01/02/2025
📌ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชวนเกษตรกรร่วม “แปลงนี้ไม่เผา” ลดฝุ่น PM2.5
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมนาแปลงนี้ไม่เผาและลงแปลงนาเยี่ยมชมเกษตรกรใช้รถอัดฟางข้าว ณ แปลงนาของนายประเสริฐ ภู่เงิน แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า การเกิดฝุ่นPM 2.5 ในกรุงเทพฯ สาเหตุหลักมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ฝุ่นจากการจราจร อากาศปิดที่ทำให้ฝุ่นสะสม และการเผาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยเฉพาะในเขตหนองจอกที่แม้จะมีการจราจรเบาบาง แต่ยังคงมีค่าฝุ่นสูงใกล้เคียงกับพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เนื่องจากสภาพอากาศไม่ถ่ายเทและยังคงมีการเผาในภาคการเกษตร
จากมาตรการรณรงค์ลดการเผาตอซังและฟางข้าวอย่างต่อเนื่องของกทม. ทำให้ อัตราการเผาลดลงถึง 9 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเพื่อให้การแก้ปัญหาฝุ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น กทม.เตรียมเสนอรัฐบาลให้ประกาศพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเขตควบคุมมลพิษซึ่งจะทำให้ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจมากขึ้นในการออกมาตรการควบคุมมลพิษ
ทั้งนี้ ผลการดำเนินการรณรงค์ไม่เผาตอซังและฟางข้าวของกทม. พบว่า กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ทำนา รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 80,000 ไร่ เกษตรกรทำนา 4,000 ครัวเรือนกระจายอยู่ในเขตหนองจอก คลองสามวา ลาดกระบัง มีนบุรี สายไหม บางเขน สะพานสูง ประเวศ หนองแขม และทวีวัฒนา ซึ่งปี 2565 มีพื้นที่เผา 5,625 ไร่ (พบจุด Hot spot จำนวน 9 จุด เขตหนองจอก คลองสามวา และลาดกระบัง) จากข้อมูลนี้ จึงได้รณรงค์ส่งเสริมไม่ให้เผาอย่างต่อเนื่อง ปี 2566 มีพื้นที่เผา 1,582 ไร่ (พบจุด Hot spot จำนวน 18 จุด ที่เขตหนองจอก ลาดกระบัง และบางเขน) และรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรไม่เผาตอซังข้าว อย่างต่อเนื่อง พบว่า ปี 2567 มีพื้นที่เผา 625 ไร่ (พบจุด Hot spot จำนวน 1 จุด ที่เขตหนองจอก)
มาตรการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ทำให้พื้นที่เผาลดลง และมีเป้าหมายการเผา เป็น 0 ภายในปี 2569 คือ
1.ส่งเสริม จัดหา สนับสนุน การใช้รถอัดฟางให้แก่เกษตรกร เพื่อลดการเผาตอซัง/ฟางก้อนที่อัดได้ สามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ หรือนำฟางไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ฯลฯ
2.ส่งเสริมใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว โดยได้รับการสนับสนุนหัวเชื้อจุลินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน (ฟรี)
3.การเฝ้าระวัง (Monitor) ติดตามจุดความร้อน (Hot spot) จาก NASA Firm information for Resource Management System ในพื้นที่เกษตรร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม แบบ Real time หากพบว่ามีจุด Hot spot สำนักพัฒนาสังคมจะแจ้งสำนักงานเขตติดตามระงับเหตุทันทีและรายงานผล 4. การลงพื้นที่ให้ความรู้ อบรมการทำปุ๋ยหมัก/น้ำหมักจุลินทรีย์ การใช้ประโยชน์จากฟางข้าว การเพาะเห็ดฟาง ฯลฯ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
ข้าวนาแปลงนี้ไม่เผา
จากข้อมูลของส่วนส่งเสริมเกษตรกรรม สำนักงานการส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีเกษตรกรทำนา (เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2568) จำนวน 3,265 ครัวเรือน พื้นที่นา 75,978.67 ไร่ อยู่ในพื้นที่เขตหนองจอก, คลองสามวา, ลาดกระบัง, สายไหม, บางเขน เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าว กข 79 ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมแม่โจ้ข้าวพันธุ์ กข 41 กข 43 กข 49 กข 83 กข 85 ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นต้น
ปี 2567 กรุงเทพมหานครมีนโยบายจัดทำมาตรฐานสินค้าการเกษตร (Bangkok G) เป็นของกรุงเทพมหานครเอง เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร (Value added) ให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้นและผู้บริโภคมีความมั่นใจและเป็นที่ยอมรับของตลาด โดยปี 2567 มีสินค้าเกษตรได้รับใบรับรองมาตรฐานฯ แล้ว จำนวน 164 รายการ (พืช ผัก ผลไม้ ดอกไม้กินได้) ปี 2568 และจะมีมาตรฐานอีกประมาณกว่า 128 รายการ ซึ่งอยู่ในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจแปลงฯ ตามข้อกำหนดมาตรฐาน Bangkok G ที่ได้กำหนดไว้และจะอนุมัติให้ใบรับรองโดยเร็วต่อไป
ปัจจุบัน มีเกษตรกรเขตหนองจอก จำนวน 30 ราย ได้ยื่นเอกสารขอรับมาตรฐานสินค้าเกษตรกรุงเทพมหานคร (Bangkok G) แล้ว ซึ่งมีแผนจะเก็บเกี่ยว ในช่วงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2568 โดยสำนักพัฒนาสังคมได้จัดทำแผนการลงตรวจแปลงฯ ประสานคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจแปลงฯ ในช่วงวันเก็บเกี่ยว ผลผลิตดังกล่าว และกรุงเทพมหานคร จะออกใบรับรอง “มาตรฐานสินค้าเกษตรกรุงเทพมหานคร (Bangkok G)” และ “นาแปลงนี้ไม่เผา”ต่อไป คาดว่า จะได้ผลผลิต 180 ตัน (180,000 กิโลกรัม) เพื่อบรรจุถุงจำหน่ายต่อไป ทั้งนี้ มาตรฐาน Bangkok G ข้าว ได้มีการ เพิ่มข้อกำหนด ไว้ในการตรวจแปลงข้าว ที่ระบุในเรื่องของ การเตรียมแปลง ต้องไม่มีการเผาตอซังข้าว และ เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้
ผลที่เกษตรกรทุกรายที่ขอมาตรฐาน Bangkok G นาแปลงนี้ไม่เผาจะได้รับ
1. ใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรกรุงเทพมหานคร (Bangkok G) มีอายุ 2 ปี
2. ถุงบรรจุสุญญากาศ ติดตราสัญลักษณ์Bangkok G มีระบุข้อมูลรหัสแปลง แหล่งปลูก เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ด้วย
3. สติกเกอร์รับรองแหล่งผลิต “แปลงนี้ไม่เผา”
4. มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน เกษตรกรได้รับการสนับสนุนช่องทางการตลาด นำผลผลิตไปขายที่ตลาด Farmer market ที่สำนักพัฒนาสังคมดำเนินการ 7 แห่ง และที่สำนักงานเขต 50 เขต
5. สามารถขายข้าวสารบรรจุถุงได้ในราคาที่สูงขึ้น เพราะมีมาตรฐานปลอดภัย (Bangkok G) และได้รับการันตีว่ามาจากแปลงนาที่ไม่เผา
#ชัชชาติ #เกษตรกร #แปลงนี้ไม่เผา #ฝุ่นPM25