สำนักพิมพ์มิรอาต

สำนักพิมพ์มิรอาต ให้การอ่านมีความหมายต่อชีวิตคุณ

บทเรียนจากสูเราะฮ์อัลอันฟาลอายะฮ์ที่ 24"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงตอบรับอัลลอฮ์และเราะสูลเถิด เมื่อเขาได้เชิญชวนพวกเจ...
09/03/2025

บทเรียนจากสูเราะฮ์อัลอันฟาลอายะฮ์ที่ 24
"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงตอบรับอัลลอฮ์และเราะสูลเถิด เมื่อเขาได้เชิญชวนพวกเจ้าสู่สิ่งที่ทำให้พวกเจ้ามีชีวิตชีวาขึ้นและพึงรู้เถิดว่าแท้จริงอัลลอฮ์นั้นจะทรงกั้นระหว่างบุคคลกับหัวใจของเขา และแท้จริงยังพระองค์นั้นพวกเจ้าจะถูกนำกลับไปชุมนุม"(อัลอันฟาล 8:24)
อายะฮ์นี้ประมวลไว้หลายประเด็นด้วยกัน
ส่วนแรกของโองการอัลลอฮ์ตรัสว่า
"บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงตอบรับอัลลอฮ์และเราะสูลเถิด เมื่อเขาได้เชิญชวนพวกเจ้าสู่สิ่งที่ทำให้พวกเจ้ามีชีวิตชีวาขึ้น"
การใช้ชีวิตบนดุนยานี้จะไม่มีประโยชน์อันใดเลยหากไม่ได้ตอบรับต่ออัลลอฮ์และเราะสูล ชีวิตที่ดีและยังประโยชน์คือชีวิตของผู้ขานรับต่ออัลลอฮ์และเราะสูลจากทั้งภายในและภายนอก (ด้วยหัวใจและร่างกาย) แม้สิ้นชีวิตไปแล้วคนเหล่านี้ก็ยังเป็นคนที่มีชีวิต ขณะที่ผู้ไม่ตอบรับอัลลอฮ์และเราะสูลเป็นเหมือนคนตายแม้ร่างกายยังเคลื่อนไหว
ดังนั้น มนุษย์ที่มีชีวิตสมบูรณ์ที่สุด คือคนที่ใช้ชีวิตของเขาตอบรับการเชิญชวนของเราะสูลได้อย่างสมบูรณ์ ทุกสิ่งที่เราะสูลนำมาล้วนเป็นส่วนประกอบของชีวิตทั้งสิ้น คนใดละเลยสิ่งหนึ่งที่เราะสูลนำมา เท่ากับเขาได้ทำให้ส่วนประกอบของชีวิตเขาเสียหายไปหนึ่งส่วน ดังนั้น องค์ประกอบของชีวิตจะครบถ้วนหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าชีวิตของเขาขานรับการเรียกร้องของเราะสูลมากเท่าใดนั่นเอง
มุญาฮิดกล่าวว่า : "สิ่งที่ทำให้พวกเจ้ามีชีวิตชีวา" หมายถึง สัจธรรม
ส่วนเกาะตาดะฮ์มีความเห็นว่า : คือในอัลกุรอานนี้ มีทั้งชีวิตชีวา ความน่าเชื่อถือ ทางรอด และเครื่องป้องกันจากบาปทั้งหลายบนโลกนี้ และการหวนคืนสูโลกหน้า
อัชชุดดีกล่าวว่า : อิสลามได้ให้ชีวิตแก่พวกเขาหลังจากที่ชีวิตของพวกเขาตายทั้งเป็นเพราะการปฏิเสธ
อิบนุอิสหาก และอุรวะฮ์ บินอัชซุบัยร์ มีทัศนะว่า : "สิ่งที่ทำให้พวกเจ้ามีชีวิตชีวา" ตรงนี้ หมายถึง การทำสงครามซึ่งอัลลอฮ์ให้พวกท่านมีเกียรติเพราะมันภายหลังจากที่เคยต่ำต้อย ทำให้มีพละกำลังหลังจากที่เคยอ่อนแอ สงครามช่วยปกป้องพวกท่านจากศัตรูของพวกท่านหลังจากที่พวกเขาเคยกดขี่บังคับพวกท่าน ทั้งหมดนี้เป็นการอธิบายที่ส่อถึงข้อเท็จจริงเดียวกัน นั่นคือการปฏิบัติตามทุกสิ่งที่เราะสูลนำมาด้วยทั้งหัวใจและร่างกาย
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด2
ราคา : 220.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

ข้อร้องเรียนของคนเขลาคนโง่เท่านั้นที่ร้องเรียนต่อมนุษย์ในเรื่องของอัลลอฮ์ นี่คือที่สุดแห่งความโง่เขลา เบาปัญญาทั้งผู้ร้อ...
08/03/2025

ข้อร้องเรียนของคนเขลา
คนโง่เท่านั้นที่ร้องเรียนต่อมนุษย์ในเรื่องของอัลลอฮ์ นี่คือที่สุดแห่งความโง่เขลา เบาปัญญาทั้งผู้ร้องเรียนและผู้รับคำร้อง เพราะใครที่รู้จักอัลลอฮ์ดีพอ เขาจะไม่มีวันร้องเรียนเกี่ยวกับพระองค์ และใครที่รู้จักมนุษย์ดีพอ เขาก็จะไม่มีวันไปร้องเรียนกับมนุษย์
สะลัฟท่านหนึ่งเห็นชายหนุ่มกำลังร้องทุกข์ถึงความยากลำบากที่เขาต้องเผชิญในชีวิตให้ชายอีกคนฟัง สะลัฟท่านนี้จึงบอกแก่เขาว่า : ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ พ่อหนุ่มเอ๋ย สิ่งที่ท่านพูดไปมันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมาเลย ยิ่งกว่านั้น มันเท่ากับท่านกำลังฟ้องเรื่องของผู้เมตตาต่อท่านให้กับผู้ที่ไม่ได้เมตตาใดๆ ต่อท่านฟัง
ผู้ที่รู้จักอัลลอฮ์เขาจะร้องเรียนทุกข์ต่างๆ ต่อพระองค์เพียงผู้เดียว และผู้รู้จักอัลลอฮ์อย่างดียิ่ง เขาจะร้องเรียนต่อพระองค์ด้วยหัวใจที่ยอมรับว่าเรื่องไม่ดีต่างๆ ที่ประสบแก่เขาล้วนมาจากน้ำมือของตัวเขาเองทั้งสิ้น มิได้มาจากผู้อื่นแต่อย่างใด คล้ายกับที่อัลลอฮ์ตรัสไว้ว่า
"และเคราะห์กรรมอันใดที่ประสบแก่พวกเจ้า ก็เนื่องด้วยน้ำมือของพวกเจ้าได้ขวนขวายไว้ และพระองค์ทรงอภัย (ความผิดให้) มากต่อมากแล้ว" (อัชชูรอ 42 : 30)
การร้องเรียนมี 3 ระดับ
- ระดับต่ำสุด คือ ร้องเรียนต่อมนุษย์เกี่ยวกับเรื่องของอัลลอฮ์
(เอาความทุกข์ที่เจอไปบ่นให้พวกเขาฟัง ทั้งที่มันคือสิ่งที่อัลลอฮ์กำหนด
ให้เกิดขึ้นในชีวิต - ผู้แปล)
- ระดับกลาง คือ ร้องเรียนเรื่องของมนุษย์ให้อัลลอฮ์ฟัง
- ระดับสูงสุด คือ ร้องเรียนเกี่ยวกับตัวเองให้อัลลอฮ์ฟัง
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด2
ราคา : 220.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

การมอบหมายต่ออัลลอฮ์การมอบหมายต่ออัลลอฮ์แบ่งออกเป็นสองประเภทหนึ่ง : มอบหมายต่ออัลลอฮ์ให้พระองค์ช่วยสนองความต้องการและดูแ...
07/03/2025

การมอบหมายต่ออัลลอฮ์
การมอบหมายต่ออัลลอฮ์แบ่งออกเป็นสองประเภท
หนึ่ง : มอบหมายต่ออัลลอฮ์ให้พระองค์ช่วยสนองความต้องการและดูแลจัดการเรื่องราวต่างๆ ในดุนยา หรือช่วยปัดเป่าเรื่องเลวร้ายและภัยต่างๆ ที่ย่างกรายเข้ามาในชีวิต
สอง : มอบหมายต่ออัลลอฮ์ให้ชีวิตได้ดำเนินไปในแบบที่พระองค์รักและพอพระทัย หมายถึงมอบหมายให้พระองค์ช่วยประคับประคองชีวิตให้มีศรัทธา มีความเชื่อมั่น ได้ต่อสู้และเรียกร้องผู้คนไปสู่แนวทางของพระองค์
การมอบหมายแต่ละชนิดจะมีความดีงามติดตามมาแค่ไหนนั้นไม่สามารถคำนวณนับได้ ขึ้นอยู่กับอัลลอฮ์เพียงผู้เดียว เมื่อใดที่บ่าวมีการมอบหมายชนิดที่สองอย่างแท้จริงก็ถือว่าพอเพียงแก่เขาโดยสมบูรณ์และเมื่อใดที่บ่าวมอบหมายต่ออัลลอฮ์แบบชนิดแรก โดยไม่มีการมอบหมายชนิดที่สอง นั่นก็เพียงพอสำหรับเขาเช่นกัน ทว่าบั้นปลายของผู้มอบหมายอาจไม่เป็นไปในลักษณะที่อัลลอฮ์รักและพอใจ
ดังนั้น การมอบหมายที่มีคุณค่ายิ่งใหญ่ที่สุด คือการมอบหมายต่ออัลลอฮ์ให้ตัวเองได้รับทางนำ ให้อยู่ในการให้เอกภาพที่แท้จริง ให้ชีวิตอยู่ในการปฏิบัติตามเราะสูล ต่อสู้กับกลุ่มชนที่นำพาความเท็จมา นี่คือลักษณะการมอบหมายของบรรดาเราะสูล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามพวกท่านเหล่านั้น
บางครั้ง การมอบหมายอาจเกิดขึ้นในสภาพจำยอมหรือมีความจำเป็น กล่าวคือ บ่าวมองไม่เห็นที่พึ่งหรือทางออกอื่นใดอีกแล้วนอกจากจะต้องมอบหมายต่ออัลลอฮ์เท่านั้น ด้วยสถานการณ์ที่บีบคั้น หัวใจรู้สึกอัดอั้นจนกระทั่งคิดหาหนทางออกอื่นใดไม่ได้อีก ต้องหันกลับไปหาอัลลอฮ์เท่านั้น และสุดท้ายเมื่อได้ผ่านกระบวนการมอบหมายแล้ว มนุษย์ย่อมพบความสะดวกง่ายดายและทางออกอย่างแน่นอน บางครั้ง การมอบหมายก็เป็นไปด้วยการเลือกของบ่าวเอง คือเลือกจะมอบหมายทั้งที่มีปัจจัยเอื้อให้ตนไปสู่สิ่งที่หวังได้ ถ้าปัจจัยที่จะช่วยให้เขาไปสู่ความสำเร็จนั้นเป็นสิ่งที่ศาสนาสั่งใช้ การละทิ้งปัจจัยดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องน่าตำหนิ และการไม่มอบหมายก็น่าตำหนิเช่นกัน ฉะนั้น ในสภาวะเช่นนี้ บ่าวมีหน้าที่จะต้องพยายามยึดจับปัจจัยในดุนยาที่เอื้อต่อการไปถึงเป้าหมายของเขา ขณะเดียวกันก็ต้องมอบหมายต่ออัลลอฮ์ด้วย
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด2
ราคา : 220.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

ศรัทธาจากภายนอกและภายในความศรัทธานั้นเกิดขึ้นได้จากทั้งภายในและภายนอก· ศรัทธาภายใน คือ มีหัวใจที่เชื่อมั่น รัก และพร้อมป...
06/03/2025

ศรัทธาจากภายนอกและภายใน
ความศรัทธานั้นเกิดขึ้นได้จากทั้งภายในและภายนอก
· ศรัทธาภายใน คือ มีหัวใจที่เชื่อมั่น รัก และพร้อมปฏิบัติตาม ศรัทธาภายนอก คือ การเปล่งด้วยลิ้น ปฏิบัติด้วยร่างกาย
การศรัทธาแต่ภายนอกโดยที่ภายในว่างเปล่าย่อมไม่มีประโยชน์แม้จะทำไปเพื่อรักษาเลือดเนื้อหรือปกป้องทรัพย์สินและลูกหลานก็ตาม เช่นเดียวกัน การศรัทธาที่ซ่อนเร้นอยู่เพียงภายในโดยไร้การแสดงออกสู่ภายนอกก็ย่อมเป็นศรัทธาที่ไม่ได้รับการตอบแทน นอกจากจะมีอุปสรรคบางอย่างในการแสดงออก เช่น ในกรณีที่ร่างกายไร้ความสามารถ ถูกบังคับ หรือเกรงว่าจะส่งผลถึงชีวิต การละทิ้งศรัทธาผ่านการปฏิบัติภายนอกทั้งที่ไม่มีปัจจัยใดมาขวางกั้นเป็นข้อบ่งชี้ว่าศรัทธาภายในของคนผู้นั้นเสียหายหรือไม่ได้มีอยู่จริง เพราะความบกพร่องทางการปฏิบัติบ่งชี้ถึงความบกพร่องทางความเชื่อมั่นภายใน ขณะที่แรงแข็งขันในการปฏิบัติชี้ถึงแรงศรัทธาภายในที่เข้มข้น
การศรัทธาคือหัวใจและแก่นแท้ของอิสลาม ความเชื่อมั่นคือหัวใจและแก่นแท้ของศรัทธา ความรู้และการปฏิบัติใดก็ตามที่ไม่ช่วยเพิ่มความศรัทธาและการเชื่อมั่น ความรู้และการปฏิบัตินั้นย่อมเป็นผลผลิตที่ไร้แก่นสาร เช่นเดียวกับที่ศรัทธาใดก็ตามไม่ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติ ศรัทธานั้นย่อมไร้ค่า
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด2
ราคา : 220.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

ว่าด้วยเรื่องของ "ความรู้""ความรู้" คือ การถ่ายโอนข้อมูลจากภายนอกให้เข้ามาประมวลอยู่ในตัวเรา ส่วน "การปฏิบัติ" คือ การถ่...
05/03/2025

ว่าด้วยเรื่องของ "ความรู้"
"ความรู้" คือ การถ่ายโอนข้อมูลจากภายนอกให้เข้ามาประมวลอยู่ในตัวเรา ส่วน "การปฏิบัติ" คือ การถ่ายโอนข้อมูลที่ถูกประมวลอยู่ในตัวเราให้ออกไปประจักษ์สู่ภายนอก
ถ้าหากข้อมูลที่เรารับไปสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในโลกแห่งความเป็นจริง ก็ถือว่าข้อมูลนั้นคือความรู้ที่ถูกต้อง แต่หลายครั้ง สิ่งที่ปรากฎและถูกพิจารณาในหัวของเรากลับเป็นภาพซึ่งไม่มีอยู่ในความเป็นจริง แต่สมองเราคิดว่ามันคือความรู้ นั่นเป็นเพียงข้อมูลที่เรากำหนดมันขึ้นมาเอง ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แขนงวิชาความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นส่วนมากจะมาจากองค์ความรู้ในลักษณะนี้
ความรู้ที่เชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงภายนอกมีสองชนิด
หนึ่ง : ความรู้ที่เมื่อรู้แล้วจะช่วยเติมเต็มชีวิตและจิตใจของมนุษย์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นั่นคือความรู้เกี่ยวกับอัลลอฮ์ คุณลักษณะและพระนามต่างๆ ของพระองค์ การกระทำและคัมภีร์ต่างๆ ของพระองค์ ข้อห้ามและข้อสั่งใช้ที่พระองค์กำหนด
สอง : ความรู้ที่รู้ไปก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น คือทุกความรู้ที่ถึงไม่รู้ก็ไม่ก่อผลเสีย และถึงรู้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์
ท่านนบี ศ. ได้ขอดุอาอ์ให้พ้นจากความรู้ที่ไม่ยังประโยซน์ หมายถึงศาสตร์ความรู้ที่ถูกต้อง สอดคล้องกับข้อเท็จจริง แต่ไม่ส่งผลเสียใดๆ แม้จะไม่รู้ องค์ความรู้แต่ละแขนงจะมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่า สิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับมันนั้นมีคุณประโยชน์แค่ไหน และชีวิตเราต้องการมันมากน้อยเพียงใด ซึ่งมีความรู้อยู่เรื่องเดียวที่สอดคล้องกับลักษณะเช่นนี้ นั่นคือความรู้เกี่ยวกับอัลลอฮ์ และวิชาการต่างๆ ที่แตกแขนงออกมาจากการรู้จักพระองค์
ความรู้ส่งผลในทางลบได้เช่นกัน ภัยของความรู้คือการรู้ในแบบที่ไม่ตรงกับเป้าประสงค์ทางศาสนาที่อัลลอฮ์วางไว้ ซึ่งเป็นรูปแบบที่พระองค์รักและพอใจ
บางที ภัยของความรู้ก็เกิดจากตัวความรู้เองที่เสียหายโดยตรง เช่น เชื่อว่าความรู้ที่ตนรู้มาเป็นบทบัญญัติที่อัลลอฮ์กำหนดและเป็นที่รักสำหรับพระองค์ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ หรือแม้ความรู้นี้จะไม่ใช่สิ่งที่ศาสนากำหนด แต่เชื่อว่าการได้รู้จะยิ่งทำให้ใกล้ชิดอัลลอฮ์มากขึ้น เข้าใจว่าตัวเองเข้าใกล้อัลลอฮ์จากการปฏิบัติแบบนี้ ถึงจะไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำเป็นสิ่งที่ศาสนาสั่งใช้หรือไม่ก็ตาม
บางที ภัยที่ว่าก็เกิดจากความเสียหายของเจตนาผู้แสวง เช่นเขาไม่ได้เรียนรู้ไปเพื่ออัลลอฮ์ เพื่อโลกหน้า แต่รู้เพื่อดุนยา เพื่อสิ่งถูกสร้าง
ภัยทั้งสองแบบเกิดขึ้นได้กับทั้งความรู้และการปฏิบัติ สามารถรอดพ้นจากมันได้ก็ด้วย 2 ช่องทางต่อไปนี้
1- ในเรื่องความรู้เกี่ยวกับอัลลอฮ์ : จะต้องเรียนจากสิ่งที่นบี ศ. นำมา
2- ในเรื่องเจตนาของการศึกษาเรียนรู้ : จะต้องเป็นไปเพื่ออัลลอฮ์และโลกหน้าเท่านั้น
ถ้าปราศจากการเรียนรู้จากแหล่งที่ถูกต้อง และไม่มีเจตนาดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ความรู้และการปฏิบัติของเขาย่อมเสียหายอย่างแน่นอน ความศรัทธาและเชื่อมั่นส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และเจตนาที่ถูกต้อง ขณะที่การเรียนรู้และเจตนาที่ถูกต้องก็ส่งผลให้เกิดศรัทธา ทั้งเจตนาและความรู้จึงเชื่อมโยงกับความศรัทธาเสมอ
เมื่อพูดถึงตรงนี้ เราจึงเข้าใจว่าเพราะอะไรคนส่วนมากถึงได้มีความเชื่อที่คลาดเคลื่อน นั่นเพราะพวกเขาไม่มีความรู้และเจตนาที่ถูกต้อง การศรัทธาจะไม่สมบูรณ์เว้นเสียแต่จะต้องผ่านการเรียนรู้จากโคมตะเกียงของบรรดานบี กรองเจตนารมณ์ให้เกลี้ยงเกลาจากสิ่งสกปรกทางอารมณ์และความต้องการที่เป็นไปเพื่อสิ่งถูกสร้าง เมื่อทำได้เช่นนี้แล้วความรู้ของเขาถือได้ว่าถูกถอดออกมาจากแนวทางแห่งวะฮี (ซึ่งอัลลอฮ์ดลใจให้แก่เราะสูล) เขาเรียนรู้เพื่อพระองค์และเพื่ออาคิเราะฮ์ นี่คือมนุษย์ที่มีความรู้และการปฏิบัติแข็งแรงที่สุด เขาคือคนที่มาจากเหล่าผู้นำที่ได้รับทางนำจากอัลลอฮ์ และมาจากบรรดาตัวแทนแห่งเราะสูลของพระองค์ในประชาชาตินี้
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด2
ราคา : 220.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

ให้ชีวิตของท่านในทุกๆ วันมีหัวใจไว้เพื่ออัลลอฮ์เมื่อบ่าวต้อนรับยามเช้าและกลับสู่ยามเย็นโดยที่หัวใจของเขาไม่มุ่งอยู่กับสิ...
04/03/2025

ให้ชีวิตของท่านในทุกๆ วันมีหัวใจไว้เพื่ออัลลอฮ์
เมื่อบ่าวต้อนรับยามเช้าและกลับสู่ยามเย็นโดยที่หัวใจของเขาไม่มุ่งอยู่กับสิ่งใดเลยนอกจากอัลลอฮ์เพียงผู้เดียว พระองค์จะช่วยแบกรับความต้องการในชีวิตของเขาทั้งหมด พระองค์จะเข้ามาจัดการทุกภารกิจที่เขาให้ความสำคัญ ช่วยให้หัวใจของบ่าวผู้นี้เป็นอิสระจากพันธะทั้งปวงเพื่อรักพระองค์เพียงผู้เดียว ทำให้ลิ้นของเขาสะอาดเพื่อรำลึกถึงพระองค์ อวัยวะต่างๆ ของเขาเคลื่อนไหวเพื่อภักดีต่อพระองค์
แต่หากชีวิตตลอดทั้งวันของบ่าวตั้งแต่เช้าจรดเย็นเป็นไปเพื่อดุนยาแล้ว อัลลอฮ์จะให้เขาแบกรับความเศร้าใจและเหนื่อยล้าปล่อยให้เขามอบหมายตัวเองไว้กับตนเอง แล้วหัวใจของเขาก็จะไร้ที่ว่างสำหรับรักพระองค์ มีแต่พื้นที่เพื่อรักสิ่งถูกสร้าง ลิ้นของเขาไม่ขยับเพื่อนึกถึงพระองค์อีกแล้ว แต่จะขยับเพื่อนึกถึงมนุษย์ ร่างกายหายห่างจากการเคารพภักดีต่อพระองค์ เพราะมัวแต่หมกมุ่นรับใช้กิจการต่างๆ ให้แก่สิ่งถูกสร้าง
เขาต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างอ้างว้างเพื่อรับใช้ผู้อื่นนอกจากอัลลอฮ์ เสมือนเครื่องสูบลมของช่างตีเหล็กที่คอยเปาลมออกจากแกนกลาง แต่ตัวของมันกลับเป็นเส้นขดบิดเขี้ยวเพื่อให้ประโยชน์แก่ผู้อื่น ดังนั้น ผู้ใดก็ตามที่ผินห่างจากการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ จากการเชื่อฟังและรักพระองค์ หันไปเคารพภักดี รักและรับใช้มนุษย์แทนย่อมจะเป็นดังที่อัลลอฮ์ตรัสว่า

"และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงพระผู้ทรงกรุณาปรานี เราจะให้ชัยฏอนตัวหนึ่งแก่เขา แล้วมันก็จะเป็นสหายของเขา" (อัชซุครุฟ43:36)
สุฟยาน บินอุยัยนะฮ์ กล่าวว่า : ไม่มีภาษิตใดที่ถูกกล่าวขานอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวอาหรับ ซึ่งพวกท่านยกมันขึ้นมาให้ฉันฟังเว้นเสียแต่ฉันจะสามารถดึงข้อความทำนองเดียวกันนั้นจากอัลกุรอานมาบอกแก่พวกท่านได้
มุกอติลได้ยินดังนั้นจึงถามสุพยานว่า : สำนวนที่อาหรับพูดกันว่า "จงให้ผลไม้แก่พี่น้องของท่าน ถ้าเขาไม่รับก็จงให้ก้อนกรวดแก่เขาแทน" (หมายถึงเมื่อให้เกียรติผู้ใดแล้วเขาไม่เห็นค่า ก็ไม่จำเป็นต้องให้เกียรติคนผู้นั้นอีกต่อไป แต่ให้มอบสิ่งตรงกันข้ามให้แก่เขาแทน -ผู้แปล) อยู่ตรงส่วนไหนของอัลกุรอานหรือ?
สุฟยานตอบว่า : อยู่ตรงคำพูดของอัลลอฮ์ที่กล่าวว่า "และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงพระผู้ทรงกรุณาปรานี เราจะให้ชัยฏอนตัวหนึ่งแก่เขา แล้วมันก็จะเป็นสหายของเขา" (อัชซุครุฟ43: 36)
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด2
ราคา : 220.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

ความสมบูรณ์ที่ชีวิตต้องการชีวิตอันสมบูรณ์พร้อมที่มนุษย์ใฝ่ฝันมักจะต้องมีสองประการต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วยหนึ่ง : ความสมบูรณ์...
03/03/2025

ความสมบูรณ์ที่ชีวิตต้องการ
ชีวิตอันสมบูรณ์พร้อมที่มนุษย์ใฝ่ฝันมักจะต้องมีสองประการต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วย
หนึ่ง : ความสมบูรณ์พร้อมจะต้องเป็นบุคลิกลักษณะประจำตัวเขาเสมอ ไม่ใช่แค่บางช่วงเวลา
สอง : ความสมบูรณ์ที่ว่าจะต้องเป็นไปตามที่ตัวเขาเข้าใจว่ามันคือความสมบูรณ์ ถ้าไม่เป็นแบบที่คิดไว้ ก็ไม่นับเป็นความสมบูรณ์แบบ
ฉะนั้น คนที่ปรารถนาจะให้ชีวิตตนอย่างสมบูรณ์ย่อมไม่ควรเสียเวลาลงแข่งขันกับอะไรก็ตามที่ทำให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตรงข้ามกับคำว่าสมบูรณ์และเขาจะต้องไม่เสียใจในอดีตที่แก้ไขอะไรไม่ได้
เพื่อให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นในชีวิต มนุษย์จึงจำเป็นต้องรู้จักผู้สร้าง รู้จักพระเจ้า รู้ว่าใครคือผู้ที่ตัวเองต้องเคารพภักดีอย่างแท้จริง เพราะชีวิตมนุษย์ไม่มีทางจะเป็นชีวิตที่ดีและมีความสุขได้เลยหากไม่รู้จักพระเจ้า ไม่เข้าใจว่าพระองค์ต้องการอะไร ไม่สามารถดำเนินอยู่บนวิถีทางที่จะนำตนเองไปสู่พระองค์และสิ่งที่พระองค์พึงพอใจได้ เมื่อชีวิตเคยชินกับสิ่งเหล่านี้แล้วมันจะกลายเป็นลักษณะอันมั่นคงติดตัวเขา
ส่วนการแสวงหาความสมบูรณ์แบบอื่นจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ ความปรารถนา หน้าที่การงานต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งไร้ประโยชน์หรือจัดได้ว่าไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบที่แท้จริง เพราะมันอาจจะนำมาซึ่งผลเสีย ความรู้สึกบกพร่อง และความเจ็บปวดบางอย่างในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าท่านทำให้ความสุขอันไม่จีรังพวกนี้กลายเป็นบุคลิกภาพประจำตัวที่ขาดไม่ได้ ยิ่งชีวิตท่านแสวงหามันมากเท่าไร มันก็จะยิ่งให้บทลงโทษอันแสนเจ็บปวดแก่ท่านมากเท่านั้น
มนุษย์ส่วนมากคิดว่าตัวเองกำลังแสวงหาความสุขที่แท้จริง แต่สิ่งที่เขาเลือกให้ชีวิตตัวเองนั่นแหละคือปัจจัยสำคัญที่จะมาขัดขวางความสุขที่เขาปรารถนา ทั้งยังทำให้ต้องรู้สึกเจ็บปวดและเป็นทุกข์ เพราะเข้าใจว่าชีวิตตัวเองบกพร่องและขาดความสมบูรณ์ เมื่อไม่มีของนอกกายเหล่านั้นอีกแล้ว
ดังนั้น ความสุขที่แท้จริงจะเข้ามาเติมเต็มชีวิตมนุษย์มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการรู้จักผู้สร้าง ความรักในพระองค์ และการยึดจับอยู่กับเส้นทางที่พระองค์พึงพอใจของมนุษย์ผู้นั้น ยิ่งชีวิตสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไปมากเท่าไร นั่นย่อมหมายถึงความเจ็บปวดและโศกเศร้าที่จะเข้ามาแทนที่ มนุษย์คนใดที่ไม่เคยคิดหรือปราศจากการทบทวนเรื่องเหล่านี้โดยสิ้นเชิง ชีวิตของเขาย่อมเป็นชีวิตที่ไม่หลงเหลืออะไรเลยนอกจากร่างอันเปล่าเปลี่ยวที่ยังมีจิตวิญญาณอยู่เพียงเพื่อกิน ดื่ม เสพสุข โกรธและมีความสุขบ้างจากสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างในชีวิต แต่มันช่างเป็นชีวิตที่ตื้นเขิน ไร้เกียรติและความจำเริญใดๆ เป็นชีวิตไร้ค่าอันเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง
ถึงจุดนี้ ชีวิตมนุษย์ผู้นั้นสมควรถูกประเมินเทียบเคียงกับรูปแบบวิถีชีวิตของสัตว์ เพราะมันมีสภาพโดยรวมไม่ต่างกัน ไม่แน่ว่าชีวิตของคนประเภทนี้อาจจะแย่เสียยิ่งกว่าสัตว์ด้วยซ้ำ เพราะชีวิตของสัตว์ไม่มีบั้นปลายให้ต้องแบกรับ พวกมันปลอดภัยจากโทษทัณฑ์ที่ชีวิตได้กระทำลงไปต่างจากมนุษย์
เช่นนี้แหละ คือความสมบูรณ์ของชีวิตที่ท่านกับสัตว์แสวงหาร่วมกัน เพียงแต่ความเป็นสัตว์นั้นได้รับการันตีบั้นปลายอันปลอดภัยต่างจากมนุษย์อย่างท่าน ฉะนั้น สมควรอย่างยิ่งที่ท่านจะเลือกทิ้งความสมบูรณ์จอมปลอมพวกนี้ไปสู่ความสมบูรณ์พร้อมที่แท้จริงซึ่งไม่มีความสมบูรณ์อื่นใดจะเทียบเท่า
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด2
ราคา : 220.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

พึงระวังการโกหกพึงระวังการโกหก เพราะมันจะส่งผลเสียต่อการสร้างมโนภาพของข้อมูลต่างๆ ตามที่ควรจะเป็น (กลายเป็นการสร้างมโนภา...
31/01/2025

พึงระวังการโกหก
พึงระวังการโกหก เพราะมันจะส่งผลเสียต่อการสร้างมโนภาพของข้อมูลต่างๆ ตามที่ควรจะเป็น (กลายเป็นการสร้างมโนภาพในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง) เมื่อการวิเคราะห์ข้อมูลความรู้ของบุคคลหนึ่งเสียหาย เขาก็จะสอนผู้คนด้วยความรู้แบบผิดๆ
คนโกหกจะวาดภาพสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงให้มีจริงขึ้นมา และทำให้สิ่งที่มีตัวตนกลับกลายเป็นไม่มี เห็นสัจธรรมเป็นความเท็จ เห็นเรื่องเท็จเป็นความจริง เห็นผิดเป็นชอบ ดีเป็นชั่ว บทลงโทษของการโกหก คือการที่มันจะส่งผลเสียต่อความนึกคิดและองค์ความรู้ของผู้โกหกเองด้วย ครั้นเมื่อความรู้ความเข้าใจของเขาเป็นเท็จแล้วเขาสอนมันแก่คนอื่น คนผู้นั้นก็จะตกเป็นผู้ถูกหลอก และหันมาพึ่งพิงเขาเพื่อเอาวิชาการ การโกหกก็จะทำให้ความรู้และมโนภาพของบุคคลที่มารับข้อมูลดังกล่าวจากเขาเสียหายต่อไปอีกทอด ไม่เพียงเท่านั้น ผู้โป้ปดคนเดิมจะผินห่างจากสัจธรรมซึ่งมีอยู่จริง เอนเอียงไปหาเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง ผลักดันให้ความเท็จก่อร่างขึ้นมา ดังนั้น เมื่อพลังแห่งการนึกคิดและความรู้ ซึ่งจัดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทุกการกระทำอันเกิดจากเจตนารมณ์ของมนุษย์ ได้พังทลายลงการกระทำเหล่านั้นก็จะพลอยเสียหายและถูกตัดสินว่าเป็นเท็จ เพราะมันเกิดขึ้นจากความไม่จริง ไม่ต่างจากคำพูดโกหกที่ออกจากลิ้น ฉะนั้น ทั้งคำพูดและการงานของผู้โกหกจะไม่ยังประโยชน์ใดๆ ด้วยผลลัพธ์ร้ายแรงเช่นนี้เอง ทำให้การโกหกกลายเป็นรากฐานของเรื่องชั่วร้ายทั้งปวง
กระบวนการของการโกหกเริ่มต้นจากจิตใจ ส่งตรงมาที่ลิ้น ก่อผลเสียทำให้ลิ้นเอ่ยคำโกหกออกมา จากนั้น การโกหกก็จะดำเนินไปยังร่างกายส่วนอื่นๆ รวมถึงอวัยวะต่างๆ ส่งผลให้การกระทำของมนุษย์ผู้โป้ปดนั้นเป็นโมฆะ เช่นเดียวกับที่มันทำให้คำพูดซึ่งถูกเปล่งจากลิ้นนั้นเสียหาย ไม่สามารถเชื่อถือได้อีกต่อไป
ในสภาวะเช่นนี้ การโกหกจะเข้าครอบคลุมทั้งคำพูด การปฏิบัติ และทุกสภาพของผู้โกหก ทำให้ความเสียหายกลืนกินทั้งหมดของตัวเขาอย่างย่อยยับ หากอัลลอฮ์ทรงใช้ยาแห่งความสัตย์จริงเข้ารักษาถอนรากถอนโคนการโกหก ต้นตอโรคร้ายนี้ก็จะนำเขาไปสู่ความพินาศ ดังนั้น การงานของหัวใจทุกประเภทจึงมีพื้นฐานอยู่ที่การพูดความจริง ขณะที่สิ่งตรงข้ามอย่างการโอ้อวด ความหลงตัวเอง ความหยิ่งยโส การแสดงออกอย่างภาคภูมิใจ การปฏิเสธสัจธรรมและความโปรดปราน การไม่รู้บุญคุณ การไม่รู้สึกพึงพอใจในตัวเอง สภาพที่ไร้ความสามารถ เกียจคร้าน ขี้ขลาด และต่ำต้อย รวมถึงการงานอื่นๆ ในทำนองเดียวกันนี้ล้วนมีรากฐานมาจากการโกหก
กล่าวได้ว่าทุกการงานที่ดีงามทั้งจากภายนอกและภายในมีสัจจะเป็นบ่อเกิด และทุกการงานที่เลวร้ายสร้างความเสียหาย ไม่ว่าจะจากภายนอกหรือภายใน ล้วนมีที่มาจากการโกหก
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด2
ราคา : 220.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

รูปแบบของความสมถะความสมถะมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบสมถะในเรื่องต้องห้าม (หมายถึง ไม่อยากกระทำสิ่งที่ศาสนาห้ามหรือเป็นบาป) ค...
30/01/2025

รูปแบบของความสมถะ
ความสมถะมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ
สมถะในเรื่องต้องห้าม (หมายถึง ไม่อยากกระทำสิ่งที่ศาสนาห้ามหรือเป็นบาป) ความสมถะชนิดนี้ถือเป็นฟัรฎูอัยน์ (สิ่งจำเป็นที่มุสลิมทุกคนต้องมี ขาดไม่ได้ หากไม่กระทำจะมีโทษตามมา)
สมถะต่อข้อคลุมเครือ (หมายถึง ไม่พยายามสงสัยหรือหมกมุ่นในประเด็นที่จะลดทอนความเชื่อมั่นในศาสนา รวมถึงหลีกห่างจากสิ่งที่ตนไม่แน่ใจว่าถูกหรือผิด เลือกเฉพาะสิ่งที่ตนมั่นใจว่าถูกต้อง) ความสมถะประเภทนี้ศาสนาจะถือเป็น 'สิ่งจำเป็น' ที่บ่าวต้องมี หรือแค่ 'สนับสนุน' ให้มี ขึ้นอยู่กับว่าข้อคลุมเครือนั้นอยู่ในระดับไหน ถ้าคลุมเครือมากระดับที่ไปยุ่งแล้วอาจจะทำให้บุคคลนั้นตกศาสนา ความสมถะประเภทนี้ก็จะถือเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากไม่ใช่ข้อคลุมเครือร้ายแรง ความสมถะเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่ศาสนาสนับสนุนและชอบที่จะให้ผู้ศรัทธามี
สมถะในเรื่องที่เป็นความดี (มักน้อย ไม่ค่อยขวนขวายปฏิบัติการงานที่กระทำแล้วได้ผลบุญ)
สมถะในเรื่องคำพูด ความเห็น การถาม การพบปะผู้คนหรือเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนเอง (ไม่สนในเรื่องไร้สาระที่รู้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์กับชีวิต)
สมถะต่อมนุษย์ (ไม่มักมากอยากได้อยากมีของของผู้อื่น)
สมถะต่อจิตใจตนเอง โดยการทำให้ใจของตนนั้นง่ายดายกับเรื่องของอัลลอฮ์ (ง่ายดายที่จะปฏิบัติตามพระองค์)
และสมถะซึ่งเป็นศูนย์รวมของความสมถะทุกประเภท คือสมถะจากสิ่งอื่นนอกจากผู้สร้าง และสมถะจากทุกสิ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่สนใจต่อผู้สร้าง ความสมถะมักน้อยที่ประเสริฐที่สุดคือการไม่เปิดเผยความสมถะของตน ส่วนความสมถะที่ยากที่สุดคือสมถะต่อโชคลาภทั้งหลายที่ตนมีสิทธิ์จะได้รับ ความต่างระหว่างคำว่า สมถะ และ เคร่งครัด ก็คือ ความสมถะนั้นหมายถึงการละทิ้งหรือสละซึ่งสิ่งที่ไม่ยังประโยชน์ต่อโลกหน้า ส่วนความเคร่งครัด หมายถึง ยอมทิ้งบางสิ่งเพราะเกรงว่าสิ่งนั้นจะส่งผลเสียแก่ตัวเองในโลกหน้า หัวใจที่ผูกพันกับอารมณ์ความใคร่ไม่ใช่หัวใจที่คู่ควรกับทั้งความสมถะและความเคร่งครัด
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด2
ราคา : 220.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

สาเหตุของการถูกทอดทิ้งสาเหตุที่อัลลอฮ์ทอดทิ้งบ่าวคนหนึ่ง ก็อันเนื่องจากตำแหน่งในการตอบรับที่เขาถูกมอบให้นั้นถูกใช้งานไม่...
29/01/2025

สาเหตุของการถูกทอดทิ้ง
สาเหตุที่อัลลอฮ์ทอดทิ้งบ่าวคนหนึ่ง ก็อันเนื่องจากตำแหน่งในการตอบรับที่เขาถูกมอบให้นั้นถูกใช้งานไม่เหมาะสมและไม่คู่ควรสำหรับความโปรดปรานของอัลลอฮ์
หากว่าพระองค์มอบความโปรดปรานให้เขาอย่างครบถ้วนเขาก็จะกล่าวว่า "นี่คือความสามารถของฉัน! ที่ฉันได้รับมันมาก็เพราะมีแต่ฉันเท่านั้นที่คู่ควร!"
ดังที่อัลลอฮ์ ตะอาลา กล่าวว่า "เขา(กอรูน) กล่าวว่า ฉันได้รับมันเพราะความรู้ของฉัน " (อัลเกาะค็อศ 28 : 78)
นั่นคือ เขาอ้างว่าเพราะความรู้ที่อัลลอฮ์มอบให้แก่ฉัน ฉันจึงคู่ควรและเหมาะสมที่สุดที่จะได้รับมัน
อัลฟีรออ์ให้ความหมายว่า "ฉันได้รับมันเพราะความประเสริฐของตัวฉัน ฉันมีคุณสมบัติเหมาะสมเพราะฉะนั้นฉันจึงคู่ควรจะได้รับมัน อัลลอฮ์ทรงสอนมันแก่ตัวเขา"
มุกอติลอธิบายว่า "เขา (กอรูน) อ้างบนพื้นฐานของคุณความดีที่อัลลอฮ์ทรงสอนมันแก่ตัวเขา”
อับดุลลอฮ์ บินอัลฮาริษ บินเนาฟัลได้กล่าวถึงนบีสุลัยมาน บินดาวูด เกี่ยวกับอำนาจที่ท่านปกครองอยู่และอ่านโองการของอัลลอฮ์ที่ดำรัสว่า "นี่เนื่องจากความโปรดปรานของพระเจ้าของฉัน เพื่อพระองค์จะได้ทรงทดสอบฉันว่าฉันกตัญญูหรือเนรคุณ" (อันนัมล์ 27 : 40)
สุลัยมานไม่ได้กล่าวว่า นี่คือความสามารถของฉัน หลังจากนั้นเขาก็พูดเรื่องของกอรูน และดำรัสของอัลลอฮ์ที่กล่าวว่า "เขา(กอรูน) กล่าวว่า ฉันได้รับมันเพราะความรู้ของฉัน"
(อัลเกาะศ็อศ 28 : 78)
หมายถึง นบีสุลัยมานมองว่าความโปรดปรานที่เขาได้รับมาจากความกรุณาของอัลลอฮ์และความเมตตาที่พระองค์มีต่อเขา และนั่นคือสิ่งที่เขากำลังถูกทดสอบอยู่ (เพื่อดูว่าเขาจะขอบคุณหรือไม่) ในขณะที่กอรูนมองว่าสิ่งดังกล่าวมีสาเหตุมาจากตัวเอง และเพราะตัวเองสมควรจะได้รับ
ผู้ศรัทธาจะเข้าใจว่าสิ่งดังกล่าวอยู่ในอำนาจของพระเจ้า และเป็นความกรุณาจากพระองค์ที่ทรงโปรดปรานให้แก่บ่าวของพระองค์ แม้ว่าเขาจะไม่ได้คู่ควรกับมันอย่างแท้จริงก็ตาม ทว่ามันคือความใจบุญของอัลลอฮ์ที่มอบให้แก่บ่าวของพระองค์ อัลลอฮ์จะไม่ทรงมอบมันแก่เขาก็ได้ และแม้ว่าอัลลอฮ์ระงับเขาจากบางความโปรดปราน แน่นอน อัลลอฮ์ย่อมไม่ทรงระงับสิ่งใดก็ตามที่เขาสมควรจะได้รับ
หากเขาไม่ได้มองแบบนี้แต่แรก เขาก็จะเข้าใจว่าตัวเองมีคุณสมบัติและคู่ควร มองตัวเองอย่างชื่นชม (ในความสามารถ) และเริ่มปฏิเสธความโปรดปรานของอัลลอฮ์ หยิ่งยโสและอวดดีต่อผู้คน ส่วนที่เขาได้รับไปจากความโปรดปราน คือ ความปีติยินดีและความภาคภูมิใจ ]
อัลลอฮ์ตำหนิการสิ้นหวังและหมดศรัทธายามถูกทดสอบด้วยความทุกข์ยาก และทรงตำหนิความปีติยินดีและภาคภูมิใจยามถูกทดสอบด้วยการได้รับความโปรดปราน ขณะที่อัลลอฮ์ปัดเป่าทุกข์ภัยไปจากเขาแทนที่เขาจะสรรเสริญ ขอบคุณ และชื่นชมใน (ความเมตตา) ของพระองค์ เขากลับพูดว่า "ความชั่วร้ายต่างๆ ได้ผ่านพ้นจากฉันไปแล้ว"
หากเขากล่าวว่า "อัลลอฮ์ทรงทำให้ความชั่วร้ายต่างๆ ผ่านพ้นจากฉันไปแล้ว ด้วยความเมตตากรุณาของพระองค์" คงไม่มีการตำหนิในจุดดังกล่าวเกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเขาย่อมได้รับคำชมเซย แต่ทว่าเขากลับละเลยต่อผู้ทรงโปรดปรานซึ่งปัดเป่าความทุกข์ยากนั้นออกไปจากเขา และกล่าวอ้างว่าที่รอดพ้นจากความชั่วร้ายมาได้เพราะตัวของเขาเอง เขาปีติยินดีและยโสโอหัง
เมื่ออัลลอฮ์ล่วงรู้ถึงสิ่งดังกล่าวในหัวใจบ่าว มันจึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระองค์ทอดทิ้งเขา ปล่อยให้เขาอยู่กับความล่มจม อันเนื่องจากตำแหน่งของเขาไม่คู่ควรต่อการได้รับความโปรดปรานอันสมบูรณ์แบบจากอัลลอฮ์โดยสิ้นเชิง
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด3
ราคา : 300.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

ทุกความโปรดปรานล้วนมาจากอัลลอฮ์ฉัน (อิบนุลก็อยยิม) ลองมาคิดดู จึงพบว่าพื้นฐานสำคัญของการได้มาซึ่งความโปรดปรานในชีวิตบ่าว...
28/01/2025

ทุกความโปรดปรานล้วนมาจากอัลลอฮ์
ฉัน (อิบนุลก็อยยิม) ลองมาคิดดู จึงพบว่าพื้นฐานสำคัญของการได้มาซึ่งความโปรดปรานในชีวิตบ่าว คือ การรับรู้ว่าความโปรดปรานทั้งหมดนั้นมาจากอัลลอฮ์เพียงองค์เดียว ทั้งความโปรดปรานในการภักดีและเชื่อฟัง รวมถึงความโปรดปรานให้มีความสุข
หวังว่าอัลลอฮ์จะดลใจให้คุณได้รำลึกถึงความโปรดปรานเหล่านั้นเพื่อจะได้ขอบคุณพระองค์ในความโปรดปรานดังกล่าว อัลลอฮ์ ตะอาลากล่าวว่า
"และไม่มีความโปรดปรานใดๆ ที่พวกเจ้าได้รับนอกจากมันย่อมมาจากอัลลอฮ์ ดังนั้น เมื่อความทุกข์ร้อนประสบแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จะคร่ำครวญขอพรต่อพระองค์ (อันนะฮ์ลุ 16 : 53)
อีกตำแหน่งหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า
"และพวกเจ้าจงขอบคุณต่อความโปรดปรานของอัลลอฮ์ หากพวกเจ้าเคารพภักดีเฉพาะพระองค์เท่านั้น" (อันนะฮ์ลุ 16 : 114)
เหมือนกับที่ความโปรดปรานนั้นมาจากอัลลอฮ์ และทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากความกรุณาของพระองค์ การจะเข้าใจมันและขอบคุณเกี่ยวกับมันได้ก็จำเป็นต้องได้รับการชี้แนะทางสำเร็จจากพระองค์เช่นกัน
บาปทั้งหลายในชีวิตบ่าวมาจากการทอดทิ้งและเพิกเฉยของอัลลอฮ์ พระองค์ปล่อยให้เขาดูแลตัวเอง หากอัลลอฮ์ไม่ปัดเป่าความทุกข์ยากนั้นไปจากบ่าว เขาก็ไม่มีทางขจัดมันออกไปจากชีวิตได้
ดังนั้น มนุษย์จึงจำเป็นต้องนอบน้อมและวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์อย่างจริงใจ ให้พระองค์ช่วยปกป้องเขาจากปัจจัยต่างๆ อันเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เขาลงมือกระทำความผิดนั้นลงไป
ครั้นเมื่อเกิดการทำบาปขึ้นภายใต้กำหนดสภาวะของอัลลอฮ์และความเป็นมนุษย์ หน้าที่ของเขาคือต้องวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์อย่างนอบน้อมให้พระองค์ช่วยกันเขาออกจากสิ่งที่จะนำไปสู่บาปและบทลงโทษของมันในท้ายที่สุด
บ่าวไม่สามารถปลีกชีวิตออกจากเงื่อนไขจำเป็นดังกล่าวสู่พื้นฐานหลักสามประการนี้ และไม่มีทางพบความสุขได้นอกจากจะต้องมีมัน ขอบคุณความโปรดปรานของอัลลอฮ์, ขอให้พระองค์อภัยโทษให้, และสำนึกผิดกลับตัวอย่างจริงใจ
แก่นสำคัญของประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับความหวังที่มีต่อสวรรค์ของอัลลอฮ์ และความกลัวในบทลงโทษของพระองค์ ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้ความสามารถของบ่าว แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ทรงพลิกผันหัวใจ และชักจูงมันไปตามแต่ประสงค์ของพระองค์
หากอัลลอฮ์ต้องการมอบความสำเร็จแก่เขา พระองค์จะทำให้หัวใจของเขามุ่งสู่พระองค์ และทำให้มันเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและความกลัวในพระองค์
หากอัลลอฮ์ทอดทิ้ง เพิกเฉยต่อหัวใจดวงนั้น ไม่ทรงชักจูงมันเข้าหาพระองค์ และไม่ประสงค์จะทำเช่นนั้นแก่เขา ทุกสิ่งอย่างก็จะดำเนินไปตามประสงค์ของพระองค์ และสิ่งใดที่พระองค์ไม่ประสงค์ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด3
ราคา : 300.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

ความรักที่มีต่ออัลลอฮ์บ่าวยังคงถูกตัดขาดจากอัลลอฮ์จนกว่าความต้องการของเขาจะต่อติดกับพระองค์ และความรักของเขาเป็นไปเพื่อพ...
27/01/2025

ความรักที่มีต่ออัลลอฮ์
บ่าวยังคงถูกตัดขาดจากอัลลอฮ์จนกว่าความต้องการของเขาจะต่อติดกับพระองค์ และความรักของเขาเป็นไปเพื่อพระองค์ผู้ทรงสูงส่ง
เป้าหมายของการเชื่อมต่อ (ระหว่างบ่าวกับอัลลอฮ์) นี้ คือ การมอบความรักให้แก่อัลลอฮ์ และทำให้ความรักนั้นผูกโยงอยู่กับพระองค์เพียงผู้เดียวโดยไม่มีสิ่งอื่นใดมาแทรกกลาง รวมทั้งมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระนาม คุณลักษณะ และการกระทำของอัลลอฮ์ กระทั่งรัศมีของคุณลักษณะเหล่านั้นสว่างกลบทับความมืดมนแห่งการเปรียบเทียบ (กับสิ่งถูกสร้าง) เสมือนกับที่แสงสว่างของความรักในอัลลอฮ์สามารถบดบังความอธรรมแห่งการตั้งภาคี
เมื่อการรำลึกของบ่าวเชื่อมต่อกับอัลลอฮ์ มันจะทำให้สิ่งขวางกั้นจากความเพิกเฉยระหว่างผู้รำลึกกับผู้ถูกรำลึกมลายสิ้น และทำให้สภาพที่ผู้รำลึกซึ่งสนใจสิ่งอื่นนอกเหนือจากผู้ถูกรำลึกหมดไป เมื่อนั้นเอง บ่าวจะสามารถเชื่อมต่อการรำลึกของตนกับอัลลอฮ์ได้อย่างสมบูรณ์ และยังสามารถเชื่อมโยงการปฏิบัติของเขากับคำสั่งใช้และห้ามปรามของพระองค์ จะเชื่อฟังและภักดีพราะถูกสั่งใช้ และเพราะรักในอัลลอฮ์ จะยอมละทิ้งสิ่งต้องห้ามเพราะถูกห้าม และเพราะมันจะทำให้พระองค์โกรธกริ้ว
นี่คือความหมายของการงานที่เชื่อมต่อกับคำสั่งใช้และห้ามปรามของอัลลอฮ์ สาระสำคัญของมัน คือ การขจัดปัญหาที่ส่งผลกับการกระทำการละทิ้งจากเป้าหมายและผลประโยชน์ที่เป็นไปเพื่อดุนยา (เช่น ตั้งใจถือศีลอดเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ไม่ใช่เพราะอัลลอฮ์สั่งใช้)
การมอบหมายและความรักเชื่อมต่อกับอัลลอฮได้ โดยที่บ่าวทำให้ตนเองกลายเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในอัลลอฮ์ สงบใจเมื่อได้อยู่กับพระองค์ พอใจในการบริหารจัดการอันดีงามของอัลลอฮ์ที่มีต่อชีวิตของเขา ไม่กล่าวโทษต่อกำหนดของพระองค์ไม่ว่าในสภาพใดก็ตาม มีความต้องการและพึ่งพาพระองค์เพียงองค์เดียว โดยไม่หวังพึ่งต่อสิ่งอื่น
ความกลัวของบ่าว ความหวัง ความดีใจ ปลื้มปีติ และความสุขของเขาเกี่ยวข้องกับอัลลอฮ์เพียงผู้เดียว เขาจึงไม่เกรงกลัวผู้ใดนอกจากพระองค์ ไม่หวังในตัวผู้ใด ไม่ดีใจหรือมีความสุขอย่างถึงที่สุดเพราะผู้ใดนอกไปจากอัลลอฮ์
แม้ว่ามนุษย์อาจได้รับบางความสุขหรือความดีใจจากสิ่งถูกสร้างแต่นั่นก็ไม่ใช่ความสุขอันสมบูรณ์หรือความดีใจอย่างเต็มเปี่ยม สิ่งใดก็ตามที่เป็นความสุขนอกเหนือไปจากอัลลอฮ์ แม้มันจะช่วยให้เขาได้ในสิ่งที่ต้องการ รู้สึกเพลิดเพลินและดีใจไปกับมัน แต่ถ้าเขาไม่ได้รับ เขาก็จะรู้สึกทุกข์และต่อต้าน จึงมีสิทธิ์ที่หัวใจจะพะว้าพะวงเมื่อได้รับมันมามากกว่าจะมีโอกาสดีใจกับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่
ดังนั้น จึงไม่มีความสุขหรือความดีใจที่แท้จริงนอกจากความสุขใจในเรื่องของอัลลอฮ์ หรือรู้สึกเป็นสุขกับสิ่งที่จะช่วยบ่าวให้ไปถึงพระองค์และช่วยทำให้พระองค์พึงพอใจ อัลลอฮ์ได้บอกไว้ว่าพระองค์มิทรงรักชอบ บรรดาผู้ที่เพลิดเพลินไปกับดุนยาและสิ่งประดับประดาของมัน แต่พระองค์สั่งใช้ให้บ่าวยินดีกับความกรุณาเมตตาของพระองค์ นั่นคือ อิสลาม อีมาน และอัลกุรอาน ดังกล่าวนี้คือคำอธิบายที่บรรดาเศาะฮาบะฮ์และตาบิอีนได้ให้ไว้
สรุปได้ว่า บุคคลใดที่สามารถทำให้กิจการต่างๆ ข้างต้นเชื่อมต่อกับอัลลอฮ์ได้ เขาก็จะไปถึงพระองค์ หากทำไม่สำเร็จ เขาก็จะถูกตัดขาดจากอัลลอฮ์ กลายเป็นคนที่การรู้จักอัลลอฮ์ของเขา ตลอดจนความต้องการและพฤติกรรมของเขา มีแต่ความคลุมเครือ สับสน และไม่ชัดเจน
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด3
ราคา : 300.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

ชีวิตที่อยู่ระหว่างความช่วยเหลือและความอ่อนโยนชีวิตบ่าวพลิกไหวไปมาระหว่างข้อชี้ขาดทางคำสั่งใช้และสภาวการณ์อันยากลำบากอยู...
26/01/2025

ชีวิตที่อยู่ระหว่างความช่วยเหลือและความอ่อนโยน
ชีวิตบ่าวพลิกไหวไปมาระหว่างข้อชี้ขาดทางคำสั่งใช้และสภาวการณ์อันยากลำบากอยู่เสมอ
เขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์เมื่อปฏิบัติตามคำสั่งใช้ และต้องอาศัยความอ่อนโยนของพระองค์ในสภาพการณ์อันยากลำบาก
ฉะนั้น ยิ่งมนุษย์ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์ได้มากเท่าไร เขาจะยิ่งได้รับความอ่อนโยนจากพระองค์ในช่วงเวลายากลำบากมากเท่านั้น หากบ่าวสามารถดำรงชีวิตตามคำสั่งใช้และห้ามของอัลลอฮ์ได้อย่างสมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน เขาก็จะได้รับความอ่อนโยนจากพระองค์จากทั้งภายในและภายนอก หากบ่าวเพียงกระทำตามรูปแบบแต่ไม่ได้รักษาสิทธิที่แท้จริงของการปฏิบัติให้ครบถ้วน (เช่น ปฏิบัติละหมาดแต่ขาดความนอบน้อม) เขาก็จะได้รับความอ่อนโยนดังกล่าวแค่เพียงภายนอก แต่ส่วนของความอ่อนโยนภายในที่เขาควรได้รับจะลดน้อยลง
หากถามว่า แล้วอะไรคือความอ่อนโยนภายใน?
คำตอบคือ สิ่งที่หัวใจจะสัมผัสได้ในสภาวะที่ยากลำบาก เป็นความรู้สึกสงบ สบายใจ ไม่วิตกกังวล ร้อนรุ่มกลุ้มใจ หรือหวาดกลัว
บ่าวจะก้มลงอย่างนอบน้อมเบื้องหน้าผู้เป็นนาย ทำหัวใจให้มีสมาธิมุ่งสู่พระเจ้าของเขา จิตวิญญาณภายในสงบนิ่ง แลเห็นถึงความเมตตาอ่อนโยนของอัลลอฮ์จนเลิกสนใจความทุกข์ยากและเจ็บปวดที่เกิดขึ้น รับรู้ได้ว่าอัลลอฮ์ทรงเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เขาแล้ว
จึงเป็นเขาที่หายไปจากการมองเห็นถึงทุกข์ภัยที่ต้องเผชิญ เขาคือบ่าวที่แท้จริง และชีวิตของเขาดำเนินไปภายใต้กฎกำหนดของผู้เป็นนายและข้อตัดสินของพระองค์ ไม่ว่าเขาจะพอใจหรือไม่ก็ตาม
ถ้าเขาพอใจและยอมรับ เขาย่อมได้รับความพอใจจากอัลลอฮ์ ถ้าเขาโกรธขึ้งและต่อต้าน สิ่งที่เขาจะได้รับก็คือความกริ้วโกรธของพระองค์
ความอ่อนโยนภายในนี้เป็นภาคผลจากการงานของหัวใจ มันจะเพิ่มขึ้นตามความสมบูรณ์ในการปฏิบัติและลดลงตามความบกพร่องที่เกิดขึ้น
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด3
ราคา : 300.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

ขุมทรัพย์อันมีค่ายิ่งอัลลอฮ์ ตะอาลาตรัสว่า "และไม่มีสิ่งใด (เครื่องยังชีพ) เว้นแต่ที่เรานั้นมีคลังของมันและเราจะไม่ให้มั...
25/01/2025

ขุมทรัพย์อันมีค่ายิ่ง
อัลลอฮ์ ตะอาลาตรัสว่า "และไม่มีสิ่งใด (เครื่องยังชีพ) เว้นแต่ที่เรานั้นมีคลังของมันและเราจะไม่ให้มันลงมานอกจากตามสภาวะที่ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว"
(อัลฮิจญร์ 15 : 21)
โองการนี้หมายรวมถึงทุกชนิดของปัจจัยยังชีพไม่ว่ารูปแบบใดๆ นั่นคือทุกสิ่งอย่างที่มีค่า ย่อมถูกร้องขอเฉพาะจากผู้ที่มีกองคลังอยู่มากมายและกุญแจทุกดอกอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของพระองค์ การวอนขอจากผู้อื่นนอกจากอัลลอฮ์ จึงเท่ากับเป็นการขอจากผู้ที่ไม่ได้ครอบครองสิ่งใดไว้ และไม่สามารถให้สิ่งใดได้
ส่วนคำกล่าวของอัลลอฮ์ที่ว่า "และแท้จริง จุดหมายปลายทางย่อมไปสู่พระเจ้าของเจ้า" (อันนัจญม์ 53 : 42)
อายะฮ์นี้หมายถึงขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ บอกให้เราทราบว่าความต้องการใดก็แล้วแต่ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่ออัลลอฮ์ หรือเพื่อจะเชื่อมโยงกับพระองศ์ สิ่งนั้นย่อมสูญสลายและมลายหายไป เพราะมันไม่ได้ถูกใช้อย่างตรงจุดหมายปลายทาง
ไม่มีผู้ใดคู่ควรแก่การเป็นจุดสิ้นสุดนอกจากผู้ซึ่งเรื่องราวทั้งหลายนั้นต้องไปสุดสิ้นยังพระองค์ กิจการต่างๆ ล้วนสิ้นสุดที่การสร้างของอัลลอฮ์ ความปราดเปรื่อง และความรอบรอบรู้ของพระองค์
อัลลอฮ์คือปลายทางของทุกเป้าหมายที่ถูกร้องขอ ทุกสิ่งอันเป็นที่รักเมื่อไม่ได้ถูกรักเพื่ออัลลอฮ์ล้วนเป็นความเหนื่อยยากและบทลงโทษ ทุกการงานที่ถูกกระทำขึ้นโดยไม่ได้เป็นไปเพื่อพระองค์จะถือเป็นโมฆะและสูญเปล่า ทุกหัวใจที่ไปไม่ถึงอัลลอฮ์คือหัวใจที่ได้รับความทุกข์ระทม ถูกปิดกั้นจากความสุขและชัยชนะ
ดังนั้น ทุกสิ่งอันเป็นที่ต้องการล้วนมาจากอัลลอฮ์ ดังที่อัลลอฮ์กล่าวว่า "และไม่มีสิ่งใด (เครื่องยังชีพ) เว้นแต่ที่เรานั้นมีคลังของมัน" (อัลฮิจญร์ 15 : 21)
อัลลอฮ์คือจุดสิ้นสุดแล้ว หลังจากพระองค์ไม่มีเป้าหมายใดให้ไปอีกและจะไม่มีสิ่งอื่นใดสามารถเป็นจุดจบได้นอกจากพระองค์
หากพิจารณาให้ลึกลงไปอีก จะพบความพิเศษของการให้เอกภาพซ่อนอยู่ นั่นคือ หัวใจของมนุษย์จะไม่มั่นคงและสงบนิ่งจนกว่ามันจะถูกส่งไปถึงอัลลอฮ์ ทุกสิ่งที่ถูกรักหรือถูกมุ่งปรารถนา นอกเหนือไปจากอัลลอฮ์เท่ากับมีเป้าหมายอื่นที่ไม่ใช่พระองค์ ไม่มีเป้าหมายใดเป็นที่พึงพอใจเนื่องจากตัวมันเองนอกจากพระเจ้าผู้เป็นจุดสิ้นสุดของทุกสรรพสิ่ง เป็นไปไม่ได้ที่สิ่งถูกสร้างจะมีจุดหมายปลายทางสองแห่ง เช่นเดียวกับที่มันเป็นไปไม่ได้หากสรรพสิ่งทั้งหลายจะมีจุดเริ่มต้นจากผู้สร้างสองคน
ผู้ใดที่ความรัก ความหวัง ความต้องการ และการเชื่อฟังของเขาไปสิ้นสุดยังสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ สิ่งนั้นย่อมเป็นเท็จและสูญสลาย เขาจะถูกจับแยกจากผู้ที่เขาต้องการมากที่สุด (นั่นคืออัลลอฮ์) และผู้ใดที่ความรัก ความหวัง ความกลัวเกรง และการแสวงหาของเขาคืออัลลอฮ์ เขาจะได้รับชัยชนะจากการได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ ความเพลิดเพลินปีติยินดี และความสุขอันนิจนิรันดร์
บทความจากหนังสือ : อัลฟะวาอิด3
ราคา : 300.- บาท
ผู้แต่ง : อิบนุลก็อยยิม อัลเญาซียะฮ์

ที่อยู่

Bangkok

เบอร์โทรศัพท์

+66891738155

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ สำนักพิมพ์มิรอาตผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

ติดต่อ ธุรกิจของเรา

ส่งข้อความของคุณถึง สำนักพิมพ์มิรอาต:

แชร์