06/07/2024
วันนี้ (๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗) เวลา ๐๘.๐๙ น. พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล นายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยอุปนายกและสมาชิกสมาคมชาวปักษ์ใต้ ร่วมสืบสานวัฒนธรรม งานศิลป์ถิ่นปักษ์ใต้ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ “กตัญญูเชิดชูครูต้นโนราห์” ณ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง
วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว
วัดเขียนบางแก้ว วัดพัฒนาตัวอย่างปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ตั้งอยู่เลขที่ ๔๒ บ้านบางแก้ว หมู่ที่ ๔ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ตามประวัติศาสตร์และพงศาวดารมีชื่อเรียกขานกันว่า "วัดเขียนบางแก้ว” ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของโคกเมืองมีคลองบางหลวง หรือคูเมืองกั้นกลาง ในบรรดาวัดเก่าแก่ในจังหวัดพัทลุงถือว่าวัดเขียนบางแก้วเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดมีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ตามตำนานได้กล่าวถึงวัดเขียนบางแก้วไว้ว่านางเลือดขาวเป็นผู้สร้างวัดนี้ โดยได้จารึกเรื่องราวการก่อสร้างลงบนแผ่นทองคำที่เรียกว่า เพลาวัดกล่าวไว้ว่าวัดเขียนบางแก้ว สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๑๔๙๒ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๑๔๙๓ เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเกาะลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์ หรือตามตำนานการสร้างวัดเขียนบางแก้วของพระครูสังฆรักษ์ (เพิ่ม) กล่าวว่าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองพัทลุงเป็นผู้สร้างวัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีเดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุนเอกศก พ.ศ. ๑๔๘๒ (จ.ศ. ๓๐๑) พร้อมกับสร้างพระมหาธาตุและก่อพระเชตุพนวิหาร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. ๑๔๘๖
วัดเขียนบางแก้ว กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๔ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๘๐ และประกาศเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๓ ตอนที่ ๖๕ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๙ มีเนื้อที่ประมาณ ๒๒ ไร่ ๒ งาน ๙๗ ตารางวา และเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น "วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว”
พ่อขุนศรีศรัทธาองค์ต้น "ครูต้นโนรา"
พระองค์เป็นพระโอรสของพระนางนวลทองสำลี ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า พระนางนวลทองสำลีนั้นชื่นชอบการร่ายรำเป็นอย่างมาก และได้ทรงนิมิตเห็นการร่ายรำ ๑๒ ท่า เมื่อตื่นบรรทมมาก็ได้ร่ายรำท่าทั้ง ๑๒ ท่า และเป็นที่โปรดปรานเป็นอย่างมาก จนกระทั่งเกิดเหตุที่พระนางนวลทองสำลีได้ทรงพระครรภ์ขึ้นมาเอง และด้วยเหตุที่กระทำนั้นผิดกฎมณเฑียรบาล
จึงทำให้พระนางนวลทองสำลีต้องพระอาญาถูกเนรเทศด้วยการลอยแพออกจากเมืองเวียงบางแก้ว (ปัจจุบันคือที่ตั้งของวัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง) ซึ่งแพนั้นได้ลอยไปติดเกาะกะชัง ( ปัจจุบันคือเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา) และเมื่อครบถ้วนถึงกาลประสูติ พระนางนวลทองสำลีได้ทรงประสูติพระเทพสิงหร บนเกาะกะชัง (เกาะใหญ่) จนกระทั่งพระเทพสิงหรได้เจริญวัยขึ้น พระนางนวลทองสำลีก็ได้สอนการร่ายรำให้ เมื่อพระเทพสิงหรเติบโตถึงวัยหนุ่ม จึงได้ทูลลาพระนางนวลทองสำลีไปยังบ้านเมืองของพระอัยกา (เจ้าพญาสายฟ้าฟาด)โดยมี พรานทิพย์เป็นผู้ช่วยเหลือ พระเทพสิงหรได้ใช้การร่ายรำที่พระมารดาสอน ใช้ร่ายรำแลกข้าวปลาอาหาร จนมีชาวบ้านช่วยเหลือ และบอกหนทางไปยังเมืองเวียงบางแก้ว ประจวบเหมาะกับมีสัปปบุรุษจากในวังนำเอาเรื่องที่พระนางศรีมาลา (พระอัยกี) ทรงประชวรมาบอก ว่าถ้าใครรักษาอาการประชวรได้จะมีรางวัลให้ พระเทพสิงหลจึงตัดสินพระทัยเดินทางไปยังเวียงบางแก้ว หลังจากที่ร่ายรำจนเสร็จสิ้น พระนางศรีมาลาที่ได้เห็นท่ารำก็พลันหายจากอาการประชวร และพญาสายฟ้าฟาดก็ได้ทราบว่าพระเทพสิงหรคือพระนัดดาของพระองค์
จึงรับเข้าสู่พระราชวังทั้งพระราชทานเครื่องทรงให้ อันประกอบไปด้วย เทริด สำหรับสวมศีรษะ สังวาล และ ปีกนกแอ่น ทับทรวง รัดต้นแขน และ กำไล ดอกจันทน์ปิดด้านหลัง (ประจำยาม) พร้อมแต่งตั้งให้เป็น ขุนศรีศรัทธา เป็นหัวหน้านักรำหลวงมีหน้าที่ในการถ่ายทอดการรำโนราให้อยู่คู่กับเวียงบางแก้ว และการร่ายรำโนราที่พระเทพสิงหรได้เป็นผู้รำนั้น ก็ได้รับการสืบทอดลงมาจนถึงปัจจุบัน
ในวันนี้เราได้มีการจัดงานโดยมีขบวนแห่เจ้าเข้าเวียง บวงสรวงเมืองและรับขวัญเมืองพร้อมทั้งประกอบพิธีอุทิศบุญกุศลให้กับบรรพชนเจ้าเมืองรอบลุ่มทะเลสาปสงขลาและถวายเพลพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนที่มาเข้าร่วมพิธี “โนราบูชาครู กตัญญูเชิดชูครูต้นโนรา”