
19/02/2025
สายมู..รู้ยัง ความเชื่อเรื่อง “ไข่” ในพิธีกรรม
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมต้องใช้ “ไข่” ในการแก้บน โดยเฉพาะความเชื่อของคนไทย เพื่อเซ่นสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามที่ตนได้บนบานไว้
อภินิหาร “ไข่ต้ม” แก้บน จึงเป็นพิธีกรรมยอดฮิตของบรรดาสานุศิษย์ที่สมปรารถนาหลังการดลบันดาลกับสิ่งศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็น หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน สมุทรปราการ
หรือ หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร ฉะเชิงเทรา ที่เอาไข่ต้มจำนวนมากมาแก้บนจนเกิดธุรกิจไข่ต้มแก้บนสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบวัดเป็นอย่างมาก
ที่อาจพิเศษกว่าหน่อยก็ พระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม ที่ทาสีแดงบนไข่ต้ม ซึ่งตรงนี้ได้สอดคล้องไปกับความเชื่อของชาวจีนที่ว่า “ไข่สีแดง” เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นอันเป็นมงคลเต็มไปด้วยความโชคดีและอบอวลความสุข
ตามประเพณีการเกิดของชาวจีน หากบ้านไหนมีเด็กแรกคลอด คนเป็นพ่อเป็นแม่จะต้มไข่ย้อมสีแดงนำมาแจกให้รับประทานกันในครอบครัวและญาติมิตร เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยถ้าได้ลูกชายจะต้มไข่เป็นจำนวนเลขคู่และแต้มจุดสีดำเอาไว้ด้านบน ส่วนบ้านไหนได้ลูกผู้หญิงก็จะต้มไข่เป็นจำนวนเลขคี่ โดยไม่มีการแต้มจุดสีดำ
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่ออีกว่า การรับประทานไข่ต้มย้อมสีแดง เมื่อถึงวันครบรอบวันเกิด จะส่งผลให้เจ้าของวันเกิดมีอายุมั่นขวัญยืนสุขภาพแข็งแรง
ด้านพิธี “บายศรีสู่ขวัญ” ของประเทศไทย ประเพณีสำคัญของชาวอีสาน ที่จัดขึ้นในโอกาสมงคลหรือเพื่อเรียกขวัญให้กลับคืนมา หนึ่งในเครื่องประกอบพิธีที่ขาดไม่ได้ก็คือ “ไข่ต้ม”
อันเป็นสัญลักษณ์แทน “ขวัญ” หรือจิตวิญญาณของมนุษย์ ซึ่งการที่ไข่เปรียบเสมือนขวัญ เพราะถูกห่อหุ้มไว้ภายใน โดยมีเปลือกไข่แทนร่างกายที่คอยปกป้อง
เมื่อพิธีเสร็จสิ้น หมอขวัญจะผ่าไข่ต้มออกเป็นสองซีกเพื่อตรวจดูสภาพไข่ หากไข่ขาวไข่แดงเต็มฟองและเรียบเสมอ เชื่อกันว่า ผู้รับขวัญจะมีชีวิตร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัย และจะกินไข่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการรับขวัญเข้าสู่ร่าง แต่หากไข่ไม่สมบูรณ์ หมอขวัญจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อเสริมกำลังใจ
ไข่ในพิธีบายศรี จึงเป็นตัวแทนแห่งขวัญ ความเป็นสิริมงคล และสายใยแห่งความเชื่อที่ถักทออยู่ในวัฒนธรรมอีสานมาอย่างยาวนาน
สำหรับทางตะวันตก ไข่ถือเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดและชีวิตใหม่ โดยเฉพาะในเทศกาล “อีสเตอร์” ซึ่งเฉลิมฉลองการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู เดิมที ไข่ไก่ ไข่เป็ด หรือไข่นกกะทา จะถูกแต้มสีแดงแทนเลือดของพระองค์ ก่อนพัฒนามาเป็นการตกแต่งไข่ด้วยสีสันและลวดลายต่างๆ ที่สวยงาม
แม้ปัจจุบันไข่อีสเตอร์จะมีหลายสี แต่บางประเทศในยุโรปยังคงรักษาธรรมเนียม “ย้อมไข่เป็นสีแดง” ตามความเชื่อดั้งเดิม สะท้อนถึงสายสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน
กลับมาที่บ้านเรา การแก้บนด้วยไข่ ในอีกอานิสงส์หนึ่งก็คือ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมแล้ว ไข่ที่นำมาบวงสรวงเซ่นไหว้แก้บนนั้น ก็จะกลายเป็นอาหารสำหรับชาวบ้านและครอบครัวของเขา รวมไปถึงการส่งมอบไปยังสถาบันที่ดูแลผู้ป่วยโรคไต ซึ่งจำเป็นต้องใช้ “ไข่ขาว” มาทำอาหารในปริมาณมาก
เพราะไข่ขาวเป็นโปรตีนที่ดี มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน มีไขมันต่ำ และยังมีปริมาณสารอาหารต่าง ๆ ที่คนป่วยโรคไตจำเป็นต้องควบคุมในปริมาณที่ต่ำ เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ เป็นที่มาที่ไปของความเชื่อในศรัทธาที่เกี่ยวกับ “ไข่” และเหตุผลที่ทำไม “ไข่” จึงเป็นของแก้บนยอดฮิตนั่นเอง
#ไข่ #ไข่ต้ม #ไข่ต้มแก้บน #แก้บน #สายมู #ไข่สีแดง #ไข่อีสเตอร์ #พิธีกรรม #สิ่งศักดิ์สิทธิ์ #เจริญกรุง