16/03/2021
มนุษย์สร้างความเสียหาย ต่อแม่น้ำแทบทุกแห่งทั่วโลก ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต ทำลายระบบนิเวศ
โลกของเราประกอบไปด้วยน้ำในมหาสมุทร 97% ส่วนที่เหลือประกอบไปด้วยน้ำจากธารน้ำแข็ง น้ำใต้ดิน น้ำจากทะเลสาบน้ำจืด จากทะเลสาบน้ำเค็ม จากความชื้นของดิน และบรรยากาศ โดยน้ำในแม่น้ำลำธารคิดเป็น 0.00001%
ถึงจะมีไม่มาก แต่ความสำคัญที่มันมีต่อมนุษย์ และระบบนิเวศนั้นมีมาก ปลาที่อยู่ในแม่น้ำกว่า 17,000 สายพันธุ์เป็นตัวแทน 1 ใน 4 ของสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด
ซึ่งจากงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2021 นักวิทยาศาสตร์พบว่าแหล่งน้ำจืดจากแม่น้ำ ลำธาร ทั่วโลกทั้งหมดรอดพ้นจากพฤติกรรมของมนุษย์มีแค่ 14% เท่านั้น
มากกว่าครึ่งของความหลากหลายในแม่น้ำได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Invasice Species) มลพิษทางน้ำ การทำเขื่อน การประมงเกินขนาด การทำฝาย การเกษตรชลประทาน และอุณหภูมิที่สูงขึ้นที่ทำให้ปลาในน้ำอาศัยอยู่ในบริเวณเดิมไม่ได้
ซึ่งสายพันธุ์ปลาเอเลี่ยนที่เข้ามาแทนที่ปลาใหญ่อย่างปลาสเตอร์เจียน ก็มีทั้งปลาดุก และปลาจำพวกปลาไนจากเอเชีย หรือ Asian Carp พวกมันแย่งอาหารปลา และทำลายระบบนิเวศในบริเวณ
แม่น้ำที่ถูกคุกคามมากที่สุดจะอยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันตก อย่างแม่น้ำ Thames ในสหราชอาณาจักร และภูมิภาคอเมริกาเหนือ อย่างแม่น้ำ Mississippi ในสหรัฐอเมริกา เป็นที่ที่ประชาหนาแน่น และแม่น้ำได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมมนุษย์มากที่สุด
ส่วนแม่น้ำที่ยังคงความหลากหลายทางชีวภาพไว้มากที่สุดนั้นอยู่ในอเมริกาใต้ ในทวีปนี้มีแม่น้ำที่ไม่ได้ถูกคุกคาม 6% จากทั้งหมด แต่แม่น้ำที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งหลายน้อยที่สุดคือแม่น้ำที่อยู่ห่างไกลในแอฟริกาและออสเตรเลีย
ซึ่งแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดนี้ไม่ได้เป็นที่อยู่ของปลาชนิดต่าง ๆ มากพอที่จะสามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของปลาทั่วโลกได้
ทางด้านแม่น้ำในแอมะซอน แม่น้ำคองโก และแม่น้ำโขง กลับเป็นแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบเกินคาด เป็นไปได้ว่าเขื่อนที่สร้างใหม่ และปัจจัยอื่น ๆ จะทำให้สถานการณ์แย่ลงได้
นอกจากนี้ ยังมีอีกงานวิจัยล่าสุดในปี 2020 ที่เผยว่า การประมงเกินขนาด การเสียแหล่งที่อยู่อาศัยทำให้ปลาไม่สามารถอพยพไปวางไข่ได้เหมือนเดิมจนทำให้มันเสี่ยงสูญพันธุ์ได้ ปลาแม่น้ำที่อพยพไปวางไข่ที่อื่นลดลงอย่างน่ากลัว 76% ตั้งแต่ปี 1970 ซึ่งในยุโรปจำนวนปลาที่อพยพก็ลดฮวบไป 93%
งานวิจัยเผยว่า 1 ใน 3 ของปลาน้ำจืดมีสถานะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือปลาบึก (Mekong Giant Catfish)
และก็มีงานวิจัยในปี 2019 ที่เผยถึงอีกปัจจัยอย่างการทำเขื่อนว่า มีแค่ 1 ใน 3 ของแม่น้ำใหญ่ทั่วโลกที่ยังไหลอย่างไม่ขาดสาย เนื่องจากผลกระทบจากการทำเขื่อนที่ทำลายผลประโยชน์ที่ผู้คนและธรรมชาติจะได้จากแหล่งน้ำไปอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของผลกระทบเหล่านี้อาจไม่เป็นจริงก็ได้ เพราะการหายไปของปลาในแม่น้ำอาจมากกว่าที่บันทึกไว้ได้
แต่ถึงว่าตัวเลขจะถูกต้องหรือไม่ เราก็เถียงไม่ได้เลยว่าแม่น้ำนั้นสำคัญต่อชีวิตคนทั่วโลก งานวิจัยที่ออกมาช่วยเผยให้เห็นว่าเราไม่สามารถทำลายแหล่งน้ำได้อีก สถานการณ์ของแม่น้ำกำลังแย่ แผนการที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันปกป้องแม่น้ำก่อนที่มันจะสายเกินไปกว่านี้สักที
Source
1. https://www.theguardian.com/environment/2021/feb/18/very-few-of-worlds-rivers-undamaged-by-humanity-study-finds
2. https://phys.org/news/2020-07-migratory-river-fish-populations.html
3. https://www.theguardian.com/environment/2019/may/08/only-a-third-of-worlds-great-rivers-remain-free-flowing-analysis-finds
Aqua Mantra 💧🔮