08/02/2025
นักวิจัยอเมริกันค้นพบโครโมโซมพิเศษช่วยกำหนดเพศของหมึก ซึ่งอาจมีอยู่มาตั้งแต่ประมาณ 500 ล้านปีก่อน ก่อนไดโนเสาร์กำเนิด
โลกของสิ่งมีชีวิตและชีววิทยายังคงมีหลายปริศนารอให้แก้ ในครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐสามารถคลายปริศนาทางชีวภาพที่ยาวนานเกี่ยวกับเรื่องโครโมโซมพิเศษที่แยกเพศของหมึกได้ในที่สุด ซึ่งคาดว่ามันอาจมีอยู่มาตั้งแต่ 480 ล้านปีก่อน เก่าแก่กว่าการเกิดขึ้นของไดโนเสาร์
สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นที่รู้กันดีว่าตัวเมียมีโครโมโซม XX ขณะที่ตัวผู้มี XY อย่างไรก็ตาม ระบบการกำหนดเพศในอาณาจักรสัตว์มีความหลากหลายอย่างมาก เช่น ไข่ของเต่าจะกำหนดเพศขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่มันถูกฟัก หรือในบางสายพันธุ์ของปลา ยีนเพียงตัวเดียวก็สามารถเป็นตัวกำหนดเพศได้
แต่ในกรณีของหมึก กลไกการกำหนดเพศยังคงเป็นปริศนามาโดยตลอด จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอเรกอน (University of Oregon) ได้วิเคราะห์สารพันธุกรรม (DNA) ของหมึกตัวเมียสายพันธุ์ California two-spot octopus และพบโครโมโซมที่มีสารพันธุกรรมเพียงครึ่งหนึ่งของโครโมโซมอื่น ๆ ซึ่งไม่เคยถูกตรวจพบในหมึกตัวผู้มาก่อน ภายหลังการวิเคราะห์เพิ่มเติมจึงได้ข้อสรุปว่าค้นพบโครโมโซมที่ทำหน้าที่กำหนดเพศ
ทีมวิจัยได้ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเพิ่มเติมของหมึกสายพันธุ์อื่น ๆ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อค้นพบนี้ พบว่าโครโมโซมชนิดนี้ไม่ได้มีเฉพาะในหมึกสายพันธุ์ California two-spot octopus เท่านั้น แต่ยังพบในหมึกสายพันธุ์อื่น ๆ รวมถึงหมึกกล้วย (squid) และหอยงวงช้าง (nautilus) ด้วย
นั่นหมายความว่า หมึกและสัตว์จำพวกหมึกกลุ่มเซฟาโลพอด (cephalopod) อื่น ๆ อาจใช้โครโมโซมชนิดพิเศษนี้ในการกำหนดเพศมาตั้งแต่ 480 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่หมึกจะวิวัฒนาการแยกออกจากสัตว์จำพวกนอติลุส หรือก่อนหน้าที่ ไดโนเสาร์จะเกิดเกิดขึ้นบนโลกประมาณ 250 ปี
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับการค้นพบนี้ คือ โครโมโซมกำหนดเพศของหมึกมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยตลอดเวลาหลายร้อยล้านปี ซึ่งแตกต่างจากตัวอย่างของมนุษย์อย่างชัดเจน เพราะโครโมโซม Y ของมนุษย์แตกต่างจากยีนบรรพบุรุษมากเมื่อเทียบกับช่วงแรกของวิวัฒนาการ โครโมโซมกำหนดเพศของหมึกจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะมันยังคงสภาพเดิมเกือบสมบูรณ์ ทำให้กลไกนี้เป็นหนึ่งในระบบกำหนดเพศที่เก่าแก่และเสถียรที่สุดในอาณาจักรสัตว์
หมึกเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนและชาญฉลาดที่สุดในโลก ระบบกำหนดเพศของพวกมันยังได้ช่วยเพิ่มอีกหนึ่งมิติให้กับการศึกษาทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ แม้ว่าการค้นพบนี้จะเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ แต่นักวิจัยยังคงต้องหาคำตอบว่า หมึกใช้โครโมโซมนี้อย่างไรในการกำหนดเพศต่อไป
ที่มาข้อมูล https://interestingengineering.com/science/oldest-sex-chromosomes-in-octopuses
ที่มาของรูปภาพ Pexels / Pia B