PeopleVoiceTV PeopleVoice TV : ทีวีเสียงประชน
VALUE ADDED OF THAILAND

“บิ๊กทัพเรือ” ทหารเก่า ค้าน “รัฐบาลเพื่อไทย“ เจรจาแบ่งผลประโยชน์ OCA พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เตือน อย่าหลงกล เขมร เด็ด...
27/10/2024

“บิ๊กทัพเรือ” ทหารเก่า ค้าน “รัฐบาลเพื่อไทย“ เจรจาแบ่งผลประโยชน์ OCA พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เตือน อย่าหลงกล เขมร เด็ดขาด อย่า ยอมรับ เส้นไหล่ทวีป ที่เขมร อ้าง ”MOU 44“ ขีดเส้นลากผ่ากลางเกาะกูด ยัน พื้นที่ทับซ้อน ในทะเล ที่ เขมร อ้างสิทธิ์ 46.7 % ของพื้นที่ OCA ทั้งหมด เป็นของไทย 100% ไม่ควร ยอมรับ เส้นนี้ หวั่น เสียดินแดน แนะ ยกเลิก ”MOU 44” โดยพลัน

พลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์ อดีต เสนาธิการทหารเรือ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา ร่อนเอกสาร หลังฟังการให้สัมภาษณ์ของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและ รมว. กลาโหม กรณีพื้นที่ทับซ้อน OCA ไทย-กัมพูชา ว่า ผมในฐานะทหารเก่าแห่งราชนาวีก็ขอแสดงความเห็นถึง ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับ OCA ไทย-กัมพูชาและแนวทางแก้ไข ว่า OCA ไทย-กัมพูชามีพื้นที่ 26,400 ตร.กม. เกิดจากการประกาศอ้างสิทธิ์ พื้นที่ไหล่ทวีปตามกฎหมายทะเลทั้งของไทย (ปี 2516) และกัมพูชา(ปี 2515) ในลักษณะอ้างสิทธิ์ฝ่ายเดียว (Unilateral claim) จึงเกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับช้อน (Overlappine Claims Area : OCA) ขึ้น ถือว่ามีขนาดกว้างใหญ่มาก โดยมีสาเหตุ มาจากการที่กัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปด้านเหนือ ผ่ากลางเกาะกูด เปรียบเสมือนลากเส้นเขตแดนของประเทศหนึ่ง ผ่ากลางเกาะของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเกินกว่าสิทธิ์ ตามกฎหมายทะเลและละเมิดอธิปไตยของไทย

ผลจากการที่กัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปผ่ากลางเกาะกูดในลักษณะ "เกินสิทธิ์"เช่นนี้ ทำให้เกิดพื้นที่อ้างเกินสิทธิ์ขึ้นใน OCA ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้ควรเป็นของไทย 100% กัมพูชาไม่มีสิทธิในพื้นพื้นที่ส่วนนี้เลย มีขนาด 12,331 ตร.กม. (พื้นที่ส่วนสีแดง) หรือกว่า 46.7 % ของพื้นที่ OCA ทั้งหมด ที่เหลืออีก 14.069 ตร.กม. หรือ 53.3% (พื้นที่ส่วนสีเขียว) จึงเป็นพื้นที่ทีแต่ละฝ่ายสามารถอ้างตามสิทธิ์ตามกฎหมายทะเลว่าเป็นเขตไหล่ทวีปของตน

หากไทยยอมให้นำทรัพยากรใน OCA (พื้นที่อ้างตามสิทธิ + พื้นที่อ้างเกินสิทธิ) มาแบ่งปันกับกัมพูชา ย่อมไม่ยุติธรรมกับไทย เพราะกัมพูชาย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ เลย ในทรัพยากรในพื้นพื้นที่อ้างเกินสิทธิ์กว่า 46.7% ของ OCA (พื้นที่ส่วนสีแดง)

หลักเขต 73 พื้นที่อ้างเกินสิทธิ์ 12,331 ตร.กม. พื้นที่อ้างตามสิทธิ์ 14,069 ตร.กม.

แต่ที่สำคัญ หากไทยยอมให้นำทรัพยากรใน OCA มาแบ่งปันกับกัมพูชา ซึ่งเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของ MOU44 เท่ากับไทยยอมรับความมีอยู่จริงของเส้นไหล่ทวีปที่ลากผ่านเกาะกูดนี้ ซึ่งจะสร้างความชอบธรรมให้กับกัมพูชา หากมีการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลในอนาคต ให้สามารถใช้เป็นหลักฐาน หรือข้อพิสูจน์ในศาลระหว่างประเทศโดยอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ (Historic Title) ตามกฎหมายทะเล เพื่อให้เส้นไหล่ทวีปที่ลากผ่านเกาะกูดนี้ เป็นเส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ถูกต้องสมบูรณ์และอาจนำไปสู่การเสียดินแดนของไทยต่อไป

สถานการณ์ ขณะนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า ทั้ง OCA และ MOU44 เปรียบเสมือนกับดักไปสู่การเสียดินแดนของไทย

แนวทางแก้ไข คือ

1. ในทุกกรณีไทยต้องไม่ยอมตกลงแบ่งปันทรัพยากรใดๆ กับกัมพูชาในพื้นที่ OCA 26,400 ตร.กม.นี้ แต่จะต้องเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลระหว่างกันให้แล้วเสร็จเสียก่อน หากไทยยอมตกลงแบ่งปันทรัพยากร ในพื้นที่ OCA ก่อนการเจรจาแบ่งเขตแดนแล้วเสร็จ เท่ากับว่าไทยกำลังเดินเข้าสู่กับดักการเสียดินแดน

2. ไทยควรประกาศยกเลิก MOU44 โดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งเนิ่นนานไปไทยจะยิ่งเสียเปรียบ เนื่องจากบทบัญญัติของ MOU44 นั้น สื่อความหมายว่าไทยยอมรับการประกาศเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเมื่อปี 2515 ซึ่งหมายถึงยอมรับความมีอยู่จริงและสร้างความชอบธรรมให้กับเส้นไหล่ทวีปกัมพูชาที่ลากผ่านเกาะกูดนี้ จะทำให้ไทยเสียเสียเปรียบในการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลและอาจนำไปสู่การเสียดินแดนต่อไปในอนาคต

3. ไทยควรประกาศยืนยัน ไม่ยอมรับเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ประกาศเมื่อปี 2515 และเสนอให้มีการเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาต่อไป โดยสามารถใช้กฎหมายทะเลตามปกติเป็นกรอบการเจรจาได้เช่นเดียวกับ ที่ไทยดำเนินการกับประเทศอื่นๆสำเร็จลุลล่วงมาแล้ว เช่น มาเลเซียและเวียดนามเป็นต้น

https://www.facebook.com/share/p/GbJx7u6BfYM9dqLF/

#เกาะกูด #กองทัพเรือ #ไทย #ปัญหาชายแดนไทยกัมพูชา #พื้นที่ทับซ้อน #ผลประโยชน์ทางทะเล #พื้นที่อ่าวไทย #ขุมทรัพย์ใต้พิภพ #เขตเศรษฐกิจ

23/10/2024

Live: คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา “ยุติการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ :เปิดตัวคู่มือหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ ภายใต้การสนับสนุนของ UNESCO และ IPDC ณ Nitade X Space ห้องสมุดคณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 5 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้สื่อข่าวจาก 17 องค์กรร่วมการเสวนา และวิทยากรหลักจากภาคประชาสังคม นักวิชาการ และตัวแทนสื่อมวลชน เข้าร่วม ได้แก่ นัยนา สุภาพึ่ง มูลนิธิสิทธิเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ จิตติมา ภาณุเตชะ สมาคมเพศวิถีศึกษา ดร.ชเนตตี ทินนาม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ดร. โกสุม โอมพรนุวัฒน์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อุษา มีซารี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ภัทรสุดา บุญญศรี The Standard และ ขวัญแก้ว ดงน้อย ThaiPBS https://www.facebook.com/share/v/Lpb8ysZ1bGbXAsBk/?mibextid=WC7FNe

ตามคาด!! "แพทองธาร" แบ่งงานรองนายกฯ "ภูมิธรรม" คุมมั่นคง-ตร. "พิชัย" ดูเศรษฐกิจพ่วงเกษตรนายกฯ แพทองธาร แบ่งงาน 6 รองนายก...
05/09/2024

ตามคาด!! "แพทองธาร" แบ่งงานรองนายกฯ "ภูมิธรรม" คุมมั่นคง-ตร. "พิชัย" ดูเศรษฐกิจพ่วงเกษตร

นายกฯ แพทองธาร แบ่งงาน 6 รองนายกฯลงตัวแล้ว "ภูมิธรรม" ดูแลความมั่นคง‘ "สุริยะ-อนุทิน-พีระพันธุ์" คุมงามเดิม "พิชัย" คุมเศรษฐกิจพ่วงเกษตร ส่วน"ประเสริฐ" ดูงานด้านสังคม

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าทำงานที่อาคารชินวัตร 3 โดยได้หารือกับคณะทำงาน เพื่อแบ่งงานรองนายกรัฐมนตรี ทั้ง 6 คน โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บุคคล ที่มีความอาวุโส ได้รับความไว้วางใจ จากนายกฯและพรรคเพื่อไทย ผู้ทำหน้าที่ประสานงาน และผู้จัดการรัฐบาล คอยช่วยงานนายกฯเป็นหลักจะกำกับดูแลกระทรวงเกี่ยวกับด้านความมั่นคง รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแล งานกระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะกำกับดูแลงานในส่วนของกระทรวงด้านเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิช กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงบประมาณ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำกับดูแลงานด้านสังคม กระทรวงดีอี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแล กระทรวงพลังงาน กระทรวงยุติธรรม ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเหรียญกล้าหาญให้กับบุตรชายของ อส.ทพ.อนุศักดิ์ อ่ำรอด ซึ่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที...
05/09/2024

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเหรียญกล้าหาญให้กับบุตรชายของ อส.ทพ.อนุศักดิ์ อ่ำรอด ซึ่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เหรียญแรกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ที่ลานอนุศักดิ์ กองบังคับการกรมทหารพรานที่ 46 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พันเอก พสิษฐ์ ชาญเลขา รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 46 เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีรับพระราชทานเหรียญกล้าหาญให้กับ นายกันตวิชญ์ อ่ำรอด บุตรชายของ อาสาสมัครทหารพราน อนุศักดิ์ อ่ำรอด เจ้าหน้าที่ทหารพราน สังกัด กรมทหารพรานที่ 46 ซึ่งเสียชีวิตจากกรณีเหตุปะทะกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ในพื้นที่ป่าภูเขา บ้านไอร์กิส (บ้านย่อย บ้านไอร์โซ) หมู่ที่ 5 ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่กล้าหาญ ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อกระทำการให้สำเร็จตามหน้าที่ และได้ผลสมความมุ่งหมายของทางราชการ แต่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวเสียชีวิตไปก่อนที่จะได้รับพระราชทาน จึงพระราชทานเหรียญกล้าหาญแก่ นายกันตวิชญ์ อ่ำรอด ในฐานะทายาท เพื่อเป็นการยกย่องตอบแทนคุณงามความดี เป็นเครื่องระลึกถึงความกล้าหาญ และเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลสืบไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน พุทธศักราช 2567 ประกาศ ณ วันที่ 6 มิถุนายน พุทธศักราช 2567 เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน

นางพิกุล วาปีกัง ภรรยา ได้กล่าวแสดงความขอบคุณกรมทหารพรานที่ 46 ที่ร่วมกันจัดพิธีฯ นี้ขึ้น ทั้งนี้ หน่วยได้จัดทหารกองเกียรติยศ แสดงความเคารพ และทำการยิงสลุตเพื่อสดุดีและเป็นเกียรติ ก่อนที่กำลังพลกรมทหารพรานที่ 46 จะร่วมมอบดอกกุหลาบ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทายาทที่มาร่วมพิธีในวันนี้

สวรส. ถอด "งานวิจัยถ่ายโอน รพ.สต." คลี่ปมช่องโหว่ผลกระทบ ระยะเปลี่ยนผ่านสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ถอด งานวิจัยถ่า...
05/09/2024

สวรส. ถอด "งานวิจัยถ่ายโอน รพ.สต." คลี่ปมช่องโหว่ผลกระทบ ระยะเปลี่ยนผ่าน

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ถอด งานวิจัยถ่ายโอน รพ.สต. 49 โครงการ จากข้อค้นพบ สู่ข้อเสนอ 6 มิติ อุดช่องโหว่ผลกระทบ ระยะเปลี่ยนผ่าน

การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ถือเป็นหนึ่งในการปฏิรูประบบสุขภาพระดับปฐมภูมิของประเทศไทยที่สำคัญในแง่การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่
ส่วนท้องถิ่น และเสริมบทบาทให้กับท้องถิ่น อย่าง อบจ. ที่ใกล้ชิดกับประชาชน ให้เข้ามาบริหารจัดการดูแลสุขภาพ ร่วมกับ รพ.สต. ที่รับถ่ายโอนมา ซึ่งในระยะกว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. จากจำนวน รพ.สต.
ทั่วประเทศที่มี 9,872 แห่ง ปัจจุบันถ่ายโอนไปแล้ว 4,276 แห่ง คิดเป็น 43.31% ในพื้นที่ 62 อบจ. และยังเหลืออีก 5,596 แห่ง ในพื้นที่ 14 อบจ. ที่ยังไม่มีการถ่ายโอน และคาดว่าจะมีบางส่วนรอการถ่ายโอนในปีงบประมาณที่จะถึงนี้

การเข้ามาบริหารจัดการสุขภาพในระดับปฐมภูมิผ่าน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนภารกิจมา ถือเป็นเรื่องใหม่ของ อบจ. เพราะมีหลายส่วนที่ต้องบริหารจัดการเพิ่มเติมจากภารกิจเดิม ทั้งด้านคน เงิน ของ ที่เกี่ยวข้องกับ รพ.สต. จึงมีโอกาสที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการเปลี่ยนมือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ไป อบจ. อาจเกิดช่องว่างและส่งผลกระทบต่อการรับบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิของประชาชนได้

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการสร้างความรู้จากงานวิจัย จึงพยายามใช้งานวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์มาช่วยคลี่ปมในจุดต่างๆ ที่มีสัญญาณว่าอาจเกิดปัญหา เพื่อป้องกัน/ลดทอนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยการตั้งหน่วยประมวลสถานการณ์ระบบสุขภาพ: กรณีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. หรือ Health System Intelligent Unit (HSIU) ซึ่งบทบาทหนึ่งคือการกำหนดเป้าหมาย ทิศทางการดำเนินงาน และวางกลยุทธ์ให้เกิดการผลิตความรู้ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ของระบบสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ซึ่งกรณีการถ่ายโอน รพ.สต.ฯ จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ให้เห็นถึงสัญญาณเตือนที่อาจเป็นผลกระทบต่อประชาชน ภายหลังที่มีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ฯ และนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเครือข่ายนักวิจัย HSIU ที่ สวรส. ให้การสนับสนุนในการผลิตความรู้จากงานวิจัย และกำลังขับเคลื่อนงานวิจัย รวมแล้วมีถึง 49 โครงการ ซึ่งเป็นงานวิจัยในปีงบประมาณ 2565-2567 ที่มีการดำเนินการวิจัยในเกือบทุกจังหวัดที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. และทั้งหมดถูกเรียกว่า “แพ็กเกจ งานวิจัยถ่ายโอน รพ.สต.” โดยแพ็กเกจดังกล่าว ได้ถูกนำเสนอเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งใน “การประชุมรับฟังข้อเสนอแนะการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566: ระยะที่ 2 การประเมินสัญญาณเตือนของผลกระทบต่อสถานะสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการศึกษาข้อมูลย้อนหลังและการจัดทำกรณีศึกษา” เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2567 ณ โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต ดอนเมือง ทั้งนี้ข้อค้นพบต่างๆ ที่เกิดจากความสำคัญของการศึกษาที่อยู่บนเป้าหมายเพื่อให้การบริการสุขภาพปฐมภูมิมีความต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด โดยทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อบจ. และกระทรวงสาธารณสุข เห็นถึงสัญญาณที่อาจมีผลกระทบเกิดขึ้น หากไม่เข้ามาจัดการหรือบูรณาการการทำงานร่วมกัน

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ฉายภาพรวมของ “แพ็กเกจ งานวิจัยถ่ายโอน รพ.สต.” พร้อมกับให้รายละเอียดข้อค้นพบที่น่าสนใจ ซึ่งครอบคลุมประเด็นการถ่ายโอน รพ.สต. ในทุกมิติ รวม 6 ด้าน ได้แก่
1) ด้านกำลังคน พบว่า บุคลากรไม่เพียงพอกับภาระงาน โดยเฉพาะบุคลากรวิชาชีพ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการสรรหาบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ตามกรอบอัตรากำลัง โดยข้อค้นพบหนึ่งพบว่า โอกาสของบุคลากรที่ถ่ายโอนไป อบจ. สามารถขอตำแหน่งชำนาญการพิเศษ รวมถึงได้รับโบนัสตามขีดความสามารถ แต่มีค่าตอบแทนบางเรื่องลดลง เช่น ค่าตอบแทน ฉ.11 หรือ พ.ต.ส. เพราะเป็นค่าตอบแทนที่ขึ้นอยู่กับงบประมาณและการบริหารของ อบจ. ส่วนข้อเสนอที่สำคัญอีกเรื่องคือ อบจ.ควรเร่งรัดแก้ไขแผนอัตรากำลัง 3 ปี เพื่อสรรหาและบรรจุบุคลากรวิชาชีพ รวมถึงทำข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เพื่อร่วมผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยอาจจัดสรรทุนการศึกษาให้นักเรียนในพื้นที่ อีกทั้งควรทำแนวปฏิบัติการเบิกจ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทนอื่นๆ ตามสิทธิประโยชน์ และสำรวจอัตราขาดแคลนของบุคลากร พร้อมเร่งจ้างเหมาบุคลากรใน รพ.สต. ที่ขาดแคลน

2) ระบบการคลังด้านสุขภาพ พบว่า รพ.สต. ถ่ายโอนมีเงินบำรุงเพิ่มขึ้น โดยมีแหล่งที่มาจากเงินอุดหนุนการถ่ายโอนและการจัดสรรโดย อบจ. แต่ในส่วนการจัดสรรงบบริการจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีรูปแบบหลากหลายตามข้อตกลงระหว่างหน่วยบริการประจำ (CUP) กับ รพ.สต. ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งบางจังหวัดตกลงกันได้ล่าช้า ส่งผลให้ได้รับเงินจัดสรรล่าช้าตามไปด้วย โดยข้อเสนอสำคัญคือ อบจ. ควรมีการจัดตั้งข้อบัญญัติงบประมาณ เพื่อสนับสนุนภารกิจถ่ายโอน อีกทั้ง สปสช. ควรเพิ่มทางเลือกการจัดสรรงบประมาณที่เป็นเกณฑ์กลาง และทางเลือกสำหรับพื้นที่ที่ไม่สามารถตกลงกันได้ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขควรปรับระเบียบเงินบำรุงให้สามารถโอนงบจาก สปสช. ผ่าน CUP ให้ รพ.สต.ถ่ายโอนได้

3) ระบบบริการสุขภาพ พบว่า บางพื้นที่ โรงพยาบาลชุมชนมีการยุติการส่งแพทย์ไปให้บริการในคลินิกโรคเรื้อรังที่ รพ.สต. ถ่ายโอน ทำให้ผู้ป่วยต้องมารับบริการที่โรงพยาบาลชุมชน รวมถึงงานทันตกรรมด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังพบว่า รพ.สต. บางแห่งเกิดปัญหาการบริหารยาหมุนเวียนในเครือข่าย เช่น ยาใกล้หมดอายุ ขณะที่ข้อมูลด้านควบคุมโรคพบว่า รพ.สต. ถ่ายโอนบางแห่ง มีการส่งรายงานล่าช้า ไม่ครบถ้วน หรือบางแห่งไม่ดำเนินการ สำหรับข้อเสนอสำคัญ อบจ. ควรให้ รพ.สต. สามารถดำเนินการตามมาตรฐานวิชาชีพ ทั้งด้านเวชกรรม และทันตกรรม และควรจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการในพื้นที่ อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุข ควรร่วมกับ อบจ. กำหนดแนวทางบริการสุขภาพ เพื่อให้ รพ.สต. ถ่ายโอนไม่เกิดช่องว่างการบริการ และที่สำคัญควรร่วมกันพิจารณาจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิให้เชื่อมโยงกับระบบบริการทุติยภูมิ รวมถึงการสร้างเครือข่ายในชุมชน เพื่อร่วมกันบริหารการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และการดูแลระยะยาว โดย รพ.สต. ให้คำแนะนำด้านสุขภาพ เชื่อมโยงการดูแลโดยโรงพยาบาลแม่ข่าย พร้อมระดมทรัพยากรจากแหล่งอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

4) ระบบยาและเวชภัณฑ์ พบว่า บางพื้นที่ยังมีการจัดสรรยาและเวชภัณฑ์จากโรงพยาบาลแม่ข่าย ให้ รพ.สต. ถ่ายโอนเหมือนเดิม แต่บางพื้นที่มีการยกเลิกการจัดสรรยานอกบัญชียาให้กับ รพ.สต. ถ่ายโอน เช่น ยาผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่างไรก็ตาม อบจ. บางพื้นที่ทำข้อตกลงกับทุก CUP และตั้งคณะทำงานอภิบาลระบบภายในคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เพื่อบริหารยา และเวชภัณฑ์ ระหว่าง รพ.สต. ถ่ายโอน กับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือบางพื้นที่มีการตกลงกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้ CUP จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ให้ รพ.สต. และเก็บค่าใช้จ่าย 1-2 บาทต่อประชากรต่อเดือน แต่สำหรับ อบจ. ที่เลือกบริหารจัดการเอง หากไม่มีแพทย์ เภสัชกร และระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างโดยเภสัชกร อาจเกิดปัญหายาและเวชภัณฑ์ขาดแคลน ส่วนข้อเสนอ กระทรวงสาธารณสุขควรปรับระเบียบเงินบำรุง ให้สามารถซื้อยาและเวชภัณฑ์เพื่อโอนให้แก่หน่วยบริการอื่นนอกสังกัด ขณะที่กระทรวงมหาดไทยควรกำหนดข้อตกลงและแนวทางปฏิบัติจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ของ อบจ. ให้ชัดเจน โดยยึดโยงหรือเทียบเคียงกับระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข

5) ระบบข้อมูล พบว่า รพ.สต. บางแห่ง ส่งรายงานให้กับ สสจ. ล่าช้า หรือไม่มีการดำเนินการในบางเรื่อง เช่น การรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 อีกทั้งการส่งข้อมูลตามตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีความแตกต่างกันใน รพ.สต. แต่ละแห่ง อีกทั้ง อบจ. ยืนยันให้ รพ.สต. บันทึกข้อมูลในระบบ e-claim ของ สปสช. ซึ่งทำให้ รพ.สต. มีความกังวล เพราะไม่เคยบันทึกข้อมูลมาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลแม่ข่ายภายใต้ CUP เป็นหน่วยจัดการ และพบว่า อบจ. บางแห่ง พัฒนาระบบของตัวเองเพื่อเชื่อมโยงกับระบบข้อมูลของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ส่วนข้อเสนอ กระทรวงสาธารณสุข และ อบจ. ควรร่วมกันจัดทำมาตรการกำกับ ติดตาม และบูรณาการระบบข้อมูลของ รพ.สต. ถ่ายโอน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบของกระทรวงสาธารณสุขได้

6) การอภิบาลระบบ พบว่า บางพื้นที่ สสจ. และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) มีบทบาทในการดูแลติดตาม รพ.สต. ถ่ายโอนลดลง แต่บางพื้นที่ก็พบว่า มีการทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่ เช่น มีการทำ MOU ระหว่าง สสจ. และ อบจ. เพื่อสนับสนุนวิชาชีพเวชกรรม รวมถึง อบจ. มีการจ้างพนักงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต่อเนื่องหลังจากการถ่ายโอน ซึ่งสะท้อนได้ว่า พื้นที่ที่ยังมีการทำงานร่วมกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง อบจ. และ สสจ. ส่วนข้อเสนอคือ สสจ. และ สสอ. ควรมีการกำกับดูแลและประเมินผล รพ.สต. ทั้งจังหวัด รวมถึงให้คำปรึกษาพร้อมสนับสนุนทางวิชาการและวิชาชีพกับ รพ.สต. ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุข และ อบจ. ควรร่วมกันกำหนดตัวชี้วัดเพื่อติดตามภาพรวมด้านสุขภาพของประเทศ และควรมีเกณฑ์กลางในการจัดสรรงบประมาณ และกำลังคนให้กับพื้นที่ รพ.สต. ถ่ายโอนในระยะเปลี่ยนผ่าน

ข้อมูลทั้งหมดข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งที่หน่วย HSIU ภายใต้การขับเคลื่อนหลักของ สวรส. สังเคราะห์มาจาก “แพ็กเกจ งานวิจัยถ่ายโอน รพ.สต.” จากทั้ง 49 โครงการ ซึ่งเป็นข้อค้นพบที่ส่งสัญญาณถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการบริการสุขภาพปฐมภูมิ

ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวย้ำว่า ข้อค้นพบทั้งหมดจากงานวิจัย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะบอกว่าการถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. ดีหรือไม่ดี หากแต่มุ่งศึกษาไปที่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการถ่ายโอนว่าเกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่/อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อสะท้อนให้เห็นสัญญาณเตือนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปปรับปรุงและป้องกันผลกระทบที่จะตามมา และนำเสนอไปยังผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้เกิดการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง รวมถึงหนุนเสริมเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การถ่ายโอน รพ.สต. มีผลกระทบทางลบต่อการบริการประชาชนน้อยที่สุด และสิ่งที่สำคัญคือ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรยึดมั่นในหลักการที่มุ่งประโยชน์สูงสุดเพื่อประชาชน และทำให้ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเป็นระบบสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health System ที่ยืดหยุ่น และเป็นระบบที่มีส่วนร่วมกัน อย่างไรก็ตาม จากข้อค้นพบที่เกิดขึ้น หากมีการถ่ายโอนครั้งต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาปรับเกณฑ์ประเมินความพร้อมของทั้งสองฝ่าย คือ อบจ. และกระทรวงสาธารณสุข ก่อนมีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้รัดกุม ซึ่งสามารถถอดบทเรียนจากการถ่ายโอนในช่วงที่ผ่านมา และนำไปสู่การพัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี

“เอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์” ผนึก “เกาหลี” จัดบิสสิเนส ฟอรั่มกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ“อลงกรณ์” จับมือ “เกาหลี” จัดบิสสิเนส ฟ...
05/09/2024

“เอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์” ผนึก “เกาหลี” จัดบิสสิเนส ฟอรั่มกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

“อลงกรณ์” จับมือ “เกาหลี” จัดบิสสิเนส ฟอรั่มกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ชี้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-เกาหลี จะช่วยยกระดับศักยภาพใหม่ 2 ประเทศ หวังขยายการลงทุนเพิ่มมูลค่าการค้า 5 แสนล้าน

5 ส.ค.67 : นายอลงกรณ์ พลบุตร
ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์ (FKII Thailand: Field for Knowledge Integration and Innovation)
เปิดเผยว่า สถาบันเอฟเคไอไอไทยแลนด์(FKII Thailand) สถาบันทิวา(TVA) และสมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเกาหลี-เอเซีย(Korea-Asia Economic Cooperation Association :KOAECA) จับมือจัดงานสัมมนา(seminar)และจับคู่ธุรกิจ(business matching)
“เอฟเคไอไอ. โกลบอล บิสสิเนส ฟอรั่ม : ความร่วมมือ ไทย-เกาหลี”
(FKII GLOBAL BUSINESS FORUM: THAI - KOREA COLLABORATION)
ในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567 เวลา 9.00-13.30 น. ณ สวนเสียงไผ่ ทาวน์อินทาวน์ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนการท่องเที่ยวรวมทั้งด้านเกษตรอัจฉริยะและธุรกิจไบโอเทคโนโลยีด้านสุขภาพ

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาถึง 66 ปี ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันเกาหลีใต้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีชั้นสูง รวมทั้งยังเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงอย่างยิ่งในการใช้ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เกาหลีใต้เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยในปี 2566 เกาหลี เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน14,736.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 5 แสนล้านบาทโดยไทยส่งออกไปสาธารณรัฐเกาหลี 6,070.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากสาธารณรัฐเกาหลี 8,666.42 ล้านดอลลาร์

ด้านการท่องเที่ยว ในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 2 ล้านคนต่อปี
ทั้งประเทศไทยและเกาหลีใต้ได้ร่วมกันจัดแคมเปญเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยให้ปี 2566 และปี 2567 เป็น “ปีแห่งการเยี่ยมเยียนระหว่างสองประเทศ”

ส่วนทางด้านการลงทุนมีบริษัทเกาหลีมากกว่า 400 ราย ที่เข้ามาลงทุนในไทยและประสบความสำเร็จอย่างดี โดยบริษัทรายใหญ่หรือกลุ่มแชโบล เช่น ซัมซุง แอลจี พอสโก ฮันวา และฮันซอล ถือเป็นคลื่นการลงทุนลูกแรกจากเกาหลีที่เข้ามาไทยเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว และได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนจากเกาหลีเข้ามาอย่างต่อเนื่องปีละเฉลี่ย 30 โครงการ เงินลงทุนราว 5 พันล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ทั้งสองประเทศมีความสนใจร่วมกัน และเกาหลีมีความเชี่ยวชาญ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดัคเตอร์ ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาเกมและระบบอัจฉริยะใน Smart City รวมทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า เกาหลีใต้ยังลงทุนในไทยน้อยเมื่อเปรียบเทียบในประเทศอาเซียน โดยอยู่ในอันดับที่ 8 ซึ่งมากกว่าเพียงแค่ลาวและกัมพูชาเท่านั้น จึงเป็นโอกาสที่จะขยายการลงทุนได้อีกมาก

“ผมเห็นด้วยกับการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ไทย-เกาหลี ซึ่งเริ่มการเจรจาและตั้งเป้าเจรจาเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2568 หรือต้นปี 2569 เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีของไทยให้มากขึ้น" นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า เอฟทีเอฉบับนี้ จะเป็นการต่อยอดจากเอฟทีเอที่ไทยและเกาหลีเป็นภาคีร่วมกัน ทั้งความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–เกาหลี (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย อีกทั้งยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น

นายอลงกรณ์กล่าวว่า สัปดาห์ที่แล้ว ตนและ ดร.อาณัฐชัย รัตตกุล รองประธานFKII ด้านต่างประเทศได้สนทนากับฯพณฯมุน ซึง–ฮย็อน (Moon Seoung–hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทยซึ่งสถานเอกอัครราชทูตยินดีเข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทย ฯพณฯมุน ซึง–ฮย็อน (Moon Seoung–hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทยได้ชี้ให้เห็นโอกาสใน 4 ด้านที่จะเพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน
ด้านที่ 1 คือ ความร่วมมือกันในด้าน EV (Electric Vehicle) ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเกาหลีใต้มีผู้ผลิตที่สำคัญ อย่าง “Hyundai” และ “Kia” รวมทั้งแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีซัมซุง และแอลจีเป็นผู้นำ นอกจากนี้ ยังมองว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ EV จะมีส่วนช่วยสำคัญในนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อม และการไปถึงเป้าหมาย Zero Corbon ในปี 2593

ด้านที่ 2 “ความร่วมมือด้านดิจิทัล” โดยการเพิ่มความร่วมมือในธุรกิจอี-คอมเมิร์ช (E-commerce) ดิจิทัลแบงกิ้ง (Digital Banking) และธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ซึ่งเป็นธุรกิจที่เป็นที่นิยมในเกาหลีใต้ และธนาคารในเกาหลีใต้ได้ยกระดับเป็น Digital Banking เกือบทั้งหมดแล้ว ทำให้สามารถเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันได้ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้สนใจมาลงทุน

ด้านที่ 3 คือ ความร่วมมือในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Soft Power เพื่อประชาสัมพันธ์ และเพิ่มมูลค่าของทั้งคนไทย และประเทศ ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ มีอุตสาหกรรม K-POP หรือการสอดแทรกส่งเสริมวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ สถานที่ท่องเที่ยว หรือตัวสินค้าในซีรีส์เกาหลี ซึ่งจะเห็นว่าสามารถทำเงินได้มหาศาลโดยมองว่า ทั้งสองประเทศมี “จุดแข็ง” ร่วมกันที่จะช่วยส่งเสริม Soft Power ได้ อย่าง Lisa BLACKPINK ซึ่งนอกจากจะทำเงินได้มากมายแล้ว ยังเปรียบเสมือนเป็น “ผู้เชื่อมโยงสานสัมพันธ์ระหว่างไทยและเกาหลีใต้”

และด้านที่ 4 “ความร่วมมือกันในอุตสาหกรรมอนาคต” ซึ่งอาจเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยานอวกาศ ฯลฯ

สถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์(FKII Thailand : Field for Knowledge Integration and Innovation) เป็นองค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise) ทำหน้าที่สนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศรวมทั้งเป็นตัวกลางเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานวิจัยกับภาคเอกชนภาครัฐทั้งในและต่างประเทศทางด้านนวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพใหม่ของประเทศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ของโลกปัจจุบันและอนาคต

หนังสือพิมพ์ หน้า 1 ประจำวันที่ 5 ก.ย. 67
05/09/2024

หนังสือพิมพ์ หน้า 1 ประจำวันที่ 5 ก.ย. 67

12/08/2024

กองทัพอากาศ จัดพิธียิงสลุตหลวง 21 นัด เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567

กองทัพอากาศ โดย กรมทหารต่อสู้อากาศยานรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ทำการยิงสลุตหลวงเฉลิมพระเกียรติ 21 นัด ถวายเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2567 ณ อุทยานการบินกองทัพอากาศ เมื่อวันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2567

การยิงสลุต ถือเป็นธรรมเนียมที่ทุกประเทศทั่วโลก ได้ยึดถือสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณเพื่อเป็นการแสดงความเคารพให้แก่ชาติ หรือธง หรือบุคคล โดยยิงปืนใหญ่ด้วยดินดำหรือดินไม่มีควัน มีจำนวนนัดเป็นเกณฑ์ตามควรแก่เกียรติ หรือสิ่งที่ควรรับความเคารพ โดยคำว่า “สลุต” นั้นมาจากรากศัพท์ของคำว่า “Salutio” ในภาษาลาติน

#กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ
#12สิงหาคม2567 #วันแม่แห่งชาติ # PeopleVoiceTV

สว.ชุดที่ 13 ตบเท้าเข้าสภาวันพุธที่ 10  ก.ค. 67 กกต.แถลงข่าวกรณีแก้ไขดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องวันพฤหัสบ...
10/07/2024

สว.ชุดที่ 13 ตบเท้าเข้าสภา

วันพุธที่ 10 ก.ค. 67 กกต.แถลงข่าวกรณีแก้ไขดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนทุกเรื่อง

วันพฤหัสบดีที่ 11 ก.ค. 67. สำนักเลขาธิการ ครม. รับหนังสือ กกต. ประกาศรายชื่อ สว. ตัวจริงและสำรอง ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และส่งรายชื่อ ให้สำนักงานเลขานุการวุฒิสภา

วันศุกร์ที่. 12 ก.ค.67. สว.ชุดที่ 13 เดินทางไปรายงานตัวรัฐสภา ที่ห้องริมน้ำ ชั้น 1. อาคารวุฒิสภา

สัปดาห์หน้า สำนักเลขาธิการวุฒิสภามีหนังสือเชิญ สว.ชุดที่13 ประชุมเลือกประธานสว.และรองประธานสว.

ประธานสว.คนใหม่ นัดประชุม สว.เพื่อปฏิญาณตน ก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ

10/07/2024
***จับตา 15.30 น. วันนี้(พุธที่ 10 กรกฎาคม 2567 ) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงข่าว "การเลือกสมาชิก...
10/07/2024

***จับตา 15.30 น. วันนี้(พุธที่ 10 กรกฎาคม 2567 ) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงข่าว "การเลือกสมาชิกวุฒิสภา" ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

รายงานข่าวแจ้งว่าขณะนี้กกต. ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกทั้ง 200 คนและบัญชีสำรองอีก 100 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกกต. จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในบ่ายนี้

มติเอกฉันท์ กกต.เดินหน้าเลือก สว. ไม่หวั่นหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดแย้ง รธน. ยันทำตามที่กฎหมายกำหนดนายอิทธิพร บุญประคอง ...
07/06/2024

มติเอกฉันท์ กกต.เดินหน้าเลือก สว. ไม่หวั่นหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดแย้ง รธน. ยันทำตามที่กฎหมายกำหนด

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เปิดเผยภายหลังการประชุม กกต.กรณีที่สำนักงาน กกต. เสนอความเห็นภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับวินิจฉัย 4 มาตรา ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.2561 ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการเลือก สว. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ ว่า กกต.มีมติ เอกฉันท์ไม่เลื่อนการเลือก สว. เนื่องจากยังไม่มีเหตุจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะทำให้การเลือก สว. ต้องเลื่อนออกไป ทั้งนี้หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้ง กกต.ก็ต้องปฏิบัติตาม ไม่หวั่นหากมีคนไปยื่นร้องให้การเลือก สว.เป็นโมฆะ เพราะที่ กกต. ดำเนินอยู่จนถึงวันนี้เป็นการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ยืนยันว่า กกต. ไม่ได้ปฏิบัติต่างจากที่กฎหมายกำหนด

ส่อเลื่อนเลือก สว. จับตา กกต.ถกพรุ่งนี้ ทางออกปมศาลรธน.รับวินิจฉัย 4 มาตรา กม.ชี้ดึงดันเดินหน้าได้ไม่คุ้มเสีย เสี่ยงถูกฟ...
06/06/2024

ส่อเลื่อนเลือก สว. จับตา กกต.ถกพรุ่งนี้ ทางออกปมศาลรธน.รับวินิจฉัย 4 มาตรา กม.ชี้ดึงดันเดินหน้าได้ไม่คุ้มเสีย เสี่ยงถูกฟ้องโมฆะ-ชดใช้ค่าเสียหาย หากวินิจฉัยขัดรธน.

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 มีรายงานว่า ในการประชุม กกต.วันพรุ่งนี้ (7 มิ.ย.) เพื่อหารือกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย 4 มาตรา ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.2561 ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือก สว.ทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่นั้น มีความเป็นไปได้ที่สำนักงาน กกต.จะเสนอให้ กกต.ใช้อำนาจตามมาตรา 35 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.2561 ประกาศเลื่อนการเลือก สว.ที่ระดับอำเภอกำหนดไว้ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน

มีการวิเคราะห์กันว่า กรณีที่มีผู้สมัคร สว.ร้องทั้งต่อ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และหาก กกต.ยังคงยืนยันเดินหน้าจัดการเลือก สว.ตามแผนงานเดิมที่วางไว้ ย่อมเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งกับตัวผู้สมัคร และ กกต.และอาจนำไปสู่การร้องให้การเลือก สว.เป็นโมฆะได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการที่ทั้ง 4 มาตราของกฎหมายดังกล่าว กำหนดวิธีการเลือกว่าผู้สมัคร สว.จะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ซึ่งก็จะทำให้ กกต.หนีไม่พ้นการถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายเหมือนการเลือกตั้งในอดีต ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นโมฆะ สิ่งที่ตามมาคือการฟ้องร้องหาผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย ทั้ง กกต. สำนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ต้องสู้คดีกันหลายปี ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นอีก เมื่อขณะนี้ขั้นตอนของการเลือก สว.ยังไม่เกิดขึ้น กระบวนการจัดการเลือกก็ยังอยู่ ผู้สมัครก็ยังถือว่าไม่เสียหาย ดังนั้น ถ้า กกต.จะมีมติเลื่อนการเลือก สว.รอศาลฯ วินิจฉัยให้ชัดเจนเสียก่อนก็น่าจะเป็นผลดีกว่า เพราะก็คาดว่าไม่น่าเกิน 2 สัปดาห์ นับจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เนื่องจากสำนักงานฯ ได้รับหนังสือแจ้งจากศาลฯตั้งแต่วานนี้แล้ว (5 มิ.ย.) และกำลังเร่งทำคำชี้แจงส่งกลับไปอยู่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต.ว่าจะเห็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม สำนักงานฯ ยังจะเสนอต่อ กกต.ถึงแนวทางการเลือก สว.ต่อไปหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้ง 4 มาตราไม่ขัดรัฐธรรมนูญว่าในทางปฎิบัติสำนักงานฯ สามารถเริ่มกระบวนการเลือก สว.ได้ภายใน 7 วัน นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แต่ถ้าศาลฯ มีคำวินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญก็จะต้องมีการไปแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยกันได้มาซึ่งวุฒิสภา 2561 เสียก่อน ซึ่งก็จะใช้เวลานานพอสมควร โดย สว.ชุดปัจจุบัน จะยังคงรักษาการต่อไป

สำหรับมาตรา 35 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.2561 กำหนดว่า กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือก ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดหรือระดับประเทศพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรตามวันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา 12 (1) อันมิใช่เป็นกรณีตามมาตรา 34 และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (5 เสียง) ว่าการดำเนินการเลือกต่อไปตามกำหนดวันเดิม จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือเรียบร้อย คณะกรรมการจะประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้ ในกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน คณะกรรมการจะสั่งยกเลิก การเลือก และประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้

มีรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (7 มิ.ย.) สำนักงาน กกต.จะจัดงานเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงาน กกต.ครบรอบ 26 ปี โดยสำนักงานได้แจ้งนัดหมายสื่อมวลชนว่า ในเวลา 13.30 น. นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.จะแถลงผลงาน กกต.ในโอกาสครบรอบ 26 ปี ซึ่งคาดว่าก็จะได้มีการชี้แจงถึงผลการประชุมในกรณีดังกล่าวด้วย

ผ่า 2 คดีดัง 'ยุบก้าวไกล-ถอดเศรษฐา' รอดหรือร่วง! : ไทยโพสต์ : 1 มิ.ย.2567บทความเรื่อง "กระบวนการยุติธรรมไทย ในมรสุมการเม...
03/06/2024

ผ่า 2 คดีดัง 'ยุบก้าวไกล-ถอดเศรษฐา' รอดหรือร่วง! : ไทยโพสต์ : 1 มิ.ย.2567

บทความเรื่อง "กระบวนการยุติธรรมไทย ในมรสุมการเมือง" ของนายแก้วสรร อติโพธิ วิเคราะห์เกี่ยวกับคดียุบ “ก้าวไกล” และคดีถอดถอน นายกฯเศรษฐา โดยมีเนื้อหาดังนี้

คดียุบ “ก้าวไกล”

ถาม คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งยกคำร้องของ กกต. ที่ให้ยุบพรรคก้าวไกล ได้ไหมครับ ในเมื่อศาลได้เคยวินิจฉัยให้ พรรคหยุด รณรงค์เลิก ๑๑๒ เพราะมีผลกร่อนเซาะสถาบันของชาติ ไว้คดีหนึ่งแล้ว

ตอบ ผมว่า ทีมพรรคก้าวไกลเขาสู้คดีไว้ถูกต้องตามแนวทางในกฎหมายแล้วนะครับว่า แม้การกระทำจะไม่ถูกต้อง ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องยุบพรรคนะครับ รัฐธรรมนูญ ก่อนฉบับ ปี ๖๐ ก็เคยบัญญัติไว้ชัดแล้วว่า แม้ศาลจะสั่งให้หยุดพฤติการณ์อันเป็นการล้มล้างแล้วก็ตาม ศาลยังมีดุลพินิจที่จะยุบหรือไม่ยุบพรรคนั้นก็ได้

ถาม แล้วมารัฐธรรมนูญ ๖๐ ตัดอำนาจยุบพรรคของศาลออกไปหรือครับ

ตอบ เขาตัดออกไป ให้ กกต. เป็นผู้เริ่มคดีเป็นอีกคดีหนึ่ง คือให้ไปรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ว่า พรรคก้าวไกลเป็นการรวมตัวเพื่อเซาะกร่อนสถาบันกษัตริย์จริงๆหรือไม่ ซึ่งตรงจุดนี้ผมก็ไม่ทราบว่ามีพยานหลักฐานเข้าสู่สำนวนในศาลเพียงพอหรือไม่

ถาม ถ้าศาลยกคำร้อง พวกสลิ่ม คงตีอกชกหัวตายเป็นฝูงเลย นะครับ

ตอบ ศาลท่านต้องตัดสินไปตามครรลองที่ปรากฏในครรลอง ถ้ายังสงสัยท่านจะไต่สวนเพิ่มเติมก็ได้ ส่วนพวกสีต่างๆ จะลุ้นกันอย่างไรก็ว่ากันไปเป็นส่วนตัว ตาม รัก โลภ โกรธ หลง ที่มี

คดีถอดถอน นายกฯเศรษฐา

ถาม คดีนี้ทางรอดของ นายกฯเศรษฐา อยู่ที่ตรงไหนบ้างครับ

ตอบ ตุลาการข้างน้อยกลุ่มหนึ่ง ท่านเห็นไปแล้วว่า กรณีนี้ไม่ใช่คดีขาด “คุณสมบัติ” ดังนั้นในภายหน้าแม้จะไต่สวนกันต่อไปว่า นายกฯเศรษฐา มีพฤติการณ์ตุกติกเพราะขอความเห็นแล้วใช้ความเห็นกฤษฎีกาโดยไม่ซื่อตรงก็ตาม แต่ในที่สุดท่านเหล่านี้ก็คงตัดสินให้หลุดจากตำแหน่งไปตามการไต่สวนไม่ได้

ถาม แล้วตุลาการข้างมากที่ให้รับคำร้อง จะฟัน นายกฯเศรษฐา แน่ๆเลยใช่ไหม

ตอบ ก็ไม่ใช่เช่นนั้น บางท่านอาจเห็นแต่เพียงว่า คำร้องถูกต้องชัดเจน จึงรับไว้ไต่สวนก่อนเท่านั้นก็ได้ ต้องดูผลการไต่สวนต่อไปว่า ผู้ถูกร้องเลวร้ายขนาดไหนด้วย

ถาม อย่างน้อยในข้างมากนี้ ก็มีตุลาการที่ให้เศรษฐาหยุดทำหน้าที่อยู่ด้วย ท่านเหล่านี้ต้องรอฟันคออยู่แน่ๆแล้ว

ตอบ มันก็ไม่ใช่จะเป็นอย่างนั้นนะครับ คดีนี้มันไม่ชัดเหมือนกรณี คดีนายกฯประยุทธ์ ที่ปัญหาในคดีเป็นข้อกฎหมายล้วนๆ มีเส้นแดงชัดเจนว่า ดำรงตำแหน่งเกินสองครั้งไม่ได้ ศาลสั่งให้หยุดทำหน้าที่เลยก็มีเหตุผล แต่คดีนายกฯเศรษฐาไม่มีเส้นแดงชัดเจนอย่างนั้น ตุลาการจึงเห็นต่างกันได้ ส่วนท่านที่เห็นให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านตั้งท่าจะฟันนายกฯเศรษฐา อย่างแน่นอน เช่นกัน

ถาม สรุปแล้วยังฟันธงอะไรไม่ได้

ตอบ มันชัดว่ามีการตุกติก ไม่ตรงไปตรงมา แต่จะให้ยุติเป็นการขาดคุณสมบัติ เหมือนพระต้องปาราชิก เพราะล้มเซไปจับหน้าอกสีกาแล้วนิ่งอยู่ ๒ นาที นั้น แค่นี้ยังต้องมีพฤติการณ์ประกอบอีกไม่น้อย

ถาม อาจารย์วิษณุ เครืองาม คงชี้ทางสู้คดีให้ นายกฯเศรษฐาเห็นแล้ว เขาถึงได้แต่งตั้งเป็นที่ ปรึกษาสำนักเลขาคณะรัฐมนตรี ( สลค. )

ตอบ ผมก็อ่านตรงกับคุณ พอให้เป็นที่ปรึกษานี้แล้ว ต่อไปอาจารย์ก็ไปให้ปากคำในศาลในฝ่ายนายกฯเศรษฐาได้สบายในฐานะเป็นที่ปรึกษาราชการ ทั้งเรื่องแนวปฏิบัติ สลค.ในการตรวจสอบคุณสมบัติ รัฐมนตรี และในการสอบถาม กฤษฎีกา ได้สบาย ไม่เปลืองตัว

ที่อยู่

129/2 Vibhavadi Rangsit 18 Alley, Lane5, Chom Phon Chatuchak
Bangkok
10900

เวลาทำการ

จันทร์ 08:00 - 18:00
อังคาร 08:00 - 18:00
พุธ 08:00 - 18:00
พฤหัสบดี 08:00 - 18:00
ศุกร์ 08:00 - 18:00

เบอร์โทรศัพท์

+66624483838

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ PeopleVoiceTVผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

ติดต่อ ธุรกิจของเรา

ส่งข้อความของคุณถึง PeopleVoiceTV:

วิดีโอทั้งหมด

แชร์

ตำแหน่งใกล้เคียง บริษัท สื่อ


ช่องโทรทัศน์ อื่นๆใน Bangkok

แสดงผลทั้งหมด