สื่อไร้เซนเซอร์ : Reporters Without Censors

  • Home
  • สื่อไร้เซนเซอร์ : Reporters Without Censors

สื่อไร้เซนเซอร์ : Reporters Without Censors Contact information, map and directions, contact form, opening hours, services, ratings, photos, videos and announcements from สื่อไร้เซนเซอร์ : Reporters Without Censors, Media/News Company, .

20/08/2014

นสพ. ม.ฮาร์วาร์ด ถอดบทความแฉชนชั้นสูงไทย เผยผู้เขียนถูกคุกคาม . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์เดอะ ฮาร์วาร์ด คริมสัน (The Harvard Crimson) ซึ่งบริหารโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ตีพิมพ์บทความเปิดโปงว่า มีชนชั้นสูงไทยที่สนับสนุนรัฐประหารได้พยายามผลักดันให้มีการตั้งหลักสูตรไทยคดีศึกษา (Thai Studies Program) ขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ชื่อมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมาสร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหารและสถาบันกษัตริย์ของไทย ในวงการวิชาการ

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ได้ถอดบทความลงชั่วคราว โดยเขียนชี้แจงว่า "บทความชิ้นนี้ถูกถอดลงชั่วคราว เนื่องจากเรามีความกังวลต่อความปลอดภัยของผู้เขียน เดอะ คริมสัน เสียใจที่ต้องทำเช่นนี้ ซึ่งในกรณีปกติย่อมขัดกับนโยบายของหนังสือพิมพ์ แต่ในกรณีนี้เราพบว่ามีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งยวด เราหวังว่าเราจะสามารถตีพิมพ์บทความนี้ขึ้นใหม่ได้เร็วๆ นี้"

บทความที่ถูกถอดดังกล่าวเอ่ยชื่อ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ และ นายสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยกล่าวว่าทั้งคู่ได้เสนอจะหาเงินบริจาคให้มหาวิทยาลัย 6 ล้านดอลล่าร์ (ประมาณ 180 ล้านบาท) เพื่อให้ตั้งหลักสูตรดังกล่าว

ผู้เขียนกล่าวว่า ตนได้เข้าร่วมงานเลี้ยงที่นายสุรินทร์จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อเปิดรับเงินบริจาค ในงานนั้นนายสุรินทร์ประกาศว่าตนได้รับเงินบริจาคจากมหาเศรษฐีหลายรายแล้ว และกำลังประสานกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อขอรับเงินบริจาคอยู่ด้วย

ผู้เขียนปิดท้ายโดยกล่าวว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ต้องเปิดเผยที่มาของเงินบริจาคให้โปร่งใส และต้องไม่ยอมให้กลุ่มที่สนับสนุนรัฐประหารในประเทศไทย ใช้หลักสูตรนี้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้สถาบันกษัตริย์

ทั้งนี้ แม้ว่าบทความดังกล่าวจะถูกถอดลง แต่ท่านยังสามารถอ่านบทความผ่าน Wayback Machine ได้ที่นี่ https://web.archive.org/web/20140819182117/http://www.thecrimson.com/article/2014/8/18/harvard-thai-troubles/

“ประจิน” พูดอะไร ชวนต่างชาติมาลงทุนภายใต้รัฐบาลทหาร? . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .“ในอดี...
18/08/2014

“ประจิน” พูดอะไร ชวนต่างชาติมาลงทุนภายใต้รัฐบาลทหาร? . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

“ในอดีต เราเคยรบบนหลังช้าง แม้แต่หลังควาย ใช้ดาบใช้หอก วันนี้ไทยเราต้องเรียนรู้ว่าจะรบอย่างไรในสนามเศรษฐกิจ เรารบคนเดียวไม่ได้ ถ้ามีนักลงทุนมาช่วย ทุกอย่างจะเป็นไปได้เร็วขึ้น”

นี่คือคำพูดจากปากของพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ที่ James Hookway นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal สื่อด้านเศรษฐกิจและการเมืองชื่อดัง ของสหรัฐฯ ใช้ปิดท้ายรายงานข่าวที่ชื่อ “Thai Military Man Woos Investors in New Role: Prajin Dons a New Uniform as Economics Czar” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ทหารไทยในบทบาทใหม่ เอาใจนักลงทุน: ประจินสวมยูนิฟอร์มใหม่รับบทพระเจ้าซาร์เศรษฐกิจ” (อ่านบทความฉบับเต็มได้จาก http://online.wsj.com/articles/thai-military-man-woos-investors-in-new-role-after-may-coup-1408342104 )

การเลือกเอาวาทะที่ พล.อ.อ.ประจิน ทหารอากาศผู้ผันตัวเองมาเป็นเจ้าพ่อคุมเศรษฐกิจไทยใช้การรบบนหลังช้างมาเปรียบกับการรบในสนามเศรษฐกิจ เป็นประโยคปิดท้ายข่าว คงไม่ได้มาจากความประทับใจที่นักข่าว Wall Street Journal ผู้คร่ำหวอดในวงการเศรษฐกิจมีต่อนายทหารผู้นี้ แต่เป็นเพราะนี่คือประโยคที่สะท้อนว่าผู้ที่กำลังวางโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสนับสนุนการลงทุนของไทย คือทหาร ที่คิดอะไรอยู่ในกรอบแคบๆของการสู้รบ แถมยังเป็นการสู้รบแบบโบราณเสียด้วย

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจินในชุดสูทหรูเนี้ยบ ได้เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชน และบรรยายสรุปให้กับบรรดานักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเงิน ภายใต้บรรยากาศหรูหราของโรงแรมโอเรียนเต็ล และในวันเสาร์ ก็ได้พาบรรดานักลงทุนเหล่านี้เข้าพบพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร เพื่อพยายามเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาช่วยเติมเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจไทยที่กำลังง่อนแง่น

แต่จากรายงานของ Wall Street Journal ก็พอจะมองเห็นได้ว่าความพยายามครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการที่พลเอกประยุทธถูกซักถามเกี่ยวกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่ไม่ยกเลิกเสียที จนกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนไม่สามารถกำจัดออกไปจากการคำนวณบริหารความเสี่ยงในการลงทุนในไทยได้ หรือการที่ พล.อ.อ.ประจินเอาแต่พูดเรื่องเมืองไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ว่าไทยเคยเป็นผู้นำของภูมิภาคในทุกๆด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว เป็นสยามเมืองยิ้ม และเป็นแหล่งลงทุนใหญ่ของต่างชาติ

Wall Street Journal ตบท้ายความฝันของประจินอย่างเจ็บแสบด้วยการบอกว่า จะทำให้ไทยกลับมาอยู่ในสถานะเดิมได้ คงต้องใช้มากกว่าการจัดทัวร์แถลงข่าวสร้างภาพและการทำมาเป็นญาติดีเกินเหตุกับนักลงทุนอย่างนี้

ไทยเพิ่งจะสูญเสียตำแหน่งฮับด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคให้กับเวียดนามและอินโดนีเซีย เมื่อนักลงทุนรายใหญ่ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ต่างทยอยย้ายฐานการผลิตไปตั้งแต่ช่วงรัฐประหารครั้งที่แล้ว ตอนนั้นทหารให้คำมั่นว่าจะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก แต่ระยะหลายปีหลังจากนั้น ประเทศก็เต็มไปด้วยความวุ่นวาย การประท้วง ตามมาด้วยการรัฐประหารครั้งที่สองในรอบ 8 ปี ซึ่งถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับนักลงทุนผู้ต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพ

พล.อ.อ.ประจินแบไต๋ยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจฉบับกองทัพอากาศ ว่ารัฐบาลจะใช้ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตกทอดมาจากยุคของตระกูลชินวัตร ผสมกับการบริหารงานแบบเทคโนแครต แบบเดียวกับยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยบูมอย่างมากมาแล้วในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990

จนถึงขณะนี้ ยุทธศาสตร์แบบที่ว่า ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการจำนำข้าว หรือการออกนโยบายมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท พัฒนารถไฟรางคู่และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งพล.อ.อ.ประจินโฆษณาว่าจะเป็นการเปิดตลาดภาคเหนือและอีสานให้กว้างขึ้น สร้างงานสร้างรายได้ ลดการอพยพมาทำงานในเมืองหลวงอันแออัดอย่างกรุงเทพฯ

ฝันของ พล.อ.อ.ประจินจะเป็นจริงแค่ไหน และจะซื้อใจชาวอีสานและเหนือ ฐานเสียงอันแข็งแกร่งของตระกูลชินวัตรได้หรือไม่ คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความช่วยเหลือจากนักลงทุนต่างชาติอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับว่าทหารอากาศผู้นี้ จะนำพาเศรษฐกิจอันป่วยไข้ของไทยภายใต้รัฐบาลทหารไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่มากกว่า

01/08/2014

"กลุ่มคนไทยไม่เอาเผด็จการ" ร่อนจดหมาย ประณามรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช. 3 ประเด็น . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

วันนี้กลุ่ม "คนไทยไม่เอาเผด็จการ (Thai Citizens Against Dictatorship)" ได้เผยจดหมายเปิดผนึกประณามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของ คสช. ว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับที่ต่อต้านประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ" เนื้อหาของจดหมายมีดังต่อไปนี้

---------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มคนไทยไม่เอาเผด็จการ (Thai Citizens Against Dictatorship)

จดหมายเปิดผนึก เรื่องขอประณามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

เราในฐานะพลเมืองไทย ขอประกาศว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของคณะรัฐประหารนั้นไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของเรา หรือเจตจำนงของปวงชนชาวไทยแต่ประการใด มันเป็นเพียงกฎของคณะรัฐประหาร ไม่ใช่กฎของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นมันยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ต่อต้านประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ เราขอประณามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ใน 3 ประเด็นต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มุ่งฝังรากระบอบเผด็จการลงในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แล้วยัดเยียดรัฐธรรมนูญนั้นให้ประชาชน

ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 องค์กรที่จะร่างและลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น ล้วนถูกคัดเลือกโดยคณะรัฐประหาร (ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม) นอกจากนี้ร่างรัฐธรรมนูญก็จะไม่ถูกนำเข้าประชามติ ให้ปวงชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้เลือกรับรอง ที่มาของรัฐธรรมนูญที่ขัดหลักประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิงเช่นนี้ย่อมไม่สามารถนำมาซึ่งเนื้อหารัฐธรรมนูญอันเป็นประชาธิปไตยได้ ปวงชนชาวไทยเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะถูกยัดเยียดรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่มีเนื้อหาเป็นเผด็จการ ความน่าอัปยศอีกประการหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญสร้างระบอบเผด็จการถาวรภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่ง "ปฏิรูป" เพื่อประชาธิปไตย

2. รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ล้มล้างสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชน และจำแลงอำนาจเถื่อนให้อยู่ในรูปของกฎหมาย

สิทธิใดๆ จะเรียกว่าเป็นสิทธิได้จริงก็ต่อเมื่อมีหลักประกันว่ามันจะไม่ถูกละเมิดโดยอำนาจเถื่อน แต่แม้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะระบุว่า "สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย...ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้" (มาตรา 4) แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวก็กลับระบุด้วยว่าสิทธิเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับคณะรัฐประหารในการออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ และให้ถือคำสั่งเหล่านั้นเป็นกฎหมาย (มาตรา 44) นี่หมายความว่าสิทธิที่รัฐธรรมนูญกล่าวถึงนั้นสามารถถูกละเมิดโดยอำนาจเถื่อนของ คสช. ได้ตลอดเวลา ในความเป็นจริงรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้คุ้มครองสิทธิพลเมืองจากการละเมิดของ คสช. แต่ตรงข้ามกลับล้มล้างสิทธิเหล่านี้ลง รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้จำแลงอำนาจเถื่อนให้อยู่ในรูปของกฎหมาย เพื่อให้ดูสวยหรูขึ้นจากภายนอกเท่านั้น

3. รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 นิรโทษคณะรัฐประหาร จากทั้งความผิดในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้ปลดเปลื้องคณะรัฐประหารให้ "พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง" ไม่ว่าจะเป็นความผิดในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต (มาตรา 48) นอกจากนี่จะเป็นการที่ล้างผิดให้ตัวเองของคณะรัฐประหารแล้ว ยังเป็นการออกตั๋วให้ตนเองสามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำผิดกฎหมายได้ต่อไปในอนาคตโดยไม่ต้องรับผิดด้วย น่าสังเกตว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารเคยประกาศไว้หลังทำรัฐประหารว่าพร้อมจะรับผิดชอบการกระทำทุกอย่างด้วยตนเอง แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกลับนิรโทษให้คณะรัฐประหารพ้นจากความรับผิดใดๆ

เราขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ทันที เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ยกเลิกบทนิรโทษกรรมความผิดตัวเอง และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเข้าประชามติ ให้เจ้าของอำนาจประชาธิปไตยทุกคนได้ลงมติตัดสินอย่างเสรีและเท่าเทียมกัน

กลุ่มคนไทยไม่เอาเผด็จการ (Thai Citizens Against Dictatorship)
1 สิงหาคม 2557

อักษะใหม่ ไทย-เมียนมาร์  . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์แปลโดย สื่...
01/08/2014

อักษะใหม่ ไทย-เมียนมาร์ . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
แปลโดย สื่อไร้เซนเซอร์

เมื่อจีนหนุน ประชาธิปไตยครึ่งใบอย่างไทยหลังรัฐประหารและเมียนมาร์จึงใกล้ชิดกันมากขึ้น

ทหารไทยก่อรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม โดยอ้างว่าเพื่อคืนสันติภาพและความเป็นระเบียบเรียบร้อยกลับสู่สังคม หลังจากตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริง นี่คือแผนการของทหารที่จะควบคุมอำนาจทางการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์ และในกระบวนการนี้เอง สถาบันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนก็ถูกทำลายลง

ทันทีหลังรัฐประหาร กองทัพของชาติตะวันตกได้แสดงความกังวลถึงการหายไปของพื้นที่ทางประชาธิปไตยในไทย ด้วยเหตุนี้ ประเทศตะวันตกจึงประกาศคว่ำบาตร “แบบอ่อนๆ” เช่นสหรัฐฯระงับความช่วยเหลือทางการเงินแก่กองทัพไทย และสหภาพยุโรปก็ได้ระงับความร่วมมือทุกชนิดกับไทย

ท่ามกลางการคว่ำบาตรจากนานาชาติ รัฐบาลทหารได้แสวงหาความสบายอกสบายใจจากอ้อมกอดอันอบอุ่นของจีน ไม่นานหลังการรัฐประหาร ก็ปรากฏภาพถ่ายของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ผู้ซึ่งรับหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย จับมือกับบรรดานักธุรกิจชาวจีน ซึ่งถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงกลยุทธของไทยที่จะนำจีนเข้ามาถ่วงดุลอำนาจกับการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก

แต่จีนไม่ใช่มิตรในยามยากเพียงหนึ่งเดียวของไทย ในวันที่ 4 กรกฎาคม นายพลมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาร์ ได้เดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ และกลายเป็นผู้นำอาเซียนคนแรกที่ได้พบกับรัฐบาลทหารของไทยนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเป็นต้นมา

นายพลมินอ่องหล่ายน์ได้สนทนาแบบอบอุ่นกับพลเอกประยุทธ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการพยายามเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ในการพบกันครั้งนี้ นายพลมินอ่องหล่ายน์ยังได้สรรเสริญว่าการยึดอำนาจของรัฐบาลทหารเป็นสิ่งที่ “ถูกต้อง” นอกจากนี้เขายังได้เปรียบเทียบเหตุการณ์ในไทยกับช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมาร์ในช่วงปี 1988 ที่กองทัพเมียนมาร์ปราบปรามนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างนองเลือดอีกด้วย

สายสัมพันธ์ระหว่างมินอ่องหล่ายน์กับไทยนั้นไม่ใช่แค่เรื่องผิวเผิน เขาเป็นบุตรบุญธรรมของผู้นำสูงสุดทางทหารของไทย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก ผู้ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี เปรมรู้จักกับบิดาของมินอ่องหล่ายน์ตั้งแต่สมัยยังรับราชการทหาร และในปี 2012 เปรมก็รับมินอ่องหล่ายน์เป็นบุตรบุญธรรม

มินอ่องหล่ายน์เป็นดาวรุ่งในกองทัพเมียนมาร์ และมีความเป็นไปได้ที่เขาจะเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งหน้า ในขณะเดียวกัน ประยุทธก็ถูกมองว่ากำลังจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อมีการตั้งรัฐบาลในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า สายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่าง 2 ประเทศ จึงทำให้มองได้ว่ากำลังมีการจับคู่พันธมิตรใหม่ในอาเซียน ระหว่างประเทศประชาธิปไตยครึ่งใบทั้งสอง

นักวิจารณ์ทั้งหลายแสดงความชื่นชมต่อการเปิดประเทศของเมียนมาร์เร็วเกินไป ในความเป็นจริง ยังต้องใช้เวลาอีกมากกว่าเมียนมาร์จะก้าวออกจากเงาของกองทัพ ในเมื่อ 25% ของที่นั่งในสภายังคงสงวนไว้สำหรับตัวแทนทหาร ส่วนนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านก็ยังถูกขัดขวางไม่ให้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จึงทำให้การันตีได้ว่ากองทัพจะยังคงกุมอำนาจในตำแหน่งที่สูงที่สุดของประเทศเอาไว้

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันกำลังเกิดขึ้นในไทย สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลทหารเปิดเผยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวสู่สาธารณชน นักวิจารณ์ต่างมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีขึ้นเพื่อส่งเสริมอำนาจของทหารในการเมือง มากกว่าจะส่งเสริมประชาธิปไตย จริงๆแล้วดูเหมือนว่ากองทัพไทยกำลังใช้รัฐธรรมนูญของเมียนมาร์เป็นต้นแบบ โดยการที่ประยุทธยืนยันว่ากองทัพจะยังเป็นรากฐานหลักของรัฐบาลใหม่ พูดให้ชัดๆก็คือสถาบันทหารจะมีอำนาจเหนือรัฐบาลนั่นเอง

ที่ผ่านมา ประยุทธก็ได้บ่อนทำลายโครงสร้างประชาธิปไตยในไทยไปมากแล้ว โดยการสั่งย้ายข้าราชการอาวุโสจำนวนมาก แล้วแทนที่ด้วยคนที่ใกล้ชิดกับทหาร กำจัดเครือข่ายของคนเสื้อแดงซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวสายประชาธิปไตยในจังหวัดต่างๆ และล่าสุดก็คือการสั่งระงับการเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อกรุยทางสำหรับการแต่งตั้งคนของทหารเข้าไปแทนที่

ในที่สุด ดูเหมือนว่าผลประโยชน์ทางการเมืองของไทยกับเมียนมาร์จะมาบรรจบกัน ภายใต้การสนับสนุนจากจีน สองประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนภาคพื้นทวีปได้รวมตัวกันกลายเป็นหลุมดำที่อาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยของทั้งภูมิภาคได้ จีนประสบความสำเร็จมาแล้วในเมียนมาร์ และตอนนี้ก็ได้กลายเป็นแหล่งสร้างความชอบธรรมให้กับไทยเพื่อต่อสู้กับการคว่ำบาตรจากนานาชาติ

สโมสรประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ จะกลายเป็นเสี้ยนหนามในการสร้างประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงสิ้นปี 2015 เมียนมาร์เป็นประธานอาเซียนปีนี้ แต่แทนที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของไทยเร่งคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน กลับไปชื่นชมการรัฐประหาร การกลับเทรนด์การเมืองจากประชาธิปไตยไปสู่ระบอบเผด็จการนี้ อาจบ่อนทำลายประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนอย่างมหาศาล เนื่องจากประชาคมมีเป้าหมายในการส่งเสริมประชาธิปไตยในภูมิภาค จริงๆแล้ว พันธมิตรใหม่ระหว่างไทยกับเมียนมาร์สามารถส่งผลทางลบต่อสันติภาพและความมั่นคงของอาเซียนได้เลยทีเดียว

ในบริบทที่กว้างกว่านั้น ตัวแบบใหม่ของประชาธิปไตยครึ่งใบที่ถูกบ่มเพาะอยู่ในไทยและเมียนมาร์ยังถือเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯในอาเซียนด้วย เป็นความจริงที่ว่าในเกมการเมืองระหว่างประเทศ สหรัฐฯกำลังกังวลกับการที่จีนสานสัมพันธ์กับสองประเทศในอาเซียน และในระยะยาว สหรัฐฯจะมีผลประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ก็โดยการสถาปนาประชาธิปไตยในอาเซียน เหมือนกับในภูมิภาคอื่นๆของโลก

ไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯในเอเชีย แต่รัฐประหารได้ก่อรูปร่างความสัมพันธ์ฉันท์สหายระหว่างไทย เมียนมาร์ และจีน ขึ้นมาแทนที่สายสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น สหรัฐฯและพันธมิตรในโลกประชาธิปไตยจึงต้องปรับกลยุทธในการพลิกฟื้นประชาธิปไตยในไทย

การเพิ่มความเข้มข้นในการคว่ำบาตรจากนานาชาติเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญ แต่บ่อยครั้งที่การคว่ำบาตรโดยนานาชาติถูกใช้เป็นแค่อาวุธเชิงสัญลักษณ์ และอันที่จริงเมียนมาร์เองก็รับมือกับการคว่ำบาตรในอดีตได้ดี เพราะฉะนั้น ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ในการรับมือกับรัฐบาลทหารของไทย เช่นการคว่ำบาตรควรต้องพุ่งเป้าให้กระทบบทบาทของไทยในระบบการค้าโลก เพราะไทยพึ่งพิงการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก การทำแบบนี้จะกระทบธุรกิจใหญ่ๆในไทย ซึ่งให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เผด็จการทหารอยู่ในปัจจุบัน

หรือประชาคมระหว่างประเทศอาจเลือกให้การสนับสนุน “องค์กรเสรีไทย” ที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ และมีรายงานว่ามีสำนักงานใหญ่อยู่ในแคลิฟอร์เนีย องค์กรฝ่ายประชาธิปไตยนี้ตั้งขึ้นโดยสมาชิกของพรรคเพื่อไทยที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน โดยมีวัตถุประสงค์ในการบ่อนทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงษ์พันธ์ อาจารย์จากศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เขียนลงในนิตยสาร The Diplomat เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2014

อ่านบทความฉบับเต็มที่ http://thediplomat.com/2014/07/the-new-thailand-myanmar-axis/

ชำแหละรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของคสช. ก้าวแรกของเผด็จการอย่างยั่งยืน . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .รั...
25/07/2014

ชำแหละรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของคสช. ก้าวแรกของเผด็จการอย่างยั่งยืน . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

รัฐธรรมนูญชั่วคราว 48 มาตราของคสช. ซึ่งจะบังคับใช้ไปจนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร อาจจะคืนความสุขให้คนไทยได้เล็กน้อยในแง่ที่ว่าไม่ต้องคอยฟังประกาศคสช.ตามช่วงเวลาไพรม์ไทม์อีกต่อไป เพราะมีกฎหมายกึ่งถาวรออกมาแทนที่แล้ว แต่ผลที่จะตามมาหลังจากนี้ ดูจะไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย เมื่อดูแต่ละมาตราของรัฐธรรมนูญ ที่จะกลายเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไปในอนาคตอันใกล้ แล้วพบว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับนี้ ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่คณะรัฐประหาร และยังมีความตั้งใจกีดกันขั้วตรงข้ามไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองอย่างถึงที่สุด ตรงข้ามกับหลักการปรองดอง-สมานฉันท์ที่คสช.โฆษณาชวนเชื่ออยู่ทุกวันนี้

Bangkok Pundit นักวิเคราะห์และคอลัมนิสต์จาก Asian Correspondent วิพากษ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้อย่างน่าสนใจ (อ่านบทวิเคราะห์ของ Bangkok Pundit ที่นี่: http://asiancorrespondent.com/125032/thai-interim-constitution-gives-absolute-power-to-the-junta/ ) โดยแบ่งสาระสำคัญออกเป็น 5 ส่วน คือว่าด้วยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี สภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งทั้ง 5 องค์กรนี้ เมื่อดูตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ จะมาจากฝ่ายเดียวและแหล่งเดียว นั่นก็คือคสช.

1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสมาชิกไม่เกิน 220 คน แต่งตั้งโดยคสช.ทั้งหมด และมาตรา 8 ห้ามไม่ให้คนที่เคยดำรงตำแหน่งใดๆในพรรคการเมืองภายในเวลา 3 ปีมานี้เป็นสมาชิก รวมถึงผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง สิทธิทางการเมือง หรือถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาทุจริตและร่ำรวยผิดปกติ แม้นี่จะเป็นคุณสมบัติที่คาดเดาได้สำหรับสภานิติบัญญัติที่มาจากคณะรัฐประหาร แต่ Bangkok Pundit กลับตั้งข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เหมือนฉบับหลังรัฐประหาร 2549 คือไม่ได้ห้ามผู้เป็นข้าราชการประจำ รวมถึง “ทหาร” เข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นั่นก็หมายความว่า สภาแห่งนี้น่าจะแบ่งเป็นเพียง 2 ส่วน แต่สมานฉันท์สีเดียวกัน คือทหารในเครื่องแบบ และพลเรือนที่มีใจฝักใฝ่ทหาร

2. นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

มาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีและ ครม. มาจากการแต่งตั้ง และมีหน้าที่ “ดำเนินการให้มีการปฏิรูป และสร้างความปรองดองสมานฉันท์” แต่ก็ยังคงประกอบไปด้วยคนกลุ่มคุณสมบัติใกล้เคียงกับสภานิติบัญญัติ ตามมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ครม.ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ เคร่งครัดกว่าคุณสมับติของสมาชิกสนช. ซึ่งระบุเพียง “ต้องไม่ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองใดๆ”) ซึ่งหมายความว่านักการเมืองทุกฝ่ายจะไม่ได้เข้ามานั่งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แน่นอน นอกจากนี้ผู้ที่มีคุณสมบัติต้องห้ามยังรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและศาล แต่ยังเปิดช่องสำหรับข้าราชการประจำ ซึ่ง Bangkok Pundit ชี้ว่าเป็นการเปิดช่องให้พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรี และให้สมาชิกคสช.คนอื่นๆมานั่งในครม.ได้อย่างสบายๆ

3. สภาปฏิรูปแห่งชาติ

มาตรา 27 กำหนดให้ตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย การศึกษา สาธารณสุข สื่อมวลชน และสังคม โดยมาตรา 28 ระบุให้สภาปฏิรูปมีสมาชิก 250 คน มาจากการแต่งตั้งของคสช.ทั้งหมด แม้ตามมาตรา 30 จะมีกระบวนการตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ แต่ทั้งหมดก็เป็นกระบวนการสรรหาที่ขึ้นอยู่กับอำนาจของคสช. และที่สำคัญ คุณสมบัติต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งในสภาปฏิรูปก็ยังคงเป็นคุณสมบัติเดียวกับที่ระบุในครม.และสภานิติบัญญัติ ยกเว้นการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หมายความว่าเฉพาะนักการเมืองที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง หรือเคยถูกตัดสินในคดีทุจริต จะไม่มีสิทธิ์ในการเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูป นอกจากนี้ Bangkok Pundit ยังตั้งข้อสังเกตว่าสภาปฏิรูปมีหน้าที่สำคัญมากคือการอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งคล้ายกับจะให้เป็นการทดแทนกระบวนการลงประชามติโดยตรงจากประชาชน

4. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

มาตรา 32 กำหนดให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้งกรรมาธิการ 36 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งเป็นตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ครม. และคสช. ซึ่งจะเรียกว่าเป็นตัวแทนจากคสช.ทั้งหมดก็ได้ เพราะมาจากแหล่งอำนาจเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการล็อกสเป็ครัฐธรรมนูญที่จะมีการยกร่างใหม่ ด้วยการกำหนดว่ารัฐธรรมนูญต้องครอบคลุมการสร้างกลไลป้องกันการใช้นโยบายประชานิยม การป้องกันไม่ให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาคดีทุจริตคอรัปชั่นเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองโดยเด็ดขาด ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการล็อกสเป็ครัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการกลับสู่การเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่าย นอกจากนี้ยังมีการบังคับให้รัฐธรรมนูญส่งเสริมหลักคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล โดย Bangkok Pundit เรียกการล็อกสเป็คนี้ว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” และตั้งข้อสังเกตด้วยว่าไม่ได้มีการกำหนดให้ประชาชนต้องลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้

5. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงให้อำนาจคสช.อย่างเต็มเปี่ยม เช่นมาตรา 42 ให้อำนาจหัวหน้าคสช. สั่งการให้ครม.ดำเนินการใดๆเพื่อความสมานฉันท์ปรองดองและความสงบสุขของชาติได้ หรือมาตรา 43 ที่ให้หัวหน้าคสช. ทำหน้าที่แทนรัฐสภา สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ในระหว่างที่ยังไม่มีสภานิติบัญญัติ และที่สำคัญที่สุดคือมาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้าคสช.กระทำการทุกอย่างได้โดยถือว่าไม่ขัดต่อกฎหมาย มีอำนาจเหนือทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ในนามของการรักษาความมั่นคงของชาติและราชบัลลังก์ ซึ่งมาตรานี้ แม้แต่นายเทพไท เสนพงศ์ นักการเมืองประชาธิปัตย์ ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่มีผู้มีอำนาจเหนืออำนาจตุลาการ ส่วน Bangkok Pundit มองว่าเป็นเรื่องแปลกที่คสช.ต้องการมีอำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อทำงานรักษาความสงบและบริหารบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ แต่รัฐธรรมนูญที่คสช.จะร่างขึ้น กลับควบคุมและจำกัดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างแทบกระดิกไม่ได้

นอกจากจะเห็นได้ชัดว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่จะทำหน้าที่บริหารและนิติบัญญัติ ปกครองและกำหนดกฎเกณฑ์กฎหมายสูงสุดของไทย ล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจรวมศูนย์จากคสช. อีกประเด็นเล็กๆที่ไม่มีใครพูดถึงมากนักก็คือรัฐธรรมนูญมาตรา 24 ที่ระบุให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทหารและพลเรือนระดับอธิบดี ปลัดกระทรวง ผู้พิพากษา รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าอำนาจโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการทั้งหมด ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว แม้แต่องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐ

เรียกว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์ที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะทำไม่ได้ และเป็นการทำโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลใดๆ ใช้หลัก “เชื่อใจและศรัทธา” แบบไทยๆเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้คาดเดาได้ว่าผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ก็คือพลเอกประยุทธเอง เพราะหัวหน้าคสช.ที่มีอำนาจล้นฟ้า คงไม่ตั้งคนอื่นให้ขึ้นมามีอำนาจล้นฟ้าเหมือนกับตนเอง

และคงจะเป็นความหวังลมๆแล้งๆ หากจะหวังว่ารัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งในอนาคตจะเป็นประชาธิปไตย เมื่อทั้งสองประการจะต้องเกิดขึ้นภายใต้รัฐาธิปัตย์และองค์กรที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยอย่างสุดโต่งเช่นนี้

วอชิงตันโพสต์: "ประเทศไทยจะกอบกู้ประชาธิปไตยได้หรือไม่?"..........................................................โดย กอ...
22/07/2014

วอชิงตันโพสต์: "ประเทศไทยจะกอบกู้ประชาธิปไตยได้หรือไม่?"..........................................................
โดย กองบรรณาธิการ วอชิงตันโพสต์
19 ก.ค. 2014

สามเดือนหลังรัฐประหารครั้งที่ 12 ของไทย เส้นชีพจรของประชาธิปไตยกำลังแผ่วลงอย่างรวดเร็ว

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา คณะรัฐประหารปราบปรามผู้ต่อต้านด้วยการจับและคุมขังนักวิชาการ นักการเมือง และนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยนับร้อยชีวิต เจ้าหน้าที่รัฐถูกล้างบาง การประท้วงกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่เว้นแม้แต่การอ่านหนังสือ "1984" ของ George Orwell หรือการปิกนิกเพื่อแสดงจุดยืนเคียงข้างผู้ถูกคุมขัง สื่อถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด และ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการชาวไทย ก็ถูกยกเลิกหนังสือเดินทางเพราะเขาเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เมื่อเดือนที่แล้ว นอกจากนี้คณะรัฐประหารยังมีแผนติดตั้งประตูดักข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต (internet gateway) เพื่อให้รัฐสามารถสอดส่องและปิดกั้นข้อมูลได้

ความหวาดกลัวแผ่คลุมประเทศไทย อันเคยเป็นแม่แบบของประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียน ในระดับที่ไม่เคยมีมาในช่วงหลายทศวรรษ

เป้าหมายหลักของการก่อรัฐประหารคือการกำจัดอิทธิพลของ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง แต่ถูกกล่าวหาว่าคอรัปชัน และถูกโค่นล้มด้วยการรัฐประหารในปี 2006 แต่ด้วยแรงสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากคนจนในชนบท พรรคของเขาก็ชนะการเลือกตั้ง จนน้องสาวของเขาขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2011 สถาบันกษัตริย์ กองทัพ และชนชั้นนำเจ้าของธุรกิจในเมือง รู้สึกถูกคุกคามจากกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนทักษิณ จึงผลักดันการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทั่งวันนี้แทบไม่มีผู้ต่อต้านรัฐประหารคนใดกล้าออกมาประท้วงบนท้องถนน เว้นแต่เพียงกลุ่มนักศึกษาที่กล้าหาญกลุ่มหนึ่งเท่านั้น กลุ่มต่อต้านรัฐประหารเพียงกลุ่มเดียวที่ดูจะมีพลังก็ยังอยู่นอกประเทศ

เนื่องด้วยการคัดค้านรัฐประหารถือเป็นอาชญากรรม เวทีความคิดเห็นทางการเมืองจึงถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมในเมือง ผู้ซึ่งปฏิเสธประชาธิปไตย คนเหล่านี้เสนอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ซึ่งกองทัพจะร่างก่อนจัดการเลือกตั้ง) เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เอนเอียง และให้กันที่นั่งในสภานิติบัญญัติไว้สำหรับกองทัพส่วนหนึ่งด้วย

แม้ว่ากองทัพจะพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะมัดใจคน ด้วยการ "คืนความสุข" ผ่านบริการตัดผมฟรี คอนเสิร์ตฟรี และดูฟุตบอลโลกฟรี แต่อย่างไรเสียคนส่วนใหญ่ของประเทศก็จะปฏิเสธการปฏิรูปแบบเผด็จการ คนจนในชนบท ผู้ซึ่งได้ผ่านการรัฐประหารมาสองครั้งและการสลายการชุมนุมอีกหลายครั้ง เห็นค่าของสิทธิทางการเมืองมากกว่าของฟรีของทหาร การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยคณะรัฐประหารที่ยังเกิดขึ้นอยู่นี้ยิ่งผลักพวกเขาให้รู้สึกต่อต้าน ยิ่งกว่านั้นการละเมิดสิทธิเหล่านี้ยังผลักผู้สนับสนุนประชาธิปไตยที่ไม่ได้ญาติดีกับทักษิณ ให้ต่อต้านมากขึ้นด้วย

คณะรัฐประหารมีสองทางเลือก หนึ่งคือเดินหน้ากดขี่ประชาชนต่อไป สองคือฟังประชาชน ฟื้นฟูสิทธิพลเมือง แล้วนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยก่อนเดือนกันยายนปี 2015 ตามที่สัญญาไว้ ทางเลือกที่สองนี้ต้องมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญที่ประชาชนรับรองผ่านประชามติ มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และมีกลไกควบคุมให้ตุลาการต้องเป็นกลางทางการเมือง

รัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาทำถูกแล้วที่ประณามการรัฐประหารว่า "ไม่มีข้ออ้างใดอันสมควร" พร้อมตัดงบสนับสนุนและยกเลิกการฝึกทหารร่วมกับกองทัพไทย แต่เร็วมานี้รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ส่งสัญญาณว่าอาจยอมลดแรงกดดันลง ผ่านการตัดสินใจว่าจะไม่ย้ายสถานที่ฝึกซ้อมรบคอบราโกลด์ (Cobra Gold) บททดสอบสำคัญสำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ที่ว่าสหรัฐฯ จะยอมเอาด้วยหรือไม่ หากคณะรัฐประหารประกาศใช้ระบบประชาธิปไตยแบบจอมปลอม

สนามการเมืองไทยกำลังไหวเปลี่ยน องค์กษัตริย์สุขภาพทรุดลงตามวัย รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเลือกพนันให้ถูกข้าง นั่นคือไม่ใช่อยู่ข้างชนชั้นนำดั้งเดิม แต่ต้องอยู่ข้างระบอบประชาธิปไตยที่เคารพทั้งคนส่วนน้อยที่เสียงดัง และคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีเสียง

(อ่านต้นฉบับได้ที่ http://www.washingtonpost.com/opinions/can-thailand-save-its-democracy/2014/07/19/f41013f8-05ea-11e4-bbf1-cc51275e7f8f_story.html)

ไทยไม่ใช่รังหลบภัยสำหรับสื่อมวลชนพม่าสายประชาธิปไตยอีกต่อไป.......................................................... นั...
22/07/2014

ไทยไม่ใช่รังหลบภัยสำหรับสื่อมวลชนพม่าสายประชาธิปไตยอีกต่อไป..........................................................

นับตั้งแต่หลังการปราบปรามขบวนการนักศึกษาและผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอันนองเลือดหลังการประท้วง 8888 ที่ทหารได้สังหารหมู่ผู้ประท้วงไปหลายพันคน และกวาดล้างกลุ่มเสรีประชาธิปไตยที่เหลือในประเทศอย่างเด็ดขาด บรรดานักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน และนักศึกษาพม่าฝ่ายเสรีนิยมจำนวนมากได้หลบหนีเงื้อมมือเผด็จการทหารมายังประเทศไทย ส่วนใหญ่ตั้งรกรากอยู่ในเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนไทย-เมียนมาร์ โดยเฉพาะเชียงใหม่และตาก ซึ่งกลายเป็นที่ตั้งของ NGO รวมถึงสำนักงานของสื่อสายประชาธิปไตยของเมียนมาร์หลายสำนัก ที่รู้จักกันดีก็เช่นสำนักข่าวอิระวดี ซึ่งผลิตนิตยสารออนไลน์ The Irrawaddy เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ในฐานะสื่อที่รายงานข่าวครอบคลุมทั้งเหตุบ้านการเมืองและปัญหาสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์ รวมถึงในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด

แม้ว่าในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลของนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมาร์ จะผ่อนคลายการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อในประเทศด้วยการอนุญาตให้เอกชนจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ได้อีกครั้ง และเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ “ตามสมควร” ทำให้สื่อหลายสำนักเริ่มทยอยกลับไปต่อสู้ในสมรภูมิเมียนมาร์อีกครั้ง แต่ก็ยังมีอีกมาก ที่ไม่มั่นใจในความจริงใจของรัฐบาลเมียนมาร์ และยังคงเลือกที่จะปักหลักอยู่ในไทยเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดรัฐประหารในประเทศไทย ตามมาด้วยการสถาปนาอำนาจรวมศูนย์แบบเข้มข้นโดยพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. และการเจริญสัมพันธไมตรีอันแน่นแฟ้นระหว่างทหารไทยกับทหารพม่า ผู้มีอุดมการณ์เดียวกันและเข้าอกเข้าใจกันเป็นอย่างดีถึง “ความจำเป็น” ในการปราบปรามฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและผู้ที่ต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐ สถานะของไทยในฐานะแหล่งหลบภัยของสื่อมวลชนสายประชาธิปไตยในเมียนมาร์ก็เริ่มสั่นคลอน

สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไทยที่แม่สอด ด่านพรมแดนสำคัญระหว่างไทย-เมียนมาร์ ได้จับกุมตัวเจ้าของสำนักพิมพ์บายโมนเททเนย์ (Bi Mon Te Nay) หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ท้องถิ่นหัวเล็กๆของเมียนมาร์ พร้อมด้วยภรรยาและผู้จัดการหนังสือพิมพ์ แล้วส่งตัวไปให้รัฐบาลเมียนมาร์ดำเนินคดี ในข้อหาตีพิมพ์ข่าวแถลงการณ์ของนักเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งซึ่งอ้างว่านางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรค NLD ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น (อ่านรายงานของสำนักข่าวอิระวดี ได้ที่นี่: http://www.irrawaddy.org/burma/thai-arrest-hand-3-burma-newspaper-trial.html)

ปรากฏว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทำให้รัฐบาลกล่าวหาว่าหนังสือพิมพ์จงใจใส่ร้ายให้รัฐบาลเสื่อมเสียชื่อเสียง กระทบถึงความมั่นคงแห่งชาติ ออกหมายจับบรรณาธิการและพนักงานของบายโมนเททเนย์รวม 8 คน ในข้อหาบ่อนทำลายความสงบสุขและกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายฉุกเฉินมาตรา 5(d) และ 5(j) ของเมียนมาร์

กฎหมายนี้ขึ้นชื่อลือชาในด้านการเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากความผิดที่บัญญัติในกฎหมายกินความได้กว้างขวาง และมีบทลงโทษรุนแรงถึงจำคุก 7 ปี และยังเป็นกฎหมายที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ายุคก่อนหน้าเต็ง เส่ง ใช้เป็นเครื่องมืออ้างในการปราบปรามฝ่ายต่อต้านมาโดยตลอด ด้วยข้อหาลอยๆที่ว่า “บ่อนทำลายความสงบของชาติ”

รัฐบาลเมียนมาร์อ้างว่าทำตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทุกประการในการจับกุมและดำเนินคดีนักข่าวกลุ่มนี้ รวมถึงการขอความร่วมมือส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากรัฐบาลไทยก็ทำอย่างถูกต้อง เพราะไทยกับเมียนมาร์มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันอยู่แล้ว และมีการร่วมมือกันจับกุมอาชญากรและผู้ค้ายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง

จริงอยู่ที่ว่าเมียนมาร์ทำตามขั้นตอนและมีกฎหมายรองรับ แต่ปัญหาก็คือกฎหมายฉุกเฉินมาตรา 5 นี้ ก็เปรียบได้กับกฎหมายอาญามาตรา 112 ของไทย ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชน เมื่อตัวบทกฎหมายที่ใช้เอาผิดไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของความยุติธรรมและการเคารพสิทธิมนุษยชน จึงถือเป็นกฎหมายที่เรียกว่า “Draconian Law” หรือกฎหมายที่กดขี่ ไม่ว่ากระบวนการดำเนินคดีจะเป็นไปตามแบบแผนอย่างไร ก็ไม่มีความหมาย

ส่วนทางการไทยที่ให้ความร่วมมือ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เพราะนอกจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันระหว่างทหารไทยและทหารพม่า หลักการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเบื้องต้น ก็คือประเทศที่จะส่งตัวผู้ต้องหากลับไปดำเนินคดี ต้องพิจารณาว่าความผิดของผู้ต้องหา มีในกฎหมายของตนเองหรือไม่

แน่นอนว่าหากเป็นประเทศไทยในยุคปกติ การที่นักข่าวเสนอข่าวในเชิงต่อต้านหรือสร้างความเสื่อมเสียให้รัฐบาลย่อมเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่ใช่ความผิดตามกฎหมาย เพราะหากผิด บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยค่อนประเทศก็คงต้องเข้าคุกอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ในยุคที่เสรีภาพของสื่อไทยเองยังลดต่ำลงยิ่งกว่าสื่อพม่าแบบนี้ แถมคสช.ยังออกประกาศที่ระบุชัดเจนว่าการเสนอข่าวเชิงต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคสช. ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐบาลชั่วคราว เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย การที่ไทยจะยินดีให้ความร่วมมือ กระตือรือร้นในการกวาดล้างสื่อพม่าสายต่อต้านรัฐบาล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแม้แต่นิดเดียว และยังถือว่าถูกต้องตามครรลองกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเสียด้วยซ้ำ เมื่อความผิดฐาน “บ่อนทำลายความสงบของชาติ” เป็นความผิดตามประกาศคสช. ไม่ต่างจากกฎหมายฉุกเฉินอันกดขี่ของเมียนมาร์ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคเผด็จการทหารเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว

ที่สำคัญ ความกระตือรือร้นในการส่งตัวนักข่าวที่ต่อต้านรัฐบาลให้กับเมียนมาร์ของทางการไทย น่าจะไม่ได้เป็นแค่การเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างรัฐเผด็จการทหารด้วยกัน แต่เป็นการกระทำเพื่อหวังผลว่าเมียนมาร์และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ จะจับตัวนักข่าวและนักเคลื่อนไหวสายเสรีชาวไทยที่หนีไปกบดานตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน กลับมาสู่เงื้อมมือรัฐบาล ที่กำลังเดินหน้าสร้างความ “สมานฉันท์-ปรองดอง” ด้วยการปราบปรามคนที่เห็นต่าง จนเหลือแต่พวกเดียวคอยพยักสร้างความชอบธรรมให้กันแบบทุกวันนี้

คสช.เตรียมรวมศูนย์อำนาจด้วยโครงสร้างมหาดไทยโบราณ..........................................................ผู้บัญชาการทหา...
17/07/2014

คสช.เตรียมรวมศูนย์อำนาจด้วยโครงสร้างมหาดไทยโบราณ..........................................................

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานการประชุมร่วมกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยวันนี้ ชื่นชมการทำหน้าที่ๆผ่านมา สอดคล้องไปกับแนวทางของ คสช.พร้อมเปิดเผย เตรียมขยายบทบาทของจังหวัด ให้เป็นศูนย์กลางในทุกๆเรื่อง สอดรับกับนโยบายการให้ยกเลิกสภาท้องถิ่น

พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประชุมร่วมข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยวันนี้ เพื่อมอบนโยบายตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

โดยก่อนเริ่มประชุม พลเอกธนะศักดิ์ ได้กล่าวชื่นชมการทำหน้าที่ของข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่ผ่านมา ว่าสอดคล้องกับการบริหารของ คสช. เป็นอย่างดี พร้อมทั้งเปิดเผยกับผู้เข้าร่วมประชุม ว่าในอนาคตข้างหน้า คสช. จะมีการปรับนโยบาย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ มีอำนาจมากขึ้น เพื่อให้จังหวัด เป็นศูนย์กลาง one stop service สำหรับการบริการประชาชนในทุกๆเรื่อง ไม่ว่าจะเผ็นในส่วนของประชาชนทั่วไป ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยในอนาคต การติดต่อของประชาชนทุกเรื่อง จะต้องผ่านไปทางจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และรับมอบนโยบายมาจากส่วนกลางโดยตรง

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกต ว่าการออกมาเปิดเผยของผู้บัญชาการทหารสูงสุดวันนี้ สอดรับกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 85/2557 ที่ให้ยุบเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่น "ชั่วคราว" ทั้งนี้ แหล่งข่าวภายในกระทรวงมหาดไทย คาดการณ์ว่าในอนาคต คสช. จะนำระบบการคัดสรรแต่งตั้ง มาใช้แทนการเลือกตั้งโดยประชาชน พร้อมกับยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศลง จากจำนวน 7,853 แห่ง ให้เหลือเพียงประมาณ 1 พันแห่ง ตามแผนการปฏิรูประยะ 2 ของ คสช. โดยยังคาดว่าจะมีการยุบรวม อบจ. อบต. ทั้งหมดให้เป็น "เทศบาล" ที่ผู้บริหารและสมาชิกสภามาจากการแต่งตั้ง

จึงเป็นที่น่าสังเกต ว่าประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่ยุครวมศูนย์อำนาจอีกครั้ง ตามแบบสมัยโบราณของการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือไม่ เพราะเป็นที่รู้กันในแวดวงวิชาการไทยศึกษาดี ว่ากระทรวงมหาดไทย นับตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นเครื่องมือของรัฐไทยในการรวมศูนย์อำนาจ และการดำเนินนโยบายอย่างที่ผู้ปกครองที่กรุงเทพมหานครต้องการมาโดยตลอด และยังเป็นเครื่องมือในการกดขี่อัตลักษณ์และประชากรในท้องถิ่นของไทย ภายใต้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันด้วย

โดยที่ผ่านมา ชนชั้นนำไทยและคณะผู้รับใช้ชนชั้นนำใน คสช. ต่างรู้ดี ว่าการกระจายอำนาจในรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น คือสิ่งที่ทำให้อำนาจในมือของชนชั้นนำสั่นคลอน ทำให้ประชาชนไม่ใช่ "ราษฎร" ที่เชื่อฟังพวกเขาโดยดีอีกต่อไป และเป็นเหตุให้ชนชั้นนำทั้งหลาย ต้องกำจัดรากฐานประชาธิปไตยเหล่านี้ทิ้งเสีย

ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตามองกันต่อไป ว่าประชาชนไทยที่มีความตื่นตัว ในการอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีการกระจายอำนาจอย่างในโลกที่เจริญแล้วของศตวรรษที่ 21 จะกลับไปยอมรับการปกครองโบราณที่ล้าหลังจากสมัยศตวรรษที่ 19 ได้หรือไม่?

Address


Website

Alerts

Be the first to know and let us send you an email when สื่อไร้เซนเซอร์ : Reporters Without Censors posts news and promotions. Your email address will not be used for any other purpose, and you can unsubscribe at any time.

Shortcuts

  • Address
  • Alerts
  • Claim ownership or report listing
  • Want your business to be the top-listed Media Company?

Share