
19/12/2024
แค่เดินผ่านอาคารพาณิชย์ ก็อาจจบชีวิตได้
คำว่าทุจริตอาจดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับใครหลายคน บางคนมองว่าเป็นเรื่องของนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล จึงไม่อยากเข้าไปยุ่ง หรือคิดว่าคงไม่ส่งผลกับชีวิตประจำวัน วันนี้ Corruption in your eyes จะมาเล่าเคสที่แสดงให้เห็นว่า อันตรายจากการทุจริตเกิดขึ้นกับเราได้เสมอ แม้กระทั้งในอาคารพาณิชย์ที่เราอาจเดินเข้าไปในชีวิตประจำวัน
ย้อนกลับไปในปี 2010 เมืองซาวาร์ ในประเทศบังกลาเทศ นาย Sohel Rana นักธุรกิจท้องถิ่นได้สร้าง Rana Plaza อาคารพาณิชย์อเนกประสงค์ที่มีทั้งหมด 5 ชั้น แต่ต่อมาอาคารนี้ก็ถูกต่อเติมเพิ่มอีก 3 ชั้นเป็นทั้งหมด 8 ชั้น โดยอาคารแห่งได้แบ่งชั้นล่างเป็นร้านค้าต่าง ๆ และธนาคาร ส่วนชั้นบนกลายเป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทำให้ Rana Plaza กลายเป็นโรงงานที่ใหญ่จนสามารถผลิตสินค้าให้กับแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังระดับโลกได้ เช่น Primark และ Walmart เป็นต้น
แต่ธุรกิจที่เหมือนจะไปได้ด้วยดีก็อยู่ได้ไม่นาน วันที่ 24 เมษายน 2013 มีคนงานในโรงงานหลายคนเริ่มเห็นถึงความผิดปกติของอาคาร มีรอยร้าวมากมายเริ่มเกิดขึ้นบนผนังและโครงสร้างของอาคาร ทำให้เกิดความกังวลเรื่องของความปลอดภัย แม้ว่าจะมีคำแนะนำจากวิศวกรให้หยุดใช้งานอาคารนี้เพื่อความปลอดภัย แต่นาย Sohel Rana ที่เป็นเจ้าของอาคารกลับเพิกเฉยและบังคับให้คนงานกลับเข้ามาทำงานต่อเพราะใกล้จะถึงกำหนดการส่งมอบสินค้า แต่ความประมาทนี้ก็ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น
ช่วงสายของวันนั้น อาคาร Rana Plaza พังลงมา ถล่มทับคนงานที่กำลังทำงานอยู่ในโรงงานอย่างรวดเร็ว ซึ่งภายหลังพบว่า มีจำนวนผู้ที่ติดอยู่ในอาคารมากกว่า 3,000 คน ส่งผลมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,100 คน และบาดเจ็บมากกว่า 2,500 คน ซึ่งนอกจากคนงานแล้วยังมีคนที่เข้ามาใช้บริการธนาคารและร้านค้าด้วย แต่ความสูญเสียครั้งนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุและความประมาทเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการทุจริตอีกด้วย
หลังเกิดเหตุการณ์ตึกถล่ม กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ทั้งประเทศจับตามอง มีการสืบสวนถึงสาเหตุที่ทำให้อาคารถล่มและพบว่า Rana Plaza มีการต่อเติมอย่างผิดกฎหมาย เพราะแต่เดิมอาคารนี้ถูกออกแบบให้เป็นอาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่ช่วงหลังกลับเน้นไปที่การทำโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่และคนจำนวนมาก นอกจากนี้การต่อเติมเพิ่มอีก 3 ชั้นก็การต่อเติมที่ผิดกฎหมาย รวมถึงวัสดุก่อสร้างเองก็ไม่ได้มาตรฐาน เช่น คอนกรีตคุณภาพต่ำและเหล็กเสริมที่ไม่แข็งแรง แต่ที่อาคารนี้ยังอยู่ได้แม้จะทำผิดกฎหมายเพราะนาย Sohel Rana ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ผ่านกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยและการอนุมัติการก่อสร้างที่ผิดกฎหมาย
เมื่อถูกพบว่ามีการทุจริต Sohel Rana ได้พยายามหลบหนีแต่ก็ถูกจับกุมได้ และในปี 2017 ศาลบังกลาเทศตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลา 3 ปี ฐานไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตของประเทศ และถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม 37 คน ซึ่งหากพบว่ามีความผิด อาจได้รับโทษประหารชีวิต แต่คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
การถล่มของ Rana Plaza เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ทำให้เราเห็นว่าผลกระทบของการทุจริต สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ใครจะคิดว่าเพียงแค่เราเดินเข้าไปในอาคารพาณิชย์เพื่อซื้อของ หรือทำธุรกรรมกับธนาคารก็อาจตกเป็นเหยื่อของอาคารถล่มได้ หันกลับมามองประเทศไทยเรามีเคสใหญ่ ๆ อย่างเช่น เหตุการณ์ห้างถล่มที่โคราชในปี 2536 จากวัสดุไม่ได้มาตรฐานที่มีการทุจริตมาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่ตึกใหญ่ ๆ เท่านั้น กรณีถนนไม่ได้มาตรฐานหลายครั้งก็ทำให้ประชาชนประสบอุบัติเหตุจนชีวิต การทุจริตจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ โดยหนึ่งวิธีที่ทำได้ง่าย ๆ คือการใช้งานเว็บไซต์ actai.co ในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดภาครัฐ ซึ่งมีข้อมูลกว่า 39 ล้านโครงการ และถ้าพบความผิดปกติก็สามารถแจ้งผ่านทางเว็บไซต์ได้
#ทุจริต #คอร์รัปชัน #จัดซื้อจัดจ้าง #บังกลาเทศ #ตึกถล่ม