02/11/2024
เมื่อวิธีการกินอาหารของมนุษย์ยุคหิน ยังคงอร่อยอยู่ในปัจจุบัน
เมนูกระดูก ที่เป็นมากกว่าแค่ "กระดูก" 🍖🥩😋
เรื่องของเรื่องคือวันก่อนเราไถ tiktok ไปเรื่อย ๆ ไปเจอกับคลิป ASMR ที่มีคนมาแทะกระดูก(เลียกระดูก) มีเสียงแจ้บๆ ซึ่งหลายคนเขาก็จะรีวิวว่าไขกระดูกเนื้อวัวนี่ละเลิศ เลยเป็นคำถามให้เราไปค้นหาต่อเลยว่า เอ้อ ! คุ้น ๆ ว่าจะเคยเห็นอยู่หลายเมนูเลยนะในอาหารยุโรป
งั้นวันนี้พวกเรา InfoStory ขอพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักเรื่องราวของการกินเมนูกระดูกกันเบาเบา 🥰
— — — — — — — — — — — —
ถ้าพูดถึงกระดูกเนี่ย เราจะคงพอจะคุ้นตากับการนำกระดูกมาใช้งานในแบบของน้ำต้มกระดูก (Bone Broth) หรือนำไขกระดูกมากินเพิ่มอรรถรสเลย (Bone Marrow)
🍜 น้ำซุปกระดูก หรือ Bone Broth เป็นหนึ่งในอาหารที่มีประวัติยาวนานหลายพันปี โดยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์และชนเผ่าโบราณได้ใช้กระดูกสัตว์มาทำซุปเพื่อให้ได้สารอาหารจากส่วนต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ ซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจในการใช้ทรัพยากรที่มีให้ได้ประโยชน์สูงสุด
โดยเฉพาะในเอเชีย น้ำซุปกระดูกมักถูกนำมาเป็นฐานในการปรุงราเมน ซุป หรือน้ำสต๊อกที่ใช้ทำสตูต่าง ๆ และยังช่วยเพิ่มรสชาติอูมามิและความกลมกล่อมให้กับอาหาร นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแรงของข้อต่อและผิวหนัง โดยในวัฒนธรรมจีนสมัยก่อนเนี่ย น้ำซุปกระดูกถูกใช้ในการแพทย์แผนจีนเพื่อเสริมสร้างพลังงานไตและสนับสนุนสุขภาพทางเดินอาหาร
🦴 Bone Marrow หรือไขกระดูก (ให้เพื่อน ๆ นึกถึงไขกระดูกวัวประมาณช่วงกระดูกขาของวัวเป็นหลักนัคร้าบ) เป็นวัตถุดิบที่ถือว่าเป็นของอร่อยของผู้ที่ชื่นชอบความมันลื่นและรสชาติที่หอมหวาน ไขกระดูกที่อยู่ภายในกระดูกวัวเมื่อนำมาย่างหรืออบจนสุก จะทำให้ไขมันจับตัวกันเป็นวุ้นหอม ๆ ที่สามารถรับประทานได้โดยตรง หรือทาลงบนขนมปังเพื่อเพิ่มรสชาติ ไขกระดูกนั้นเป็นที่นิยมมากในอาหารยุโรป เช่นในฝรั่งเศสและอิตาลี
— — — — — — — — — — — —
[ นี่เรา…กำลังย้อนยุควิธีการกินแบบดั้งเดิมเมื่อ 2.5 ล้านปีที่ผ่านมาหรือนี่ ! 😲 ]
อันที่จริงแล้ว หากพูดว่า 2.5 ล้านปีก็อาจจะเวอร์ไปสักหน่อยนะ 🤣 แต่เพราะในยุคนั้นตรงกับมนุษย์ยุคหินเก่า (Paleolithic Age 🪨) เพิ่งจะรู้วิธีการงัดกระดูกออกจากสัตว์ และรู้จักการกินไขกระดูกเช่น วัว หมู แกะ เพื่อเสริมความอึดถึงทนให้กับร่างกาย (ในที่นี้เราหมายถึงช่วยสร้างความอบอุ่นให้พลังงานนะคร้าบ) เข้าใจว่าความคิดมนุษย์ยุคนั้น เขาน่าจะคิดแค่กินให้หมด เสียดายของ 😅
จนมาถึงในช่วงสัก 10,000 ปีก่อน ที่พบประวัติการต้มน้ำซุปกระดูกของกลุ่มมนุษย์ล่าและเก็บของป่า (Hunter-Gatherers) และพยายามใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของสัตว์ที่พวกเขาล่าได้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ กระดูก หรืออวัยวะต่างๆ เพื่อไม่ให้สูญเสียทรัพยากรที่มีค่า 🪹
👲 จนกระทั่งมาถึงในช่วง 3,000 ปีก่อน ที่ชาวจีนได้ใช้กระดูกสัตว์ในการทำน้ำซุป เพื่อใช้ในการปรุงอาหารและเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
โดยน้ำซุปกระดูกหมูถือว่าเป็นส่วนสำคัญของอาหารและยาสมุนไพรในแพทย์แผนจีน ชาวจีนเชื่อว่าน้ำซุปกระดูกสัตว์เหล่านี้ มีคุณสมบัติในการเสริมสร้างสุขภาพและบำรุงร่างกาย โดยเฉพาะในการบำรุงไตและระบบย่อยอาหาร
นอกจากชาวจีนแล้ว ชาวอียิปต์โบราณเองก็เป็นอีกหนึ่งที่มีวัฒนธรรมการปรุงอาหารแบบการทำน้ำซุปกระดูกสัตว์ โดยพบหลักฐานว่าในสมัยอียิปต์โบราณมีการต้มน้ำซุปจากกระดูกเพื่อใช้ในการบำบัดโรคและเป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่าสูง นอกจากนี้ ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก(ก็ช่วงประมาณ 460–370 ปีก่อนคริสตกาล เลยทีเดียว) ยังแนะนำให้ใช้ "น้ำซุปกระดูก" เพื่อช่วยรักษาปัญหาทางเดินอาหาร ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมของชาวตะวันตกเองก็รู้จักการทำน้ำซุปกระดูกมาตั้งแต่สมัยโบราณเหมือนกัน
🤓 ส่วนตัวเรายังคงมองว่า คนสมัยก่อนเขาแค่เสียดายของ พวกเนื้อสัตว์ต่าง ๆ คงมีราคาสูง
แต่ในปัจจุบันไม่น่าจะเป็นเรื่องการเสียดายแล้ว แต่กินเพื่อความสนุกอร่อยแทน
— — — — — — — — — — — —
[ เมนู Ossobuco alla Milanese 🇮🇹 ]
🇮🇹 Osso แปลว่ากระดูก
Buco แปลว่า รู
Ossobuco แปลตรงตัวว่า “กระดูกที่มีรู” แต่หากแปลในบริบทของเมนูอาหาร ก็จะหมายถึงเมนูไขกระดูกนั่นเองคร้าบ
หนึ่งในเมนูสุดคลาสสิกของแคว้นลอมบาร์เดียในประเทศอิตาลี ที่ใช้กระดูกขาวัวซึ่งยังมีไขกระดูกติดอยู่ นำมาตุ๋นด้วยไวน์ขาวและเครื่องเทศต่าง ๆ กระดูกวัวถูกเคี่ยวจนเนื้อข้างๆ นุ่มละลาย ไฮไลท์คือไขกระดูกภายในกลายมีลักษณะเป็นวุ้น (ก็แน่ละมันไขมันนี่น่ะ !) ด้วยวิธีการทำแบบ slow cooking ก็จะทำให้ตัวไขกระดูกในกระดูกค่อย ๆ ละลายลงในซอสช่วยเพิ่มความเข้มข้นและความหอมมันให้กับจานนี้อีกด้วย
เมนูนี้จะนิยมเสิร์ฟคู่กับรีซอตโต้สีเหลืองทองที่(ซึ่งมาจากสีของหญ้าฝรั่น) เสิร์ฟพร้อมกับซอส Gremolata ซึ่งเป็นซอสที่ทำจากผิวเลมอน กระเทียม และพาร์สลีย์ ที่ช่วยเพิ่มความสดชื่นและตัดรสกับเนื้อได้ดี
[ เมนู Os à Moelle 🇫🇷 ]
🇫🇷 ข้ามมาที่เมนูเพื่อนบ้านกันสักนิด
"Os à Moelle" แปลตรงตัวเลยว่า ไขกระดูก
ซึ่งเป็นเมนูที่ใช้ไขกระดูกวัวมาอบจนตัวไขกระดูกนุ่มเป็นวุ้นคล้ายกับเมนูของอิตาลีด้านบนเลย
แต่เปลี่ยนวิธีการกินโดยจะมากินกับขนมปังบาแกตต์พร้อมโรยเกลือทะเลสักเล็กน้อย
แถมสักนิดเกี่ยวกับเรื่องน้ำซุปของเมนูเฝอ (Pho) ของเวียดนาม 🇻🇳
เรื่องของเรื่องคือวันก่อนเราไปหาอ่านใน Reddit กระทู้นี้มีคนถามว่า
ถ้าเฝอใช้น้ำซุปกระดูกหมูแทน จะเรียกเฝอได้ไหม ? พอดีร้านของเขากำลังจะทำสูตรนี้ขึ้นมา..
แน่นอนว่า…. User ที่คาดว่าน่าจะเป็นชาวเวียดนามหลายคนก็เข้ามาคอมเมนต์ว่า ถ้าใช้กระดูกหมู มันก็ไม่เรียกว่าเฝอแล้ว…
เราเลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมาให้เบา ๆ
น้ำซุปที่ใช้สำหรับเฝอนั้นมักจะทำจากกระดูกวัวที่เคี่ยวนานหลายชั่วโมงซึ่งเป็นหัวใจของเมนูนี้ อีกทั้งการใช้กระดูกหมูจะเปลี่ยนโทนของน้ำซุปและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของเฝอ แต่ว่าเราอาจคุ้นเคยกับเมนูเฝอหมูและเฝอไก่ ที่จะใช้เนื้อสัตว์หรือกระดูกของหมูหรือไก่มาทำน้ำซุปแทน (ส่วนตัวพวกเราชอบเฝอไก่ แห่ะ ๆ 😅😋)
#ไขกระดูกวัว
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- บทความ Bone Marrow: Nutrition, Benefits, and Food Sources จากเว็บ healthline
- บทความ How to cook and eat bone marrow at home จากเว็บ steakschool
- บทความ Roasted Marrow Bones จากเว็บ seriouseats
- บทความ The History of Bone Broth จากเว็บ ossaorganic
- บทความ The Surprising History of Bone Broth จากเว็บ nutraorganics