วัดปริวาสราชสงคราม แต่เดิมนั้นอยู่ในการปกครองของตำบลบางโพงพาง อำเภอบ้านทวาย จังหวัดพระนคร เขื่อนขันธ์ เก่าก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นในเขตการปกครองปัจจุบัน แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร วัดปริวาสราชสงคราม ในปัจจุบัน(พ.ศ. 2548) มีพื้นที่ทั้งสิ้น 11 ไร่ 3 งาน 75 ตารางวา และมีที่ธรณีสงฆ์อีก 2 แปลง แปลงหนึ่งมีพื้นที่ 5 ไร่ 75 ตารางวา ส่วนอีกแปลงหนึ่งมีพื้นที่ 2 ไร่ 2งาน วัดปริวาสฯนั้น ตั้งอยู่ริม
แม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งพระนครทิศเหนือ จรดถนนพระรามที่ 3 ทิศใต้ จรดแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออก จรดที่ดินเอกชน คือ จตุจักรพระราม 3 ทิศตะวันตก จรดคลองปริวาส ที่ดินทางด้านทิศตะวันออกแบ่งเป็นเขตกรรมสิทธิ์โรงเรียนวัดปริวาส ด้วยเนื้อที่จำนวน 2 ไร่ 59 ตารางวา ดังนั้นด้านทิศตะวันออกจึงติดโรงเรียน วัดปริวาส สังกัดกรุงเทพมหานคร
จากคำบอกเล่าของผู้ที่อาศัยอยู่ที่ตำบลบางโพงพางมานาน ที่มีข้อมูลของวัดตรงกันว่า วัดปริวาส เดิมนั้นน่าจะชื่อว่า วัดปริวาส ซึ่งแต่ก่อนนั้นอาจจะเป็นเพียงสำนักสงฆ์หรือวัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนและต้นไม้มากมาย ซึ่งเศรษฐีสมัยก่อนที่มีค่านิยมในการสร้างวัดไว้ โดยคาดว่าสร้างราวปลายกรุงศรีอยุธยถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งวัดหรือสำนักสงฆ์นี้เมื่อผู้สร้างได้เสียชีวิตลง หรือมีการโยกย้ายถิ่นฐาน จึงไม่มีผู้ที่ทำนุบำรุงต่อไป จึงทำให้วัดตกอยู่ในสภาพทรุดโทรมลงตามกาลเวลาต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2-3 ได้มีหลักฐานจากวัดข้างเคียงในละแวกเดียวกันว่า กรมหมื่นศักดิ์พลเสนา ได้สร้างวัดขึ้นที่ริมคลองลัดหลวงฝั่งทิศตะวันตก โดยมีพระยาเพชรพิชัย (เกษ) ซึ่งจากหลักฐานปรากฏว่า ต้นตระกูลท่านเป็นนายช่างที่สืบทอดต่อกันมา เป็นรุ่นต่อรุ่นและยังเป็นพี่เลี้ยงของพระองค์ท่าน โดยเป็นถึงแม่กองงานที่ได้รับมอบหมาย พระยาเพชรพิชัยนั้นเป็นผู้มีความรู้ความสามารถโดยเป็นแม่งานในการสร้างพระนครเขื่อนขันธ์(พระประแดง)และวัดขึ้นที่นั้นจนเป็นที่รู้จัก และวัดนั้นเมื่อสร้างเสร็จได้รับพระราชทานามว่า "วัดไพชยนต์พลเสพย์"(วังหน้า)
พระยาเพชรพิชัยเป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นอย่างมาก อยากสร้างวัดไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์จึงได้ทูลขออนุญาตสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง อยู่ตรงข้าม วัดไพชยนต์ โดยได้รับพระราชทาน ชื่อว่า "วัดโปรดเกศเชษฐาราม"(วังหลวง) โดยวัดทั้งสองนี้เป็นวัดหลวง ในการสร้างวัดทั้งสองวัดนี้ มีนายกองที่สำคัญอีกท่านหนึ่ง คือ พระยาราชสงคราม (ทัต) เป็นอีกท่านหนึ่งที่มีความสามารถในทางการก่อสร้างและออกแบบวัดวัง และมีความศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างมากอีกด้วย เมื่อท่านทั้งสอง (พระยาเพชรพิชัย (เกษ) และพระยาราชสงคราม(ทัต) ได้ทำงานร่วมกันสร้าง วัดไพชยนต์พลเสพย์ และวัดโปรดเกศเชณฐราม ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเห็นว่ามีวัดอีกวัดหนึ่งที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับวัดโปรดเกศเชษฐาราม ซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก จึงได้มาทำการบูรณะใหม่จนสวยงามแล้วตั้งชื่อว่า วัดปริวาสราชสงคราม ตามบรรดาศักดิ์ของท่านลงท้ายชื่อวัดนี้ด้วย และจากบันทึกถ้อยคำบอกเล่าของปู่เสงี่ยม เถื่อนอิ่ม ที่มีอายุ 91 ปี (พ.ศ. 2548) โดยเล่าว่าตนเองเคยบวชที่วัดปริวาสนี้เมื่อ พ.ศ. 2478 ได้เล่าให้ฟังว่า ท่านเห็นป้ายวัดปริวาสราชสงครามติดอยู่ที่ด้านหน้าของวัดติดอยู่ที่ศาลาริมน้ำอยู่แล้ว ซึ่งสมัยก่อนวัดหันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากผู้คนในสมัยก่อนนั้นจะใช้การติดต่อทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่มีถนนพระราม 3 เหมือนในปัจจุบัน ตั้งแต่วัดได้มีชื่อเต็มๆ ว่า วัดปริวาสราชสงคราม ผู้คนที่มาเที่ยวงานประจำปีแต่ละครั้ง จะมีแต่เรื่องทะเลาะวิวาทเป็นประจำ หลวงพ่อวงษ์ จึงตัดชื่อท้าย "ราชสงคราม" ออกเหลือแต่คำว่า "วัดปริวาส" ซึ่งเป็นเรื่องแปลก หลังจากที่ตัดคำว่า ราชสงครามออกแล้ว การมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันลดลงจนแทบไม่มี ปัจจุบันป้ายวัดปริวาสฯ เดิมได้รับการบูรณะและติดอยู่ริมแม่น้ำ และมีป้ายชื่อวัดปริวาสอีกป้ายติดอยู่ที่ซุ้มวัด ด้านถนนพระราม 3 ซอย 30 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพ
ก่อนที่พระยาราชสงคราม จะมาบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานต่างๆ ของวัดปริวาสฯ นั้นจากคำบอกเล่าและหลักฐานพอจะสันนิษฐานว่า วิหารเดิมเก่าของวัดน่าจะเป็นการสร้างพระอุโบสถมาก่อนเนื่องจากในการสร้างพระอุโบสถในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น การสร้างพระอุโบสถจะต้องมีบ่อน้ำไว้ทางทิศตะวันออก ของโบสถ์ซึ่งสมัยก่อนมักจะใช้เป็นบ่อน้ำมนต์และพระประธานในวิหารก็เป็นศิลปะแบบเดียวกัน และการบูรณะของพระยาราชสงครามนั้นไม่น่าจะเป็นการนำวัสดุที่เหลือจากการสร้างวัดโปรดเกศฯมา๋ซ่อมแซม เนื่องด้วยการสร้างพระอุโบสถนั้นจะมีการนำกระเบื้องเคลือบมาประดับหน้าบันพระอุโบสถตามศิลปะสมัยนิยมในรัชกาลที่ 3 แต่ไม่มากนัก จะมีบันไดสี่ด้านและแต่ละด้านจะมีสิงโตจีนด้านละหนึ่งคู่ทั้งหมดสี่คู่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงหนึ่งคู่ ตั้งอยู่ที่กุฏิพระครูพิศาลพัฒนพิธาน(เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน)และมีแผ่นหินอับเฉาเรือ สมัยโบราณขนาดประมาณหนึ่งเมตรและสองเมตรฝังอยู่บริเวณลานวัดจำนวนมากและจากหลักฐานข้อมูลบรรณานุกรม ของหอสมุดแห่งชาติ ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ช่วงที่พระองค์ขึ้นครองราชย์นั้น พระพุทธศาสนามีความรุ่งเรืองมาก เนื่องจากพระองค์ท่านมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากพระองค์ท่านได้เก็บรวบรวมอัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดต่างๆ ที่ถูกเผาสมัยสงครามเป็นจำนวนมากสันนิษฐานว่าพระองค์ท่านได้นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานตามวัดที่ท่านโปรดสร้างขึ้น หรือวัดที่นายกองได้บรูณะซ่อมแซมไว้ เนื่องจากพระประธานในพระอุโบสถของวัดปริวาสเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย ซึ่งไม่ปรากฏในวัดต่างๆ ในเขตยานนาวา และเมื่อพระองค์ได้ครองราชย์ถึงปี พ.ศ. 2393 พระองค์ท่านทรงพระประชวรเป็นอย่างมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าบุตรี เชิญออกมาให้พระยาราชสุภาวดี เมื่อวันศุกร์ เดือน 3 แรม 5 ค่ำ เวลาเข้า 4 โมงเศษ (ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2393)
จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอรณพเบิกพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังมอบให้ไวยาวัจกร กัปปิยการกสำเร็จ จตุปัจจัยถวายพระภิาษุและสามเณรในพระอารามหลวงในกรุงและนอกกรุงและหัวเมือง ซึ่งขึ้นแก่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในการทำสังฆทานบารมีนี้ มีวัดที่ได้เข้ารับสังฆทาน ในวันพุธที่ 3 แรม 10 ค่ำตรงกับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2393 พร้อมกันคือ วัดโปรดเกษ 24 รูป วัดไพรชน 34 รูป (วัดไพชยนต์) วัดปริวาส 9 รูป วัดรวก 10 รูป วัดจำปา 12 รูป วัดภคนีนาฎ 21 รูป วัดคหบดี 46 รูป โดยมีหมื่นสรรเพชรเป็นผู้แจกพระสงฆ์ 156 รูป เป็นเงิน 39 ชั่ง (ข้อมูลประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 4 กรุงเทพฯ กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร 2542, จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต หน้า 147)
ซึ่งตามแผนภูมิประวัติของสกุุลนี้ สืบตั้งแต่พระยาเพ็ชรพิไชย หงส์ ในรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ถึงสามรุ่นนี้ เป็นบรรพบุรุษต้นสกุล "หงสกุล" ล้วนเคยรับราชการมีตำแหน่งเป็นนายงานทำกรก่อสร้างต่างๆ เป็นต้นว่า สร้างพระมหาปราสาทราชมณเฑียร สร้างพระอาราม และป้อมปราการต่างๆ ตลอดจนการปลูกสร้างพระเมรุมาทุกชั้น ได้ฝึกหัดวิชา ช่างก่อสร้างสืบต่อลงมาเป็นนิติในสกุล
มาในบี พ.ศ. 2523 หลวงพ่อวงษ์ อนุญาตให้ พระสมชาย (พระครูพิศาลพัฒนพิธาน) เป็นผู้บูรณะซ่อมแซมเจดีย์ ในปีนั้น ซึ่งการบูรณะครั้งนั้นได้พบแผ่นจารึก ชื่อเป็นช่วงคอระฆังของเจดีย์หน้าวิหารสลักชื่อ "ยายเมือง" คาดว่ายายเมืองเป็นผู้สร้างเจดีย์องค์นี้ ส่วนเจดีย์องค์หน้าพระอุโบสถ ไม่ปรากฏผู้สร้างแต่เป็นศิลปกรรมสมัยเดียวกัน คือ เป็นแบบย่อมุมไม้ 12 เจดีย์หน้าวิหารแต่เดิมนั้นเป็นโพรงมี ทางเดินไปด้านในได้ แต่ในปัจจุบันได้บรูณะและโบกปูนปิดทับไว้