GreenXpress

GreenXpress สำนักข่าวออนไลน์ ที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

GreenUpdate : หลังจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้ “ระบบการเลี้ยงควายปลัก” หรือ “ควายน้ำทะเลน้อย” ...
12/06/2024

GreenUpdate : หลังจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้ “ระบบการเลี้ยงควายปลัก” หรือ “ควายน้ำทะเลน้อย” เป็นมรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย ล่าสุด ถึงคิว “เกลือทะเล”

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จ.ราชบุรี เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “จัดทำฐานข้อมูลมรดกทางการเกษตรโลก GIAHS” โดยมีเกษตร จ.สมุทรสงคราม จ.เพชรบุรี และสมุทรสาคร เข้าร่วม เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 67

ที่ประชุมได้วิเคราะห์แนวทางการจัดทำข้อมูลมรดกทางการเกษตรโลก คือ “เกลือทะเล” ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี จ.สมุทรสงคราม และ จ.สมุทรสาคร เพื่อผลักดันเข้าสู่ระดับชาติและระดับโลก หลังจากได้ลงพื้นที่สำรวจและจัดเก็บข้อมูลชุดดินในพื้นที่นาเกลือ 3 จังหวัดดังกล่าว

จากการจัดทำฐานข้อมูลทางการเกษตรโลก และการวิเคราะห์ความสอดคล้องของหลักเกณฑ์ GIAHS ได้แก่ 1.ความมั่นคงทางอาหาร ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี พบว่า เกลือทะเลเป็นวัตถุดิบในการถนอมอาหาร หมักดองของไทย ปรุงรสอาหาร เป็นส่วนผสมในยาและของใช้

2.ความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร พบว่า เกลือทะเลเป็นส่วนหนึ่งจากพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นระบบนิเวศที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเลหายาก

3.ระบบความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม พบว่า การทำนาเกลือโดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม

4.วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม พบว่า นาเกลือมีพร้อมทั้งโครงสร้างสังคม การผลิต และความเชื่อในพิธีกรรมแรกขวัญ

5.ลักษณะภูมิทัศน์และภูมิทัศน์ทางทะเล พบว่า นาเกลือมีความโดดเด่นทางภูมิทัศน์ ทังพื้นที่ราบ กองเกลือ ภาพมุมสูง และยุ้งฉางที่มีสถาปัตยกรรมเฉพาะตัว

การทำนาเกลือทะเล นอกจากพื้นที่ต้องติดทะเลแล้ว ยังต้องมีโครงสร้างเป็นดินโคลน/ดินเหนียว ที่มีธาตุไอโอดีนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ ในอดีต เกลือถือเป็นยุทธปัจจัยทางการทหาร (ใช้ในกางการแพทย์ในยามศึกสงคราม) และเป็นปัจจัยหลักในการถนอมอาหาร มีต้นทุนการผลิตต่ำ เพราะใช้ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา เช่น การใช้แรงลมในการสูบ้ำ(กังหัน) , ใช้แสงอาทิตย์เร่งปฏิกิริยาให้น้ำเกิดความเข้มข้นแล้วตกผลึกเป็นเม็ดเกลือ ขณะที่แปลงนาที่แบ่งเป็นสัดส่วน มีระดับความสูงต่ำของพื้นที่ไม่เท่ากัน ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำน้ำทะเลเข้าแปลงอีกด้วย

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ณ เดือนเมษายน 2567 ยังพบว่า ประเทศไทยมีการทำนาเกลือใน 7 จังหวัด คือ จ.เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และ จ.ปัตตานี โดยมีพื้นที่ขึ้นทะเบียนรวม 40,766 ไร่ มีครัวเรือนเกษตรกรนาเกลือ 637 ครัวเรือน มีปริมาณการผลิตเกลือทะเลในปี 2567 จำนวน 417,089 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้เกลือในอุตสาหกรรมต่างๆ พบว่า มีจำนวน 1,160,000 ตันต่อปี

ภาพจาก : ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร ธกส.

#นาเกลือ #เกลือทะเล #มรดกโลกทางการเกษตร

GreenUpdate : สำรวจชายหาดบ้านนาทับ จ.สงขลา หลังมีเขื่อนกันทราย พบตะกอนทรายถูกกีดขวางและถูกทับถมด้านทิศใต้ของเขื่อน ส่วนด...
12/06/2024

GreenUpdate : สำรวจชายหาดบ้านนาทับ จ.สงขลา หลังมีเขื่อนกันทราย พบตะกอนทรายถูกกีดขวางและถูกทับถมด้านทิศใต้ของเขื่อน ส่วนด้านทิศเหนือ ขาดสมดุลตะกอนทราย ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง

กองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่สำรวจชายหาดบ้านนาทับ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ระยะทาง 2,000 เมตร ซึ่งอยู่ในระบบหาดสะกอม (T6B153) เพื่อติดตามโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งบริเวณใกล้เคียงโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยใช้อุปกรณ์อากาศยานไร้คนขับ (Drone)

จากการสำรวจ พบโครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น (Jetty) 1 คู่ ตัวยาวสุดมีความยาวประมาณ 448 เมตร และเขื่อนป้องกันคลื่นนอกชายฝั่ง (Offshore breakwaters) ขนาดความยาว 60 เมตร จำนวน 4 ตัว กับขนาดความยาว 230 เมตร จำนวน 4 ตัว โดยด้านหลังมีเขื่อนหินเรียง (Revetment) ระยะทางประมาณ 1,377.58 เมตร และกำแพงกันคลื่นประเภทตั้งตรง (Seawall) ระยะทางประมาณ 163.90 เมตร

ปัจจุบัน พบการแตกร้าวของกำแพงกันคลื่นบางส่วน ชิ้นส่วนหลุดล่วงตามไหล่ทางถนน แต่สภาพโครงสร้างทั้งหมดยังใช้งานได้ ส่วนการเปลี่ยนแปลงตะกอนทรายในระบบ (Longshore current) พบว่าถูกกีดขวางและถูกทับถมอยู่ด้านทิศใต้ของเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) ส่วนด้านทิศเหนือที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสมดุลตะกอนทรายทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้มีโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณถนนที่มีเขื่อนหินเรียงกับกำแพงกันคลื่นติดแนวถนน ในช่วงปลอดฤดูมรสุมระดับน้ำขึ้นสูงสุดอยู่ในระดับเดียวกับฐานของแนวโครงสร้าง

#เขื่อนกันคลื่น #กำแพงกันคลื่น #ชายหาดนาทับ #หาดสะกอม

GreenUpdate : ครม. เห็นชอบให้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี จ.สมุทรปราการ ขึ้นทะเ...
12/06/2024

GreenUpdate : ครม. เห็นชอบให้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี จ.สมุทรปราการ ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี จ.สมุทรปราการ ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Park: AHP)

สืบเนื่องจาก ที่ประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 1/2567 มีมติเห็นชอบให้เสนอศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นำเสนอ (ร่าง) เอกสารการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน เสนอต่อศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity: ACB) เพื่อดำเนินการตามกระบวนการของอาเซียน

โดยขั้นตอนในการนำเสนอพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน สผ.จะจัดส่งเอกสารนำเสนอพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนให้ ACB (เลขานุการคณะกรรมการอุทยานมรดกแห่งอาเซียน) เพื่อส่งเอกสารนำเสนอให้แก่คณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและประเมินพื้นที่ และเสนอคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณาก่อนนำเข้าที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม และที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การรับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกแห่งอาเซียนต่อไป

สำหรับพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของกองอำนวยการสถานพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบก จ.สมุทรปราการ มีพื้นที่ประมาณ 411 ไร่ เป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพบก กับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบรอบ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์ป่าดั้งเดิมและเพิ่มพื้นที่ป่า (ชายเลน) พื้นที่อ่าวไทยตอนใน ตลอดจนใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน มีลักษณะโดดเด่นเป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนแล้ว 7 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ , อุทยานแห่งชาติตะรุเตา , กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และอ่าวพังงา , กลุ่มป่าแก่งกระจาน , อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง , อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และอุทยานแห่งชาติเขาสก

ขณะที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน

ภาพจาก : ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)

#ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก #อุทยานมรดกแห่งอาเซียน #บางปู

GreenUpdate : อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวบขบวนการทำไม้กฤษณาในพื้นที่อุทยานฯ หลังทำทีเป็นนักท่องเที่ยว ขนอุปกรณ์และเครื่องยั...
12/06/2024

GreenUpdate : อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวบขบวนการทำไม้กฤษณาในพื้นที่อุทยานฯ หลังทำทีเป็นนักท่องเที่ยว ขนอุปกรณ์และเครื่องยังชีพมาเพียบ โชคดี ไม่รอดสายตาเจ้าหน้าที่

นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวานนี้ (11 มิ.ย. 67) เจ้าหน้าที่เขตการจัดการฯ ที่ 1 พบรถต้องสงสัยจอดอยู่บริเวณด่านดงเสือผ่าน บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงเข้าตรวจสอบ พบรถยนต์กระบะจอดอยู่ ขณะที่ผู้ต้องสงสัยเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ ได้ขับรถเคลื่อนออกจากบริเวณดังกล่าว

เจ้าหน้าที่จึงขับรถติดตามพร้อมกับแจ้งให้ด่านตรวจศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ทำการสกัดกั้น กระทั่งเมื่อมาถึงด่านฯ จึงได้เรียกให้รถคันดังกล่าวจอดและตรวจค้น พบผู้ต้องหา 5 ราย เป็นชาวไทย 1 ราย (คนขับ) และชาวกัมพูชา 4 ราย (ชาย 3 หญิง 1) พร้อมของกลางในการกระทำผิด 19 รายการ เช่น สิ่ว เลื่อย มีด ไฟฉาย และอาหารสำเร็จรูปบรรจุอยู่ในกระสอบจำนวนมาก

หนึ่งในผู้ต้องหาให้การว่า เข้ามาทำการแทงไม้กฤษณา (ไม้หอม) เพื่อให้มีเยื่อมาหุ้มไม้ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้รับค่าจ้างจากนายหน้าคนละ 5,000 บาท โดยหนึ่งในผู้ต้องหา เคยถูกจับกุมดำเนินคดีมาแล้วเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 66 บริเวณป่าห้วยใสน้อย ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ข้อมูลจากคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ระบุว่า สารที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้กฤษณา เป็นน้ำมันหอมระเหยหรือยางชันที่มีราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ถูกนำไปใช้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งการแพทย์ อุตสาหกรรมกลั่นน้ำหอม แต่งกลิ่นยาสูบ และผลิตภัณฑ์ป้องกันแมลง

นอกจากจะเป็นไม้ทรงคุณค่ามาแต่โบราณ ปัจจุบันก็ยังมีความต้องการไม้กฤษณาคุณภาพสูง โดยเฉพาะตลาดในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อใหญ่สุด มีราคาตั้งแต่หลักพันถึงหลักแสนบาทต่อกิโลกรัม ตามคุณภาพ

ราคาของไม้กฤษณาอยู่ที่ตัวน้ำมัน ขณะที่การจะปลูกให้ได้ไม้กฤษณาผลิตน้ำมันไม่ใช่เรื่องง่าย ไม้กฤษณาที่ผลิตน้ำมันส่วนใหญ่ต้องมีอายุมากกว่า 10 ปี ไม้กฤษณาในป่าธรรมชาติโดยเฉพาะในป่าอนุรักษ์จึงเป็นที่หมายตาของขบวนนี้

แม้ว่าไม้กฤษณาจะไม่ใช่ไม้หวงห้าม ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 แต่ชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณา ถูกกำหนดให้เป็นของป่าหวงห้าม ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ต้องขออนุญาต “เก็บหาของป่าหวงห้าม” ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 29 และนำเคลื่อนที่ตามมาตรา 39 โดยมีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับเท่านั้น

ปี 2550 กลุ่มงานสำรวจทรัพยากรป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำการสำรวจพื้นที่ป่าประเทศไทย พบว่า มีต้นกฤษณา 397,411 ต้น กระจายอยู่ในป่าอนุรักษ์ ทั้งเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวม 24 แห่ง โดยพบมากที่สุดในแถบภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เนื้อที่กว่า 1.3 ล้านไร่ พบไม้กฤษณา 68,655 ต้น

#ไม้กฤษณา #เขาใหญ่ #ขบวนการทำไม้กฤษณา

GreenUpdate : ทีมสัตวแพทย์ เร่งรักษา-ฟื้นฟูสุขภาพโลมาลายแถบ หลังพบเกยตื้นมีชีวิต บริเวณเกาะพีพี จ.กระบี่ กรณีเจ้าหน้าที่...
11/06/2024

GreenUpdate : ทีมสัตวแพทย์ เร่งรักษา-ฟื้นฟูสุขภาพโลมาลายแถบ หลังพบเกยตื้นมีชีวิต บริเวณเกาะพีพี จ.กระบี่

กรณีเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ได้รับแจ้งจาก นายพิชิต ชูโฉม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี พบโลมาเกยตื้นมีชีวิตบริเวณเกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567

หลังจากขนย้ายมายังศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า เป็นโลมาลายแถบ ( _Stenella coeruleoalba_ ) ความยาว 184 ซม. น้ำหนักประมาณ 60 กก. เพศผู้ อยู่ในช่วงวัยรุ่น สภาพอ่อนแรง ไม่สามารถประคองตัวว่ายน้ำได้ ความสมบูรณ์ของร่างกายค่อนข้างผอม (BCS=2.5/5)

ภายนอกข้างลำตัวพบบาดแผล เป็นลักษณะรอยกัดจากกลุ่ม cookie cutter shark พบรอยถลอกจากการเกยตื้น และพบลักษณะรอยแผลข้างปากทั้งสองข้าง ทีมสัตวแพทย์จึงดำเนินการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพโลมาตัวดังกล่าว

โลมาลายแถบ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ่มครองสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2535

ภาพจาก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

#โลมาลายแถบ #โลมาเกยตื้น #ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร

GreenUpdate : อุทยานแห่งชาติออบหลวง จ.เชียงใหม่ เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข...
11/06/2024

GreenUpdate : อุทยานแห่งชาติออบหลวง จ.เชียงใหม่ เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน กรณีเพิกถอนอุทยานแห่งชาติออบหลวง 253 ไร่ เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอดฯ

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ พื้นที่รวม 253 ไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่หัวงานและอาคารประกอบ 43 ไร่ , พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 207 ไร่ และพื้นที่ถนนเข้าพื้นที่หัวงาน 3 ไร่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพนิเวศป่าไม้เป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ

จากการสำรวจสัตว์ป่าในพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ หัวงานและอาคารประกอบ แนวท่อส่งน้ำและบ่อน้ำเดิม และถนนเข้าสู่พื้นที่หัวงาน พบสัตว์ป่า 106 ชนิด สัตว์ป่าที่พบส่วนใหญ่ มีขนาดตัวเล็ก เนื่องจากพื้นที่สองฝั่งลำน้ำที่เป็นภูเขามีความลาดชันค่อนข้างมาก ไม่เหมาะสมในการอาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ส่วนสัตว์ป่าบริเวณพื้นที่รับประโยชน์ พบสัตว์ป่าประเภทค่อนข้างคุ้นเคยหรือทนทานต่อการถูกรบกวนจากกิจกรรมมนุษย์

ส่วนสถานภาพสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย ในบริเวณพื้นที่โครงการ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นนก จำนวน 46 ชนิด , สัตว์ป่าคุ้มครอง อีก 6 ชนิด ส่วนสถานภาพเพื่อการอนุรักษ์บริเวณพื้นที่โครงการ พบเหยี่ยวปีกแดง นกปรอดหัวโขน เม่นใหญ่ สุนัขจิ้งจอก นอกจากนี้ ยังพบสัตว์ป่าชนิดที่ IUCN (๒๐๑๘-๒) กำหนดให้มีสถานภาพเพื่อการอนุรักษ์เป็นสัตว์ป่าถูกคุกคามในระดับใกล้สูญพันธุ์ คือ นกยูง

ทั้งนี้ การกำหนดพื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ กรมอุทยานฯ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน ในการขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง (บางส่วน) จ.เชียงใหม่ ผ่านเว็บไซต์ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=37239 ระหว่างวันที่ 10 – 24 มิ.ย. 67

#อุทยานแห่งชาติออบหลวง #เพิกถอนพื้นที่อุทยาน #อ่างเก็บน้ำ

GreenXclusive : รถดับเพลิงกว่า 10 คัน พร้อมอาสากู้ภัย เข้าควบคุมเพลิงในเหตุเพลิงไหม้โซนสัตว์เลี้ยง ตลาดจตุจักร กรุงเทพมห...
11/06/2024

GreenXclusive : รถดับเพลิงกว่า 10 คัน พร้อมอาสากู้ภัย เข้าควบคุมเพลิงในเหตุเพลิงไหม้โซนสัตว์เลี้ยง ตลาดจตุจักร กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 04.30 น. วันนี้ (11 มิ.ย. 67) หลังเพลิงสงบ พบร้านค้าเสียหาย 118 ร้าน พร้อมซากสัตว์อีกนับ 1,000 ตัว ทั้งปลาสวยงาม แมว สุนัข สัตว์นำเข้าจากต่างประเทศ

มีรายงานว่า ต้นเพลิงเกิดจากร้านมุมถนน เป็นร้านขายสุนัขพันธุ์เล็ก เจ้าของร้านเลี้ยงและขายเอง ไม่มีลูกจ้าง กลางคืนจะเปิดพัดลมไว้ให้สุนัข จึงคาดว่า สาเหตุอาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร แต่ยังต้องรอเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ตรวจสอบหาสาเหตุที่ชัดเจนอีกครั้ง

ตลาดจตุจักร เป็นหนึ่งในตลาดซื้อขายสัตว์เลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีการแบ่งโซนสำหรับสัตว์เลี้ยงเอาไว้โดยเฉพาะ มีทั้งสัตว์เลี้ยงทั่วไปและสัตว์เลี้ยงที่หายาก หลากหลายสายพันธุ์ รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง ที่มีพร้อมแบบครบถ้วน

ต้นปี 2567 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดให้ธุรกิจสัตว์เลี้ยงอยู่ในอันดับ 8 จาก 10 ธุรกิจดาวรุ่งประจำปี 2567 โดยมีปัจจัยหนุนมาจากพฤติกรรมของผู้คน ที่หันมาให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ที่คาดว่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 2567 จะมีมูลค่าราว 7.5 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 12.4% จากปี 2566)

ส่วนผลสำรวจโดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เมื่อปี 2566 พบว่า สุนัขและแมวยังคงเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของคนไทย ขณะที่สัตว์ Exotic ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ ปลาสวยงาม รองลงมาคือนก กระต่าย เต่า และหนู ด้านสัตว์แปลกที่คนนิยมเลี้ยง อันดับ 1 คือกิ้งก่า ตามมาด้วยชูก้าไกลเดอร์ แมงมุม งู และไก่สวยงาม

ภาพจาก : Fire & Rescue Thailand

#ตลาดจตุจักร #ตลาดสัตว์เลี้ยง

GreenUpdate : ศูนย์ปฎิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยผลการติดตามสถานการณ์และการเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติ...
11/06/2024

GreenUpdate : ศูนย์ปฎิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยผลการติดตามสถานการณ์และการเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย โดยการวัดปริมาณน้ำฝนของอาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัย พบหลายพื้นที่มีฝนตกหนัก วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มม. จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก อาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและแผ่นดินถล่มได้

สำหรับข้อสังเกตสิ่งบอกเหตุดินถล่ม คือ 1. ฝนตกหนักถึงหนักมากตลอดทั้งวัน 2. ระดับน้ำในลำห้วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 3. สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีของดินบนภูเขาและมีเศษซากไม้ลอยมาตามน้ำ และ 4. เสียงดังมากผิดปกติบนภูเขาและในลำห้วย เนื่องจากการแตกและเคลื่อนตัวชนกันของหิน

ส่วนข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย ให้ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักมากกว่า 100 มิลลิเมตร/24 ชั่วโมง , พื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมถึง ควรเก็บข้าวของ/สัตว์/สิ่งของต่างๆ ขนย้ายขึ้นที่สูง หรือที่ปลอดภัย , สังเกตสิ่งบอกเหตุต่างๆ เช่น สีของน้ำขุ่นข้น มีเศษซากไม้ลอยตามน้ำมา , หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามทางน้ำ/เดินลัดลำน้ำ หรือลงน้ำหาปลา/สัตว์น้ำอื่นๆ , จัดเวรยามเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง , มีการแจ้งเตือนภัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และท้ายน้ำ , เตรียมไฟฉายหรืออุปกรณ์ส่องสว่างไว้ให้พร้อม , ตื่นตัวและเตรียมพร้อมไปยังจุดปลอดภัยอยู่เสมอ

#ดินถล่ม

GreenUpdate : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบถ้ำทะเลแห่งใหม่ จำนวน 2 ถ้ำ บนเกาะหนู จ.สงขลา คณะทำงานสำรวจและประเมินคุณค่า...
10/06/2024

GreenUpdate : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบถ้ำทะเลแห่งใหม่ จำนวน 2 ถ้ำ บนเกาะหนู จ.สงขลา คณะทำงานสำรวจและประเมินคุณค่าถ้ำทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่สำรวจแล้ว ตั้งชื่อว่า ถ้ำเลหินงามและถ้ำเลหัวหนู

(10 มิ.ย. 67) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ คณะทำงานสำรวจและประเมินคุณค่าถ้ำทางทะเลและชายฝั่ง ได้ลงพื้นที่สำรวจถ้ำมรกต ถ้ำค้างคาว และถ้ำญี่ปุ่น บนเกาะหนู จ.สงขลา ร่วมกับ ดร.สายัญ ทองศรี ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.สงขลา พบถ้ำใหม่ไม่มีชื่อที่ชายฝั่งเกาะหนูเพิ่มอีก 2 ถ้ำ จึงตั้งชื่อว่า ถ้ำเลหินงาม และถ้ำเลหัวหนู

ปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอยู่ระหว่างการสำรวจถ้ำทางทะเลและชายฝั่งทั่วประเทศ โดยมีคณะทำงานสำรวจและประเมินคุณค่าถ้ำทางทะเลและชายฝั่ง ทำหน้าที่ในการวางแผนการสำรวจถ้ำในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และประเมินคุณค่าถ้ำทางทะเลและชายฝั่ง

สำหรับ “ถ้ำทางทะเล” (Sea cave) จัดเป็นประเภทถ้ำที่แบ่งตามลักษณะการเกิด โดยคลื่นที่กระแทกเข้ากับชายฝั่งทะเล (หรือริมทะเลสาบขนาดใหญ่) ที่เป็นหน้าผาหินเป็นเวลานาน จนทำให้ส่วนที่อ่อนหรือแตกหักง่ายของหินนั้นพังทลายลงมาจนเกิดเป็นโพรง

ด้านระบบนิเวศทางทะเลของเกาะหนู ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (ศวทล.) ได้สำรวจเกาะหนู พบว่ามีเนื้อที่ประมาณ 75 ไร่ พื้นชายฝั่งบริเวณรอบเกาะโดยส่วนใหญ่เป็นหน้าผาหินชัน ชายฝั่งทางด้านทิศตะวันออกของเกาะมีลักษณะเป็นโขดหิน มีถ้ำที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเล คือ ถ้ำญี่ปุ่นทางด้านหัวเกาะทิศเหนือเป็นที่ตั้งของถ้ำมรกต ถ้ำค้างคาว และ ผาหินชมพู

ขณะที่ทิศใต้ชายฝั่งมีลักษณะเป็นโขดหิน ทางด้าน ทิศตะวันตกของเกาะเป็นบริเวณที่มีพื้นที่เป็นชายหาดทรายความยาวประมาณ 100 เมตร ล่าสุดที่มีการสำรวจพบถ้ำทะเลใหม่อีก 2 ถ้ำ แต่ละถ้ำมีลักษณะที่แตกต่างกันไป จึงมีการเรียกชื่อตามลักษณะเฉพาะที่พบ

“ถ้ำเลหินงาม” เป็นถ้ำที่หินมีสีสันสวยงามจากการขัดสีของคลื่นทะเล ส่วน “ถ้ำเลหัวหนู” เป็นถ้ำที่หินมีสีเทาดำ มีลักษณะเป็นก้อนกรวดอยู่รวมตัวกันคล้ายชายหาดหิน และอยู่ตรงส่วนที่เป็นหัวหนูของเกาะหนูนั่นเอง

"จากนี้ จะประสานการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานกระทรวง จังหวัด ท้องถิ่น เพื่อร่วมกันดูแลอนุรักษ์เกาะ และพื้นที่ธรรมชาติทางทะเล และเน้นย้ำเรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลพื้นที่หน้าบ้านของตนเอง สนับสนุนส่งเสริม และประชาสัมพันธ์แนวทางการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างรับผิดชอบ ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่อย่างยั่งยืน" อธิบดี ทช. กล่าว

ภาพจาก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

#ถ้ำทะเล #เกาะหนู #สงขลา #ถ้ำเลหินงาม #ถ้ำเลหัวหนู

GreenXclusive : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดเผยว่า วิกฤตโลกร้อน กำลังส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลก หนึ่งในปรา...
10/06/2024

GreenXclusive : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดเผยว่า วิกฤตโลกร้อน กำลังส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลก หนึ่งในปรากฏการณ์ที่น่าจับตา คือ การแผ่ขยายของสภาพอากาศแบบขั้วโลกลงมายังพื้นที่ละติจูดต่ำสร้างความหนาวเย็นรุนแรงให้กับหลายพื้นที่ เรียกว่า Polar Vortex หรือ ลมวนขั้วโลก

ลักษณะคือ เป็นกระแสลมที่พัดหมุนวนในเขตขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ มีการเคลื่อนที่ในลักษณะทวนเข็มนาฬิกาตลอดทั้งปี ทำหน้าที่คอยกักเก็บลมเย็นให้อยู่ที่ขั้วโลก ป้องกันไม่ให้ขยายออกไป และไม่ให้ความร้อนจากละติจูดกลางเข้ามาได้ โดยมี Polar jet stream หรือ กระแสลมกรด ล้อมรอบไว้ เปรียบเสมือนกำแพงกั้นระหว่างอากาศเย็นและอากาศอุ่น

ภาวะโลกร้อนส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน กระทบต่อสมดุลของระบบสภาพอากาศบนโลก เมื่อไหร่ก็ตามที่สภาพอากาศไม่สมดุล กำแพง Polar jet stream จะอ่อนกำลังลง ทำให้ Polar vortex เข้าสู่สภาวะแปรปรวน ไม่สามารถคงตัว ส่งผลให้อากาศอุ่นจากละติจูดต่ำไหลบ่าขึ้นสู่ละติจูดสูง ในขณะเดียวกัน อากาศเย็นจากขั้วโลกก็เคลื่อนที่ลงมายังละติจูดต่ำ มีผลให้สภาพอากาศในบริเวณนั้นหนาวเย็นมากกว่าปกติ

เมื่อกระแสลม Polar Vortex แปรปรวน จะเกิดสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความหนาวเย็นจัด (อากาศหนาวเย็นจากขั้วโลกไหลกลับลงสู่บริเวณละติจูดต่ำ ก่อให้เกิดสภาวะหนาวสุดขั้ว อุณหภูมิต่ำผิดปกติ ส่งผลต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และระบบนิเวศ) , พายุ (การแปรปรวนของ Polar Vortex ส่งผลต่อกระแสลมในชั้นบรรยากาศ นำไปสู่พายุรุนแรง เช่น พายุหิมะ พายุฝนฟ้าคะนอง พายุทอร์นาโด ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ประเทศไทย มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจาก Polar Vortex มากแค่ไหน ?

กรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้มักจะไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทย เพราะกระแสลมวนที่ไหลเวียนจากทางด้านตะวันตกไปตะวันออก จะมีเทือกเขาสูงกีดขวางเป็นอุปสรรค คือ เทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูง ทำให้ทิศทางลมของกระแสลมวนที่ไหลเวียนลงมาเปลี่ยนทิศทางไป โอกาสที่นำความหนาวเย็นจากขั้วโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก

ปรากฏการณ์ Polar Vortex ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2562 ทำให้ประเทศตะวันตก ในทวีปอเมริกาและยุโรป เผชิญสภาพอากาศหนาวเย็นจัด มีรายงานว่าในสหรัฐฯ ประชาชนกว่า 55 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากกระแสลมวนในเขตขั้วโลก หลายพื้นที่มีอุณหภูมิติดลบกว่า 20 องศาเซลเซียส มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน จนทางการต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ส่วนหลายประเทศในยุโรป แม้จะไม่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศหนาวเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเช่นเดียวกับสหรัฐฯ แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับพายุหิมะ อย่างในกฤษ หลายเที่ยวบินถูกยกเลิก เนื่องจากนักบินไม่สามารถนำเครื่องขึ้นได้ ส่วนในเบลเยียม เยอรมนี และรัสเซีย หลายพื้นที่ของประเทศก็ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ

ที่มา : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ , กรมอุตุนิยมวิทยา

#สภาพอากาศสุดขั้ว

GreenUpdate : กรมประมงไต้หวัน ประกาศงดจับปลาทูน่าครีบน้ำเงิน ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. นี้ หลังมีการจับแล้ว 90% ของเพดานที่...
10/06/2024

GreenUpdate : กรมประมงไต้หวัน ประกาศงดจับปลาทูน่าครีบน้ำเงิน ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. นี้ หลังมีการจับแล้ว 90% ของเพดานที่ตั้งไว้ หากบังเอิญจับปลาทูน่าครีบน้ำเงินได้ ต้องปล่อยกลับคืนสู่ทะเลทันที

Radio Taiwan International รายงานว่า กรมประมงไต้หวันออกแถลงการณ์วานนี้ (9 มิ.ย. 67) โดยระบุว่า กรณีไต้หวันตั้งเพดานการจับปลาทูน่าครีบน้ำเงินแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2567 ไว้ที่ 1,965 ตัน ล่าสุด มีการจับไปแล้วกว่า 90% ของเพดานที่ตั้งไว้ จึงออกประกาศงดการจับ ตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันที่ 12 มิ.ย. 67 เป็นต้นไป ขอให้ชาวประมงปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด หากพบเรือประมงฝ่าฝืนคำสั่ง ต้องระวางโทษตามกฎหมาย รวมถึงอาจไม่ได้รับใบอนุญาตจับปลาทูน่าครีบน้ำเงินในปีต่อไปอีก

ปลาทูน่าครีบน้ำเงินแปซิฟิก เป็นปลาที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมาธิการการประมงแปซิ ฟิกตะวันตกและแปซิฟิกกลาง (Western and Central Pacific Fisheries Commission, WCPFC) ซึ่งเป็นองค์การกำกับดูแลการประมงระหว่างประเทศ เรือประมงที่จับปลาทูน่าครีบน้ำเงินได้ในวันที่ 10 - 11 มิ.ย. 67 จะต้องรายงานต่อกรมประมงภายใน 24 ชั่วโมง

และตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. 67 เป็นต้นไป กรมประมงมีคำสั่งห้ามเรือประมงทุกลำเข้าไปยังพื้นที่จับปลา หากบังเอิญจับปลาทูน่าครีบน้ำเงินได้ ต้องปล่อยกลับคืนสู่ทะเลทันที รวมถึงต้องรายงานจำนวนปลาที่ปล่อยคืน พิกัดที่จับ ตลอดจนน้ำหนักและความยาวของปลาต่อกรมประมงด้วย

กรมประมงไต้หวันยังระบุว่า หลังจากประกาศงดการจับ หากพบว่าจำนวนปลาทูน่าที่จับได้ ยังไม่ถึงเพดานที่กำหนดไว้ โควต้าที่เหลือปีนี้ จะนำไปทบกับโควต้าของปีหน้า แต่หากปีนี้จับได้เกินกว่าเพดานที่กำหนด ก็จะถูกนำไปหักลบกับโควต้าในปีหน้า

ภาพและข้อมูลจาก : Radio Taiwan International

#ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน #ประมงไต้หวัน

GreenUpdate : ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อนุมัติ (ร่าง) แผนสิ่งแวดล้อมอีอีซี บนพื้นฐานสร้างสมดุลโ...
10/06/2024

GreenUpdate : ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อนุมัติ (ร่าง) แผนสิ่งแวดล้อมอีอีซี บนพื้นฐานสร้างสมดุลโครงการพัฒนาที่สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(10 มิ.ย. 67) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการ พิจารณาเห็นชอบและรับทราบการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในเรื่องสำคัญ ๆ ดังนี้

1. อนุมัติ (ร่าง) แผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566 – 2570 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมอบหมายให้ สกพอ. นำเสนอ ครม. เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองและชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง สร้างสมดุลโครงการพัฒนาต่างๆ สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนธุรกิจที่ยั่งยืนในพื้นที่อีอีซี

โดย (ร่าง) แผนสิ่งแวดล้อมฯ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม มีกลยุทธ์สำคัญในเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการน้ำเสีย ของเสีย เฝ้าระวังการจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิดและในสิ่งแวดล้อม จำนวน 31 โครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างระบบรวมรวมและบำบัดน้ำเสียในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ จ.ระยอง , โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอย อ.แกลง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน มีกลยุทธ์สำคัญ เช่น การจัดการทรัพยากรและการใช้ประโยชน์ที่ดิน , การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน จำนวน 65 โครงการ อาทิ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแก้มลิงคลองบางไผ่ , โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำเกาะแสมสาร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการดำรงชีวิตและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ จำนวน 40 โครงการ อาทิ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบชายหาดบ้านอำเภอ จ.ชลบุรี , โครงการขับเคลื่อนสู่ Net Zero EEC สนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมความเข้มแข็งแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการบริการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 54 โครงการ อาทิ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น

#แผนสิ่งแวดล้อมอีอีซี

GreenXclusive : กรมสรรพสามิต เตรียมเก็บภาษีคาร์บอน เบื้องต้น 200 บาทต่อตัน คาด คาดเร็วสุดเริ่มปลายปีนี้ หรือภายในปีงบประ...
10/06/2024

GreenXclusive : กรมสรรพสามิต เตรียมเก็บภาษีคาร์บอน เบื้องต้น 200 บาทต่อตัน คาด คาดเร็วสุดเริ่มปลายปีนี้ หรือภายในปีงบประมาณ 2568 ด้านสิงคโปร์ เตรียมปรับเพิ่มเป็น 601 บาท/ตัน ภายในปีนี้ ตามเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตรอยู่ระหว่างเสนอกระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งจะเป็นกลไกภาคบังคับให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คาดว่าเร็วสุด จะเริ่มเก็บได้ในช่วงปลายปีนี้ หรือภายในปีงบประมาณ 2568

อธิบดีกรมสรรพสามิตยืนยันว่า ในระยะแรกของการเก็บภาษีคาร์บอน จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากเป็นการแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่เก็บอยู่แล้วปัจจุบันให้ผูกติดกับภาษีคาร์บอน โดยปัจจุบัน กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีจากน้ำมันดีเซลที่ 6.44 บาทต่อลิตร และจากน้ำมันเบนซินที่ 6.50 บาทต่อลิตร

สำหรับอัตราเบื้องต้นที่กรมฯ เสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ คือ 200 บาทต่อตันคาร์บอน ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับสิงคโปร์ ที่มีการเก็บภาษีคาร์บอนไปก่อนหน้านี้แล้ว จากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งเชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“พิกัดภาษีคาร์บอน จะแทรกอยู่ในภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เช่น ปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ 6.44 บาทต่อลิตร ซึ่งน้ำมันดีเซล 1 ลิตร ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.0026 ตันคาร์บอน ดังนั้นเมื่อคำนวณแล้ว น้ำมันดีเซลประมาณ 1 ลิตร จะเสียภาษีคาร์บอนราว 0.46 บาทต่อลิตร” อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ระบุว่า ภาษีคาร์บอนควรอยู่ที่ประมาณ 75 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน หรือราว 2,745 บาท ภายในปี 2030 เพื่อการรับมือภาวะโลกร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ จากราคาเฉลี่ยปัจจุบันที่ 6 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน หรือราว 220 บาท

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น ข้อตกลงราคาคาร์บอนระหว่างประเทศ (International Carbon Price Floor Agreement: ICPF) เสนอให้กำหนดภาษีคาร์บอนขั้นต่ำที่ 25 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน สำหรับประเทศรายได้ต่ำ ส่วนประเทศรายได้ปานกลาง เก็บที่ 50 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน และ 75 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนสำหรับประเทศรายได้สูง

สิงคโปร์ เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำหนดราคาซื้อขายคาร์บอนและเก็บภาษีคาร์บอน เพื่อกระตุ้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มในปี ค.ศ. 2019 และประกาศจะปรับเป็น 45 ดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2026 และ 2027 ก่อนจะขึ้นเป็น 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ถึง 80 ดอลลาร์สิงคโปร์ ภายในปี 2030 เพื่อจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050

ปัจจุบัน การเก็บภาษีคาร์บอนของสิงคโปร์ บังคับใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจทุกประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปริมาณ 25,000 ตันต่อปีขึ้นไป ครอบคลุมผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของประเทศ ทั้งโรงกลั่นน้ำมันและโรงไฟฟ้า ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 80% ของปริมาณการปล่อยก๊าซทั้งประเทศ

อ้างอิง : https://www.sdgmove.com/2022/03/01/singapore-raise-carbon-tax-by-five-fold/

#ภาษีคาร์บอน

GreenUpdate : กรมโรงงานฯ ตรวจค้นพื้นที่ต้องสงสัย ลักลอบประกอบกิจการโรงงาน และลอบฝังกลบกากอุตสาหกรรม ในพื้นที่พระนครศรีอย...
09/06/2024

GreenUpdate : กรมโรงงานฯ ตรวจค้นพื้นที่ต้องสงสัย ลักลอบประกอบกิจการโรงงาน และลอบฝังกลบกากอุตสาหกรรม ในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา พบทั้งวัตถุอันตรายและกากอุตสาหกรรมถูกฝังกลบ

วานนี้ (8 มิ.ย. 67) เจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับตำรวจ สภ.อุทัย และอำเภออุทัย นำหมายค้นศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าตรวจค้นที่ดินและบ้านเลขที่ 75/3 หมู่ที่ 3 ต.เสนา อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

จากการลงพื้นที่ตรวจค้น พบว่าสถานที่ดังกล่าว บริษัท เอกอุทัย จำกัด ได้ทำสัญญาเช่ากับเจ้าของที่ดินไว้ตั้งแต่ปลายปี 2564 โดยระบุว่า จะเช่าเพื่อเป็นที่พักรถบรรทุกขนส่ง สำนักงานชั่วคราวและเก็บสินค้าของบริษัทฯ แต่ปัจจุบัน เจ้าของที่ดินได้บอกเลิกสัญญาเช่าไปแล้ว เนื่องจากบริษัทฯ กระทำผิดเงื่อนไขในสัญญาหลายข้อ โดยเจ้าของที่ได้มีการฟ้องเป็นคดีเเพ่งต่อบริษัทฯ ให้ชดใช้ค่าเช่าและค่าเสียหาย รวมทั้งฟ้องขับไล่ให้ออกจากพื้นที่

ปัจจุบัน ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดี ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษา ได้มีการกล่าวไว้ด้วยว่า บริษัท เอกอุทัย จำกัด ในฐานะจำเลย ได้มีการนำวัตถุและสารเคมีอันตรายมาฝังกลบในที่ดินที่เช่า

จากการเข้าตรวจสอบพื้นที่ เจ้าหน้าที่พบว่า ในพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีการนำรถบรรทุก ส่วนพ่วงรถบรรทุก รถยนต์และอุปกรณ์เครื่องจักร เข้ามาจอดไว้จำนวนหลายคัน และมีร่องรอยลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโรงงานซ่อมแชมรถยนต์

จากการนำรถเเบคโฮขุดในบริเวณด้านหลังที่ดิน พบว่ามีการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมหรือสารเคมีอันตรายมาฝังกลบในพื้นที่จริง เข้าข่ายอาจเป็นการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ลำดับที่ 95(1) และลำดับที่ 105 ตามลำดับ และยังพบว่า มีการลักลอบนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเข้ามากองเก็บ เททิ้ง และรั่วไหล ภายในพื้นที่ เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถังขนาด 200 ลิตรที่บรรจุกากสี กากน้ำมันภาชนะบรรจุเหล็ก (Lugger Box) ซึ่งมีตัวอักษรว่า AEK และถัง IBC ที่บรรจุของเหลวจำพวกกรด

เมื่อนำของเหลวดังกล่าวมาตรวจวัดค่าความเป็นกรดด่าง พบว่า มีค่า pH ประมาณ 0-1 เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิตที่ 3 ตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 ลำดับที่ 5.2 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงออกประกาศพนักงานเจ้าหน้าที่ เรื่อง ยึดอายัดรถบรรทุก ส่วนพ่วงรถบรรทุก รถยนต์ และอุปกรณ์เครื่องจักรรวมทั้งวัตถุอันตราย ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ประกาศ 8 มิถุนายน 2567 โดยอายัดรถบรรทุก 10 ล้อ 7 คัน , ส่วนพ่วงรถบรรทุก 8 คัน , รถยนต์ 10 คัน และอุปกรณ์เครื่องจักร รวมทั้งวัตถุอันตราย ที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ไว้ทั้งหมด รวมทุกรายการจำนวน 36 รายการ

ด้านอำเภออุทัย ประสานรถแบคโฮมาขุดดิน เพื่อตรวจค้นในบริเวณที่ซึ่งคาดว่ามีการลักลอบฝังกลบสารเคมีอันตราย จำนวน 3 จุด พบกากตะกอนสีดำ สีส้ม มีกลิ่นเหม็นฉุน กรมโรงงานฯ จึงเก็บตัวอย่างกากตะกอนดังกล่าวไปตรวจวัดวิเคราะห์ รวมถึงเก็บตัวอย่างกรดเสื่อมสภาพในถัง IBC และกากสีในถังเหล็กขนาด 200 ลิตร ไปตรวจสอบ และเพื่อไว้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจนถึงที่สุด

ภาพจาก : กรมโรงงานอุตสาหกรรม

#เอกอุทัย #กากอุตสาหกรรม

GreenUpdate : วนอุทยานน้ำตกผาหลวง อวดภาพสายน้ำช่วงหน้าฝน ทอดตัวผ่านหมวดหินภูพาน อายุกว่า 100 ล้านปี ที่น้ำตกผาหลวง จ.อุบ...
09/06/2024

GreenUpdate : วนอุทยานน้ำตกผาหลวง อวดภาพสายน้ำช่วงหน้าฝน ทอดตัวผ่านหมวดหินภูพาน อายุกว่า 100 ล้านปี ที่น้ำตกผาหลวง จ.อุบลราชธานี

วนอุทยานน้ำตกผาหลวง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น จ.อุบลราชธานี มีเนื้อที่ประมาณ 11,375 ไร่ เป็นพื้นที่แนวเทือกเขาหินทรายหลายภูทอดตามเชื่อมต่อกัน มี น้ำตกผาหลวง เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในช่วงหน้าฝน สายน้ำสีขาว ตัดความสีโขดหินและความเขียวขจีของผืนป่า

นํ้าตกผาหลวง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก (ชั้นบน) เป็นหน้าผาสูงประมาณ 20 เมตร ยาว 30 เมตร ประกอบด้วยหินทรายปนกรวด อยู่ในหมวดหินภูพานอายุประมาณ 110 ล้านปี อีกส่วนที่เป็นถํ้า ซึ่งอยู่ชั้นล่างหน้าผาน้ำตก ประกอบด้วยหินทรายแป้ง อยู่ในหมวดหินเสาขัว อายุประมาณ 120 ล้านปี

นอกจากน้ำตก ที่นี่ยังมีจุดชมความงามของดอกไม้ป่าและกล้วยไม้ป่านานาชนิด หรือจะเลือกเก็บภาพประทับใจ “ผาหม้อ” ที่ตั้งของเสาเฉลียงรูปร่างคล้ายหม้อดินโบราณ โดยบริเวณนี้มีจุดให้นักท่องเที่ยวได้ชมทิวทัศน์ที่สวยงาม สามารถมองเห็นพื้นที่ ต.นาเลิน ได้แบบ 360 องศา

ส่วนช่วงฤดูหนาว เมื่อสายน้ำเหือดแห้ง ดอกไม้ป่านานาชนิดบนลานหินและยอดภูหลวงจะค่อยๆ เติบโต เบ่งบานเป็นทุ่งดอกไม้ป่าน้ำตกผาหลวง หรือใครที่ชื่นชมความโรแมนติก ยังสามารถร่วมกิจกรรมดูดาวและถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายน บริเวณลานหินกางเต็นท์ ที่โล่งกว้าง ไม่มีต้นไม้ใหญ่บดบังทัศนียภาพ ห่างไกลจากแหล่งชุมชน มีแสงสว่างรบกวนน้อย ถ้าโชคดี ก็อาจเห็นทางช้างเผือกเหนือท้องฟ้าที่นี่ด้วย

การเดินทางไปวนอุทยานน้ำตกผาหลวง จากจังหวัดอุบลราชธานี - อำเภอศรีเมืองใหม่ ระยะทางประมาณ 90 กม. เป็นทางลาดยาง และจากอำเภอศรีเมืองใหม่ถึงบ้านนาเลินประมาณ 19 กม. เป็นทางลูกรังอัดแน่น สามารถใช้เดินทางได้ทุกฤดูกาล ส่วนบริเวณน้ำตก อยู่ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร

ภาพจาก : วนอุทยานน้ำตกผาหลวง

#วนอุทยานน้ำตกผาหลวง

Address


Website

Alerts

Be the first to know and let us send you an email when GreenXpress posts news and promotions. Your email address will not be used for any other purpose, and you can unsubscribe at any time.

Contact The Business

Send a message to GreenXpress:

Videos

Shortcuts

  • Address
  • Alerts
  • Contact The Business
  • Videos
  • Claim ownership or report listing
  • Want your business to be the top-listed Media Company?

Share