05/03/2012
แจ้งข่าว...แจกฟรีนิยาย 9 เรื่อง ผลงานของนักเขียน 9 คน พิมพ์จำนวนจำกัด ไม่มีวางจำหน่าย ผู้ใดสนใจดูข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊คของสนพ.สามัญชน
นิยายจากชุมชน 9 เรื่อง
ไม่ใช่สาวกที่ต้องปรบมือให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไปเสียทุกเรื่อง
แต่การสนับสนุนเงินทุนให้นักเขียนเขียนนิยาย ถือเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ และได้ประโยชน์ยั่งยืนกว่า
ขอปรบมือชื่นชมดังๆ
ปี 2553 ผมได้รับทุนก้อนย่อม ๆ จากมูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) โดยการสนับสนุนของ สสส. อีกทอด ให้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลบุคคลมาเขียนนิยาย คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นหัวหน้าโครงการ คุณเวียง วชิระ บัวสนธิ์ เป็นบรรณาธิการ คุณอธิคม คุณาวุฒิ เป็นบรรณาธิการควบคุมการผลิต
ขณะนี้นิยายโครงการที่ 2 จัดพิมพ์เสร็จแล้ว ผมสอบถามข้อมูลจากคุณเวียง วชิระ บัวสนธิ์ ผู้เป็นบรรณาธิการ อย่างตื่นเต้นดีใจ
ตื่นเต้นกับโครงการที่สามารถดำเนินต่อไปได้ อยากอ่าน และส่งข่าวคราวถึงผู้สนใจทุกท่าน
คุณเวียง เล่าว่า โจทย์คราวนี้ต่างจากโครงการก่อน ที่มุ่งพัฒนาการเติบโตภายใน (Inner Growing)โครงการนี้ สสส. สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนผู้เป็นแม่งาน ต้องการให้นักเขียนลงไปคลุกคลีกับชุมชน แล้วสร้างสรรค์งานวรรณกรรมขึ้นมาเล่มหนึ่ง
นักเขียนเก่าใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ 9 คนประกอบด้วย ศักดิ์สิริ มีสมสืบ, จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์, พิเศษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์, นิธิ นิธิวีรกุล, จารี จันทราภา, อุเทน วงศ์จันดา, บัญชา อ่อนดี, ชนประเสริฐ คินทรักษ์ และ อัตถากร บำรุง
คุณเวียง เล่าวิธีทำงานว่า ภายหลังนักเขียนลงพื้นที่ (ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่) ได้ขอให้เสนอโครงเรื่องต่อบรรณาธิการ คือตัวเขา งานเขียนทั้ง 9 เรื่อง จึงหลากหลายกว่าโครงการแรก เนื้อหาครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ การพัฒนา การต่อสู้รวมกลุ่ม เงื่อนไขอันก่อให้เกิดการดิ้นรนเอาตัวรอด และอื่นๆ ซึ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ชุมชน ตลอดจนการเติบโตในแง่ปัจเจก และการรวมหมู่
คุณอธิคม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โครงการนี้มุ่งเน้นการผลิตเรื่องเล่าจากพื้นที่จากชุมชน บรรณาธิการเรียกร้องให้นักเขียนลงพื้นที่อย่างจริงจัง มีการประชุมเพื่อเลือกพื้นที่ และติดตามผลการลงพื้นที่ของแต่ละคน เพื่อดูความคืบหน้า ระบบคัดสรรเข้มงวดมากขึ้น บรรณาธิการต้นฉบับสามารถตัดเรื่องคุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ออกจากโครงการได้
ข้อดีของการสนับสนุนงบประมาณให้นักเขียนอาชีพได้สร้างสรรค์งาน ผ่านประสบการณ์ มุมมอง และฝีไม้ลายมือของแต่ละคน เราจะเห็นภาพต่อของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ทั้งภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นบ้านเกิดหรือท้องถิ่นที่นักเขียนเดินทางไปสัมผัส เป็นวรรณกรรมที่มีเรื่องราวและน้ำเสียงต่างออกไปจากวรรณกรรมกระแสนิยม หรือรางวัลนิยม
นักเขียนได้ชื่อว่าเป็นคนวินัยน้อย แต่ไม่ใช่ทุกคน ศักดิ์สิริ มีสมสืบ, บัญชา อ่อนดี, อัตถากร บำรุง สารภาพตรงกันว่า ถ้าไม่ถูกบังคับให้ทำงาน คงไม่สามารถหยุดความวุ่นวายของตัวเอง แล้วสงบจิตสงบใจสร้างสมาธิลงมือเขียนนิยายให้จบ
นิยายทั้ง 9 เรื่อง ออกแบบปกสวยงามเป็นเอกภาพ ต้องยกความดีให้แก่ คุณอธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการผู้ดูแลการผลิต ที่อ่านตีความเรื่องราวอย่างเข้าใจ แล้วทำให้ปรากฏเป็นรูปปกที่สวยงาม
คุณเวียง บอกว่า มีแนวโน้มว่าโครงการสนับสนุนนักเขียนให้สร้างงานจะดำเนินการต่อไป แต่การอ่านต้นฉบับขนาด A 4 ประมาณ 1,000 หน้า ก็หนักหนาสาหัสไม่ใช่น้อย อย่างไรก็ต้องขอพักสายตากันก่อน
ผมอยากอ่านนิยาย 9 เล่ม อยากทราบว่านักเขียนแต่ละคนถ่ายถอดภาพชุมชนที่ตัวเองสัมผัสออกมาอย่างไร มุมมองของพวกเขากับของผมแตกต่าง หรือใกล้เคียงกันอย่างไร
อ่านแล้วอาจวิพากษ์วิจารณ์แลกเปลี่ยนเท่าที่สามารถทำได้
(สามารถนำไปเผยแพร่ได้)
5 มีนาคม 2555