13/03/2021
สำหรับคนไม่รู้ฮะ
ผ่านไปเร็วเหมือนโกหก การ์ตูนคลาสสิคตลอดกาล Slam Dunk! (สแลมดั๊งค์) มีอายุครบ 30 ปีแล้ว
เดือนมกราคมที่ผ่านมา ทีวีอาซาฮี ทำการสอบถามแฟนการ์ตูนทุกเพศทุกวัย จำนวน 1 แสน คนทั่วประเทศ ให้โหวตการ์ตูน 100 เรื่องที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ปรากฏว่า สแลมดั๊งค์ที่วาดจบไปนานมากๆ ตั้งแต่ปี 1996 ติดอยู่อันดับ 3 ของชาร์ท เหนือกว่าทั้งโดราเอม่อน, ดราก้อนบอล หรือ โคนัน เสียอีก
เรื่องที่ได้อันดับเหนือกว่า คือ วันพีซ (การ์ตูนยอดขายอันดับ 1 ของโลก) และ ดาบพิฆาตอสูร (อะนิเม รายได้สูงสุดตลอดกาลของญี่ปุ่น) เพียงแค่ 2 เรื่องแค่นั้น
สิ่งที่ทำให้ สแลมดั๊งค์ถูกจดจำมายาวนานขนาดนี้ เพราะมันเป็นการ์ตูนที่สมบูรณ์แบบที่สุด การเล่าเรื่อง ความสนุก การสร้างคาแรคเตอร์ให้ตัวละคร การไล่อารมณ์บิลด์อัพมาเรื่อยๆ จนนำมาสู่ตอนจบที่เฉียบขาดที่สุด
คำถามที่แฟนสแลมดั๊งค์สงสัยในใจมาตลอดว่า "ทำไม" ผู้เขียนทาเคฮิโกะ อิโนอุเอะ ถึงเลือกจะเขียนตอนจบแบบนั้น เพราะเอาจริงๆ สแลมดั๊งค์ยังไปต่อได้ ต่อให้เขียนอีก 10-20 เล่ม ก็เชื่อว่าคนพร้อมจะติดตามไปเรื่อยๆ แต่อิโนอุเอะ ตัดสินใจจบที่ 31 เล่มเท่านั้น
วันนี้ แอดมินจะเล่าว่า ทำไมสแลมดั๊งค์ถึงจบด้วยวิธีนี้ ตัวอิโนอุเอะ ไม่เคยบอกอย่างเป็นทางการ แต่ชาวเน็ตก็ทำการวิเคราะห์ไว้หลายทฤษฎี ซึ่งก็มีแนวโน้มสูง ที่จะเป็นตามที่วิเคราะห์กันนั่นแหละ
แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงทฤษฎีนั้น เราจะเริ่มจากเรื่องย่อของสแลมดั๊งค์กันก่อน ไปรื้อฟื้นความหลังเบาๆกัน
สแลมดั๊งค์ เป็นเรื่องราวของเด็กนักเรียน ม.ปลาย ปี 1 ของโรงเรียนโชโฮคุ ชื่อซากุรางิ ฮานามิจิ เขาเป็นเด็กเกเร ตัวสูงใหญ่ 188 ซม. แต่ไม่เคยมีแฟน เพราะโดนหักอกเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม พอเข้า ม.ปลาย เขาได้เจอกับความรักครั้งใหม่ กับเด็กปี 1 ด้วยกัน ที่ชื่อ อาคางิ ฮารุโกะ
ฮารุโกะ หลงรักบาสเกตบอล จึงชวนซากุรางิ ให้มาอยู่ชมรมบาส จากคนที่เล่นบาสไม่เป็นเลยแม้แต่นิดเดียว เรื่องราวต่างๆ ก็เริ่มขึ้นจากตรงนั้น
สาเหตุที่ทำให้สแลมดั๊งค์ได้รับความนิยมอย่างมาก อย่างแรกคือความสมจริงของเนื้อหา คือการ์ตูนกีฬาดังๆในยุคก่อนหน้านั้น อย่างกัปตันสึบาสะ (1981-1988) จะมีความโอเวอร์อยู่พอสมควร มีท่าไม้ตาย เช่น กระโดดถีบยันเสาพุ่งเซฟ เป็นต้น ซึ่งกับสแลมดั๊งค์จะต่างออกไปเลย เพราะมันอยู่ในขอบข่ายของความสมจริงทั้งหมด
กฎกติกา ทุกๆอย่าง ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าบาสเกตบอลเล่นอย่างไร อะไรคือเลย์อัพ อะไรคือรีบาวด์ เรื่องค่อยๆเล่า ให้คนอ่านได้ทำความรู้จักบาสเกตบอลไปด้วยกัน
นอกจากนั้น นี่ยังเป็นการ์ตูนที่เราจะได้เห็นพัฒนาการของตัวละคร จนพลอยเอาใจช่วยตัวเอกโดยไม่รู้ตัว
ซากุรางิ เริ่มต้นจากคนที่ไม่รู้จักการเล่นบาส แค่อยากดั๊งค์ให้เด่น ให้เท่ แต่เขาก็ค่อยๆฝึกทุกอย่าง ตั้งแต่การเลี้ยง การส่ง การเลย์อัพ การรีบาวด์ การชู้ตใต้แป้น การชู้ตระยะกลาง เหมือนคนอ่านได้เห็นพัฒนาการของเพื่อนสักคน ที่เก่งขึ้นช้าๆ เติบโตไปด้วยกัน
การวางพล็อตเรื่อง มีความใกล้ตัวมาก เพราะเป็นการแข่งขันระดับมัธยม มีโมเมนต์ทะเลาะวิวาท มีการแอบปลื้มสาวๆในโรงเรียน หลายๆอย่างเป็นประสบการณ์ร่วมของคนอ่านทั่วไป ที่ต้องเคยมีโมเมนต์เหล่านี้กันอยู่แล้วในสมัยเรียน
อีกเรื่องที่สแลมดั๊งค์ ถูกกล่าวชมมากๆ นั่นคือ นี่เป็นการ์ตูนเรื่องแรกสุดจริงๆ ที่สร้างความสัมพันธ์ "คู่ปรับ" ที่ทั้งเกลียด ทั้งชื่นชม ทั้งผลักดันกันและกัน
ซากุรางิ ฮานามิจิ กับ รุคาว่า คาเอเดะ คอยผลักดันกันและกัน ท่ามกลางความหมั่นไส้ แต่ทั้งคู่ก็ยอมรับในตัวอีกฝ่าย เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีการ์ตูนเรื่องไหนเหมือน ซึ่ง ซากุรางิกับรุคาว่า ก็เป็นต้นแบบของคู่ปรับในซีรีส์การ์ตูนหลายๆเรื่อง เช่นนารุโตะ กับซาสึเกะ เป็นต้น
ในเรื่องนี้ ตัวละครทุกตัวไม่มีถูกทิ้งขว้างอย่างเสียเปล่า ทุกคนได้รับบทที่เหมาะสม นักบาส 5 คนในทีมโชโฮคุ และอาจารย์อันไซ ล้วนมีบทเด่นทั้งหมด รวมถึงคู่แข่งทีมอื่นด้วย เซนโด, อุโอสึมิ, มากิ, จิน ผู้เขียนอิโนอุเอะ ให้เกียรติคาแรคเตอร์ที่ตัวเองสร้างขึ้นมาอย่างแท้จริง
ช่วงที่การ์ตูนถูกวาดขึ้น คือช่วงปี 1990-1996 ซึ่งในวงการบาสเกตบอลระดับโลก มันคือยุคที่ชิคาโก้ บูลส์ ก้าวไปสู่ความยิ่งใหญ่ในรอบแรก ด้วยการคว้า Three-peat (คว้าแชมป์สามสมัยติด) ได้ในปี 1991-1993
และตัวละครหลายๆคน ก็มี base มาจากนักบาสจริงๆ เช่นซากุรางิ มาจากเดนนิส ร็อดแมน ของดีทรอยต์ พิสตันส์ ที่เก่งเรื่องรีบาวด์, รุคาว่า คือไมเคิล จอร์แดน และ อาคางิคือแพทริก อีวิ่ง เป็นต้น
การ์ตูนก็วาดสนุกแล้วเหตุการณ์บาสใน NBA ก็เข้มข้น ยิ่งเป็นพลังบวกให้การ์ตูนไต่ความนิยมไปสู่จุดสูงสุดของนิตยสารรายสัปดาห์โชเนนจั๊มป์ในยุคนั้น
------------------------------
ตอนจบของสแลมดั๊งค์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นการจบที่สวยงาม และสมบูรณ์ที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการการ์ตูนญี่ปุ่น
ม.ปลายโชโฮคุ ฝ่าฟันการแข่งคัดตัวระดับจังหวัดคานางาวะ เข้าไปเล่นในอินเตอร์ไฮ หรือทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์ประเทศ โดยในรอบ 2 เจอกับทีมแชมป์เก่า และเต็งหนึ่งนั่นคือ เทคโนซังโน จากจังหวัดอาคิตะ
เทคโนซังโนคือทีมที่เก่งที่สุดในประเทศ พวกเขามีพอยต์การ์ด สมอลฟอร์เวิร์ด และ เซ็นเตอร์ที่เก่งที่สุดในประเทศ แข็งแกร่งทุกตำแหน่ง แต่โชโฮคุ ก็รับมือด้วยกลยุทธ์อันรอบคอบ ทำให้พอจะต้านทานกันได้อยู่
การปะทะกับซังโน เข้มข้นทุกวินาที แต้มต่อแต้ม กลยุทธ์ต่อกลยุทธ์ เรื่องราวที่เคยถูกปูเอาไว้ตั้งแต่เล่ม 1 เล่ม 2 ถูกหยิบมาใช้อย่างไม่คาดคิด และในเสี้ยววินาทีสุดท้าย ซังโนขึ้นนำ 78-77 รุคาว่า จ่ายบอลให้ซากุรางิ ที่ยืนอยู่โล่งๆ ชู้ตระยะกลางลงไปอย่างสวยงาม เป็น buzzer be**er พาโชโฮคุ เอาชนะซังโนไป 79-78 พลิกล็อกถล่มโลก เขี่ยเต็ง 1 ตกรอบอย่างเหลือเชื่อ
และทันทีที่เอาชนะซังโนได้ ท่ามกลางบรรยากาศของความสุข กับเรตติ้งมหาศาลเป็นอันดับ 1 ของโชเนนจั๊มป์ ผู้เขียนทาเคฮิโกะ อิโนอุเอะ ก็ปิดฉากซีรีส์ทันที ตัดจบเรื่องในตอนที่สนุกที่สุด พีกที่สุด อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดเลย
ในประวัติศาสตร์ของนิตยสารโชเนนจั๊มป์ ไม่เคยมีการ์ตูนเรื่องไหน ที่ได้ขึ้นปกใน ep สุดท้าย แม้แต่ดราก้อนบอล ก็ยังไม่ได้ขึ้นปกตอนจบ นี่ความยิ่งใหญ่จริงๆ ที่สแลมดั๊งค์สร้างอิมแพกต์ ณ ตอนนั้น
จริงอยู่มันเป็นฉากจบที่ยอดเยี่ยม และทำให้คนจดจำได้ อย่างไรก็ตาม มันก็เกิดคำถามเหมือนกันว่า เอาจริงๆสแลมดั๊งค์โดนตัดจบหรือเปล่า เพราะเนื้อเรื่องเหมือนจะไปต่อได้ไกลกว่านี้ จะว่าไปอิโนอุเอะ เคยเขียนตัวละครบางตัวไว้ เช่น โมริชิเงะ ฮิโรชิ จากเทคนิคเมโฮ ของจังหวัดไอจิ ที่เป็นอัจฉริยะปี 1 ซึ่งดูเหมือนจะปูทางให้มาปะทะกับ ซากุรางิในอนาคต แต่สุดท้ายก็ไม่ได้กล่าวถึงอะไรมาก และจบเรื่องไปทั้งๆแบบนั้น
ในเรื่องนี้ สื่อในญี่ปุ่นมีการวิเคราะห์ออกมาหลายแง่มุมมาก ว่ามันเกิดอะไรขึ้น โดยมุมที่น่าเป็นไปได้ มีทั้งหมด 4 ทฤษฎี
1- อิโนอุเอะ เบื่อแล้ว และอยากเริ่มงานในโปรเจ็กต์ใหม่ ซึ่งได้แก่ Vagabond และ Real เขามีไอเดียอยู่ในหัว แต่ไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่จบเรื่องสแลมดั๊งค์ก่อน
2- อิโนอุเอะ อยากให้โชโฮคุ แพ้เทคโนซังโน แต่กองบก.ของโชเนนจั๊มป์ อยากให้ชนะ เขาเลย เขียนให้ชนะก็ได้ แล้วตัดจบไปเลย
3- อิโนอุเอะ มีปัญหากับกองบก.ของโชเนนจั๊มป์ เรื่องส่วนแบ่งลิขสิทธิ์วีดีโอเกม และอะนิเมชั่น จนเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง กองบก.จึงสั่งให้ตัดจบ
4- อิโนอุเอะ ตอนแรกตั้งใจจะเขียนสแลมดั๊งค์ยาวกว่านี้จริงๆ แต่เมื่อเขียนในช่วงอินเตอร์ไฮ เขามองว่าตัวเองไม่สามารถเขียนให้สนุกได้กว่านี้อีกแล้ว ดังนั้นจึงต้องการจบเรื่องราวตอนที่พีกที่สุด เพื่อให้อยู่ในความทรงจำตลอดไป
ทฤษฎีที่คนเชื่อกันว่า เป็นไปได้มากที่สุด คือทฤษฎีที่ 4
ในยุค 90 การ์ตูนสามเรื่องที่สร้างความนิยมและยอดขายให้โชเนนจั๊มป์อย่างมาก คือ ดราก้อนบอล (1984-1995) ,คนเก่งทะลุโลก ยูยูฮาคุโช (1990-1994) และ สแลมดั๊งค์ (1990- ?) จะเห็นได้ว่า เรื่องดังๆเหล่านี้ ไล่ทยอยจบกันไป คนเก่งทะลุโลกจบปี 1994 ตามด้วยดราก้อนบอลจบปี 1995
ดังนั้น เมื่ออิโนอุเอะต้องการขอจบสแลมดั๊งค์ในปี 1996 ทางกองบก. จึงรีบปฏิเสธทันควัน เพราะไม่อยากให้เสาหลักเรื่องสุดท้าย ต้องจบตามไปอีกเรื่อง ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีการ์ตูนที่คอยชูโรง มันย่อมส่งผลต่อยอดขายของนิตยสาร
ณ เวลานั้น ยังไม่มีวันพีซ (1997) และ นารุโตะ (1999) ทางกองบก. จึงพยายามรั้งให้อิโนอุเอะ เขียนเรื่องต่อไปเรื่อยๆ แต่อิโนอุเอะ คิดมาอย่างดีแล้วว่า มันต้องจบตอนที่ชนะเทคโนซังโนเท่านั้น
อิโนอุเอะเคยทวีตข้อความว่า "ผมคิดเรื่องการจบเรื่องสแลมดั๊งค์มาอย่างรอบคอบแล้ว ผมตัดสินใจจะจบเรื่องตอนที่โชโฮคุเอาชนะซังโนได้ ในมุมของผม ไม่มีตอนจบไหนที่จะดีไปกว่านี้อีกแล้ว" กล่าวคือถ้าหากเล่าต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะกลายเป็นการ์ตูนสูตรสำเร็จ โชโฮคุจะเก่งกาจแล้วคว้าแชมป์ระดับประเทศ แล้วสเกลก็ต้องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมันโอเวอร์เกินไป สำหรับซากุรางิ ที่เพิ่งจะหัดเล่นบาสแค่ 4 เดือนเท่านั้น
เมื่อคิดทบทวนแล้วว่า ถ้าเล่าเรื่องไปแบบนั้น มันคงไม่ทำให้สนุกได้กว่านี้อีกแล้ว อิโนอุเอะ จึงจบเรื่องไปแบบนี้เลยดีกว่า ชนะทีมที่แกร่งที่สุด แล้วก็ตกรอบไปเลย
ขณะที่ข่าวลือว่าเขาขัดแย้งหนักกับกองบก. ตัวอิโนอุเอะก็เคยทวีตว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ส่วนประเด็นที่ว่า ถ้าไม่ขัดแย้งกัน ทำไมหลังจากสแลมดั๊งค์ อิโนอุเอะ ไม่เคยเขียนให้โชเนนจั๊มป์อีกเลย คำตอบคือเพราะแนวทางของเรื่องอื่นๆ มันไม่เหมาะกับโชเนนจั๊มป์ที่เป็นการ์ตูนของเด็กวัยรุ่นชาย อย่าง Vagabond มันก็ฆ่ากันเลือดสาด ดังนั้นน่าจะเหมาะกับสำนักพิมพ์อื่นที่เป็นผู้ใหญ่มากกว่า
หลังจากสแลมดั๊งค์ปิดฉากอย่างเป็นทางการ แฟนๆ ก็คาดหวังเสมอว่าอยากให้มีภาคต่อ แต่อิโนอุเอะไม่เคยเขียนอีกเลย ครั้งเดียวที่เขาเขียนสตอรี่ คือวาดเรื่องสั้นคือ 10 days after ในปี 2004 เล่าเหตุการณ์ 10 วัน หลังจากชนะซังโน ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และเป็นการวาดแบบ Drawing ไม่ได้ลงสีละเอียดอะไร และอีกครั้งคือการทำหนังสือ Illustrations เป็นสมุดภาพเฉยๆ เท่านั้น
เรื่องราวของสแลมดั๊งค์ก็เลยจบลงที่ตรงนี้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแค่ 31 เล่มจบ (ระยะเวลาในการ์ตูนคือ 4 เดือน) แต่อิมแพ็กต์ของเรื่อง เกิดขึ้นกับวงการบาสเกตบอลที่ญี่ปุ่นอย่างมหาศาล มันส่งเสริมให้เด็กๆ หันมาเล่นบาสเกตบอลมากขึ้นเป็นประวัติการณ์
อิโนอุเอะ แม้จะไม่เขียนตอนต่อแต่เขาก็สามารถโกยเงินจากสแลมดั๊งค์ไปได้ตลอดชีวิต ยอดขายหนังสือมากกว่า 100 ล้านเล่ม อะนิเมชั่นที่เตรียมจะสร้างใหม่ รวมถึงส่วนแบ่งจากการสร้างเกมสแลมดั๊งค์ มากมายนับสิบเกม ล่าสุดในปี 2020 มีสแลมดั๊งค์โมบายล์ ก็ยังมีคนเล่นอยู่ไม่น้อย มีสินค้าที่ระลึกยังขายได้อยู่เรื่อยๆ
จนถึงวันนี้ ด้วยความที่อิโนอุเอะรวยมหาศาลแล้ว เขาจึงตั้งกองทุนที่ชื่อ The Slam Dunk Scholarship ให้ทุนการศึกษากับเด็กม.ปลาย ที่ต้องการจะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเล่นบาสเกตบอล ซึ่งวันนี้ก็ให้ทุนเด็กม.ปลายไปแล้ว 13 รุ่นด้วยกัน
เรื่องสแลมดั๊งค์ จนถึงวันนี้ก็เป็นแนวทางให้ ศิลปินหลายคนได้เรียนรู้ว่า การสร้างงานให้นิยมเป็นเรื่องที่ยากแล้ว แต่การ "จบ" ให้สมบูรณ์แบบเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าเสียอีก
ละคร ซีรีส์ หรือการ์ตูนบางเรื่อง สร้างความนิยมได้ก็จริง แต่เมื่อไม่รู้ว่าควรจะจบเมื่อไหร่ ก็เลยยืดมันต่อไปเรื่อยๆ และเมื่อทำให้มันเข้มข้นเท่าซีซั่นแรกๆไม่ได้ มันก็เลยถูกจดจำน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น
แต่สแลมดั๊งค์ เลือกจะจบในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ทำให้ชิ้นงานนี้กลายเป็นตำนานจนถึงวันนี้
สแลมดั๊งค์ ปัจจุบันมีอายุ 30 ปีเต็ม แต่ยังถือเป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ยอดเยี่ยมตลอดกาล และเชื่อเถอะว่าหยิบมาอ่านเมื่อไหร่ เราก็ยังรู้สึกอิ่มเอมไปกับมันได้ทุกครั้ง
ก็อย่างที่เขาบอกนั่นแหละ อะไรที่มันคลาสสิค มันจะอยู่เหนือกาลเวลาแบบนี้เอง