21/12/2022
⛳️ HACCK ⛳️
5 หลักการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี
จาก My Brain Has Too Many Tabs Open
เขียนโดย Tanya Goodin / แปลโดย พรรษรัตน์ พลสุวรรณา
ก่อนจะไปเป็นชาวโซเชียลในปี 2023 ชวนเปิดหนังสือ My Brain Has Too Many Tabs Open จาก book ทบทวนโลกดิจิทัลที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตพวกเราตลอดทั้งปี หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นโลกที่หมุนอยู่ในชีวิตของเราแทบทุกชั่วโมงนาที หนังสือเล่มนี้ชวนตั้งคำถามอย่างหลากมุมต่อวิถีดิจิทัล ไปจนถึงคำถามสำคัญอย่าง เราจะเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีได้อย่างไร กับข้อสรุป 5 ข้อที่ผู้เขียนนำเสนอเอาไว้ภายในเล่ม ดังนี้
📝 Humanity (ความเป็นมนุษย์) : เราทุกคนล้วนเชื่อมโยงกัน
…ผู้เขียนพยายามที่จะเสนอว่าเราทุกคนต่างเชื่อมโยงถึงกันในโลกดิจิทัลแห่งนี้ สำนึกแห่งความเป็นปุถุชนเกิดขึ้นจากความเข้าใจว่าเราทุกคนต่างมีส่วนได้ส่วนเสีย แต่เราก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อวิธีที่โลกดิจิทัลจะพัฒนาไป และรับผิดชอบต่อการทำให้มันเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย มีความเคารพต่อกัน และเป็นพื้นที่ในด้านบวก เราอาจจะไม่ได้สร้างปัญหาทุกอย่างที่เราเผชิญขึ้นมา แต่เราสามารถร่วมกันสร้างหนทางแก้ไขได้ เพราะมันเปรียบเสมือนจัตุรัสกลางเมืองของเรา
📝 Authenticity (ตัวตนจริงแท้) : ฉันเป็นตัวของตัวเองอยู่เสมอ
….
หนังสือเล่มนี้เสนอว่า การเปรียบเทียบระหว่างตัวตนจริงแท้กับความไม่มีตัวตนทางออนไลน์ เป็นหัวข้อหนึ่งที่มีแนวโน้มจะแบ่งแยกคนออกเป็น 2 ขั้วตรงข้ามได้ชัดเจน โดยแต่ละฝ่ายต่างก็รู้สึกเชื่อมั่นในมุมมองของตนเองเป็นอย่างมาก ในยุคแรกๆ ของอินเทอร์เน็ต ความไม่มีตัวตนคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่อัตลักษณ์ในโลกออฟไลน์และประวัติข้อมูลทางออนไลน์มีส่วนเชื่อมโยงกันน้อยมาก เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ได้เปลี่ยนมาสู่วัฒนธรรมที่มุ่งเน้นรูปภาพมากกว่าถ้อยคำ พฤติกรรมนั้นก็เริ่มลดน้อยถอยลง แต่แพลตฟอร์มหลักๆ ยังคงยอมให้ผู้ใช้ไม่แสดงตัวตนอยู่บ้างในระดับที่แตกต่างกันตามรูปแบบ เช่น ทวิตเตอร์และอินสตาแกรม ยอมให้ปกปิดตัวตนผู้ใช้มากกว่าเฟซบุ๊ก และ 4chan เป็นต้น
แง่มุมความเป็นนิรนามในโลกดิจิทัลเป็นประเด็นที่น่าขบคิดหลายประการ เราจำเป็นต้องเท่าทันในทุกด้าน หากมองในด้านเหตุผลทางวัฒนธรรม หลายครั้งเราจำเป็นจะต้องรักษาความเป็นนิรนามทางออนไลน์เอาไว้ กรณีในบางประเทศ สมาชิกในกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเสี่ยงจะถูกดำเนินคดีและจำคุกเพราะแสดงอัตลักษณ์ตัวเองออกมา และสำหรับผู้ใช้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีการปกป้องอัตลักษณ์ของตนเองในระดับหนึ่งก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ญี่ปุ่น นับเป็นประเทศให้คุณค่ากับความเป็นส่วนตัวและมีการเปิดเผยตนเองต่ำ มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หลายรายที่ยังคงใช้นามแฝงหรือแม้กระทั่งสร้างบัญชีปลอมหลายบัญชี สำหรับทำกิจกรรมทางออนไลน์ต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุผลทางวัฒนธรรมโดยล้วน
ในอีกมุมหนึ่ง หากมองเรื่องการคุกคามอื่นๆ ทางออนไลน์ เช่น การลวงรักลวงเงิน แกล้งป่วน ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับการปกปิดตัวตนส่วนตัวในโลกออนไลน์ เรื่องนี้จึงเหมือนเป็นดาบสองคมในประเด็นโลกดิจิทัล และจำเป็นต้องประเมินความเหมาะสมตามรูปแบบแพลตอร์ม ตลอดจนตระหนักว่าเรามีตัวตนที่แท้จริงอยู่เสมอในการสื่อสาร/กระทำการต่างๆ ผ่านทางโซเชียล
📝 Collaboration (ร่วมมือกัน) : ร่วมมือกันย่อมทำได้มากกว่าทำคนเดียว
…พลังแห่งโลกดิจิทัลอย่างหนึ่งคือการเชื่อมโยงชุมชนต่างๆ ที่อาจแยกห่างจากกันทางกายภาพ ช่วยขยายเสียงที่อาจจะถูกทำให้เงียบให้ดังขึ้น และจุดประกายการเคลื่อนไหวทั่วทั้งโลกได้ นี่คือหนึ่งในแง่มุมอันแสนมหัศจรรย์ของมัน และเพื่อใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อที่แสนน่าทึ่งนี้ให้ได้สูงสุด หนังสือเล่มนี้ชวนให้เราหันมาตั้งคำถามว่า เราจะมีวิธีการใช้มันเพื่อร่วมแรงร่วมใจ เพื่อสร้างศิลปะ เพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อขจัดอุปสรรคกีดขวางได้อย่างไร การกระจายปัญหาระดับโลกหรือระดับชุมชนสู่อินเทอร์เน็ตเพื่อร่วมกันแก้ไข และร่วมกันค้นหาหนทางแก้ที่แปลกใหม่ ทั้งยังสร้างสรรค์จากผู้ใช้ที่เชื่อมโยงกันนับล้านคน
📝 Critical Thinking (คิดเชิงวิพากษ์) : ตั้งคำถามกับทุกอย่าง
หนังสือเล่มนี้ชวนตั้งต้นด้วย คำถามง่ายๆ เพียงข้อเดียวที่เราควรถามตัวเองอยู่บ่อยๆ นั่นคือ “ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือเรื่องจริง”
การเติบโตอย่างมีคุณภาพทางออนไลน์และการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีนั้น หมายถึงการที่เราต้องเข้าหาทุกสิ่งและทุกคนด้วยกรอบความคิดเชิงวิพากษ์ เราต้องคอยถามคำถามกับตัวเองถึงแรงจูงใจและนัยของทุกคนในพื้นที่ดิจิทัลที่เราไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว (นับเป็นร้อยละ 99.999 จากทั้งหมด) ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มที่มีเครื่องหมายถูกสีฟ้าอยู่ข้างชื่อ หรือมีบรรดาผู้สนับสนุนเป็น 10 ล้านคน คำถามง่ายๆ ที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมาในหัวข้อนี้ เช่น ผู้โพสต์ต้นฉบับจะได้รับอะไรจากสิ่งนี้ พวกเขาพยายามจะโน้มน้าวใจเราให้ทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างประโยชน์ให้พวกเขาหรือไม่ หลักฐานสนับสนุนสิ่งที่พวกเขาพูดอยู่ไหน เราลองหามุมมองอื่นดูหรือยัง มันอาจดูน่าเหนื่อยหน่ายถ้าเราต้องคอยทำเช่นนี้กับข้อมูลทุกชิ้นที่เราเจอในทุกครั้ง แต่เมื่อเราเริ่มรวบรวมหลักฐาน เราก็จะยิ่งเชื่อมั่นได้มากขึ้นว่าเราควรเชื่อถือใคร
📝 Kindness (ความใจดี) : ปฏิบัติกับทุกคนด้วยความเห็นอกเห็นใจ
ในหลายๆ แง่มุมนั้น ชีวิตในโลกสมัยใหม่ทำให้เราใจดีต่อกันน้อยลงมาก เรามีแนวโน้มที่จะไม่ได้อาศัยอยู่ในชุมชนที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมานานอีกต่อไป จนการกระทำของเราไม่ได้ส่งผลกระทบที่เราต้องทนอยู่กับมัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการขาดสำนึกเรื่องภาระความรับผิดชอบทางออนไลน์คือเหตุผลที่ว่า ทำไมคนมากมายถึงไม่เป็นมิตร มุ่งร้าย หรือหยาบคายใส่กันในโลกดิจิทัล
รากฐานของการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี อันเป็นหลักการสำคัญข้อหนึ่ง นั่นคือเราต้องปฏิบัติต่อคนอื่นที่เราเจอทางออนไลน์ด้วยความใจดี เราไม่มีวันรู้ได้ว่าคนอื่นกำลังเจออะไรอยู่บ้าง ว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับอะไร หรือที่จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง ที่ด้านหลังฉาก-หน้าฉากของสื่อสังคมออนไลน์
🔸 อ่านหลากด้านของ “โลกดิจิทัล” ต่อใน "My Brain Has Too Many Tabs Open ปิดแท็บชีวิตแค่ปิดโซเชียล" ผลงานโดย Tanya Goodin แปลโดย พรรษรัตน์ พลสุวรรณา
คลิกเลย https://bit.ly/3xGezjU
#ปิดแท็บชีวิตแค่ปิดโซเชียล