THE STUDY TIMES สำนักข่าววัยเรียน
Teenage News Agency

(6 ก.ย.67) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 ตลาดโรงเรียนนานาชาติจะเติบโต 13% จากปีก่อนหน้า และมีมูลค่ามากกว่า 8 ห...
06/09/2024

(6 ก.ย.67) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 ตลาดโรงเรียนนานาชาติจะเติบโต 13% จากปีก่อนหน้า และมีมูลค่ามากกว่า 8 หมื่นล้านบาท จากจำนวนนักเรียนและโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเล่าเรียนที่มีการปรับตัวสูงขึ้น โรงเรียนนานาชาติยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปสู่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ที่จำกัดในเมืองหลวง และการแข่งขันของจำนวนโรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่หนาแน่น
แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของนักเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยเกิดจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ การเพิ่มขึ้นของนักเรียนต่างชาติที่สอดคล้องกับจำนวนชาวต่างชาติในตำแหน่งผู้บริหารที่เข้ามาทำงานในไทย ที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 0.6% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ความนิยมในหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยและทันการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเมื่อเทียบกับหลักสูตรไทย รวมไปถึงศักยภาพการลงทุนด้านการศึกษาของผู้ปกครองที่สูงขึ้น สะท้อนจากคาดการณ์จำนวนคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ฯ ในไทยจะเพิ่มขึ้น 24% ระหว่างปี 2566-2571 ยังเป็นปัจจัยหลักที่หนุนการเติบโตของจำนวนนักเรียน โรงเรียนนานาชาติ
แนวโน้มธุรกิจโรงเรียนนานาชาตินั้น การแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติ พบว่า โรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มขยายตัวสู่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น ในช่วงปี 2555-2567 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ของจำนวนนักเรียนและจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่ตั้งในภูมิภาคอื่นจะสูงกว่าของกรุงเทพฯ ถึง 4.3% และ 6.3% ตามลำดับ โดยพบว่า ด้านจำนวนนักเรียนนานาชาติมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในกรุงเทพอยู่ที่ 5.3% ขณะที่ตามต่างจังหวัดอยู่ที่ 9.6% สอดคล้องกับจำนวนโรงเรียนนานาชาติ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในกรุงเทพอยู่ที่ 2.4% ขณะที่ตามต่างจังหวัดอยู่ที่ 8.7%
การแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่จำกัดทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติต้องสำรวจตลาดใหม่ๆ ในหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่, ระยอง และภูเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจใน 21 เมืองหลักได้เติบโตในอัตราที่สูงกว่ากรุงเทพฯ โดยในปี 2565 อัตราการเติบโต GDP ต่อหัวของ 21 เมืองหลักสูงกว่ากรุงเทพฯ ถึง 2% ซึ่งทำให้ตลาดนอกกรุงเทพฯ ดูน่าสนใจมากขึ้น
แนวโน้มนี้แสดงให้เห็นโอกาสขยายธุรกิจโรงเรียนนานาชาติไปยังพื้นที่นอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาคกลางและตะวันออก ซึ่งน่าจะเป็นตลาดศักยภาพ เพราะมีจำนวนวนครัวเรือนรายได้เกิน 100,000 บาทต่อเดือน รองจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจำนวนครัวเรือนมีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป พบว่า กรุงเทพ-ปริมณฑล 201,649 บาท ภาคกลาง-ตะวันออก 113,082 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) 65,590 บาท ภาคใต้ 64,863 บาท และภาคเหนือ 63,005 บาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนครัวเรือนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนน้อยกว่ากรุงเทพฯ ทำให้ผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับลดค่าเล่าเรียนให้สอดคล้องกับรายได้ผู้ปกครองที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
ตลาดโรงเรียนนานาชาติในไทยนั้น คาดว่าในปี 2567 มูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติไทยจะเติบโตราวร้อยละ 13 จากปี 2566 แตะ 8.7 หมื่นล้านบาท โดยมีการเติบโตตั้งแต่ปี 2563 ที่ 57,000 ล้าน ปี 2564 ที่ 60,000 ล้าน ปี 2565 ที่ 66,000 ล้าน ปี 2566 ที่ 77,000 ล้าน รวมเติบโต 4 ปีติดกันก่อนถึงปีนี้
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของกิจการโรงเรียนนานาชาติ ก็มีอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนี้...
- การเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติ อาจทำให้ผู้ปกครองพิจารณาส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศแทน เนื่องจากช่องว่างระหว่างค่าเล่าเรียนเริ่มลดลง ในปีการศึกษา 2567 ค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอยู่ที่ 764,484 บาท ในขณะที่ค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนประจำในนิวซีแลนด์อยู่ที่ประมาณ 1,150,208 บาท
- โรงเรียนนานาชาติ อาจเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันกับโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่พัฒนาคุณภาพและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ผู้ปกครองอาจตัดสินใจเปลี่ยนไปเลือกโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่มีการเปิดสอนโปรแกรมภาษาอังกฤษ และสอนหลายภาษา เช่น ไทย อังกฤษ และจีน เป็นต้น ซึ่งท้าทายจุดแข็งของโรงเรียนนานาชาติในด้านภาษา
- การพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้การเรียนโฮมสคูลง่ายขึ้น และเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเรียนโฮมสคูลต่ำกว่าการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อ
จำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้ โดยค่าใช้จ่ายในการสอบ GED (เทียบวุฒิมัธยมปลายของสหรัฐฯ) รวมกับค่ากวดวิชาแบบเรียนตัวต่อตัว 100 ชั่วโมง จะอยู่ที่ประมาณ 160,800 บาท
ที่มา: https://www.facebook.com/share/p/cnENJnuGrarh3yvU/?mibextid=oFDknk

#ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
#โรงเรียนนานาชาติ
#หลักสูตรต่างประเทศ
#โรงเรียนนานาชาติในไทย
#ภาษาอังกฤษ
#โฮมสคูล

(2 ก.ย. 67) เยาวชนจำนวนมากมองว่าการเรียนภาษาจีนเป็นหนทางในการหาเงินในประเทศที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งเงินเฟ้อสูงและ...
02/09/2024

(2 ก.ย. 67) เยาวชนจำนวนมากมองว่าการเรียนภาษาจีนเป็นหนทางในการหาเงินในประเทศที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งเงินเฟ้อสูงและค่าเงินที่อ่อนค่าลง ที่ส่งผลให้ชาวลาวจำนวนมากไปหางานทำในไทย การเรียนภาษาจีนกำลังได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อปักกิ่งเร่งลงทุนในประเทศยากจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลแห่งนี้ ทั้งสร้างเขื่อน ถนน และโรงไฟฟ้า
เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทจีนได้ลงทุนในโครงการต่างๆ ในลาวรวม 17 โครงการ มูลค่า 986 ล้านดอลลาร์ ที่กำลังจะทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในไม่ช้าแทนที่ไทย กระทรวงวางแผนและการลงทุนระบุเมื่อเดือน ก.พ.
หลายคนลงเรียนภาษาจีนกลางที่สถาบันขงจื๊อ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสหรัฐฯ และที่อื่นๆ เนื่องจากเชื่อมโยงกับปฏิบัติการอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
เจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทะเบียนระบุว่าสถาบันขงจื๊อของมหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ ในหลวงพระบาง มีคนสมัครเรียนจนเต็ม
“เราเห็นนักท่องเที่ยวจีนในพื้นที่มากขึ้น และคนท้องถิ่นที่นี่ก็เรียนภาษาจีนกันมากขึ้นด้วย” เจ้าหน้าที่ระบุ
“มีโรงเรียนเอกชนของลาวหลายแห่งที่สอนภาษาจีน เพราะตลาดจีนกำลังขยายตัว นักท่องเที่ยวและธุรกิจของจีนเข้ามาที่เมืองและประเทศมากขึ้น” ชาวลาวคนหนึ่งที่ส่งลูกสาวไปเรียนภาษาจีนในหลวงพระบาง กล่าว
ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวในนครหลวงเวียงจันทน์รายงานว่ามีนักเรียนเข้าสอบเอ็นทรานซ์เพียง 5,457 คนเท่านั้น แม้จะเปิดรับถึง 7,700 คนก็ตาม
ส่วนมหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต ทางตอนใต้ของประเทศ ระบุว่ามีนักเรียนเข้าสอบในปีนี้เพียง 329 คน แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยมีแผนรับนักศึกษาใหม่ 1,500 คน
และแม้แต่ในมหาวิทยาลัย ภาษาจีนก็กลายเป็นวิชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รวมถึงมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวด้วย
“ภาษาจีนเป็นวิชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสถานศึกษาต่างๆ กระทั่งผู้ใหญ่เองก็เรียนภาษาจีนด้วย มีการลงทุนจากจีนในประเทศของเรามากขึ้น ดังนั้นผู้คนจึงเรียนภาษาจีนกันมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาหวังว่าภาษาจีนจะช่วยให้พวกเขาได้งานและรายได้ที่ดีขึ้น” อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ระบุ
นอกจากนี้ การสมัครเข้าเรียนก็ลดลงเรื่อยๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีรายงานในเดือน มิ.ย.ว่า นักเรียนในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายระบุว่าพวกเขาออกจากโรงเรียนเพราะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ และการขาดโอกาสในการทำงาน
จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเหล่านี้ลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเงินเฟ้อเพิ่มสูงทำให้ค่าอาหารและค่าเดินทางเพิ่มขึ้น ทำให้ครอบครัวต่างๆ เผชิญกับความยากลำบากในการจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียน
จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นหลังจากลาวกำหนดให้ปี 2567 เป็นปีท่องเที่ยวลาว เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้จากสกุลเงินต่างประเทศ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และหลังจากปิดประเทศไป 3 ปี เนื่องจากการระบาดของโควิด
“นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมชาวลาวจำนวนมากสนใจเรียนภาษาจีน คนที่พูดภาษาจีนได้ไม่เพียงแต่สามารถทำงานเป็นมัคคุเทศก์ได้เท่านั้น แต่ยังสามารถทำงานในโรงแรมและในธุรกิจของจีนได้ด้วย” มัคคุเทศก์ในหลวงพระบาง กล่าว
“พูดอีกอย่างคือคนที่มีทักษะการพูดภาษาจีนมีโอกาสดีกว่าที่จะได้งานและค่าจ้างที่ดีกว่า” มัคคุเทศก์คนเดิม กล่าว
ครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในแขวงหลวงน้ำทา ทางตอนเหนือของลาว กล่าวกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีว่าสำหรับปีการศึกษาหน้า โรงเรียนของเขาจะเปิดหลักสูตรภาษาจีนเพิ่มและชั้นเรียนหลังเลิกเรียน
ผู้อำนวยการของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในแขวงหลวงพระบางกล่าวว่าโรงเรียนของเขาต้องการครูชาวจีนจำนวนมาก ไม่ใช่ครูชาวลาวที่สามารถสอนจีนได้.
ที่มา: MGROnline



#คนลาว
#ประเทศจีน
#ภาษาจีน

ลุยญี่ปุ่น ดาว์ปกรณ์ รัตนสุวรรณ (ที่ 6 จากขวา)  ประธานกรรมการบริหาร ‘บริษัท เดอะ เจ็นซ์ จำกัด’ นำทัพนักกอล์ฟไทยลงสู้ศึกก...
30/08/2024

ลุยญี่ปุ่น ดาว์ปกรณ์ รัตนสุวรรณ (ที่ 6 จากขวา) ประธานกรรมการบริหาร ‘บริษัท เดอะ เจ็นซ์ จำกัด’ นำทัพนักกอล์ฟไทยลงสู้ศึกกอล์ฟเยาวชนรายการ ‘โยเน็กซ์ จูเนียร์ กอล์ฟ แชมเปี้ยนชิพ 2024’ ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม 2567 ที่สนามโยเน็กซ์ คันทรี คลับ เมืองนะงะโอกะ ประเทศญี่ปุ่น โดยนักกอล์ฟเยาวชนหญิงที่ทำคะแนนรวม Overall อันดับที่ 1 (จัดอันดับคะแนนรวมในคลาสเอและบี) เป็นตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันและหาประสบการณ์ในการแข่งขันเลดี้ส์ เจแปน ทัวร์ (JLPGA Tour) รายการ YONEX Ladies Championship 2025
นอกจากนี้ นักกอล์ฟเยาวชนหญิงที่มีคะแนนรวม Overall อันดับที่ 2 จะได้รับสิทธิ์แข่งรอบ Monday Qualify ในรายการนี้ช่วงเดือนมิถุนายน ปีหน้าอีกด้วย
.
หลังจบการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ผลปรากฏว่า ‘ภูมิกิตติ์ พิชยเสาวภาคย์’ นักกอล์ฟตัวแทนจาก ‘ช้าง-เจ็นซ์ กอล์ฟ ทัวร์’ ร่างทองหวด 8 อันเดอร์พาร์ 208 (68-69-71) ผงาดคว้าแชมป์ Overall (ชาย) และแชมป์คลาสเอ (ชาย) ในการแข่งขันกอล์ฟเยาวชน ‘โยเน็กซ์ จูเนียร์ กอล์ฟ แชมเปี้ยนชิพ 2024’ ให้กับทีมไทยได้สำเร็จ พร้อมรักษาแชมป์ตีไกลประเภทชายได้เป็นสมัยที่ 2
น้องฮาร์ท-ภูมิกิตติ์ พิชยเสาวภาคย์ ได้เปิดเผยหลังจบเกมการแข่งขันว่า “สำหรับการมาแข่งในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ก็เตรียมตัวแก้จุดบอดของปีที่แล้ว คือ Tee Shot ผิดพลาด ทำให้ออก OB เยอะ และซ้อมในสิ่งที่ควรจะต้องซ้อมในสภาพสนามของโยเน็กซ์ คันทรี คลับ แม้สนามจะสั้น แต่มีแฟร์เวย์ที่แคบและมี OB อุปสรรคซ้ายขวาตลอด ทำให้เล่นช็อตแอพโพรชค่อนข้างยาก แต่มีข้อดีคือกรีนที่นี่ค่อนข้างใหญ่ ปีนี้เตรียมความพร้อมมาเต็มที่ และซ้อม Tee Shot มาเป็นพิเศษ พอใจกับผลงานที่ทำได้ในครั้งนี้ และจะเก็บประสบการณ์ที่นี่กลับไปพัฒนาเกมกอล์ฟให้มากที่สุด และต้องขอขอบคุณ ‘เดอะ เจ็นซ์’ ที่ให้โอกาสได้เป็นหนึ่งในทีมที่เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้”
สำหรับนักกอล์ฟหญิงที่ได้สิทธิ์แข่งเลดี้ส์ เจแปน ทัวร์ (JLPGA Tour) รายการ YONEX Ladies Championship 2024 เป็นของ Aisa Saito จากประเทศญี่ปุ่น โชว์ฟอร์มเฉียบ คว้าอันดับ 1 ทำไปถึง 8 อันเดอร์พาร์ 208 และพิมภากร ปัญญาดิลก ทีม TSGU จากไทย จบอันดับ 2 สกอร์รวม 6 อันเดอร์พาร์ 216 ได้สิทธิ์แข่งรอบ Monday Qualify ของรายการนี้อีกด้วย

#นักกอล์ฟไทย

(29 ส.ค. 67) จากเพจ 'Thailand FACT Today' ได้โพสต์ข้อความระบุว่า...ล่าสุด นางสาวพรรัตน์ ไชยมงคล นักวิทยาศาสตร์ กรมวิทยาศ...
29/08/2024

(29 ส.ค. 67) จากเพจ 'Thailand FACT Today' ได้โพสต์ข้อความระบุว่า...
ล่าสุด นางสาวพรรัตน์ ไชยมงคล นักวิทยาศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว.
นำผลงาน 'นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ด้านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน'
เข้าร่วมประกวดผลงานนวัตกรรมในงาน International Exhibition of Inventions in the Middle East ณ ประเทศคูเวต ซึ่งจัดโดย Kuwait Science Club ในพระอุปถัมภ์ของเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต
และได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
นวัตกรรมดังกล่าวใช้กระบวนการ Advanced Oxidation Process ในการฆ่าเชื้อโรคทั้งในพื้นผิวและอากาศภายในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
ประกอบด้วย 2 Model ได้แก่ Model สำหรับติดตั้งในสถานีรถพยาบาล จะใช้งานเมื่อรถพยาบาลออกไปให้บริการผู้ป่วยและกลับมาทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่ Station และ Portable Model สำหรับติดตั้งในรถพยาบาลกรณีที่ไม่สามารถกลับเข้าทำความสะอาดที่สถานีได้ และมีประโยชน์อย่างยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดรุนแรงและสถานการณ์ปกติ
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่บุคลากรและผู้ป่วย ที่อาจสัมผัสเชื้อโรคได้ สำหรับตัวเครื่องใช้แบตเตอรีและสามารถชาร์จไฟจากรถพยาบาลได้
.
โดยทั้ง 2 Model ทำการฆ่าเชื้อแบบอัตโนมัติ สามารถสั่งงานผ่าน Remote หรือ Applications โดยไม่ต้องใช้คนเข้าไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อ
ทั้งนี้ ผลงานฯ ดังกล่าว ได้ส่งมอบเพื่อนำร่องใช้งานจริงในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ปทุมธานี, แหลมฉบัง, ชลบุรี, สมุทรปราการ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ป่วย และเป็นการร่วมผลักดันบูรณาการระหว่างองค์กรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดระบบฆ่าเชื้อที่สามารถติดตั้งในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินและสามารถขยายการใช้งานนวัตกรรมทั่วประเทศต่อไป
ที่มา: https://www.facebook.com/share/wbAYsKpXtUCig1Hy/?mibextid=oFDknk


#นักวิทยาศาสตร์ไทย
#นวัตกรรมด้านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ
#ประเทศไทย

(28 ส.ค.67) บลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.67 ออสเตรเลีย ได้กลายเป็นประเทศล่าสุดที่เตรียมกวาดล้างปัญหานักศึกษาต่...
28/08/2024

(28 ส.ค.67) บลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.67 ออสเตรเลีย ได้กลายเป็นประเทศล่าสุดที่เตรียมกวาดล้างปัญหานักศึกษาต่างชาติล้นเมือง ซึ่งเป็นข้อวิตกที่สืบเนื่องกับปัญหาประชากรล้นเข้าเมืองออสเตรเลียจำนวนมากในช่วงระยะหลัง ตามหลังแคนาดา, เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ ที่ล้วนใช้มาตรการจำกัดนี้ไปแล้ว
ทั้งนี้จากรายงานโดยอ้างอิงจากรอยเตอร์ส ระบุว่า รัฐบาลพรรคแรงงานของนายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบานิส ได้ประกาศเมื่อวันอังคาร (27) ว่า ในปี 2025 จำนวนเพดานนักศึกษาต่างชาติจะเหลือแค่ 270,000 คนเท่านั้น
"ภายใต้นโยบายนี้ รัฐบาลแคนเบอร์ราจะจำกัดจำนวนนักศึกษาต่างชาติใหม่ที่ 145,000 คนสำหรับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และอีก 95,000 คนสำหรับคอร์สฝึกฝีมือแรงงาน" รัฐมนตรีการศึกษาออสเตรเลีย เจสัน แคลร์ (Jason Clare) แถลงข่าว (27)
สำหรับออสเตรเลีย มีนักศึกษาต่างชาติเกือบ 600,000 คนที่ได้รับวีซ่านักศึกษาเดินทางเข้าประเทศในปี 2023 ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงเป็นประวัติศาสตร์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
รอยเตอร์ส รายงานว่า ในงานแถลงข่าววันอังคาร (27) แคลร์ ได้กล่าวด้วยว่า “มีนักศึกษาต่างชาติมากกว่า 10% อยู่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของเรา โดยในปัจจุบันมีจำนวนสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 และอีกกว่า 50% อยู่ในสถาบันเอกชนฝึกอบรมคอร์สอาชีพ”
ด้านรัฐมนตรีการศึกษาออสเตรเลีย แถลงว่า "รัฐบาลพรรคแรงงานออสเตรเลียจะแจ้งไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สำหรับการลดเพดานจำนวนการรับนักศึกษาเหล่านั้นต่อไป"
ฟาก สมาคมการศึกษาอุดมศึกษาเอกชนออสเตรเลีย (The Independent Tertiary Education Council Australia) ได้ออกแถลงการณ์ว่า "มหาวิทยาลัยต้องการข้อมูลเพิ่มในการเปลี่ยนแปลงนี้" โดยชี้ว่า "การประกาศของรัฐบาลทำให้เกิดคำถามมากกว่าคำตอบ"
รอยเตอร์ส รายงานต่อว่า ทางมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ก็ได้มีกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับแจ้งการจำกัดเพดาน แต่ยังไม่เปิดเผยเพิ่มเติม นอกจากระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างการประเมินทางด้านการเงินและปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ๆ
"การจำกัดเพดานนักศึกษาต่างชาติ จะส่งผลร้ายต่อมหาวิทยาลัยของพวกเรา, ภาคส่วนการศึกษาระดับสูงโดยรวม และต่อประเทศเป็นเวลาอีกหลายปีหลังจากนี้' รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ศาสตราจารย์ ดันแคน มาสเคลล์ (Prof. Duncan Maskell) แถลง
ขณะที่ เดวิด ลอยด์ (David Lloyd) ประธานกรรมการสมาคมมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย (Universities Australia) ชี้ว่า "การตั้งเพดานรับนักศึกษาเหมือนเป็นการติดเบรกให้กับภาคอุตสาหกรรมการศึกษาระดับอุดมศึกษาออสเตรเลียที่มีชื่อเสียง"
ด้าน บลูมเบิร์ก รายงานว่า การสนับสนุนเข้าเมืองในออสเตรเลียตกลงในจุดต่ำสุดของรอบ 5 ปี อ้างอิงจากโพลสำรวจของ Essential ที่ได้เผยแพร่วันอังคาร (27) โดย 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามต่างกล่าวว่า ส่งผลกระทบทางลบต่อออสเตรเลีย
ทั้งนี้ นักศึกษาต่างชาติสร้างรายได้ราว 32,500 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ให้แก่ระบบเศรษฐกิจแดนจิงโจ้ในปี 2023 และทำให้ภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาออสเตรเลียกลายเป็นภาคบริการส่งออกสูงสุดของประเทศ
ที่มา: MGROnline

#ออสเตรเลีย
#นักศึกษา
#นักศึกษาต่างชาติ

(27 ส.ค. 67) นายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Pattara Khumphitak' ในหัวข้อ 'คนหน...
27/08/2024

(27 ส.ค. 67) นายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Pattara Khumphitak' ในหัวข้อ 'คนหนุ่มผู้กำลังจะสร้างสะพาน' ระบุว่า...
สองหนุ่มหล่อนี้คือ กูอัสมาดีซัม อัครเสณีย์ และ กูอัสมาวีซัม อัครเสณีย์ สองพี่น้องฝาแฝด ผู้สร้างอนาคตได้อย่างน่าทึ่ง
ทั้งสองคน ฝ่าฟันความยากไร้ โดยรับทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อใช้เรียนในสายอาชีวะระดับปวช.และปวส.
กสศ.ให้ทุนแก่นักศึกษาระดับปวช.และปวส.เดือนละ 7,500 บาทแก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสทั่วประเทศกว่า 13,000 คนมาแล้ว 5 ปี เพื่อให้พวกเขาได้ยังชีพและเล่าเรียนจนจบแบบให้เปล่า
กูอัสมาดีซัม และ กูอัสมาวีซัม เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส โดยใช้ความอดทนในช่วงเวลาสามเดือนที่กว่าเงินทุนจาก กสศ.จะตกมาถึงในครั้งแรก โดยใช้เงินที่แม่ส่งมาให้อาทิตย์ละ 200 บาท ไปซื้อบะหมี่สำเร็จรูปมายังชีพ
พอ 12 สัปดาห์ ผ่านไป เงินทุนตกเบิกย้อนหลังรวมกันคูณสองค่อยเดินทางมาถึง แต่แทนที่จะใช้เงินนั้นไปทำอะไรที่ชดเชยความยากลำบาก พวกเขากลับเอาเงินที่ได้ไปซื้อวัวมาให้ที่บ้านเลี้ยง
จากวัวเล็กๆ มาเป็นวัวสมบูรณ์พร้อมขาย จากนั้นกระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนก็ขยายออกไปเป็นแพะ เป็ด ไก่ ฯลฯ
สุดท้ายได้ยินว่า พวกเขาสามารถซื้อที่ดินผืนติดกันขยายบ้านออกไปอีก
แบบนี้จะไม่เรียกว่า สร้างอนาคตได้อย่างน่าทึ่งได้อย่างไร
“จุดเริ่มต้นของความเสมอภาคคือ การวางรากฐานของตนเอง
"ผมเป็นเด็กสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมอยากทำความฝันของตัวเอง แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะครอบครัวไม่สามารถส่งผมเรียนได้ แต่ทุนของ กสศ.ได้มอบโอกาสให้ผมในวันนั้น จนถึงวันนี้
"ผมได้ใช้ทุนที่ได้รับ มาหมุนเวียนในชีวิต ซื้อวัว ซื้อแพะ เป็ด ไก่ ทำให้ผมอยากมอบโอกาสดีๆ แก่เด็กด้อยโอกาส เด็กไร้การศึกษา เด็กห่างจากการศึกษาโดยเปิดศูนย์การเรียน ให้เด็กเหล่านั้นมีรายได้ ได้ใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี" กูอัสมาดีซัม พูดบนเวทีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
น้องใช้เวลาสั้นมาก ไม่น่าเกิน 5 นาทีบอกเล่า เรื่องราวในหนทางอับแสง มองไม่เห็นแหล่งที่จะไปในโลกของการจะสร้างตัวขึ้นมาด้วยการศึกษาเล่าเรียน การงมหาบันไดขั้นแรกในความมืด ไปจนถึงภาพฝันในอนาคต
ถ้อยคำสั้นๆ ที่เขาแบ่งปันภาพอนาคตต่อคนฟังในห้องโถงนั้น คนอื่นจะรู้สึกอย่างไรไม่ทราบ แต่ลำคอผมตีบตันไปชั่วขณะ
ถ้อยคำของน้อง น่าจะเป็นกำลังใจให้ผู้คนทั้งปวง คนใน กสศ.และคนรุ่นต่อๆ ไป แต่สำหรับคนที่มีส่วนร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมทำกันมาบนเส้นทางนี้ คงไม่ต่างอะไรกับการได้เห็นลูกหลานของตัวเองเติบใหญ่ เจริญรุ่งเรืองและบรรลุแล้วซึ่งเป้าหมายของการร่ำเรียน
เป้าหมายของการศึกษาและการเรียนรู้จะมีอะไรสำคัญกว่า สามารถทำให้ตัวเราเองยืนตัวขึ้นได้ ค้นพบศักยภาพของตัวเอง นำศักยภาพนั้นมาช่วยตัวเองและครอบครัว แล้วไปช่วยชุมชนและสังคม พร้อมกันนั้นก็ขัดเกลาจิตใจตนเองให้สูงขึ้นเรื่อยๆ
จนเป็นมนุษย์ที่เป็นไทยที่แท้จริง
ตอนนี้ ดี-กูอัสมาดีซัม และ วี-กูอัสมาวีซัม เพิ่งจะเข้าเรียนปีหนึ่งในระดับปริญญาตรี ที่เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช แต่ผมไม่กังขาเลยว่า วันหนึ่งพวกเขาจะทำความฝันสำเร็จหรือไม่ และจะมีคนได้เดินข้ามสะพานที่พวกเขาจะลงแรงปูมันขึ้นมาหรือไม่
ผมได้ยินเรื่องราวสองหนุ่มนี้มาก่อนโดยไม่เคยเจอตัวจริง เพิ่งมาเห็นตัวจริงเอาตอนเขาอยู่บนเวที ส่วนผมนั่งชื่นชมน้องอยู่แถวหลังห้อง ไม่ได้ไปอยู่แถวหน้าเพราะเกรงพิธีรีตอง แต่โชคดีหลังงานจบน้องทั้งสองเดินมา จะด้วยจังหวะ วิถีหรืออะไรไม่รู้ เราเดินเข้าทางกัน ยิ้มให้กัน และหยุดคุยกัน
น้องถามผมว่า ทำอะไรอยู่ที่ไหน จากนั้นเลยได้คุยกันยาว
“ผมมีความตั้งใจว่า วันหนึ่งเราจะตั้งศูนย์การเรียนเพื่อเป็นผู้ให้คนอื่นบ้าง เพราะเป็นผู้ได้รับมาแล้ว…” เขาบอกถึงเป้าหมายอันแจ่มชัดของเขากับผมอีกครั้งหนึ่ง
ผมดีใจจริงๆ ที่ได้รู้จักน้องทั้งสองคน แม้จะชื่นชมและให้กำลังใจแก่ทั้งสองคนที่คิดอะไรดีๆ แบบนั้นไปแล้ว แต่ก็ลืมขอบคุณที่พวกเขาที่ทำให้คนทำงานและบรรดาคนที่ช่วยเหลือขับเคลื่อนงานนี้ด้วยกันมาในหนทางต่างๆ ไม่ว่าผู้ออกแรงและเจ้าของมือไม้เหล่านั้นจะอยู่แห่งใดก็ตาม ผมเชื่อว่า ผู้คนเหล่านั้นคงมีความรู้สึกเช่นเดียวกันคือ น้องทำให้มีความสุขและมีความหวัง
การงานมันไม่ได้สำเร็จสวยงามไปเสียทุกเรื่อง เช่นเดียวกับเมล็ดหรือกล้าพันธุ์ ที่หว่านหรือลงแปลงไปใช่ว่า จะอยู่รอด เติบใหญ่ได้ทั้งหมด แค่มีบ้างอย่างนี้ ก็ชื่นใจและมีกำลังใจมากแล้ว
ขอบคุณ 'ดี-กูอัสมาดีซัม' และ 'วี-กูอัสมาวีซัม' มากๆ ครับ ขอให้เจริญๆ ครับ
ที่มา: https://www.facebook.com/share/p/ah1DxQMvftQw9iaq/

#กูอัสมาดีซัม
#กูอัสมาวีซัม
#กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

การสอบแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ครั้งที่ 17 จัดขึ้นที่ ณ เมือง Vassouras รัฐรีโอเดอจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบรา...
27/08/2024

การสอบแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ครั้งที่ 17 จัดขึ้นที่ ณ เมือง Vassouras รัฐรีโอเดอจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ระหว่างวันที่ 17 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ในการแข่งขันครั้งนี้ มีนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 234 คน จากทั้งหมด 54 ประเทศ การแข่งขันประกอบไปด้วย การสอบภาคทฤษฎี (300 คะแนน) และการสอบภาคสังเกตการณ์ (75 คะแนน) การสอบภาคท้องฟ้าจำลอง (75 คะแนน) และการสอบภาควิเคราะห์ข้อมูล (150 คะแนน)
ผลการสอบแข่งขันของนักเรียนไทย คือ
1. นายปุณธวัช เลิศจรัญรัตน์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้รับรางวัลเหรียญทอง
2. นายวงศ์วรัณ อุปวงษ์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน
3. นายชยพล นนทสูติ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้รับรางวัลเหรียญเงิน
4. นายอัยยา สุทธิกุลบุตร โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน
5. นายธนกฤต อร่ามผล โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน
และรางวัลพิเศษ IOAA 2024 คะแนนภาคปฏิบัติสูงสุด (Observation + Planetarium + Data Analysis)
ได้แก่ ปุณธวัธ เลิศจรัญนัตน์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
มีอาจารย์ผู้ควบคุมทีม จำนวน 2 คน
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชษฐ กิจธารา มหาวิทยาลัยมหิดล (หัวหน้าทีม)
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัณย์ ภิบาลชนม์ มหาวิทยาลัยบูรพา (รองหัวหน้าทีม)
และอาจารย์สังเกตการณ์ จำนวน 2 คน
1. ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
2. อาจารย์สุดารัตน์ ช่างสีดา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
การสอบแข่งขันดาราศาตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ครั้งที่ 18 จะจัดขึ้นที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ. 2568

#การสอบแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ครั้งที่

ขอแสดงความยินดีกับตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 20 (20th INTERNATIONAL GEOGRAPHY OLYM...
27/08/2024

ขอแสดงความยินดีกับตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 20 (20th INTERNATIONAL GEOGRAPHY OLYMPIAD 2024)
ณ เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 19 – 24 สิงหาคม 2567 มีผู้ได้รับรางวัลดังนี้
1. นายณฐกร สวัสดิ์นพรัตน์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน
2.นายศุภเกียรติ มนัสศิริวิทยา The Newton Sixth Form School ได้รับรางวัลเหรียญเงิน
3.นางสาวเกวลิน สาลิกา โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง
4.นายกฤศณัฏฐ์ เชาว์วรวิญญู โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง
อาจารย์ผู้ควบคุมทีม
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกกมล วรรณเมธี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หัวหน้าทีม)
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิตา ดวงยิหวา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รองหัวหน้าทีม)
3. รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล มูลนิธิ สอวน. (อาจารย์สังเกตการณ์)
4. อาจารย์ ดร.มัลลิกา สุกิจปาณีนิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อาจารย์สังเกตการณ์)

#เด็กไทย
#เด็กเก่ง
#ภูมิศาสตร์โอลิมปิก

🔍 Summer Camp เดือนตุลาคม เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกฝน ‘ภาษาจีน’ ทั้งการ ‘ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน’ ณ มหาวิทยาลัยชนชาติกวางสี ...
23/08/2024

🔍 Summer Camp เดือนตุลาคม เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกฝน ‘ภาษาจีน’ ทั้งการ ‘ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน’ ณ มหาวิทยาลัยชนชาติกวางสี ✨
โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้ภาษาจีนจากสถานการณ์จริง
นอกจากนี้ ยังมีการทัศนศึกษาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในเมืองหนานหนิง พร้อมสัมผัสกับอาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง
ผู้เรียนจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้งผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นตลอดหลักสูตร เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความสามารถในการใช้ภาษาจีนในชีวิตประจำวัน
สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถสมัครได้ที่ >> https://lin.ee/weqVXzr

#ภาษาจีน
#มหาวิทยาลัยชนชาติกวางสี

(16 ส.ค.67) จากช่องยูทูบ ‘ดร.อธิป อัศวานันท์’ ผู้บริหารของบริษัท ทรูคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) รองประธานกิจการไอซีทีหอการ...
19/08/2024

(16 ส.ค.67) จากช่องยูทูบ ‘ดร.อธิป อัศวานันท์’ ผู้บริหารของบริษัท ทรูคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) รองประธานกิจการไอซีทีหอการค้าไทย นักเขียนชื่อดัง และอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้โพสต์คลิปวิดีโอเล่าเรื่องราวภายใต้หัวข้อ ‘มหาวิทยาลัยดังสหรัฐแพ้คดี : ต้องหยุดกีดกันเด็กเอเชีย ยกเลิกการใช้เชื้อชาติ ศาลสูงสุดตัดสิน ฮาร์วาร์ด’ ต่อกรณีมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ใช้นโยบายหนึ่งที่เรียกว่า ‘Affirmative Action’ แต่สุดท้ายชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียกลับต้องเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า ‘Reverse Affirmative Action’ ซึ่งการเลือกปฏิบัติเชิงลบ หรือมาตรการลดโอกาสต่อพวกเขา โดยมีเนื้อหาดังนี้...
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ศาลฎีกาของสหรัฐฯ (Supreme Court of the United States : SCOTUS) ได้มีคําตัดสินที่สะเทือนวงการ ‘การศึกษา’ โดยระบุว่าการใช้เชื้อชาติในการรับสมัครนักศึกษา เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ โดยคําตัดสินนี้เป็นผลมาจากการต่อสู้ทางกฎหมายที่ยาวนานถึงเกือบ 10 ปี ซึ่งเริ่มต้นในปี 2013 เมื่อมีการฟ้องร้อง ‘ฮาร์วาร์ด’ มหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า มีการเลือกปฏิบัติต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
ก่อนอื่นเราต้องทําความเข้าใจว่า เด็กเอเชียที่พูดถึงในกรณีนี้คือใคร ซึ่งพวกเขาไม่ใช่นักศึกษาต่างชาติจากเอเชีย แต่เป็น ‘ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย’
ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีกฎหมายที่แตกต่างจากประเทศอื่นตรงที่ใช้หลัก ‘สิทธิของดินแดน’ หรือมีหมายความว่า เด็กที่เกิดในดินแดนของสหรัฐฯ จะได้รับสัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าพ่อหรือแม่จะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร ซึ่งนี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่ว่า ‘Birthright Citizenship’ ที่ถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ประเทศไทยใช้หลักสิทธิของ ‘สายเลือด’ ซึ่งหมายความว่าลูกของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยจะได้สัญชาติไทยต่อเมื่อพ่อหรือแม่เป็นคนไทยเท่านั้น
สหรัฐอเมริกาถือเป็น ‘ประเทศแห่งผู้อพยพ’ ซึ่งเป็นแนวสําคัญในการสร้างชาติของอเมริกา โดยแนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศที่เกิดขึ้นจากการอพยพของผู้คนจากทั่วโลก และยังคงเป็นส่วนสําคัญของอัตลักษณ์ของชาติอเมริกันจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ทําให้ชาวอเมริกันมีหลากหลายเชื้อชาติ โดยในวันนี้มีชาวผิวขาว 62%, ชาว Hispanic 19%, ชาวผิวดํา 12%, ชาวเอเชีย 6% และชาวอินเดียนแดง 3%
ดังนั้น หากยึดตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ แล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นเชื้อชาติอะไร แต่ตราบเท่าที่คุณเป็นสัญชาติอเมริกัน คุณจะต้องมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะเป็นคนต่างด้าวหรือผู้อพยพก็ตามเพราะต้องอย่าลืมว่าอเมริกาเป็นประเทศของผู้อพยพ เชื้อชาติอเมริกันที่แท้จริงก็คือชาวอินเดียนแดงที่มีอยู่เพียง 3% ของประชากร แต่ผู้ที่อพยพมาในภายหลังซึ่งรวมไปถึงชาวผิวขาว, ชาว Hispanic, ชาวผิวดํา และชาวเอเชีย มีอยู่ถึง 97% ของประชากร ซึ่งจะแตกต่างกับประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยของเรา ที่คนเชื้อชาติไทยคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ
นั่นหมายความว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็คือลูก หรือหลาน หรือเหลน ของผู้ที่อพยพมาจากเอเชีย แต่ก็นับเป็นชาวอเมริกันอย่างเต็มภาคภูมิตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ และก็ไม่สามารถถูกมองได้ว่าเป็นคนต่างด้าวอีกต่อไป
ดร.อธิป กล่าวต่ออีกว่า เช่นนั้นแล้ว ‘Affirmative Action’ ในการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยคืออะไร? คําตอบก็คือนโยบายการเพิ่มโอกาสให้กับเชื้อชาติที่เสียเปรียบในการเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อที่จะช่วยให้ชาติเหล่านั้นสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น
สำหรับ Affirmative Action เริ่มต้นในทศวรรษ 1960 ในช่วงของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติในอดีต ซึ่งนโยบายนี้ไม่ได้จํากัดอยู่แค่การศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจ้างงานและการทําสัญญากับภาครัฐอีกด้วย อีกทั้งในบริบทของการศึกษา Affirmative Action ยังมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความหลากหลายในมหาวิทยาลัย และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มที่เคยถูกกีดกันในอดีต และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ที่หลากหลายในชั้นเรียน
ทั้งนี้ เชื้อชาติที่เสียเปรียบเหล่านั้นก็คือชนกลุ่มน้อยทั้งหมด โดยยกเว้นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ซึ่งได้แก่ชาว Hispanic, ชาวผิวดํา และชาวอินเดียนแดง เนื่องจากชนกลุ่มนี้มีความเสียเปรียบทั้งในเรื่องของผลการเรียนและฐานะของครอบครัวเมื่อเทียบกับชาวผิวขาว ซึ่ง Affirmative Action นี้ไม่ได้ช่วยชาวผิวขาว เพราะชาวผิวขาวถือเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่ทุกเผ่าพันธุ์จะถูกเปรียบเทียบด้วย แต่ในทางกลับกัน Affirmative Action กลับทําร้ายชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เพราะทําให้เข้ามหาวิทยาลัยได้ยากขึ้น เพราะถือว่าเป็นชนกลุ่มที่ได้เปรียบทั้งในเรื่องของผลการเรียนและฐานะของครอบครัวเมื่อเทียบกับชาวผิวขาว
สรุปก็คือ Affirmative Action ทําให้ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเข้ามหาวิทยาลัยได้ยากกว่าชาวผิวขาว แต่ก็ช่วยให้ชาว Hispanic, ชาวผิวดํา และชาวอินเดียนแดง เข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายกว่าชาวผิวขาว
ดร.อธิป เสริมอีกว่า ในทางปฏิบัติการใช้ Affirmative Action ในการรับนักศึกษา มักจะถูกทําในรูปแบบของการพิจารณาแบบองค์รวม ซึ่งพิจารณาปัจจัยหลากหลายนอกเหนือจากคะแนนและเกรดเฉลี่ย อย่างเช่นประสบการณ์ชีวิต ความสามารถพิเศษ และภูมิหลังทางวัฒนธรรม โดยเชื้อชาติอาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ถูกนํามาพิจารณา ซึ่งก็คือชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียจะต้องมีคะแนนสอบและประวัติที่สูงกว่าทุกเผ่าพันธุ์ ซึ่งรวมถึงชาวผิวขาวด้วย หากจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ในระดับเดียวกัน
หากอธิบายในอีกแง่มุมหนึ่งก็เปรียบได้ว่า แต่ละมหาวิทยาลัยมีโควต้าสําหรับชาวอเมริกันในแต่ละเผ่าพันธุ์ ก็คือมีโควตาสําหรับชาวผิวขาว, ชาว Hispanic, ชาวผิวดํา, ชาวเอเชีย และชาวอินเดียนแดง ซึ่งก็คือ ‘ชาวผิวขาว’ แข่งกับ ‘ชาวผิวขาว’ / ‘ชาว Hispanic’ แข่งกับ ‘ชาว Hispanic’ เป็นต้น ซึ่งมาตรฐานของแต่ละเผ่าพันธุ์ก็จะไม่เท่ากัน และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็จะแข่งขันกันเองในลีกที่คะแนนสูงกว่าและยากกว่าทุกเผ่าพันธุ์
ดังนั้น Affirmative Action จึงเป็นนโยบายที่มีทั้งผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่คัดค้าน โดยผู้ที่สนับสนุนต่างมองว่านโยบายนี้จะช่วยแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่สะสมมานาน และก็เป็นการส่งเสริมความหลากหลายในมหาวิทยาลัย ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของทุกคน และยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนจากเผ่าพันธุ์ที่ขาดแคลนได้เข้าถึงการศึกษาระดับสูง แต่ผู้ที่คัดค้านก็ต่างมองว่า เป็นการเลือกปฏิบัติต่อบางกลุ่ม โดยเฉพาะชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และก็ไม่ได้พิจารณาความสามารถของบุคคลอย่างแท้จริง และยังทําให้เกิดการตั้งคำถามต่อความสามารถของผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมี Affirmative Action หรือนโยบายการเพิ่มโอกาสให้กับเชื้อชาติที่เสียเปรียบ ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็ยังจะมีจํานวนที่สูงมากในหลายมหาวิทยาลัยชั้นนํา ทั้ง ๆ ที่มีจํานวนอยู่เพียงแค่ 6% ของประชากรเท่านั้น
ทั้งนี้ ดร.อธิป ได้กลับมาพูดต่อถึงเคสที่ฟ้องร้องมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่สู้กันอยู่ 10 ปี จนกระทั่งศาลสูงสุดได้ตัดสินว่า การใช้เชื้อชาติในการรับนักศึกษาเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ โดยคดีนี้เริ่มต้นเมื่อองค์กร Students for Fair Admissions หรือ SFFA ได้ฟ้องฮาร์วาร์ดในปี 2014 โดยกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
โดย SFFA อ้างว่า ฮาร์วาร์ดใช้ระบบโควตาแอบแฝงที่จํากัดจํานวนนักศึกษาเชื้อสายเอเชีย ที่มีการนําเสนอหลักฐานที่สําคัญในคดี ซึ่งเป็นข้อมูลการรับสมัครตั้งแต่ปี 2014 - 2019 และข้อมูลรวมตั้งแต่ปี 2000 - 2019 ที่อ้างว่า ผู้สมัครเชื้อสายเอเชียได้คะแนนต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในด้านคุณลักษณะส่วนบุคคลเชิงบวก และการวิเคราะห์ทางสถิติโดยนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยหนึ่งก็ได้พบว่า ผู้สมัครเชื้อสายเอเชียก็ได้รับการลงโทษทางสถิติในคะแนนส่วนบุคคลและคะแนนโดยรวม นอกจากนี้ ก็มีการอ้างถึงรายงานภายในของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ได้ค้นพบการลงโทษทางสถิติต่อผู้สมัครเชื้อสายเอเซียจากการตรวจสอบภายใน ในปี 2013
อย่างไรก็ตาม ฮาร์วาร์ดก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและอ้างว่าการพิจารณาเชื้อชาติเป็นเพียง 1 ในหลายปัจจัยเพื่อสร้างความหลากหลาย และถึงแม้ว่าฮาร์วาร์ดจะชนะในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกากลับตัดสินในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 2 ว่า การใช้เชื้อชาติในการรับนักศึกษาเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แน่นอนว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนคําตัดสินของศาลสูงสุดและฝ่ายที่ไม่สนับสนุน โดยฝ่ายที่สนับสนุนมองว่าเป็นการยุติการเลือกปฏิบัติ และในขณะที่ฝ่ายคัดค้านกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลาย และโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มที่เคยเสียเปรียบในอดีต
สุดท้าย ดร.อธิป ได้เน้นย้ำเพิ่มเติมว่า “Affirmative Action มีผลโดยตรงกับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ชาวเอเชียที่มาจากเอเชียอย่างพวกเราจะได้รับผลกระทบโดยตรงจาก Affirmative Action ในรูปแบบที่เหมือนหรือแตกต่างอย่างไร และผลของการตัดสินนี้จะเกิดเป็นผลบวกหรือลบอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ มหาวิทยาลัยทั้งสหรัฐฯ จะต้องทบทวนและปรับเปลี่ยนนโยบายการรับนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสัดส่วนของการรับนักศึกษา ต่างชาติด้วย ซึ่งเรื่องนี้นักศึกษาต่างชาติก็ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงและนโยบายของแต่ละมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด”
“ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เพราะฉะนั้นพวกเราจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในปีต่อ ๆ ไป และท้ายที่สุดการยกเลิกกับ Affirmative Action อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา ที่เราก็คงจะต้องติดตามดูว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถรักษาสมดุลระหว่าง ‘ความเป็นธรรม’ และ ‘ความหลากหลาย’ ในระบบการศึกษาได้อย่างไรในอนาคต”
ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=eC8_PXdhsd8


#สหรัฐอเมริกา
#มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
#อเมริกันเชื้อสายเอเชีย

(10 ส.ค.67) ‘ดร.อธิป อัศวานันท์’ ผู้บริหารของบริษัท ทรูคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) รองประธานกิจการไอซีทีหอการค้าไทย นักเขี...
18/08/2024

(10 ส.ค.67) ‘ดร.อธิป อัศวานันท์’ ผู้บริหารของบริษัท ทรูคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) รองประธานกิจการไอซีทีหอการค้าไทย นักเขียนชื่อดัง และอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้โพสต์คลิปเกี่ยวกับ 'การเลือกปฏิบัติเชิงลบ หรือมาตรการลดโอกาส กีดกัน ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย' โดยได้ระบุว่า ...
สําหรับผู้ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา ย่อมตระหนักดี ว่าประเทศนี้ไม่ได้ประกอบอยู่ด้วยเพียงแค่ชาวผิวขาวและชาวผิวดําเท่านั้น แต่ก็มีประชากรเชื้อสายเอเชียอยู่ถึง 6% ของประชากรทั้งหมด และสําหรับผู้ที่เคยศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกาย่อมต้องรู้ดีว่า 'ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย' มักจะมีผลการเรียนที่ยอดเยี่ยมระดับสติปัญญาที่สูง และรายได้ที่ดีเยี่ยมเมื่อเปรียบเทียบกับชาวอเมริกันกลุ่มอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงชาวผิวขาวด้วย
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เคยเติบโตในสหรัฐอเมริกา และได้เคยแข่งขันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวอเมริกัน จึงไม่เคยคิดเลยว่าชาวเอเชียนั้นจะด้อยกว่าชาวตะวันตก เนื่องจากในแง่ของการศึกษา ระดับสติปัญญา และรายได้ชาวเอเชียนั้น มีความโดดเด่นกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้น การที่ประเทศตะวันตก มีความก้าวหน้าเหนือชาติตะวันออกในปัจจุบัน จึงดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องราวของจังหวะและโอกาสทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่เรื่องของความสามารถโดยธรรมชาติแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ดร.อธิป ได้เผยต่อว่า แต่ถึงกระนั้น ด้วยความสามารถอันโดดเด่นของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ก็กลายมาเป็นอุปสรรคต่อตัวพวกเขาเอง ในแง่ของการถูกกีดกันในการสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนําของสหรัฐอเมริกาด้วยเหมือนกัน
โดย มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา จะมีนโยบายหนึ่งที่เรียกว่า ‘Affirmative Action’ ซึ่งอาจแปลได้ว่า การเลือกปฏิบัติเชิงบวก หรือมาตรการส่งเสริมโอกาส โดยนโยบายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งในบริบทนี้หมายถึงชาวอเมริกันผิวดํา, ชาวอินเดียนแดงและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ให้สามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนําได้ง่ายกว่าคนผิวขาว
อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียกลับต้องเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า ‘Reverse Affirmative Action’ ซึ่งแปลได้ว่า การเลือกปฏิบัติเชิงลบ หรือมาตรการลดโอกาส ส่งผลกลุ่มที่กล่าวไปก่อนหน้ามีโอกาสน้อยลงในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนําเมื่อเทียบกับชาวผิวขาว เนื่องจากมองว่าพวกเขาเหล่านี้ มีผลการเรียนที่ดีกว่ามีระดับสติปัญญาที่สูงกว่าและมาจากครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่าเมื่อเทียบกับชาวอเมริกันกลุ่มอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงคนผิวขาวด้วย
ตัวอย่าง...ลองจินตนาการถึงเด็กชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนหนึ่งที่ชื่อ ‘จอห์น’ เขาเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมได้เกรดเฉลี่ย 4.0 เป็นประธานชมรมคณิตศาสตร์ และก็ยังอุทิศตนเป็นอาสาสมัครในชุมชนทุกสุดสัปดาห์ ใครๆ ต่างก็คาดหวังว่าเขาจะได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในฝันอย่างแน่นอน
แต่เมื่อผลการคัดเลือกประกาศออกมา ‘จอห์น’ กลับถูกปฏิเสธจากมหาวิทยาลัยที่เขาใฝ่ฝัน ในขณะที่เพื่อนของเขา ซึ่งเป็นชาวผิวขาวและชาวผิวดําที่มีคุณสมบัติด้อยกว่าจอห์นในทุกด้านกลับได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น
นี่คือความรู้สึก 'ชอกช้ำ' ที่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่เติบโตในสหรัฐอเมริกาจะต้องเผชิญ!!
ทว่า เพื่อให้เข้าใจในสถานการณ์ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ดร.อธิป จึงเผยต่อว่า หากพิจารณาข้อมูลเชิงสถิติที่เกี่ยวข้องจากรายงานของศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติของสหรัฐในปี 2019 จะพบว่า...
นักเรียนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมีคะแนนสอบ SAT ซึ่งเป็นคะแนนสอบที่สําคัญในการวัดผลก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,223 คะแนน ขณะที่นักเรียนผิวขาวได้อยู่ที่ 1,114 ส่วนนักเรียนผิวดำได้อยู่ที่ 933 คะแนน
>> ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างที่ชัดเจนระหว่างคะแนนสอบของนักเรียนเชื้อสายเอเชียกับกลุ่มอื่นๆ ในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ข้อมูลจากศูนย์วิจัยพิว หรือ Pew Research Center ได้แสดงให้เห็นว่า 54% ของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่มีอายุ 25 ปี มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งสูงกว่าหากเปรียบเทียบกับชาวอเมริกันผิวขาวซึ่งอยู่ที่ 33%และ 19% กับชาวอเมริกันผิวดํา
>> ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสําคัญในระดับการศึกษาระหว่างกลุ่มเชื้อสายต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา
ในด้านของรายได้ครอบครัวชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมีรายได้มัธยฐานที่สูงที่สุดในบรรดากลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ในสหรัฐฯ โดยอยู่ที่ประมาณ 85,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 61,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และของชาวผิวขาวที่ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
>> ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสําคัญของรายได้ระหว่างกลุ่มเชื้อสายต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา
ในแง่ของระดับสติปัญญาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมีค่าเฉลี่ยของไอคิวที่ 108 ในขณะที่ชาวผิวขาวมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 103
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้กลับนํามาซึ่งความท้าทายที่ไม่คาดคิด แต่กลายเป็นปรากฏการณ์น่าคิด หลังนโยบายการเพิ่มความหลากหลายในสถาบันการศึกษา ส่งผลในด้านตรงกันข้ามกับชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ 'ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย' ซึ่งในกรณีนี้นักเรียนเชื้อสายเอเชียจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่สูงกว่าผู้สมัครจากกลุ่มอื่นๆ อย่างมีนัยสําคัญ เพื่อให้ได้รับการพิจารณาเข้าศึกษาในสถาบันชั้นนํา
โดยผลกระทบของการเลือกปฏิบัติเชิงลบ หรือมาตรการลดโอกาสต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย มีหลายประการดังนี้...
1. อัตราการรับเข้าศึกษาที่ต่ำลง มหาวิทยาลัยชั้นนําหลายแห่งมีอัตราการรับนักศึกษาเชื้อสายเอเชียต่ำกว่าสัดส่วนของผู้สมัครอื่นอย่างมีนัยสําคัญ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีการฟ้องร้องมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ในปี 2018 ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครเชื้อสายเอเชีย โดยมีการอ้างว่าหากพิจารณาจากคุณสมบัติทางวิชาการอย่างเดียว สัดส่วนของนักศึกษาเชื้อสายเอเชียที่ถูกรับเข้าไปก็ควรจะสูงกว่านี้เป็นอย่างมาก ขณะที่อีกเคสมาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในปี 2009 พบว่านักเรียนเชื้อสายเอเชียจําเป็นที่ต้องมีคะแนน S ไอทีสูงกว่านักเรียนผิวขาวถึง 140 คะแนนและสูงกว่านักเรียนผิวดําถึง 450 คะแนน ถึงจะมีโอกาสได้รับการตอบรับ แน่นอนว่า แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะไม่ใช่ปัจจุบัน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในกระบวนการรับสมัครที่ชัดเจน
2. มาตรฐานที่สูงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม โดยนักเรียนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียจะต้องมีคะแนนสอบและผลการเรียนที่สูงกว่าอย่างมีนัยสําคัญเพื่อที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกับผู้สมัครในกลุ่มอื่นๆ แล้ว พวกเขายังอาจต้องมีกิจกรรมนอกหลักสูตรที่โดดเด่นมากขึ้น หรือมีคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ เพื่อที่จะทําให้ใบสมัครของพวกเขามีความน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก
ตัวอย่างเช่น นักเรียนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย อาจจะต้องเป็นนักกีฬาที่มีทักษะระดับสูง หรือมีความสามารถทางดนตรีหรือศิลปะที่โดดเด่น หรือมีผลงานที่สะท้อนประสบการณ์ หรือมีการทํางานด้านอาสาสมัครที่น่าประทับใจนอกเหนือจากมีการมีผลการเรียนที่ยอดเยี่ยม เพื่อให้มีโอกาสได้รับการพิจารณาเทียบเท่ากับผู้สมัครจากกลุ่มอื่นที่แม้จะมีผลการเรียนต่ำกว่า
อย่างไรก็ตาม มีมุมมองที่น่าสนใจว่า หากปราศจากนโยบายการเลือกปฏิบัติเชิงลบหรือมาตรการลดโอกาสต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเหล่านี้ มหาวิทยาลัยชั้นนําบางแห่ง ก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะมีนักศึกษาเชื้อสายเอเชียเป็นส่วนใหญ่และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของมหาลัยชั้นนําต่อไปนี้ ที่มีสัดส่วนของนักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่อยู่ในระดับสูงอย่างมีนัยสําคัญ...
- มหาวิทยาลัย Caltech มีสัดส่วนของนักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอยู่ที่ 40 ถึง 45%
- มหาวิทยาลัย UC Berkeley มีสัดส่วนของนักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอยู่ที่ 35 ถึง 40%
- มหาวิทยาลัย UCLA มีสัดส่วนของนักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอยู่ที่ 30 ถึง 35%
- มหาวิทยาลัย MIT มีสัดส่วนของนักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอยู่ที่ 15 ถึง 30%
- และมหาวิทยาลัย Standford มีสัดส่วนของนักศึกษาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอยู่ที่ 20 ถึง 25%
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็มีคนดังในสังคมไม่เห็นด้วยอยู่มาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ 'อีลอน มัสก์' ผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการเทคโนโลยี โดยเขาได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ การเลือกปฏิบัติเชิงลบ หรือมาตรการลดโอกาสหลายครั้งผ่านทวิตเตอร์ (X) บ่อยครั้ง
"เชื้อชาติและชาติพันธุ์ไม่ควรมีส่วนในการถูกนำมากำหนดในการรับเข้าเรียนหรือการจ้างงาน เราควรพิจารณาจากความสามารถเท่านั้น"
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 มิถุนายน 2023 ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ได้มีคําตัดสินที่สําคัญเกี่ยวข้องกับการใช้เชื้อชาติเป็นปัจจัยในการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ จําเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายในการรับนักศึกษาให้สอดคล้องกับคําตัดสินนี้ คำตัดสินที่ไม่ควรกดขี่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคําตัดสินของศาลสูงสุดเพิ่งมีขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ดังนั้นผลกระทบต่อนักเรียนเชื้อสายเอเชียในมหาวิทยาลัยชั้นนํา จึงยังปรากฏอยู่บ้างในขณะนี้
ท้ายที่สุด สิ่งที่ควรตระหนักและพิจารณาอย่างถ่องแท้ก็คือ เราไม่ควรจะสรุปหรือเชื่อว่าชาวเอเชียนั้น ด้อยกว่าชาวตะวันตกแต่อย่างใด เนื่องจากหลักฐานเชิงประจักษ์ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจาก 'ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย' เหล่านี้ ว่า พวกเขามีผลการเรียนที่ยอดเยี่ยมมีระดับสติปัญญาที่สูงและมีรายได้ที่ดีมาก เมื่อเปรียบเทียบกับชาวอเมริกันเชื้อสายอื่น ๆ ซึ่งรวมไปถึงชาวผิวขาวด้วย
มันยอดเยี่ยมจนกระทั่งนําไปสู่การเลือกปฏิบัติเชิงลบหรือมาตรการลดโอกาสต่อคนเชื้อสายเอเชีย ซึ่งได้ดําเนินอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ จนกระทั่งได้มาสิ้นสุดด้วยคําตัดสินของศาลสูงสุดเมื่อปีที่ผ่านมา
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=ooqTX9M_kYw

#อธิป_อัศวานันท์
#การเลือกปฏิบัติเชิงลบ
#มาตรการลดโอกาส
#สหรัฐอเมริกา
#ศาล
#ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
#มหาวิทยาลัย
#การรับนักศึกษา
#อีลอน_มัสก์

ที่อยู่

165 ซ. สุขุมวิท 62/1 แขวงบางจาก เขตพระโขนง
Bangkok
10260

เบอร์โทรศัพท์

+66814395533

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ THE STUDY TIMESผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

ติดต่อ ธุรกิจของเรา

ส่งข้อความของคุณถึง THE STUDY TIMES:

วิดีโอทั้งหมด

แชร์


บริษัทด้านสื่อ/ข่าวสาร อื่นๆใน Bangkok

แสดงผลทั้งหมด