22/12/2024
วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า ๒ สถาน
เปรียบได้กับ “ขังคอก” และ “ชี้ทางให้บินไป”
…. “ลักษณะแห่งการบําเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นของพระพุทธองค์นั้น อาจแบ่งได้เป็นสองสถาน กล่าวคือ สําหรับสัตว์ที่ยังอ่อน พระองค์ทรง“ขังคอก”เอาไว้ ส่วนสัตว์ที่แก่กล้าแล้ว พระองค์ทรง“ชี้ทางให้บินไป”
…. ที่ว่า“ขังคอกไว้” ก็คือให้อยู่ใน“กรอบวงของศีลธรรม” อย่าให้พลัดออกไปนอกคอก จะเป็นเหยื่อของสัตว์ร้าย กล่าวคือ “อบาย”. แต่แม้กระนั้น พระองค์ก็ทรงสอนให้กระทําไปด้วยความไม่ยึดถือหรือติดแน่นในศีลธรรมนั้นๆ ถึงกับตรัสเปรียบว่า ธรรมะนี้เหมือนเรือแพ จะอาศัยมันเพียงที่ยังต้องข้ามทะเลเท่านั้น เมื่อถึงฝั่งแล้วไม่จําต้องแบกเอาเรือหรือแพขึ้นบกไปด้วยกล่าวคือ“ความยึดติด” ซึ่งจะทําให้ขึ้นบกไม่ได้
…. ที่ว่า “ทรงชี้ทางให้บินไป” ก็คือ ทรงสอนให้ละวางโลกนี้ โดยมองเห็นในด้านในตามที่เป็นอย่างไรแล้วไม่ยึดถือ, ไม่ติดอยู่ในโลก ไม่ติดอยู่ในธรรม, สามารถข้ามขึ้นสู่“โลกุตตรสภาพ” ซึ่งทรงตัวอยู่ได้โดยปราศจากภพจากชาติ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยุ่งยากโดยประการทั้งปวง
…. ในขั้นที่สอนให้บุคคลหนัก“อยู่ในศีลธรรมนั้น มิใช่เพื่อให้ยึดถือ” เป็นเพียงให้เดินไปตามทางที่มีการอารักขาไปก่อน หรือให้อยู่ในคอกที่มั่นคง เพื่อใช้เวลาในขณะนั้นสร้างความสามารถให้แก่ตัวเองให้เข้มแข็งกลายเป็นเป็ดไก่ที่ไม่ต้องอยู่คอกเล้าหรืออาศัยคนเลี้ยง เช่น ลูกเป็ดไก่อ่อน, แต่ให้เป็นเป็ดสวรรค์ ไก่สวรรค์ หรือนกซึ่งโบกบินไปได้ในอากาศอย่างเป็นอิสระเสรี เพราะฉะนั้น ผู้ใดถอนตนออกมาได้เพียงใดขอจงกรุณาเอ็นดูสงเคราะห์ช่วยเหลือให้เพื่อนสัตว์ถอนตัวออกมาเพียงนั้น เมตตาที่มีอยู่นั้นจักเป็นเครื่องช่วยกําลังสมาธิหรือช่วยกําลังจิตให้ผ่องแผ้วกล้าหาญยิ่งขึ้น
…. และข้อที่ว่าส่งเสริมกําลังปัญญาก็คือ ข้อที่ตนถูกซักไซ้ไต่ถาม ย่อมทําให้ต้องพินิจพิจารณาในอรรถธรรมนั้นมากขึ้น ละเอียดขึ้น นี้เป็นผลกระท้อน(reaction) ที่กลับมาได้แก่ตัวเองและส่งเสริมตัวเองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก
…. ในพระบาลี(พระบาลีไตรปิฎก) “วิมุตตายตนสูตร” มีข้อความที่กล่าวไว้ว่า บุคคลบางคนได้บรรลุมรรคผลในเบื้องสูงเด็ดขาดถึงที่สุดได้ ในขณะที่ตนกําลังพยายามตอบปัญหาเรื่องนั้นเองแก่ผู้อื่น ทั้งนี้ เนื่องจากว่าคนบางคนหรือบางประเภทมีความแปลกประหลาดบางอย่าง คือความคิดหรือปีติปราโมทย์ของเขาเกิดยากในเวลาอื่น แต่เกิดง่ายในเวลาจําเป็นจะต้องคิดเพื่อสอนผู้อื่น. ในกรณีเช่นนั้น ความคิดของเขาจะเกิดขึ้นเอง รู้เองไปพลาง แล้วพูดออกมาพลาง อาบย้อมไปด้วยปีติปราโมทย์อยู่ตลอดเวลา, ซาบซึ้งในอรรถรสแห่งธรรมชั้นประณีตอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า การพยายามคิดเพื่อสอนผู้อื่น ในเมื่อถูกซักไซ้ไต่ถามนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยยกสถานะทางวิญญาณของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้สูงขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยให้ตนเองเข้าถึงพุทธธรรมได้ง่ายขึ้นอีก จึงเป็นสิ่งที่ควรพยายาม. และยังจะเห็นได้ชัดเจนสืบไปว่า วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรมนั้น มีการประพฤติปฏิบัติตามแนวที่กล่าวมาแล้วเป็นส่วนสําคัญ และมีการบําเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นเป็นอุปกรณ์เครื่องส่งเสริม เป็นสองชั้นอยู่ดังนี้”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ปาฐกถาธรรม เรื่อง“วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม” ณ พุทธสมาคม กรุงเทพมหานคร (ในเวลานั้นยังใช้ชื่อว่า “พุทธธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย”อยู่ ) เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๘๓ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ชุมนุมปาฐกถาชุดพุทธธรรม” หน้า ๙๐ - ๙๒