Neighborsofficial

Neighborsofficial เจ้าของบ้านหนึ่งคน .. นำไปสู่แรงบันดาลใจเพื่อพบเจอเพื่อนบ้านอีกหลายคน

“หมอปิง” ที่ปรึกษาปัญหาพฤติกรรมสัตว์…ชวนทุกคนมาเข้า(ถึง)ใจสัตว์เลี้ยง เพื่อสร้าง “สมดุลชีวิตของกันและกัน” ในปัจจุบัน สถา...
12/07/2024

“หมอปิง” ที่ปรึกษาปัญหาพฤติกรรมสัตว์
…ชวนทุกคนมาเข้า(ถึง)ใจสัตว์เลี้ยง
เพื่อสร้าง “สมดุลชีวิตของกันและกัน”
ในปัจจุบัน สถานะของสัตว์เลี้ยงได้แปรเปลี่ยน กลายเป็นดั่งสมาชิกคนนึงของครอบครัว เรามักเห็นหมา หรือแมวอยู่ข้างกายเจ้าของท่ามกลางผู้คนมากมายในร้านอาหาร สวนสาธารณะ หรือตามห้างสรรพสินค้า ภาพคุ้นตาเหล่านี้พาเราชื่นใจเมื่อแรกเห็น บ้างก็ว่าสัตว์เลี้ยงนั้นเป็นตัวแทนของ “ความรักที่แสนจะบริสุทธิ์ และซื่อสัตย์” ราวกับว่าเขาและเรา สามารถสร้าง “สมดุลชีวิตของกันและกัน” ได้อย่างพอดิบพอดี
หากแต่ว่าในความเป็นจริง เมื่อเราพูดถึงความรัก ก็มักจะต้องมีเรื่องของความรู้ หลอมรวมควบคู่กันเป็น “ความสมดุล”
แต่ในเมื่อเราไม่สามารถสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงได้อย่างเข้าใจ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงของเรานั้นมีความสุข และรู้สึกอย่างที่เราคิดจริงๆ
เขาชอบเราจริงๆ ใช่ไหม? เขามีความสุขหรือไม่กับการใช้ชีวิตอยู่กับเรา?
เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ เรามีนัดกับเพื่อนบ้านของเรา “หมอปิง” สัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์ศิริเวช คุณหมอเกริ่นนำกับเรา ว่าการที่จะอธิบายคำถามได้ ต้องอาศัยความเข้าใจใน “พฤติกรรมของสัตว์”
“คือมุมมองของผมในตอนนี้เห็นว่าคนเลี้ยงสัตว์เขามีความคิด ความรัก และความเอาใจใส่กับสัตว์เยอะมากขึ้นนะ และเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ตามเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ แต่ความรักความเอาใส่ใจเหล่านั้นของเจ้าของ มักจะผสมกับความ “คิดไปเอง” ของเจ้าของสัตว์ด้วย
“Anthropomorphism” คุณหมออธิบายเราด้วยศัพท์ทางวิชาการ
“ความหมายของมัน คือ การที่คนเอาความคิดของตนเองไปใส่ในอะไรสักอย่างนึงไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม แน่นอนว่าในที่นี้ ความคิดของเราถูกนำไปใส่ในตัวสัตว์เลี้ยง เมื่อเขาทำอะไรก็ตาม เรามักจะอธิบายการกระทำของเขาโดยเอาความคิดของเราไปครอบการกระทำเหล่านั้น ซึ่งมันจะกระทบต่อสวัสดิภาพของสัตว์โดยตรง”
หมอปิงลองยกตัวอย่างเคสที่พบบ่อย ๆ ให้เราฟัง
“สมมุติเรามีหมา เราก็มักจะพาลูกของเรา(หมา) ให้ไปเจอกับเพื่อนของเรา และเราจะปักธงในใจ เอาความคิดของตัวเราเองไปใส่ให้สัตว์เลี้ยงว่า “มันจะต้องชอบเพื่อนเราแน่ๆ” แต่แทนที่จะเป็นแบบนั้น ลูกของเราดันขู่ เห่า หรือถึงขั้นกัดเพื่อนของเรา ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของเขาเลย เขาอาจจะแค่ไม่พร้อม แค่ต้องการเวลาในการทำความคุ้นเคย ก็เท่านั้น”
“ก็ลองคิดดูว่าขนาดคนเรายังไม่ชอบคุยกับคนแปลกหน้า แล้วหมามันจะชอบได้ยังไง?”
คุณหมอบอกว่า มันจะนำไปสู่การที่สัตว์เลี้ยงเหล่านี้โดนดุ โดนด่า จากเจ้าของ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของสัตว์ และความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของในอนาคตด้วย
“เพราะเราสื่อสารกับเขาไม่ได้ และเขาก็ไม่สามารถเข้าใจความหมายของคำสั่งที่เราพูดออกไป ดังนั้นเจ้าของเองก็ต้องหัดสังเกตภาษากายของเขา ลดความคิดไปเอง เพิ่มความเข้าใจในการแสดงออกของเขาให้มากขึ้น”
กว่าครึ่งชั่วโมงที่เราคุยกับเพื่อนบ้านของเรา
ตอนนี้เราเริ่มเข้าใจได้แล้วว่าการจะเข้าใจสัตว์ได้อย่างแท้จริงนั้น คงต้องถอยกลับไปดูเบื้องลึก เบื้องหลังพฤติกรรมการใช้ชีวิตของสัตว์จริงๆ ________________________________________
แต่ก่อนอื่น..เราขอ “แนะนำเพื่อนบ้านคนนี้ของเรา”
ถึงที่มาและเรื่องราว ที่นำพาเขาเข้าสู่บทบาทของการเป็น “นักพฤติกรรมสัตว์” อย่างเป็นทางการ
“หมอปิง” น.สพ.ภคพล ฟู่เจริญ เจ้าของเพจ “Behavpet - พฤติกรรมสัตว์เลี้ยง” สัตวแพทย์จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกเดินทางไกลไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อหาคำตอบให้กับชีวิต ในเรื่อง “ความสมดุลระหว่างคนและสัตว์”
หมอปิงพาเราย้อนเวลากลับไปยังช่วงชีวิตนิสิตสัตวแพทยศาสตร์ในรั้วมหาวิทยาลัย
แม้จะเป็นเส้นทางที่คุณหมอตัดสินใจแล้วว่า “ใช่” แต่ถึงอย่างไร ก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่ค้างคาใจ ให้คุณหมอเริ่มตั้งคำถาม และเกิดข้อสงสัยในเส้นทางที่ตัวเองเดิน
“เพราะหลักสูตรเน้นไปที่การรักษาสัตว์ “ทางกาย” มากกว่า “ทางใจ” หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ “ชีวิตต้องมาก่อน” ซึ่งเราก็เข้าใจ เพราะปัญหาด้านจิตใจไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตสัตว์โดยตรง”
“จนเรามีโอกาสได้ไปฝึกงานแล้วพบว่าเจ้าของที่พาสัตว์เลี้ยงมารักษา “ทางกาย” มักจะมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงที่บ้านอยู่เสมอ”
คำถามที่ได้รับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้หมอปิงได้ขบคิดปัญหาพฤติกรรม “ทางจิตใจ” ของสัตว์ ว่าแท้จริงแล้ว นี่อาจจะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับเรื่อง “ทางกาย” ก็เป็นได้
ความคิดเหล่านี้ทำให้เพื่อนบ้านของเรา ออกเดินทางไกลไปศึกษาเรื่องพฤติกรรมสัตว์ถึง University of Lincoln ที่ประเทศอังกฤษ ในด้าน Clinical Animal Behavior และได้พบกับคำตอบที่ตัวเองตามหา และพบว่าเรื่อง “พฤติกรรมสัตว์” นั้นยังถือเป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่เฉพาะที่ไทย แต่ยังเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับคนทั้งโลกด้วย
“ผมมองว่าในยุคนั้น ช่วงปี 2019 ผู้คนเพิ่งจะตื่นตัวให้ความสำคัญกับเรื่อง Mental Health ของมนุษย์ ซึ่งผมเองคิดว่าอะไรที่เกิดขึ้นในมนุษย์แล้ว เดี๋ยวของสัตว์ก็จะตามมา”
นั่นเป็นที่มาให้เพื่อนบ้านของเราเริ่มเปิดเพจ “Behavpet - พฤติกรรมสัตว์เลี้ยง” ในปลายปี 2019 เพื่อเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่ให้ความรู้เรื่อง “Mental Health” ของสัตว์แก่ผู้คนที่สนใจ
“ช่วงที่คิดจะเปิดเพจก็กังวลพอสมควร ทั้งตัวเราเองที่เป็นคนค่อนข้างหวงพื้นที่ส่วนตัว ไม่ชอบการออกสื่อ รวมถึงในเรื่องของการสื่อสาร ด้วยความที่ “พฤติกรรมสัตว์” มันเป็นเรื่องนามธรรมมาก ข้อมูลที่สื่อสารออกไปก็รับรู้ก็ยาก และค่อนข้างเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และในกระบวนการทำคอนเทนต์เองเราก็ไม่เชี่ยวชาญ เรื่องภาพ หรือการดีไซน์ตัวคอนเทนต์ก็ค่อนข้างเป็นอุปสรรคในช่วงแรกๆ อยู่เหมือนกัน”
แม้จะมีอุปสรรคแต่เพจนี้ก็ยังถูกสร้างขึ้น เราถามคุณหมอว่าผ่านสิ่งเหล่านั้นมาได้อย่างไร?
“ก็อย่างที่บอกครับ เรามีปัญหาเรื่องการสื่อสารในช่วงแรก ๆ และยุคนั้นจะมีคำพูดที่ว่า คอนเทนต์ที่ดีต้องเห็นแล้วปังทันทีใน 3 วินาที แรก”
ถึงจุดนี้คุณหมอหัวเราะกับเราแล้วบอกว่า 3 วินาที มันจะไปพออะไร ในเมื่อเรื่องที่เราจะสื่อสารมันซับซ้อนมากขนาดนี้
“แต่เราเริ่มเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากทำเพจได้สักพักว่าการสื่อสารที่สำคัญจริง ๆ นั่นคือ “เนื้อหา” ด้วยความที่เนื้อหามันค่อนข้างเฉพาะกลุ่มมาก เราจึงมองย้อนกลับไปยังเป้าหมายแรกเริ่ม คือเราอยากเปิดเพจเพื่อสร้างรากฐานให้คนเข้าใจเรื่อง Mental Health ในสัตว์มากขึ้น ดังนั้นการสื่อสารคอนเทนต์ของเรา แค่มีหัวข้อ และเนื้อหาที่น่าสนใจ กลุ่มเป้าหมายก็อ่านแล้ว แต่ถ้าคนทั่วไปหากเขาไม่ได้สนใจในเรื่องนี้ หรือไม่ได้มีสัตว์เลี้ยง ต่อให้ทำภาพสวยยังไงเขาก็จะไม่อ่าน”
เราสังเกตว่าสีหน้า และแววตาของคุณหมอดูภาคภูมิใจ กับการบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางในฐานะเจ้าของเพจ “Behavpet - พฤติกรรมสัตว์เลี้ยง” ที่นับจวบจนเวลานี้ก็เดินทางเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว
________________________________________
เมื่อพูดคุยมาถึงส่วนนี้เราเริ่มเกิดความสงสัย
แล้วถ้าในฐานะของอาชีพสัตวแพทย์ล่ะ มีปัญหา หรือความท้าทายอะไรบ้างไหมที่เกิดขึ้น ?
“ในฐานะสัตวแพทย์เมื่อเจ้าของสัตว์พาคนไข้ (สัตว์เลี้ยง) มาหา ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหา การเจ็บป่วย “ทางกาย” ที่เกิดขึ้นแล้ว หรือไม่ก็ในเชิงการป้องกันสุขภาพกาย เช่น ป้องกันเห็บ หมัด
มักจะไม่ค่อยมีการนำสัตว์มาหาในแง่พฤติกรรมสัตว์โดยตรงสักเท่าไร ส่วนใหญ่จะเป็นการถามคำถามพ่วงหลังจาก พามารักษาทางกายมากกว่า”
“ส่วนในแง่การป้องกัน “พฤติกรรมของสัตว์” คนไม่ได้ใส่ใจเท่าไร จริงๆ แค่พาสัตว์เลี้ยงไปเข้า Puppy class เพื่อให้เขาเจอสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่หลากหลายตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เกิดการเรียนพฤติกรรมการเรียนรู้ แค่นี้ก็เรียกว่าแทบจะเป็นการป้องกันได้แล้วครับ”
เราฟังดูแล้วก็เป็นการแก้ปัญหาที่ง่าย ไม่ซับซ้อนดี
หากแต่คุณหมอบอกเราว่า “ที่บ้านเรามันไม่ได้เป็นแบบนั้นน่ะสิครับ”
“ที่บ้านเราเนี่ย ก็จะซื้อสัตว์เลี้ยงมาตัวนึง แล้วก็จะคิดแทนมัน เป็นห่วงว่ากลัวมันติดโรค ก็เลยเลี้ยงมันไว้ในบ้าน ขังมันไว้ ไม่ให้มันเจออะไรเลย จนมันเริ่มโตอายุสัก 1 ปี แล้วค่อยปล่อยมันออกมา”
“ผมยกตัวอย่าง มีเด็ก 2 คน คนนึงได้ใช้ภาษาอังกฤษตลอดตั้งแต่เด็ก กับอีกคนไม่เคยใช้เลย จนกระตั้งทั้งคู่อายุ 25 ปี ต้องคุยกับฝรั่ง แน่นอนว่าทั้ง 2 คนนี้จะแตกต่างกันอย่างแน่นอน ซึ่งย้อนกลับไปที่การไม่ให้สัตว์ไปเจอโลกอะไรเลย มันจะส่งผลต่อพฤติกรรมของเขาที่ไม่เกิดการเรียนรู้ และเมื่อเจอสถานการณ์ตรงหน้า เขาจะแสดงออกไม่ถูก เขาอาจจะกัดหรือวิ่งหนีไปเลยก็ได้”
แบบนี้แสดงว่าการเรียนรู้สัตว์ ก็คงเหมือนเด็กทารก ที่ต้องค่อย ๆ ให้เขาเรียนรู้ควบคู่กับเติบโต?
“ถ้าถามว่าลูกสัตว์เหมือนเด็กทารกไหม? ผมตอบว่าใช่ ในแง่ของการเรียนรู้ เขาทำอะไร แล้วได้ผลลัพธ์หรือไม่ได้ผลลัพธ์อย่างไร? โดยหลักการเรียนรู้ของสัตว์ในระดับ Global ในปัจจุบันก็แนะนำเหมือนการฝึกเด็กทารกเลยครับ คือใช้ Positive Reinforcement ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี มากกว่าการ Punishment ตบตี กด หยิก เตะ กระตุกสายจูง”
“และผมไม่เห็นด้วยเลยกับคำว่า หมาแมวพวกนี้ถ้ามันโตแล้วฝึกไม่ได้หรอก คือมันแค่ฝึก “ยาก” กว่าตอนเด็ก แต่ไม่ใช่ว่าจะ “ฝึกไม่ได้” ”
คุณหมอเล่าให้เราฟังว่าอีกหนึ่งความท้าทายในวิชาชีพนี้คือ “การต่อสู้กับความเชื่อ”
“ต้องบอกว่าผมทำงานสัปดาห์ละ 6-7 วัน ต้องบอกว่าไม่เหนื่อยกาย แต่จะเหนื่อยใจมากกว่า เพราะส่วนที่ยากที่สุดในการรักษาคือ “การต่อสู้กับความเชื่อ” ของเจ้าของสัตว์เลี้ยง”
“เพราะเจ้าของมักปักธงเชื่อไปเองว่า ถ้าพามาหาแล้วจะต้องหายในทันทีหลังออกจากห้อง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเจ้าของไม่ยอมทำอะไร ไม่ยอมเปลี่ยนทัศนคติ จะช่วยแค่ไหน ผลลัพธ์ก็คงไม่เกิดขึ้น”
คุณหมอเล่าติดตลกถึงเคสหนึ่งที่คุณหมอเคยพบ
“มีหมาพันธุ์ไทยหวงชามข้าว ทุกครั้งที่กินข้าวเจ้าของก็หวังดีกลัวหมาจะกินไม่สะดวก จึงชอบไปขยับชามข้าว แต่กลับถูกขู่ใส่ เจ้าของเลยมาปรึกษาปัญหานี้กับผม ผมก็ถามเจ้าของกลับว่าแล้วไปยุ่งอะไรกับมัน? ผมลองสมมุติเหตุการณ์ ถ้ามีคนมาขยับชามข้าวตอนที่เรากำลังกิน เราก็คงหงุดหงิดเหมือนกัน”
“เหตุการณ์นี้ก็ย้อนกลับไปยังนิยามของคำว่า “Anthropomorphism” ได้ว่า ก็เพราะตัวเจ้าของเองเอาความคิดตัวเองไปใส่ในตัวสัตว์ ว่าสิ่งที่ฉันทำให้มันต้องดีสิ มันต้องเป็นแบบที่ฉันคิดสิ เหตุการณ์ถึงได้กลายเป็นแบบนี้”
หลังจากฟังคุณหมอมาได้สักพัก เรานึกสงสัย และถามคุณหมออย่างติดตลกไปว่า
สรุปแล้วปัญหานี้ต้องแก้ที่เจ้าของสัตว์ หรือตัวสัตว์เลี้ยงกันแน่?
“ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาทั้งคู่ บางเคสเจ้าของก็เพิ่งเข้าใจว่าฉันก็มีส่วนต้องปรับปรุงตัวเหมือนกัน ผมคิดว่าไม่แปลกถ้าคุณไม่รู้ แต่ถ้าคุณรู้แล้วมองข้ามสิ่งนั้นไปผมก็จะเคารพคุณนะ แต่ผมก็ได้แนะนำและช่วยเหลือคุณอย่างเต็มที่แล้ว”
สรุปคือต้องเข้าใจกันและกัน?
“ใช่ครับ ซึ่งควรต้องเข้าใจกันและก้นตั้งแต่ก่อนเริ่มเลี้ยงแล้ว ว่าทำไมอยากเลี้ยง? ธรรมชาติของสัตว์ตัวนั้นคืออะไร เช่น อยากเลี้ยงแต่ไม่ชอบให้หมาดม หรือไม่ชอบให้ตะกุยซึ่งนั่นเป็นไปไม่ได้เพราะนั่นคือธรรมชาติของเขา”
มีอะไรที่คุณหมออยากฝากถึงคนเลี้ยงสัตว์
“ก่อนจะเลี้ยงควรเช็กว่าเราไหวมั้ย ทั้งค่าใช้จ่าย เรื่องการดูแล สมาชิกในบ้านโอเคหรือไม่
การเลือกชนิดของสัตว์ก็ต้องรู้ความต้องการพื้นฐานเขา เป็นยังไง? กินอะไร? อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน? โรคประจำตัวที่อาจจะไม่เจอในตอนเด็ก แต่เจอในตอนโตมีอะไรบ้าง? รวมถึงโรงพยาบาลใกล้เคียง เข้าถึงได้ไหม หากมีเหตุฉุกเฉิน”
นับตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจเปิดเพจมาตอนนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 5 ผลลัพธ์หรือเป้าหมาย เป็นไปอย่างที่คิดไว้ไหม?
“ผมเองไม่ได้มีเป้าหมายอะไรที่ชัดเจน ถ้าตอบในตอนนี้ก็โอเคที่เรายัง On track อยู่เรื่อยๆ อย่างน้อยเมื่อพูดถึงหมอพฤติกรรมสัตว์ ก็อยากให้ตัวเองอยู่ในตัวเลือกที่ผู้คนจะนึกถึงอันดับแรกๆ ซึ่งก็มีคนสนใจและเข้ามาปรึกษาเรื่อง Mental health ในสัตว์กับผมมากขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ แต่ก็ยังติดในเรื่องของความคิดแทน แต่ก็ดีขึ้นครับ คือเปิดใจฟังมากขึ้น หลัก ๆ ก็คือเจ้าของคิดแทนและซับซ้อนมากเกินไปน่ะครับ นั่นล่ะครับ”
“รวมถึงการสื่อสารที่ออกไป ก็มีคนที่เห็นความสำคัญของพฤติกรรมสัตว์มากขึ้น หรือบางคอนเทนต์เขาได้รับรู้ในสิ่งที่เขากังวลหรือคาใจ ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับตัวเขาเองและสัตว์เลี้ยงของเขาด้วย”
แล้วตัวคุณหมอเองได้อะไรบ้าง ?
“เมื่อเห็นเคสที่รักษาได้ ช่วยเหลือได้ ทำให้ปัญหามันดีขึ้นได้หรือไม่แย่ไปกว่าเดิม ก็เป็นกำลังใจให้นะครับอย่างที่บอกเรายังรู้สึกว่า On track อยู่เรื่อยๆ รวมถึงการขอบคุณจากคนเจ้าของก็เป็นพลังงานที่เติมเชื้อพลังใจให้คุณผมรู้สึก Fullfill เหมือนกันนะ”
เหมือนที่เราคิดไว้ตอนตัดสินใจว่าจะเดินเส้นทางนี้ไหม?
“เอาจริงๆ แรกๆ คิดว่าจะเราจะปังกว่านี้ครับ คือ Fast forward ได้เร็วกว่านี้แต่ความเป็นจริงคือ คนยังไม่เห็นความสำคัญว่า Mental health ในสัตว์มันคืออะไร ดีอย่างไร และมันมีแนวทางช่วยยังไงบ้าง แต่ก็ดีนะครับตอนนี้ก็มีบางคนเอาคลิปผมไปลงให้ความรู้ในกลุ่มแมว ซึ่งผมก็คิดว่าดีเหมือนกัน เหมือนเรายัง On track อยู่ แม้ว่าในตอนนี้ไม่มีเป้าหมายว่าจะไปจบที่ไหนก็ตาม”
“อีกเรื่องคือการที่ได้มาทำ Mental health ในสัตว์เลยรู้ว่าจริงๆ แล้วคนสนใจเรื่องนี้เยอะ เหมือนเป็นคนจุดไฟแล้ว คนอื่นก็ช่วยกันเติมเชื้อเพลิง”
งานที่ทำตอนนี้เรียกว่ามีความสุขได้ไหม? แม้จะเป็นงานที่ต้องรับฟังปัญหาในทุกๆ วันก็ตาม
“จะว่างั้นก็ได้ครับ เพราะสิ่งที่เราทำมันช่วยคนอื่นได้ หรือช่วยสัตว์ได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมก็ไม่ใช่คนแรกในไทยนะที่เคยเรียนด้านนี้ ก็เคยมีคนอื่นที่ศึกษาด้านนี้มาก่อนผมเหมือนกัน แต่ด้วยความที่ในสมัยนั้นยังไม่มีช่องทางการสื่อสารได้มากเท่าวันนี้”
________________________________________
จากการได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านอย่าง คุณหมอปิง เขามุ่งมั่น และพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะเป็นกระบอกเสียงให้แก่สัตว์ทั้งหลายที่เขาพูดกับเราไม่ได้ เป็นการสร้างความสมดุลของมนุษย์และสัตว์ ให้เติมเต็มกันอย่างพอดี และส่งต่อแนวคิดให้ถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้รับรู้ และฉุกคิด และหันมามองสัตว์เลี้ยงในภาพมุมมองแบบใหม่ มุมมองที่เราเข้าใจ และคิดว่าเขาก็เป็นชีวิตหนึ่งเหมือนๆ กันกับเรา ที่ต้องให้เกียรติเขา และเคารพการแสดงออกเสมือนเขาเป็นเพื่อนร่วมทางของเราในโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน
หลังจากแยกย้ายกับคุณหมอ
เราคิดว่าจริงๆ แล้วเรื่อง “พฤติกรรมสัตว์” นั้นอาจจะเหมือนไม้ขีดไฟ มันเคยถูกจุดมาแล้วหลายต่อหลายครั้งแต่ไฟก็ไม่เคยติดเสียที จนกระทั่งการมาของหมอปิง เพื่อนบ้านของเราคนนี้ ที่เข้ามาช่วยเติมเชื้อไฟจุดประกายให้ไม้ขีดนี้ลุกโชนขึ้นมา โดยเราหวังว่าประกายไฟในความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือสัตว์ในครั้งนี้ จะไม่มอดไหม้ และส่งต่อไปได้อีกนานเท่านาน

“ท้องฟ้าที่มองทุกวัน มันไม่เหมือนเดิม ดวงอาทิตย์ก็เช่นกัน เรารู้สึกตื่นเต้นกับธรรมชาติ และมีความสุขกับมัน” คำพูดจากบทสัม...
30/05/2024

“ท้องฟ้าที่มองทุกวัน มันไม่เหมือนเดิม ดวงอาทิตย์ก็เช่นกัน เรารู้สึกตื่นเต้นกับธรรมชาติ และมีความสุขกับมัน”
คำพูดจากบทสัมภาษณ์เพื่อนบ้านของเรา - “คุณเปิ้ล” เจ้าของไร่รื่นรมย์ ผู้หันหลังให้กับชีวิตในเมืองใหญ่ เพื่อสานต่อความชอบด้านเกษตรกรรม จนทำให้เธอค้นพบสิ่งที่ใช่ และพบความหมายของ “สมดุลชีวิต” ที่ “พอดี”
แต่ก่อนอื่น..ก่อนที่เราจะทำความรู้จักเพื่อนบ้านของเราคนนี้ให้มากยิ่งขึ้น
เราขอแจ้งทุกท่านว่า “Neighborsofficial” ได้กลับมาอีกครั้งในฐานะเดิม
“ฐานะของเพื่อนบ้านที่เล่าเรื่องราวของเพื่อนบ้านที่เราได้พบเจอ” และถ่ายทอดแนวคิดเรื่องราวเหล่านั้นผ่านคำจำกัดความที่ว่า “We Believe in balance” เราเชื่อในทุกความสมดุลของโลกใบนี้ และอยากถ่ายทอดเรื่องราวที่เราได้พบเจอเหล่านั้น โดยมีหมุดหมายที่สำคัญ..ที่เราเชื่อมั่น..นั่นคือ “การส่งต่อแรงบันดาลใจ” ให้แก่ทุกคน
เรื่องราวของ “คุณเปิ้ล” เพื่อนบ้านที่เรามองว่าเรื่องราวของเธอนั้นเต็มไปด้วย “แรงบันดาลใจ” ที่จะส่งต่อให้เพื่อนบ้านได้อีกหลายคน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราออกเดินทางไปหาเธอถึงจังหวัดเชียงราย เพื่อทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านของเราคนนี้ ให้มากยิ่งขึ้น…
ทิ้งชีวิตเมืองใหญ่ ก้าวสู่อาชีพเกษตรกรเต็มตัว
จากจุดเริ่มต้นในงานอาสา ทำให้คุณเปิ้ลค้นพบตัวเองว่าเธออยากทำงานพัฒนาชุมชน จึงหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และได้คำตอบว่าเกษตรอินทรีย์คือหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถพัฒนาชุมชนได้เช่นกัน
“ตอนนั้นความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์เราไม่มีเลย จึงไปเรียนรู้ และใช้ชีวิตที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ที่นนทบุรีเป็นเวลา 1 ปี เพื่อดูศักยภาพตัวเราว่าจะทำได้หรือเปล่า จนสุดท้ายก็ตัดสินใจย้ายมาอยู่จังหวัดเชียงราย เพราะครอบครัวซื้อที่ดินไว้อยู่แล้ว” คุณเปิ้ลกล่าวด้วยแววตาเป็นประกาย
เธอใช้แรงกายแรงใจทั้งหมดพลิกฟื้นผืนดินเปล่าของครอบครัว สร้างแปลงเกษตรอินทรีย์กว่า 500 ไร่ ตามแนวพระราชดำริเกษตรพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กระทั่งต่อยอดสู่ “ไร่รื่นรมย์” ไร่เกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่แปลงปลูกผัก แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนได้สัมผัสประสบการณ์การใช้ชีวิต กิน อยู่ นอน เรียนรู้กับธรรมชาติ พร้อมหาคำตอบของจุดสมดุลในตัวเอง ผ่านฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ที่พักฟาร์มสเตย์ กิจกรรมเชิงเกษตร และร้านอาหารออร์แกนิก ซึ่งใช้วัตถุดิบภายในไร่ และวัตถุดิบท้องถิ่นอย่าง งาขี้ม้อน มะแขว่น มารังสรรค์เป็นเมนูอาหารสุขภาพให้ทานง่ายขึ้นในรูปแบบหน้าตาอาหารที่คนทั่วไปคุ้นเคย
“เราอยากเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค ให้ผู้บริโภคได้เห็นคุณค่าของเกษตรกร ผ่านการเรียนรู้ที่มาของอาหาร ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการแปรรูป ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องคำนึงถึงผู้บริโภคด้วย โดยเปลี่ยนจากการทำเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งมอบสุขภาพดีแก่ผู้บริโภคทุกคน”
นิยามความสุขที่วัดเป็นตัวเงินไม่ได้
นิยามความสุขของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนสุขจากการแบ่งปัน บางคนสุขจากการทานอาหารมื้ออร่อย และบางคนสุขเพราะได้สร้างความสุขให้ผู้อื่น
“ความสุขคือการได้เห็นคนรอบตัวมีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งคนที่ทำงานกับเรา เกษตรกร และคนในชุมชน จากตอนแรกพวกเขาไม่เชื่อว่าเกษตรอินทรีย์จะสามารถให้ผลผลิตที่งอกเงยเหมือนอย่างเกษตรเคมีได้ แต่สิ่งที่เราทำ และระยะเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่ามันสามารถทำได้นะ และดีกว่าด้วย มันเป็นความสุขที่วัดเป็นตัวเงินไม่ได้ ” คุณเปิ้ลเล่าให้ทีมงานฟังอย่างภาคภูมิใจ
ส่งต่อแนวคิด ความพอดีที่ยั่งยืน
มากกว่าธุรกิจ คือแนวคิดที่สามารถช่วยพัฒนาสังคม และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ซึ่งแนวคิดไม่สามารถส่งต่อถ่ายทอดได้ในระยะเวลาอันสั้น ต้องอาศัยระยะเวลา และการเชื่อมโยงผู้คน คุณเปิ้ลจึงเล็งเห็นว่า การจะขับเคลื่อนแนวคิด ให้สังคมเติบโต อาจต้องทำผ่านการสร้าง Community ที่ให้ทุกคนได้เข้าถึง ได้ศึกษาความรู้เกี่ยวกับความพอดีที่ยั่งยืน แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับวิถีธรรมชาติ การเกษตรอินทรีย์ หรือการเกษตรเชิงสร้างสรรค์ โดยหวังว่าสิ่งที่พึงกระทำอยู่นั้น จะเป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ ที่คิดและอยากทำในสิ่งที่ชอบ อยากทำเพื่อสังคม จงยึดมั่นเพื่อส่งต่อถ่ายทอดแนวคิดดีๆ ให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป
ความสุขที่ได้สัมผัสจากธรรมชาติ
“เราได้มองท้องฟ้าที่เปลี่ยนไปทุกวัน พระอาทิตย์ขึ้นและตกก็ไม่เหมือนเดิมสักวัน เรารู้สึกตื่นเต้นกับธรรมชาติตลอดเวลา มันเป็นความสุขที่เรียบง่าย ที่ทำให้เราสุขใจ”
“ธรรมชาติให้เรามาทั้งชีวิต ถ้าเราทำร้ายธรรมชาติ สุดท้ายผลลัพธ์ก็ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน หมอกควัน หรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ ทั้งหมดล้วนมาจากธรรมชาติที่เราไปทำร้ายเขาก่อน”
“ธรรมชาติไม่ใช่สิ่งน่ากลัวและลำบากอย่างที่หลายคนกังวล ถ้าเราได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติเราจะเจอตัวเอง เราจะพบคำตอบหลาย ๆ อย่าง”
หาจุดสมดุลในการใช้ชีวิต แล้วจะพบความรื่นรมย์ที่แท้จริง
ความสมดุลไม่ใช่ว่า 50/50 มันแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่ละพื้นที่ ฉะนั้นคนเราต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสมกับตัวเองให้เจอ
“จุดสมดุลในชีวิตสำหรับเปิ้ลก็คือการได้กลับมาอยู่กับธรรมชาติ และมีเวลาคิดทบทวนตัวเอง ซึ่งคำว่าธรรมชาติไม่ใช่ต้นไม้ใบไม้อย่างเดียว แต่รวมถึง “คน” ด้วย มันเป็นความสุขที่ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร แต่ทุกครั้งที่เรามีความสุข มันเป็นแรงผลักดันให้เราทำหน้าที่ปัจจุบันต่อไป และนั่นทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเรามีคุณค่า”
หลังพูดคุยกับคุณเปิ้ล ก็ทำให้เราตระหนักคิดได้ว่า จริงๆ แล้วความสุขคนเราคือมันก็แค่นี้ แค่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ เป็นในสิ่งที่อยากเป็น ถึงจะเหนื่อยแต่มีความสุข โดยไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างสมบูรณ์แบบเหมือนที่คนอื่นคาดหวัง เพราะเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

ชีวิต ปรัชญา กาแฟ ความขี้เกียจ และความรักคือส่วนผสมของ “ราก” แห่งชีวิตที่สมดุลแซวะ ศิวกร โอ่โดเชา” ปราชญ์รุ่นใหม่ชาวปกาเ...
19/01/2024

ชีวิต ปรัชญา กาแฟ ความขี้เกียจ และความรัก
คือส่วนผสมของ “ราก” แห่งชีวิตที่สมดุล
แซวะ ศิวกร โอ่โดเชา” ปราชญ์รุ่นใหม่ชาวปกาเกอะญอ ผู้สืบทอดปรัชญาการใช้ชีวิตจากบรรพบุรุษ
จากกรุงเทพ สู่เชียงใหม่ ที่บ้านหนองเต่า อำเภอแม่วาง ทีมเพื่อนบ้านได้เดินทางเพื่อมาพบชายคนหนึ่ง ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ “วิธีการใช้ชีวิต” ที่ต่างออกไป แต่จุดหมายคือความสุขที่สมดุลแบบแท้จริง
“พี่แซวะ ศิวกร โอ่โดเชา” ปราชญ์รุ่นใหม่ชาวปกาเกอะญอ ผู้ที่เบื้องหน้าคือเจ้าของ Lazy Man Coffee และเป็นผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำกาแฟให้กับชุมชน และได้รับการยอมรับระดับโลก แต่เบื้องหลังของคุณแซวะ คือคุณพ่อหัวหน้าครอบครัว ที่นำพาตัวเองคืนสู่รากของบรรพบุรุษ และส่งต่อความงอกงามนั้นให้กับ “ครอบครัว” ของตนเอง ด้วยความรัก ความเชื่อ และความศรัทธาอย่างลึกซึ้ง
วันนี้เราจะพาเปิดอีกมุมของชายคนนี้ .. มุมที่จิตใจของคุณจะอิ่มเอมด้วยความคิดถึง “บ้าน”
หาก “ชีวิต” คืออาหารหนึ่งจาน คุณคิดว่าส่วนผสมที่ลงตัวที่สุดของเราคืออะไร ?
เพราะชีวิตไม่ได้ตั้งอยู่ด้วยสิ่งเดียวไปตลอดชีวิต ล้วนแต่เต็มไปด้วยส่วนผสมที่แตกต่างกันไป แต่จุดสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นชีวิตเราชัดเจนขึ้น คือการย้อนกลับมามอง “ราก” ของตัวเองให้ได้เสียก่อน ว่าเรามาจากไหน และเราเป็นใคร
#ถ้ารากเรามั่นคงเราก็จะเติบโตได้อย่างงดงาม
จากเด็กหนุ่มที่ออกไปไกลกว่า “ #ราก” ของตัวเอง แต่พอย้อนกลับมาก็พบว่า “ #รากนั้นคือบ้านที่แท้จริง”
พี่แซวะ คือลูกชายที่ครอบครัวส่งไปเรียนในโรงเรียนนอกหมู่บ้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงมอ.ปลาย ก็มีเหตุให้ต้องกลับบ้าน แม้จะมีคำถามกับตัวเองในการกลับบ้าน แต่เมื่อกลับมาแล้ว เขากลับรู้สึกว่า นี่เองคือคำว่า “บ้าน” ที่หายจากเขาไปนานแสนนาน และเป็นบ้านจริง ๆ แบบที่หาที่ไหนไม่ได้
“จุดเริ่มต้นก็คือผมไปเรียน ไปเรียนตั้งแต่ประถมที่หมู่บ้านนี้ แล้วประถมปลายก็ไปหมู่บ้านหนึ่ง จนมอ.ปลาย ก็ไปอีกที่หนึ่ง มันค่อย ๆ ไกลบ้านออกไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งมีเหตุให้เป็นสภาพบังคับที่ผมต้องกลับมา ตอนนั้นก็คิดว่าจะเอาไงดี กลับดีไหม .. คือ โลกที่ผมเกิดมาและผมอยู่ ผมห่างหายจากมันไปนานแล้ว ซึ่งอันนี้ก็พอเราได้กลับมาเหมือนกับว่าเรากลับไปสู่คําที่เรียกว่าบ้าน .. บ้านที่แท้จริง ซึ่งมันก็คือบ้านเกิดเรา ที่ที่อบอุ่น มันเป็นความสุขแบบเปรมปรีดิ์ที่สัมผัสได้ทั้งจิตใจและปฏิบัติ”
#บ้านที่ครูมีอยู่ทุกที่ ... ห้องสมุดในชีวิตจริงที่เอื้อเฟื้ออารี จนสัมผัสได้ถึงชีวิตและความสุขที่ปลอดภัย”
คำว่า “บ้านที่แท้จริง” ของพี่แซวะ ไม่ใช่แค่หมายถึงความอบอุ่น แต่คือความอุ่นใจที่ไม่ว่าเราจะเป็นใคร แต่ทุกคนในหมู่บ้านล้วนแต่เป็นครูของเรา เราอยากทำงานอะไร ทำตรงไหน ก็มีคนเก่าคนแก่คอยสอน ไม่มีมาตรวัดเป็นเกรดเฉลี่ยตัวเลข แต่คือเกรดของความสุขที่ไม่มีจำกัด
“คือพอผมกลับมาบ้าน ชุมชนชาวปกาเกอะญอจะมีพื้นฐานอยู่อย่างหนึ่ง คือถ้าเราไปช่วยอะไรเขา เขาก็จะมาช่วยเรา ถ้าผมมีทักษะไม่ดี คนที่ทักษะดีกว่าก็จะมาช่วย ผมได้เรียนรู้วิถีอีกอย่างหนึ่งเลย คือวิถีแห่งความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน มีครูอยู่ทุกที่ในชุมชน มันไม่เหมือนตอนไปเรียน ที่ครูจะบอกว่าเราต้องได้คะแนนเยอะถึงจะเก่ง คนไหนได้คะแนนท้าย ๆ มันจะรู้สึกแย่ แต่ถ้าอยู่ที่นี่ถ้าทำไม่เป็นก็มีคนสอนให้เราจนทำเป็น กลับบ้านคราวนี้เลยทำให้ผมได้สัมผัสจิตใจผู้คนและชีวิตที่มันง่าย ๆ สบายใจมาก ไม่ต้องแข่งกับใคร”
#ปรัชญาง่าย ๆ ของปกาเกอะญอ - ใช้อะไร ก็ดูแลสิ่งนั้น #แค่เท่ากันก็เท่าเทียม”
หลังจากเราได้พูดคุยกับพี่แซวะ นอกจากความอบอุ่นที่เรามองเห็นจากความเป็นชาวปกาเกอะญอ อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาสืบทอดกันมา คือปรัชญาการใช้ชีวิต ที่ทำให้ผู้คนทุกคนในชุมชนสามารถ “หยั่งราก” ของตัวเองได้อย่างแนบแน่น
“บรรพบุรุษเราสอนทุกอย่างจากธรรมชาติ เราใช้อะไรเราก็ดูแล เราใช้ดินปลูกข้าวก็ต้องรักษาดิน กินข้าวก็ต้องดูแลต้นข้าว กินน้ำก็ต้องดูแลต้นน้ำ หลักการมันคือเรื่องง่าย ๆ แต่มีคุณค่าและความหมาย เราอยู่ไหนแล้วเราดูแลมันให้ดี ชีวิตเราก็จะดี ธรรมชาติก็จะเท่าเทียมเรา”
และอีกหนึ่งในปรัชญาบรรพบุรุษ “ #ความขี้เกียจคือการปล่อยวาง” จากนิทานสู่ธุรกิจและการสืบต่อชีวิต
เราเรียนรู้มากมายอย่างอบอุ่นหัวใจจากคำสอนของบรรพบุรุษชาวปกาเกอะญอ แต่อีกสิ่งที่เราไม่สามารถลืมได้ คือที่มาของปรัชญาความขี้เกียจ ที่นำมาสู่ร้าน Lazy Man Coffee และผลิตภัณฑ์จากกาแฟของพี่แซวะ
ที่มาของความขี้เกียจ ก็คือความขี้เกียจ แต่ความขี้เกียจจะนำไปสู่วัฏจักรแบบธรรมชาติด้วยตัวเอง
“เรื่องความขี้เกียจ จริง ๆ เป็นนิทานของบรรพบุรุษเลยนะ แต่ก่อนก็ไม่เข้าใจ แต่พอได้เรียนรู้จึงเข้าใจมัน จริง ๆ จุดเริ่มต้นของความขี้เกียจนี่เริ่มมาจากพ่อ พ่อเค้าไปทำสวน แต่สมัยก่อนมันปลูกอย่างเดียวแล้วขาย ก็ต้องใส่ปุ๋ย ใส่ยา แต่พอเงินไม่พอ ปุ๋ยยาก็ไม่ถึง มันก็เป็นหนี้ จนพ่อคิดได้ว่าทำไปทำไม ทำก็เป็นหนี้ ก็เลยขี้เกียจลองปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติดู อยากปลูกอะไรก็ปลูก โยนมันไปเรื่อย ๆ พอเป็นแบบนี้วัฏจักรธรรมชาติมันเริ่มฟื้นตัวเอง กลับมาเป็นความหลากหลาย ดินดีขึ้น โยนอะไรไปก็ขึ้น”
เหมือนจะเป็นเรื่องตลกของคนขี้เกียจ แต่ก็เป็นความขี้เกียจที่ต้องเชื่อมั่นในแนวทางของตัวเองพอสมควร ต้องหักห้ามใจไม่ไปใส่ยา ปล่อยวางให้มันเป็นไป มันอาจจะไม่สวยงามเรียงแถวเหมือนการเกษตรทั่วไป แต่มันจะหลากหลายและสมบูรณ์แน่นอน
“กุญแจสำคัญของความขี้เกียจ มันไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลยนะ แต่มันคือการทำงานนี่แหละ แต่ทำงานในทางของตัวเอง อย่างไร่ผมเนี่ย กาแฟก็มาจากความขี้เกียจที่เราโยนเมล็ดลงไป แต่พอดินมันสมบูรณ์มาก ๆ โยนอะไรไปก็ขึ้น กาแฟเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ในไร่นี้มีพืชผลไม้กว่า 30 ชนิด สวนคนขี้เกียจที่อยากกินอะไรก็ไปเก็บมากิน มันก็สบายอีกแบบ”
ความสำเร็จและความสุขที่พี่แซวะมอบให้พวกเราในวันนี้ มันคงไม่ใช่แค่มาจากความขี้เกียจ แต่ล้วนมาจากความเชื่อมั่น และศรัทธาในปรัชญาการใช้ชีวิตที่ลึกซึ้งของบรรพบุรุษ ความเข้าใจถึงแก่นแท้ใน “ #ราก” ของตัวเอง จนรู้ว่า เรามีตัวเป็นแบบใดในโลกใบนี้
“หากต้นไม้ทุกต้นแข็งแรงได้จากราก คนเราเองก็แข็งแรงและเติบโตจากรากเช่นกัน”
หยั่งรากของตัวเองให้ลึกมากพอ และเราจะแข็งแรงพอที่จะตอบได้ว่า เราคือใคร และเจอ “ #ธรรมะ” ที่หมายถึงทาง ทางที่เหมาะและสมดุลกับเราที่สุดในวันหนึ่ง ..

ธรรมชาติกับสิ่งที่เราอยู่ ทำให้ดำเนินชีวิตไปแบบปกติสุข  ใช้ชีวิตของตัวเองให้เป็นปกติ นั่นคือ ดีที่สุด- คุณเมย์ สุภิสาข์ ...
05/07/2023

ธรรมชาติกับสิ่งที่เราอยู่ ทำให้ดำเนินชีวิตไปแบบปกติสุข ใช้ชีวิตของตัวเองให้เป็นปกติ นั่นคือ ดีที่สุด
- คุณเมย์ สุภิสาข์ มัยขุนทด เจ้าของสวนเพชร ริเวอร์วิว รีสอร์ต จ.เพชรบุรี -
ความว้าวุ่นภายในใจจะด้วยปัจจัยใดที่ทำให้ชีวิตไม่เรียบง่ายและต้องคอยครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาจนทำใจไม่เป็นสุข แต่หากปล่อยให้ชีวิตเดินไปอย่างช้า ๆ ใช้เวลากับธรรมชาติจะพบทางแห่งความสงบ ที่รู้สึกตัวอีกทีก็ถูกธรรมชาติบำบัด เติมเต็มชีวิตในอีกมุมหนึ่งไปแล้ว

ธรรมชาติมอบพลังของความสุข ช่วงเวลาของความสงบ จากการได้เดินทางไปที่ สวนเพชร ริเวอร์วิว รีสอร์ต อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยมี “คุณเมย์ - สุภิสาข์ มัยขุนทด” ผู้ดูแลรีสอร์ตแห่งนี้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ แปลงผักอินทรีย์ วิวอันสวยงามจากแม่น้ำ... ซึ่งกว่าจะเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ขนาด 30 ไร่นี้ได้ ต้องผ่านช่วงเวลาของการต่อสู้และเรียนรู้เพื่อให้ธุรกิจได้ไปต่อ จนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้การเกษตรที่น่าสนใจ จึงทำให้การเดินทางในครั้งนี้เป็นอีกหนี่งประสบการณ์ที่มีค่าและมีความหมาย ณ เกาะเกษตรอินทรีย์

#เสียงของความสุขสู่การสร้างรีสอร์ตริมแม่น้ำ

สวนเพชร ริเวอร์วิว รีสอร์ต ถูกจุดประกายด้วยเสียงของความสุขจากผู้พักในรีสอร์ตแห่งหนึ่ง ที่ร้องเพลงกันสนุกสนาน ทำให้คนแถวนั้นได้ยิน รวมถึงคุณพ่อของคุณเมย์ที่ไปทำงานใกล้ ๆ แถวนั้นพอดี จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ฝันอยากเปิดรีสอร์ตของตัวเองแบบนี้บ้าง เพื่อมอบความสุขให้กับนักท่องเที่ยว จนในที่สุดก็เปิดได้จริง ๆ และกลายเป็นธุรกิจของครอบครัว แต่เรื่องราวที่เหมือนจะสวยงามก็ไม่ได้เรียบง่ายเสมอไป
“จากที่ดินที่ซื้อไว้ติดริมแม่น้ำที่เป็นที่ดินค่อนข้างสวย คิดแค่ว่ามีที่ติดแม่น้ำ จะปลูกผักแล้วก็ขายอย่างเดียว แต่ได้แรงบันดาลใจจากการไปทำงานที่อื่นและเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีแต่ความสุข คนมาพักก็มีความสุข เลยลงทุนทำรีสอร์ต แต่ก็เจอปัญหาช่วงธุรกิจซบเซา คนไม่ท่องเที่ยว จนเมื่อปี 58 คุณพ่อถามในที่ประชุมพี่น้องทุกคนว่าขายที่นี่ไหม แต่สุดท้ายทุกคนบอกไม่ขาย จะสู้เพราะมันคือที่ผืนหลักของครอบครัวที่เป็นเหมือนจุดศูนย์รวม”
#วางชีวิตคนเมืองเพื่อสานต่อความฝันของพ่อ

ชีวิตการทำงานของคุณเมย์หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ ซึ่งไม่เคยวางแผนว่าจะต้องหลีกหนีความวุ่นวาย ความเร่งรีบและรถติด เพื่อกลับมาใช้ชีวิตต่างจังหวัด แต่เมื่อครอบครัวพบวิกฤตทางธุรกิจ จึงทำให้คุณเมย์ตัดสินใจกลับมาช่วยที่บ้าน แม้จะยังไม่เห็นหนทางว่าจะไปต่อได้อย่างไร รู้เพียงต้องสู้ และมองหาสิ่งใหม่เพื่อให้รีสอร์ตของครอบครัวเดินต่อไปได้
“คุยกับทางบ้านว่าเราต้องมองหาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะต้องฟื้นธุรกิจกลับมาให้ได้ พอมาพูดคุยกันแล้วตกผลึกไปเจอกุญแจบางอย่าง คือ คุณพ่อทำเกษตรมาค่อนชีวิต แต่เราไม่เคยเอาสิ่งที่คุณพ่อถนัดมาใช้ประโยชน์จริง ๆ กับรีสอร์ตเลย จึงลองเอาเรื่องของการทำเกษตรมาแมตช์กับธุรกิจรีสอร์ต จากนั้นก็ออกไปหาความรู้จากที่ปราชญ์ต่าง ๆ เลยค่อย ๆ กลายมาเป็นการทำธุรกิจรีสอร์ตและสร้างพื้นที่การเรียนรู้”
สิ่งรอบตัวสร้างแรงบันดาลใจในการปลูกผักอินทรีย์

“พื้นที่เดิมที่มีอยู่เราไม่เคยใช้ประโยชน์อะไรจริงจัง เพราะว่าตอนนั้นที่คุณพ่อสร้างรีสอร์ต แต่พื้นที่ฝั่งตรงข้ามเราเป็นของอีกคนที่เขากำลังเล็งว่าจะทำเหมืองทราย คุณพ่อเลยตัดสินใจซื้อที่ดิน 20 ไร่ ตรงนั้น เพราะไม่อยากทำวิวที่เป็นธรรมชาติมันเสียไป และมองเรื่องการกิน การอยู่ การใช้ในครอบครัว เลยปลูกเอาไว้เป็นพืชหมุนเวียนเพื่อไว้สำหรับทำอาหารทานในครอบครัว นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ว่าลดรายจ่ายในครัวเรือนก่อนเป้าหมายแรก และนำมาทำเป็นเมนูให้ลูกค้ากิน ปรากฏว่าลูกค้าก็พอใจ บางทีลูกค้าขอไปเดินดูในแปลงผัก เลยกลายเป็นกิจกรรมให้ลูกค้า ซึ่งบางคนแค่ต้นของผักยังไม่เคยเห็น มันเลยกลายเป็นลูกโซ่ต่อไปเรื่อย ๆ”
สิ่งที่เล่า ไม่เท่าสัมผัสเอง คุณเมย์จึงได้พาเที่ยวชมเกาะเกษตรอินทรีย์ ที่สร้างขึ้นจากหัวใจและให้ความสำคัญกับธรรมชาติ จากพื้นที่ต้อนรับบริเวณหน้ารีสอร์ตข้ามสะพานเหล็ก โดยมีด้านล่างเป็นสายน้ำที่ไหลมาจากเขื่อนแก่งกระจาน พร้อมด้วยสายลมที่พัดมาให้คลายร้อน กลายเป็นภาพของความประทับใจที่ธรรมชาติได้มอบให้เราอย่างไม่รู้ตัว
#เกาะเกษตรอินทรีย์ ที่ให้คุณค่าในทุกพื้นที่

เกษตรอินทรีย์ไม่ได้หมายถึงเพียงการปลูกพืชผลทางการเกษตรเท่านั้น แต่คุณเมย์เล่าด้วยแววตาแห่งความสุขว่า สัตว์เลี้ยงเป็นอินทรีย์ได้ด้วยเช่นกัน พร้อมพาไปชมไก่อินทรีย์ที่สัมผัสได้ถึงความอารมณ์ดี พร้อมบ่อปลา บ่อกบ และดินที่ปรุงขึ้นมาเอง โดยให้ความใส่ใจในทุกพื้นที่ของสวนแห่งนี้
“การเลี้ยงไก่ไข่ ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 100 ตัว เราเลี้ยงในระบบอินทรีย์จนได้รับการยอมรับได้ใบรับรองมาตรฐานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไก่อินทรีย์จะเป็นขั้นสุดกว่าไก่อารมณ์ดี อาหารถือเป็นสิ่งสำคัญต้องเป็นอาหารจากธรรมชาติ ต้องเป็นผักที่ปลอดสาร และวัตถุดิบหลักอีกอย่าง คือ รำและปลายข้าว ต้องมาจากแหล่งปลูกที่เป็นอินทรีย์ มีใบรับรองที่มีมาตรฐาน ไก่ไข่อินทรีย์ค่อนข้างจะทำยากและต้นทุนสูง จะซื้อแม่ไก่สาวและนำปรับวิธีการเลี้ยงก่อน มีการปรับเรื่องอาหาร ช่วงระยะปรับเปลี่ยนเป็น 2 เดือนอย่างต่ำ ไม่มีการฉีดวัคซีน แต่ใช้การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยสมุนไพร แล้วก็มาเลี้ยงปลา เลี้ยงกบขยายไปเรื่อย ๆ”
“ที่ผ่านมาลูกค้าต้องการเยอะ แต่เราพยายามทำตามที่กำลังเราทำได้ มองว่าศักยภาพเราแค่นี้พอใจแล้ว ถ้าเราโลภเมื่อไหร่เราจะเหนื่อย จะไม่มีความสุข เราเลือกที่จะไม่ส่งซูเปอร์มาร์เก็ตแม้จะคนติดต่อมาเยอะมาก เป็นคนชอบถามตัวเองว่า เราต้องการตรงนั้นไหม อยู่จุดไหนแล้วเรามีความสุขและสบายใจ เพียงแค่ตอบตัวเอง เอาแค่นี้แหละ... พอแล้ว วันนี้คือมีความสุขกับการได้แบบอยู่กับพื้นที่สีเขียว อยู่กับเกษตร และอยู่กับสัตว์”

#ความสุขที่สัมผัสได้จากธรรมชาติ

ณ เกาะเกษตรอินทรีย์แห่งนี้ ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ถูกรายล้อมไปด้วยธรรมชาติ ให้ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ท่ามกลางความสงบ กลายเป็นความสุขที่เรียบง่ายของคุณเมย์เพียงแค่ได้อยู่กับสัตว์เลี้ยงและตั้งใจดูแลเขาอย่างเต็มที่
“พี่เป็นคนชอบอยู่กับธรรมชาติ ชอบอยู่กับสัตว์ คุยกับมันแม้แต่ตัวกบตัวเล็ก ๆ เราอยู่กับสัตว์แล้วเรามีความสุข เราคิดแค่ว่าตอนแรก ๆ ที่เริ่มเลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เหมือนเราต้องรับผิดชอบชีวิตเขา ก็เลยกลายเป็นว่าต้องทำให้เขารู้สึกว่า เขาอยู่แล้วเขามีความสุข ถึงแม้วันหนึ่งเขาตายก็ให้มันเป็นการตายแบบธรรมชาติของเขา ไม่ได้เกิดจากการที่เราไม่ดูแลเขา สำหรับไก่จะมีการปลดกรง คือ 3 ปี มันจะไม่ไข่แล้ว พอปลดกรงก็จะให้คนอื่นไป แต่เขาจะไปทำอะไร เราต้องทำใจเพราะแล้วแต่เขา ตอนอยู่กับเราคือเราดูแลเขาเต็มที่แล้ว”
#ทำเพื่อ “เขา” และ “เรา” ให้มีความสุข

ทุกอย่างบนโลกนี้ความสุขที่แท้จริง คือต้องสุขทั้งเขาและเรา เขาสุขเราทุกข์ นั่นไม่ใช่ความสุข เราสุขเขาทุกข์ ก็ไม่ใช่ความสุขอีก ซึ่งที่เกาะเกษตรอินทรีย์แห่งนี้คือที่ที่เป็นความสุขที่แท้จริง เพราะคุณเมย์ทำทุกอย่างด้วยความสุข เพื่อให้สัตว์ทุกตัวมีความสุข ใช้ชีวิตตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ ภาพที่คุณเมย์พาเราไปดูที่ต่าง ๆ และมีสุนัขรู้ใจ 2 ตัว ที่คอยตามติดคุณเมย์ไม่ห่าง เป็นภาพที่ชวนให้ยิ้มตามไปกับความสุขท่ามกลางธรรมชาติ แม้จะบอกว่าการกลับมาช่วยที่บ้านครั้งนี้ คือ การเริ่มจากศูนย์ แต่ด้วยความตั้งใจที่ไม่ยอมแพ้ ทำให้คุณเมย์ได้เดินทางสู่ศูนย์การเรียนรู้ที่มอบทั้งความรู้และความสุขให้กับผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว
“ตอนนั้นที่กลับมาทำอะไรไม่เป็น เริ่มจากศูนย์จริง ๆ แต่จะเป็นคนชอบถามตัวเองว่า พอใจตรงไหน มีความสุขแล้วหรือยัง เวลานี้เป็นยังไงเช็คสภาพจิตใจตัวเองตลอด พอมันเริ่มไปต่อได้ เราเริ่มรู้สึกว่า อยากให้อะไรกับคนข้างนอกบ้างเวลาที่เดินทางเข้ามา อย่างน้อย ๆ ให้เข้ามาเดินดูแล้วเขาได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ได้เห็นต้นไม้สีเขียวแล้วเขามีความสุขกลับไป เราก็โอเค แต่ถ้าจะดียิ่งกว่าถ้าเขามาแล้วเขาได้อะไรกลับไป อย่างเช่น มาเรียนเรื่องทำปุ๋ย มาขอความรู้เรื่องการการปลูกต้นไม้ แล้วเขาได้กลับไปทำจริง ๆ และเขามีความสุข แล้วก็กลับมาบอกเราว่าลองกลับไปทำแล้วดีนะ คือ มันเป็นเรื่องเล็กมากเลยนะแต่เรารู้สึกว่า... มันดี ตอนนี้ก็เลยทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ คนทั่วไปสามารถเข้ามาเดินดูได้ หรือถ้าต้องการความรู้แบบเจาะจงสามารถนัดวิทยากรวิทยากรซึ่ง คือ ตัวเราเอง คุณพ่อ และพี่ๆ ที่จะคอยให้ความรู้”
#ความปกติ คือ ความสุขในชีวิต

ชีวิตที่ไม่ต้องรีบร้อน และปล่อยให้ดำเนินไปตามธรรมชาติ มีความสุขอย่างสมดุลเป็นมุมมองที่คุณเมย์สัมผัสได้จากการใช้เวลาอยู่ที่ สวนเพชร ริเวอร์วิว รีสอร์ต แห่งนี้
“ความปกติ คือ ความสุข
ความปกติ คือ ธรรมชาติ
ธรรมชาติ คือ ความปกติ
“ความปกติที่ไม่ทุกข์เกินไป ไม่สุขเกินไป ถ้าหากสุขเกินไปแล้วรู้สึกว่าไม่โอเค จะทำให้รู้สึกว่าผิดปกติหรือเปล่า คนเราต้องมีเรื่องทุกข์เข้ามาบ้าง สุข - ทุกข์ มันคู่กัน ใช้ชีวิตของตัวเองให้เป็นปกติที่สุดนั่นคือดีที่สุด ไม่ต้องมากเกินไป ไม่ต้องน้อยเกินไป ทุกอย่างเป็นเหมือนความสมดุล มันดีสำหรับตัวของเราเองในการเลือกที่จะมองแบบนี้ ซึ่งมองว่า คือ หลักธรรม .. ธรรมะเท่ากับธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติแล้วมันเหมือนไม่รีบ ด้วยตัวของธรรมชาติกับสิ่งที่เราอยู่ มันดำเนินชีวิตไปแบบปกติสุข”
สายลมที่พัดผ่านช่วยทำให้กายได้ผ่อนคลาย สายน้ำที่ไหลเย็นช่วยทำให้ใจเย็นได้ ลองปล่อยใจให้ได้หยุดคิด ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ อาจได้สัมผัสความสุข ความสงบ อย่างเรียบง่าย เหมือนอย่างที่เราได้ออกเดินทางมาสัมผัสธรรมชาติในครั้งนี้ เพราะเราอยากเห็นเพื่อนบ้านทุกคนมีความสุข

อ่านเรื่องราวของดีๆของเพื่อนบ้านได้ที่ : https://story.theneighbors.co/suanpech/

ที่อยู่

414 Siam Patumwan House 19th Floor, Phayathai Road, Wang Mai, Phatum Wan
Bangkok
10330

เวลาทำการ

จันทร์ 09:00 - 20:00
อังคาร 09:00 - 20:00
พุธ 09:00 - 20:00
พฤหัสบดี 09:00 - 17:00
ศุกร์ 09:00 - 20:00

เบอร์โทรศัพท์

+66969691465

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ Neighborsofficialผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

ติดต่อ ธุรกิจของเรา

ส่งข้อความของคุณถึง Neighborsofficial:

แชร์

THENEIGHBORS.CO

Friendly media with the positive perspective, be our neighbors, believe in balance

ตำแหน่งใกล้เคียง บริษัท สื่อ


ผู้จััดพิมพ์เผยแพร่ อื่นๆใน Bangkok

แสดงผลทั้งหมด

คุณอาจจะชอบ