Is Life Life & Environment Life & Environment - บันทึกเหตุการณ์สำคัญทางสิ่งแวดล้อม ในยุคแอนโทรโปซีน (Anthropocene)

ตามหาเสือที่สูญพันธุ์ อินโดนีเซียตามหาเสือโคร่งชวา หลังพบขนเส้นเดียวบางครั้ง ‘ความหวัง’ ก็เดินทางมาถึงโดยไม่ทันตั้งตัว…ต...
08/04/2024

ตามหาเสือที่สูญพันธุ์ อินโดนีเซียตามหาเสือโคร่งชวา หลังพบขนเส้นเดียว
บางครั้ง ‘ความหวัง’ ก็เดินทางมาถึงโดยไม่ทันตั้งตัว…
ตลอดเวลาเกือบสองทศวรรษหลังจาก ‘เสือโคร่งชวา’ ถูกประกาศว่าสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ ก็ยังมี ‘ข่าวลือ’ ถึงการพบเจอเสือสายพันธุ์นี้ปรากฏอยู่บ่อยๆ
แต่ส่วนมาก ผู้ที่อ้างว่าพบก็ไม่มีหลักฐานประกอบ และบางครั้งเมื่อตรวจสอบ ก็เจอเพียงแค่เสือดาว หาใช่เสือโคร่งดังที่กล่าวอ้างไม่
เว้นก็แต่ในปี 2019 ที่มีผู้อ้างว่าพบเห็นเสือโคร่งชวาที่ชายป่าซูกาบูมี มีพยานพบเห็นด้วยกัน 5 คน พร้อมกันนั้นยังได้หลักฐานสำคัญอย่าง ‘เส้นขน’ จำนวนหนึ่งเส้น และรอยเท้าที่แลละม้ายคล้ายเสือ
ผ่านวันล่วงเลยมา 5 ปีให้หลัง ผลการวิเคราะห์ขนเส้นดังกล่าวก็ให้คำตอบว่า มีความใกล้เคียงกับขนของเสือโคร่งชวา 97.8 เปอร์เซ็นต์
งานศึกษานี้ดำเนินการโดยสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (National Research and Innovation Agengy) ที่ได้ศึกษาขนเพียงเส้นเดียวที่เก็บได้ นำมาเปรียบเทียบกับหนังสือโคร่งชวาที่ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งทางชวาตะวันตก
เพราะต้องปฏิบัติหลายขั้นตอน (วิธีตรวจสอบ) กว่าจะผลได้จึงกินเวลานาน แต่ผลที่ออกมาก็นับว่ามีความหมายและมีความหวัง
จากผลที่ได้ นักวิเคราะห์มองว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่เสือโคร่งชวาอาจยังมีชีวิตอยู่ที่ใดสักแห่งในผืนป่าของเกาะชวา
นับเป็นหลักฐานการมีอยู่ที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีในยุคสมัยปัจจุบัน
เสือโคร่งชวานั้นเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยที่อยู่ร่วมกับเสือโคร่งสุมาตรา และเสือโคร่งบาหลี
เป็นหนึ่งในชีวิตที่วิวัฒนาการมาในยุคน้ำแข็งสุดท้ายเมื่อ 11,000 - 12,000 ปีก่อน และเคยเตร็ดเตร่อยู่ทั่วเกาะชวาก่อนค่อยๆ ล้มหายตายจากจนสูญพันธุ์ด้วยสาเหตุหลายประการ
การล่าเพื่อการค้าหนังคือหนึ่งในสาเหตุหลัก มีบันทึกการล่าที่หนักหน่วงในช่วง ค.ศ. 1830 - 1850
จำนวนมนุษย์ที่ตั้งรกรากอาศัยเพิ่มมากขึ้น ได้เปลี่ยนบ้านของเสือให้เป็นนาข้าวและพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อปลูกไม้สัก กาแฟ ยางพารา จากที่เคยมีป่า 23 เปอร์เซ็นต์ บนเกาะในปี 1938 พอปี 1975 ป่าบนเกาะชวาก็เหลือเพียง 8 เปอร์เซ็นต์
กวางที่เป็นอาหารหลักของเสือก็ถูกล่าจนสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ ค.ศ. 1960
ปัญหาการเมืองในประเทสผลักดันให้กุ่มติดอาวุธเข้าป่า และล่าเสือเพื่อความอยู่รอด
หลายสิ่งหลายอย่างผสมรวมจนเสือโคร่งชวาลดลงอย่างกู่ไม่กลับ
ตัวเลขที่พอจะชัดเจนนั้น คาดว่าในปี 1960 เหลือเสือโคร่งในป่าธรรมชาติแค่เพียง 12 ตัว
แต่หลังจากปี 1980 เป็นต้นมา ก็ไม่พบร่อยเหลือหรือหลักฐานที่น่าเชื่อถือถึงการมีอยู่ของเสือโคร่งชวาอีกเลย
จนกระทั่งปี 2008 เสือโคร่งชวาก็ถูกประกาศให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปอย่างเป็นทางการ
และท่ามกลางคำกล่าวอ้างมากมายที่มีผู้ระบุว่าพบเห็นเสือโคร่งชวาอยู่เรื่อยๆ หลังประกาศว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว (แต่หาหลักฐานไม่ได้) จนกระทั่งในปี 2019 ที่มีพยานพบเห็นพร้อมกัน 5 คน และมีหลักฐานเป็นขนหนึ่งเส้น พร้อมผลการพิสูจน์กว่า 5 ปี ว่ามีความเป็นไปได้มากกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ ว่านี่คือขนของเสือโคร่งชวา
ดูเหมือนเรื่องราวการค้นหาเสือโคร่งชวาที่สาบสูญและสูญพันธุ์จะเริ่มมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง
ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ลองฮึดสู้ดีครั้ง
เรามาลองทำงานวิจัยเรื่องเสือที่สูญพันธุ์ เพิ่มจำนวนกล้องดักถ่าย ออกนโยบายค้นหาและอนุรักษ์กันดูสักครั้งดีไหม
ไม่แน่ นี่อาจเป็นโอกาสที่สองในการอนุรักษ์สายพันธุ์ท้องถิ่น เพื่อแสดงเจตนารมย์ให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงเผ่าพันธุ์ของผู้ทำลาย
แต่ยังเป็นเผ่าพันธุ์ที่เจริญทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ พร้อมแชร์โลกให้กับทุกสรรพชีวิตได้อยู่อาศัยร่วมกันโดยมีความสมดุลเป็นแกนกลาง
และนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน
อ้างอิง
‘The Javan tiger still exists’ : DNA find may herald an extinct species’ comeback https://shorturl.asia/gE6bY
Javan tiger https://shorturl.asia/oVD7x

ผืนป่าทั่วโลกกำลังหายไป นาทีละ 10 สนามฟุตบอลหากใครติดตามข่าวสารสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ คงคุ้นเคยกับประโยค “ผืนป่าทั่วโลกกำล...
06/04/2024

ผืนป่าทั่วโลกกำลังหายไป นาทีละ 10 สนามฟุตบอล
หากใครติดตามข่าวสารสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ คงคุ้นเคยกับประโยค “ผืนป่าทั่วโลกกำลังหายไป นาทีละ 10 สนามฟุตบอล”
ข้อมูลนี้เป็นรายงานของ Global Forest Watch ที่สรุปภาพรวมประจำปีของผืนป่าทั่วโลกและเผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2022
แต่หลังจากนั้นผ่านมา 2 ปี ดูเหมือนเรื่องราวจะวนกลับมาเป็นเหมือนเก่า
รายงานของ Global Forest Watch ในปีนี้ ก็ยังคงนำคำว่า “หายไปนาทีละ 10 สนามฟุตบอล” กลับมาใช้ใหม่
นั่นหมายความว่า ในภาพรวมโลกยังคงสูญเสียผืนป่าไปอย่างน่าใจหาย
และความหวังในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังอยู่ห่างไกลกับคำว่าชัยชนะ
สำหรับรายงานสถานะของผืนป่าปีล่าสุด สถานการณ์ของปี 2023 ที่ผ่านมา บางประเทศสามารถลดอัตราการทำลายผืนป่าลงได้ แต่บางประเทศการทำลายกลับเพิ่มมากขึ้น
มีประเทศที่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ 2 ก้าว แต่บางประเทศกลับเดินถอยหลังกลับไป 2 ก้าว
นั่นจึงทำให้บทสรุปการสูญเสียผืนที่ป่า ยังคงสถานะไว้ที่ “นาทีละ 10 สนามฟุตบอล” เหมือนเก่าก่อน
โดยในปีที่ผ่านมาโลกเสียป่าไป 3.7 ล้านเฮกตาร์ หรือ 23,125,000 ไร่
ประเทศบราซิลยังครองแชมป์เสียป่ามากที่สุด ตามมาด้วยสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และโบลิเวีย
10 อันดับประเทศที่เสียป่ามากที่สุดในปี 2023 ประกอบด้วย
1. บราซิล
2. สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
3. โบลิเวีย
4. อินโดนีเซีย
5. เปรู
6. ลาว
7. แคเมอรูน
8. มาดากัสการ์
9. มาเลเซีย
10. โคลอมเบีย
ส่วนในปี 2022 10 อันดับประเทศที่เสียป่ามากที่สุด ประกอบด้วย
1. บราซิล
2. สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
3. โบลิเวีย
4. อินโดนีเซีย
5. เปรู
6. โคลอมเบีย
7. ลาว
8. แคเมอรูน
9. ปาปัวนิวกินี
10. มาเลเซีย
จากข้อมูล แม้บราซิลจะครองแชมป์ประเทศเสียป่ามากที่สุด แต่มีข่าวดีว่า การเสียป่าในประเทศลดลงจากปีก่อน 36 เปอร์เซ็นต์
แต่ดังที่เกริ่นไป บางประเทศกลับมีสถิติการเสียป่าเพิ่มมากขึ้น อาทิ โบลิเวีย ลาว นิการากัว
ทั้ง 3 ประเทศนี้ ประสบการเสียป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากไฟป่าและการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม
ในกรณีของประเทศลาว การขยายตัวทางการเกษตรส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากความต้องการและการลงทุนของจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดจากลาว
พร้อมกันนั้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อเร็วๆ นี้ในลาว เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากถางป่าเพื่อการผลิตทางการเกษตร
ขณะที่เกินกว่าครึ่งของการเสียป่าของโบลิเวีย มาจากความรุนแรงของไฟป่า ต้นตอคือการเผาที่เพื่อทำเกษตรกรรม
แต่ไฟกลับลุกลามใหญ่โตเพราะอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นในปี 2023 ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปรากฏการณ์เอลนีโญทางธรรมชาติ
นอกจาก 10 ประเทศที่เสียป่ามากสุดแล้ว แคนาดา ถือเป็นอีกประเทศที่สถิติเสียป่าเพิ่มขึ้นจากเหตุไฟป่า เพราะสภาพอากาศที่ร้อนรุนแรงขึ้น
ด้วยสถานการณ์ที่หลายๆ ประเทศกำลังเผชิญการสูญเสียพื้นที่ป่าอยู่นี้ เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มแล้ว มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่เป้าหมายการยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 จะทำไม่สำเร็จ
โดยในแง่สถิติ ถ้าต้องการไม่ให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าอีกต่อไป (ในปี 2030) ระดับการตัดไม้ทำลายป่าจะต้องลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ ในทุกๆ ปี
แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่อธิบายได้ว่ายังอยู่ห่างจากความเป็นไปได้
รายงานวิเคราะห์ว่า เจตจำนงค์ทางการเมืองมีส่วนสำคัญในการยุติการตัดไม้ทำลายป่า
ดังเช่นการเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ ‘ลูอิส อิกนาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา’ ในบราซิล ที่ต้องการปกป้องป่า สวนทางกับอดีตประธานาธิบดี ‘ฌาอีร์ โบลโซนารู’ อย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ สิ่งจูงใจที่ยั่งยืนคือกลไกทางการเงินที่ให้ความสำคัญกับป่าไม้ยืนต้นเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อทำให้ป่าไม้มีความเสี่ยงน้อยลงต่อการถูกทำลายจากฟาร์ม เหมือง โครงสร้างพื้นฐาน หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ
หากสามารถให้แรงจูงใจทางการเงินสำหรับการคุ้มครองและฟื้นฟูป่าไม้โดยการประเมินมูลค่า เช่น คาร์บอนในป่า ก็อาจช่วยได้
อีกสิ่งสำคัญคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร ที่จะไม่พึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีส่วนต่อการตัดไม้ทำลายป่า
ทั้งหมดทั้งมวลต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
อ้างอิง
Forest Pulse: The Latest on the World’s Forests https://shorturl.asia/3uFng
Glasgow leaders’ declaration on forests and land use https://shorturl.asia/EDqxf

แมงป่องชนิดใหม่ พบที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบนพื้นที่ 2,915 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถือเป็นผืนป่าอนุรักษ...
05/04/2024

แมงป่องชนิดใหม่ พบที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
บนพื้นที่ 2,915 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถือเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ส่วนเรื่องความอุดมสมบูรณ์นั้นคงไม่ต้องกล่าวถึง เมื่อถูกรับรองเป็น ‘มรดกทางธรรมชาติของโลก’ แล้ว ย่อมหมายความว่า…
“เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก”
หลักฐานนั้นการันตีย้ำอีกครั้งเมื่อมีการค้นพบ ‘แมงป่อง’ ชนิดใหม่ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
มันถูกเรียกว่า Scorpiops (Euscorpiops) krachan ตามชื่อสถานที่ค้นพบ
เจ้าตัวนี้เป็นสมาชิกวงศ์ Scorpiopidea Kraepelin
พบโดย วศิน นวเนติวงศ์ นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ร่วมกับ ผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ อาจารย์ที่ปรึกษา และนักวิจัยชาวต่างชาติ
ลักษณะเฉพาะของแมงป่องชนิดนี้ มีลำตัวสีเหลืองถึงเหลืองน้ำตาล ขนาดเล็กเมื่อเทียบกับแมงป่องชนิดอื่นๆ คล้ายกับแมงป่องชนิด Scorpiops (Euscorpiops) phatoensis
ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการพบแมงป่องชนิดนี้ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย นอกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
แมงป่องจัดเป็นสัตว์ในยุคดึกดำบรรพ์ อยู่อาศัยมาบนโลกนับตั้งแต่ยุคซิลลูเรียน หรือราว 440 ล้านปีก่อน
ทั่วโลกพบแมงป่องมากกว่า 1,000 ชนิด ในประเทศไทยมีรายงานการค้นพบก่อนหน้านี้ 11 ชนิด แต่เชื่อว่ามีมากกว่านี้
แมงป่องทุกชนิดมีพิษ เป็นสารประกอบพวกโปรตีน แต่ละชนิดมีความรุนแรงของพิษแตกต่างกัน
แมงป่องที่มีพิษร้ายแรงถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ส่วนมากจะพบในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก
ส่วนแมงป่องที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดที่มีพิษไม่ร้ายแรง
แมงป่องใช้พิษเพื่อทำให้เหยื่อมีอาการเป็นอัมพาต แล้วจึงค่อยๆ กินเหยื่อเป็นอาหาร
แมงป่องจึงเป็นผู้ล่าที่สำคัญต่อระบบนิเวศ ช่วยควบคุมจำนวนของเหยื่อได้แก่ แมลง และสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กๆ
ปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับพิษของแมงป่องเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น ใช้พิษแมงป่องฆ่าเซลล์มะเร็ง
ในบางประเทศ แมงป่องในธรรมชาติถูกล่าอย่างหนัก เพราะพิษมีราคาสูง จนบางชนิดสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
อ้างอิง
A new species of the genus Scorpiops Peters, 1861, subgenus Euscorpiops Vachon, 1980 from Thailand (Scorpiones, Scorpiopidae) https://shorturl.asia/3io7I
Venom-extraction and exotic pet trade may hasten the extinction of scorpions https://shorturl.asia/4oVOJ

พลาสติกในอึแรด อีกหนึ่งภัยคุกคามแรดในเนปาลทุกวันนี้มีขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลหลุดลอยเข้าสู่ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ถุงใบน้อยหน...
30/03/2024

พลาสติกในอึแรด อีกหนึ่งภัยคุกคามแรดในเนปาล
ทุกวันนี้มีขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลหลุดลอยเข้าสู่ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม
ถุงใบน้อยหน้ำหนักเบาถูกลมพัดปลิวไปถึงในป่า ถูกกระแสน้ำพาลอยไปไกลกลางมหาสมุทร
และการเดินทางของขยะหลายชิ้น มักมีปลายทางลงเอยไปตกอยู่ในกระเพาะของสิ่งมีชีวิต
ตามรายงานฉบับใหม่ แรดในประเทศเนปาลคือสิ่งมีชีวิตรายล่าสุดที่กำลังเผชิญหน้ากับขยะพลาสติก
โดยมีการพบขยะพลาสติกปะปนเป็นเนื้อเดียวกันกับกองมูลของแรดในอุทยานแห่งชาติจิตวัน สถานที่ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์แรดแห่งใหญ่ของประเทศ
จากที่มีแรดทั้งหมดกว่า 700 ตัว ก็อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งนี้ถึงกว่า 600 ตัวด้วยกัน
พลาสติก รวมถึงขยะประเภทอื่นๆ ที่พบปะปนอยู่ในอึของแรดนั้น มีทั้งลูกบอลพลาสติก ฝาขวดน้ำอัดลม ถุงยาสูบแบบเคี้ยว ถุงพลาสติก
ซึ่งในที่นี้นับเฉพาะขยะพลาสติกชนิดที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ยังไม่รู้ว่าในอึจะมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่อีกสักเท่าไหร่
แถมอึที่ปนกับพลาสติกยังพบมากในเขตอนุรักษ์ที่ห้ามคนเข้าไปเที่ยวชมมากกว่าพื้นที่รอบนอกที่อนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ได้เสียอีก
ตามรายงานคาดว่าขยะอาจเดินทางมาถึงพื้นที่อนุรักษ์จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ขยะอาจไหลมาติดตามขอบลำธาร กระทั่งแรดที่ลงมากินอาหารเผลอเคี้ยวสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เข้าไป
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการว่า พลาสติกเป็นสาเหตุที่ทำให้แรดตาย
รวมถึงยังไม่แน่ใจเรื่องผลกระทบต่อสภาพร่างกาย - เพราะยังไม่เคยมีการศึกษาปัญหาพลาสติกกับแรดมาก่อน
แต่ก็คาดเดาได้ว่าสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้คงมีผลกระทบกับแรดไม่ต่างจากที่สัตว์อื่นๆ เคยเผชิญ
ตามที่มีข้อมูลว่า เมื่อสัตว์กินพลาสติกเข้าไปแล้ว มันจะสร้างปัญหากับการย่อยอาหาร ระบบเผาผลาญ และการสืบพันธุ์ได้
ส่วนแรดจะเป็นเหมือนสัตว์อื่นๆ หรือไม่ ก็คงต้องสำรวจตรวจสอบและวิจัยกันต่อไป
ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การตรวจสอบ นับจำนวนประชากรแรด รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับการตายของแรดในหลายๆ ครั้งไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา
หากไม่นับเป็นการตายเพราะการล่าที่เหลือหลักฐานเรื่องนอที่หายไปแล้วนั้น การตายด้วยสาเหตุอื่นๆ มักมีคำวินิจฉัยที่คลุมเครือ
ด้วยเหตุและปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเดินทางเข้าถึงที่ช้าเกินไป หรือเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ขัดขวางการเดินทาง
กว่าเจ้าหน้าที่อนุรักษ์จะเดินทางไปถึงซากสัตว์ก็เริ่มเน่า ทำให้การวินิจฉัยทำได้ยาก
ที่ผ่านมา มีการตั้งสาเหตุการตายไว้หลายอย่าง เช่น จากภัยธรรมชาติ อายุและความแข็งแรง
แต่หลังจากนี้อาจต้องนับประเด็นเรื่องขยะพลาสติกเพิ่มเข้าไปอีกอย่าง
สำหรับแนวทางแก้ไข ตอนนี้มีข้อเสนอให้สำรวจและอาจต้องทำความสะอาดป่าจากขยะแปลกปลอมทุกครั้งหลังฤดูน้ำหลากที่อาจพัดพาขยะแปลกปลอมเข้ามาสู่บ้านของสัตว์ป่า และเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศเนปาล
นอกจากแรดแนว ในพื้นที่อนุรักษ์แห่งนี้ยังเป็นบ้านของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะช้างป่า หรือเสือโคร่งเบงกอล
การมีอยู่ของพลาสติกในพื้นที่อนุรักษ์ย่อมไม่ใช่เรื่องดีกับกลุ่มสัตว์ที่เปราะบางอย่างแน่นอน
เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าขยะพลาสติกของประเทศเนปาลรั่วไหลเข้าสู่ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมประมาณ 20.7 กิโลตันต่อปี
หรือคิดเป็นประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณการใช้พลาสติกทั้งหมดต่อปี
สาเหตุโดยตรงมาจากการขาดนโยบายจัดการขยะพลาสติกในประเทศ ปัญหายังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอีกเนื่องจากการขาดข้อมูลเกี่ยวกับขยะพลาสติกเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการนโยบาย ทำให้การจัดการขยะพลาสติกขาดประสิทธิภาพ
สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเนปาลเป็นหนึ่งบทเรียนที่เราควรเรียนรู้และแก้ไข
ในประเทศไทยเคยมีเหตุการณ์ช้างตายเพราะพลาสติกมาแล้ว
ส่วนสัตว์ทะเลนั้นมีมากมายเกินจะนับ
หวังว่าการแก้ที่ต้นทางจะเกิดขึ้นโดยเร็ววันนี้
อ้างอิง
Nepal’s rhinos are eating plastic waste, study finds https://shorturl.asia/FMoLQ
752 one-horned rhinos in Nepal determined by the National Rhino Count 2021 https://shorturl.asia/YutG6
Circular Economy of Plastics https://shorturl.asia/StQXL
15 กรกฎาคม 2563 สัตว์ตายเพราะพลาสติก ตอกย้ำวิกฤติมลพิษขยะในไทย https://shorturl.asia/fDkQx

ธรรมชาติทำให้เด็กสุขภาพดี งานวิจัยใหม่ชี้เด็กที่มีบ้านอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวจะมีกระดูกแข็งแรงขึ้นเป็นเรื่องที่ทราบกันดีว...
29/03/2024

ธรรมชาติทำให้เด็กสุขภาพดี งานวิจัยใหม่ชี้เด็กที่มีบ้านอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวจะมีกระดูกแข็งแรงขึ้น
เป็นเรื่องที่ทราบกันดีว่าธรรมชาตินั้นส่งผลแง่บวกกับทุกคนที่ได้สัมผัส
มีคุณทั้งต่อจิตใจและร่างกาย ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ ชาย หญิง LGBTQ+ ต่างได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียม
และในงานวิจัยชิ้นใหม่ ก็ได้ฉายสรรพคุณของโลกธรรมชาติเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งอย่าง
โดยพบว่า เด็กๆ ที่มีบ้านอยู่ใกล้แมกไม้จะ ‘มีกระดูกที่แข็งแรงขึ้น’ อย่างมีนัยสำคัญ
และอาจส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว จนถึงวันล่วงเลยวัยหนุ่ม
การศึกษาที่ว่าทีมวิจัยได้ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสพื้นที่สีเขียวบริเวณที่อยู่อาศัยของเด็กอายุ 4 - 6 ปี จำนวนประมาณ 300 คน ในภูมิภาคฟลานเดอเริน เป็นเวลา 7 ปี (ค.ศ. 2014-2021)
แล้วนำมาเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยการอัลตราซาวด์
ซึ่งได้ผลออกมาว่า เด็กจำนวน 20 - 25 เปอร์เซ็นต์ มีความแข็งแรงของกระดูกเพิ่มขึ้น ซึ่งเทียบเท่ากับการเติบโตตามธรรมชาติในครึ่งปี
และโอกาสที่จะเป็นเด็กเหล่านี้จะมีความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำ ยังลดลงมากถึง 66 เปอร์เซ็นต์
รวมถึงอาจส่งผลให้คนสูงวัยที่เติบโตมากับธรรมชาติยังมีกระดูกที่แข็งแรงอยู่ไม่เปราะเร็วเกินไป (แต่เรื่องหลังยังเป็นเพียงการคำนวณ)
ความแข็งแรงของกระดูกที่ได้ นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่าคงเกิดจากการออกกำลังกายในระดับที่สูงขึ้นของเด็กที่มีบ้านอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะ
เพราะการมีพื้นที่สีเขียวใกล้บ้าน คือการเพิ่มโอกาสได้เด็กได้ออกกำลังกาย ตัวอย่างเช่นการปีนป่ายต้นไม้ หรือได้วิ่งเล่น
และมันก็คงตรงกันข้ามกับเด็กที่โตมากับห้องสี่เหลี่ยมที่ทำอะไรไม่ได้มากนัก
นอกจากผลลัพธ์เรื่องร่างกายแล้ว สิ่งสำคัญที่ได้จากงานวิจัยนี้ยังเน้นย้ำให้เห็นคุณค่าของการออกกำลังกาย
ตลอดจนการออกแบบเมืองให้มีพื้นที่สีเขียว อย่างน้อยๆ ก็สวนสาธารณะ ซึ่งจะเอื้อให้เด็กพัฒนาร่างกายให้แข็งแรงในช่วงที่ร่างกายต้องการสิ่งกระตุ้นการเจริญเติบโต
หรือกล่าวแบบเว่อร์หน่อย ก็อาจเปรียบเปรยได้ว่า รู้หรือไม่ การวางผังเมืองสัมพันธ์กับพัฒนาการกระดูกในวัยเด็ก
และถึงแม้การศึกษาจะไม่ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนเลยว่าธรรมชาติสัมพันธ์กับร่างกายอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสะได้ คือ การมีพื้นที่สีเขียวย่อมกว่าไม่มี
และย้ำเตือนให้เราทราบอีกครั้งว่า ธรรมชาติเอื้ออารรีย์ต่อชีวิตเราเพียงใด แม้จะมันจะเป็นผลทางอ้อมก็ตาม
อ้างอิง
Children living near green spaces ‘have stronger bones’ https://shorturl.asia/0HlFw

‘คิเมียรา สุภาเพ’ พบ ‘ฉลามผี’ สายพันธุ์ใหม่ ใต้ทะเลอันดามัน‘ฉลามผี’ ไม่ใช่ผี แต่เป็นชื่อเรียกสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง อาศัยอ...
25/03/2024

‘คิเมียรา สุภาเพ’ พบ ‘ฉลามผี’ สายพันธุ์ใหม่ ใต้ทะเลอันดามัน
‘ฉลามผี’ ไม่ใช่ผี แต่เป็นชื่อเรียกสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ตามใต้ทะเลลึก เป็นหนึ่งในวิวัฒนาการเก่าแก่ที่แยกตัวออกมาจากฉลามเมื่อ 400 ล้านปีก่อน
จะเรียกว่าเป็นญาติห่างๆ ของฉลามหรือกระเบนก็ได้
ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีรายงานการพบฉลามผีชนิดใหม่ที่ว่ายเวียนอยู่ใต้ทะเลลึกของน่านน้ำอันดามัน ประเทศไทย
โดยมันถูกจับได้เมื่อปี 2018 ใต้ทะเลอันดามันที่ความลึกราวๆ 772 - 775 เมตร
นับว่าเป็นความโชคดี หรืออาจกล่าวว่าทะเลทางฝั่งอันดามันมีความหลากหลายทางชีวภาพมากก็ได้ เนื่องจากปกติไม่ค่อยมีการพบเจอฉลามผีทางภูมิภาคนี้สักเท่าไหร่
และไม่พบเลยในอาร์กติก (หรืออาจยังไม่มีการค้นพบ)
จากข้อมูลในอดีต ฉลามผีมักอาศัยอยู่ตามไหล่ทวีป และสันเขามหาสมุทรใต้ทะเลลึก
จะพบได้ที่ระดับความลึกต่ำกว่า 1,640 ฟุต หรือราวๆ 500 เมตร
แฝงตัวอยู่ในน่านน้ำมืด หาอาหารจากสัตว์ที่อาศัยอยู่ในก้นทะเล เช่น สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง หอย และหนอน
ที่ผ่านมามนุษย์รู้จักกับฉลามผีไปแล้ว 53 สายพันธุ์ ตัวที่เพิ่งพบใหม่ที่ทะเลอันดามันจึงเป็นสายพันธุ์ที่ 54 ที่เราได้รู้จัก
ฉลามผีตัวดังกล่าว ถูกเรียกว่า ‘คิเมียรา สุภาเพ’
คิเมียรา (Chimaera) ชื่อเรียกสากลของฉลามผี มาจากสัตว์ในเทวตำนานกรีก เกิดจากการรวมกันของสัตว์ร้าย 3 ชนิด คือ มีหัวเป็นสิงโต ลำตัวเป็นแพะ และข้างท้ายเป็นงูหรือมังกร
โดยทั่วไป คำนี้ยังถูกใช้เรียกสัตว์ที่มีลักษณะประหลาดหรือน่ากลัว
ส่วนชื่อหลังเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์สุภาพ มงคลประสิทธิ์ อดีตคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานปลา
ในรายงานข่าวระบุไว้ว่า เป็นสายพันธุ์ใหม่ ไม่เคยเห็นมาก่อน มีหัวขนาดใหญ่ ดวงตาขนาดยักษ์ มีสีรุ้ง และครีบที่มีขนนก
ลำตัวบาง ผิวหนัง สีน้ำตาลเข้มสม่ำเสมอ ช่องด้านข้าง และช่องปากมีกิ่งก้านสาขาเหมือนกัน
ขอบด้านหลังของครีบหลังนูนเล็กน้อย กระดูกสันหลังด้านหลังยาว 27% BDL ยาวกว่าครีบหลังแรก
มีสัณฐานวิทยาใกล้กับ Chimaera macrospina จากออสเตรเลีย แต่ต่างกันในความยาวของ ventral caudal lobe, ความยาวของช่องจมูก และความยาวของขอบด้านหน้าของครีบหลัง (pectoral fin)
แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยใต้ทะเลลึก มีโอกาสพบเห็นไม่บ่อย แต่คาดกันว่าฉลามผีก็ตกเป็นเหยื่อการทำประมงเกินขนาดเช่นกัน
ดังที่มีชื่อฉลามผี 4 สายพันธุ์ ปรากฏอยู่รายงานการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำพวกฉลาม กระเบน โรนิน ที่ออกมาเมื่อปี 2021
หรือหากอ้างอิงตามข้อมูลบัญชีแดงไอยูซีเอ็นก็จะพบว่ามีบางสายพันธุ์มีถานะสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU - Vulnerable species) และ สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (NT - Near Threatened)
อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า ปัจจุบันเรามีข้อมูลของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้น้อย ในความเป็นจริงสามารถเป็นไปได้ทั้ง ยังอยู่มีสุขหรืออาจวิกฤตแล้วก็ได้
หรือบางสายพันธุ์ที่เรายังไม่เคยได้รู้จักก็อาจสูญพันธุ์ไปแล้วก็ได้
อ้างอิง
Chimaera supapae (Holocephali: Chimaeriformes: Chimaeridae), a new species of chimaera from the Andaman Sea of Thailand https://shorturl.asia/9Oauf
'Ghost shark' with enormous head and giant iridescent eyes discovered off Thailand https://shorturl.asia/XJ20u
Overfishing drives over one-third of all sharks and rays toward a global extinction crisis https://shorturl.asia/bgRVf
IUCN Red List Chimaera https://shorturl.asia/WN0mp

ตายปีละแสนตัว ประมง มลพิษ ถูกใช้เป็นเหยื่อ ภัยคุกคามโลมาและวาฬขนาดเล็กการล่าสัตว์ทะเลอย่างพวกโลมา พอร์พอยส์ หรือวาฬขนาดเ...
15/03/2024

ตายปีละแสนตัว ประมง มลพิษ ถูกใช้เป็นเหยื่อ ภัยคุกคามโลมาและวาฬขนาดเล็ก
การล่าสัตว์ทะเลอย่างพวกโลมา พอร์พอยส์ หรือวาฬขนาดเล็ก (ขนาดไม่เกิน 4 เมตร) อาจเป็นที่รู้จักกันในฐานะแหล่งอาหารของชนพื้นเมืองหลายแห่ง
ปัจจุบันยังปรากฏพบอยู่ในแคนาดา เดนมาร์ก หมู่เกาะแฟโร กรีนแลนด์ ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา
และล่าได้เพียงตามจำนวนที่กำหนด
หากแต่ในความเป็นจริง นอกจากการล่าเพื่อยังชีพแล้ว สัตว์น้ำกลุ่มนี้ยังเผชิญกับภัยคุกคามอื่นๆ อีกหลายอย่าง
ที่สามารถสรุปตัวเลขได้เร็วๆ ว่าอาจมีสัตว์น้ำกลุ่มนี้ตายสูงถึงหนึ่งแสนตัวต่อปี
โดยพบการจับสัตว์กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นในบราซิล แคนาดา หมู่เกาะแฟโร กานา กรีนแลนด์ อินโดนีเซีย ไนจีเรีย หมู่เกาะโซโลมอน ศรีลังกา ไต้หวัน และเวเนซุเอลา
สาเหตุหนึ่งแน่นอนว่าย่อมหนีไม่พ้นการทำประมงที่อาจบังเอิญจับสัตว์กลุ่มนี้ขึ้นมาระหว่างลากอวนจับปลาชนิดอื่นๆ
ชาวประมงบางรายอาจใจดีปล่อยพวกมันให้กลับไปใช้ชีวิต
แต่ไม่ทุกคนที่คิดอย่างนั้น
กฎหมายบางประเทศยังอนุโลมให้ใช้ประโยชน์จากสัตว์ที่จับมาโดยไม่ตั้งใจ (หากไม่ได้จับในพื้นที่คุ้มครอง) สัตว์น้ำหลายตัวจึงมีชะตากรรมสุดท้ายจบลงที่ตลาดสด
แต่ที่น่ากังวลกว่าคือการจงใจล่า
ในเวเนซุเอลา พบว่า ปัญหาวิกฤตเศรษกิจทำให้คนหันไปกินเนื้อโลมากันมากขึ้น จากการลักลอบล่าและขายกันในราคาถูก
ขณะที่ในแอฟริกาตะวันตก ปัญหาการทำประมงเกินขนาดจนทำให้สัตว์น้ำลดน้อยลง ชาวประมงจึงหันมาล่าโลมาเป็นการทดแทนกันมากขึ้น
นอกจากล่าเพื่อกิน ในรายงานกล่าวว่ามีเรือประมงจำนวนไม่น้อยตั้งใจจับสัตว์กลุ่มนี้ เพื่อใช้ทำเหยื่อจับปลาชนิดอื่นๆ แทน
ซึ่งพบเห็นเด่นชัดในแอฟริกาตะวันตกและเอเชีย ที่มีการใช้เนื้อโลมาเป็นเหยื่อตกปลาฉลามเพิ่มสูงขึ้น เพราะเนื้อโลมาจะทนเป็นพิเศษในน้ำเค็ม ทำให้เหมาะสำหรับการลากเป็นเหยื่อล่อ
เรื่องนี้อ้างอิงจากการให้ปากคำของคนบนเรือล่าฉลามของไต้หวันและเกาหลีใต้ สามารถอ่านได้ที่ https://shorturl.asia/hD14b
อีกสาเหตุหนึ่งที่พรากชีวิตพวกโลมา พอร์พอยส์ หรือวาฬขนาดเล็ก (ขนาดไม่เกิน 4 เมตร) คือมลพิษในทะเล ที่พบสารปรอทปนเปื้อนอยู่ในตัวสัตว์
สารพิษเหล่านี้ อาจไม่ฆ่าชีวิตในทันที แต่เมื่อถูกสะสมไปมากๆ ก็ย่อมปรากฏผลในวันหนึ่ง
และปัญหาสารพิษที่ยังเชื่อมโยงมาถึงเรื่องการกินของคน
ซึ่งกำลังมีการสืบสวนอยู่ว่า เด็กๆ ในหมู่เกาะแฟโรมีปัญหาเรื่องพัฒนาการ ที่อาจเกิดมาจากการกินสัตว์ที่มีสารพิษของแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
ในประเทศไทยก็เคยมีการเตือนถึงเรื่องนี้ ตามที่พบว่าฉลามในน่านไทย มีสารปรอท แคดเมียม สารหนู
ซึ่งถ้าหากเราทานจนสะสมในร่างกายมากๆ อาจส่งผลต่อโรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับหัวใจ หลอดเลือด และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทได้
ในแง่ของมลพิษยังหมายถึงการทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยเสื่อมโทรมลงจนอยู่ไม่ได้ ดังที่ปรากฏในกรณีโลมาอิรวดีในแม่น้ำโขง
การควบคุมและพัฒนากฎหมายให้เข้มแข็งคือปัจจัยสำคัญที่จะลดภัยคุกคามการล่าสัตว์กลุ่มนี้ลงได้
แต่จะเกิดและปฏิบัติจริงได้เมื่อไหร่ไม่มีใครรู้
ตามที่บางประเทศอนุโลมให้ใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำที่ไม่ตั้งใจจับได้ แต่ในความเป็นจริง น้อยนักที่เรือประมงจะรายงานว่าจับสัตว์แบบผิดกฎหมายได้
คาดว่าส่วนมากมักปกปิด หมกเม็ด ลักลอบ หลบซ่อน
ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลที่ว่า “มีสัตว์น้ำกลุ่มนี้ตายสูงถึงหนึ่งแสนตัวต่อปี” อาจเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง เป็นประมาณการที่ต่ำ
มันอาจมีมากกว่าหนึ่งแสน เป็นสองแสนหรือสามแสนก็เป็นได้
และในรายงานยังไม่ได้กล่าวถึงปัญหาโลกเดือด หรือมลพิษพลาสติกในทะเล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ให้วายชนม์เพิ่มมากขึ้น
ในช่วงทศวรรษ 1970 โลกได้เห็นการล่มสลายของวาฬขนาดใหญ่เนื่องจากการล่าวาฬในภาคอุตสาหกรรม
แต่ในทศวรรษที่ 2020 เราอาจได้เห็นการล่มสลายของสายพันธุ์ขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น
อ้างอิง
Small Cetaceans - Even Bigger Problems An updated global reviews of directed hunt on small whales, dolphins and porpoises https://shorturl.asia/qFwaN
“กรมทะเลและชายฝั่ง” สั่งตรวจสอบกรณีโพสต์ขายปลาฉลามหนาม-ปลานกแก้ว วอนหยุดสนับสนุน ซื้อ-ขาย เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล https://shorturl.asia/PE2M7

วันสตรีสากลตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี : ชวนทำความรู้จัก ‘ฮิลดา ฟลาเวีย นาคาบูเย’ จากเด็กสาวขี้อายชาวยูกันดา สู่การเป็...
08/03/2024

วันสตรีสากลตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี : ชวนทำความรู้จัก ‘ฮิลดา ฟลาเวีย นาคาบูเย’ จากเด็กสาวขี้อายชาวยูกันดา สู่การเป็นนักเคลื่อนไหวปัญหาโลกเดือด
“คุณจะเจรจาต่อไปอีกนานแค่ไหน? คุณเจรจามา 25 ปีแล้ว ทำมาก่อนที่ฉันจะเกิดเสียอีก”
ย้อนเวลากลับไปในการประชุม COP25
‘ฮิลดา ฟลาเวีย นาคาบูเย’ นักเคลื่อนไหวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชาวยูกันดา ได้พาตัวเองขึ้นสู่เวทีปราศรัยระดับชาติเป็นครั้งแรก
หญิงสาววัย 22 ปี จากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนอย่างรุนแรง กล่าวในที่ประชุมว่า
“ฉันมาที่นี่เพื่อเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวชาวแอฟริกันหลายล้านคนที่กำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง - ในขณะที่ฉันกำลังพูดกับคุณอยู่ตอนนี้ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วกำลังคร่าชีวิตผู้คนในประเทศของฉัน”
ในฐานะนักเคลื่อนไหวที่เป็นคนรุ่นใหม่ และมักถูกละเลยทางสิทธิและเสียง เธอมิได้แลกเปลี่ยนความเห็นมากมายนัก นอกจากการตั้งคำถามถึงผู้นำประเทศต่างๆ ในเวที
“คุณจะเจรจาต่อไปอีกนานแค่ไหน? คุณเจรจามา 25 ปีแล้ว ทำมาก่อนที่ฉันจะเกิดเสียอีก”
หลังพูดจบ นาคาบูเย ได้รับเสียงตบมือเป็นรางวัล ส่วนปัญหาที่เธอเรียกร้องนั้นยังคงต้องรออย่างคลุมเครือต่อไป...
น่าเสียดายที่การประชุม COP ในปีต่อมา นาคาบูเย ไม่สามารถเดินทางไปร่วมประชุมหรือประท้วงเหมือนอย่างเยาวชนในประเทศอื่นๆ เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางจากโควิด-19
และปัญหาความไม่เท่าเทียมของการแจกจ่ายวัคซีนในประเทศแถบแอฟริกา
ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่เธอเคยพูดไว้ในการประชุม COP25 เช่นกัน - “ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจึงมักไม่ได้รับบทบาท”
นาคาบูเย สารภาพว่าจริงๆ แล้วตัวเธอเป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยกล้าแสดงออกในชั้นเรียน การต้องออกไปพูดบนเวทีที่มีคนฟังถึง 100 ชีวิต คงไม่มีทางเป็นไปได้แน่ๆ
แต่มันก็เกิดขึ้น - เพราะเธอเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับตัวเองโดยตรง
“ฉันตกเป็นเหยื่อของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และฉันไม่ละอายที่จะพูดเช่นนั้น”
นาคาบูเย เกิดในครอบครัวชาวไร่ เพาะปลูกกล้วย ข้าวโพด มันสำปะหลังหาหาเลี้ยงชีพ
ตอนเธออายุ 10 ขวบ ยูกันดามีฝนตกชุกผิดปกติ พืชผลทางการเกษตรของครอบครัวถูกน้ำท่วมทำลาย
เมื่อไม่มีผลผลิตก็ไม่มีรายได้ ทำให้เธอต้องขาดเรียนเป็นเวลาสามเดือน
ในขณะที่อีก 2 ปีต่อมา สวนมันสำปะหลังและมันฝรั่งของย่าของเธอเผชิญกับภัยแล้ง ปศุสัตว์ที่เลี้ยงไว้อดตาย - ฤดูแล้งที่ควรจะเป็นเพียงช่วงระยะหนึ่งของปีกลับกินเวลาเกือบครบ 365 วัน
เหตุการณ์เช่นนั้นยังเกิดวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนครอบครัวตัดสินใจขายที่ดินทำกินและปศุสัตว์เป็นจำนวนมาก ส่วนพ่อของเธอต้องออกไปหางานทำในกัมปาลา เมืองหลวงของยูกันดา หาเลี้ยงชีพแทนการทำไร่
นาคาบูเย เพิ่งมาทราบว่าความยากลำบากในวัยเยาว์เกิดขึ้นเพราะชั้นบรรยากาศของโลกมีก๊าซเรือนกระจกปกคลุมและสะสมอยู่ เมื่อตอนได้เรียนเรื่องนี้ในชั้นมหาวิทยาลัย
ความรู้ที่ได้รับทำให้เธอเกิดปณิธานในใจ - ต้องไม่มีใครได้สัมผัสกับประสบการณ์แบบเดียวกับเธออีก - นับแต่นั้น นาคาบูเย ทิ้งความอายไว้ข้างหลัง พาตัวเองออกมาลุยอยู่ในแถวหน้าเสมอๆ
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอ ‘กล้า’ เกิดขึ้นเพราะเกรต้า ธุนเบิร์ก
วันหนึ่งในปี 2018 - นาคาบูเย ได้ชมคลิปของเกรต้าผ่านโซเชียลมีเดีย - ในสำนึกเธอรู้สึกว่าเด็กผู้หญิงคนนี้อายุน้อยกว่าเธอตั้งหลายปี แต่สามารถสร้างแคมเปญที่ทำให้คนหนุ่มสาวทั่วโลกขานรับได้อย่างน่ามหัศจรรย์
“ฉันต้องทำอะไรบางอย่าง พวกเรา - เยาวชนในยูกันดาและแอฟริกา - ต้องทำอะไรบางอย่าง”
เธอตัดสินใจหยุดเรียนในวันศุกร์ และออกมายืนถือป้ายที่เขียนว่า “ฉันเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศที่อายุน้อย ฉันต้องการให้เห็นการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ”
จากอิทธิพลของเกต้าที่ทำให้เธอกล้า ยังถูกส่งต่อไปยังเพื่อนๆ ของเธออีกหลายคน
ทุกๆ วันศุกร์ ผู้คนที่สัญจรผ่านหน้ามหาวิทยาลัยกัมปาลา จะเห็นคนหนุ่มสาวออกมายืนถือป้ายที่เขียนข้อความว่า “Climate Jusctice” “Save Environment” “Take Climate Action” “School Strile For Climate” ฯลฯ
จนในที่สุดในปี 2019 เธอช่วยก่อตั้ง Fridays for Future Uganda ซึ่งเป็นเครือข่ายประท้วงด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลก แน่นอนว่านี่คืออีกหนึ่งแรงบันดาลใจจากการหยุดเรียนของเกรต้าเช่นกัน
แต่การเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมในประเทศที่ผู้คนต้องดิ้นรนเอาตัวรอดให้พ้นวันมันไม่ใช่เรื่องง่าย คนส่วนใหญ่ยังคิดว่าเรื่องโลกร้อนเป็นปัญหาไกลตัว
"คนส่วนใหญ่ได้ยินเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นครั้งแรก"
เมื่อตอนปี 2020 ฝนที่ตกอย่างหนักทำให้พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลสาบวิกตอเรีย (ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา) เอ่อล้นท่วมบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้คนหลายแสนคนต้องพลัดถิ่น
ชาวยูกันดาหลายล้านคนยังต้องพึ่งพาอาชีพเพาะปลูกเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ดังนั้น น้ำท่วมและภัยแล้ง สามารถทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาได้ - นี่คือสิ่งที่เธอพยายามอธิบายให้คนในประเทศได้เข้าใจ
นอกจากจะเคลื่อนไหวในประเด็นใหญ่ๆ นาคาบูเย ยังตั้งใจเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน เช่น ปัญหาการทิ้งขยะลงแม่น้ำ
กลุ่มของเธอจะพบปะกันเป็นประจำเพื่อเก็บขยะรอบๆ ทะเลสาบวิกตอเรีย พร้อมๆ กับให้ความรู้แก่คนในพื้นที่เกี่ยวกับอันตรายของการทิ้งขยะ
“ขยะจะทำให้ทางน้ำอุดตัน ทำให้คนในท้องถิ่นตกปลาได้ยาก และยังทำให้เกิดน้ำเสีย พอน้ำเสียปลาจะผสมพันธุ์ได้ยาก คุณต้องทิ้งขยะลงในถังขยะนะ”
ในอีกด้าน เธอกับเพื่อนๆ ยังเดินสายให้ความรู้กับเด็กนักเรียนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องโลกร้อนตามโรงเรียนต่างๆ ในทุกๆ วันศุกร์ เพราะอยากให้เยาวชนในประเทศได้ตระหนักรู้ถึงปัญหา ไม่โง่เขลาดังเธอในอดีต
และทุกวันศุกร์สิ้นเดือน เธอจะชวนเด็กจากแต่ละโรงเรียนออกมาร่วมประท้วงถือป้าย เรียกร้องให้ผู้ใหญ่ และผู้นำประเทศลงมือแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
นาคาบูเย เชื่อว่าวิกฤตโลกร้อนเป็นปัญหาของทุกคน ผลกระทบมันไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับเธอ หรือคนประเทศของเธอ แต่มันเกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่คนในประเทศที่ร่ำรวยก็ต้องเผชิญปัญหานี้
“เตียงของคุณอาจจะสบายในตอนนี้ แต่อีกไม่นาน คุณจะรู้สึกร้อนแบบเดียวกับที่เรารู้สึกอยู่ทุกวัน”
ปัจจุบัน Fridays for Future Uganda มีสมาชิกมากกว่า 53,000 คน และตัวแทนของกลุ่มเริ่มออกมามีส่วนร่วมในระดับนานาชาติอย่างการประชุม COP
ปัจจุบัน นอกจากเป็นนักเคลื่อนไหวแล้ว นาคาบูเย ยังขยับบทบาทตัวเองมาเป็นนักสื่อสาร เริ่มทยอยมีผลงานปรากฏตามสื่อต่างๆ ด้วยชื่อของเธอในฐานะผู้เขียนบทความ
“ฉันถูกจับกุม ข่มขู่ และเรียกผู้ทรยศต่อประเทศของฉันที่ต่อสู้เพื่ออนาคตร่วมกันของเรา”
“แต่ฉันจะไม่หยุดเพราะฉันรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากเราไม่ชนะ”
“ครอบครัวของฉันไม่ได้เป็นเจ้าของฟาร์มอีกต่อไป และฉันไม่ได้เล่นเป็นชาวนาอีกต่อไป”
“แต่ฉันปลูกเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีอื่นแทน”
“ฉันภูมิใจที่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ ฉันเชื่อว่างานที่เราทำตอนนี้จะเติบโตไปสู่วันพรุ่งนี้ที่สดใสยิ่งขึ้น”
อ้างอิง
A climate change disaster led this shy 24-year-old from Uganda into activism https://shorturl.asia/9umZi
‘Climate crisis is not for whites only’--Ugandan youth activist https://shorturl.asia/JT7zq
‘You Will Soon Feel the Same Heat We Feel Every Day.’ Watch This Powerful Speech From a Young Ugandan Climate Activist https://shorturl.asia/nAkqs
Climate change activist Hilda Nakabuye mobilizing Africa’s youth https://shorturl.asia/zGm89
Insurance Industry Villains That Could be Heroes https://shorturl.asia/Tj5Hd
เผยแพร่ครั้งแรก 21 พฤศจิกายน 2021 แก้ไขเรียบเรียงเพิ่มเติม มีนาคม 2024

เห็ดกรวยส้มทักษิณา เห็ดชนิดใหม่ของโลก พบใน ม.ทักษิณ จังหวัดพัทลุงทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ ค้นพบ เห็ดชนิดใหม่ของโลกใน...
07/03/2024

เห็ดกรวยส้มทักษิณา เห็ดชนิดใหม่ของโลก พบใน ม.ทักษิณ จังหวัดพัทลุง
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ ค้นพบ เห็ดชนิดใหม่ของโลกในพื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จ.พัทลุง
เห็ดใหม่นั้นได้รับการตั้งชื่อว่า ‘เห็ดกรวยส้มทักษิณา’ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gloeocantharellus thailandensis เป็นเห็ดในสกุล Gloeocantharellus
ซึ่งไม่เคยพบเห็ดสกุลนี้ในประเทศไทยมาก่อน
โดยทั่วโลกนั้นมีการพบเห็ดสกุลนี้มาแล้ว 19 ชนิด
‘เห็ดกรวยส้มทักษิณา’ จึงเป็นสมาชิกใหม่ลำดับที่ 20 ของสกุล
ในรายงานระบุว่า มีผู้สำรวจและค้นพบ ประกอบด้วย ดร.ภูมิน นุตรทัต คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ
ดร.จตุรงค์ คำหล้า สำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัณณิดา ขุนนามวงษ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยพบขึ้นอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่
และคาดว่าจะพบเห็ดชนิดใหม่อีกหลายชนิดที่รอการยืนยันและการศึกษาเชิงลึกต่อไป
สำหรับ ‘เห็ดกรวยส้มทักษิณา’ เป็นเห็ดที่มีลักษณะสัณฐานวิทยารูปทรงกรวย
ดอกเห็ดเจริญอยู่เป็นเดี่ยวๆ หรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่มบนดินในป่าผสม (ต้นไผ่ ต้นจิก ต้นประดู่)
ชื่อสามัญของเห็ด ถูกตั้งตามลักษณะสัณฐานสีของดอกเห็ดที่มองเห็นด้วยตาเปล่าที่มีสีส้มอ่อนจนไปถึงสีส้มแดง โดยจากการอ่านค่าสีตามมาตรฐานสากล
บริเวณตรงกลางของหมวกเห็ดมีสีแดงอ่อนถึงสีแดงพาสเทล ตรงขอบหมวกเห็ดมีสีขาวออกแดงถึงสีแดงพาสเทล
ส่วนก้านของเห็ดสีขาวออกแดงถึงสีแดงพาสเทล ขึ้นอยู่อายุของดอกเห็ด ส่วนเนื้อในของเห็ดมีสีขาวหรือขาวออกเหลือง ส่วนครีบมีสีขาวถึงขาวออกเหลือง
ที่ผ่านมายังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าเห็ดในสกุลนี้สามารถกินได้หรือไม่จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับการตรวจสอบว่าเป็นเห็ดชนิดใหม่หรือไม่ นักวิจัยได้ศึกษาเปรียบเทียบตั้งแต่สัณฐานวิทยาที่มองเห็นด้วยตาเปล่า เช่น ลักษณะที่มองเห็นด้วยตาเปล่าหมวกของดอกเห็ดเป็นอย่างไร มีสะเก็ดไหม ครีบเป็นแบบใด สีของหมวกเห็ดและก้าน
และสัณฐานวิทยาที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าต้องศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เช่น สปอร์
แล้วนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล รวมถึงวิเคราะห์แผนภูมิต้นไม้แสดงความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ หรือที่เรียกว่า phylogenetic tree analysis
อ้างอิง
สุดเจ๋ง นักวิจัยค้นพบ "เห็ดกรวยส้มทักษิณา" เห็ดชนิดใหม่ของโลกในพื้นที่ จ.พัทลุง https://shorturl.asia/MRgP1
รู้จักเห็ดกรวยส้มทักษิณาและทำไมจึงเป็นเห็ดชนิดใหม่ของโลก https://shorturl.asia/z3Ka5
a new macrofungus from southern Thailand https://shorturl.asia/F3fSe

ที่อยู่

Bangkok
10900

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ Is Lifeผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

วิดีโอทั้งหมด

แชร์


ผู้จััดพิมพ์เผยแพร่ อื่นๆใน Bangkok

แสดงผลทั้งหมด