ไม้บรรทัดก้าวหน้า The Ruler News

  • Home
  • ไม้บรรทัดก้าวหน้า The Ruler News

ไม้บรรทัดก้าวหน้า The Ruler News คุยชัด ซัดทุกระยะ ตั้งแต่ 1-3 นิ้ว

ทำความรู้จักเทรนด์ Waithood ไม่ใช่เรื่องแปลกที่วันนี้ 30 ยังโสดเดินไปไหนมาไหน ป้าข้างบ้านก็เอาแต่ถามว่า “สามสิบแล้วเมื่อ...
06/11/2022

ทำความรู้จักเทรนด์ Waithood
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่วันนี้ 30 ยังโสด
เดินไปไหนมาไหน ป้าข้างบ้านก็เอาแต่ถามว่า “สามสิบแล้วเมื่อไหร่จะแต่งงาน ?” ไอ้ลำพังแค่ทำงานก็เครียดจะแย่อยู่แล้ว แต่พอต้องแบกภาระความโสดเป็นป้ายคล้องคอไปไหนมาไหนด้วยก็ยิ่งเฟลเข้าไปใหญ่ ปกติอยู่แบบโสด ๆ ทำตัวชิลล์ ๆ ก็รู้สึกโอเคกับตัวเองแต่ทำไม๊...กลับรู้สึกแบกความหวังของใครต่อใครติดตัวไปด้วยตลอดจนกลายเป็นความกดดันที่จะตอบคำถามว่า “ป่านนี้แล้วทำไมยังโสด”
จริง ๆ ก็ไม่แปลกหรอกที่รู้สึกอย่างนั้น แต่ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นกับคนโสดทั่วโลกโดยเฉพาะผู้หญิง จนความโสดกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของคนทั้งโลกที่เรียกว่า ‘Waithood’ ที่อธิบายถึงสถานการณ์ชองคนหนุ่มสาวทั่วโลกที่ยังไม่แต่งงานและรอคอยการมีคนรักจากคนที่ใช่ ซึ่งมีนัยสำคัญจากปัจจัยหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและการเงิน
คำว่า ‘Waithood’ เริ่มใช้ครั้งแรกโดยนักรัฐศาสตร์ ไดแอน ซิงเกอร์แมน (Diane Singerman) ในปี 2007 เพื่ออธิบายถึงระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นของวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวที่ ‘รอคอย’ ทั้งเรื่องการงานที่มั่นคง รวมไปถึงการแต่งงาน ซึ่งคำนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกลงในหนังสือ Generation in Waiting ในปี 2009 โดยอธิบายคำนี้ว่าภาวะ ‘Waithood’ มักเกิดขึ้นผ่านปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเงิน และอีกปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งคือ แนวคิดและมุมมองเรื่องการเป็นโสดว่าไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และสามารถวางแผนชีวิตการอยู่คนเดียวได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง และที่สำคัญคือความรู้สึกที่ว่าการแต่งงานอาจเป็นการผูกมัดชีวิตและสร้างภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นทั้งที่อาจยังไม่พร้อม ซึ่งเป็นผลมาจากสถานะทางเศรษฐกิจของสังคมที่ไม่สู้ดี
จากการวิจัยโดยการทำการสำรวจของ Nancy Smith-Hefner ในนักศึกษามหาวิทยาในอินโดนีเซียเพื่อศึกษาว่า “ทำไมปัจจุบันคนส่วนใหญ่ถึงเลือกที่จะแต่งงานช้าลง” จึงพบว่า สภาวะ Waithood นั้นมักจะเกิดความเปลี่ยนแปลงกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องการศึกษา การทำงาน ที่ผู้หญิงมีโอกาสมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงมุ่งเน้นไปที่การประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าการค้นคว้าหาความรัก
Waithood มักสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายค่ะ เพราะผู้หญิงยุคใหม่สามารถมีสิทธิ์ในหลายอย่างเทียบเท่ากับผู้ชาย สามารถมีการศึกษาที่สูง และทำงานหาเงินเก่ง จนผู้ชายบางคนอาจเทียบไม่ได้ด้วยซ้ำ ต่างจากสมัยก่อนที่ผู้หญิงมักได้เรียนในระดับไม่สูงมาก ต้องออกเรือนเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกและให้ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว การแต่งงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ผู้หญิงยุคใหม่ให้คุณค่ากับประสบการณ์ชีวิต การงาน การเงิน การท่องเที่ยวแบบอิสระ มากกว่าการเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียว รูปแบบของการมีความสัมพันธ์และมีครอบครัวจึงเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้จำกัดเพียงการแต่งงานแล้วมีลูกเท่านั้น จึงทำให้ Waithood ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นทั่วโลก
เทรนด์นี้ยังทำให้หลายๆ คนรู้สึกว่า การมีคนรักในวัยผู้ใหญ่ มันก็ไม่ได้เป็นทางเลือกเดียวที่จะทำให้มีความสุข ในทางกลับกัน ความสุขในวัยนี้ มันก็ยังมาจากหลายๆ ทาง อย่างเช่น การออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ทำอาหาร ท่องเที่ยว หรือเล่นเกม เป็นต้น
ในอดีตเรามักถูกสั่งสอนว่าหากทำบุญมาดี เราจะได้คู่ครองที่ดีและมีความสุขร่วมกันไปตลอดชีวิต ถ้าไม่มีคู่ครองสุดท้ายก็จะเฉา และใช้ชีวิตวัยชราอย่างเดียวดาย ซึ่งแนวคิดนี้ แต่ในวันนี้เมื่อผู้คนมีอิสระในการค้นหาตัวตน ใช้ชีวิตเพื่อตัวเอง จึงเลือกที่จะอยู่เป็นโสดเพื่อรอเจอ ‘คนที่ใช่’ มากกว่าจะต้องรีบเร่งให้ ‘ใครก็ได้’ เข้ามาในชีวิต เพราะการเลือกคู่ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ การให้เวลาได้ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล
ท้ายที่สุดแล้ว แม้จะอายุสามสิบ สี่สิบ ห้าสิบ หรือเท่าไรก็ตาม มันก็เป็นเพียงตัวเลข และจะมีคู่ครองหรือพบรักแท้หรือไม่ก็ไม่ใช่ปัญหา หากคุณมีแผนการสำหรับชีวิตที่วางไว้อย่างชัดเจน และสามารถหาความสุขจากสิ่งรอบข้างได้ การอยู่คนเดียวก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือผิดบาปแต่อย่างใด
#ไม้บรรทัดก้าวหน้า #30ยังโสด #เป็นโสด #แต่งงาน #คนรัก #ความรัก #คู่ชีวิต #เทรนด์

มากกว่าคนสูบ “บุหรี่” เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม กระทบคนทั้งโลกความอันตรายของบุหรี่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะเป็นต้นเหตุข...
06/11/2022

มากกว่าคนสูบ “บุหรี่” เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม กระทบคนทั้งโลก
ความอันตรายของบุหรี่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะเป็นต้นเหตุของโรคภัยต่าง ๆ คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปกว่า 8 ล้านคน และคร่าชีวิตคนไทยไปกว่า 81,000 คนในแต่ละปี ทั้งหมดถูกเล่าในแง่อันตรายระดับปกติ ที่มีไม่กี่คนที่ได้รับผลกระทบ แต่ความจริงแล้ว บุหรี่ ทำร้ายโลกมากกว่าที่คิด
#สารเคมี
เมื่อเข้าไปดูกระบวนการผลิตบุหรี่ทั้งหมดแล้ว สร้างความเสียหายให้สิ่งแวดล้อมมากมาย โดยเฉพาะประเทศไทย เป็นผู้ผลิตใบยาสูบเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และใหญ่เป็นอันดับ 16 ของโลก กินพื้นที่และทำลายหน้าดินเป็นบริเวณกว้างเท่ากับสวนหลวง ร.9 จำนวน 4.5 หมื่นสวน และในยาสูบ เป็นพืชที่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายกว่าพืชชนิดอื่น ทั้งสารกำจัดศัตรูพืช วัชพืช และการกำจัดแมลง และด้วยการเป็นพืชทำรายได้สูง ทำให้มีการใช้สารเคมีไม่อั้น.ในการทำให้ใบยาสูบเจริญเติบโต
#ทำลายต้นไม้
เมื่อเก็บเกี่ยวใบยาสูบแล้ว กระบวนการนำใบยาสูบไปบ่มหรืออบให้แห้ง ก็จำเป็นต้องใช้ต้นไม้เป็นจำนวนมากมาเป็นเชื้อเพลิง คือต้องใช้ต้นไม้ 1 ต้นจะอบใบยาสูบได้เพียง 300 มวน และประเทศไทยผลิตบุหรี่ได้ 3.6 หมื่นล้านมวนในแต่ละปี และเชื่อว่าการลดจำนวนของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตบุหรี่
ส่วนการใช้ต้นไม้เพื่อนำมาผลิตกระดาษเพื่อมวนบุหรี่ก็ไม่น้อย มีการคาดการว่าทั่วโลกต้องใช้กระดาษความยาวถึง 6.4 กิโลเมตรทุกๆ ชั่วโมงเพื่อเป็นกระดาษห่อและบรรจุภัณฑ์บุหรี่ และเมื่อรวมทั้งสองกระบวนการทั้งการบ่มและมวนบุหรี่ ทั่วโลกจำเป็นต้องโค่นต้นไม้กว่า 6 ร้อยล้านต้นต่อปี
#สร้างมลพิษ
จากต้นไม้มาต่อด้วยการก่อก๊าซเรือนกระจก รวมถึงก๊าซต่าง ๆ ที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังก่อ PM 2.5 ที่สูงกว่ารถยนต์เครื่องดีเซลที่จอดเฉย ๆ 30 นาที ถึง 10 เท่า จากข้อมูลบอกว่า มีคนสูบบุหรี่ทั่วโลกมากถึง 7.4 ล้านล้านมวนต่อปี ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ เรียกได้ว่า นอกจากส่งก๊าซขึ้นทำลายชั้นบรรยากาศโลกแล้ว ยังทำลายต้นไม้ที่ช่วยดูก๊าซพิษเหล่านี้ด้วย
#เพิ่มปริมาณขยะ
มาดูเรื่องปริมาณขยะจากก้นกรองบุหรี่กันบ้าง ซึ่งหลายคนมองว่าอันเล็กนิดเดียว แต่ข้อมูลบอกว่า จะมี 2 ใน 3 ของก้นกรองเหล่านั้น ถูกทิ้งลงสู่สถานที่ต่างๆ เช่น ถนน สนามเด็กเล่น ชายหาด แม่น้ำ และมหาสมุทร ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นตัวเลขจะได้ 4.5 ล้านล้านมวนต่อปีที่กระจายลงสู่ธรรมชาติ
และก้นกรองบุหรี่ทำจากพลาสติกที่มีสารพิษกว่า 4 พันชนิด และเมื่อนำมารวมกัน จะเป็นขยะพลาสติกอันดับหนึ่งที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม สร้างความเสียหายให้ระบบนิเวศน์ เกิดน้ำท่วมจากการอุดตันท่อ และบ่อยครั้งก็สร้างไฟป่าขนาดใหญ่ทั่วโลก
#ทำลายการท่องเที่ยว
ก้นกรองบุหรี่ส่งผลต่อประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อประเทศไทยไม่น้อย เพราะขยะจากก้นกรองบุหรี่นั้นกระจายไปทั่วชายหาดและสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่เป็นจุดขายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยการท่องเที่ยวนั้นคิดเป็น 20% ของ GDP สร้างงานกว่าล้านตำแหน่ง ซึ่งแต่ละปีจะมีก้นกรองบุหรี่ลงสู่ชายหาดและสถานที่ท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านชิ้น กระทบภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
ทำให้รัฐบาลไทยห้ามการสูบบุหรี่และทิ้งขยะก้นบุหรี่บนชายหาดชื่อดัง 24 แห่งตั้งแต่ปี 2561 และจะขยายให้ครอบคลุมอีก 333 ชายหาดที่เหลือทั่วประเทศไทย เพื่อปกป้องคนในชุมชน นักท่องเที่ยว และทรัพยากรธรรมชาติ
#หยุดทำร้ายคน #ลดการทำร้ายโลก
คนไทยเองมีการสูบบุหรี่กว่า 4 หมื่นล้านมวนต่อปี หรือกว่า 100 ล้านมวนต่อวัน ก้นกรองบุหรี่รวมกันเท่าช้าง 6 พันตัวต่อปี สร้างมลพิษต่อธรรมชาติและระบบนิเวศน์มากมาย ดังนั้นการสูบบุหรี่ไม่ได้เป็นเพียงการทำร้ายตัวเองเท่านั้น ยังทำร้ายโลกที่เป็นที่อยู่ของเพื่อนมนุษย์กว่า 7 พันล้านคน
การควบคุมการสูบบุหรี่จึงเป็นผลดีต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ และเศรษฐกิจ ประเทศไทยควรยกระดับควบคุมการสูบบุหรี่ด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น การเพิ่มภาษีบุหรี่ สนับสนุนชาวไร่ยาสูบให้ปลูกพืชทางเลือกเพื่อทดแทนยาสูบ ช่วยนักสูบให้เลิกบุหรี่ และออกกฎให้อุตสาหกรรมยาสูบรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
และการประชาสัมพันธ์หลังจากนี้ อาจต้องบอกว่า
การเลิกสูบบุหรี่ เป็นการทำเพื่อโลกอย่างแท้จริง
#ไม้บรรทัดก้าวหน้า #บุหรี่ #สิ่งแวดล้อม #ประเทศไทย #งดบุหรี่

ไม่ใช่แค่รถติด “น้ำท่วม” ทำเสียโอกาสมากกว่าที่คิดแม้จะเข้าสู่หน้าหนาวแต่อุกทภัยล่าสุดยังทิ้งความเสียหายผ่านน้ำท่วมขังหลา...
06/11/2022

ไม่ใช่แค่รถติด “น้ำท่วม”
ทำเสียโอกาสมากกว่าที่คิด
แม้จะเข้าสู่หน้าหนาวแต่อุกทภัยล่าสุดยังทิ้งความเสียหายผ่านน้ำท่วมขังหลายพื้นที่กว่า 21 จังหวัดทั่วประเทศ กระทบที่ทำกินของประชาชนมากมาย ในเมืองหลวงเองแม้สถานการณ์จะคลี่คลายไปมาก แต่ก็ยังมีน้ำรอการระบายอยู่บางส่วน
เมื่อพูดถึงน้ำท่วมในกทม. ประชาชนมักจะมองไปที่ปัญหาการจราจรที่ติดขัด เดินทางยากลำบาก นั่งรอน้ำไหลลงท่อด้วยความหงุดหงิด บางครั้งท่วมขังมากก็เอ่อเข้ามานั่งเล่นในตัวรถ บางคันก็ดับไปต่อไม่ได้ เข้าเครื่อง เข้าท่อ เปียกพรมจนต้องรื้อออกมาทิ้งก็ไม่น้อย ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกมิติที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง กับความเสียหายที่มากับน้ำท่วม ที่เรียกรวม ๆ ว่า “ต้นทุนค่าเสียโอกาส”
#อะไรคือการสูญเสียโอกาส
คำจำกัดความของ #ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) คือ มูลค่าของผลตอบแทนจากกิจกรรมที่สูญเสียโอกาสไปในการเลือกทำกิจกรรมอย่างหนึ่ง ต้นทุนค่าเสียโอกาสบ่งบอกถึงการเลือกตัวเลือกที่เป็นที่ต้องการทั้งหมดแต่ไม่สามารถเลือกพร้อมกันได้ เพราะทรัพยากรหรือปัจจัยในมือมีจำกัด
#เกี่ยวอะไรกับน้ำท่วม
มีความเกี่ยวเนื่องจาก น้ำท่วมไม่ได้สร้างความเสียหายเพียงแค่เวลาหรือทำให้รถติดบนท้องถนนเท่านั้น แต่หมายถึงผลกระทบที่ทำให้เราพลาดโอกาสในการทำอะไรสักอย่างตามความมุ่งหมายนั่นเอง
ยกตัวอย่าง เมื่อน้ำท่วมโรงเรียนบางแห่งต้องปิด นักเรียนก็สูญเสียโอกาสในการได้รับการศึกษาและต้องใช้เวลามากขึ้นในการเรียนเพื่อให้ทันหลักสูตร ธุรกิจไม่สามารถให้บริการได้ทำให้ไม่มีรายได้เข้ามา หรือบางคนอาจทำให้ไปเจรจาบางอย่างไม่ได้ จนทำให้พลาดโอกาสสำคัญในชีวิตเลยก็มี
ส่วนรัฐเองก็สูญเสียค่าใช้จ่ายในการระดมเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือประชาชานช่วงน้ำท่วม
เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงถนน ท่อระบายน้ำ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ได้รับความเสียหาย
แต่ที่น่าสนใจคือ ในประเทศของเราไม่ใช่แค่รัฐที่ต้องจ่าย
ประชาชนเองต้องมาร่วมแบกรับ ‘ต้นทุนค่าเสียโอกาส’ จากการตัดสินใจของรัฐด้วย
กล่าวคือ นอกจากการเสียโอกาสต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหารายได้แล้ว ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสิ่งของต่าง ๆ ตามที่ยกตัวอย่างข้างต้น รวมทั้งต้องมาจ่ายค่าเสียหายที่รัฐเองต้องจ่ายด้วย เช่น น้ำท่วมบ้านก็ต้องซ่อมเอง ถนนเข้าบ้านแม้จะเป็นของรัฐแต่จะรอให้มาซ่อมให้ก็อาจเสียโอกาสอย่างอื่นเพิ่มอีก อาจต้องลงขันช่วยกันซ่อมเองเป็นต้น
#ที่อื่นป้องกันอย่างไร?
ประเทศอื่นที่ปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกันเขามีวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เสียโอกาสอย่างไรบ้าง
กรณีนี้ขอยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ นานา ซึ่งน้ำท่วมก็เป็นอย่างหนึ่งที่แก้ปัญหาได้อย่างยอดเยี่ยม โดยก่อนยุค 2000 โตเกียวจะเจอพายุตลอด ประชาชนเดือดร้อน บ้านเรือนเสียหาย ภาครัฐมองเห็นว่าเป็นการเสียโอกาสของประเทศ เพราะยิ่งอุทกภัยใหญ่เท่าไหร่ เงินช่วยเหลือประชาชน ค่าซ่อมแซมความเสียหายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น และนี่ยังไม่รวมถึงการสูญเสียทรัพยากรสำคัญของชาติอย่างประชาชนไปอีกด้วย
ช่วงปลายปี 1990 ญี่ปุ่นจึงมีการเริ่มโครงข่ายระบบระบายน้ำและอุโมงค์ #คัสสึคาเบะ ขนาดยักษ์มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้าน (ต้นแบบอุโมงค์ยักษ์บ้านเราไหมนะ) มีความยาวกว่า 6.3 กิโลเมตร เพื่อลดความรุนแรงของภัยพิบัติ โดยเปิดใช้งานในปี 2006
มีการสร้างแทงค์พักน้ำ 5 แทงค์ ที่มีความสูง 70 เมตร คอยทำงานเชื่อมกันเพื่อประสานการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำ ด้วยเครื่องสูบน้ำกำลัง 13,000 แรงม้า ขณะเดียวกันก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมการระบายน้ำอีกที เพื่อไม่ให้กระทบต่อชาวฝั่ง และในระหว่างที่อุโมงค์คัสสึคาเบะก่อสร้าง โตเกียวก็วางแผนพัฒนาระบบระบายน้ำด้านอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย
ทำให้ปัจจุบันเมืองหลวงของประเทศมีอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มเติมเพื่อช่วยดันน้ำในการระบายลงสู่อ่าวโตเกียวมากขึ้น และยังมีระบบเบื้องหลังที่ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี
เมื่อเป็นแบบนี้ก็แสดงว่า หากรัฐลงทุนและสร้างระบบที่มีคุณภาพจริง ๆ ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะญี่ปุ่นเองนั้นมีปัญหาพอ ๆ กับกทม. เผลอ ๆ อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำยังสามารถแก้ไขจนทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าซ่อมแซมต่าง ๆ ที่หากไม่ลงทุน อาจเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าสร้างระบบระบายน้ำนี้ไปแล้ว
ส่วนกทม. ก็ลงทุนทำอุโมงค์ยักษ์เช่นกัน ถ้าเสร็จจะใช้เงินกว่าแสนล้าน ชาวเมืองหลวงก็หวังว่า หากเสร็จจริงจะช่วยระบายน้ำจนเกิดความเสียหายน้อยที่สุด ทำให้ไม่ต้องมีต้นทุนค่าเสียโอกาสให้ลำบากแบบที่เป็นกันอยู่
#ไม้บรรทัดก้าวหน้า #น้ำท่วม #กทม #ป้องกัน #ระบายน้ำ #ซ่อมแซม #งบประมาณ #ประเทศไทย

“อาการกลัววัยรุ่นขึ้นสมอง”ภาวะที่อาจทำให้เราด้อยค่าวัยรุ่นโดยไม่รู้ตัวเชื่อหรือไม่ ในขณะที่เราสามารถพูดคุยพบปะกับวัยรุ่น...
06/11/2022

“อาการกลัววัยรุ่นขึ้นสมอง”
ภาวะที่อาจทำให้เราด้อยค่าวัยรุ่นโดยไม่รู้ตัว
เชื่อหรือไม่ ในขณะที่เราสามารถพูดคุยพบปะกับวัยรุ่นทั่วไปได้ปกติ แต่มีบางคนที่เมื่อเจอวัยรุ่นแล้วกลับตื่นกลัว กังวล ระแวง และรู้สึกไม่ปลอดภัย จริง ๆ แล้วอาการนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะวันรุ่นเป็นวัยที่ซับซ้อนและเข้าใจยากจนบางครั้งก็ทำเอาคนที่ไม่คุ้นเคยกับวัยรุ่นทำตัวไม่ถูก ไม่รู้จะรับมือยังไง และความกลัวนี้เราเรียกว่าอาการ Ephebiphobia
สำหรับอาการ Ephebiphobia แม้ในประเทศไทยจะพบเห็นได้ไม่บ่อยมาก แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะในแถบตะวันตก นี่ถือเป็นอาการที่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง และสาเหตุก็มาจากการที่วัยรุ่นส่วนใหญ่มักเป็นต้นเหตุของการก่ออาชญากรรม จึงไม่แปลกที่ผู้ใหญ่จะมองว่าวันรุ่นเป็นวัยอันตราย ซึ่งมีส่วนมาจากว่าวัยรุ่นจำนวนมากที่เข้าไปมีส่วนร่วมในแก๊งค์และร่วมกันก่ออาชญากรรม ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนรู้สึกว่าวัยรุ่นเป็นตัวอันตรายที่มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องไม่ดีอยู่เสมอนั่นเอง
อาการของโรค Ephebiphobia นี้ ไม่เพียงแต่สร้างความหวาดกลัวเฉพาะบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อภาพรวมของสังคมด้วย อย่างเช่นเห็นการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาใช้บริการ ขณะที่การรับจ้างงานหลายแห่งก็ไม่รับเด็กวัยรุ่น ซึ่งเหตุผลก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายการใช้แรงงานเด็กแต่อย่างใด นอกจากนี้แม้กระทั่งบางครอบครัวก็มีอาการหวาดครัวคนในครอบครัวที่เป็นวัยรุ่นในบ้านตัวเองได้เช่นเดียวกัน
คำว่า Ephebiphobia มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก โดยคำว่า ‘éphēbos’ หมายถึง ‘เยาวชน’ หรือ ‘วัยรุ่น’ และ ‘phóbos’ หมายถึง ‘ความกลัว’ หรือ ‘ความหวาดกลัว’ ซึ่งคำศัพท์นี้ได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1994 ในบทความของ เคิร์ก แอสทรอท (Kirk Astroth) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Phi Delta Kappan จนได้รับการบัญญัติและถูกใช้มาจนทุกวันนี้
ปัจจุบันคำว่า Ephebiphobia ถูกให้ความหมายจากกลุ่มนักสังคมวิทยา หน่วยงานของรัฐ และองค์กรสนับสนุนเยาวชนว่า เป็นความกลัวหรือความเกลียดชังวัยรุ่นอย่างไร้เหตุผลและต่อเนื่อง แต่สำหรับก่อตั้งโครงการ The Freechild Project ที่ชื่อ อดัม เฟลตเชอร์ (Adam F.C. Fletcher) ระบุว่า
อาการกลัววัยรุ่นได้ส่งผลเป็นวงกว้างจนเกิดผลกระทบทางสังคมมากมาย เช่น การปฏิเสธสิทธิของเยาวชนในการออกเสียงลงคะแนนเสียง สิทธิในการเป็นตัวแทนราษฎร การกำหนดนโยบายโดยปราศจากเสียงของเยาวชน และการสร้างกฎหมาย นโยบาย ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกของความกลัวเยาวชน หรือโรคกลัววัยรุ่นในรัฐบาลของประเทศ
สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับวัยรุ่นคือเรื่องของประสบการณ์ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินว่าผู้ใหญ่คนไหนมีอาการของโรค Ephebiphobia ก็คงต้องคิดให้รอบคอบสักหน่อย เพราะในขณะที่วัยรุ่นต้องการให้ผู้ใหญ่เข้าใจ ในทางกลับกันวัยรุ่นเองก็ควรต้องทำความเข้าใจเหตุผลของผู้ใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งก็อาจจะเดินตามรอยผู้ใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยหวาดกลัวกลุ่มวัยรุ่นเองก็เป็นได้
#ไม้บรรทัดก้าวหน้า #โรคแปลก #โรคกลัววัยรุ่น

“บัตรทอง” ทำประชาชนไม่อยากดูแลตัวเอง หมอ พยาบาล เหนื่อยเพิ่มขึ้น จริงหรือ?คำพูดของ  #หมอริท ทวิตถึงการว่ายน้ำของโตโน่ โด...
04/11/2022

“บัตรทอง” ทำประชาชนไม่อยากดูแลตัวเอง
หมอ พยาบาล เหนื่อยเพิ่มขึ้น จริงหรือ?
คำพูดของ #หมอริท ทวิตถึงการว่ายน้ำของโตโน่ โดยแฝงการตัดพ้อระบบบริหารจัดการของรัฐรวมถึงกล่าวว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือปัญหาสำคัญที่ทำให้งานล้นมือบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันกับพลเอกประยุทธ์กล่าวมาโดยตลอด ความน่าสนใจคือทำหลายคนจึงบอกว่าโครงการบัตรทองถึงสร้างภาระให้บุคลากรทางการแพทย์
#อะไรทำให้หมอคิดแบบนั้น?
คิดตามตรรกะทั่วไปก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเรื่องนี้จริง เพราะการมีระบบรักษาฟรีมารองรับ มีส่วนให้ประชาชนไม่ดูแลตัวเองให้ดีพอเพราะคิดว่าอย่างไรก็มีที่รักษาจนทำให้แพทย์ พยาบาลต้องมาคอยให้ดูแลตั้งแต่เรื่องใหญ่ลงมาจนถึงเรื่องเล็กน้อย
โดยเฉพาะแผนกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน อายุรกรรม และผู้ป่วยนอก ที่เป็นเสมือนด่านหน้าในการรับผู้ป่วยที่คิดไม่ออกว่าตัวเองต้องไปแผนกไหน บางคนป่วยเป็นโรคทั่วไปที่น่าจะดูแลตัวเองก่อนได้ บางคนขอยาเพิ่มนอกจากอาการที่ทำให้มาโรงพยาบาล เช่น ยาแก้แพ้ ยานวด ยาหยอดตา
มากเข้าก็ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เหนื่อยล้าคิดเหมารวมว่า ถ้าไม่มีบัตรทองและรักษาฟรี ประชาชนเหล่านี้จะมาหาหมอหรือไม่ จะพยายามมากกว่านี้ในการดูแลตนเองไหม หากคนไข้มีการร่วมจ่ายจะทำให้ตระหนักถึงต้นทุนของการรักษาและหันมาควบคุมตัวเองมากขึ้นหรือเปล่า
#มองอีกมุม
#การป่วยมีต้นทุนที่สูง เพราะการที่ประชาชนมาหาหมอที่ต้องต่อคิวยาว ใช้เวลาทั้งวันนั้น จำเป็นต้องลางาน หยุดงาน บางคนขาดรายได้ บางคนโดนทำโทษ หรือแม้แต่การมาโรงพยาบาลก็มีค่ารถ ญาติบางคนต้องลางานมาส่ง คนไข้ที่มารักษาก็คงมีความจำเป็นระดับหนึ่งถึงจะตัดสินใจมา
รวมถึง #ความรู้เรื่องสุขภาพ เพราะเมื่อพวกเขากังวล แต่ไม่มีที่ให้คำปรึกษาหรือให้ความรู้เบื้องต้น ไม่ทราบวิธีหาข้อมูลทางออนไลน์ สิ่งแรกที่พวกเขานึกถึงคือโรงพยาบาล ซึ่งต้องแลกมาด้วย #ต้นทุนค่าเสียโอกาส เพื่อมาหาคำตอบเกี่ยวกับสุขภาพในเรื่องที่สงสัย
ดังนั้นการเหมารวมว่าที่โรงพยาบาลคนแน่น หมอ พยาบาลมีงานเต็มมือเพราะประชาชนไม่ดูแลตัวเองจึงเป็นเหตุผลที่แคบไปหน่อย เพราะเมื่อคิดกลับกันว่า การอยู่ในประเทศที่สวัสดิการรัฐไม่ได้ครอบคลุมอะไรมากมาย เมื่อมีการเจ็บป่วยแล้วต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองรวมถึงต้องเสียโอกาสในการทำงานหรืออื่น ๆ ที่กล่าวมา
พวกเขาอาจจะตัดสินใจไม่มาโรงพยาบาลจนทำให้อาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น หรือหากเป็นโรคติดต่อร้ายแรงแล้วไม่กล้ามาเพราะกลัวเสียเงิน อาจทำให้เกิดการระบาดมากมายจนไม่สามารถควบคุมโรคอะไรได้เลย
จากงานวิจัยโครงการบัตรทองต่อพฤติกรรมเสี่ยงของนักวิจัยต่างชาติและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดย เมื่อปี 2558 พบว่า สิทธิ์บัตรทองไม่เพิ่มพฤติกรรมเสี่ยง (การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแล้วขับรถ) และไม่ลดพฤติกรรมการป้องกัน (การตรวจสุขภาพประจำปี) เมื่อเทียบกับสิทธิ์ข้าราชการและประกันสังคม นอกจากนี้ยังพบว่าสิทธิ์บัตรทองทำให้การตรวจสุขภาพประจำปีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิง
แม้จะมีอัตราการนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% และอัตราการมาตรวจแบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 13% แต่ก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่าเพราะการใช้บัตรทอง เพราะการรับรู้ข่าวสารที่รวดเร็วขึ้นนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมาใช้บริการเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นด้วย
#การบริหารจัดการของรัฐ
มีข้อมูลว่า แพทย์ พยาบาลต้องทำงานเกิน 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสาเหตุมาจากการที่บุคลากรขาดแคลนจากค่าตอบแทนที่ได้ไม่เหมาะสมกับความรับผิดชอบ เมื่อเป็นแบบนี้ก็ยิ่งทำให้บุคลากรลาออกหนักเข้าไปอีก โดยพบว่ามีแพทย์ออกจากกระทรวงสาธารณสุข 40% ต่อปีเลยทีเดียว
ก่อให้เกิดคำถามว่า ทำไมงบประมาณในการดูแลบุคลากรสำคัญเหล่านี้ไม่พอ แต่กลับมางบประมาณไปซื้ออาวุธหรืออุปกรณ์การรบมากกว่าจะนำมาดูแลประชาชน ซึ่งตรงกับข้อความสุดท้ายที่หมอริททวิตถึงโตโน่ที่ว่า
“ทำไมผู้มีอำนาจโดยตรงถึงมองไม่เห็นและไม่สามารถจัดการปัญหานั้นโดยเร่งด่วนได้ หรืองบประมาณไม่เพียงพอ แล้วถ้างบไม่พอจริงๆ ทำไมไม่รายงานขึ้นไป ทำไมต้องรอเงินบริจาค?”
ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่เพียงหมอริทคนเดียวที่มีความคิดเกี่ยวกับบัตรทองที่ไม่ถูกต้องนัก แต่เชื่อว่าเมื่อทราบข้อเท็จจริงก็น่าจะเข้าใจมากขึ้นว่าบัตรทองนั้นช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่า แต่หมอริทและประชาชนทั่วไปเข้าใจตรงกันและเป็นเรื่องจริงคือ
การบริหารจัดการงบประมาณที่ขาดประสิทธิภาพ จนกลายเป็นต้องมารอรับเงินบริจาค
ที่ไม่ว่าตูนบอดี้แสลมจะวิ่งสักกี่หมื่นกิโลเมตร โตโน่จะว่ายข้ามแม่น้ำสักพันสาย ก็ไม่พอ
หากรัฐบาลยังจัดลำดับความสำคัญของการจัดการงบประมาณไม่ได้แบบนี้
#ไม้บรรทัดก้าวหน้า #โตโน่ #บริจาค #การแพทย์ #หมอ #พยาบาล #บัตรทอง #ความคิด

อาหารเหลือทำโลกร้อนและวิธีจัดการของเหลือเพื่อสิ่งแวดล้อมหลายคนอาจไม่เชื่อว่าปัญหาการทิ้งอาหารนั้นมีส่วนทำให้ภาวะโลกร้อนร...
04/11/2022

อาหารเหลือทำโลกร้อนและวิธีจัดการของเหลือเพื่อสิ่งแวดล้อม
หลายคนอาจไม่เชื่อว่าปัญหาการทิ้งอาหารนั้นมีส่วนทำให้ภาวะโลกร้อนรวดเร็วขึ้น เพราะถ้ามองเพียงด้านเดียวคือการกำจัดขยะที่มากขึ้นไม่น่าทำให้โลกร้อนมากกว่าปัญหาอื่น แต่หากมองทั้งกระบวนการจะพบว่า การทิ้งอาหารนั้นเป็นปัญหามากเลยทีเดียว
#อาหารเหลือทิ้งแต่ละปีมีจำนวนเท่าไหร่?
บทความ BBC เผยว่า ในแต่ละปีอาหารกว่า 1.3 พันล้านตันจะไปนอนในขยะ ซึ่งเมื่อคิดย้อนกลับไปถึงกระบวนการการผลิตอาหารเหล่านี้จะพบว่า สร้างมลพิษมากมาย ทั้งการเลี้ยงสัตว์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำ และผลิตปุ๋ยเคมี หากขยะจากอาหารเป็นประเทศ ก็จะเป็นผู้ก่อก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก สหรัฐและจีน ทั้งหมดกระตุ้นให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น
ข้อมูลสำคัญอีกอย่างคือ แม้โลกเราจะทิ้งอาหารมากมาย แต่ผู้คนกว่า 820 ล้านคน กลับไม่มีอาหารเพียงพอต่อชีวิตประจำวัน
#ช่วยโลกแก้ปัญหานี้อย่างไร?
สิ่งที่ต้องทำคือ ลดจำนวนการทิ้งอาหาร ซึ่งมีหลายโครงการเริ่มไปแล้ว เช่น โครงการ Zero waste ที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ในฐานะประชากรโลกเช่นกัน จึงมาแนะนำมีวิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยลดปริมาณการทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็น มีอะไรบ้างไปดูกัน
#วางแผนซื้อสินค้า
หลายคนมักซื้ออาหารเข้าบ้านมากเกินไป การวางแผนซื้อของจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนมองข้าม ส่วนใหญ่จะเดินเข้าตลาดหรือ Supermarket แล้วหยิบของลงตะกร้าโดยกินของพวกนั้นเพียง 1 ใน 3 แต่หากวางแผนว่าต้องการอะไร รวมถึงกำหนดรอบเวลาที่จะไปตลาด เช่น 2 วันครั้ง หรืออาทิตย์ละครั้ง จากนั้นก็คิดเมนู ลิสต์ของที่จะซื้อและเลือกซื้อตามรายการคุณจะเหลืออาหารทิ้งน้อยมาก
อ้อ คุณอาจเลือกผัก เนื้อชิ้นที่ไม่สวยมากแต่ราคาถูก เก็บไว้ยาวถึงวันที่จะมาซื้อของครั้งหน้าไปด้วยก็ดี วิธีนี้นอกจากไม่มีอาหารเหลือที่ร้านค้าอาจเอาไปทิ้งแล้ว ยังประหยัดเงินในกระเป๋าคุณได้อีกด้วย
#จัดเก็บถูกต้อง
อีกปัญหาหนึ่งคือการจัดเก็บอาหารไม่ถูกต้อง นำไปสู่การบูด เน่า ดังนั้นการจัดเก็บอาหารเป็นเรื่องสำคัญ ของสดล้างเก็บใส่กล่อง เนื้อใส่ช่องเก็บเนื้อ ของแห้งบางอย่างเช่นกระเทียม หัวหอม เก็บข้างนอกได้ก็ไม่จำเป็นต้องยัดตู้เย็นเผื่อเหลือพื้นที่เก็บอาหารอย่างอื่นที่ต้องการความเย็นก็ดีนะ
อีกอย่างคุณสามารถวางแผนนำอาหารใส่ช่องแช่แข็งได้ในระยะยาว เช่นมะนาวในฤดูกาลที่ราคาถูก ก็นำมาคั้นเอาแต่น้ำ ใส่ถุงเล็ก ๆ พอใช้แต่ละมื้อแล้วแช่แข็งเพื่อยืดอายุได้เป็นปี ๆ เลยทีเดียว
#ทำเยอะก็กินอีกมื้อ
ยุคสมัยนี้มีต่างจากอดีต เพราะเมื่อก่อนครอบครัวใหญ่ทำอะไรก็ต้องเยอะแต่ก็ทานหลายมื้อ กินกันจนหมด ต่างจากปัจจุบันที่แต่ผู้คนมักจะฝากท้องกับอาหารสำเร็จรูป จนบางครั้งที่ทำอาหารทานเองแล้วทำเยอะเกินไปเพราะกะปริมาณไม่ถูก หรือหลังมื้อใหญ่อย่างงานสังสรรค์หรือเทศกาลต่าง ๆ อาหารเหลือก็ไม่ได้กินต่อหรือแบ่งสันปันส่วนให้เพื่อน ๆ ที่มาร่วมงานเอากลับไปกิน ซึ่งเป็นสาเหตุที่มีการทิ้งอาหาร
ดังนั้นลองปรับนิสัยการเก็บอาหารไว้ทานมื้อต่อไป หรืออาหารเช้าเหลือก็ห่อไปทานเป็นอาหารกลางวันที่โรงเรียนหรือที่ทำงานได้ นอกจากไม่ทิ้ง แล้วยังไม่สิ้นเปลืองค่าอาหารด้วยนะ
#ดัดแปลงเมนูใหม่
จากข้อที่แล้วที่มีอาหารเหลือ ทานไม่หมด จะกินอีกก็เบื่อ ลองดัดแปลงเมนูใหม่เพิ่มสีสันเข้าไปก็ดูดีไม่ใช่น้อย ส่วนของสดเช่น ผัก เปลือกแครอท หรือก้านผักแข็ง ๆ ไปผัดกับน้ำมันมะกอกหรือเนยจนหอม จากนั้นก็เติมน้ำแล้วเคี่ยวจนได้น้ำซุปผักที่หอมหวนชวนรับประทานได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
#เก็บไม่ได้ก็เป็นปุ๋ย
สุดท้ายก็ต้องมีบางอย่างที่เก็บไม่ได้ แต่ใช่ว่าจะต้องทิ้ง เปลี่ยนให้เป็นอาหารสำหรับต้นไม้ เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้มีอุปกรณ์สำหรับย่อยสลายเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยสำหรับใส่ต้นไม้ได้แม้คุณจะมีเนื้อที่ในบ้านน้อย หาดูได้ตามอินเทอร์เน็ต #ง่ายแต่เริ่ด
ทั้งหมดเป็นไอเดียที่สามารถช่วยประหยัดค่าอาหาร และลดก๊าซเรือนกระจกให้โลก การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในการอนุรักษ์ทรัพยากรเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหาใหญ่ที่โลกกำลังเผชิญอยู่
ความพยายามเพียงเล็กน้อยของทุกคน
ช่วยโลกใบใหญ่นี้ให้มีชีวิตยืนยาวต่อไปอีกนาน
#ไม้บรรทัดก้าวหน้า #อาหาร #ประหยัด #ทรัพยากร #สิ่งแวดล้อม #ร่วมมือ

วิถีใหม่ “ลอยกระทง” ในวันที่ “สิ่งแวดล้อม” เป็นเรื่องสำคัญ“ลอยกระทง” ประเพณีเดือน 12 ตามความเชื่อที่ต้องการขอขมาพระแม่คง...
04/11/2022

วิถีใหม่ “ลอยกระทง” ในวันที่ “สิ่งแวดล้อม” เป็นเรื่องสำคัญ
“ลอยกระทง” ประเพณีเดือน 12 ตามความเชื่อที่ต้องการขอขมาพระแม่คงคา ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม แม้ส่วนใหญ่จะเป็นกระทงที่ผลิตจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ แต่กว่า 1 ล้านใบในเขตกทม. และหากนับรวมทุกจังหวัดแล้ว กระทงเหล่านี้สร้างผลกระทบไม่น้อยให้ธรรมชาติ
ความต้องการลดขยะจากวัสดุที่ทำลายสิ่งแวดล้อมถูกรณรงค์ผ่านสื่อ จนทำให้หลายฝ่ายคิดไอเดียในการสร้างสรรค์กระทงที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุด วันนี้ไม้บรรทัดก้าวหน้ารวบรวมไอเดียเพื่อส่งต่อประเพณีไทยและสามารถช่วยธรรมชาติได้ด้วย มีอะไรบ้าง ไปดูกัน
#กระทงกินได้
กระทงจากอาหารปลานับเป็นไอเดียที่ได้รับความนิยมไม่น้อย จากสาเหตุที่มีการออกมาเตือนว่า กระทงขนมปังอาจทำให้น้ำเน่าได้ เพราะว่าไม่น่ามีปลามากพอที่จะมากินกระทงขนมปังจำนวนมหาศาล ดังนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นที่กินได้แทน
โดยไอเดียที่ว่าคือการนำข้าวโพดอบกรอบสำหรับเลี้ยงปลา ซึ่งใส่สีผสมอาหารหลากสีสดใสมาทำกระทง จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ถึงขนาดร้านขายอาหารปลาบางแห่งบอกว่าสั่งสินค้ามาขายไม่ทันกันเลยทีเดียว บางคนก็ดัดแปลงโดยการนำกรวยไอศกรีมมาทำกระทง สร้างความแปลกใหม่ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
#กระทงใบหลายคนลอย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เคยเสนอแนวคิด "มาด้วยกัน ลอยด้วยกัน" เพื่อลดปริมาณขยะจากกระทง โดยรณรงค์ให้ใช้กระทงที่ใช้วัสดุธรรมชาติร่วมกันแบบ "1 ครอบครัว 1 กระทง, 1 คู่รัก 1 กระทง และ 1 กลุ่ม 1 กระทง" ซึ่งแม้จะยังคงเป็นกระทงรูปแบบเดิม แต่ก็การลดปริมาณลงได้หลายเท่าหากปฏิบัติได้จริง รวมถึงให้ความสวยงามและอนุรักษ์วัฒนธรรมธรรมที่สวยงามไปในตัวได้ด้วย
#กระทงน้ำแข็ง
น่าจะเป็นกระทงที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุดวิธีหนึ่ง รวมถึงขั้นตอนการทำก็ง่ายไม่ได้ซับซ้อน เพียงแค่นำขันใส่น้ำ ใส่ดอกไม่ธูปเทียนตามใจแล้วใส่ช่องแช่แข็ง รอจนกลายเป็นน้ำแข็งก็นำไปลอยได้ ซึ่งเมื่อกระทงน้ำแข็งละลายก็เหลือเพียงดอกไม้ที่ใส่ลงไปเท่านั้นที่กลายเป็นขยะ แต่ก็ไม่ได้มากมายเมื่อเทียบกับวิธีอื่น จะมีปัญหาแค่เรื่องการจัดเก็บหรือการลำเลียงไปยังแหล่งน้ำบ้างเท่านั้นเอง
#ลอยกระทงทิพย์
วิธีนี้เรียกได้ว่ากระทบธรรมชาติเพียงแค่กระแสไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่แล้ว เพราะเป็นการลอยกระทงผ่านวิธีการออนไลน์ ที่ตอนนี้มีทั้งแบบแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เปิดขึ้นมากมาย สามารถค้นหาได้เลย โดยแนวคิดนี้เป็นที่นิยมพอสมควร
ปี 2019 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเปิดเว็บไซต์ลอยกระทงออนไลน์เช่นกัน โดยมีกระทงออนไลน์ให้เลือกหลายแบบ เช่น กระทงกะลามะพร้าว กระทงใบตอง กระทงเปลือกข้าวโพด มีการกรอกชื่อครอบครัว คู่รักหรือกลุ่มเพื่อนที่ต้องการลอยกระทงด้วย รวมถึงอธิษฐานได้ด้วย
#ไม่ลอย
เป็นแนวคิดที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการมาเยือนของโควิด-19 ที่ระยะ 2 ปีที่ผ่านมามีการล็อกดาวน์ไม่ให้ออกมาลอยกระทง เพื่อป้องกันการแพร่ของโรคระบาด ซึ่งพอไม่ได้ไปติดต่อกันก็เกิดความเคยชินจนหลายคนคิดว่า ไม่ลอยก็ได้ ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร รวมกับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการไปลอยนั้นสร้างผลกระทบให้สิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย อีกทั้งไม่เสี่ยงติดเชื้อโควิด และไม่ลำบากต้องออกนอกบ้าน ทำให้รถติดสร้างมลพิษทางอากาศด้วย
ทั้งหมดเป็นไอเดียที่น่าจะพอช่วยให้เราทำร้ายธรรมชาติน้อยลงหรือไม่กระทบสิ่งแวดล้อมเลย (ในกรณีไม่ลอย) ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ทั้งนี้ทุกคนมีสิทธิ์ในการเลือกวิธีการ วัสดุ ตามความต้องการของแต่ละบุคคล
สิ่งที่ทำได้คือช่วยกันรณรงค์ให้ทำร้ายธรรมชาติน้อยที่สุด
แต่ไม่ควรไม่ด่าว่า เหยียดหรือละเมิดสิทธิ์ส่วนตัวใครนะจ๊ะ
แล้วเพื่อน ๆ เลือกวิธีไหน หรือมีไอเดียอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คอมเมนต์ด้านล่างบอกกันได้เลย
#ไม้บรรทัดก้าวหน้า #ประเพณี #วัฒนธรรม #ลอยกระทง #ธรรมชาติ #สิ่งแวดล้อม #ธรรมชาติ

กฎเหล็ก กกต. สกัดพรรคการเมืองช่วยเหลือชาวบ้านเดือดร้อนอุทกภัยปัญหาอุทกภัยใน 21 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบนั้น สร้างความลำบา...
04/11/2022

กฎเหล็ก กกต. สกัดพรรคการเมืองช่วยเหลือชาวบ้านเดือดร้อนอุทกภัย
ปัญหาอุทกภัยใน 21 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบนั้น สร้างความลำบากให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่มาก ๆ และการดำเนินการของหน่วยงานรัฐก็เป็นไปอย่างล่าช้า ขาดการวางแผน และไม่มีศูนย์กลางในการช่วยเหลือที่ชัดเจน
ดังนั้นการช่วยเหลือกันเองของคนในพื้นที่จึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ แต่การที่จะไปช่วยเหลือได้นั้น จำเป็นต้องมีกำลังทรัพย์พอสมควร ดังนั้น การช่วยเหลือส่วนใหญ่ในภัยพิบัติเช่นนี้ จึงมักเป็นผู้มีชื่อเสียง หรือนักการเมืองท้องถิ่นมาโดยตลอด
แต่เมื่อมีการตั้งกฎเหล็ก 180 วันของทาง กกต. ที่บังคับให้ต้องมีการนับการหาเสียง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ย้อนหลังไป 180 วันหลังจากวันที่สภาสิ้นสุดลง 23 มีนาคม 2566 ส่งผลให้พรรคการเมือง ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ไม่สามารถช่วยบรรเทาทุกข์ของประชาชนในเรื่องนี้ได้เพราะกลัวว่าจะส่งผลตามมาเมื่อเกิดการเลือกตั้ง
หลายฝ่ายมองเรื่องนี้เป็นปัญหา ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และฝ่ายค้านที่ต้องลงเลือกตั้งแข่งกับรัฐบาล ต่างเกรงกลัวการตีความทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น เพราะมีให้เห็นแล้วว่า ทั้ง กกต. หรือแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ต่างมีการตีความเข้าข้างรัฐบาลมาโดยตลอด ทั้งหมดจึงเป็นปัญหาหลักในการจะขยับเขยื้อนหรือเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งแง่ของการหาเสียง หรือช่วยแบบจริงใจก็ตาม
#เปิดระเบียบการหาเสียงของกกต.
เมื่อหลายฝ่ายยื่นถามเรื่องการทำได้หรือไม่ได้มากเข้า ทางกกต. ก็ได้ออกประกาศประชาสัมพันธ์ข้อพึงระวังของพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลา ก่อนวันครบอายุของสภามีรายละเอียดดังนี้

#ทําได้
1. สามารถร่วมงานประเพณีได้ เช่น งานบวช งานแต่ง งานศพ และมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้
2. จัดพิธีงานต่าง ๆ ได้ เช่น งานศพ งานแต่ง งานบวช แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นงานขนาดใหญ่
3. กรณีปิดประกาศและแผ่นป้ายหาเสียงสามารถกระทำได้ โดยต้องเป็นไปตามประกาศที่ กกต. กําหนดและข้อความในแผ่นป้าย ต้องไม่เป็นเท็จ ใส่ร้ายป้ายสี หรือสัญญาว่าจะให้ ส่วนแผ่นป้ายหาเสียงที่ติดตั้งไว้ก่อนมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ต้องดำเนินการและแก้ไขให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดด้วย
4. การติดตั้งป้ายหาเสียงบนรถยนต์ได้โดยไม่จำกัดขนาด แต่ต้องไม่ฝ่าฝืนกฎหมายจราจร
#ทําไม่ได้
1. การมอบพวงหรีดที่เป็นสิ่งของ เช่น พัดลม ช้อน ส้อม ผ้าขนหนู เป็นต้น
2. การช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงิน ให้แก่ผู้ใดตามประเพณีต่าง ๆ
3. การจัดคน หรือนำคนที่ไม่ได้เป็นผู้ช่วยหาเสียงไปช่วยหาเสียง โดยให้ค่าตอบแทน เป็นต้น
นอกจากนี้ กกต. ออกประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ #ระเบียบการไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี
มีรายละเอียดดังนี้
1. ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ โดยการกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที และมีลักษณะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
2. จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ นอกเหนือจากการประชุมตามปกติและมีการใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
3. กำหนดให้มีการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐหรือเอกชน โดยใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานรัฐ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่น เว้นแต่เป็นการประชุมตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องไม่ใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
4. กำหนดให้มีการอนุมัติ โอน หรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณ ทำการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องไม่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
5. กำหนดให้มีการแจกจ่ายหรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐให้แก่บุคคลใด โดยไม่มีเหตุสมควร เว้นแต่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องไม่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

6. ใช้พัสดุหรือเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากหน่วยงานของรัฐ หรือใช้บุคลากรของรัฐปฏิบัติงานเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

7. ใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
กรณีใดที่ไม่ได้กำหนดไว้ หรือมีเหตุจำเป็น กกต. อาจกำหนดยกเว้นหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้ได้
#เหลื่อมล้ำด้านการเลือกตั้ง
แม้ประกาศที่ออกมาจะมีการกำกับด้วยข้อความ #ไม่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า ข้อกำหนดเหล่านี้คือความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้งอย่างแท้จริง
เพราะการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรีนั้น แม้จะทำในฐานะหน่วยราชการที่ต้องช่วยเหลือประชาชน ในฐานะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี แต่ก็ถือเป็นความได้เปรียบ เพราะฝั่งรัฐบาลมีความเป็นฝ่ายการเมืองที่ควบคุมดูแลหน่วยงานราชการ จึงสามารถใช้กลไกของราชการลงไปช่วยเหลือประชาชน ทำให้เกิดคะแนนนิยมได้อย่างชัดเจน
#ไม้บรรทัดก้าวหน้า #เลือกตั้ง #กกต #หาเสียง #กฎเหล็ก #เหลื่อมล้ำ #รัฐบาล #อุทกภัย #ภัยพิบัติ

เมื่อคนด้อยสกิล Eng โดนด้อยค่าจนคนกดดันไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษหลายคนน่าจะเคยเห็นเหตุการณ์ที่คนดังมีชื่อเสียงต้องไปสปีคอิงลิ...
04/11/2022

เมื่อคนด้อยสกิล Eng โดนด้อยค่า
จนคนกดดันไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ
หลายคนน่าจะเคยเห็นเหตุการณ์ที่คนดังมีชื่อเสียงต้องไปสปีคอิงลิชแบบเลี่ยงไม่ได้ในเวทีดัง ๆ ระดับโลก แน่นอนว่าถ้าใครพูดเป๊ะสำเนียงดีก็จะได้รับการยกย่องชมเชยจนบางครั้งก็อวยเกินพอดี แต่ถ้าใครดันพูดไม่ได้ตอบคำถามไม่ดีเป็นอันต้องโดนพูดถึงแบบเสีย ๆ หาย ๆ ทั้งที่ไม่รู้เลยว่าที่ผ่านมาต้องรวบรวมความกล้ามามากแค่ไหนกว่าจะกล้าพูด จนลงกลับมาเห็ดฟีดแบคก็ทำเอาหลายคนแทบจะอยากมุดแผ่นดินหนีไปเลยทีเดียว ปัญหานี้ถ้าคุณเป็นเพียงประชาชนคนธรรมดาก็คงไม่เป็นไรถ้าจะพูดไม่เป็น แต่พอเป็นคนที่เป็นตัวแทนของประเทศ บริษัท หรือหน่วยงาน ความคาดหวังของผู้คนก็จะสูงตามไปด้วย
งานนี้เราจะโทษใคร ระบบการศึกษาบ้านเรา หรือ โทษคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่เป็น ?
อีกมุมหนึ่งที่น่าเป็นห่วง แล้วก็รู้สึกเป็นห่วงมานานแล้วด้วย นั่นก็คือเรื่องระบบการศึกษาในบ้านเมืองเราที่ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งถอยหลังลงคลองไปเรื่อย ๆ พอมาได้เห็นการจัดอันดับของสถาบันการศึกษาระดับโลก Education First (EF) ประจำปี 2021 ที่สำรวจทักษะความสามารถทางด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ หรือ English Proficiency Index โดยมีประเทศที่ถูกทดสอบทั้งหมด 112 ประเทศ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก
ผลการสำรวจเริ่มต้นขึ้นด้วยการให้ประชากรแต่ละประเทศรวม 2 ล้านคน ร่วมทำแบบทดสอบภาษาอังกฤษ และประเทศที่คว้าอันดับหนึ่งจากการทดสอบครั้งนี้คือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มความรู้ภาษาอังกฤษระดับสูงมาก (very high) อันดับ 2 คือ ประเทศออสเตรีย ตามมาด้วยอันดับ 3 เดนมาร์ก และอันดับที่ 4 คือ สิงคโปร์ ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีทักษะภาษาอังกฤษสูงที่สุดในเอเชีย และเป็นประเทศในเอเชียเพียงประเทศเดียวที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีความรู้และทักษะการใช้ภาษาอังกฤษสูง
แต่ถ้าย่อสเกลย่อลงมาดูเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนามที่ อินโดนีเซีย เมียนมา และกัมพูชาติดหนึ่งในร้อยหมด ส่วนไทยอยู่ที่อันดับ 100 ในท้ายตารางทั้งระดับอาเซียนและระดับโลกของประเทศที่มีความรู้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับต่ำมาก (very low)
เมื่อสิงคโปร์ที่เป็นอันดับแรกของอาเซียนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มมีความรู้ภาษาอังกฤษระดับสูงมาก (very high) ประเทศที่ใกล้อย่างไทยกลับอยู่ในอันดับที่ 100 เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าระบบการศึกษาไทยอาจกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตกอยู่ก็เป็นได้ เช่น การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศตามสถาบันศึกษาจำนวนมากที่เน้นการอ่าน การเขียน และไวยากรณ์ คำศัพท์จำนวนมาก มากกว่าการเริ่มต้นด้วยการฟังหรือการพูด ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเรียนการสอนแบบล้าสมัย แต่กลายเป็นสิ่งสำคัญที่เยาวชนจะต้องนำไปใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการศึกษาก็คือถ้าไม่ใช่โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนทั่วไปยังมีครูที่มีความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับกลางไปจนถึงต่ำอยู่มาก รวมทั้งวิธีการถ่ายทอดความรู้ก็ไม่ต่างกับในรุ่นพ่อรุ่นแม่ รวมทั้งการที่สังคมบ้านเมืองเราก็มีพฤติกรรมและทัศคติล้อเลียนคนที่พยายามพูดหรือออกสำเนียงภาษาอังกฤษแบบฝรั่งจนทำเอาคนที่พยายามเรียนรู้หมดความตั้งใจไปเลยทีเดียว และนี่คือความยากลำบากที่คนศึกษาภาษาอังกฤษต้องเจอ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในประเด็นนี้ให้ตรงกันก่อนว่า ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาหลักของไทยเรา เราไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับมัน ไหนจะเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็เริ่มมีแพลตฟอร์มที่รองรับภาษาไทยมากขึ้น การใช้ภาษาอังกฤษก็เริ่มห่างหายออกไปเรื่อย ๆ แต่ในเมื่อเราเปลี่ยนระบบการศึกษาไม่ได้ เราก็ต้องเริ่มปรับและเปลี่ยนจากตัวเราเองโดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแล้วเข้าถึงข้อมูลเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษา เช่นการเลือกใช้เมนูภาษาอังกฤษ การเลือกดูหนังที่เป็นพากษ์ภาษาอังกฤษและใช้ซับไทยช่วยแปล รวมทั้งวิธีการอื่น ๆ อีกมากมาย และที่สำคัญที่สุด
อย่าแคร์คนที่ล้อเลียนการฝึกภาษาของคุณ และเชื่อเถอะว่าคนที่ล้อเลียนการฝึกภาษาของคุณ ภาษาอังกฤษเขาก็ไม่ได้ดีเท่าไรหรอก “Ready? Let’s start.“
#ไม้บรรทัดก้าวหน้า #เรียนภาษาอังกฤษ #เก่งภาษาอังกฤษ #ฝึกภาษาอังกฤษ #สถิติ #ระบบการศึกษา #การศึกษาไทย

Address


Opening Hours

Monday 09:00 - 18:00
Tuesday 09:00 - 18:00
Wednesday 09:00 - 18:00
Thursday 09:00 - 18:00
Friday 09:00 - 18:00

Website

Alerts

Be the first to know and let us send you an email when ไม้บรรทัดก้าวหน้า The Ruler News posts news and promotions. Your email address will not be used for any other purpose, and you can unsubscribe at any time.

Shortcuts

  • Address
  • Opening Hours
  • Alerts
  • Claim ownership or report listing
  • Want your business to be the top-listed Media Company?

Share