17/11/2023
กฟผ. ทช. เมืองพัทยา สานพลังร่วมฟื้นฟูอ่าวไทย พร้อมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่งเสริมการประมง สร้างรายได้กระตุ้นเศษฐกิจ
วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2566) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ เมืองพัทยา จัดกิจกรรมจัดวางฐานลงเกาะปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า โครงการบ้านปลา กฟผ. โดยมี นางจินตนา บำรุง ผู้แทนปลัดเมืองพัทยา พร้อมด้วย นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (ทช.) นางสาวสุมิตรา กาญจนมิตร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดชลบุรี ชมรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำแบบเดินใต้ทะเล (Sea Walker) นักดำน้ำอาสาสมัคร เข้าร่วมกิจกรรมนำฐานลงเกาะปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า กฟผ. กว่า 230 ชุด ไปวางบริเวณแนวปะการังพื้นที่เกาะสาก อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
นางจินตนา บำรุง ผู้แทนปลัดเมืองพัทยา เผยว่า ทช. และ กฟผ. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองพัทยา เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นของประเทศไทย โดยฐานลงเกาะปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าจะเป็นแหล่งยึดเกาะปะการัง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศใต้ทะเลได้รับการฟื้นฟูกลับมาอุดมสมบูรณ์ ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและการประมงที่จะช่วยสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจของ จ.ชลบุรี ต่อไป
นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (ทช.) กล่าวว่า ทช. และ กฟผ. ได้ร่วมมือกันในการฟื้นฟูท้องทะเลไทยทั่วประเทศให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์แก่สิ่งมีชีวิตบริเวณแนวปะการังในโครงการบ้านปลา กฟผ. โดย กฟผ. ได้ให้การสนับสนุนลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ครบอายุการใช้งานมาทำเป็นฐานลงเกาะปะการังและนำไปวางในท้องทะเล เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล นับเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ทะเล และเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ในหลายพื้นที่ของ จ.ชลบุรี
นางสาวสุมิตรา กาญจนมิตร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. เปิดเผยว่า ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าเป็นหนึ่งอุปกรณ์สำคัญในการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ในแต่ละปีจะมีลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ครบอายุการใช้งานเป็นจำนวนมาก กฟผ. ได้พิจารณาหาวิธีนำอุปกรณ์นี้มาใช้ประโยชน์โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงนำมาทำเป็นฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการังเพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล พร้อมประสานกับหน่วยงานทางทะเล และสถาบันการศึกษา เพื่อยืนยันลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ทั้งยังเกิดปะการังตามธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา กฟผ. ร่วมกับ เครือข่ายพันธมิตร นำปะการังธรรมชาติจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ไปวางไว้ใต้ทะเลไทยทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2554 โดยวางครั้งแรกที่ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สงขลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต รวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 ชุด พร้อมเดินหน้าโครงการร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ทช. กองทัพเรือ และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 โดยร่วมกันพิจารณาเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อนำลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้ามาสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์ทะเล เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ทะเลตามแนวชายฝั่งให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน