MOODY ความรู้สึกข้างใน ยิ่งเข้าใจ ยิ่งเติบโต 🍿

MOODY: ‘Burnt Toast Theory’ เมื่อชีวิตเหมือนการปิ้งขนมปัง พลาดพลั้งในครั้งแรก แต่ครั้งต่อไปมันจะดีขึ้น------------------...
17/02/2025

MOODY: ‘Burnt Toast Theory’ เมื่อชีวิตเหมือนการปิ้งขนมปัง พลาดพลั้งในครั้งแรก แต่ครั้งต่อไปมันจะดีขึ้น
-------------------
คนเราทำผิดพลาดมากที่สุด อาจจะเป็นตอนทำอะไรก็ตามใน ‘ครั้งแรก’ แต่เพราะความผิดพลาดนั้นย่อมทำให้เราเรียนรู้ว่าครั้งต่อไปเราจะทำมันให้ดีขึ้น วันนี้ MOODY จึงอยากเล่าถึง ‘Burnt Toast Theory’ หรือ ‘ทฤษฎีขนมปังไหม้’ ที่เป็นไวรัลในสังคม TikTok ที่จะช่วยให้คนเรายอมรับความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ แล้วก้าวผ่านมันไปได้ง่ายขึ้น
อันที่จริงทฤษฎีนี้ไม่ได้มีคำนิยามตายตัวนัก เนื่องจากริเริ่มจากการแชร์ทัศนคติของ TikToker คนหนึ่ง ชื่อแอคเคาต์ว่า Ingrid () โดยเธออธิบายเอาไว้ในคลิปว่า “หากคุณปิ้งขนมปังก่อนไปทำงาน 5-10 นาที อาจทำให้รอดพ้นจากอันตรายบางอย่างที่รออยู่ก็ได้ เช่น การประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์ หรือรอดจากคนที่ไม่อยากเจอ”
ด้าน คาเมรอน วิลเลียมส์ (Cameron Williams) นักจิตวิทยา ได้อธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีขนมปังไหม้ที่ดึงดูดใจผู้คนในวงกว้างไว้ว่า “สัญชาตญาณของมนุษย์เราคือ การแสวงหาความหมายให้กับความสับสนวุ่นวายว่าเป็นโชคชะตาที่ถูกกำหนดไว้แล้ว” เพราะอาจเป็นไปได้ว่าเราบางคนไม่เชื่อเรื่องความบังเอิญ ดังนั้นจึงพยายามโต้แย้งสถานการณ์เหล่านั้นด้วยตรรกะสักอย่าง” นี่อาจเป็นนัยเริ่มต้นของทฤษฎีนี้
และอีกด้านหนึ่ง หากเราปิ้งขนมปังไหม้ก็อาจทำให้การเริ่มต้นเช้าวันใหม่ไม่ค่อยดีนัก แต่หากลองปิ้งอีกสักแผ่นเราจะลดระดับไฟลงและปรับระยะเวลาให้เร็วขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจเป็นขนมปังปิ้งแผ่นกรอบกำลังดีก็ได้
ทว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ขนมปัง แต่อยู่ที่มุมมองของเราที่มีต่อสถานการณ์นั้นๆ ต่างหาก จากนั้นผู้คนต่างพูดถึงทฤษฎีนี้ และแชร์ในมุมมองของตัวเองว่าได้อะไรจาก Burnt Toast Theory บ้าง
เพราะทฤษฎีขนมปังไหม้ยังสนับสนุนให้คนเรายอมรับความพ่ายแพ้หรือความไม่ได้ดั่งใจบางอย่างในชีวิต แม้ ณ ตอนนี้มันช่างลำบากลำบน แต่เมื่อเราพยายามอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง ยิ่งพยายามฝึกฝน ฝ่าฝันเท่าไหร่ เชื่อว่าช่วงเวลาที่กำลังรอเราอยู่มันจะดีขึ้นแน่ๆ บางคนก็กล่าวถึงพลังแห่งจักรวาลที่แม้เราจะไปผิดทาง แต่จักรวาลจะนำพาเราไปในทิศทางที่ใช่เสมอ หากเราเชื่อมั่นจริงๆ
ซึ่งหากลองดูแก่นของ Burnt Toast Theory อันที่จริงมีความคล้ายคลึงกับทฤษฎีแรงดึงดูดของโลก แมนิเฟสต์ (manifestation) หรือวิธีการกำหนดอารมณ์ในทุกเช้าของแต่ละวัน รวมถึงแนวคิดด้านจิตวิทยาพื้นฐานที่ว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบบนโลกใบนี้ ดังนั้น การยอมรับความผิดพลาดให้ได้จึงทำให้เราก้าวผ่านสิ่งเหล่านั้นไปสู่ชีวิตที่ต้องการได้
-------------------
สุดท้าย ข้อสังเกตที่ทำให้ Burnt Toast Theory กลายเป็นแนวคิดที่ไวรัลขึ้นมา อาจเพราะมันเห็นภาพได้ง่าย เชื่อมโยงได้กับทุกคนและสามารถจับต้องได้ จึงทำให้ดึงดูดความสนใจผู้คนได้นั่นเอง ดังนั้น ลองนำ Burnt Toast Theory ไปปรับใช้ดูกัน แล้วมาแชร์กันได้ในคอมเมนต์ว่าเวิร์กหรือเปล่า

MOODY QUOTE: “ความหวังเปรียบเสมือนเปลวเทียน อาจจะไม่มีพลังนัก ไม่ได้สว่างไสวมาก แต่ก็มีเชื้อไฟเล็กๆ ที่เป็นโอกาส รอคอยให...
16/02/2025

MOODY QUOTE: “ความหวังเปรียบเสมือนเปลวเทียน อาจจะไม่มีพลังนัก ไม่ได้สว่างไสวมาก แต่ก็มีเชื้อไฟเล็กๆ ที่เป็นโอกาส รอคอยให้ชีวิตคว้าให้ถึง เพื่อผ่านพ้นเรื่องต่างๆ ไปได้ ดังนั้น การมี ‘ความหวัง’ ไว้จึงสำคัญ เพราะถ้าไม่มีเลย มันทำให้ชีวิตเรามืดมน”
หลายครั้งที่ชีวิตต้องพบเจอปัญหา อุปสรรค และความท้าทายที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ทำให้ใจเราท้อ มีแต่คำถามเต็มหัว จนอยากยอมแพ้ แต่ตราบใดที่ยังรู้สึกถึง ‘ความหวัง’ อยู่ เชื่อเถอะว่าในที่สุดแล้วเราจะผ่านทุกอย่างไปได้ ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหน จะยากเย็นสักเท่าไรก็ตาม หลังจากนั้นเราจะรู้สึกเอ่อล้นไปด้วยความรู้สึกดีๆ มากมายที่มีต่อตัวเอง
‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา หรือรู้จักกันดีด้วยชื่อ ‘บ.ก.ลายจุด’ ร่วมพูดคุยในงานแถลงข่าว Soul Connect Fest 2025: Humanice มหกรรมพบเพื่อนใจ ในประเด็น ‘Soul Connect: จิตวิญญาณ การร่วมทุกข์ และความหวัง’ เขาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการ ‘เปิดใจ’ คุยกับตัวเองในฐานะเพื่อน เพื่อสำรวจความเป็นไปของตัวเอง เข้าใจตัวเอง และหาวิธีที่จะนำไปสู่การก้าวผ่านทุกๆ สิ่งที่เข้ามาได้ในที่สุด

#สุขภาวะทางปัญญา #จิตวิญญาณ #การร่วมทุกข์
#ความหวัง #สสส

MOODY QUOTE: "คุณค่าของตัวคุณ คุณกำหนดมันได้เอง ไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาบอกว่าคุณคือใคร"  MOODY เชื่อว่าทุกคนรู้ดีที่สุดว...
15/02/2025

MOODY QUOTE: "คุณค่าของตัวคุณ คุณกำหนดมันได้เอง ไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาบอกว่าคุณคือใคร"
MOODY เชื่อว่าทุกคนรู้ดีที่สุดว่า ฉันเป็นใครและทำอะไรได้บ้าง แต่บางครั้งความเหนื่อยล้าอาจทำให้ท้อ เสียงวิจารณ์อาจทำให้หลงทาง เลยอยากให้ลองหาพื้นที่เงียบๆ นั่งลงแล้วพูดคุยกับตัวเองบ้าง ก็สามารถช่วยให้กลับมามองเห็นจิตวิญญาณดวงน้อยๆ ของตัวเองอีกครั้ง
เหมือนกับ บียอนเซ่ (Beyoncé) ศิลปินหญิงผู้ได้รับฉายาว่าเป็นราชินีแห่งวงการเพลง แม้จะมีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลงและการเต้นมาตั้งแต่เด็ก แต่กว่าเธอจะประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ทั้งถูกค่ายเพลงใหญ่ปฏิเสธ ต้องแข่งขันกับศิลปินคนอื่นๆ รวมถึงเคยเผชิญหน้ากับภาวะซึมเศร้า ทว่าเธอไม่เคยยอมแพ้ คอยฝึกซ้อมอย่างหนักจนกระทั่งทำผลงานกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก มีทั้งเพลงฮิตตลอดกาล ได้รับรางวัลมากมาย ที่สำคัญกลายเป็นแรงบันดาลใจแก่แฟนเพลงทั่วโลก


MOODY: Valentine’s Resolution วาเลนไทน์นี้ฉันจะรักเธอให้ดีกว่าเดิม -------------------วาเลนไทน์มาถึงทีไร คู่รักต่างพากัน...
14/02/2025

MOODY: Valentine’s Resolution วาเลนไทน์นี้ฉันจะรักเธอให้ดีกว่าเดิม
-------------------
วาเลนไทน์มาถึงทีไร คู่รักต่างพากันออกไปเดตเพื่อใช้เวลาในค่ำคืนพิเศษด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความโรแมนติกในมื้อพิเศษ จองที่นั่งคู่ในโรงหนัง พากันออกไปเดินเล่น ชอปปิง หรือออกไปดื่มด่ำกับบรรยากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการแสดงความรักอย่างหนึ่ง
แต่ปีนี้ แทนที่จะให้วาเลนไทน์เป็นแค่วันของเดตที่เต็มไปด้วยดอกไม้ ช็อกโกแลต หรือมื้ออาหารสุดหรู MOODY อยากชวนทุกคนลองมาตั้ง ‘Valentine’s Resolution’ กัน เพราะความรักไม่ใช่แค่เรื่องของวันนี้วันเดียว แต่มันคือประสบการณ์ของทุกวันที่เราจะเดินไปด้วยกันในปีนี้
ลองนึกดู… ถ้าเราใช้โอกาสนี้ไม่ใช่แค่บอกรักกันตามเทศกาล แต่มาช่วยกันคิดว่า ปีนี้เราจะรักกันยังไง เราจะดูแลกันแบบไหน และเราจะสร้างความสุขให้กันและกันมากขึ้นได้อย่างไร ที่ไม่ใช่ทำให้เป็นวันพิเศษแค่วันนี้ แต่เป็นทุกวันธรรมดาที่เราอยู่ข้างกัน
บางคู่ตั้งใจว่า "ปีนี้เราจะให้เวลากันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ไปเดต แต่เป็นการอยู่ด้วยกันแบบมีคุณภาพ"
บางคู่ตั้งใจว่า "เราจะฟังกันให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ฟังเสียงกัน แต่ฟังหัวใจกันให้ลึกกว่าเดิม"
บางคู่ตั้งใจว่า "เราจะไม่ปล่อยให้ปัญหากลายเป็นกำแพง แต่จะจับมือกันข้ามมันไป"
บางคู่ตั้งใจว่า "เราจะเป็นทีมเดียวกัน ไม่ใช่แค่คู่รัก แต่เป็นคนที่อยู่ข้างกันเสมอ"
สุดท้ายแล้ว ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่วันพิเศษที่เราทำอะไรพิเศษให้แก่กัน แต่มันอยู่ที่ทุกวันธรรมดาที่เรายังเลือกอยู่เคียงข้างกันเสมอ
-------------------
วาเลนไทน์ปีนี้ ลองมาแชร์กันดูว่า “เราจะรักกันให้ดีกว่าที่ผ่านมาได้ยังไง?” กันดูนะ


โสดได้แต่ต้องไม่ซึม!เติมความซ่าให้วาเลนไทน์ตันซันซูส่ง ‘Black Valentine Cola Bomb’เจาะกลุ่มคนโสดในช่วงวาเลนไทน์นี้"เมื่อ...
14/02/2025

โสดได้แต่ต้องไม่ซึม!
เติมความซ่าให้วาเลนไทน์
ตันซันซูส่ง ‘Black Valentine Cola Bomb’
เจาะกลุ่มคนโสดในช่วงวาเลนไทน์นี้

"เมื่อความรักไม่หวาน 'ตันซันซู' ส่งโคล่าบอมบ์ปลอบใจคนโสด"
ในยุคที่คนโสดครองเมือง ด้วยตัวเลขที่พุ่งสูงถึง 50.9% ของประชากรวัยรุ่นและวัยทำงาน 'ตันซันซู' จึงตัดสินใจท้าชิงส่วนแบ่งตลาดน้ำอัดลมมูลค่า 70,000 ล้านบาท ด้วยการเปิดตัว 'แบล็ควาเลนไทน์ โคล่าบอมบ์' เครื่องดื่มที่ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรม Black Day ของเกาหลี
ไอเดียนี้มาจากเทรนด์ของชาวเกาหลีที่มักรวมตัวกันทานอาหารสีดำในวันที่ความรักไม่เป็นใจ แต่แทนที่จะให้คนโสดต้องพึ่งแอลกอฮอล์ ตันซันซูเลือกที่จะผสมความซ่าส์ของโคล่าเข้ากับกลิ่นบอมบ์ (콜라 폭탄) พร้อมดีไซน์ขวดที่เล่าเรื่องราวความรักผ่านสองภาษา ไทย-เกาหลี
เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย Gen Z แบรนด์ยังดึงทีมนักแสดงหน้าใหม่อย่าง เน็ต-สิรภพ มานิธิคุณ, เจเจ-รัชพล พรพินิต, เอนจอย-ธิดารัตน์ ปรือทอง, นัตตี้- ณฐมน จันทราวิภาต, ณิชา-ณิชาพัชร์ สุจิภิญโญ, วิวิศน์-ปรุฬห์ฤทธิ์ สรุจสิชฌ์พล และ เปเปอร์-พีรดา นามวงค์ มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวความรักสุดวุ่นผ่านซีรีส์สั้นทาง TikTok ภายใต้แคมเปญ #ให้ใจมันHurtเพราะเลิฟมันBlack
นอกจากนี้เรายังได้รับ ‘Black Valentine’s Kit’ ที่เปรียบเสมือนกล่องพยาบาลเบื้องต้นของคนเฮิร์ต เอาใจคนมีแบล็กวาเลนไทน์ให้มีทิชชู่ไว้ซับน้ำตา พร้อมสกุชชี่สุดคิ้วท์ไว้บีบคลายความเครียด ได้เอนจอยไปกับช็อกโกแลตและลูกอมเติมความสุข รวมถึงสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้อย่างตันซันซู ‘แบล็ควาเลนไทน์ โคล่าบอมบ์’ ที่ช่วยเติมความซ่า เพิ่มความสดชื่นทดแทนความไม่สดใสในชีวิตแบบปังๆ
'แบล็ควาเลนไทน์ โคล่าบอมบ์' วางจำหน่ายเฉพาะที่ 7-Eleven ในราคา 20 บาท โดยตันซันซูตั้งเป้ายอดขายที่ 270 ล้านบาทในปี 2025 ด้วยความมั่นใจว่าไม่ว่าความรักจะหวานหรือเปรี้ยว คนโสดยุคนี้ก็พร้อมจะดื่มด่ำไปกับรสชาติที่เข้าใจพวกเขา

#ตันซันซู #อิชิตัน

MOODY: พูดกับตัวเองไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อาจเป็นทางรอดของหัวใจ นักจิตวิทยาย้ำ มนุษย์ต้องการการรับฟัง โดยเฉพาะการฟังเสียงตั...
13/02/2025

MOODY: พูดกับตัวเองไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อาจเป็นทางรอดของหัวใจ นักจิตวิทยาย้ำ มนุษย์ต้องการการรับฟัง โดยเฉพาะการฟังเสียงตัวเอง
-------------------
เคยลองนั่งคุยกับตัวเองจริงๆ ไหม? ที่ไม่ใช่แค่ความคิดที่วนอยู่ในหัว แต่เป็นการถามไถ่ พูดคุย และรับฟังเสียงตัวเองแบบที่เราทำกับเพื่อนสนิท แม้บางคนคิดว่าอาจเป็นเรื่องแปลกในสายตาสังคม แต่ถ้าถามนักจิตวิทยา คำตอบที่ได้รับกลับตรงกันข้าม เพราะ การพูดกับตัวเอง (Self-Talk) อาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยเยียวยาหัวใจ และทำให้เราเข้าใจตัวเองมากกว่าที่เคย
เจสสิกา นิโคโลซี (Jessica Nicolosi) นักจิตวิทยาจากนิวยอร์ก เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า แท้จริงแล้วคนเราพูดกับตัวเองตลอดเวลา แม้ในวันที่เราเงียบที่สุด เราก็ยังมีเสียงหนึ่งที่คอยพึมพำอยู่ในหัว ลองคิดดูสิ เวลาที่รถติดไฟแดงนานเกินไป คุณเคยบ่นกับตัวเองในใจหรือเปล่า หรือเวลาทำงานพลาด คุณเคยสบถคนเดียวเบาๆ หรือไม่ นั่นแหละคือ Self-Talk และบางครั้งเราก็ทำมันโดยไม่รู้ตัว
ทั้งนี้การที่เราพูดกับตัวเอง อาจเป็นเพราะลึกๆ แล้ว มนุษย์ต้องการมีใครสักคนให้คอยรับฟังความรู้สึก เราอยากให้มีใครสักคนเข้าใจ ไม่ว่าเราจะโกรธ เศร้า เครียด หรือกังวล และเมื่อไม่มีใคร เราจึงเลือกเป็นคนฟังให้ตัวเองแทน
และหลายครั้งที่ความรู้สึกตึงเครียดมักก่อตัวขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว เวลาต้องพูดต่อหน้าคนเยอะๆ รู้สึกไหมว่าปากเราพึมพำอะไรบางอย่างเบาๆ คล้ายกับการให้กำลังใจตัวเอง เวลาทำของตกพื้นในที่สาธารณะ เรามักจะพึมพำว่า "โอ๊ย" หรือ “อุ๊ย” โดยไม่ต้องการให้ใครได้ยิน และเวลาต้องตัดสินใจอะไรสำคัญๆ บางคนถึงกับต้องพูดกับตัวเองเสียงดังออกมาเพื่อเรียบเรียงความคิด เพราะการฟังเสียงตัวเองชัดๆ ทำให้เราจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น
แต่ Self-Talk ไม่ได้มีแค่ด้านดีเสมอไป หากเราไม่ระวัง เสียงที่เราส่งออกไปอาจกลายเป็น ‘ดาบสองคม’ ที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง บางคนติดนิสัยพูดกับตัวเองในแง่ลบ เช่น "ฉันมันไม่เอาไหน" หรือ "ทำไมถึงโง่ขนาดนี้" ซึ่งการพูดซ้ำๆ ในทางลบจะทำให้เราตกหลุมพรางของ Self-Hatred หรือ ‘การเกลียดตัวเอง’ โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ที่มักมี ‘เสียงในใจ’ (Inner Voice) คอยตอกย้ำความรู้สึกด้อยค่าของตัวเองตลอดเวลา
ดังนั้นการฝึกควบคุม Self-Talk ให้เป็นไปในทางที่ดีจึงสำคัญกว่าที่คิด และนี่คือ 3 เทคนิคที่อาจช่วยให้คุณพูดคุยกับตัวเองอย่างมีพลังมากขึ้น
1 - คุยกับตัวเองเหมือนเม้ามอยกับเพื่อน
ลองคิดว่าตัวเองคือเพื่อนสนิทที่สามารถเล่าอะไรให้ฟังได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นวันที่ดีหรือวันที่แย่ ถามตัวเองง่ายๆ "เป็นไงบ้างวันนี้?" หรือ "โอเคไหม?" เพราะบางครั้ง แค่ได้พูดมันออกมา ความหนักใจก็ลดลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว
2 - เป็นผู้ฟังที่ดีของตัวเอง
การพูดคุยคือการสื่อสารสองทาง ไม่ใช่แค่พูดไปเรื่อยๆ แต่ต้องรู้จักฟังเสียงตัวเองด้วย ลองสังเกตว่าคำที่เราพูดกับตัวเองในแต่ละวันเป็นไปในทางไหน หากพบว่ามันเต็มไปด้วยคำวิจารณ์หรือการกดดันตัวเอง ก็อาจถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง
3 - อย่าลืมใจดีกับตัวเอง
ความเมตตาต่อตัวเอง (Self-Compassion) เป็นพื้นฐานสำคัญของสุขภาพจิตที่ดี ลองเปลี่ยนจาก "ฉันมันล้มเหลว" เป็น "ครั้งนี้พลาด แต่ฉันยังมีโอกาสแก้ไข" เพราะสิ่งที่เราพูดกับตัวเองทุกวัน จะกลายเป็นความเชื่อที่เรามีต่อตัวเองในระยะยาว
ถึงตรงนี้ MOODY เชื่อว่าทุกคนอาจเริ่มเห็นภาพแล้วว่า การพูดคุยกับตัวเอง ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ใช่สัญญาณของความบ้า ในทางกลับกัน มันอาจเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาใจเราในวันที่ไม่มีใครอยู่ข้างๆ ได้ดีที่สุด
-------------------
ลองหาเวลาพูดคุยกับตัวเองบ้าง อาจเพียงแค่ 5 นาทีในตอนเช้า หรือระหว่างเดินกลับบ้าน ไม่แน่ว่าคุณอาจค้นพบว่า เพื่อนที่ดีที่สุดที่คุณเคยตามหา ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือตัวคุณเองนี่แหละ
-------------------
แต่หากอยากจะพบเพื่อนที่พร้อมรับฟังเรามากกว่านี้ ลองไปพบเพื่อนใจกันได้ที่
งาน ‘Soul Connect Fest 2025: HUMANICE’ ที่จะพาคุณไป Connect หัวใจ ความเป็นมนุษย์ในตัวคุณ
วันที่: 27 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2568
เวลา: 10.00-20.30 น.
สถานที่: สามย่านมิตรทาวน์ ชั้น G, สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 และห้องประชุมชั้น 11 โรงแรมทริปเปิ้ลวาย
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:

#สุขภาวะทางปัญญา #จิตวิญญาณ #การร่วมทุกข์
#ความหวัง #สสส

MOODY: ‘Tall Poppy Syndrome’ เมื่อความสำเร็จของเรา ขัดหูขัดตาคนอื่น จนโดนด้อยค่า เหมือนดอกป๊อปปี้ต้นสูงกว่าใคร ที่มักโดน...
12/02/2025

MOODY: ‘Tall Poppy Syndrome’ เมื่อความสำเร็จของเรา ขัดหูขัดตาคนอื่น จนโดนด้อยค่า เหมือนดอกป๊อปปี้ต้นสูงกว่าใคร ที่มักโดนตัดทิ้ง
-------------------
เคยเจอไหม… เวลาเราทำอะไรสำเร็จ ได้รับโอกาสดีๆ หรือแค่พยายามก้าวไปข้างหน้าตามความตั้งใจของตัวเอง จู่ๆ ก็มีเสียงกระซิบจากข้างหลัง
“ทำไมต้องพยายามขนาดนั้น?” หรือไม่ก็โดนพูดจาลดค่าความสำเร็จ “เธอก็เก่งนะ แต่ดูอวดเก่งไปหน่อย”
พฤติกรรมนี้อาจมองได้ว่าเป็นความอิจฉา แต่บางคนก็ใช้ความอิจฉาเป็นแรงบันดาลใจไปพัฒนาตัวเอง หากแต่กับบางคนความรู้สึกนี้อาจเรียกว่า ‘ความริษยา’ ที่เรียกว่า ‘Tall Poppy Syndrome’ (TPS) หรือ อาการแอนตี้ความสำเร็จ เป็นแนวคิดที่มาจากคำเปรียบเปรยว่า ‘ดอกป๊อปปี้ที่สูงที่สุดในทุ่ง มักถูกตัดทิ้ง’ คือพฤติกรรมของสังคมที่พยายามกดคนที่โดดเด่นหรือเก่งเกินไป เพื่อทำให้ทุกอย่างกลับมาอยู่ในระดับที่ ‘เท่าเทียม’ กัน
แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์โรมันชื่อ ลิวี (Livy) เคยเล่าถึงเรื่องของ กษัตริย์ทาร์ควินแห่งโรม (King Tarquin the Proud) ที่ต้องการพิชิตเมืองหนึ่ง และเมื่อบุตรชายของเขาส่งสารมาขอคำแนะนำ กษัตริย์ไม่ได้พูดอะไร แต่เดินไปในสวน แล้วใช้ดาบตัดดอกป๊อปปี้ที่สูงที่สุดทิ้ง บุตรชายของเขาเข้าใจทันทีว่าสิ่งที่พ่อของเขาต้องการสื่อคือ ‘กำจัดทุกคนที่โดดเด่นที่สุดในเมืองนั้น’ เพื่อทำให้เมืองอ่อนแอและยึดครองได้ง่ายขึ้น
นี่เป็นเรื่องเดียวกับที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบัน เวลาที่ใครสักคน ‘โดดเด่นกว่า’ พวกเขามักตกเป็นเป้าหมายของการถูกลดค่าหรือถูกดึงให้กลับลงมา
Tall Poppy Syndrome ปรากฏอยู่รอบตัวเรา โดยเฉพาะในที่ทำงาน ที่ซึ่งคนที่เก่งหรือทำผลงานดีอาจถูกกีดกันจากโอกาสสำคัญ หรือถูกทำให้รู้สึกว่าความสำเร็จของพวกเขา ‘มากเกินไป’ บางคนอาจบอกว่า “อย่าพยายามมากกว่านี้เลย เดี๋ยวก็ไม่มีใครชอบเธอหรอก” หรือแย่กว่านั้นคือพวกเขาอาจถูกกันออกจากกลุ่มไปเลย
จิตวิทยาอธิบายปรากฏการณ์นี้ผ่าน ทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison Theory) ของ ลีออน เฟสติงเกอร์ (Leon Festinger) ซึ่งกล่าวว่า คนเรามักตัดสินคุณค่าของตัวเองผ่านการเปรียบเทียบกับผู้อื่น และเมื่อพวกเขารู้สึกว่ามีใครบางคนเก่งกว่าหรือก้าวไปไกลกว่า พวกเขาอาจรู้สึกด้อยค่า และแทนที่จะพัฒนาตัวเอง พวกเขาเลือกใช้วิธี ‘ลดระดับ’ คนอื่นลงเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นแทน เพราะเห็นว่าเป็นหนทางที่ง่ายสุด
ถ้าคุณกำลังเผชิญกับ Tall Poppy Syndrome ทางออกที่ดีที่สุดไม่ใช่การ ‘ลดมาตรฐานตัวเองลง’ เพื่อให้คนอื่นรู้สึกดีขึ้น อย่ารู้สึกผิดที่ทำอะไรได้ดีและโดดเด่นกว่าคนอื่น แต่ให้ทำความเข้าใจว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่มันคือปัญหาของพวกเขาต่างหาก
ความสำเร็จของคุณไม่ได้ทำให้ใครด้อยค่าลง และคุณไม่จำเป็นลดมาตรฐานตัวเองลงเพื่อให้ใครสบายใจ และบางครั้งการย้ายตัวเองออกจากสังคมที่ไม่เอื้อให้เราเติบโตอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะคุณค่าของเราไม่ควรถูกกำหนดโดยใคร แต่ถูกกำหนดโดยตัวเราเอง
-------------------
MOODY อยากให้ทุกคนภูมิใจและรักในสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีเยอะๆ ลดการฟังเสียงที่ไม่เป็นประโยชน์ลง แล้วให้ความสำคัญกับสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้เราได้เติบโตไปสู่เป้าหมายของเรากันดีกว่านะ

“ชอบอะไรให้อยู่ใกล้ๆ สิ่งนั้น”ไม่ใช่แค่ความรัก แต่ใช้ได้กับทุกเรื่อง-------------------ปีสองปีมานี้ MOODY สังเกตว่าแนวคิ...
11/02/2025

“ชอบอะไรให้อยู่ใกล้ๆ สิ่งนั้น”
ไม่ใช่แค่ความรัก แต่ใช้ได้กับทุกเรื่อง
-------------------
ปีสองปีมานี้ MOODY สังเกตว่าแนวคิด Manifestation และ Law of Attraction มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตคนไทยมากขึ้น มาดูกันว่า 2 ทฤษฎีนี้ใกล้เคียงกันอย่างไร
มาเริ่มกันที่ทฤษฎีแรก Law of Attraction หรือ กฎแห่งแรงดึงดูด ที่มักถูกยกไปพูดถึงเรื่องความรัก ว่าสักวันโลกจะเหวี่ยงคนที่ใช่มาหาเรา ซึ่งอันที่จริงเป็นปรัชญาเกี่ยวกับมุมมองความคิดซึ่งนำเสนอว่า หากความคิดเราโฟกัสสิ่งใด ตัวเราและสิ่งนั้นจะดึงดูดเข้าหากัน
หากอธิบายง่ายๆ ก็ประมาณว่า คิดอย่างไรก็ได้อย่างนั้น อยากเป็นคนแบบไหนก็ไปอยู่ใกล้ๆ คนแบบนั้น อยากมีชีวิตแบบไหน ก็พยายามใช้ชีวิตให้ได้แบบนั้น ถ้าเราคิดเชิงบวกก็จะดึงดูดสิ่งดีๆ เข้ามา หากคิดเชิงลบสิ่งไม่ดีก็จะเข้ามา
โดยที่เราต้องสร้างภาพนั้นขึ้นมาในจิต โฟกัสกับมันจริงๆ แล้วทำในสิ่งที่จะสามารถคว้ามันมาได้ โดยที่ทุกความคิด ทุกการแสดงอารมณ์ ทุกปฏิกิริยาของเราในทุกวินาทีนั้นจะส่งผลต่อพลังแห่งการดึงดูด
ดังนั้น เราต้องแน่วแน่กับภาพที่อยากให้เห็นจริงๆ แล้วพลังจักรวาล หรืออาจใช้คำว่าแรงโน้มถ่วงของโลกก็จะเหวี่ยงสิ่งที่เราต้องการเข้ามาหาเราในขณะที่เราก็กำลังเดินเข้าหาสิ่งนั้นไปด้วย
ขณะที่ Manifestation นั้นคือ หากเรามีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในสิ่งที่อยากได้ แล้วทำให้มันเป็นจริงให้ได้ ร่วมกับการใช้เทคนิคด้านจิตวิญญาณเข้ามาช่วย ได้แก่ ‘การแสดงภาพ’ เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพในใจของผลลัพธ์ที่ต้องการและมุ่งเน้นไปที่อารมณ์เชิงบวก
‘การยืนยัน’ เกี่ยวข้องกับข้อความเชิงบวกซ้ำๆ ที่สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่คุณต้องการ ‘การทำสมาธิ’ ช่วยให้จิตใจสงบและช่วยให้คุณมุ่งความสนใจไปที่เป้าหมายของคุณ และ ‘ความกตัญญู’ เกี่ยวข้องกับการขอบคุณสิ่งที่คุณมีอยู่แล้วและยอมรับด้านบวกในชีวิตของคุณ
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ทฤษฎีนี้มีพื้นฐานมาจากแนวคิดที่ว่าความคิด อารมณ์ และความเชื่อที่มีอำนาจในการกำหนดชีวิตของเรา แต่ก็แตกต่างกัน Manifestation เป็นกระบวนการในการทำให้ความคิดและความปรารถนาของคุณเป็นจริงผ่านความตั้งใจและการกระทำที่จดจ่อ ในขณะที่กฎแห่งการดึงดูดคือชอบหรือต้องการอะไรมากๆ แล้วทั้งสองฝั่งจะดึงดูดเข้าหากัน
หากสรุปสั้นๆ Manifestation และ Law of Attraction สามารถใช้แทนกันได้ หรือจะใช้ร่วมกันก็ได้เพื่อสร้างความสมดุลให้กับชีวิตที่พัฒนาทั้งจิตวิญญาณ พร้อมกับคว้าความปรารถนานั้นไว้
โดยกุญแจสู่ความสำเร็จคือ การมีความตั้งใจที่ชัดเจน มีความคิดเชิงบวก เชื่อมั่นในตัวเองและความสามารถของเรา รวมถึงการทำตามแรงบันดาลใจเพื่อไปสู่เป้าหมายเหล่านั้นมักใช้เพื่อบรรลุเป้าหมาย
-------------------
ไม่ว่าจะอยากได้คนรักแบบไหน มีชีวิตอย่างไร ฝันว่าอยากได้อะไรนั้น ทุกปัจจัย ทุกองค์ประกอบล้วนต้องถูกขับเคลื่อนไปด้วยกัน ทั้งความคิด ความเชื่อ และการกระทำตัวของเรา
หากเอาแต่คิดแล้วรอให้จักรวาลเหวี่ยงมาอย่างเดียว ก็อาจต้องรอแล้วรอเล่า หรือแค่เชื่อแต่ไม่ลงมือทำก็คงไม่เห็นผล เพราะท้ายที่สุดแล้ว Manifestation และ Law of Attraction ก็ต้องมี Action = Reaction เพื่อนำไปสู่ Result หรือผลลัพธ์ นั่นเอง

ไม่ต้องกลัวหากคุณอยู่ในสถานะโสด เพราะบางทีการมีความรักแล้วไม่ดี อยู่เป็นโสดแบบสุขๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร----------------...
10/02/2025

ไม่ต้องกลัวหากคุณอยู่ในสถานะโสด เพราะบางทีการมีความรักแล้วไม่ดี อยู่เป็นโสดแบบสุขๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร
-------------------
แม้ว่าเมื่อถึงวัยหนึ่ง ‘การอยู่เป็นโสด’ มักถูกตั้งคำถามมากมายจากคนรอบข้าง
ทำไมถึงยังไม่มีใคร?
อยู่คนเดียวไม่เหงาเหรอ?
ไม่อยากแต่งงานเหรอ?
อาจถามด้วยความเป็นห่วง หรือสงสัย แต่อีกนัยหนึ่งคำถามเหล่านี้อาจแฝงไปด้วยอคติที่มีต่อ ‘ความโสด’ ของคนที่มีคู่แล้ว ที่คิดแทนคนโสดว่าการอยู่คนเดียวต้องไม่มีความสุขแน่เลย
อันที่จริงแล้วอาจตรงข้ามกัน คนที่อยู่เป็นโสดอาจมีความสุขมากกว่าคนที่มีคู่ หรือคนที่แต่งงานแล้วก็ได้ เพราะพวกเขามีเวลา และมีความอิสระในตัวเองมากกว่าคนที่มีคู่ เพราะไม่ต้องคำนึงถึงใครอีกคน
ตามข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2560 พบว่า ชาวอเมริกันมากกว่า 110 ล้านคน เลือกที่จะอยู่เป็นโสด และในปี 2562 ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 25-54 ปี ไม่มีคู่ (ไม่ได้แต่งงานหรืออาศัยอยู่กับคู่ครอง) ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 29 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2533
ล่าสุด ข้อมูลของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ (U.S. Census Bureau) ในปี 2565 พบว่าประมาณ 132.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 49.3 เปอร์เซ็นต์ ของชาวอเมริกันอายุ 15 ปีขึ้นไป อยู่ในสถานะโสด
ข้อมูลชุดนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ผู้คนกำลังเลือกใช้ชีวิตโสดมากขึ้น เหตุผลคือ บรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและสังคมได้เปลี่ยนไป แรงจูงใจทางเศรษฐกิจในการแต่งงานลดลง และค่านิยมในปัจเจกนิยมเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีโอกาสทางการศึกษา อาชีพ และมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น จากเดิมที่ชีวิตผู้หญิงต้องผูกโยงกับค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคมว่า การแต่งงานคือเป้าหมายสูงสุดในชีวิต เกิดเป็นผู้หญิงต้องเป็นแม่ศรีเรือน แต่เมื่อถึงยุคที่ผู้หญิงมีสิทธิในชีวิตตัวเองมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องมีคู่ เพื่อที่จะตอบสนองความคาดหวังของสังคมแบบในอดีตอีกต่อไป
เอลยาคิม คิสเลฟ (Elyakim Kislev) รองศาสตราจารย์จาก School of Public Policy and Governance แห่งมหาวิทยาลัยฮีบรู (Hebrew University) และผู้เขียนหนังสือ ‘Happy Singlehood and Relationships 5.0’ กล่าวว่า “คนโสดนั้นเข้าสังคมได้ดีกว่าคนที่แต่งงานแล้ว และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา”
อีกทั้งยังรักษามิตรภาพได้ดีกว่าคนมีคู่ หรือแต่งงานแล้ว เพราะคนมีคู่จำเป็นต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับคู่ของตน จึงอาจทำให้ต้องละทิ้งมิตรภาพไว้เบื้องหลัง
นอกจากนี้ ด้วยการที่มีอิสระโดยไม่ต้องคำนึงถึงใครอีกคน ทำให้คนโสดมีเวลาในการดูแลตัวเอง และหาความสุขให้กับตัวเองได้อย่างไม่จำกัดนั่นเอง
-------------------
การเติมเต็มตัวเองให้มีความสุขได้ จึงเป็นกำแพงให้กับคนที่อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของคนโสด เพราะหากไม่สามารถดันบาร์แห่งความสุขของคนโสดให้สูงขึ้นกว่าเดิมได้ ในทางที่เลวร้ายยิ่งกว่า หากเข้าไปเป็น Toxic Relationship ในชีวิตของพวกเขา ก็ยิ่งตอกย้ำว่า การอยู่เป็นโสดอย่างมีความสุข เป็นหนทางที่ดีกว่า

MOODY QUOTE: “การเสียเพื่อนบางคนอาจไม่ใช่การสูญเสียเสมอไป แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่สวยงามสำหรับการเดินทางไปเจอเพื่อนแ...
09/02/2025

MOODY QUOTE: “การเสียเพื่อนบางคนอาจไม่ใช่การสูญเสียเสมอไป แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่สวยงาม
สำหรับการเดินทางไปเจอเพื่อนแท้"
เพื่อนบางคนอาจวนมาเพียงพบเจอกันช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้รู้ว่าไม่เหมาะที่จะเป็นกัลยาณมิตรกัน จึงวนออกไปให้เราได้เรียนรู้เพื่อนคนใหม่แทน
เพราะชีวิต คือบททดสอบที่ท้าทายโลกเลยส่ง ‘ปีศาจร้าย’ เข้ามาทดสอบเราเสมอ ปีศาจที่สร้างพลังลบตามหลอกหลอน คอยอยู่รอบตัวพยายามล่อลวง ปั่นหัวเราตลอดเวลาจนอดคิดไม่ได้ว่า บางที ‘ปีศาจ’ อาจจะอยู่ในตัวเราเองแล้วถ้าเรากลายเป็นปีศาจไปจริงๆจะมีวิธีที่ทำให้เราเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น ‘นักสู้’ ที่กำจัดปีศาจพวกนี้ออกไปจากชีวิตได้ไหม ผ่านข้อคิดจาก
หนังสือ: ปีศาจตัวนั้นคือฉันเอง
เขียน: : OpenDurian
สำนักพิมพ์: : OpenDurian


MOODY QUOTE: “หนึ่งในวิธีที่ช่วยให้หลุดพ้น จากการใช้ชีวิตที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนอื่นเป็นอันดับแรก คือการเลิกเก...
08/02/2025

MOODY QUOTE: “หนึ่งในวิธีที่ช่วยให้หลุดพ้น จากการใช้ชีวิตที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนอื่นเป็นอันดับแรก คือการเลิกเกรงใจแล้วหันมามองหา ‘สิ่งที่ชอบ’ ที่เป็นของตัวเอง”
อาจมาจาก ‘ความต้องการการยอมรับ’ ที่กลายเป็นกับดักทำให้เราลดความสำคัญของตัวเองลง เพื่อเอาอกเอาใจคนอื่นมากเกินไปจนเป็นทุกข์ แน่นอน ทุกคนต้องการการยอมรับ อยากเอาอกเอาใจคนอื่น แต่อย่าลืมว่าคนที่เราควรเกรงใจ และควรเอาอกเอาใจมากที่สุดก็คือตัวเองนะ
หนังสือ ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวพอที่จะอยู่อย่างอดทน เขียนมาจากประสบการณ์ของจิตแพทย์ ซูซูกิ ยูซึเกะ ที่มักได้ยินผู้รับการปรึกษาหลายคนพูดในทำนองว่า “ต่อให้พยายามแค่ไหนก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นมา”“ฉันทำความสุขหล่นหายไปตอนไหน”และ “ความหมายของการมีชีวิตอยู่คืออะไรกันนะ” เขาจึงแบ่งบัน 28 วิธีคิดเพื่อชีวิตที่ปลอดโปร่งสบายใจเลิกฝืนทำสิ่งที่ตัวเองรู้สึกแย่ เลิกเดินตามความคาดหวังของคนอื่นและหันมาใช้เวลาในแต่ละวันเพื่อตัวเองจริง ๆ สักที
หนังสือ: ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวพอที่จะอยู่อย่างอดทน
เขียน: ซูซูกิ ยูซึเกะ
สำนักพิมพ์: วีเลิร์น (WeLearn)


MOODY: ‘เสียเวลากับใครสักคน’ อาจเป็นหนึ่งเรื่องที่มีค่าในชีวิต เมื่อการพูดไปเรื่อย ไม่ใช่เรื่องเสียเปล่า แต่เป็นวิธีกระช...
07/02/2025

MOODY: ‘เสียเวลากับใครสักคน’ อาจเป็นหนึ่งเรื่องที่มีค่าในชีวิต เมื่อการพูดไปเรื่อย ไม่ใช่เรื่องเสียเปล่า แต่เป็นวิธีกระชับความสัมพันธ์
-------------------
หลายคนอาจคิดว่าเราต้องใช้เวลากับคนที่รักให้คุ้มค่า ด้วยการพูดคุยเรื่องสำคัญๆ หรือทำกิจกรรมมากมายเพื่อสร้างความทรงจำดีๆ แต่รู้ไหมว่าบางที ‘การพูดคุยกันไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดหมาย’ กลับเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้หัวใจใกล้กันกว่าที่คิด
ลองนึกภาพตอนที่คุณเพิ่งเริ่มคบกับใครสักคน ทุกอย่างมันดูใหม่ น่าตื่นเต้น คำถามเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น “เธอชอบเพลงอะไร” “วีรกรรมไหนที่แสบสุดตอนเด็ก” หรือแม้แต่การคุยเล่นกันเรื่องไร้สาระ เช่น “ถ้าหมูเลือกคู่ พ่อเบนซ์จะเรียกสินสอดเท่าไหร่” แต่พอเวลาผ่านไป ความสัมพันธ์ก็มักเต็มไปด้วยเรื่องจำเป็น ค่าใช้จ่าย ตารางชีวิต งานบ้านและลูก
รู้ตัวอีกทีเราก็ไม่มีเวลาเหลือให้การคุยเล่นกันซะแล้ว...
ซึ่ง อัสซาเอล โรมาเนลลี (Assael Romanelli) นักจิตวิทยาคู่รักเชื่อว่า ‘บทสนทนาที่ไร้จุดหมาย’ คือพื้นที่ปลอดภัยของความสัมพันธ์ เขาอธิบายว่ามันเป็นเหมือนบัญชีฝากความสุขที่เราสะสมช่วงเวลาดีๆ ไว้ เผื่อวันไหนมีปัญหาหรือเหนื่อยล้า ก็ยังมีสิ่งเล็กๆ น้อยๆ นี้ที่ช่วยกระทุ้งความทรงจำให้คู่รักกลับมาเป็น ‘เรา’ ได้เหมือนเดิม
สำหรับบางคนอาจดูไร้สาระ แต่อัสซาเอลว่านี่คือ ‘ภาษาลับ’ ของความสัมพันธ์ ที่ทำให้เราหัวเราะและรู้สึกเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น ยิ่งเมื่อความสัมพันธ์เดินทางมาไกล บทสนทนาเหล่านี้อาจกลายเป็นรหัสลับที่ทำให้เรานึกถึงกันได้เสมอ
ถ้าคุณไม่เคยคุยเล่นกันแบบนี้ ไม่เป็นไร การสร้างบทสนทนาไร้จุดหมายไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มจากการตั้งเวลาให้ตัวเองและคนรัก อาจจะเป็นแค่ 10 นาทีในวันหยุด ลองปิดสวิตช์เรื่องงาน บล็อกเรื่องเครียด
แล้วให้เวลากับบทสนทนาที่ไม่มีจุดหมายแบบตั้งใจ คุยเรื่องอะไรก็ได้ เปิดหัวข้อแบบสุ่มๆ เช่น ลองหาคำตอบเนื้อเพลง “เธอน่ะอยู่นี่เอ้า เธอน่ะอยู่ไหน เธอไปทำอะไรตรงนั้น มาอยู่ด้วยกันตรงนี้สิ ไม่ใช่หนา ไม่ใช่หนา” สรุปเธออยู่ตรงไหนกันแน่นะ? หรืออะไรก็ตามที่คุณสนใจ โดยคุยกันไปเรื่อยๆ อย่ายึดติดกับคำตอบ ขอแค่ไหลไปกับมัน สนุกกับมัน และปล่อยให้มันพาเราไป
-------------------
เพราะบางครั้ง การปล่อยให้บทสนทนาไร้สาระพาเราไป อาจกลายเป็นสะพานเชื่อมใจที่แข็งแรงกว่าการพูดเรื่องจริงจังเสียอีก คืนนี้ ลองหาเรื่องไร้สาระมาคุยกันดูสิ แล้วคุณอาจจะเจอ ‘ความหมายที่ซ่อนอยู่’ ในบทสนทนาไร้จุดหมายนี้ก็ได้
แล้วทุกคนล่ะ เคยมีโมเมนต์พูดไปเรื่อยที่ชุบชูใจแบบไหนกันบ้าง ลองมาแชร์กันดูนะ

"ฉันเป็นใคร?" คำถามที่ไม่มีวันจบ กับความเจ็บปวดของการตามหาตัวตน-------------------บางทีเราอาจไม่ได้ต้องการ ‘ตัวตน’ เท่าก...
06/02/2025

"ฉันเป็นใคร?" คำถามที่ไม่มีวันจบ กับความเจ็บปวดของการตามหาตัวตน
-------------------
บางทีเราอาจไม่ได้ต้องการ ‘ตัวตน’ เท่ากับ ‘ความสบายใจ’ ที่จะอยู่กับตัวเอง
ในยุคที่ทุกคนพูดถึง การค้นหาตัวเอง เรามักรู้สึกเหมือนต้องมี ‘คำตอบ’ ให้กับชีวิต ถ้าใครยังหาตัวเองไม่เจอ ก็ดูเหมือนเป็นปัญหา ดูเหมือนต้องรีบหาอะไรสักอย่างมายืนยันว่า “ฉันคือใคร” และ “ฉันมีค่ามากพอไหม”
มันเริ่มต้นตั้งแต่วัยรุ่น อีริค อีริคสัน นักจิตวิทยาผู้ศึกษา ‘วิกฤตตัวตน’ (Identity Crisis) อธิบายว่า ช่วงวัยรุ่นคือช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองจริงๆ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไป ร่างกายเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน โลกที่เคยเล็กก็ใหญ่ขึ้น และสังคมเริ่มตั้งความคาดหวังว่าคุณต้องเลือกทางเดินของตัวเอง เราถูกบังคับให้เลือกว่าอยากเป็นอะไร เชื่อในอะไร และอยากให้คนอื่นมองเราแบบไหน
แต่ปัญหาคือ... ‘ตัวตน’ ที่เราคิดว่าเราเลือกเอง มันอาจไม่ได้เป็นของเราจริงๆ แต่อาจเป็นสิ่งที่สังคมคาดหวัง พ่อแม่อยากให้เป็น หรือเพื่อนๆ รอบตัวพากันไปทางนั้น เราเลยเผลอเดินตาม โดยไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเราชอบมันจริงไหม
บางคนเรียนคณะที่ดูดีในสายตาคนอื่น แต่กลับรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเอง
บางคนแต่งตัวตามแฟชั่นที่อินเทรนด์ แต่กลับไม่รู้สึกเป็นอิสระในเสื้อผ้าที่ใส่
บางคนใช้ชีวิตตามแบบแผนของสังคม แต่ข้างในกลับเต็มไปด้วยคำถามว่า “นี่ใช่ชีวิตที่ฉันอยากได้จริงๆ หรือเปล่า?”
ที่น่าสนใจคือ วิกฤตตัวตนไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในวัยรุ่น มันสามารถกลับมาได้เสมอ เมื่อชีวิตเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกช่วงหนึ่ง ไม่ว่าจะตอนเปลี่ยนงาน ตอนเริ่มต้นหรือจบความสัมพันธ์ ตอนกลายเป็นพ่อแม่ ตอนสูญเสียคนสำคัญ หรือแม้แต่ตอนที่รู้สึกว่าเรามีทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่กลับว่างเปล่าอย่างบอกไม่ถูก หรือเราอาจใช้ชีวิตมาเป็นสิบปี แล้ววันหนึ่งก็ตั้งคำถามขึ้นมาใหม่ว่า “ฉันเป็นใคร?” แต่บางที คำถามนี้อาจไม่ได้ต้องการคำตอบที่ชัดเจน
นั่นก็เพราะมนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นอะไรสักอย่างตลอดไป เราเปลี่ยนแปลงได้ เติบโตได้ และไม่มีใครผิดที่ยังไม่เจอตัวเอง
หรือแม้แต่บางคนอาจไม่เคยมีคำว่า ‘ตัวตนที่แท้จริง’ อยู่ในพจนานุกรมชีวิตเลย และมันก็ไม่ใช่เรื่องผิด
สิ่งที่สำคัญกว่าการตามหาตัวตน คือการใช้ชีวิตในแบบที่เราสบายใจ อาจไม่ต้องมีนิยามที่แน่นอน อาจไม่ต้องเป็นใครที่ยิ่งใหญ่ แค่ตื่นมาแล้วรู้สึกดีกับสิ่งที่ทำ แค่นั้นอาจจะเพียงพอแล้ว
-------------------
คำตอบสุดท้ายของเราอาจไม่ได้ต้องการ ‘ตัวตน’ เท่ากับ ‘ความสบายใจ’ ที่จะอยู่กับตัวเองในทุกวันก็ได้

MOODY: รู้จัก ‘Sisterhood’ พส-นส ผูกจิต ที่ยิ่งสนิท ยิ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกันหากยังจำได้ มันจะมีช่วงหนึ่งที่คำย...
05/02/2025

MOODY: รู้จัก ‘Sisterhood’ พส-นส ผูกจิต ที่ยิ่งสนิท ยิ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน
หากยังจำได้ มันจะมีช่วงหนึ่งที่คำย่อ ‘พส’ (พี่สาว) กับ ‘นส’ (น้องสาว) ฮิตขึ้นมา ที่ไม่ว่าใครๆ ก็ใช้ โดยเฉพาะในหมู่ผู้หญิงกับเหล่า LGBTQA+ โดยเมื่อถูกใครสักคนเรียกด้วยคำนี้มักจะให้ความรู้สึกใกล้ชิดกันอย่างบอกไม่ถูก ยิ่งหากกับคนที่เราสนิทด้วยก็ยิ่งรู้สึกดี
วันนี้ MOODY จึงอยากเล่าถึงความผูกพันแบบ ‘Sisterhood’ หรือ ความเป็นพี่สาวน้องสาว ว่าหากมีแล้วจะดีต่อใจเราแค่ไหน
โดยปกติแล้วความเป็นพี่สาวน้องสาวนั้น หมายถึงความใกล้ชิดระหว่างพี่น้องผู้หญิงทางสายเลือด โดยมีหลายงานวิจัยที่ระบุว่า ความผูกพันอันดีระหว่างพี่น้องผู้หญิงมีผลต่อความแข็งแกร่งทางอารมณ์เป็นพิเศษ
เนื่องจากพวกเธอเติบโตและผ่านช่วงเวลาสำคัญในชีวิต ตั้งแต่ช่วงเวลาที่อีกคนเกิดมา ฟันน้ำนมซี่แรกหลุด ประจำเดือนมาครั้งแรก รวมถึงความรักครั้งแรก ที่สามารถพูดคุยกันได้โดยไม่เขินอาย ตลอดจนความขัดแย้งต่างๆ อาจจะแย่งชุดกันใส่ พี่รู้สึกว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า ขณะที่น้องบางคนก็คิดว่าพี่เก่งกว่า สวยกว่า เป็นต้น
ประสบการณ์ทั้งหลายเหล่านี้เองที่หลอมรวมความผูกพันของพวกเธอให้มีความใกล้ชิด หรือไม่ก็เหินห่างกันมากขึ้น ซึ่งตัวแปรหลักแน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่
รวมถึงวิธีการช่วยกันก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งต่างๆ โดยความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มักจะอยู่ในช่วงวัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน เนื่องจากความใกล้ชิดจะลดลงในช่วงวัยรุ่นตอนต้น และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นใหม่ จากนั้นจะลดลงอีกครั้งเมื่อถึงช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
ดังนั้น จุดเปลี่ยนผ่านตรงนี้เองที่เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญของความใกล้ชิดระหว่างพี่สาวน้องสาว ที่หากทั้งสองร่วมกันก้าวผ่านความขัดแย้งและจุดเปลี่ยนไปได้ ความใกล้ชิดก็จะเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นพี่น้องที่สนิทกันมากเหมือนเพื่อน สามารถเป็นที่พึ่งทางใจให้กันและกันได้
ขณะเดียวกัน สำหรับคนที่ไม่ได้เกิดมามีพี่สาวน้องสาวแท้ๆ ก็ตาม ก็สามารถมีความผูกพันแบบ Sisterhood นี้ได้เช่นเดียวกันกับเพื่อน พี่ หรือน้องสาวที่เราสนิทราวกับเป็นคนในครอบครัว
ในภาษาอังกฤษมีอีกหนึ่งคำที่น่าสนใจ ใช้เรียกความสัมพันธ์เช่นนี้ว่า ‘Good Girlfriends’ (GGF) หมายถึง กลุ่มเพื่อนหญิงที่คอยสนับสนุน แบ่งปันเรื่องราวดีๆ ราวกับเป็นพี่น้องแท้ๆ ให้กันและกัน ถ้าเป็นบ้านเราอาจใช้คำว่า ‘พี่น้องผูกจิต’ หรือคำทั่วไปอย่าง ‘พี่น้องร่วมสาบาน’ ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยที่ทำการวิเคราะห์เมตา โดยการเปรียบเทียบและรวบรวมข้อมูลของงานวิจัยทั้งหมดเกี่ยวกับมิตรภาพของผู้ใหญ่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการศึกษาวิจัยหัวข้อนี้จำนวน 38 เรื่อง และผลการวิจัยก็มีความสอดคล้องกัน
คือ ผู้ใหญ่ที่มีมิตรภาพในระดับที่ดี และได้รับการสนับสนุนเกื้อกูลจากมิตรภาพเหล่านั้น ก็ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น และหากใครมี GGF ก็จะพอบอกได้ว่าพวกเขาจะมีความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) รวมถึงสามารถป้องกันความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าได้
เพราะเหล่าผู้หญิงมักต้องการผู้หญิงอีกคนเป็นที่พึ่งทางใจ เสมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ได้พักเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์พิเศษ หรือช่วงเวลายากลำบากซึ่งมีเพียงผู้หญิงด้วยกันเท่านั้นที่เข้าใจ การมีใครสักคนเป็น Sisterhood & Good Girlfriends จึงช่วยให้ผู้หญิงสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาร้ายๆ ไปได้ง่ายขึ้น
โดยสรุปแล้ว ความผูกพันแบบ Sisterhood นั้น แม้จะเริ่มมาจากพี่น้องทางสายเลือด แต่สุดท้ายก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นพี่น้องที่คลานตามกันมา ใครคนนั้นอาจเป็นเพื่อนสนิท รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่เรารู้จักและใกล้ชิดกันจนรู้สึกวางใจในความผูกพันของกันและกันก็ได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีพี่น้องเป็นเพศชาย หญิง หรือ LGBTQA+ ก็สามารถมีความแข็งแกร่งทางอารมณ์ที่ดีได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วกุญแจสำคัญของความสัมพันธ์ที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศอะไร แต่อยู่ที่ต่างคนต่างมีความเข้าใจ การยอมรับซึ่งกันและกัน ที่นำไปสู่ความใกล้ชิดและไว้วางใจหรือเปล่าต่างหาก

MOODY: ต่อให้เลิกกันด้วยดีแค่ไหน แต่ทำไมใจก็พังไม่ต่างจากคู่ที่แตกหัก เพราะไม่มีคนผิด มันเลยเจ็บกว่าเดิม?เวลามีใครพูดว่า...
04/02/2025

MOODY: ต่อให้เลิกกันด้วยดีแค่ไหน แต่ทำไมใจก็พังไม่ต่างจากคู่ที่แตกหัก
เพราะไม่มีคนผิด มันเลยเจ็บกว่าเดิม?
เวลามีใครพูดว่า “เราเลิกกันด้วยดี” ฟังดูเป็นเรื่องที่ควรจะรู้สึกโอเคใช่ไหม? ไม่มีใครนอกใจ ไม่มีใครทำอะไรผิด ไม่มีดราม่าใหญ่โต มีแต่ความเข้าใจและการจากลาแบบผู้ใหญ่ แต่ทำไมบางทีมันกลับรู้สึกแย่กว่าเดิม เรื่องนี้นักจิตบำบัดอย่าง คริสตี เคเดเรียน (Christie Kederian) อธิบายว่า จริงๆ แล้วความโกรธเป็นอารมณ์ที่เข้าใจง่ายกว่าความเศร้า
เธอขยายความเพิ่มเติมว่า บ่อยครั้งที่ความโกรธถูกอธิบายว่าเป็นอารมณ์รอง (secondary emotion) ซึ่งตั้งต้นมาจากความโศกเศร้า แต่ในการเลิกราที่ไม่มีใครผิด ทำให้อารมณ์หลัก (primary emotion) อย่างความเศร้าจะเข้าถึงได้ง่ายกว่าความโกรธ
ถ้าพูดให้เห็นภาพ ลองนึกดูว่า ถ้าเราถูกคนรักนอกใจ มันคนให้โกรธ มีเหตุผลให้ตัดขาดแบบไม่ต้องคิดมาก แต่พอเป็นการเลิกกันแบบไม่มีใครผิด ความเศร้ามันโจมตีเต็มๆ โดยไม่มีอะไรมากั้น ไม่มีใครให้โทษ ไม่มีเรื่องผิดพลาดให้เกลียด เราเลยต้องนั่งเผชิญหน้ากับ ‘ความสูญเสีย’ ล้วนๆ แบบไม่มีเรื่องใดมาผสม
ด้านนักจิตบำบัด ลิซา ลอว์เลส (Lisa Lawless) เสริมว่า การเลิกกันแบบไม่มีข้อผิดพลาด บางครั้งทำให้เราไม่รู้ว่าต้องรู้สึกยังไง ยิ่งเป็นการเลิกในแบบที่ต่างคนต่างบอกเลิก (mutual breakup) ที่ดูเหมือนทั้งคู่ต่างโอเค เช่น "เราไปกันไม่ได้” หรือ "เส้นทางชีวิตไม่ตรงกัน” มันอาจฟังดูเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ แต่ในความจริงมันมักจะมี ‘ความเหลื่อมล้ำทางอารมณ์’ อยู่เสมอ เพราะในความสัมพันธ์ มีคนหนึ่งเป็นฝ่ายเริ่ม และอีกคนเป็นฝ่ายตั้งรับเสมอ
นอกจากนี้ นาซานิน โมอาลี (Nazanin Moali) นักจิตวิทยาได้เพิ่มเติมว่า คนที่เป็นฝ่ายบอกเลิกมักจะ ‘มีเวลาเตรียมใจ’ มานานแล้ว ส่วนคนที่โดนบอกเลิกอาจยังไม่ทันตั้งตัว แล้วสิ่งที่ตามมาคือความรู้สึก ‘ไร้อำนาจ’ และคำถามที่วนเวียนในหัว
"ถ้าตอนนั้นฉันทำแบบนี้... มันจะดีขึ้นไหม?"
"เราพลาดตรงไหน?"
"ถ้าฉันเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง มันจะไม่จบแบบนี้ได้ไหม?"
และความเจ็บปวดอีกอย่างของการเลิกกันแบบไร้ข้อผิดพลาด คือเราอาจจะเผลอตำหนิตัวเองหนักขึ้น เพราะไม่มีเรื่องให้โกรธ ไม่มีใครให้โยนความผิดไป เราเลยย้อนกลับมาคิดว่า "หรือเป็นเพราะฉันเอง?" นี่คือดาบสองคมของการเลิกกันแบบไม่มีดราม่า เพราะสุดท้ายมันอาจทำให้เราติดอยู่กับความรู้สึกด้านลบที่ซ่อนอยู่ลึกๆ และอาจเป็นบาดแผลที่อยู่กับเราไปอีกนาน
แต่ไม่เป็นไร ไม่ต้องพยายามบอกตัวเองว่า "มันไม่ใช่เรื่องใหญ่" หรือ "เราต้องเข้มแข็ง" เพราะจริงๆ แล้วมันเจ็บ และมันไม่ผิดที่เราจะรู้สึกแบบนั้น อย่าปล่อยให้ตัวเองติดอยู่ในคำว่า “ถ้าหาก” การคิดย้อนกลับไปมันอาจดูมีเหตุผล
แต่การเลิกกันคือข้อสรุปที่ผ่านกระบวนการมาแล้ว มันไม่จำเป็นต้องมีคำตอบที่ดีกว่านี้ และอย่าแบกรับความผิดทั้งหมดไว้คนเดียว การที่มันไม่เวิร์ก ไม่ได้แปลว่าคุณมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไขเสมอไป บางครั้งมันเป็นเรื่องของจังหวะ เวลาหรือธรรมชาติของความสัมพันธ์
สุดท้าย การเลิกกันมันไม่มีแบบไหนที่ไม่เจ็บหรอก ไม่ว่าจะแตกหักกันไปข้างหรือจากกันด้วยดีก็ตาม มันโอเคที่จะรู้สึกแย่ โอเคที่จะร้องไห้ และโอเคที่จะใช้เวลาเยียวยาหัวใจตัวเอง
เพราะท้ายที่สุดแล้วมันเป็นการสูญเสียอยู่ดี แต่สิ่งสำคัญคืออย่าลืมว่า สักวันเราจะหายเจ็บได้ เดี๋ยวบาดแผลมันก็หายไปเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับการรักตัวเองอีกครั้ง หรือพร้อมที่จะเจอกับรักครั้งใหม่ในวันข้างหน้า

ที่อยู่

6, 1 Ari5 Fang Nuea Alley, Phaya Thai
Bangkok

เบอร์โทรศัพท์

+66968964594

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ MOODYผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

ติดต่อ ธุรกิจของเรา

ส่งข้อความของคุณถึง MOODY:

วิดีโอทั้งหมด

แชร์