MiLew

MiLew เพราะเราไม่อาจอ่านสรรพตำราได้หมดด?

13/11/2023

Gen X ดีที่สุด?

ผมเคยเห็นรูปที่จัด generation น่าจะจากเพจลงทุนแมน เปนการแบ่งโดยใช้ดาราและนักการเมืองเป็นตัวจัดกลุ่มว่าใครอยู่เจนไหน อายุประมาณเท่าไหร่ เจนที่ผมอยู่ก็คือ Gen X ที่เขาจัดกัน มีอายุประมาณ 40-54 ปี เห็นหน้าคุณติ๊กเจษฏาภรณ์ในกลุ่มนี้ก็ยังพอชื่นใจ ถึงแม้ว่าผมจะอยู่ต้นๆของ Gen เกือบจะหลุดไป babyboom ซึ่งมีหน้าพี่เบิร์ดรออยู่ตรงนั้นก็ตาม

ผมมักจะคิดอยู่เสมอว่า ที่ผมได้เกิดอยู่ใน Gen X นั้นนี่ช่างดีเหลือเกิน เป็นยุคสมัยที่ไม่มีสงคราม ไม่ลำบากเหมือนยุคก่อนหน้า แถมยังพอทันเทคโนโลยีใหม่ๆไม่อนาล็อคเหมือนยุคพ่อแม่ มองไปที่เด็กๆ ก็รู้สึกว่าโชคดีที่ยุคผมนั้นยังไม่วุ่นวาย ไม่มีโซเชียลมีเดียที่สลับซับซ้อน ยังทันทีวีไม่กี่ช่อง ยังได้เล่นกันทุ่งหญ้าป่าเขา การแข่งขันก็ไม่รุนแรงเหมือนยุคเด็กๆเขา เพลงยุคผม 80 90 ก็ไพเราะเพราะพริ้งกว่ายุคไหนๆ แม้กระทั่งตอนนี้ฟังยังไงเพลงรุ่นผมก็เพราะกว่าอยู่ดี เวลาคุยกับเพื่อนฝูงรุ่นราวคราวเดียวกัน ทุกคนก็ดูจะเห็นดีเห็นงามด้วยคล้ายๆกัน

เมื่อเช้าผมฟังบรรยายในยูทูปของคุณ robert greene ผู้เขียนหนังสือกลยุทธ์ the art of …. หลายๆเล่มอันโด่งดัง ล่าสุดเขาเขียนเรื่อง the art of human nature และมาคุยในงาน talks at google บรรยายให้พนักงาน google ฟัง ในนั้นมีข้อคิดดีๆหลายอย่าง แต่มีช่วงหนึ่งคุณโรเบิร์ตพูดถึงเรื่อง generation ที่ตอบคำถามที่ผมคิดมาตลอดได้ดีว่าทำไมผมถึงคิดว่า gen X นี่ดีที่สุดละไม่มีเจนไหนสู้ได้ไม่ว่าก่อนหน้าหรือรุ่นเด็กๆในปัจจุบัน

คุณโรเบิร์ต วิเคราะห์ว่า ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้มีลักษณะเป็นปัจเจก แต่เป็นการถูกอิทธิพลกลุ่มครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นเผ่าสมัยโบราณจนถึงวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทที่เราทำงานด้วย แต่ความคิดครอบงำที่ใหญ่มากๆและมีอิทธิพลต่อแนวความคิดมนุษย์ปัจจัยหนึ่งก็คือความคิดของ generation ที่เราเกิดมา

คุณโรเบิร์ตเล่าว่า ในGeneration หนึ่งจะกินเวลาประมาณ 22 ปี มีผู้ศึกษาว่าคนที่อยู่ใน generation เดียวกันมักจะมีความคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นรสนิยม อารมณ์ขัน ไอเดียต่างๆ คุณโรเบิรต์บอกว่าเพราะมาจากการหล่อหลอมทางความคิดตั้งแต่เรายังเด็กๆที่พร้อมเปิดรับไอเดียและความเชื่อได้ง่ายๆ จากการดูทีวีเรื่องเดียวกัน ฟังเพลงเดียวกัน มีพ่อแม่ที่มีลักษณะและมีความเชื่อ ถูกสอนมาคล้ายๆกันเพราะพ่อแม่ก็มาจากเจนเดียวกัน เป็นเหมือนการล้างสมองหมู่ เป็นแบบนี้ทุก generation เป็นเหมือน secret club ที่จะไปเข้าใจคลับอื่นของเจเนอเรชั่นอื่นได้ยาก

อิทธิพลของ generation ต่อโลกทำให้มีประเด็นสำคัญอยู่สองประเด็นที่น่าสนใจและควรจะที่เข้าใจเพื่อประกอบการตัดสินใจใดๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ธุรกิจ หรือแม้แต่การเมืองก็ตาม ประการแรก คุณโรเบิร์ตบอกว่า ทุก generation มักจะคิดว่ารุ่นเรานี่ดีกว่ารุ่นอื่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นก่อนหน้าเราที่เป็นอดีตหรือคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคต เรื่องนี้ผมเคยอ่านบทความของหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช (แต่พยายามค้นแล้วหาไม่เจอ) ที่ตอนท่านอยู่จุดสูงสุดทางด้านสติปัญญา ท่านก็เคยเขียนถึงการไร้สิ้นความหวังเมื่อมองไปในอนาคตของคนรุ่นใหม่และมองกลับไปที่อดีตของรุ่นก่อน ไม่เฉพาะหม่อมคึกฤทธิ์ แต่คุณโรเบิร์ต ยกตัวอย่างของศิลาจารึกชาวสุเมเรียนเมื่อสามพันปีก่อน จารึกไว้อย่างสิ้นหวังต่อคนรุ่นใหม่ไว้ว่า “ Today youth is rotten Evil Godless and lazy , it will never be as youth used to be and it will never be able to preserve our culture “

เป็นการหลงตัวเองของ generation ที่มองคนรุ่นใหม่มาตั้งแต่สามพันปีก่อนจนคำพูดนี้ก็ยังคุ้นๆถึงปัจจุบัน แต่โลกก็พัฒนาการมาเรื่อยๆ ไม่ได้ล่มสลายอะไรตามที่คนสุเมเรียน gen X สมัยนั้นบ่นไว้

เรื่องที่สองที่คุณโรเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนกลยุทธ์วิเคราะห์ไว้ก็คือ จากประวัติศาสตร์หลายร้อยปีนั้น มีคำเยอรมันคำหนึ่งเรียกว่า zeitgeist คำว่า zeit แปลว่าเวลา (time) geist แปลว่าวิญญาณ (spirit) ซึ่ง zeitgeist จะแปลว่าจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยก็น่าจะได้ ที่เกิดจากการปะทะของคนระหว่าง generation คุณโรเบิร์ตบอกว่า แต่ละทุกช่วงเวลาจะมีคน 4 เจนอยู่ร่วมกันเสมอ สองเจนหลังจะไม่นิ่ง ไม่ชอบโลกปัจจุบัน อยากจะเปลี่ยนแปลง มีพลังงานแห่งการเปลี่ยนแปลงไหลวนอยู่ตลอดเวลา แต่ในขณะที่สองเจนแรกจะไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องการให้ทุกอย่างหยุดอยู่กับที่ พลังงานสองแบบนี้จะปะทะกันจนเกิด zeitgeist เป็นแบบนี้มาเป็นพันปี

การหมุนวนของ generation จะเริ่มด้วย revolutionary generation เป็นยุคที่ปฏิวัติใหม่ สร้างระบบระเบียบความเชื่อใหม่ แล้วตามด้วย preserved generation คือยุคที่พยายามรักษาการเปลี่ยนแปลงและความเชื่อต่อเนื่องมาจากเจนก่อน และตามด้วย conservative generation ที่ไม่ทันยุคแรก ไม่เข้าใจที่มาที่ไปเดิมแล้ว แต่มีต้องการรักษาอดีตไว้ให้เหมือนเดิม ซึ่งจะนำมาสู่ crisis generation ที่โมโห ไม่มีความสุขและไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เป็นอยู่ แล้วก็จะหมุนเข้า revolutionary generation อีกรอบหนึ่ง คุณโรเบิร์ตซึ่งน่าจะเป็นคนยุค baby boom วิเคราะห์ว่าพวกมิลเลเนียลตอนนี้คือ crisis generation ทั้งโลก และน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ความเชื่อใหม่ และอะไรต่างๆอีกมากมายในไม่ช้า

คุณโรเบิร์ตแนะนำผู้บริหารและพนักงานกูเกิลในการบรรยายว่า ไม่ว่าจะอย่างไร เราต้องเข้าใจ zeitgeist เสมอว่าพลังงานนี้จะขับเคลื่อนสังคมตลอดเวลา ถ้าเรายึดกับอดีต ไม่พยายามเข้าใจการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ไม่ sensitive กับคนรุ่นใหม่ การที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้าง business model ใหม่ๆ หรือแม้แต่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงก็จะทำอะไรสำเร็จได้ยาก

คุณ John Brown อดีตซีอีโอของ Agoda ที่ผมได้ฟังเขามาบรรยายเมื่อวันก่อนว่า culture ที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งของ Agoda ก็คือต้องทำ experiment relentlessly ต้องทดลองตลาด ลองผิดลองถูกให้เยอะและเร็ว เพื่อเรียนรู้และเข้าใจลูกค้า เข้าใจแล้วก็ต้องทำต่อเพราะความคิดความชอบของคนเปลี่ยนเร็วและเปลี่ยนตลอดเวลา คุณ John Brown บอกว่าที่ต้องทำเช่นนี้เพื่อไม่ให้ founder หรือซีอีโอที่เคยทำอะไรถูกและแม่นมาตลอดนั้นหลงตัวเองในขณะที่ “zeitgeist” เปลี่ยนไป คุณ John เทียบกับศิลปินดังๆที่เคยเก่ง เคยแต่งเพลงแม่น อะไรก็ฮิต แต่พอเวลาผ่านไปถ้ายังยึดติดกับท่าเดิมทำนองเดิม ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปก็ทำให้ศิลปินตกอับมานับไม่ถ้วน

ในฐานะคน Gen X ที่ดื้อๆและเพิ่งดูหนังแฟนฉัน remastered ที่มาฉายใหม่จอีกรอบนั้น ถึงแม้ว่าผมจะพอเข้าใจได้ว่าบริษัทหรือผู้บริหารจำเป็นจะต้องปรับตัวให้เป็นไปตาม zeitgeist ของยุคสมัย ต้องลองอะไรใหม่ๆและปล่อยให้คนรุ่นใหม่ในบริษัทได้คิดได้ทำมากขึ้น แต่ผมจะยังเถียงในใจอยู่ดีว่าเพลงยุคผมนี่เพราะสุดแล้วเมื่อเทียบกับยุคอื่น หนังดีๆก็เกิดยุคผม แถมเป็นยุคที่ได้เห็นทั้งโลกอนาลอกและดิจิตัลไปพร้อมกันอย่างที่ยุคอื่นไม่มี …

ห้องไลน์เพื่อนร่วมรุ่นผมน่าจะคอนเฟิร์มได้เป็นอย่างดีนะครับ …

12/09/2023

กระบวนท่าแรกของจอมยุทธ์

นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้บ่อยๆนั้น มักจะมีกระบวนท่าแรกที่เขามักจะใช้จนคุ้นชิน โดยเฉพาะเวลาที่นึกอะไรยังไม่ออก ยังไม่เคลียร์ แค่มีไอเดียมีโปรเจกอยู่แต่ยังไม่ชัดนัก กระบวนท่าแรกมักจะเป็นท่าที่เรียกความมั่นใจหรือเป็นท่าที่จะทำให้คิดต่อยอดออก หรือทำให้เกิดความกระจ่างในท่าต่อๆไปชัดเจนขึ้นมากว่าจะต้องขยับอย่างไร

……………..

คุณตัน อิชิตัน เวลานึกจะอยากทำอะไรก็มักจะเริ่มจากการไปหาคนเก่ง หาเซียนที่เคยทำมาก่อนโดยเฉพาะเซียนที่อยู่ต่างประเทศ ตอนที่ทำร้านถ่ายรูปแต่งงาน คุณตันก็บุกไปไต้หวันที่ธุรกิจนี้บูมมาก่อน ตอนที่ทำราเมงก็ไปญี่ปุ่น ไปนั่งคุยกับจอมยุทธ์ราเมง คุณตันมักจะไปถามเคล็ดลับ ถามวิธีคิด ถามเทคนิคต่างๆ แต่ที่คุณตันจะถามทุกครั้งซึ่งเป็นประโยชน์และลดความเสี่ยงในโครงการใหม่ๆมาก ก็คือคำถามที่ว่า อะไรบ้างที่ไม่ควรทำ ควรหลีกเลี่ยง อย่าหาทำเด็ดขาด ซึ่งผู้รู้ก็จะบอกจุดหายนะให้คุณตันได้หลีกเลี่ยงเวลาทำจริงได้อย่างที่ไม่ต้องลองผิดลองถูกจนเกินไป

คุณปลา อัจฉรา บุรารักษ์ เจ้าแม่ iberry group ผู้ที่มีร้านอาหารแบรนด์ดังๆในเครือเต็มไปหมด จะหยิบจับอะไรก็ดูจะประสบความสำเร็จไปเสียทุกอย่าง เปิดแบรนด์อาหารใหม่แบรนด์ไหนก็ปังทุกแบรนด์ ปลาเล่าบนเวที the secret sauce summit เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ก่อนจะเริ่มแบรนด์อาหารใหม่ พอรู้แล้วว่าจะทำอาหารประเภทไหน ปลาจะเริ่มคิดชื่อและหาคาแรกเตอร์ให้กับร้านให้ชัดที่สุด ปลาบอกว่านึกถึงแต่ละร้านนี่นึกว่าเลี้ยงลูกแต่ละคนเลย อย่างทองสมิทธิ์ก็เป็นลูกชาย มีความเท่ห์ เรียบง่าย เบิร์นบุษบา ก็เป็นลูกสาวแซ่บๆจัดจ้าน พอคิดชื่อออก ซึ่งปลาให้ความสำคัญกับการคิดชื่อเป็นอย่างมาก บุคลิก ลักษณะนิสัยของร้านก็จะตามมา และทุกอย่างก็จะกระจ่างชัดเจน กลายเป็นแบรนด์ที่โดดเด่นผสมกับรสชาติอาหารที่อร่อย การสร้างคาแรกเตอร์ของร้านจึงเป็นกระบวนท่าแรกของปลาเสมอ

น้องตองแห่งเต่าบิน ตู้ไฮเทคที่กำลังจะโกอินเตอร์ที่เป็นที่นิยมของชาวบ้านชาวช่องเป็นอย่างมากเพราะทั้งใช้ง่าย อร่อย สนุกและราคาไม่แพง กระบวนท่าแรกของการทำของไฮเทคที่ต้องมีประสบการณ์ที่ดีมากๆและใช้งานง่ายๆไม่ซับซ้อนนั้น น้องตองเริ่มจากการออกแบบ User experince (UX) และ User interface (UI) ก่อนเสมอ เพราะทำให้ทีมงานเข้าใจร่วมกันได้โดยไม่ต้องเดาและสามารถเอาไปทดสอบกับผู้บริโภคจนลงตัวได้อย่างเป็นรูปธรรม ผมเองก็ชอบใช้วิธีนี้เวลาต้องทำ platform ต่างๆไม่ว่าตอนที่ออกแบบ SCB Easy ใหม่ๆ หรือการทำ food delivery platform อย่าง Robinhood การเริ่มด้วย UX UI ก่อนนั้นทำให้สามารถมี prototype ในการสรุปกับทีมงาน ผู้บริหารและปรับแต่งให้เข้ากับผู้บริโภคได้เร็วขึ้นมาก

คุณซิกเว่ เบรกเก้ ซีอีโอเทเลนอร์ อดีตซีอีโอดีแทค เจ้านายเก่าของผมมีกระบวนท่าแรกไม่ว่าจะยังไม่มีไอเดียอะไรหรือมีแค่ไอเดียตั้งต้นนิดหน่อยก็คือการออกเดิน เดินไปคุยกับลูกค้า ไปเยี่ยมร้านค้า ไปตั้งแต่เหนือจรดใต้ ไปคุยกับพนักงานทุกระดับ เจอใครก็พูดคุยซักถามไปหมด ผมเรียกกระบวนท่านี้ว่า management by feet คุณซิกเว่ได้ข้อมูลจากภาคพื้นสนามเยอะมาก ทำให้ใครก็หลอกไม่ได้ แถมหลายครั้งก็ได้ไอเดียใหม่ๆเวลาได้ไปฟัง pain ของลูกค้าเอามาปรับมาเติม ไม่รวมถึงได้ใจร้านค้าและลูกค้าเป็นการสร้างแบรนด์ไปในตัวอีกด้วย ในเวลาหกปีที่คุณซิกเว่เป็นซีอีโอ เขาน่าจะไปเกือบเจ็ดสิบจังหวัดทั่วไทย ไปทีก็เดินตามตลาดตั้งแต่เช้าจนบ่าย กระบวนท่านี้พี่เสถียรแห่งคาราบาวแดงก็มีวิธีคิดคล้ายกันในความเชื่อที่ว่า “ความรู้อยู่ที่มวลชน” และเป็นกระบวนท่าของเถ้าแก่ระดับปรมาจารย์มาตลอดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นนายห้างเทียม โชควัฒนาที่ออกเดินทางต่างจังหวัด ไปคุ้ยถังขยะหน้าโรงหนังดูว่าอะไรขายดี หรือป๊ะกำพลแห่งไทยรัฐที่เดินสายเยี่ยมสายส่ง เยี่ยมแผงขายหนังสือพิมพ์สมัยก่อนอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนผมเองนั้น มีกระบวนท่าแรกส่วนตัวก็คือการที่พยายามเขียนสิ่งที่คิด หรือสิ่งที่จะทำให้อยู่ในหนึ่งหน้าและทุกคนที่เกี่ยวข้องอ่านแล้วเข้าใจให้ได้ว่า ทำไมต้องทำ ทำอะไร ทำอย่างไร และทำเมื่อไหร่ ถ้าเขียนในหนึ่งหน้า A4 ไม่ได้ก็จะสื่อสารสิ่งที่อยากทำสู่ทีมได้ยาก และยิ่งถ้าทีมใหญ่ด้วยแล้วยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเขียนได้ในหนึ่งหน้าแล้วและยิ่งถ้าเขียนได้เร้าใจ อ่านแล้วอยากทำ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้น เป็นกระบวนท่าแรกที่ต่อไปกระบวนท่าที่สองได้โดยไม่ยาก

……..

แต่ละคนมีกระบวนท่าแรกต่างกัน เผื่อใครกำลังจะทำอะไรอยู่แล้วนึกไม่ออกว่าจะเริ่มอย่างไร ลองยืมกระบวนท่าแรกของบางท่านในที่นี้ไปเริ่มดูก่อนก็ได้ อาจจะพากระบวนท่าต่อๆไปมาได้ง่ายขึ้นนะครับ

24/07/2023

ปัญหาการระบายน้ำ จัดการน้ำ ทำให้ไทยปวดหัวมาหลายยุค ในอดีต เจคอบ ฟาน แดร์ ไฮเด วิศวกรดัตช์ เจ้ากรมคลองคนแรกของสยาม เคยเสนอ(แผน) ‘จัดการน้ำ’ ในสมัยร.5 จากขุดคูคลองสู่แนวคิด ‘สร้างเขื่อน’ ลองมาดูกันว่า แนวคิดนี้เหมาะหรือไม่เหมาะ? สำเร็จหรือล้มเหลว?
🔴ปฐมบทตะวันตกในสยาม
ในหมู่ชาวต่างชาติจากโลกยุโรปที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับสยามอย่างยาวนาน ชาวดัตช์หรือฮอลันดาจากเนเธอร์แลนด์เป็นชาติที่เข้ามามีบทบาทมาก พ่อค้าชาวเวนิสเป็นพวกแรกที่เข้ามาทางเมืองท่ามะริด แต่ไม่ได้สานสัมพันธ์ต่อเนื่อง โปรตุเกสเข้ามาจากมะละกาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น มีลูกหลานสืบทายาทมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์คือชุมชนบ้านฝรั่งกุฎีจีน สเปนที่เข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกันหลังโปรตุเกส แต่เนื่องจากสเปนขยายอิทธิพลจากมะนิลาเข้าไปยังราชสำนักพระเจ้ากรุงละแวกของกัมพูชา จึงเกิดความขัดแย้งกับสมเด็จพระนเรศวรซึ่งต้องการโจมตีเมืองละแวก ความสัมพันธ์จึงไม่ได้ราบรื่น
ฝรั่งเศสเป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่เข้ามา แต่กลายเป็นชนชาติที่เป็นที่จดจำในหมู่ชาวสยาม เพราะเกิดกระทบกระทั่งกันในครั้งปฏิวัติผลัดแผ่นดินจากราชวงศ์ปราสาททองของสมเด็จพระนารายณ์ มาเป็นราชวงศ์บ้านพลูหลวง แม้ว่าพระเจ้าหลุยส์ที่เคยสร้างสัมพันธไมตรีกับราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์จะครองราชย์ยาวนานอยู่จนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ และตลอดช่วงที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสนั้น ยังไม่มีการเปลี่ยนรัชกาล แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ทรงพระ ‘เข็ดหลาบ’ กับสยาม ประกอบกับการขยายอำนาจโพ้นทะเลเป็นนโยบายที่มีค่าใช้จ่ายมาก ได้ไม่คุ้มเสีย กว่าที่ฝรั่งเศสจะกลับมาอีกก็มาในแบบศัตรูอย่างในเหตุการณ์วิกฤติการณ์ ร.ศ.112
อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสที่ยังคงอยู่ในสยามสืบเนื่องทำงานฝังรากอยู่ในหัวเมืองสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจันทบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี อยุธยา นั้นคือบาทหลวงมิชชันนารี ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนามากนัก แต่ค่อนข้างที่จะเป็นที่นิยมในด้านการแพทย์การรักษาพยาบาล ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการนำเข้าเทคโนโลยีแปลก ๆ ใหม่ ๆ
ย้อนกลับมาที่เรื่องของชาวดัตช์ เข้ามาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่กว่าจะได้จัดตั้งสถานีการค้าที่เรียกว่า ‘บ้านฮอลันดา’ (Ban Holanda) ในกรุงศรีอยุธยา ก็เมื่อได้ช่วยกรุงศรีรบกับปัตตานี เป็นที่พอพระทัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จึงได้ทรงพระราชทานที่ดินให้แปลงหนึ่งตั้งอยู่ห่างจากเกาะเมืองอยุธยาทางใต้เป็นระยะทางราว 2 กม. สถานีการค้าบ้านฮอลันดาลักษณะก็เช่นเดียวกับ ‘โรงสินค้า’ ของโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) พ่อค้าชาวสก็อตสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้ ‘กินบุญเดิม’ จากที่พ่อค้าดัตช์เคยสร้างทำไว้ในสมัยอยุธยา
การมีพ่อค้าต่างชาติเข้ามาตั้งสถานีการค้าเช่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะถูกนำมาใช้แสดงออกถึงความเป็นเมืองท่านานาชาติแบบที่อยุธยาเคยเป็น แต่กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่อยุธยาใหม่ สิ่งที่เรียกว่า ‘โรงสินค้า’ นั้นชื่อทับศัพท์ที่เรียกกันในหมู่ชาวต่างชาติร่วมสมัยคือ ‘Factory’ ยังไม่ถือเป็น ‘ห้างสรรพสินค้า’ (Mall) ดังนั้นที่มีผู้เสนอว่าโรงสินค้าของฮันเตอร์คือ ‘ห้างสรรพสินค้าแรกของสยาม’ จึงผิดถนัด
🔴นายช่าง 'เอนยิเนีย' ชาวดัตช์
สถานีการค้าบ้านฮอลันดาที่อยุธยา ฟื้นกลับขึ้นมาใหม่เพื่อทำนุบำรุงความสัมพันธ์ไทย-เนเธอร์แลนด์ ไม่ใช่ในฐานะ ‘สถานีการค้า’ เหมือนอย่างในอดีต หากแต่คือโบราณสถานและแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เรื่องราวการเข้ามาบุกเบิกของพ่อค้าดัตช์ ผู้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์อยุธยาให้เป็นเมืองท่านานาชาติ ได้ถูกนำเสนออย่างเป็นระบบผ่านนิทรรศการถาวรภายในอาคารบ้านฮอลันดา
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่จัดแสดงเป็นข้อมูลที่ผ่านการคัดกรองมาอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับการ ‘ปรุ๊พ’ (proof) โดยนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาบทบาทของดัตช์ในสยาม มีผลงานตีพิมพ์เกี่ยวข้อง เช่น รศ.ดร. ธีรวัติ ณ ป้อมเพชร และ ผศ.ดร. ภาวรรณ เรืองศิลป์
และในการจัดแสดงนิทรรศการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ดัตช์กับสยาม เรื่องราวของมิสเตอร์เจคอบ โฮมัน วาน เดอ ไฮเด (Jacob Homan van der Heide) เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งนำเสนอเป็นทอปปิค (topic) ท้าย ๆ เมื่อผู้เขียนได้รับทุนทำวิจัยให้เขียนประวัติศาสตร์บทบาทของดัตช์ ก็ได้รับคอมเมนต์จากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไปศึกษาข้อมูลจากนิทรรศการบ้านฮอลันดามา แล้วเสนอแก่ผู้เขียนว่า น่าจะเขียนยาวมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคที่ไฮเดเข้ามามีบทบาท
แต่เนื่องจากว่างานวิจัยชิ้นนั้น ผู้เขียนมุ่งโฟกัสอยู่ที่ประเด็นบทบาทดัตช์ในสมัยอยุธยา จึงยังไม่ได้มาจนถึงสมัยที่ไฮเดเข้ามา จนกระทั่งเมื่อผู้เขียนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกแล้วต้องอ่านงานเกี่ยวกับการขุดคลองในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงได้หยิบเอางานของไฮเดและกลุ่มงานที่อภิปรายประเด็นใกล้กันนั้นมาปัดฝุ่นอ่านแกะรอยดู
เดิมไฮเดเป็นข้าราชการของอาณานิคมดัตช์ ประจำอยู่ที่ปัตตาเวีย (Batavia) (ปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย) มูลเหตุที่ ‘นายช่างเอนยิเนีย’ ชาวดัตช์ผู้นี้จะได้เข้ามารับราชการอยู่ในสยามสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ก็เนื่องจากว่าช่วงเป็นยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 รัชกาลที่ 5 ทรงสนพระทัยการปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัยตามอย่างเจ้าอาณานิคม แต่กิจการงานเมืองที่ทรงเรียนรู้ไม่ได้ศึกษาจากประเทศเจ้าอาณานิคมโดยตรง หากแต่ศึกษาจากการจัดการของเจ้าอาณานิคมในอาณานิคมที่พวกเขาปกครองอีกต่อหนึ่ง
เหตุนี้สถานที่ที่ทรงเสด็จประพาสเพื่อศึกษาดูงานที่แรก ๆ จึงเป็น ชวาภายใต้การปกครองของดัตช์ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวาถึง 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกระหว่างวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2413 ถึงวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2414 (ตามระบบปฏิทินแบบเก่าที่นับเริ่มปีใหม่ในเดือนเมษายน จึงเสด็จประพาสครั้งนี้เพียง 20 วันเท่านั้น ไม่ได้ใช้เวลานานถึง 2 ปี) ครั้งที่ 2 เสด็จใน พ.ศ.2439 และครั้งสุดท้ายที่เสด็จประพาสชวาคือ พ.ศ.2444 อีก 1 ปีต่อมาหลังการเสด็จประพาสครั้งสุดท้ายดังกล่าวนี้เอง ที่ทรงให้ว่าจ้าง ‘มิสเตอร์ไฮเด’ ซึ่งเป็นวิศวกรเคยทำงานกับบริษัท Waterstaat of Netherlands India ที่เมืองปัตตาเวีย เข้ามาศึกษาและวางแผนการจัดการน้ำในสยาม ไฮเดปฏิบัติงานอยู่ในสยามจนถึง พ.ศ.2452 รวมเวลาที่อยู่สยามคือ 7 ปี
🔴ก่อนจะเป็นกรมชลประทาน
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่รัชกาลที่ 5 จะทรงเสด็จประพาสศึกษาดูงานการจัดการปกครองชวาโดยเจ้าอาณานิคมดัตช์ เป็นช่วงเดียวกับที่การจัดการน้ำด้วยวิธีการขุดคลองที่ดำเนินสืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึง ณ เวลานั้น เกิดปัญหาบางประการ เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเอกชนคือบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม (Siam Canals, Lands, and Irrigation Company) มีการขุดลอกคลองเก่าและขุดคลองใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วภาคกลาง
แต่ขณะเดียวกันการขยายตัวของการคมนาคมทางบก ความต้องการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ประชากรก็เพิ่มขึ้นจนเป็นแรงงานให้กับภาคเกษตรมาก แต่ที่ดินสำหรับเพาะปลูกกลับพบว่ามีจำนวนจำกัดและยังรกร้างอยู่มาก การขุดคลองแบบไม่มีทิศทางและเป้าหมายชัดเจนเป็นจำนวนมากนอกจากสิ้นเปลืองแรงงานแล้ว ยังอาจกลายเป็นอุปสรรคของการคมนาคมทางบกและการเกษตรเสียเอง
บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาดำเนินงานขุดคลองเมื่อ พ.ศ.2431 เริ่มลงมือขุดคลองเมื่อพ.ศ.2433 มีระยะเวลาดำเนินการตามสัมปทาน 25 ปี โครงการประกอบด้วยการสร้างระบบคูคลองในบริเวณพื้นที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะเขตปทุมธานีที่เรียกว่า ‘ทุ่งรังสิต’ โดยได้ขุดคลองสายใหญ่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาตรงไปยังแม่น้ำนครนายก พร้อมกับการสร้างประตูระบายน้ำสำหรับควบคุมการเก็บกักน้ำเพื่อการเพาะปลูก และสร้างประตูเรือสัญจรเพื่อการคมนาคมขนส่งทางน้ำตลอดทั้งปี
หลังจากที่บริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการมาได้ประมาณ 10 ปีเศษ เจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ได้เดินทางไปตรวจราชการที่ทุ่งรังสิต เมื่อพ.ศ.2442 แล้วพบว่า ทุ่งรังสิตจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือปรับปรุงการชลประทานเป็นการด่วน แต่ชาวสยามเวลานั้นขาดความชำนาญและการเกณฑ์แรงงานตามระบบไพร่อย่างเดิมประสบปัญหา เกณฑ์คนมาใช้งานได้ไม่เต็มที่เหมือนอย่างแต่ก่อน ต้องว่าจ้างแรงงานจีน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง การปรับปรุงวิธีการขุดคลองจึงต้องทำอย่างเป็นระบบรอบคอบ
เจ้าพระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จ้างนายช่างชลประทานชาวต่างประเทศมาศึกษาพิจารณา และแก้ไขเรื่องการจัดหาน้ำในบริเวณทุ่งรังสิตให้ดีขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบ เมื่อเสด็จกลับจากประพาสชวา พ.ศ.2444 ทรงเห็นว่า การจัดการน้ำของชาวดัตช์ที่ปัตตาเวียได้ผลดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ว่าจ้างนายช่างชาวดัตช์จากปัตตาเวีย กระทรวงต่างประเทศได้ติดต่อ ‘มิสเตอร์ไฮเด’ หรือ ‘นายไฮเด’ เข้ามา
พ.ศ.2445 ได้มีการตั้ง ‘กรมคลอง’ ขึ้นมาสำหรับดูแลบริหารจัดการการขุดคลองแทนที่บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม และในคราวเดียวกันก็ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ไฮเดเป็น ‘เจ้ากรมคลอง’ คนแรก
กรมนี้ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรมทดน้ำ’ และได้แต่งตั้งอาร์ ซี อาร์ วิลสัน หรือ ‘มิสเตอร์วิลสัน’ เป็นเจ้ากรมทดน้ำนี้เมื่อ พ.ศ.2457 ตกถึงสมัยรัชกาลที่ 7 กรมนี้ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ‘กรมชลประทาน’ เมื่อพ.ศ.2470 และได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้นที่มีผู้เสนอว่าไฮเดคือ ‘อธิบดีกรมชลประทานคนแรก’ นั้นอาจไม่ถูกในแง่ชื่อ แต่ถูกในแง่ที่จริงเป็นกรมเดียวกันนั่นแหล่ะ และถูกในแง่ที่รูปแบบการจัดการน้ำของกรมชลประทานที่ตั้งขึ้นภายหลังนั้นดำเนินงานตามแนวคิดและวิธีการที่ไฮเดเคยเสนอไว้
แนวคิดการจัดการน้ำของไฮเด
แนวคิดและวิธีการจัดการน้ำของไฮเดที่เสนอไว้จากการศึกษาการขุดคลองในเขตที่ราบภาคกลางของสยามเป็นอย่างไรนั้น อาจเห็นได้จาก 2 กรณี คือ
กรณีที่หนึ่ง, ไฮเดได้เสนอว่าลำพังการขุดคลองอย่างเก่าของสยามไม่สามารถตอบสนองความต้องการน้ำในการเกษตรได้ ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทดน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชัยนาท แนวคิดนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากชนชั้นนำสยาม เพราะเห็นว่าจะเกิดอุปสรรคกระทบต่อการคมนาคมทางน้ำอันเปรียบเสมือน ‘เส้นโลหิตใหญ่’ ของสยาม แต่ได้เปลี่ยนไปสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำป่าสักที่บริเวณตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียกว่า ‘เขื่อนพระราม 6’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 6 ผู้ทรงให้สร้างเขื่อนนี้เมื่อกรมคลองได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมทดน้ำแล้ว
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเขื่อนเจ้าพระยาของไฮเดได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อพ.ศ.2495
กรณีที่สอง, แนวคิดของไฮเดปรากฏตามรายงานขนาดยาวที่เขาเสนอต่อกระทรวงเกษตราธิการเมื่อ พ.ศ.2452 ภายหลังได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในชื่อเล่มว่า ‘J. Homan Van Der Heide. January 24, 1903. General Report on irrigation and drainage in the Lower Menam Valley. Engineer of the Waterstaat of Netherlands India, temporarily placed at the disposal of the Siamese Government, Bangkok.’ ฉบับแปลภาษาไทยตีพิมพ์เผยแพร่ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร ณ เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2555 ใช้ชื่อว่า ‘รายงานโครงการทดน้ำไขน้ำสำหรับเขตรที่ราบแห่งลาดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้’
ตามรายงานฉบับนี้ไฮเดได้แสดงความคิดเห็นว่า ระบบคูคลองแต่เดิมของสยามนั้น มักจะขุดจากตะวันออกไปตะวันตก จนตัดเป็นมุมฉากกับการไหลของน้ำตามธรรมชาติซึ่งจะไหลจากเหนือลงใต้ ดังนั้น ตลิ่งคลองจึงสกัดกั้นการไหลของน้ำไม่ให้เข้าที่นา ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับการเติบโตของข้าว
ยิ่งไปกว่านั้น คลองเหล่านี้มักจะขุดขึ้นโดยดึงน้ำจากทุ่งนาให้ไหลไปลงแม่น้ำ มากกว่าที่จะให้น้ำไหลจากแม่น้ำเข้าสู่ทุ่งนา นอกจากนี้ การขุดคลองของสยามยังมุ่งเน้นความสำคัญด้านความสะดวกแก่การคมนาคมเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ที่จะใช้ในการเกษตรกรรมตามที่ควร บางครั้งคลองจึงกลายเป็นอุปสรรคของเกษตรกรรมเพราะดึงน้ำไปจากเรือกสวนไร่นา
เพราะเหตุใดไฮเดจึงเสนอเช่นนั้น?
งานที่ปรับจากวิทยานิพนธ์ของเดวิด บรูซ จอห์นสตัน (David Bruce Johnston) เรื่อง ‘สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ.2423-2473’ (Rural Society and the Rice Economy in Thailand, 1880-1930) ได้ขยายประเด็นชี้ให้เห็นบริบททางสังคมในช่วงที่ไฮเดเข้ามาศึกษาการจัดการน้ำของสยามนั้น ในปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ก่อนทำสนธิสัญญาเบาริง พ่อค้าต่างชาติให้ความสำคัญแก่น้ำตาลมากกว่าข้าว เพราะการผลิตน้ำตาลบริเวณภาคกลางตอนล่าง ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จรดหัวเมืองชายทะเลตะวันออก มีการขยายตัวสร้างผลกำไรแก่นักลงทุนมากมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 แต่ในชั่วเวลาไม่นานในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 หลังเกิดกรณีกบฏอั้งยี่ขึ้นแล้วโรงงานผลิตน้ำตาลตลอดจนไร่อ้อยต่างได้รับผลกระทบเสียหายมาก
เนื่องจากการทะลักของน้ำเค็มหลังจากขุดคลองแสนแสบที่ขวางทางน้ำเหนือ ย่านบางน้ำเปรี้ยวซึ่งเป็นย่านที่เติบโตขึ้นหลังขุดคลองแสนแสบซึ่งแต่เดิมคาดหมายกันว่าจะเป็นแหล่งปลูกอ้อยต่อเนื่องกับเขตอื่น ๆ ในลุ่มแม่น้ำบางปะกง แต่การทะลักของน้ำเค็มทำให้บางน้ำเปรี้ยวไม่เหมาะแก่การปลูกอ้อย ปลูกได้แต่อ้อยรสจืด แต่การปลูกข้าวได้ผลดี ดังนั้นพื้นที่เดิมที่เคยคาดหวังจะปลูกอ้อยก็เปลี่ยนมาปลูกข้าวกันแทน ซึ่งได้ราคาดีกว่า
ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏอั้งยี่ ความเสียหายก็เกิดขึ้นกับกิจการน้ำตาลมากขึ้นไปอีก อัตราค่าจ้างแรงงานในไร่อ้อยถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามมาด้วย โดยที่ทางการไม่ยอมปล่อยกู้เหมือนเคยเพราะกลัวจะซ้ำรอยกบฏอั้งยี่ ชาวจีนโดยเฉพาะแต้จิ๋วที่มีทุนน้อยผละจากโรงงานน้ำตาลหันไปปลูกข้าวแทน ประกอบกับน้ำตาลสยามกำลังเจอคู่แข่งอย่างชวาและฟิลิปปินส์ที่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้สะดวกกว่าอีกด้วย
🔴วิจารณ์แนวคิดของไฮเด
ปัจจุบันการสร้างเขื่อน ซึ่งเป็นข้อเสนอหลักของแนวคิดและวิธีการจัดการน้ำของไฮเดนั้น สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนตลอดจนส่งผลต่อการพังของระบบนิเวศของประเทศนี้เพียงใด ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้รายละเอียดกันแล้ว เพราะเห็นกันมามากแล้ว (สามารถคีย์หาอ่านได้จากวิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย ที่มีอยู่เป็นอันมากตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ) จุดสำคัญอันเป็นข้อบกพร่องของแนวคิดและวิธีการจัดการน้ำแบบไฮเดก็คือ ความเชื่อมั่นต่อวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแบบเจ้าอาณานิคม ว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะสร้างความสุขสมบูรณ์ให้แก่ชาวประเทศโลกที่ยังด้อยพัฒนา
สำหรับวิศวกรยุคไฮเด วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีถูกจัดประเภทเป็นคู่ตรงข้ามของ ‘ธรรมชาติ’ และอยู่ในฐานะตัวแปรที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ แทนที่จะคิดถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลกับธรรมชาติ การสร้างเขื่อนขวางทางน้ำธรรมชาติเพื่อหวังกักเก็บน้ำเอาไว้ จึงเกิดขึ้นจากแนวคิดที่อยู่บนฐานความเชื่อที่ว่ามนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
ข้อเสนอจากการศึกษาของไฮเดจึงเป็นการศึกษาที่มีธงคำตอบรอไว้ล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว และข้อเสนอที่เป็นคำตอบแก่ชนชั้นนำสยามเวลานั้นก็คือ ‘เขื่อน’ แต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านพ้นไป ข้อเสนอนี้ (เขื่อน) กลับก่อปัญหาผลกระทบให้แก่สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในเวลาต่อมา น้ำยังท่วมภาคกลาง การเพาะปลูกในหลายพื้นที่ก็ยังไม่ได้น้ำในพื้นที่ที่ควรได้ ไหนจะวิถีประมงพื้นบ้าน แหล่งอาหาร ทรัพยากร การคมนาคมทางน้ำ ที่ถูกทำลายไปอย่างไม่อาจฟื้นคืนกลับมาได้อีก
ที่สำคัญ ข้อเสนอของไฮเดเกิดจากการศึกษาการขุดคลองในบริเวณภาคกลางที่ดำเนินมาก่อนหน้าเขาเพียงไม่กี่ปี คือการขุดคลองของบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามช่วง 1 ทศวรรษก่อนเขาเข้ามา แต่ไฮเดกลับเสนอเป็นรูปแบบการจัดการสำหรับทั่วประเทศ บนพื้นฐานข้อมูลที่บกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการขุดคลองในสยามว่า ไม่ได้ดำเนินการขุดเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตรนั้น จัดว่าไฮเดสอบตกประวัติศาสตร์การขุดคลองเข้าอย่างจัง
การเน้นกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นศูนย์กลาง ทำให้ไฮเดไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของวิธีการจัดการน้ำที่เกิดขึ้นในหัวเมือง โดยเฉพาะหัวเมืองที่ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากการหาของป่าตามธรรมชาติมาสู่การเพาะปลูกกันมากอย่างในแถบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและลุ่มแม่น้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี
กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตมาสู่การเพาะปลูกของคนในพื้นที่ ยังส่งผลโดยตรงทำให้เครื่องไม้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก กลายเป็นสินค้าสำคัญขึ้นมาในย่านด้วย อาทิ การเกิดความต้องการในการซื้อขายควาย ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับการค้าควายของภาคอีสานเข้ามาในย่าน แหล่งซื้อควายอยู่ที่สระบุรี นครราชสีมา และพระตะบอง
การทำเกวียนแถบระยอง ชลบุรี ที่ขยายเข้าไปยังพื้นที่ตอนในซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกมากขึ้น สำหรับเป็นพาหนะในการลำเลียงสินค้า ข้าวของเครื่องใช้ และในการเดินทางติดต่อไปมาระหว่างเขตตัวเมืองใหญ่ตามริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเล เกิดความจำเป็นในการสร้างระบบชลประทานเพื่อผันน้ำเข้าสู่เรือกสวนไร่นา เช่น ที่ชายเขาสละบาป จันทบุรี ซึ่งมีการปลูกพริกไทยกันมากนั้น ดังที่เอกสารรายงานของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้ระบุว่า บริเวณนี้ “มีการทดน้ำจากเครือข่ายสายน้ำสั้นๆ เข้าสู่พื้นที่ราบ”
ตลอดจนการขุดสระขุดคลองขึ้นเพื่อใช้ในการชลประทาน คลองแสนแสบที่เดิมขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2380 เพื่อใช้ลำเลียงยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารให้แก่กองทัพในสงครามอานาม-สยามยุทธ์ แต่เมื่อสงครามยุติไปแล้วกลับปรากฏว่า คลองนี้กลับกลายเป็นเส้นทางสำคัญในการลำเลียงขนส่งข้าวที่ปลูกกันมากในหัวเมืองตะวันออกมายังกรุงเทพฯ รวมทั้งทำให้เกิดการบุกเบิกที่ดินในย่านที่เคยรกร้างมานานตั้งแต่ทุ่งบางกะปิ หัวหมาก มีนบุรี ทุ่งไผ่ดำ ลำลูกกา บึงพระอาจารย์ ไปจนถึงบางขนาก บางน้ำเปรี้ยว บางแตน และโยทะกา เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตสินค้าจากวิธีหาของป่ามาสู่การเพาะปลูกบนที่ดิน ยังส่งผลทำให้เกิดระบบชลประทานขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 การขุดคลองในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์จากเดิมในสมัยอยุธยาถึงต้นกรุงเทพฯ การขุดคลองโดยมากเพื่อการคมนาคม เพื่อการค้ากับต่างประเทศ จึงเป็นการขุดคลองลัดเสียโดยมาก เพื่อยุทธศาสตร์การทหารป้องกันเมืองจากข้าศึก จึงมักไม่ขุดไปที่รกร้าง หากแต่นิยมขุดไปยังที่มีชุมชนผู้คนอยู่อาศัย ไม่มีแนวคิดกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงน้ำน้อยหรือขาดแคลน การขุดคลองก็เพื่อระบายน้ำไม่ให้หลากท่วมข้าวกล้าในนาเป็นเวลานานเกินไปจนข้าวเน่าเสีย
แต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เริ่มมีแนวคิดให้ความสำคัญกับการขุดคลองเพื่อการเกษตรควบคู่กับการขนส่งลำเลียงสินค้าจากพื้นที่เพาะปลูกไปยังตลาดในตัวเมือง เพราะสมัยรัชกาลที่ 3 คนจีนปลูกพริก ทำสวนยกร่อง คนลาวปลูกข้าวกันมาก จึงเกิดแนวคิดชลประทานแบบใหม่ขึ้น เพราะข้าว, อ้อย, พริกไทย, สวนผักต่าง ๆ ที่นิยมทำกันในช่วงนี้ต้องการน้ำมากเป็นพิเศษ ทำให้เกิดระบบการกักเก็บน้ำไว้ใช้ ในพ.ศ.2386 รัชกาลที่ 3 จึงมีพระราชโองการให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ อาทิ เจ้าพระยาพระคลัง, เจ้าพระยาพลเทพ, เจ้าพระยามหาโยธา, พระยาราชสุภาวดี, พระยาสุรเสนา เกณฑ์ไพร่พลไป “ทำทำนบกักน้ำไว้ทำนา” ด้วยเหตุผลที่ระบุไว้ดังนี้:
“การปิดน้ำเป็นการแผ่นดินการใหญ่สำคัญ ให้เจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพลเทพ เจ้าพระยามหาโยธา พระยาราชสุภาวดี พระยาสุรเสนา ตรวจตราดูแลกำชับกำชาข้าราชการ เจ้าเมืองกรมการ ให้ตั้งใจช่วยราชการ... ปิดคลองลงทำนบดิน ยกคันคลองบรรจบที่สูง ที่ทำยังไม่แล้วก็ให้เร่งรัดทำให้แล้ว ที่แห่งใดตำบลใดจะต้องไขน้ำ ปิดน้ำ ยกคันกั้นน้ำ ก็ให้ทำทั่วกันทุกตำบล ให้ผู้ใหญ่แยกกันไปตรวจตราดูทุกหน้าที่ แลบัดนี้น้ำก็เคลื่อนลดอยู่แล้ว ถ้าการปิดน้ำช้าไป น้ำในคลองจะไหลออกเสีย ให้เร่งรีบทำให้โดยเร็ว ทำให้มั่นคง ขังน้ำในท้องนาไว้ให้จงได้ ให้มีน้ำเลี้ยงต้นข้าวอยู่กว่ารวงจะสุก”

(หสช. จ. ร.3 จ.ศ.1205 เลขที่ 61 ร่างสารตรา อ้างใน กำพล จำปาพันธ์. “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก พุทธศตวรรษที่ 22-24”, หน้า 423)
ดังที่เจมส์ ซี. อินแกรม (James C. Ingram) เสนอไว้ในงานวิทยานิพนธ์ของเขาที่ชื่อ “การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850-1970” (Economic Change in Thailand 1850-1970) ว่า ผลประโยชน์ที่ทางการจะได้จากการข้าวและโภคภัณฑ์อื่น ๆ จากการเพาะปลูกของราษฎรในช่วงนั้น เป็นแรงจูงใจมากพอที่จะทำให้ทางการใส่ใจที่จะจัดระบบชลประทานกักเก็บน้ำให้ราษฎรได้ใช้ทำการเกษตร หากปล่อยให้น้ำมากเกินไปจนหลากท่วมที่นาเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ต้องงดเว้นการเก็บส่วยอากรเหมือนอย่างที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือหากน้ำน้อยเกินไปจนการเพาะปลูกไม่ได้ผลเท่าที่ควรก็ทำให้ทางการจัดเก็บผลประโยชน์ได้น้อยลง
ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการจัดเก็บภาษีแบบใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิมหลากหลายชนิดมากขึ้น เนื่องจากทางการมีความต้องการเงินตราเพื่อใช้จ่ายในราชสำนัก ภาษีเหล่านี้แรกเริ่มเดิมทีได้ให้ชาวจีนรับเหมาช่วงไปจัดเก็บ ต่อมาภาษีเหล่านี้กลายเป็นรายได้ของรัฐแทนรายได้จากการผูกขาดการค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ รูปแบบวิธีการจัดเก็บก็ค่อย ๆ พัฒนาจนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ถึงตรงนี้คงไม่จำเป็นต้องบอกแล้วว่า ระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สวนทางกับความย่อหย่อนของรูปแบบวิธีการจัดการให้ผู้รับภาษีจะต้องนำเอารายได้จากการจัดเก็บมาดำเนินนโยบายสาธารณะที่เกิดประโยชน์แก่คนหมู่มากอย่างแท้จริงนั้น ส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคมไทยสยามมาจนถึงทุกวันนี้
เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
ภาพ: ภาพถ่าย Mr. J. Homan van der Heide ประกอบกับภาพฉากหลังเป็นลำคลองในสมัยปัจจุบัน
หมายเหตุ: เนื้อหานี้เผยแพร่เมื่อสิงหาคม 2565
#ประวัติศาสตร์ #น้ำท่วม #วิศวกร #เนเธอร์แลนด์

20/05/2023

ความสำเร็จไหนภูมิใจสุด

ผมตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ได้ฟังอดีตเจ้านายและ life coach ของผมคุณซิกเว่ เบรกเก้ ซีอีโอแห่งเทเลนอร์ สัมภาษณ์ยาวๆกับคุณเคน นครินทร์ the standard รอบนี้คุณซิกเว่เล่าเรื่องการควรรวมทรูดีแทคแล้วแถมด้วยวิธีคิดของผู้นำในช่วงการเปลี่ยนแปลง มีช่วงหนึ่งคุณเคนถามว่า การนำองค์กรในช่วงที่ต้องเปลี่ยน ในช่วง transformation นั้น อะไรสำคัญที่สุด

คุณซิกเว่ไม่ได้ตอบตรงๆ แต่เล่าเรื่องราวหนึ่งที่คุณซิกเว่เพิ่งอ่านเจอ เป็นเรื่องของนักกีฬาระดับตำนานของวงการ alpine (กีฬาฤดูหนาว) ที่ได้เหรียญรางวัลมาเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่โอลิมปิคจนถึงรางวัลระดับโลกมากมาย เขาถูกถามว่าในเหรียญทั้งหมดที่ได้มา เหรียญไหนที่เขาภูมิใจที่สุด คำตอบของเขาบอกถึง mindset ที่ทำให้เขาได้เหรียญขนาดนี้ได้อย่างชัดเจน

เขาตอบว่า ….. Next one (เหรียญอันต่อไป)

………

คุณซิกเว่อธิบายว่า องค์กรที่จะอยู่รอดได้ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ องค์กรต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอาชนะความสำเร็จในอดีต ต้องไม่ยึดติด คนในองค์กรต้องตื่นมาการทดลองอะไรใหม่ๆ ต้องลองเสี่ยง ลองผิดพลาดแล้วเรียนรู้ให้ได้ ผู้นำมีหน้าที่ที่จะเป็นโค้ชที่ให้ทีมงานมองหาเหรียญใหม่ๆแทนที่จะชื่นชมความสำเร็จเดิมๆ คุณซิกเว่อธิบายไว้แบบนั้น

จากประสบการณ์ที่ผมทำงานกับคุณซิกเว่ก็เป็นแบบนั้นจริงๆ สิ่งที่ผมได้รับในระดับส่วนตัวก็คือเมื่อไหร่ที่ผมเริ่มเหลิง เริ่มคุ้นชินกับสิ่งเดิมๆ เริ่ม enjoy กับความสำเร็จ คุณซิกเว่จะกึ่งชวนกึ่งบังคับให้ผมย้ายออกจากตำแหน่งเดิมไปทำงานแอเรียใหม่ คุณซิกเว่บอกว่าถ้าจะเติบโตและเรียนรู้ เราต้องรู้สึกเหมือนกับยืนอยู่บนชะง่อนผา ต้องเลี้ยงตัวตลอดเวลา ซึ่งทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆที่หลากหลาย ได้เข้าใจเรื่องการออกจาก comfort zone จนถึงวันนี้

มาคิดต่อจากเรื่องราวที่คุณซิกเว่เล่า มีสามบทเรียนที่ผมได้จากเรื่องราวสั้นๆนั้น เรื่องแรกก็คือถ้าเราจะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องได้นั้น ก็ต้องทิ้งความสำเร็จเดิมให้ได้ เหมือนกับพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ผู้ที่สร้างสรรค์งานดีๆออกมาตลอดเวลาเคยบอกไว้ว่ารู้อะไรต้องรู้ให้กระจ่างแล้วลืมให้หมด ผมเองก็ผ่านประสบการณ์แบบนี้มาหลายครั้ง การที่จะรู้อะไรใหม่ๆได้ก็ต้องยอมทิ้งหัวโขน ทิ้งงานเดิม แล้วเดินเข้าสู่พื้นที่ใหม่ๆที่เราไม่เคยทำ ไม่คุ้นชิน ช่วงเวลานั้นก็จะเป็นช่วงที่เรียนรู้และเติบโตมากที่สุดทุกครั้ง เอาเข้าจริงๆความรู้ที่เรามีนั้นก็ไม่ได้หายไปไหน ความเข้าใจเรื่องการเงินก็ยังอยู่ถ้าเคยทำการเงิน แต่เป็น mindset ที่ไม่ยึดติดมากกว่าที่ทำให้เราเปิดโลกใหม่ รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ได้

บทเรียนที่สองนั้นก็ทำให้เข้าใจได้ว่า ยิ่งคนที่มีประสบการณ์มาก ประสบความสำเร็จมาก ยิ่งละทิ้งการ “ยึดติด” กับเหรียญ ความทรงจำกับเหรียญนั้นได้ยากมากๆ เถ้าแก่ที่ร่ำรวยประสบความสำเร็จมากๆถึงชอบเล่าแต่เรื่องในอดีต เจ้าของหลายคนใช้เวลาในที่ประชุมส่วนใหญ่เพื่อโม้ว่าตัวเองนั้นเก่งยังไง ทำอะไรถึงสำเร็จมา และก็จะใช้ท่าเดิมในการแก้ปัญหา ความคุ้นชินและความสำเร็จนั้นยากมากที่จะสลัดออก พวกบริษัทเล็กๆใหม่ๆ startup ทั้งหลายถึงเคลื่อนไหวได้เร็วกว่า ยิงตรงเป้ากลุ่มเป้าหมายได้แม่นกว่า และเข้ามา disrupt บริษัทใหญ่ๆเก่าๆได้โดยง่ายทั้งที่ทรัพยากรในการแข่งขันสู้กันไม่ได้ ความพ่ายแพ้นั้นก็เพราะความอืดอาดเชื่องช้าเพราะเหรียญรางวัลที่ห้อยคอนั้นหนักเกินไปมากกว่า

บทเรียนที่สามนั้น ผมได้เรียนจากคุณซิกเว่มาตลอดระยะเวลาที่ทำงานด้วยก็คือพลังแห่งเรื่องเล่า คุณซิกเว่เล่าให้การสัมภาษณ์ครั้งนี้ด้วยว่า ผู้นำนั้นต้องสื่อสารให้เป็น และการสื่อสารที่ดีนั้นต้องเล็งทั้งหัวและหัวใจ ผู้นำส่วนใหญ่จะเล็งไปที่หัว ให้แต่ข้อมูลข่าวสารเป็นหลัก แต่การเล็งที่หัวใจด้วยเรื่องราวที่โดนใจที่ engage ได้ใจพนักงาน รวมกันแล้วถึงจะทรงพลัง เทคนิคของคุณซิกเว่ก็คือเรื่องเล่า อย่างเช่นกรณีนี้ ถ้าคุณซิกเว่ตอบว่าผู้นำกับการเปลี่ยนแปลงต้องทำหนึ่งสองสามสี่ก็คงไม่น่าจำ แต่พอเล่าเป็นเรื่อง แค่สั้นๆก็ติดอยู่ในใจจนผมต้องเอามาเขียนและไปเล่าต่อเวลาคนถามเรื่องนี้ได้อีกด้วย

มาคิดถึงเหรียญอันต่อไปกันนะครับ….

Address

Bangkok

Website

Alerts

Be the first to know and let us send you an email when MiLew posts news and promotions. Your email address will not be used for any other purpose, and you can unsubscribe at any time.

Shortcuts

  • Address
  • Alerts
  • Claim ownership or report listing
  • Want your business to be the top-listed Media Company?

Share