The Reading Space

The Reading Space สำนักพิมพ์สตาร์ตอัป ผสมผสานการอ่านกับเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อโลกยุคใหม่

23/10/2020

ในหน้าแรกๆ ของหนังสือเล่มนี้เขียนไว้ว่า “มนุษย์คงไม่มีอายุถึง 70-80 ปีถ้าความยืนยาวไม่ได้มีความหมายใดกับเผ่าพันธุ์ ช่วงบ่ายคล้อยของชีวิตนั้นจึงมีความสำคัญในตัวมันมิใช่เพียงช่วงเวลาโศกศัลย์ที่ผูกพันเข้ามาในบั้นปลายของชีวิต” เป็นคำพูดที่ยกมาจากนักจิตวิทยาชื่อดัง คาร์ล จุง(Carl Jung)

ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ด้วยนสองเหตุผล อย่างแรกเพราะโอเพ่นบุ๊ค บอกได้เลยว่าเราเป็นแฟนหนังสือของสำนักพิมพ์แห่งนี้มานาน มีแนวทางชัดเจนแบบที่ไม่ต้องอ่านข้างในก็รู้ว่าจะได้เจออะไร อย่างที่สองผมสนใจเรื่องชีวิต ไม่ว่าจะในแง่มุมไหนก็ตาม ชีวิตของมนุษย์เราเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจ และการมีอายุยืนยาวยิ่งเป็นสิ่งที่ชวนเราตั้งคำถามว่าการยืนยาวนั้นจะส่งผลอย่างไรกับมนุษยชาติและโลกใบนี้

หนังสือเล่มนี้ชวนเราค้นหาคำตอบที่ว่า การมีอายุยืนยาวนานนับร้อยปีแท้จริงแล้วในแง่มุมวิชาการทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ เขามองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง แน่นอหากว่ากันตามปกหนังสือ หลายคนอาจนึกไม่ถึงด้วยซ้ำว่า นี่เป็นหนังสือวิชาการหรือ มันดูเป็นเหมือนหนังสือที่เข้าถึงง่ายกว่านั้น มันอาจเป็นหนังสือเชิงความคิด แต่คงไม่ขนาดงานวิชาการที่แน่นไปด้วยข้อมูลและการตั้งคำถาม ถามว่าหนักไหมก็ประมาณหนึ่ง แต่เดี๋ยวจะมาบอกว่าทำไมมันยังคงน่าอ่านอยู่ดี

ผู้เขียนคือลินดา แกรตตัน(Linda Gratton) ศาสตราจารย์ด้านการบริหารที่วิทยาลัยธุรกิจลอนดอน เธอสนใจเรื่องอนาคตศึกษา ในแง่ของสังคมและเศรษฐศาสตร์ เธอยังเป็นสมาชิกสภาเศรษฐกิจโลกและได้รับการจัดลำดับให้เป็นนักคิดด้านธุรกิจยอดเยี่ยม 50 อันดับแรกของโลก ได้รับเลือกให้เป็นศาสตราจารย์ดีเด่นของวิทยาลัยธุรกิจลอนดอนในปี 2015 อีกคนที่เขียนร่วมกันในหนังสือเล่มนี้คือ ศาสตราจารย์แอนดรูว์ สกอตต์ (Andrew Scott) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่วิทยาลัยธุรกิจลอนดอนเช่นกัน เป็นสมาชิกบัณฑิตยสภาแห่ง ออลล์ โซล คอลเลจ(All Soul College) ของมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดและศูนย์วิจัยนโยบายเศรษฐกิจ เคยสอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและและวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอน ด้วยแล้วก็ยังดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจมหภาคให้กับรัฐบาลและธนาคารกลางของหลายประเทศด้วย

มุมมองด้านวิชาการของทั้งสองคนในการเขียนหนังสือเล่มนี้น่าสนใจ เป็นหนังสืออีกเล่มที่ต้องพับขอบไว้เพื่อกลับมาอ่านอีก ข้อมูลหลายอย่างเป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยนึกถึง เปิดมุมมองเรื่องอายุยืนอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ ว่ากันตั้งแต่การสะสมทรัพย์สิน หรือการให้ค่ากับทรัพย์สินเมื่อเราอายุมากขึ้น ตำแหน่งการว่างงานในอนาคต หรือการรับมือกับอายุงานของคนที่อาจเพิ่มขึ้น รวมถึงแนวโน้มว่ามันจะเอาไปใช้ได้จริงๆ ไหมในสังคม มีการยกตัวอย่างอย่างแหลมคมเพื่อให้เห็นภาพของความแตกต่างทางความคิดระหว่างเจนเนอเรชั่นต่อการมีอายุยืน(เพราะว่ากันว่าเด็กสี่ขวบตอนนี้ โตขึ้นเขาจะมีความคิดเรื่องการมีอายุถึงร้อยปีเป็นเรื่องปกติ) โดยเฉพาะในประเทศที่วิทยาศาสตร์สุขภาพและการเข้าถึงการรักษาโรคทำได้ดี

หนังสือเล่มนี้มีหนากว่า 400 หน้า สำหรับใครที่ไม่ชอบหนังสือแนว non- fiction อาจรู้สึกเหนื่อยในการอ่าน มันมีบางช่วงที่ต้องอาศัยการฝ่าฟันไปไม่น้อย แต่ถ้าหากใครสนใจเรื่องอนาคตศึกษา เรื่องเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลกับชีวิตของมนุษย์เราโดยตรง
แล้วใครควรอ่าน
หากคุณเป็นองค์กรที่วางแผนจะอยู่ให้นานถึงร้อยปี เป็นนักวางแผน เป็นผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องด้านนโยบาย คิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ไม่ควรพลาดจริงๆ มันเปิดมุมมองใหม่ในหลายด้านต่อการมีอายุที่ยืนยาวขึ้นของเรา

เช่นเคยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุคส์ openbooks ยังเลือกหนังสือและทำหนังสือสวย คุณภาพของงานพิมพ์และการสร้างประสบการณ์ในการอ่านได้ดี นั่นเป็นเหตุผลว่า แม้จะเป็นหนังสือวิชาการแต่ก็สร้างสุนทรียการอ่านได้น่าจดจำ ผ่อนหนักให้เบา เอาเรื่องยากมาทำให้น่าอ่าน

หากคุณใช้เวลาอ่านประมาณวันละ 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมงเราคิดว่าสักสัปดาห์หนึ่งก็จบได้
ขอให้สนุกสนานสำราญกับการอ่าน

✍️ เอกศาสตร์ สรรพช่าง
📖 The 100 Year Life ชีวิตศตวรรษ
โดยลินดา แกรตตัน และแอนดรูว์ สกอตต์ แปลโดย วารีรัตน์ อันวีระวัฒนา
สำนักพิมพ์โอเพ่นบุคส์(openbooks)
ราคา 450 บาท
#หนังสือ

เมื่อพูดถึง อาหาร ไม่ว่ามื้อไหนก็คงสำคัญเท่าเทียมกัน แต่คำถามคือ ทำไม ‘มื้อเช้า’ หรือ ‘อาหารเช้า’ จึงมักดูเหมือนเป็นพิธี...
08/10/2020

เมื่อพูดถึง อาหาร ไม่ว่ามื้อไหนก็คงสำคัญเท่าเทียมกัน แต่คำถามคือ ทำไม ‘มื้อเช้า’ หรือ ‘อาหารเช้า’ จึงมักดูเหมือนเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ และถูกนำไปเสนออย่างมีนัยบางอย่างบ่อยครั้ง เช่นในหนัง มื้อเช้าที่ทิฟฟานี (Breakfast at Tiffany’s) ตัวละครหญิงสาว ฮอลลี โกไลต์ลีย์ รับบทโดยออเดรย์ เฮปเบิร์น ซึ่งคนจดจำได้ทั่วโลก ก็ยืนถือกาแฟกับครัวซองต์กินอยู่หน้าร้านเพชรสุดหรูเป็นอาหารเช้า แฝงฝังความหมายระหว่างรอยต่อของยามหลับกับยามตื่น ความฝันกับความเป็นจริง

เช่นเดียวกับหลายๆ คนที่ยกให้ มื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด รวมถึงโตมร ศุขปรีชา Tomorn Sookprecha นักเขียนเจ้าของผลงานเบสต์เซลเลอร์เล่มล่าสุด ‘มองโลกผ่าน (ประวัติศาสตร์) อาหารเช้า’ โดยเขาเกริ่นในหนังสือตั้งแต่บทแรกเลยว่า

ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน - สำหรับผม, อาหารเช้าคือมื้อสำคัญ

จากนั้นคำตอบชุดใหญ่ของโตมร ว่าด้วยประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาหารเช้า เริ่มตั้งแต่ไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘อาหารเช้า’ จนถึงการมองอาหารเช้าเป็นเรื่องของผู้ใช้แรงงาน เลยไกลไปในความซับซ้อนของสังคม ที่มีความเห็นว่าอาหารเช้าเป็นเรื่องจำเป็น ทำให้เกิดวัตรปฏิบัติต่ออาหารเช้าอย่างหรูหรา และการประกอบสร้างห้องอาหารเช้า โดยเฉพาะสำหรับคนที่ร่ำรวยขึ้นมา ตลอดจนอาหารเช้าในมิติอื่นๆ อีกมากมาย ก็ค่อยๆ ไล่เรียงเล่าผ่านภาษาที่อบอุ่น เรียบง่าย ไม่ได้ย่อยยากอย่างบางคนบอกหนังสือของเขาต้องปีนบันไดอ่าน ก่อนเขาจะหยอดการมีอยู่ของอาหารเช้าให้เราครุ่นคิดในตอนท้ายว่า

- ที่สุดแล้ว อาหารเช้าจะ ไปได้ไกล มากถึงเพียงไหน -

นั่นอาจขึ้นอยู่กับความรู้สึก เนื่องจากอาหารในมิติหนึ่งก็คือ ประสบการณ์และความรู้สึก การละเลียดอ่านหนังสือเล่มนี้ จึงไม่ได้เติมเต็มแค่ความรู้จานใหญ่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อาหารเช้าที่มีมายาวนานแล้วเท่านั้น แต่คนอ่านยังได้รับความอิ่มเอมใจ ชวนให้จินตนาการถึงมื้ออาหารได้อย่างไร้ขอบเขต เพราะเนื้อหาบวกถ้อยภาษาของโตมรทั้งสวยงาม อ่านสนุก และเข้าใจง่าย เหมือนเขากำลังนั่งคุยกับเราในเช้าอันแสนอ้อยอิ่ง โดยมีอาหารวางอยู่บนโต๊ะข้างหน้า แล้วพร่างพรูเรื่องราวของมื้อเช้าออกมาทีละบททีละตอนอย่างเบาสบาย แม้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่น่าจะทำให้ขึ้งเครียดหรือเหนื่อยหน่าย แต่ตัวหนังสือของเขากลับผ่อนคลาย ยิ่งสาวข้อมูลลึกลงไปเท่าไหร่ การมองโลกผ่านอาหารเช้าก็ยิ่งชวนติดตามมากขึ้นเท่านั้น นี่ยังไม่นับรวมงานปกและภาพประกอบซึ่งออกแบบดึงดูดใจเป็นพิเศษ จนอดคว้าจากชั้นในร้านหนังสือขึ้นมาดูไม่ได้

เช่นนี้ - แม้หนังสือจะถูกจัดวางไว้ในหมวดหมู่ความรู้ทั่วไป แต่ความจริงมันคือความเรียงชั้นยอดของคนรักอาหาร ที่ผ่านงานเขียนงานแปลเกี่ยวกับห้องครัว อาหาร และงานปาร์ตี้ มานับไม่ถ้วน อาทิเช่น กาแฟและชา หมาและแมว, ลม ฟ้า อาหาร, ประวัติศาสตร์กินได้, ถอยไปข้างหน้า (เรื่องราวการต่อสู้พลิกฟื้นร้านกาแฟสตาร์บัคส์), Kitchen Confidential เป็นต้น ดังนั้นไม่จำเป็นต้องหยิบอ่านเฉพาะยามเช้าที่ไม่เร่งรีบตามคำชวนเชื่อของบางคนหรอก เพราะจะมื้อเช้า มื้อสาย หรือมื้อบ่ายมื้อเที่ยง ก็หยิบขึ้นมาอ่านได้อย่างเพลิดเพลิน แถมเจริญอาหารไปอีก...

มองโลกผ่าน (ประวัติศาสตร์) อาหารเช้า
จำนวน 200 หน้า ราคา 245 บาท
สำนักพิมพ์อมรินทร์ Amarinbooks
แวะช้อปหนังสือได้ที่ บูธร้านนายอินทร์ B26
มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25
วันที่ 30 กันยายน - 11 ตุลาคม 2563




จากนวนิยาย ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ ถึง ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ และล่าสุด ‘ทะเลสาบน้ำตา’ วีรพร น...
06/10/2020

จากนวนิยาย ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ ถึง ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ และล่าสุด ‘ทะเลสาบน้ำตา’ วีรพร นิติประภา หรือพี่แหม่ม https://www.facebook.com/veeraporn.nitiprapha นักเขียนดับเบิ้ลซีไรต์ยังคงไม่หยุดนิ่งที่จะสร้างผลงานอันน่าตื่นตะลึง แค่ประโยคเปิดเรื่องก็ทำเอาน้ำตาเอ่อท้นสมชื่อทะเลสาบน้ำตาแล้ว ส่วนเนื้อหาจะเข้มข้นเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันขนาดไหน
Reading Space ชวน คาลิล พิศสุวรรณ https://www.facebook.com/kalil742 คอลัมนิสต์รุ่นใหม่ไฟแรงและเป็นหนอนหนังสือตัวยง มาเขียนบอกเล่าประสบการณ์จากการอ่านเล่มนี้ของเขา >>>

“การตื่นให้ความรู้สึกเหมือนวูบร่วง ควงคว้าง ร้างหล่น แต่ไม่ใช่จากข้างบนลงข้างล่าง หากจากก้นบึ้งสีดำของความหลับ ทะลึ่งขึ้นในโลกสีน้ำเงินอึมครึม” คือประโยคเปิดเรื่องของ ‘ทะเลสาบน้ำตา’ นวนิยายเล่มล่าสุดของวีรพร นิติประภา นักเขียนสองรางวัลซีไรต์

พ้นไปจากหน้าปกที่ปรากฏฝูงนกฟลามิงโกสีสดใส ชวนให้รู้สึกแตกต่างไปจากหน้าปกของหนังสือสองเล่มก่อนที่ดูจะมืดมิด ก็เห็นจะเป็นคำจำกัดความของวีรพรต่อนวนิยายลำดับที่สามว่า ‘เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป’ อย่างคร่าวๆ ทะเลสาบน้ำตาบอกเล่าเรื่องราวของสองเด็ก หนึ่งคือ ‘ยิหวา’ เด็กหญิงผู้ถูกแม่ทอดทิ้งหลังจากที่พ่อกลายเป็นต้นไทร และ ‘อนิล’ เด็กชายที่ตัดสินใจหนีออกจากบ้านหลังจากพ่อแต่งงานใหม่ เรื่องราวของเด็กทั้งสองมาบรรจบกันเมื่ออนิลได้มาพบกับยิหวา จนเกิดเป็นมิตรภาพเล็กๆ ที่พาพวกเขาไปสู่ดินแดนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองกระจก หรือป่าดึกดำบรรพ์

ความน่าสนใจประการหนึ่งของทะเลสาบน้ำตา คือการที่วีรพรเลือกจะจัดวางนวนิยายเล่มนี้ในฐานะวรรณกรรมสำหรับเด็ก โดยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสายตาและน้ำเสียงของตัวละครเอกที่ยังคงอ่อนวัย ไร้เดียงสาต่อโลก แน่นอน การปรากฏตัวของ ‘เด็ก’ ในนวนิยายของวีรพรไม่ใช่อะไรใหม่ เห็นได้จาก ‘หนูดาว’ หนึ่งในตัวละครสำคัญของ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ แต่ถึงอย่างนั้น ‘เสียงของเด็ก’ ก็ไม่เคยเป็น ‘เสียงหลัก’ ในหนังสือเล่มก่อนๆ ของวีรพร กล่าวให้ชัดขึ้นคือ สถานะของเด็กคือสถานะของผู้ถาม ทว่าในทะเลสาบน้ำตา สถานะของเด็กได้เปลี่ยนเป็นผู้เล่าและเสียงของเด็ก ก็ได้กลายเป็นน้ำเสียงหลักโดยสมบูรณ์

เสียงของเด็กไม่เพียงจะถูกได้ยินและรับรู้เพียงเท่านั้น เพราะหากพิจารณาให้ลึกอีกหน่อย เราจะพบว่า เสียงของเด็กที่ดังขึ้นในทะเลสาบน้ำตาสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะที่โดดเด่นของสภาวะหลังสมัยใหม่ นั่นคือ ‘ไม่มีใครถือครองเรื่องเล่าโดยลำพังอีกต่อไป ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของน้ำเสียงใดๆ แต่เพียงผู้เดียว’ เสียงของผู้ใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยกลบเสียงอื่นๆ จนมิด หากบัดนี้กลับถูกท้าทายและฝังกลบ ขณะเดียวกัน เรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ที่ผู้ใหญ่เคยกอดรัดไว้อย่างแนบแน่น ก็ได้ถูกตั้งคำถามซ้ำๆ ราวกับมันไม่ใช่ความจริงสัมบูรณ์อีกต่อไปแล้ว

ในทะเลสาบน้ำตา ปากเสียงของเด็กไม่เพียงแต่จะท้าทายปรัมปราที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นเท่านั้น หากยังบอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องด้วยทัศนคติที่บริสุทธิ์ ปราศจากอคติใดๆ สายตาของยิหวาและอนิลรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ ที่เข้าปะทะอย่างไร้เดียงสา โดยที่พวกเขาก็ถ่ายทอดความจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงๆ ซื่อๆ ปราศจากอคติใดๆ ความซื่อบริสุทธิ์เช่นนี้ จึงคือคุณลักษณะเฉพาะที่มีเพียงเด็กๆ เท่านั้นจะมี ด้วยเพราะหากเป็นผู้ใหญ่ เรื่องเล่าของพวกเขาย่อมจะปนเปื้อนไปด้วยอคติ สามัญสำนึก และบรรทัดฐานของสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ในแง่นี้ โลกที่ถูกจ้องมอง และบอกเล่าผ่านสายตา และน้ำเสียงของยิหวาและอนิล จึงคือโลกที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ความรุนแรงที่หากเป็นผู้ใหญ่อาจหลีกเลี่ยง แต่เด็กๆ กลับเลือกจะพูดถึงอย่างซื่อๆ ตรงไปตรงมา เพียงเพราะพวกเขาไม่ตระหนักรู้ด้วยซ้ำว่า อะไรคือความรุนแรง

หากเราลองเชื่อมโยงสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันกับทะเลสาบน้ำตา เจตนาที่วีรพรเลือกจะเขียนนวนิยายเล่มที่ 3 ในฐานะวรรณกรรมสำหรับเด็กจึงถูกที่ ถูกเวลา และยังสร้างบทสนทนากับบริบทของประเทศในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ นั่นเพราะไม่เพียงแต่เสียงของผู้ใหญ่จะถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเสียงของเด็ก แต่ประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เคยถูกแช่แข็งแน่นิ่งรับร้อยๆ ปี บัดนี้กำลังถูกรื้อสร้าง เพื่อที่จะได้รับการจดจารขึ้นใหม่

ทะเลสาบน้ำตาคือบทพิสูจน์ที่หนักแน่นว่า ทำไมวีรพรจึงยังคงเป็นนักเขียนไทยที่น่าตื่นเต้นที่สุดคนหนึ่ง เพราะภายใต้ภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ และเรื่องราวของยิหวาและอนิลที่แม้ว่าจะฟุ้งฝัน หากก็ยังชวนให้หัวใจสลาย คือถ้อยแถลงทางการเมืองที่ทรงพลัง และร่วมสมัยอย่างที่สุด มันไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กสองคน แต่คือเรื่องราวของเด็กๆ ทุกคน ที่กำลังดิ้นรน และต่อสู้อยู่เพื่อให้ได้มาซึ่งโลกที่จะเป็นของพวกเขาจริงๆ...

ทะเลสาบน้ำตา
จำนวน 226 หน้า ราคา 359 บาท
สำนักพิมพ์ ArtyHOUSE
แวะชมได้ที่บูธก็องดิด Candide Books (ร้านหนังสือก็องดิด) O22 มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25
วันที่ 30 กันยายน - 11 ตุลาคม 2563



เมื่อเด็กๆ ถามถึงเคล็ดลับการเป็นนักเขียนฉันแนะนำพวกเขาเสมอว่าอ่านหนังสือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เจ.เค.โรว์ลิ่ง นักเขีย...
05/10/2020

เมื่อเด็กๆ ถามถึงเคล็ดลับการเป็นนักเขียน
ฉันแนะนำพวกเขาเสมอว่า
อ่านหนังสือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เจ.เค.โรว์ลิ่ง
นักเขียนเจ้าของผลงานลือลั่น
‘แฮรี่ พอตเตอร์’





จากกระแสซีรีส์วาย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีที่เข้ามาบูมในเมืองไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลให้นิยายวายที่เคยหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในร้า...
03/10/2020

จากกระแสซีรีส์วาย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีที่เข้ามาบูมในเมืองไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลให้นิยายวายที่เคยหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในร้านหนังสือใต้ดิน กลายเป็นที่เปิดเผยและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มคนอ่านทั้งบนออนไลน์และออนกราวด์ จนหากตอนนี้ใครไม่เคยสัมผัสนิยายวายมาก่อน อาจจะเป็นคนเอ๊าต์สุดๆ

วาย หรือยะโออิ (Y**i) เป็นคำศัพท์ที่มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น ใช้ในวงการนิยายและการ์ตูน โดยในภาษาญี่ปุ่นย่อมาจากคำว่า Ymanashi Ochinashi Iminashi หมายถึง ไม่มีจุดพีคไคลแมกซ์ ไม่มีจุดขมวดปมหรือตบมุกในตอนท้าย ไม่มีความหมาย กล่าวโดยสรุป หมายถึงเรื่องราวที่ไม่สนุก จืดชืด ซึ่งเริ่มแรกจะเป็นงานโดจินชิ (หนังสือทำมือ) ล้อเลียนมังงะหรืออนิเมะที่นิยมกันในญี่ปุ่นขณะนั้น แต่ปัจจุบันความหมายเปลี่ยนไปกลายเป็นลักษณะความสัมพันธ์เชิงอีโรติกหรือโรแมนติกระหว่างชายกับชาย โดยต่อมาก็ได้เกิดคำศัพท์ใหม่แทน คือคำว่า บอยส์เลิฟ (Boy's Love) หรือตอนหลังถูกเรียกย่อๆ ว่า BL นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากจะส่องประวัติศาสตร์และตลาดวายในเมืองไทยมากไปกว่านี้ คงไม่มีใครคุยได้ลึกและสนุกเท่ากับ อรรถ บุนนาค นักเขียนและนักแปลวรรณกรรมญี่ปุ่น ซึ่งศึกษาและอ่านนิยายและการ์ตูนวายมายาวนานอย่างแน่นอน ตามมาฟังเรื่องวายวายจากเขากันได้เลย...

• ตลาดวายเข้ามาบูมในเมืองไทยได้อย่างไร

“ในตอนแรกที่เข้ามานั้นแทรกซึมมากับการ์ตูนโชโจะ (การ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิง) หรือที่เรียกตามภาษาปากว่าการ์ตูนตาหวาน จำได้ว่าเมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วเลือกเรียนเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น งานพิเศษที่เด็กเอกนี้ทำกันคือแปลการ์ตูนญี่ปุ่น น่าจะช่วงปี พ.ศ. 2535 ที่เริ่มมีการ์ตูนวายแทรกซึมเข้ามาให้แปล โดยตอนนั้นในญี่ปุ่นการ์ตูนวายมีที่ทางปักหมุดอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปเรียบร้อยแล้ว พวกรุ่นพี่และเพื่อนผู้หญิง หรือเด็กมหาวิทยาลัยผู้หญิงชนชั้นกลางสมัยนั้นจะกรี๊ดกร๊าดรับไม่ได้ว่าเป็นการ์ตูนเกย์ ส่วนใหญ่งานเลยตกมาที่ผมเป็นคนแปล เพราะเคยอ่านการ์ตูนวายของญี่ปุ่นต้นฉบับมาบ้างแล้ว เลยไม่ค่อยตกใจอะไร

“แต่มามีกระแสแรงๆ ในเมืองไทยน่าจะเป็นช่วงราวๆ ปลายทศวรรษ 2540 จากพวกรายการประกวดเรียลิตี้ต่างๆ อย่างเดอะสตาร์ (AF) ที่เกิดคู่จิ้น...ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีคำนี้เลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น อาร์-บี้, บอย-ออฟ, นัท-ต้อล, เต๋า-คชา ฯลฯ หรือละครเรื่อง รักร้อยแปดพันเก้า ที่นำเสนอเรื่องราวความรักของคนรุ่นใหม่หลายคู่ แล้วมีคู่ จอน-ที เป็นความรักของเกย์ที่จุดกระแสให้บูม”

• ถ้าอย่างนั้น ต้นธารของวายแท้ๆ มาจากญี่ปุ่นหรือเปล่า หรือมาจากที่อื่น

“น่าจะมาจากญี่ปุ่นนั่นแหละ เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมของเขามีคำว่า ดันโชะคุ เป็นวัฒนธรรมที่เป็นความโรแมนติกระหว่างชายกับชาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กถือดาบกับซามูไรชั้นสูง หรือพระกับเณร ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในสมัยนั้น ต่อมามีการซื้อขายกันด้วย จากคนดูที่ไปชมละครคาบุกิซึ่งมีกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้หญิงแสดง เพราะอาจเป็นแหล่งผู้หญิงมาแอบขายตัวนอกเขตที่ทางการจัดไว้ได้ ซึ่งยุคนั้นถ้าจะเที่ยวผู้หญิงต้องไปเฉพาะในเขตที่ทางการจัดไว้เท่านั้น เช่น ย่านโยชิวาระในเอโดะ ที่มีเด็กสาวมาเต้นระบำเปิดม่านก่อนการแสดงละคร เพื่อโชว์ตัวให้พวกคนดูเลือกซื้อ ดังนั้นละครคาบุกิจึงเปลี่ยนเป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดีมาแต่งเป็นผู้หญิงเต้นแทน แล้วก็เลยกลายเป็นแหล่งซื้อหาเด็กหนุ่มไปด้วย

“เมื่อเกิดวัฒนธรรมเหล่านี้ก็มีการผลิตภาพชุงกะหรือภาพพิมพ์ไม้ที่เป็นรูปโป๊ เป็นภาพชายกับชายร่วมเพศกัน มีการเขียนนิยายความรักความสัมพันธ์ของผู้ชายกับผู้ชายขายกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งเชื่อว่าก็มีผู้หญิงที่เสพนิยายเหล่านี้ด้วยเช่นกัน จนญี่ปุ่นเปิดประเทศรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกแบบวิกตอเรียนเข้ามา เรื่องเพศที่ผิดไปจากแบบแผนตะวันตกจะถือเป็นเรื่องไม่ศิวิไลซ์ วัฒนธรรมเรื่องเพศเดียวกันที่เคยเปิดเผยจึงถูกขจัดออกจากวัฒนธรรมกระแสหลัก

“จนเวลาผ่านไปนานพอสมควร ถึงช่วงวัฒนธรรมป๊อปกลับมามีพื้นที่ วัฒนธรรมเด็กผู้หญิงก็เริ่มรุ่งเรือง มีการ์ตูนโชโจะหรือการ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 โดยเริ่มจากการ์ตูนที่คนไทยก็คุ้นกันดีอย่าง เจ้าหญิงอัศวิน ของเทตสึกะ โอซามุ หรือกุหลาบแวร์ซาย ของอิเคะดะ โยะโกะ จนกระทั่งมีการเขียนเรื่อง คะเซะโทะคิโนะอุทะ (ลำนำแห่งแมกไม้และสายลม) โดยทาเคะมิยะ เคโกะ ซึ่งถือเป็นต้นธารของการ์ตูนวายในยุคปัจจุบันอย่างแท้จริงครับ”

• จากความบูมในตอนนี้ คิดว่าตลาดหนังสือวายในเมืองไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

“วัฒนธรรมวายโดยรวมน่าจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะจากที่เคยเป็นเพียงซับคัลเจอร์ก็จะผงาดเป็นป๊อปคัลเจอร์อยู่ในที่สว่าง ดังนั้นนิยายวาย การ์ตูนวาย ซีรีส์วาย ภาพยนตร์วาย หรืออนิเมะวาย ฯลฯ จะกลายเป็นประเภทหนึ่งของวัฒนธรรมบันเทิงที่เลือกเสพกันได้โดยไม่ต้องปิดซ่อนอีกต่อไป เหมือนคนชอบอ่านการ์ตูนผี ชอบดูหนังนักสืบ หรือชอบดูละครน้ำเน่า

“แต่ถ้าถามว่าตลาดจะโตขึ้นอีกไหม ตลาดจะโตขึ้นแน่นอน ในเมื่อวัฒนธรรมวายมีที่ทางในแสงสว่างแล้ว คนที่เคยหลบซ่อนตัวในการเสพก็ยิ่งจะออกมามีพื้นที่ในสังคม หรือคนที่ไม่เคยเสพก็จะเริ่มให้ความสนใจ จึงมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อถึงจุดอิ่มตัวก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมบันเทิงกระแสหลัก ที่ไม่ได้น่าตื่นเต้นเหมือนตอนบูมแรกๆ

“ยังไงก็ตาม ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ วัฒนธรรมวายของไทยที่มีพัฒนาการจนเริ่มมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง น่าจะสามารถสร้างเป็นสินค้าซอฟต์พาวเวอร์ส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งเชื่อว่ามีมูลค่าเม็ดเงินมหาศาล ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราคิดได้ มันอาจจะกลายเป็นตัวช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศได้อย่างดีเลยครับ”

ขอบคุณ : ภาพวาดโดย Lolay



ช่วงนี้ฝนตกบ่อย ทำให้อดนึกถึงหนังสือแปล ‘การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก’ ไม่ได้ Reading Space เลยชวน สุพัตรา สุขสวัสดิ์ ...
01/10/2020

ช่วงนี้ฝนตกบ่อย ทำให้อดนึกถึงหนังสือแปล ‘การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก’ ไม่ได้ Reading Space เลยชวน สุพัตรา สุขสวัสดิ์ บรรณาธิการคนแรกของหนังสือเล่มนี้ และอดีตบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ GM Books มาเขียนเล่าเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจให้ได้อ่านกัน
----------
บ่อยครั้งสายฝนทำให้เราหวนรำลึกถึงอะไรหลายอย่าง เหมือนฝนในปีนี้ที่พาลนึกย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เมื่อ South of the Border, West of the Sun โดยฮารูกิ มูราคามิ Haruki Murakami ฉบับแปลเป็นภาษาไทยเพิ่งเสร็จใหม่ๆ แต่ชื่อหนังสือกลับยังไม่ลงตัว แล้วจู่ๆ ฤดูฝนปีนั้นริมชายหาดอันไกลโพ้น ถ้อยวลี ‘การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก’ ก็วาบขึ้นในความคิดของผู้แปล และกลายมาเป็นชื่อหนังสือที่เต็มไปด้วยความหมายลึกซึ้งซ่อนอยู่ ราวกับตั้งใจให้คนอ่านจินตนาการได้ไม่สิ้นสุด

ก่อนการปรากฏตัวของหนังสือเล่มนี้ เป็นยุคที่วงการสำนักพิมพ์เมืองไทยเฟื่องฟูที่สุด และในตอนนั้นเองชื่อของมูราคามิ นักเขียนดังจากญี่ปุ่นได้ถูกกล่าวขวัญถึง ด้วยผลงานเอกอุหลายชิ้น เช่น Norwegian Wood, Dance Dance Dance, The Wild Sheep Chase ฯลฯ ซึ่งมุ่งเน้นสะท้อนความเหงาของปัจเจกชนท่ามกลางบรรยากาศอันเคว้งคว้างว่างเปล่า ทำให้ถูกจริตและกระทบใจคนเมืองอย่างยิ่ง จนเกิดแฟนด้อมของมูราคามิเกลื่อนกลาด ผสมผเสกับคอลัมน์ของ ‘ปราย พันแสง ในมติชนสุดสัปดาห์ ที่ร่ายยาวเรื่องราวของมูราคามิต่อเนื่องกันหลายตอน ก็ยิ่งผลักดันให้กระแสมูราคามิแผ่ขยายออกไป พร้อมกับมีนักอ่านสาวกตัวจริงในเมืองไทยเกิดขึ้นมากมาย

อย่างไรก็ตาม งานแปลของมูราคามิฉบับภาษาไทยยุคนั้น ยังไม่มีนวนิยายขนาดสั้น เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้สำนักพิมพ์กายมารุต ตกลงรับเอา South of the Border, West of the Sun มาจัดพิมพ์ โดยหลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า ที่มาและการมีอยู่ของนวนิยายเล่มนี้ จุดประกายมาจากนักเขียนผู้ไม่ค่อยเปิดเผยตัวเองอย่างทินกร หุตางกูร ซึ่งก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้อ่านของมูราคามิเช่นกัน

จากนั้นปฐมบท การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก ก็เกิดขึ้น โดยมีการทาบทามโตมร ศุขปรีชา Tomorn Sookprecha ซึ่งเริ่มมีผลงานแปลบ้างแล้ว เป็นผู้แปล เนื่องจากตัวตน ถ้อยภาษา และความเข้าอกเข้าใจมนุษย์ ไม่มีนักแปลคนไหนตอบโจทย์หนังสือมูราคามิได้ดีเท่ากับเขาอีกแล้ว

การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก อาจไม่สัมพันธ์กับชื่อเดิมของหนังสือซึ่งมาจากเพลงๆ หนึ่งในเรื่อง (เพลง South of the Border ของแนท คิง โคล) แต่ทว่าบ่งบอกชัดเจนถึงฉากสำคัญของเนื้อหาที่มีสายฝนเป็นตัวแปร ผ่านการเล่าเรื่องของชายหนุ่ม ตัวแทนความบอบบางของมนุษย์ในโลกความจริง เมื่อค่ำคืนหนึ่งสายฝนโปรยปรายมาพร้อมกับการปราฏตัวอย่างเงียบงันของหญิงสาว ผู้เป็นรักแรกในวัยรุ่นของเขา ในสถานการณ์แปลกประหลาด ละม้ายคล้ายความฝันหรือภาพมายา ซึ่งช่วยเยียวยาอดีตอันแหว่งวิ่นและความปรารถนาเก่าก่อนให้บรรเทาเบาบางลง แม้เป็นเพียงชั่วขณะ ก่อนเธอจะจากไปไม่หวนคืนอีกครั้ง แล้วทิ้งบาดแผลแห่งความเจ็บปวดไว้ให้เขาตลอดกาล ดังบางส่วนเสี้ยวของหนังสือที่เขียนว่า

“...ช่วงเวลาที่เชื่อมต่อระหว่างกลางคืนและย่ำรุ่งช่างยาวนานและมืดมน หากผมสามารถร้องไห้ได้ อะไรๆ คงง่ายกว่านี้ แต่ผมจะร้องไห้ให้อะไรเล่า ผมจะร้องไห้ให้ใคร ผมเชื่อมั่นในตนเองมากกว่าจะร้องไห้เพื่อคนอื่น และชราเกินกว่าจะร่ำไห้เพื่อตัวเอง” ซึ่งแสดงนัยแห่งความร้าวลึก สิ้นหวัง ที่ชายหนุ่มไม่อาจเปิดเผยออกมาได้

หนังสือเล่มนี้จัดเป็นงานเขียนลึกซึ้ง ถึงขนาดเดอะ นิวยอร์กไทม์ส ยกย่องว่าเป็น หนังสือว่าด้วยความบอบบางของมนุษย์ ความหมกมุ่น และพลังแห่งความหวนไห้ในเชิงสังวาสที่งดงามที่สุด ส่วนในมุมมองของคนอ่านทั่วโลก มันทั้งเวียร์ดและทิ้งให้อารมณ์ค้างเติ่งอยู่กับความมืดมนอนธกาล กลางสายฝนที่ร่วงหล่นลงไปในทะเล ในตอนท้ายเรื่อง

สำหรับการจัดพิมพ์หนังสือครั้งแรกนั้น มีนักเขียนอดีตนักศึกษาญี่ปุ่นอย่างคำ ผกา punwichai มาช่วยตรวจอ่านสำนวนแปลให้ และเมื่อมีการจัดพิมพ์ซ้ำโดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่ ก็ได้มีการปรับปรุงสำนวนแปลเทียบกับต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยจินตนา เวชสวัสดิ์ ทำให้เนื้อหามีความละมุนและถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่เราจะไม่อ่านงานเขียนเล่มนี้ของมูราคามิ ศาสดาแห่งความเปลี่ยวเหงา โดยเฉพาะช่วงฝนตกบ่อยอย่างนี้...

การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก
South of the Border, West of the Sun
จำนวน 208 หน้า ราคา 235 บาท
สำนักพิมพ์กำมะหยี่
บูธ BB17 มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 Thai Book Fair
วันที่ 30 กันยายน - 11 ตุลาคม 2563





มีคนจำนวนมากเท่าไหร่แล้วที่ตั้งตนยุคใหม่ในชีวิตของเขาหลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง• เฮนรี เดวิด ธอโร
28/09/2020

มีคนจำนวนมากเท่าไหร่แล้ว
ที่ตั้งตนยุคใหม่ในชีวิตของเขา
หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง

• เฮนรี เดวิด ธอโร





“การเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่ปัญหา การลืมวัยเด็กต่างหากที่เป็น” อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี(El Principito - Antoine de Saint-Exupér...
27/09/2020

“การเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่ปัญหา การลืมวัยเด็กต่างหากที่เป็น” อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี(El Principito - Antoine de Saint-Exupéry) เขียนประโยคนี้ไว้นานแล้วแต่ก็ดูจะเข้ากับยุคสมัยที่ปัญหาเรื่องความเห็นต่างระหว่างวัยเป็นหัวขอใหญ่ของสังคมทั่วโลกและหนึ่งในหนังสือที่มักถูกยกมาพูดถึงเสมอๆ นั่นก็คือ 'เจ้าชายน้อย' (The Little Prince) จาก อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี(Antoine de Saint-Exupéry)นักเขียนผู้เป็นเจ้าของประโยคข้างบน

เจ้าชายน้อยเป็นงานเขียนลำดับที่สี่ของแซงเตก-ซูเปรี แม้เวลาจะผ่านมา 77 ปีทว่าเสน่ห์ของเจ้าชายน้อยไม่เคยล้าสมัย หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงที่แซงเตก-ซูเปรีเองโดนมรสุมรุมเร้าจากหลายทาง ทั้งเรื่องปัญหาครอบครัว ความรักและสงครามซึ่งตัวเขาเองไม่ได้ชื่นชอบนัก เรื่องราวบีบคั้นหัวใจและตกต่ำที่สุดในชีวิตทำให้เขาเขียนหนังสือเล่มที่ดีและโด่งดังที่สุดเล่มหนึ่งของเขาออกมา

เนื้อหาหลักในเล่มเป็นเรื่องของการประชดประชันโลกของผู้ใหญ่ที่สนใจแต่ อำนาจ การเมือง ความร่ำรวย หลงลืมให้ความสำคัญกับคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เจ้าชายน้อยพิมพ์ครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาและถูกต่อต้านอย่างมากในช่วงแรก เนื่องจากถูกมองว่าเป็นเรื่องของการเสียดสี แต่ท้ายที่สุดนักอ่านก็เข้าใจว่าความตั้งใจของเขา อยู่ที่การปล่อยให้ผู้อ่านตีความหมายจากมุมมองและประสบการณ์ของผู้อ่าน และยิ่งหากคุณรู้จักแซงเตก-ซูเปรี นักบินผู้ผ่านเหตุการณ์เฉียดตายมาหลายครั้ง ผ่านความร้อนรนของการเป็นนักบินที่ทำหน้าที่หาผู้รอดชีวิตจากเครื่องบินตกและหากเคยอ่านหนังสือเล่มก่อนหน้านี้ของเขามาบ้าง คุณจะอ่านเจ้าชายน้อยด้วยความเข้าใจในมุมมองของเขาที่มีต่อค่าของความเป็นคน

แซงเตก-ซูเปรี เสียชีวิตในปี 19444 ในขณะที่มีอายุเพียง 44 ปีเท่านั้น จากความดื้อดึงที่อยากจะขึ้นบินอีกครั้งทั้งๆ ที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้ขึ้นเครื่องบินต่อสู้เนื่องจากกระดูกร้าวจากการประสบอุบัติเครื่องบนตกถึงหกครั้งก่อนหน้า แต่เขาก็ออกบินจนได้ ในวันที่ 31 กรกฎาคม ถือเป็นการบินครั้งสุดท้าย แซงเตก-ซูเปรี ไม่ได้กลับมาอีกเลย

การตายของเขาเป็นปริศนาอยู่นานกว่า 50 ปีว่าตกลงเขาจงใจทำเครื่องบินตก โดนยิงหรือประสบอุบัติเหตุกันแน่ จนกระทั่งมีชาวประมงพบซากเครื่องบินของแซงเตก-ซูเปรี ที่เมืองมาร์แซยทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เริ่มมีการสืบหาสาเหตุจนทราบว่า เครื่องบินของเขาโดนเครื่องบินของทหารเยอรมันยิงตก เรื่องน่าเศร้าและย้อนแย้งที่สุดก็คือ นักบินชาวเยอรมันคนได้ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า เขาเองเป็นแฟนหนังสือของแซงเตก-ซูเปรี การเสียชีวิตของเขายิ่งทำให้คุณค่าของ ‘เจ้าชายน้อย’ และหนังสือเล่มอื่นๆ ของเขาแจ่มชัดขึ้นอีกในฐานะของวรรณกรรมที่เชิดชูความเป็นมนุษย์นิยม

ในหนังสือ ‘แผ่นดินของเรา’ (Terre des Hommes) ซึ่งเขียนขึ้นจากประสบการณ์ของการเป็นนักบินขนส่งไปรษณีย์ เครื่องเขาตกอยู่ในทะเลทรายสามวันสามคืนจนกระทั่งมีชนเผ่าเร่รอนมาพบเข้า ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาพบว่าไม่มีอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าความเมตตาจากมนุษย์ด้วยกันเอง เขากล่าวถึงหญิงชาวเบดูอินที่ช่วยชีวิตเขาไว้ว่า “ใบหน้าของเธอในความทรงจำของผมคือใบหน้าของมนุษย์ทกคน เธอไม่ได้มองหน้าเราเลย แต่เธอได้รู้จักเราแล้ว เธอคือภราดาอันเป็นที่รักและผมรู้จักเธอในฐานะของมนุษย์ทุกคน”
บางทีเรื่องราวต่างๆ ในโลกนี้อาจง่ายขึ้นถ้าเราไอ้อ่านมากขึ้นก็เป็นได้

สำหรับแฟนคลับและผู้สนใจสามารถแวะชม นิทรรศการ ‘เจ้าชายน้อย’ ได้ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 จัดอย่างอลังการ โดยอาจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ Suddan Wisudthiluck เป็นภัณฑารักษ์ดำเนินการ
•••••
อ้างอิง
วรรณกรรมเรื่อง เจ้าชายน้อย ฉบับแปลโดย อริยา ไพฑูรย์
‘ไขปริศนาการหายตัวไปอย่างลึกลับของผู้เขียนเจ้าชายน้อย’ นิตยสารสารคดี shorturl.at/qDTW2
www.thelittleprincess.com
Antoine de Saint-Exupéry Officiel




-exupery

 #ไม่กองดองอีกต่อไป และมันก็ใกล้เข้ามาทุกทีกับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ประจำปี 2563 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผ...
26/09/2020

#ไม่กองดองอีกต่อไป และมันก็ใกล้เข้ามาทุกทีกับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ประจำปี 2563 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย Thai Book Fair ปีนี้มาในธีม "No กองดอง" ที่หวังจะกระตุ้นคนอ่านให้ละเลิกพฤติกรรมซื้อหนังสือไปกองและดองไว้แต่ไม่ยอมอ่านให้จบเสียที จะได้ผลแค่ไหนก็ต้องติดตามความเคลื่อนไหวกันต่อไป
นอกจากนั้นงานยังคงคอนเฟิร์มจัด ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานีเหมือนปีที่แล้ว (แม้หนอนหนังสือจะบ่นว่าไปยากก็ตามที) แต่เพิ่มความว้าวด้วยสีสันของกิจกรรมการอ่านหลากหลายเวที พร้อมขบวนกองทัพบูทหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ มากมาย อาทิเช่น Saltread Bibli KOOB Fullstop Book Pannbooks สำนักพิมพ์กำมะหยี่ สำนักพิมพ์ ยิปซี สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ Amarinbooks เป็นต้น งานเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน-11 ตุลาคม นี้ เวลา 10.00 ถึงเย็นย่ำ 21.00 น.
หนอนหนังสือเตรียมบัตร เตรียมเงิน แล้วไปลุยกันเลย




#สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ #โนกองดอง

Reading Space ขอแนะนำหนังสือใหม่ 2 เล่ม ที่กำลังฮอตและตรงกับปรากฏการณ์ทางสังคมในตอนนี้มากที่สุด จากสำนักพิมพ์คุณภาพ  และ...
23/09/2020

Reading Space ขอแนะนำหนังสือใหม่ 2 เล่ม ที่กำลังฮอตและตรงกับปรากฏการณ์ทางสังคมในตอนนี้มากที่สุด จากสำนักพิมพ์คุณภาพ และ Saltread

• เมื่อนิยามของคำว่า ‘การระบาด’ เข้าไปแตะสังคมในทุกมิติ •

เวลาพูดถึง ‘การระบาด’ เรานึกถึงอะไรบ้าง? ส่วนใหญ่ก็คงนึกถึงการสาธารณสุข ว่าด้วยเรื่องของเชื้อโรคและโรคร้ายแรงต่างๆ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่สเปน ไข้หวัดนก ซาร์ส รวมถึงโควิด-19 ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลกอยู่ในเวลานี้

แต่ความจริง ‘การระบาด’ ไม่เพียงเป็นคำนิยามสำหรับเชื้อโรคในแวดวงสาธารณสุขเท่านั้น หากยังเป็นคำนิยามที่อธิบายความเคลื่อนไหวทางสังคมได้แทบทุกมิติ ดังปรากฏในหนังสือ ‘ระเบียบแห่งการระบาด (The Rules of Contagion)’ เขียนโดย อดัม คูชาส์กี้ (Adam Kucharski)

อดัมเป็นนักระบาดวิทยาที่มีชื่อเสียง เคยเข้าไปปฏิบัติการวิเคราะห์การระบาดของโรคร้ายแรงให้กับองค์กรสาธารณสุขระดับโลกมาแล้วหลายครั้ง จนพบรูปแบบและปัจจัยบางอย่างที่มีผลให้การระบาดแต่ละครั้งรุนแรงขนาดไหน และจะหยุดมันได้อย่างไร โดยเขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของการระบาดออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างน่าสนใจ

เนื้อหาภายในเล่ม นอกจากบอกเล่าการกำเนิดและพัฒนาการของทฤษฎีโรคระบาด ภาพรวมวิธีการรับมือ การคาดคะเนการระบาดของโรคทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตแล้ว ยังชวนให้ผู้อ่านได้ขบคิดและทำความเข้าใจถึงความทับซ้อนกันของวิถีโรคระบาดกับโลกที่มนุษย์ขับเคลื่อนอยู่ ซึ่งทำให้การระบาดเข้าไปข้องเกี่ยวกับสังคมในมิติอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม หรือสังคม โดยบางครั้งบางเหตุการณ์อาจดูไร้เหตุผลในตอนต้น ก่อนตามมาด้วยความยากจะเข้าใจเมื่อมันลุกลามออกไปในวงกว้าง

หนังสือเล่มนี้จึงน่าอ่านและเหมาะกับสถานการณ์ที่โลกเรากำลังเผชิญกับ ‘การระบาด’ ทั้งโรคร้ายและวิกฤตการเมืองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยเรา

ระเบียบแห่งการระบาด
The Rules of Contagion
สำนักพิมพ์ Be(ing) Bibli
จำนวน 432 หน้า ราคา 389 บาท

• จาก เรา เป็น เขา เป็น มัน และ เป็นอื่น : ถึงเวลาที่มนุษย์ต้องดีลกับความขัดแย้ง •

ท่ามกลางความขัดแย้งที่ลุกลามใหญ่โต จนเกิดการแบ่งแยกเป็น ฉัน เรา เขา มัน หรือ ความเป็นอื่น ในสังคมแทบทุกหย่อมหญ้า ก่อให้เกิดคำถามว่า หากเลเวลของความขัดแย้งนี้ทะลุขึ้นถึงขีดสุด แล้วนำไปสู่การฟาดฟันและสูญเสียเฉกเช่นบทเรียนในอดีต

‘มนุษย์เราควรต้องดีลกับความขัดแย้งอย่างไร เพื่อหยุดความรุนแรงนั้น’

จากปัญหาและคำถามสำคัญนี้เอง หนังสือ ‘พวกฉัน พวกมัน พวกเรา (Moral Tribes)’ โดยโจชัว กรีน (Joshua Greene) นักวิทยาศาสตร์แถวหน้า และแปลโดย วิสาลินี ฤกษ์ปฏิมา เดอเบส มีคำตอบที่จะทำให้เข้าใจถึงต้นตอแห่งความขัดแย้ง และมองเห็นหนทางที่ ‘เรา จะเข้ากับ พวกเขา ได้อย่างไร เมื่อสิ่งที่พวกเขาต้องการมันขัดแย้งรุนแรงกับ พวกเรา’

ทั้งนี้งานเขียนเล่มนี้ ถือเป็นงานรวมศาสตร์ที่ผู้เขียนนำเอาความรู้และกระบวนการคิดทั้งด้านประสาทวิทยา จิตวิทยา และปรัชญามาผนวกกัน เพื่ออธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ ด้วยการเปรียบเทียบสมองของมนุษย์เป็นกล้อง 2 ระบบที่ตั้งค่าได้ทั้งแบบอัตโนมัติและควบคุมด้วยตนเอง โดยระบบอัตโนมัติเปรียบเสมือนอารมณ์ ที่ได้มาจากวิวัฒนาการ วัฒนธรรม และประสบการณ์ส่วนตัว ส่วนระบบควบคุมด้วยตนเองเป็นความสามารถของสมองในการคิดวิเคราะห์หาเหตุผล ทำให้ความคิดของเรายืดหยุ่น จึงเห็นได้ว่าอารมณ์อัตโนมัตินี่เอง ที่เป็นสาเหตุเปลี่ยนให้ ฉัน เป็น เรา และสั่งการให้เราอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน โดยทำให้ พวกเรา เห็นต่างจาก พวกเขา หรือ พวกมัน

นอกจากนั้นหนังสือยังมุ่งเน้นให้คนอ่านเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น รวมทั้งเสนอวิธีที่จะนำพาเราผ่านมุมมองของศีลธรรมในโลกปัจจุบัน เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาให้ทุกฝ่ายแม้มีความเห็นไม่ตรงกัน ก็สามารถดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติขึ้น

แนะนำว่า อ่านเถอะ รับรองช่วยให้คุณดีลกับความขัดแย้งได้ไม่มากก็น้อยแน่ๆ...

พวกฉัน พวกมัน พวกเรา
Moral Tribes
สำนักพิมพ์ Salt Saltread
จำนวน 552 หน้า ราคา 485 บาท





จงอ่านเถิด และจงเต้นรำเถิดสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงและไม่เคยเป็นพิษเป็นภัยกับโลกนี้เลย• วอลแตร์นักเขียนและนักป...
21/09/2020

จงอ่านเถิด และจงเต้นรำเถิด
สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิง
และไม่เคยเป็นพิษเป็นภัยกับโลกนี้เลย

• วอลแตร์
นักเขียนและนักปรัชญา





• นิตยสารสารคดี ชวนนักอ่านทัวร์งาน ‘นิทรรศการ เจ้าชายน้อยฯ’ • นิตยสารสารคดี เชิญชวนนักอ่านร่วมเดินทางไปกับงาน ‘ก้าวสู่ปี...
18/09/2020

• นิตยสารสารคดี ชวนนักอ่านทัวร์งาน ‘นิทรรศการ เจ้าชายน้อยฯ’ •

นิตยสารสารคดี เชิญชวนนักอ่านร่วมเดินทางไปกับงาน ‘ก้าวสู่ปีที่ 77 ของ เจ้าชายน้อย’ วรรณกรรมเยาวชนระดับโลก ในนิทรรศการ ‘เจ้าชายน้อย หนังสือ การสะสม และการสนทนาข้ามวัฒนธรรม’ โดยภายในงานนอกจากพาทัวร์ชมบรรยากาศแล้ว ยังมีกิจกรรมสนุกๆ เกี่ยวกับเจ้าชายน้อยให้ฟินกันอย่างเต็มที่ ส่วนไฮไลต์ไม่ควรพลาด อยู่ที่เวที ‘สนทนาเนื้อหาเจ้าชายน้อย ผ่านมุมมองการเผชิญหน้าทางวัฒนธรรมในโลกร่วมสมัย’ กับอาจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ หนึ่งในกูรูเจ้าชายน้อยของเมืองไทย ณ พิพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันที่ 25 กันยายนนี้ เวลา 09.30-12.00 น. หนอนหนังสือคนไหนสนใจต้องรีบหน่อย เพราะงานนี้รับเฉพาะผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า ทาง inbox ของเพจ Sarakadee Magazine จำนวน 30 ท่านเท่านั้น

อย่ามัวโอ้เอ้...ช้าหมดเดี๋ยวอดไปฟินอย่างใกล้ชิดกับเจ้าชายน้อยนะ

ข้อมูลและรูป : Sarakadee Magazine




จุดเปลี่ยนอเมริกา อาจเริ่มต้นจากหนังสือ Rage เล่มนี้ จะว่าไปนี่น่าจะเป็นหนังสือที่กำลังได้รับการพูดถึงมากที่สุดในสหรัฐอเ...
16/09/2020

จุดเปลี่ยนอเมริกา อาจเริ่มต้นจากหนังสือ Rage เล่มนี้ จะว่าไปนี่น่าจะเป็นหนังสือที่กำลังได้รับการพูดถึงมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา Reading Space จึงชวน ศิวะภาค เจียรวนาลี Siwapark Jianwanalee Creative Director แห่ง Daypoets และผู้ดำเนินรายการ Trend Watchers ใน The Momentum กับพอดแคสต์ New Bike Day มาบอกเล่าถึงหนังสือเล่มนี้ที่เขาอ่าน

——————

ถาม : คุณจะชวนนักเขียนที่เคยเขียนหนังสือด่าคุณ เชิญเขามาให้สัมภาษณ์ เพื่อให้เขากลับมาเขียนหนังสือถึงคุณอีกเล่มทำไม
ตอบ : เพราะคุณเชื่อว่าเนื้อหาจะออกมาถูกใจคุณมากขึ้น ถ้าคุณได้พูดกับเขาด้วยตัวเอง

15 กันยายน 2020 คือวันแรกที่หนังสือ Rage ของบ็อบ วูดเวิร์ด (Bob Woodward) วางขาย แต่ก่อนหน้านี้สื่อในสหรัฐอเมริกาที่ได้อ่านหนังสือก่อนคนทั่วไป แทบจะทุกหัวพูดถึงหนังสือเล่มนี้ หยิบบางท่อนบางตอนมาเป็นข่าว เชิญบ็อบมาให้สัมภาษณ์ เพราะเมื่อได้อ่าน ทุกคนรู้ว่านี่ไม่ใช่หนังสือข่าวสืบสวนธรรมดา แต่อาจเป็นหนังสือที่เปลี่ยนชะตาของอเมริกาและอาจมีผลกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า

บ็อบคือนักข่าวสืบสวนในตำนาน เขาร่วมกับคาร์ล เบิร์นสตีน (Carl Bernstein) และทีมงานหนังสือพิมพ์ Washington Post ทำข่าวคดี Watergate ปี 1972 ข่าวชิ้นนี้มีส่วนทำให้อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) กระเด็นจากตำแหน่ง และถูกยกให้เป็นหนึ่งในงานข่าวชิ้นที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา

Rage คือหนังสือที่เล่าการทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ในช่วงที่เขาเผชิญศึกหลายด้าน ทั้งจากวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจตกต่ำ การประท้วงต่อต้านการเหยียดผิว Black Lives Matter และการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายน ความจริงบ็อบเคยเขียนถึงทรัมป์ในผลงานเล่มที่แล้วชื่อว่า Fear : Trump in the White House ความต่างคือครั้งที่แล้วบ็อบเล่าเรื่องด้วยการสัมภาษณ์แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดทรัมป์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาว ส่วนทรัมป์ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ แต่กับ Rage ทรัมป์เป็นคนหยิบยื่นโอกาส ให้สัมภาษณ์นักข่าวสืบสวนระดับตำนานด้วยตัวเอง

รวมแล้วการสัมภาษณ์ระหว่างบ็อบและทรัมป์เกิดขึ้น 18 ครั้ง (ส่วนมากเป็นทางโทรศัพท์ในช่วงกลางคืน) ความยาวราว 9 ชั่วโมง 41 นาที นอกจากนี้บ็อบยังเก็บรายละเอียดเล่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาว ทำให้เราได้เห็นการบริหารงานของทรัมป์แบบคนวงใน (ซึ่งสมบูรณ์กว่าตอนเขาเล่าใน Fear เพราะทรัมป์มาเล่าเรื่องเองด้วย) รวมถึงได้รู้ว่าเบื้องหลังการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ของประธานาธิบดีมีปัจจัยอะไรที่เขาต้องคิดบ้าง

ทรัมป์บอกกับบ็อบว่า เขาพลาดเองที่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ Fear และหวังว่าการคุยกับบ็อบด้วยตัวเองจะทำให้เรื่องราวของเขาถูกนำเสนออย่างถูกต้องยิ่งขึ้น แต่มองอีกมุม กลายเป็นว่าทรัมป์อาจจะพลาดอีกครั้งที่ให้สัมภาษณ์จนทำให้หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น

เหตุผลหนึ่งเพราะเนื้อหาหนังสือเล่มนี้เป็นการอัดเทปสัมภาษณ์ เสียงของทรัมป์ที่เล่าเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเองเป็นหลักฐานชั้นดีที่ยืนยันว่าคำพูดของเขาที่ปรากฏในหนังสือ (โดยเฉพาะเรื่องราวในแง่ลบ) เป็นเรื่องจริง

ตัวอย่างที่ชัดและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือทรัมป์บอกกับบ็อบว่า เขาทราบข่าวโรคระบาด COVID-19 จากเจ้าหน้าที่ว่ามันเป็นโรคระบาดร้ายแรงถึงชีวิต ติดต่อได้ทางอากาศ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทรัมป์พูดออกสื่อเสมอว่าโควิดเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา ไม่ได้ร้ายแรงอะไร ในหนังสือเองทรัมป์ยังบอกว่าเหตุผลที่เขาพูดกับสื่ออย่างนั้นเพราะไม่อยากให้ทุกคนตื่นตระหนกเกินเหตุ

ทรัมป์มักมีชื่อเสียงด้านลบในการให้ข้อมูลที่ดูไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะกับวิกฤตครั้งนี้ที่เขามักให้ข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุข เทปสัมภาษณ์ของบ็อบจึงถูกพูดถึงมาก เพราะหลายเรื่องมันคือการยืนยันว่าจริงๆ แล้วทรัมป์ก็รู้ข้อมูลข้อเท็จจริงแต่กลับสื่อสารไปอีกแบบ (ในการออกสื่อเพื่อโปรโมตหนังสือ มีการนำเทปเสียงที่ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ไปใช้ในรายการเยอะมาก ฉะนั้นอย่าแปลกใจหาก โจ ไบเดิน( Joe Biden) คู่แข่งของทรัมป์จะเอาเนื้อหาจากเทปและหนังสือมาใช้หาเสียงเพื่อตอบโต้ทรัมป์ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงด้วย) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศไม่ควรทำอย่างยิ่งกับการรับมือโรคระบาดที่การให้ข้อมูลข้อเท็จจริงจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา สำหรับคนที่สนใจการเมืองอเมริกาคงจุใจกับเนื้อหา 400 กว่าหน้าที่จะทำให้เราเข้าใจการทำงานของรัฐบาลอเมริกาในการรับมือกับเรื่องต่างๆ มากขึ้น

นอกจากเรื่องโควิด บ็อบยังเล่าเบื้องหลังความคิดของทรัมป์ที่มีต่อเหตุการณ์และความขัดแย้งในประเทศ สไตล์การเขียนของนักข่าวสืบสวนอย่างบ็อบไม่ได้หวือหวา แต่อัดแน่นด้วยข้อมูลและหลักฐานรองรับ คุณภาพของมันคงทำให้ Rage กลายเป็น Reference ชั้นดีที่คนข่าวน่าศึกษา แต่สำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่ไม่ชอบทรัมป์ เราอยากแนะนำให้อ่าน มันเป็นหนังสือที่ช่วยให้เราเข้าใจมนุษย์มากขึ้น การได้อ่านความคิดของคนที่มีคิดตรงกันข้ามกับมวลชนส่วนใหญ่ ทำให้เรารู้ว่าเหรียญมีสองด้าน โลกช่างหลากหลาย เต็มไปด้วยผู้คนที่น่าศึกษา แม้บางครั้ง ความคิดของเขาจะดูสุดโต่งจนดูเหมือนอยู่ในดาวคนละดวงกับเราก็ตาม

คาดว่าน่าจะมีคนนำหนังสือเล่มนี้มาแปลเป็นภาษาไทยเร็วๆ นี้

Rage ผู้เขียน Bob Woodward
สำนักพิมพ์ Simon & Schuster
Simon & Schuster





ที่อยู่

Bangkok
10400

เวลาทำการ

จันทร์ 10:00 - 18:00
อังคาร 10:00 - 18:30
พุธ 10:00 - 18:00
พฤหัสบดี 10:00 - 18:00
ศุกร์ 10:00 - 18:00

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ The Reading Spaceผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

แชร์


ผู้จััดพิมพ์เผยแพร่ อื่นๆใน Bangkok

แสดงผลทั้งหมด

คุณอาจจะชอบ