บนสะพานซึ่งแขวนอยู่ระหว่างต้นไม้ใหญ่
ทุกวันนี้ ‘แมวกวานฟู่’ กลายเป็นมาสคอตประจำพิพิธภัณฑ์ที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ โดยพิพิธภัณฑ์ได้ดัดแปลงภาพจิตรกรรมสมัยโบราณ ด้วยการเปลี่ยนรูปมนุษย์ให้กลายเป็นแมว พร้อมจัดทำตุ๊กตา เคสโทรศัพท์มือถือ และของที่ระลึกให้ทาสแมวได้จับจอง นอกจากนี้ยังตีพิมพ์หนังสือหลายประเภทที่มีแมวเป็นตัวดำเนินเรื่อง เช่น หนังสือแนะนำวัตถุโบราณ หรือชุดหนังสือการ์ตูนด้านศิลปะวัฒนธรรมสำหรับเด็กประถมศึกษา
“ทุกวันนี้ผู้คนดูเหมือนสนิทสนมกัน แต่จริงๆ แล้วในใจกลับห่างเหิน ทว่าในโลกของแมว ความรักไม่มีพรมแดน และมันปฏิบัติต่อแขกทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” หม่า เว่ยตู ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ กล่าวถึงสายสัมพันธ์สุดพิเศษที่แมวหลากชีวิตนำมาสู่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
สำหรับประเทศจีน การมีแมวจรจัดเดินเตร่อยู่ทั่วพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ นอกจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์อื่นๆ ก็มีเจ้าเหมียวคอยประจำการอยู่เหมือนกัน เช่น พิพิธภัณฑ์ในพระราชวังปักกิ่ง มี ‘แมวข้าราชการ’ ประมาณ 200 ตัว อยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุ หน้าที่หลักของพวกมันคือการช่วยปกป้องสถาปัตยกรรมไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากศัตรูตัวฉกาจอย่างหนู โดยได้รับอาหารจากนักท่องเที่ยวเป็นรางวัล
ช่วงหลายปีมานี้ พิพิธภัณฑ์ในจีนนับว่ามีความเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการนำเสนอใหม่ๆ ให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีความเป็นมิตรขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่พิพิธภัณฑ์มีสถานะไม่ต่างจาก ‘วัด’ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่ยากที่จะจับต้องได้
ชมบรรยากาศพิพิธภัณฑ์กวานฟู่ได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=bBz4CIL-FP8
อ่านบทความได้ที่ https://www.thekommon.co/guanfu-museum-cat-employees-as-a-selling-point/
ที่มา:
https://www.museumnext.com/article/museums-playing-with-chinas-youth-subcultures-from-animal-influencers-to-dancing-relics/
https://www.thebeijinger.com/blog/2021/03/03/museum-opened-primary-school-drop-out-filled-antique-and-cats
เรื่อง: ทัศนีย์ แซ่ลิ้ม
ภาพ: Guanfu Museum
#สนุกกับการคิดสนุกกับการเรียนรู้ #พิพิธภัณฑ์กวานฟู่ #พิพิธภัณฑ์จีน

101 บทเรียนสำหรับนวัตกรตอนที่ 47 การเมืองในที่ทำงานคือตัวฆ่านวัตกรรมในฐานะที่เคยเป็นผู้จัดการองค์กรใหญ่ๆ ผมเกลียดการเมือ...
19/12/2024

101 บทเรียนสำหรับนวัตกร
ตอนที่ 47 การเมืองในที่ทำงานคือตัวฆ่านวัตกรรม
ในฐานะที่เคยเป็นผู้จัดการองค์กรใหญ่ๆ ผมเกลียดการเมืองในที่ทำงานมาก อุดมการณ์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์สามารถพบได้ทั่วไปในที่ทำงาน การถ่วงดุลอำนาจ การเล่นเกม ซุบซิบนินทา และปล่อยข่าวลือ ทำให้ผมรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับมันมาก แล้วคุณล่ะ รู้สึกเหมือนกันไหม?
พลังงานลบๆ ทำให้วัฒนธรรมองค์กรเต็มไปด้วยความแข็งกร้าว ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ และก่อให้เกิดความกลัว การเมืองในที่ทำงานพวกนี้ ฆ่านวัตกรรมด้วยการสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้คนทำงานรู้สึกว่า ถ้าทำผิดเมื่อไรจะถูกลงโทษทันที ถ้าเป็นแบบนี้คุณควรจะทำอย่างไร?
ผมพบว่า มี 8 วิธีที่จะช่วยหยุดยั้งการลุกลามของการเมืองที่ทำให้เกิดพลังงานลบๆ
1️⃣ อย่าส่งต่อข่าวซุบซิบนินทา หรือการตัดสินใครบางคนด้วยการเหมาเอาเอง เมื่อคุณได้ยินข่าวโคมลอยพวกนั้น จงใช้เวลาสักหนี่งวันเพื่อพิจารณาว่าแหล่งข่าวเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน

2️⃣ จงลอยตัวอยู่เหนือข้อขัดแย้งระหว่างบุคคล อย่าปล่อยให้ใครดึงคุณเข้าไปในวังวนของการทะเลาะเบาะแว้ง

3️⃣ รักษากิริยาท่าที และความเป็นมืออาชีพอยู่เสมอ รวมทั้งให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ขององค์กร

4️⃣ คิดบวกเอาไว้ หลีกเลี่ยงการบ่นหรือการร้องทุกข์

5️⃣ จงมีความมั่นใจ กล้าแสดงความคิดเห็น แต่ไม่ก้าวร้าว

6️⃣ เมื่อได้รับข้อทักท้วงหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ จงพิจารณาในมุมมองขององค์กร ไม่ใช่มุมมองของตัวคุณเอง

7️⃣ อย่าเชื่อมั่นว่าความลับมีอยู่ในโลก จงเผื่อใจไว้ว่าทุกๆ อย่างมีโอกาสที่จะถูกเปิดเผยสู่สาธารณะเสมอ ดังนั้นจงเลือกพูดในสิ่งที่เปิดเผยได้

8️⃣ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเพื่อนๆ ในทีม และพยายามอย่าสร้างการเมืองภายใน
เมื่อไรก็ตามที่คุณต้องจัดการกับการเมืองในที่ทำงาน คุณควรสร้างวัฒนธรรมในองค์กรที่ส่งเสริมความเชื่อมั่นในกันและกัน ความร่วมมือร่วมใจ และอิสรเสรีภาพ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้นวัตกรรมเจริญงอกงาม
อ่านบทความได้ที่ https://www.thekommon.co/47-workplace-politics-kills-innovation
ที่มา: หนังสือ Inspiration for Innovation: 101 Lessons for Innovators เขียนโดย Gijs van Wulfen
แปล: ศรันภัทร โชติมนกุล (โดยได้รับการอนุญาตจากผู้เขียน)
#สนุกกับการคิดสนุกกับการเรียนรู้

Creatorsgarten กลุ่มคนเนิร์ดๆ ที่มีเป้าหมายร่วมกันด้วยการนำเทคโนโลยีมาสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้...
18/12/2024

Creatorsgarten กลุ่มคนเนิร์ดๆ ที่มีเป้าหมายร่วมกันด้วยการนำเทคโนโลยีมาสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า เริ่มต้นจากกิจกรรมในสายโปรแกรมเมอร์ ทุกวันนี้ขอบเขตของ Creatorsgarten ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่รวมนักสร้างสรรค์จากหลายสาขาวิชา
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการในปี 2022 Creatorsgarten จัดอีเวนต์ต่างๆ มาแล้วกว่า 50 รายการ พวกเขายินดีที่จะเป็นพื้นที่ให้ ‘Creative Technologist’ มีโอกาสได้ใช้ทักษะอย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่เพียงใช้ความสามารถในการทำงานให้จบๆ ไป
จากเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน ไปจนถึงการแก้ปัญหาเมือง โปรเจกต์หลากหลายผุดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่ คนรักเทคโนโลยีกลุ่มนี้...หวังว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมจากจุดเล็กๆ ขยายวงกว้างไปสู่การรวบรวมคนที่มีศักยภาพมาช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
#สนุกกับการคิดสนุกกับการเรียนรู้

          ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน เด็กชายวัย 15 ปีคนหนึ่งตัดสินใจหันหลังให้กับการศึกษาในระบบ เพื่อทุ่มเทความ.....

‘แทนไท ประเสริฐกุล’ หนุ่มเนิร์ดอารมณ์ขัน เจ้าของงานเขียน โลกจิต, โลกนี้มันช่างยีสต์, โลกนี้มันช่างยุสต์ และ Mimic เลียนแ...
17/12/2024

‘แทนไท ประเสริฐกุล’ หนุ่มเนิร์ดอารมณ์ขัน เจ้าของงานเขียน โลกจิต, โลกนี้มันช่างยีสต์, โลกนี้มันช่างยุสต์ และ Mimic เลียนแบบทำไม เป็นเจ้าของช่อง WiTcast รวมถึงเป็นคนแรกๆ ที่เรียกตัวเองว่า ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’
นั่นเป็นเพราะว่าแทนไทปรารถนาจะใช้วิทยาศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม อย่างน้อย...ก็ใช้กับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยหลักฐาน และอธิบายด้วยหลักเหตุผล “เมื่อหาคำตอบมาได้ มันก็จบ ไม่ต้องเถียงต่อจนไปสู่ความขัดแย้งยืดเยื้อ มันทำให้ผู้คนที่มีสถานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจไม่ดี มีเสียงเบากว่าคนกลุ่มอื่น สามารถใช้เสียงดังขึ้นได้ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์”
บทสัมภาษณ์นี้ จะพาทุกคนไปรู้จักตัวตนและความคิดของแทนไท ในฐานะ ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ ผ่านงานเขียน พอดแคสต์ที่เขาจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนวิทยาศาสตร์และสร้างความเข้าใจต่อประเด็นต่างๆ รวมถึงทัศนะที่มีต่อระบบการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย
#สนุกกับการคิดสนุกกับการเรียนรู้ #แทนไทประเสริฐกุล #นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ #วิทยาศาสตร์

          เมื่อครั้งเยาว์วัย แทนไท ประเสริฐกุล หลงใหลและโลดโผนในโลกแห่งการอ่าน ละเลงจินตนาการผ่านหน้ากระดา...

การบันทึกความทรงจำผ่านเลนส์ นับเป็นหนึ่งในวิธีที่ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนรู้ได้ไม่ยาก นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกการใ...
16/12/2024

การบันทึกความทรงจำผ่านเลนส์ นับเป็นหนึ่งในวิธีที่ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนรู้ได้ไม่ยาก นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การถ่ายรูปยังเป็นสื่อกลางในการปลดปล่อยความรู้สึกนึกคิดและตัวตนของแต่ละคนอีกด้วย
ภายใต้เลนส์ที่จับภาพ คือตัวเราที่มองโลกในแบบที่อาจเหมือนหรือต่างจากคนอื่น และนั่นยังเสริมการตระหนักรู้แบบไม่ตัดสินว่าทุกคนอาจมองเห็นสิ่งเดียวกันในรูปแบบที่ต่างออกไป ทำให้เราเข้าใจทั้งตัวเองและคนอื่นมากขึ้น
‘100cameras’ องค์กรที่สอนเด็กๆ ทั่วโลกให้ถ่ายรูป และใช้กล้องเป็นเครื่องมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งต่อตัวเองและชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ รูปที่ออกมา อาจไม่ได้เลิศหรู สวยงาม แต่เป็นประจักษ์พยานชั้นดีที่บ่งบอกว่าพวกเขายังมีคุณค่า มีตัวตน และสิ่งที่พวกเขาเห็นและรู้สึก ณ ห้วงเวลานั้นๆ คืออะไร
#สนุกกับการคิดสนุกกับการเรียนรู้

          “หนึ่งภาพล้านความหมาย” คือวลีอันเลื่องชื่อที่แสดงให้เห็นถึงพลังของรูปหนึ่งใบที่ซ่อนและอัดแน่นไ....

หากถามเด็กๆ ว่า ภาพจำของ ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะ’ ในความคิดของพวกเขาเป็นอย่างไร แน่นอนว่าหลายๆ คน คงตอบว่าเป็นสถานที่จัดแสดงภาพ...
15/12/2024

หากถามเด็กๆ ว่า ภาพจำของ ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะ’ ในความคิดของพวกเขาเป็นอย่างไร แน่นอนว่าหลายๆ คน คงตอบว่าเป็นสถานที่จัดแสดงภาพวาดหรืองานศิลปะจำนวนมาก ที่บรรยากาศอบอวลไปด้วยความขลังและความเก่าแก่ แต่ดันมีป้าย ‘ห้ามจับ’ ติดไว้เรียงรายแทบทุกชิ้นงาน หนำซ้ำยังถูกออกแบบโดยผู้ใหญ่ เพื่อให้ผู้ใหญ่ชมกันเอง
‘น่าเบื่อ และไม่ค่อยสนุก’ จะกล่าวเช่นนั้นก็ได้
ด้วยความที่มีเป้าหมายจะเป็นแรงบันดาลใจ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ สิ่งแรกที่ทีมพัฒนาพิพิธภัณฑ์ลงมือทำ คือการหยิบกระดาษและดินสอเข้าไปคุยและนั่งออกแบบพิพิธภัณฑ์ร่วมกันกับเด็กๆ
“หลังจากที่โรงเรียนของเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ได้ทำงานใกล้ชิดกับทั้งภัณฑารักษ์ ศิลปิน นักออกแบบ และสถาปนิก ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับนักเรียนของเรา เพราะพวกเขามีโอกาสแสดงความคิดสร้างสรรค์” มารี แม็กซ์เวลล์ (Marie Maxwell) หัวหน้าครูฝ่ายบริหาร โรงเรียนประถมศึกษา Bangabandhu and Globe Primary Schools กล่าว
เวลา 3 ปีกับเงิน 13 ล้านปอนด์จึงถูกทุ่มลงพัฒนาพิพิธภัณฑ์ Young V&A ร่วมกับทีมออกแบบจาก AOC architecture เด็กๆ หลายช่วงวัยกว่า 20,000 คน มาร่วมแสดงความคิดเห็น ตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์ การจัดวางงานศิลปะ ไปจนถึงการออกแบบกิจกรรมต่างๆ เพื่อสรรค์สร้างจินตนาการให้ออกมาอยู่บนโลกแห่งความจริงให้ได้มากที่สุด โดยมีคุณครู ผู้ปกครอง ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กพิเศษ (SEND) และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เข้ามาให้คำแนะนำร่วมด้วย
“ออกแบบร่วมกับใคร ไม่ใช่ออกแบบเพื่อใคร” เฮเลน ชาร์แมน (Helen Charman) ผู้อำนวยการ Young V&A บอกเล่าแกนหลักในการพัฒนาและออกแบบพิพิธภัณฑ์
ยุคนี้สมัยนี้ พิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบโดยเด็กมีมากมายอยู่แล้ว Young V&A จึงต้องออกแบบให้เข้มข้นและเพื่อเด็กจริงๆ Young V&A แกะคอนเซปต์ ‘Play, Imagine and Design’ โดยแบ่งออกเป็น 3 โซนสำหรับเด็ก 3 ช่วงอายุ ระหว่าง 0 -14 ปี และที่สำคัญคือพวกเขาทุกคนเข้าฟรี
โซน Play: พื้นที่เสมือน mini-museum ที่อนุญาตให้เด็กๆ สามารถตะโกนสุดเสียงและออกวิ่งได้อย่างไม่ต้องกังวล ปูพื้นด้วยหญ้าและรายล้อมไปด้วยสวนสีเขียว เหมาะสำหรับเด็ก 0-5 ปี ที่ยังต้องหัดเดินและออกกำลังกายเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น บ่อทรายอินเทอร์แอคทีฟ (Interactive sandpit) หรือของเล่นโค้ดสี ( colour-coded design objects) ที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กได้ลองจับคู่สีระหว่างสิ่งของ
โซน Imagine: แกลเลอรีจำลองแบบโรงละครของอิตาลีในช่วงศตวรรษที่ 18 โซนนี้เหมาะสำหรับเด็ก 5-11 ปี มีโชว์แสดงละครสด เด็กๆ สามารถเล่านิทาน หรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงได้อย่างสนุกสนาน ได้ลองแต่งตัวและแต่งเรื่องที่ตัวเองอยากแสดง เช่น เล่นเป็นตัวละครจากเรื่อง ‘War Horse’ วรรณกรรมเยาวชนชื่อดังของอังกฤษ และโซนนี้ยังเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดของพิพิธภัณฑ์อีกด้วย
โซน Design: โซนสำหรับเด็กอายุ 11-14 ปี พื้นที่จุดประกายทางความคิดผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะเป็นการทดลองทำสิ่งประดิษฐ์หรือวาดภาพ ที่สำคัญคือโซนนี้ยังเต็มไปด้วยกรณีศึกษามากมายที่จะช่วยสนับสนุนจินตนาการของพวกเขาให้กว้างไกลยิ่งกว่าเดิม เช่น อุปกรณ์ภายในห้องครัวและของเล่นหลายยุคสมัย แสดงให้เห็นการออกแบบข้าวของในชีวิตประจำวัน หรือการจัดแสดงงานศิลปะจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น ภาพวาดของคีธ แฮร์ริง (Keith Haring) ศิลปินชาวอเมริกันที่อุทิศตนเพื่อสิทธิของ LGBTQ+
ด้วยความที่พิพิธภัณฑ์ V&A เป็นพิพิธภัณฑ์เก่าแก่ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1872 และเริ่มมีโซนสำหรับเด็กในปี 1974 ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งรวบรวมสิ่งประดิษฐ์และงานศิลปะสำหรับเด็กขนาดใหญ่ของสหราชอาณาจักร แต่ถ้าหากงานศิลปะและสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นไม่สามารถจับต้องได้ ต่อให้ใหญ่แค่ไหนคงไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดี
Young V&A จึงพลิกคอนเซปต์ใหม่ให้เป็น ‘พิพิธภัณฑ์ที่สนุกที่สุดในโลก’ ทิศทางในการคิดเวิร์กชอปหรือออกแบบนิทรรศการจึงเปลี่ยนไปให้สอดรับกับยุคสมัยมากขึ้น
ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ Young V&A จึงเลือกแสดงผลงานน้อยชิ้น และจัดแสดงแกลเลอรีแบบอินเทอร์แอคทีฟ เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีส่วนร่วมกับแต่ละกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแกลเลอรีภาพลวงตา สนามเด็กเล่นที่ส่งเสริมเรื่องประสาทสัมผัส (Sensory playscapes) ทางวิ่งหินอ่อนขนาดยักษ์ เวทีสร้างเรื่องเล่า (Story-telling stage) สตูดิโอแบบเปิดสำหรับไลฟ์เวิร์กชอป สตูดิโอถ่ายรูปด้วยตัวเอง และ พื้นที่สร้างอาณาจักรของเด็กๆ (Den-building area) อีกทั้งยังออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ให้จี๊ดจ๊าดโดนใจเด็กรุ่นใหม่อีกด้วย สังเกตได้จากคู่สีที่สดใสและเป็นสีที่ตัดกันในหลายพื้นที่ หรือการออกแบบบันไดเวียนที่ประดับด้วยลูกแก้วสะท้อนแสงซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากแกลเลอรีภาพลวงตา
ที่นี่มีกิจกรรมและเทศกาลมากมายตลอดทั้งปี เป็นพื้นที่อิสระเปิดรับวัยเยาว์ที่เป็นวัยแห่งการเล่น จินตนาการ และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ในการเป็นนักประดิษฐ์ตัวน้อยได้อย่างมีความสุข และสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน ไปจนถึงระดับนานาชาติ
“พิพิธภัณฑ์ Young V&A จะเป็นที่แรกของโลกที่ผู้ชมที่อายุน้อยที่สุด ครู และโรงเรียนทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศได้ออกแบบและทำงานร่วมกัน ที่แห่งนี้จะกลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศในการสนับสนุนวิธีการสอนและสร้างสรรค์งานศิลปะและการออกแบบสำหรับรุ่นต่อๆ ไป” ทริสแทรม ฮันท์ (Tristram Hunt) ผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์ V&A กล่าว
เดือนตุลาคม ปี 2023 ที่นี่ได้จัดนิทรรศการ Japan: Myths to Manga ซึ่งเป็นการจัดแสดงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นผ่านลายเส้นการ์ตูนตั้งแต่ยุค 1860 จนถึงยุคมังงะครองโลก ร่วมกับการนำเสนอผลงานจากสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่: https://www.vam.ac.uk/exhibitions/japan-myths-to-manga
รับชมคลิปบรรยากาศเพิ่มเติมได้ที่ : https://youtu.be/WfXLQaaTgOs?si=s8qsMwfrySWwJXHu
อ่านบทความได้ที่ https://www.thekommon.co/young-va-museum-designed-by-over-20000-children/
ที่มา:
https://www.vam.ac.uk/young?gclid=CjwKCAjw_aemBhBLEiwAT98FMoSER4ZxJStwhMC1jdjiGB4juB_NyOU6cDqHi21vlvwc10dzMQyAQBoCoTcQAvD_BwE
https://www.theguardian.com/artanddesign/2023/jul/02/young-v-and-a-bethnal-green-london-former-musuem-of-childhood-de-matos-ryan-aoc-architects
https://www.theartnewspaper.com/2023/06/30/the-kids-are-alright-newly-opened-young-va-aims-to-be-an-evolutionary-museum-for-children
https://www.euronews.com/culture/2023/07/04/the-young-va-answers-the-question-what-if-children-had-a-say-what-a-museum-should-be-like
https://www.dezeen.com/2023/06/29/young-va-childrens-museum/
เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์
ภาพ: © Luke Hayes courtesy of Victoria and Albert Museum, London / © David Parry courtesy of Victoria and Albert Museum, London
#สนุกกับการคิดสนุกกับการเรียนรู้

จากใจกลางเมืองน่านข้ามแม่น้ำไปยังอีกฝั่งหนึ่งก็ถึงเขตอำเภอภูเพียง มีร้านกาแฟกลิ่นอายญี่ปุ่นและลานกางเต็นท์เปิดอยู่ท่ามกล...
14/12/2024

จากใจกลางเมืองน่านข้ามแม่น้ำไปยังอีกฝั่งหนึ่งก็ถึงเขตอำเภอภูเพียง มีร้านกาแฟกลิ่นอายญี่ปุ่นและลานกางเต็นท์เปิดอยู่ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น ด้านหน้ามีสัญลักษณ์เป็นวงกลมสีฟ้า นอกจากเสิร์ฟกาแฟพร้อมขนมหอมกรุ่นแล้ว ที่นี่ยังตั้งใจเป็นพื้นที่แสดงออกด้านศิลปะและงานสร้างสรรค์อีกด้วย
‘ฮานิ ครีเอทีฟสเปซ’ (Hani.Creativespace) ริเริ่มโดย อะตอม – ณัฐชนน สมใจ ชายหนุ่มผู้หลงใหลศิลปะ เดิมทีเขาใฝ่ฝันอยากจะเปิดร้านงานไม้ จึงปักหลักอยู่ที่เมืองหลวงหาความรู้ต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เล่าเรียนมา ด้วยการเรียนผลิตกีตาร์แบบคัสตอม
“ผมใช้เวลากับตรงนั้นไปอีกสองปี เรียนตั้งแต่เก้าโมงถึงตีหนึ่งตีสอง แต่ก็ล้มเหลว ลูกค้าเขาไม่อยากซื้อ เพราะผมไม่มีโปรไฟล์ ผมกลับมานั่งเก้าอี้แล้วก็มองท้องฟ้า ‘เราทำอะไรอยู่วะเนี่ย’ ถ้าไปต่อจะเอาเงินที่ไหน งั้นกลับบ้านก่อนจะดีไหม”
“เพราะวงการกีตาร์มันเหมือนการเทรดของศิลปะ เราทำแค่ตัวสองตัวมันไม่ได้น่าเชื่อถือขนาดนั้น ต้องทำเป็นร้อยตัว บางคนยอมทำฟรีให้ศิลปินถือ เพื่อจะได้โปรไฟล์”
อะตอมจึงตัดสินใจพับโปรเจกต์ร้านงานไม้เก็บไว้ และเดินทางกลับบ้านเกิด เปิดร้านกาแฟแห่งนี้ในฐานะหมุดหมายแรกของเส้นทางสู่อนาคต “มันอาจจะเหมือนลงมือทำคนละเรื่อง แต่ผมแค่พักโปรเจกต์ไว้ หาเงินจากส่วนอื่นมาก่อน แล้วค่อยทำตามความฝัน”
แม้เป้าหมายจะเลื่อนไกลออกไปอีกหน่อย แต่ในเวลาว่างจากการทำร้านเขายังคงฝึกฝนออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น โต๊ะทำงานจากไม้ที่สามารถเก็บอุปกรณ์ได้ หมั่นเติมทักษะให้ตัวเองทีละนิด ทีละหน่อย โดยใช้ร้านกาแฟเป็นพื้นที่ทดลองไปในตัว
โลโก้ร้านที่แสนเรียบง่าย แต่ผ่านการคิดมาแล้วเป็นอย่างดี ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่อะตอมใช้วิชาความรู้ด้านการออกแบบที่เรียนมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน เขาเลือกใช้หยดน้ำมาเป็นแรงบันดาลใจ ดีไซน์โดยลดทอนความยืดยาวในการสื่อสาร เก็บเพียงใจความสำคัญไว้ กลายเป็น ‘ความธรรมดา’ ที่ทำให้สะดุดตา เพราะลูกค้าที่ขับรถผ่าน มองเห็นแล้วรู้ได้ทันทีว่าสัญลักษณ์ที่เห็นคือร้านอะไร
“ร้านที่มีโลโก้แค่จุดสีฟ้า ปกติเราจะไปเชียร์ให้ลูกค้าใช้โลโก้นี้ไม่ได้นะครับ เพราะเขาจะไม่เข้าใจ แต่พอมาเป็นร้านเราเองอ่ะ ทำได้”
ส่วนชื่อ ‘ฮานิ’ ในภาษาเหนือมีความหมายว่า ‘ฉันนี่แหละ’ โดยอะตอมอยากให้ฮานิเป็นมากกว่าที่ดื่มกาแฟ กินขนม แต่เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้เป็นแหล่งรวมตัวของนักสร้างสรรค์ งานออกแบบ และศิลปะ ผู้คนอาจเข้ามานั่งทำงาน ซ้อมเต้น หรือสร้างสรรค์สิ่งใดก็ได้ตามความต้องการ ซึ่งมองว่าแม้น่านจะเป็นเมืองที่รุ่มรวยด้วยศิลปะและงานสร้างสรรค์ แต่ยังมีจำนวนผู้ชมหรือผู้ซื้องานเหล่านั้นไม่มากพอ ร้านของเขาจึงอยากช่วยสร้างความเข้าใจว่า ศิลปะไม่ใช่เรื่องไกลตัว
“ผู้สร้างอาจจะพอมี แต่ในเชิงของผู้เสพงานศิลปะ ไม่ได้เพียงพอขนาดนั้นครับ”
ที่ผ่านมา อะตอมเคยใช้ฮานิเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมคัปปิ้งกาแฟ (Coffee Cupping) ร่วมกับสมาคมกาแฟพิเศษ (SCA: Specialty Coffee Association) นอกจากนี้ยังมีการจัดเวิร์กชอปตัดกระดาษร่วมกับ Triple.PProject อีกด้วย
นอกจากอีเวนต์ต่างๆ แล้ว อะตอมคิดว่า ควรจะค่อยๆ ตีวงล้อมให้ชาวน่านเริ่มคุ้นชินกับงานศิลปะผ่านกิจกรรมที่สามารถทำได้ในช่วงเวลาพักผ่อน ครั้งหนึ่งเขาเคยนำสมุดวาดภาพไปวางไว้ให้ลูกค้าวาด แต่มีผู้เข้าร่วมน้อย เขาจึงทำการบ้านต่อไปว่า จะทำอย่างไรให้ทุกคนรู้สึกกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
“สำหรับผมถ้าทุกคนกล้าวาด กล้าเขียน มันจะเป็นการปลูกฝังว่า ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต”
จากเรื่องราวทั้งหมดแม้ว่า อะตอม จะยังดูเป็นนักล่าฝันหน้าใหม่ แต่ความน่าสนใจคือเขาวางแผนการดำเนินชีวิตที่ชัดเจน และน่าติดตาม ในอนาคตอะตอมจะชักชวนเพื่อนๆ ที่เรียนศิลปะมาร่วมจัดนิทรรศการงานสร้างสรรค์ด้วยกันที่นี่ เขามีความหวังว่าผู้คนจะเห็นคุณค่าของมันมากขึ้น ในช่วงเวลานั้น เขาคงสั่งสมประสบการณ์ไว้มากพอ อาจเป็นจังหวะเหมาะสำหรับการเปิดชอปไม้และสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ใหม่ของตัวเอง
อ่านบทความได้ที่ https://www.thekommon.co/hani-creativespace/
เรื่อง: เน รัชอำนวยวงษ์
#สนุกกับการคิดสนุกกับการเรียนรู้ #พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ #ณัฐชนนสมใจ

ที่อยู่

Thailand Knowledge Park Office Of Knowledge Management And Development (Public Organization) 999/9, 17th Floor The Offices At Central World Building Rama I Road Pathumwan
Bangkok
10330

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ The Kommonผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

วิดีโอทั้งหมด

แชร์