20/12/2024
ส่วนตัวมองว่า ยังไงก็ยังควรต้องมีการประหารชีวิตอยู่ครับ
ผู้ใดที่พรากชีวิตผู้อื่นโดยเจตนาอย่างเลือดเย็น ก็ไม่สมควรที่จะมีชีวิตต่อไปครับ
อาชญากรบางคนก็ไม่ได้มีความสำนึก หรือ บางครั้งผู้เสียหายก็อาจต้องอยู่อย่างหวาดหวั่น
ต่อให้มีโทษจำคุกตลอดชีพ ก็ใช่ว่าเขาจะจำตลอดชีวิต มีลดโทษ มีเพิ่มชั้น สุดท้ายก็มีโอกาสออก ก็เพิ่มโอกาสให้ผู้เสียหายถูกแก้แค้นได้อีก (บางคนฉลาดมากพอก็แกล้งทำดีเพื่อได้รับผลประโยชน์ได้)
ถ้าจะบอกว่า “ไม่ให้โอกาสเขาเหรอ ?” งั้นผมถามกลับว่า แล้วคนที่ตายเขาเคยได้รับโอกาสมีชีวิตบ้างไหม ?
แม้ว่าเหตุผลในการดีเบตจากฝั่งสิทธิมนุษยชนจะมองว่า “กลัวจับแพะมาประหาร”
แต่ตรรกะที่หยิบยกมามันไม่ได้ถูกต้อง เพราะ เรื่องแพะคือเรื่องความบกพร่องในกระบวนพิจารณาที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นไม่ว่าคดีนั้นจะมีอัตราโทษแบบใด
BRIEF: ครม. ตีกลับข้อเสนอ ‘ยุติโทษประหารชีวิต’ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เพราะเชื่อว่า เป็นสิ่งที่ยังจำเป็น
หลังจากที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ตามแนวทางนานาชาติ ล่าสุด (17 ธันวาคม 2567) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตีกลับข้อเสนอ พร้อมยืนยันว่าจำเป็นต้องมีโทษประหารอยู่ เพราะความผิดร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อจิตใจประชาชน
นับเป็นอีกความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ ‘โทษประหารชีวิต’ ในประเทศไทย โดยเมื่อวานนี้ คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีที่ กสม. นำเสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิต ต่อ ครม. เนื่องจาก กสม.เห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นโทษที่สูง และหลายประเทศงดเว้นไปแล้ว จึงอยากให้ยกเลิก
ที่ผ่านมา ครม.รับทราบ และมีความเห็นเพิ่มเติมจากศาลยุติธรรมว่า โทษบางชนิดและความผิดบางชนิด ยังจำเป็นต้องมีโทษประหารอยู่ ซึ่งศาลยุติธรรมยังระบุว่า โทษที่มีความผิดร้ายแรงนั้น ส่งผลกระทบต่อจิตใจประชาชน
ด้านของ กสม.เห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นโทษที่สูง และหลายประเทศงดเว้นไปแล้ว จึงอยากให้ยกเลิก ทั้งนี้มีการประชุมและติดตามสถานการณ์โทษประหารชีวิต ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ย้อนกลับไปเมื่อ 25 กันยายนที่ผ่านมา สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุถึงข้อเสนอแนะ ‘ให้ยุติโทษประหารชีวิต’ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในการประชุมระหว่าง กสม.กับเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต พร้อมด้วยหน่วยงานรัฐฯ ที่เกี่ยวข้อง โดย กสม.มีข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้
1 ไม่กำหนดโทษประหารชีวิตในกฎหมายที่ตราขึ้นใหม่
2 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว ให้ศาลมีทางเลือกการลงโทษอื่นแทนการประหารชีวิต
3 ทบทวนกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ที่สุด หรือ Most serious crime และ
4 ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยไม่มีการประหารชีวิตเกิน 10 ปี และยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายทั้งหมด
สำหรับสถานการณ์โทษประหารชีวิตในประเทศต่างๆ จากการสำรวจของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ในปี 2565 พบว่า 55 ประเทศ ยังคงมีโทษประหารชีวิต โดย 9 ประเทศในจำนวนนี้ ใช้โทษประหารชีวิต เฉพาะกับอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด เช่น การสังหารหมู่หลายครั้ง หรืออาชญากรรมสงคราม และ 23 ประเทศมีโทษประหารชีวิต แต่ไม่ได้ใช้มาเป็นเวลา 10 ปี
อีกทั้งพบว่า จีนเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตสูงที่สุด ซึ่งในปี 2566 มีการประหารชีวิตทั้งหมด 1,153 ครั้ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจีนไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิต จึงไม่สามารถระบุตัวเลขที่เชื่อถือได้ได้ และจำนวนที่ Amnesty International พบนั้น เป็นการรวบรวมจากสถิติอย่างเป็นทางการ รายงานของสื่อ และข้อมูลที่ส่งต่อจากคนที่ถูกตัดสินประหารชีวิต และครอบครัวของพวกเขา
ท่ามกลางข้อถกเถียงหลากหลาย เกี่ยวกับโทษประหารชีวิต ซึ่งฝ่ายหนึ่งเห็นว่ายังจำเป็นอยู่ ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่าโทษนี้ ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ต่อจากนี้สถานการณ์ดังกล่าวในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามต่อไป
อ้างอิงจาก
https://prachatai.com/journal/2024/12/111749
https://www.nhrc.or.th/index.php/th/NHRC-News-and-Important-Events/13637
https://www.bbc.com/news/world-45835584
https://www.amnesty.org.uk/resources/death-penalty-report-2023
#ครม #โทษประหารชีวิต #สิทธิมนุษยชน