![หอสมุดแห่งชาติ เล่าถึงนิตยสารต่วย‘ตูนครับ](https://img5.medioq.com/849/406/1003213658494062.jpg)
30/12/2024
หอสมุดแห่งชาติ
เล่าถึงนิตยสารต่วย‘ตูนครับ
" " สาระน่ารู้จากบรรณารักษ์ #หอสมุดแห่งชาติ ที่จะนำความรู้มาแบ่งปันกันในทุกวันศุกร์
วันนี้เสนอเรื่อง “การเดินทางของนิตยสาร ต่วย’ตูน” โดย นางสาวชลลดา เอกสกุล บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ
ต่วย’ตูน พอกเก็ตแมกาซีน และต่วย’ตูน พิเศษ เป็นนิตยสารที่เดินทางอยู่คู่กับนักอ่าน และสังคมไทยมายาวนานมากกว่า 5 ทศวรรษ ต่วย’ตูน พอกเก็ตแมกาซีน เดินทางมาถึงปีที่ 54 และต่วย’ตูน พิเศษ ที่เดินทางเข้าสู่ปีที่ 50
จุดเริ่มต้นของนิตยสารมาจากลุงต่วย วาทิน ปิ่นเฉลียว ที่มีใจรักในด้านการวาดรูป และได้รับอิทธิพลด้านหนังสือมาจากพ่อ สมัยเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 1 ได้วาดการ์ตูนในหนังสือฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ จนอาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร เห็นว่ามีฝีมือเลยชวนเข้าสู่วงการหนังสือ โดยเขียนภาพประกอบเรื่องในนิตยสารสยามสมัย ใช้ชื่อว่า "ภูมิ ภาวนา" และเมื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จัดทำนิตยสารชาวกรุงได้ยกทีมงานจากสยามสมัยมาร่วมทำ จึงได้มีโอกาสวาดการ์ตูนให้นิตยสาร ชาวกรุง โดยใช้ชื่อว่า "ต่วย" เป็นครั้งแรก
ช่วงปี 2509 ลุงต่วย ได้ร่วมกับประเสริฐ พิจารณโสภณ นักเขียนจากนิตยสารชาวกรุง จัดตั้งสำนักพิมพ์ประเสริฐ-วาทิน รวบรวมการ์ตูนที่เคยตีพิมพ์ในชาวกรุง ออกเป็นนิตยสารรายสะดวก ในชื่อ "รวมการ์ตูนของต่วย" ซึ่งถือว่าเป็นก้าวกำเนิดแรกของ ต่วย’ตูน
รวมการ์ตูนของต่วย ออกมาถึงเล่ม 4 ขายดี จนเขียนเรื่องไม่ไหว จึงไปขอเรื่องจากนักเขียนดัง ๆ ที่เคยลงในนิตยสารชาวกรุง เช่น ครูอบ ไชยวสุ นพพร บุญยฤทธิ์ ประมูล อุณหธูป ประหยัด ศ. นาคะนาท มารวมกับการ์ตูนของลุงต่วย และเปลี่ยนชื่อเป็น "รวมการ์ตูนต่วย” และเรื่องขำขันจากชาวกรุง" ออกแบบรายสะดวก ทำมาถึงเล่มที่ 16 ทางร้านหนังสือทักว่าหนังสือชื่อยาว คนจำยาก จึงตัดหัวชื่อและท้ายชื่ออกเหลือ เป็น “ต่วย’ตูน”
ต่วย'ตูน เริ่มพิมพ์เป็นฉบับแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 เรื่องราวที่ตีพิมพ์ใน ต่วย’ตูน มีความหลากหลาย ทั้งแนวสารคดี เกร็ดประวัติศาสตร์ ศิลปะ ท่องเที่ยว อาหาร รวมทั้งเรื่องแต่งประเภท เรื่องสั้น ขำขัน โคลงกลอน ต่วย’ตูน เป็นแหล่งรวมนักเขียนชื่อดัง บุคคลสำคัญระดับประเทศ เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช รงค์ วงษ์สวรรค์ ฯลฯ และเป็นแหล่งรวมนักเขียนที่มาจากหลากหลายอาชีพ มีทั้งทหาร ตำรวจ ครู พ่อค้า ฯลฯ
หลังจาก ต่วย’ตูน เล่มแรกวางตลาดได้ 3 ปี เดือนมีนาคม 2517 ทางสำนักพิมพ์ได้จัดพิมพ์นิตยสาร ต่วย’ตูน พิเศษฉบับแรกออกมา เป็นนิตยสารรายเดือน มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกร็ดประวัติศาสตร์ เรื่องน่ารู้ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมโบราณ เรื่องน่ารู้ต่าง ๆ เรื่องชวนพิศวง และเรื่องภูตผีปีศาจ
การเดินทางมากกว่า 5 ทศวรรษ ของนิตยสารต่วย’ตูน ได้สิ้นสุดลงในปี 2567 เมื่อเพจ "ต่วย'ตูน พิเศษ" ประกาศ ยุติการจัดทำนิตยสาร ต่วย'ตูน พอกเก็ตแมกาซีน และนิตยสาร ต่วย'ตูน พิเศษ เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยอีกหลายประการ ส่งผลกระทบต่อสำนักพิมพ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยจะจัดพิม์ฉบับกันยายน 2567 เป็นฉบับสุดท้าย
ท่านใดสนใจอ่านเรื่องราวเกี่ยว ต่วย’ตูน หรืออ่านนิตยสาร ต่วย’ตูน สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ ค่ะ
บรรณานุกรม
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. อาลัยต่วย’ตูน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2567, จาก
https://www.matichon.co.th/columnists/news_4781053
กองบรรณาธิการ HI-CLASS.“พะนะทิน บอกอ.(ต่วย) วาทิน ปิ่นเฉลียว กับ25 ปี สถาบันอารมณ์
(สาระ) ขัน ต่วยตูน” ไฮคลาส. 12, 141 (มกราคม 2539): 26-55.
“คารวะ-อาลัย วาทิน ปิ่นเฉลียว 45 ปี แห่งการสร้างตำนาน ต่วย ตูน” เนชั่นสุดสัปดาห์. 24, 1219
( 9 ตุลาคม 2558): 59
จักรพันธุ์ กังวาฬ. “ต่วย’ตูน สถาบันอารมณ์ขันอายุยืน”. สารคดี. 21, 241 (มีนาคม 2548): 82-83
สาโรจน์ มณีรีตน์. “40 ปี ต่วย'ตูน 80 ปี วาทิน ปิ่นเฉลียว ถ้าไม่มีผู้อ่านก็ยังไม่มีต่วย'ตูน” ศิลปวัฒนธรรม 31, 12 (ต.ค. 2553): 22-23.
“สาม ข. ของต่วย” ถนนหนังสือ. 2,1 0 ( เมษายน 2528): 24-29
สาโรจน์ มณีรีตน์. “35 ปี ‘ต่วย’ตูน” 75 ปี วาทิน ปิ่นเฉลียว “ผมจะไม่เนรคุณตัวหนังสือ” ศิลปวัฒนธรรม 27, 1 (มกราคม 2549): 24-25.