พระมนูแถลงสาร

พระมนูแถลงสาร Education

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ เนื่องในวันวชิราวุธ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
25/11/2021

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ เนื่องในวันวชิราวุธ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

24 ตุลาคม 2564 วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร-----------------------------สมเด็จพระสังฆร...
24/10/2021

24 ตุลาคม 2564 วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
-----------------------------
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร มีพระนามเดิมว่าเจริญ คชวัตร ทรงมีพระชาติภูมิ ณ จังหวัดกาญจนบุรี ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2456 ทรงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี แล้วเข้าไปอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนพระชนมายุครบอุปสมบท จึงกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี และทรงจำพรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม 1 พรรษาแล้วจึงกลับไปทรงทำทัฬหีกรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหารเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ประทับอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหารตลอดมา จนกระทั่งสอบได้เป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อพ.ศ.2484

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงดำรงสมณศักดิ์มาโดยลำดับดังนี้ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระโศภนคณาภรณ์ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์ ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ ทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร และทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ทรงเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ทรงมีพระอัธยาศัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนมาตั้งแต่ทรงเป็นพระเปรียญ โดยเฉพาะในด้านภาษา ทรงศึกษาภาษาต่างๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และ สันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีกระทั่งเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระอุปัชฌาย์ทรงเห็นว่า จะเพลินในการศึกษามากไป วันหนึ่ง ทรงเตือนว่า ควรทำกรรมฐานเสียบ้าง เป็นเหตุให้พระองค์ทรงเริ่มทำกรรมฐานมาแต่บัดนั้น และทำตลอดมาอย่างต่อเนื่อง จึงทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงภูมิธรรม ทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ

ทรงศึกษาหาความรู้สมัยใหม่อยู่เสมอ เป็นเหตุให้ทรงมีทัศนะกว้างขวาง ทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และทรงนิพนธ์หนังสือทางพระพุทธศาสนาจำนวนมากได้อย่างสมสมัย เหมาะแก่บุคคลและสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน และทรงสั่งสอนพระพุทธศาสนาทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้ทรงริเริ่มการสอนพระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างประเทศขึ้น ณ วัดบวรนิเวศวิหาร นับแต่ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเหตุให้มีชาวต่างประเทศจากทุกทวีปนิยมมาบวชและมาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยมากขึ้นโดยลำดับ ทั้งได้ทรงประทานบรรพชาอุปสมบทแก่ชาวต่างประเทศจากทุกทวีปจำนวนนับร้อย ยังผลให้พระพุทธศาสนาของไทยเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปทั่วโลกจนทุกวันนี้

ในด้านการศึกษา ได้ทรงมีพระดำริทางการศึกษาที่กว้างไกล ทรงมีส่วนร่วมในการก่อตั้งและพัฒนามหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมาแต่ต้น ทรงริเริ่มให้มีสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อฝึกอบรมพระธรรมทูตไทย ที่จะไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ ทรงเป็นพระมหาเถระไทยรูปแรกที่ได้ดำเนินงานพระธรรมทูตในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศเป็นรูปแรกเสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ในพิธีเปิดวัดไทยแห่งแรกในทวีปยุโรป คือวัดพุทธปทีป ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ทรงนำพระพุทธศาสนาเถรวาทไปสู่ทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรก โดยการสร้างวัดพุทธรังษีขึ้น ณ นครซิดนีย์ ทรงให้กำเนิดคณะสงฆ์เถรวาทขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย พร้อมทั้งได้ทรงสร้างวัดไทยแห่งแรกขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย คือวัดธรรมทีปาราม เมืองมารัง ทรงช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศเนปาล โดยเสด็จไปให้การบรรพชาแก่ศากยกุลบุตรในประเทศเนปาลเป็นครั้งแรก ทำให้ประเพณีการบวชฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเนปาลยุคปัจจุบัน ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดแคโรไลนาพุทธจักรวนาราม สหรัฐอเมริกา ทรงเจริญศาสนไมตรีกับองค์ดาไลลามะ กระทั่งเป็นที่ทรงคุ้นเคยและได้วิสาสะกันหลายครั้ง และทรงเป็นพระประมุขแห่งศาสนจักรพระองค์แรกที่ได้รับทูลเชิญให้เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในประวัติศาสตร์จีน ได้เสด็จไปดูการศึกษาและการพระศาสนาในประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศ

ในด้านการคณะสงฆ์เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้เสด็จไปเยี่ยมวัดและพุทธศานิกชนในทุกภูมิภาค และประธานพระโอวาทแนะนำแก่พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนอย่างถ้วนหน้าทรงดำเนินการปกดครองไปในทางสมานสามัคคีและมีเมตตาต่อกันในทุกหมู่นิกรสงฆ์ โดยทรงย้ำและทรงนำให้พระภิกษุสามเณรหนักแน่นมั่นคงอยู่ในพระธรรมวินัย เพื่อความสถาพรของพระพุทธศาสนาและศรัทธาของปวงชน อันจะยังผลให้เกิดเป็นความเจริญมั่นคงของสังคมและชาติบ้านเมืองเป็นส่วนรวม

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงเป็นนักวิชาการและนักวิเคราะห์ธรรมตามหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า ธัมมวิจยะ เพื่อแสดงให้เห็นว่า พุทธธรรมนั้นสามารถประยุกต์ใช้กับกิจกรรมของชีวิตได้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูงสุด ทรงมีผลงานด้านพระนิพนธ์ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษจำนวนกว่า 200 เรื่องประกอบด้วยพระนิพนธ์แสดงคำสอนทางพระพุทธศาสนาทั้งระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง รวมถึงความเรียงเชิงศาสนคดีอีกจำนวนมาก ซึ่งล้วนมีคุณค่าควรแก่การศึกษา สถาบันการศึกษาของชาติหลายแห่งตระหนักถึงพระปรีชาสามารถและคุณค่าแห่งงานพระนิพนธ์ ตลอดถึงพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ จึงได้ทูลถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นการเทิดพระเกียรติหลายสาขา รวม 13 มหาวิทยาลัย

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการอับสงบด้วยการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 19.30 น. สิริพระชนมายุได้ 100 พรรษากับ 21 วัน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถวายพระโกศกุดั่นใหญ่ ประดิษฐานภายใต้เศวตฉัตรสามชั้นแวดล้อมด้วยเครื่องประกอบพระเกียรติยศ ครั้นถึงวาระพระราชทานเพลิงพระศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถวายพระโกศทองน้องทรงพระศพ และให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้นกางกั้นพระโกศถวายเป็นเครื่องเพิ่มเติมพระเกียรติยศให้ปรากฏสืบไป

ต่อมา เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศร ราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระอัฐิสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทั้งนี้ก็โดยที่ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระคุณูปการที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ทรงปฏิบัติบำเพ็ญ ทั้งต่อพระองค์และต่อคณะสงฆ์ พุทธบริษัท ชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการมายาวนาน ถ้าคณนาโดยพระชนมายุ ก็ถึง 100 ปี โดยพระสมณฐานันดรที่สกลมหาสังฆปริณายกก็ถึง 24 ปี ซึ่งนับว่ายาวนานกว่า สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใดในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวโดยพระสมณกิจอันนับเนื่องในบรมนาถบพิตรสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ก็ได้ทรงสนองพระราชกิจจานุกิจอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องมาทั้ง 2 รัชกาล

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น ถวายกางกั้นพระรูปบรรจุพระสรีรางคาร ณ วัดบวรนิเวศวิหารกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้แบ่งพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ เชิญมาประดิษฐานในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป้นที่ทรงสักการบูชาและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายในพระฐานะพระบุพการีทางธรรมสืบไป

ข้อมูลจาก https://sangharaja.org/

23 ตุลาคม วันปิยมหาราชขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องในวาระวันคล้ายวันสวรรคต เป...
23/10/2021

23 ตุลาคม วันปิยมหาราช
ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องในวาระวันคล้ายวันสวรรคต เป็นปีที่ 111
วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2564
—————————————

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396

เมื่อทรงเจริญพระชนมายุควรแก่การศึกษา
ได้ทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ อาทิ
ทรงศึกษาอักขรสมัย
กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี
ศึกษาภาษามคธกับพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม)
ศึกษาการยิงปืนไฟกับพระยาอภัยศรเพลิง (ศรี)
ศึกษาภาษาอังกฤษกับนางลิโอโนเวน ชาวอังกฤษ
นายจันดะเล หมอสอนศาสนา ชาวอเมริกัน
และนายแปตเตอสัน ชาวอังกฤษ
ส่วนวิชารัฐศาสตร์ ราชประเพณี และโบราณคดี
ทรงศึกษาและรับพระราชทานพระบรมราโชวาทจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ

ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411
เหล่าพระบรมวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
และพระสงฆ์ ได้กราบบังคมทูลเชิญ
เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
เมื่อพระชนมายุได้เพียง 15 พรรษา จึงได้ทรงแต่งตั้ง
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค หรือต่อมาเป็น
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)
เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
อาทิ ทรงประกาศเลิกทาส ทรงปฏิรูประบบราชการ
โดยทรงตั้งกระทรวงต่าง ๆ รวม 12 กระทรวง
ทรงขยายการศึกษาออกไปสู่ราษฎรทุกระดับ
ได้พระราชทานพระตำหนักสวนกุหลาบ
ให้เป็นโรงเรียน และมีการตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎร
แห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม
โปรดเกล้า ฯ ให้ตัดถนนใหม่หลายสาย
ทรงให้สร้างทางรถไฟเพื่อให้ประชาชน
เดินทางสะดวกขึ้น ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทย
พระองค์แรกที่เสด็จประพาสนอกพระราชอาณาจักร
และทรงเป็นพระมหากษัตริย์จากบูรพาทิศ
พระองค์แรกที่เสด็จยุโรป
โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโรงพยาบาลวังหลัง
(ต่อมาพระราชทานนามใหม่ว่าโรงพยาบาลศิริราช)

13/10/2021
•คิดถึงองค์ พระทรงชัย ใจจะขาดบรมนาถ มหาบพิตร อดิศรพระเสด็จ สวรรคาลัย ใจอาวรณ์แทบม้วยมรณ์ ตามองค์ พระทรงชัย•พระทรงเป็น ปิ...
13/10/2021

•คิดถึงองค์ พระทรงชัย ใจจะขาด
บรมนาถ มหาบพิตร อดิศร
พระเสด็จ สวรรคาลัย ใจอาวรณ์
แทบม้วยมรณ์ ตามองค์ พระทรงชัย

•พระทรงเป็น ปิตุเรศ องค์เกศแก้ว
แสนเพริศแพร้ว มหาบุรุษ พิสุทธิ์ใส
ทศพิธ ราชธรรม นำพระทัย
สว่างไสว ส่องหล้า ทั่วธาตรี

•แม้นประชา ถิ่นใด ได้ทุกข์ยาก
พระบั่นบาก บุกไป ถึงในที่
แก้ปัญหา ไพร่ฟ้า ประชาชี
ให้อยู่ดี กินดี ไม่มีภัย

•แม้นที่ใด ไฟสงคราม ยังลามอยู่
พระทรงรู้ เหตุแท้ ทรงแก้ไข
ให้ชาติไทย ดำรง คงเป็นไท
ให้เราได้ ร่มเย็น เป็นสุขดี

•พระบำบัด ทุกข์ภัย ให้ทวยราษฎร์
แม้นฝนขาด ไม่ตกต้อง ให้หมองศรี
ทรงคิดค้น ฝนหลวง ทันท่วงที
หาวิธี เรียกฟ้าฝน ดลตกมา

•ที่สิบสาม ตุลาคม ประนมกร
ด้วยอาวรณ์ บังคม ก้มเกศา
ระลึกถึง พระมหา กรุณา
ผองปวงข้าฯ เทิดไว้ ไปชั่วกาล

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต เป็นปีที่ ๕
วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้าพระพุทธเจ้า
คณะผู้จัดทำและผู้ดูแลเพจพระมนูแถลงสาร
สมาคมหนังสือพิมพ์ วชิราวุธวิทยาลัย
(ประพันธ์โดย ผศ.ดร.กระสินธุ์ หังสพฤกษ์)

๑๐๔ ปี วันพระราชทานธงไตรรงค์———————————————แต่เดิมนั้นประเทศไทยเรายังไม่มีธงชาติ มีแต่เพียงธงพื้นสีแดงที่ปรากฎอยู่ในจดหม...
28/09/2021

๑๐๔ ปี วันพระราชทานธงไตรรงค์
———————————————
แต่เดิมนั้นประเทศไทยเรายังไม่มีธงชาติ
มีแต่เพียงธงพื้นสีแดงที่ปรากฎอยู่ใน
จดหมายเหตุของประเทศฝรั่งเศส
ที่ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๒๒๓
เรือเลอโวตูร์ เรือรบของประเทศฝรั่งเศส
มีนายเรือชื่อมองซิเออร์ คอนูแอน
ได้นำเรือรบลำนี้เข้ามาถึงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเจริญพระราชไมตรีและเพื่อการค้า
มองซิเออร์ คอนูแอน ได้สอบถามทางกรุงศรีอยุธยาว่า
ขอยิงสลุตให้ เมื่อเรือรบแล่นผ่านป้อมวิไชยเยนทร์
(ป้อมวิไชยประสิทธิ์ในปัจจุบัน)
ซึ่งเป็นไปตามประเพณีของชาวยุโรป
ทางกรุงศรีอยุธยาจะขัดข้องหรือไม่

คราวนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ยิงสลุตได้
พร้อมกับมีพระราชกระแสรับสั่ง
ให้ออกพระศักดิ์สงคราม เจ้าเมืองบางกอก
กำกับให้ทางป้อมยิงสลุตตอบรับด้วย
แต่การตอบรับจะต้องชักธงชาติเป็นสัญลักษณ์
ตอบรับด้วย ซึ่งในขณะนั้นสยามยังไม่มีธงชาติ
เป็นสัญลักษณ์แทนราชอาณาจักร
จึงได้ใช้ธงชาติของประเทศฮอลันดาแทน
แต่มองซิเออร์ คอนูแอนไม่ยอมรับ
ด้วยเหตุผลว่าไม่ใช่ธงชาติสยาม
จึงแจ้งกลับมาว่าให้นำธงชาติของฮอลันดาลง
แล้วให้ชักธงอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นแทน

ครั้งนั้นสยามจึงแก้ไขด้วยการนำเอาธงแดง
ที่มีอยู่ในขณะนั้นชักขึ้นแทนธงชาติ
ทำให้เรือรบของฝรั่งเศสยิงสลุตคำนับ
จากนั้นมาก็ไม่มีการแก้ไขใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องธง
กลายเป็นว่า “ธงแดง” คือสัญลักษณ์
แทนราชอาณาจักรสยามไปโดยปริยาย

ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ก็ยังคงใช้ธงสีแดงเกลี้ยงชักเป็นเครื่องหมาย
ประจำเรือค้าขายกับต่างประเทศอยู่
ธงแดงนี้ใช้ชักขึ้นทั้งในเรือหลวงและเรือราษฎร
แต่ต่อมาในรัชสมัยของ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงมีพระราชดำริว่าเรือหลวงกับเรือราษฎร
ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
ให้ใช้รูปจักรสีขาวอันเป็นเครื่องหมาย
แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ไว้กลางธงผ้าพื้นสีแดง
สำหรับใช้ชักในเรือหลวง ส่วนเรือราษฎร
ยังคงใช้ธงแดงเช่นเดิม

ครั้นถึงรัชสมัยของ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
มีช้างเผือกเข้ามาสู่พระราชสมภาร
ถึง ๓ ช้าง ได้แก่ พระยาเศวตกุญชร
พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
ให้ตรารูปช้างเผือกไว้กลางวงจักรสีขาว
สำหรับใช้ชักในเรือหลวง

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชดำริว่าธงของเรือค้าขาย
ของชาวสยามนั้นเหมือนกับธงชาติอื่น
เพื่อไม่ให้เกิดการสับสนจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
ให้เรือของราษฎรชาวสยามใช้ธงเหมือนอย่างเรือหลวง
แต่ให้เอารูปจักรออกเหลือเพียงช้างเผือกบนพื้นสีแดง

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ กำหนดให้
ธงชาติมีพื้นธงสีแดง มีรูปช้างเผือก
ทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสาธง
สำหรับเป็นธงราชการ

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ออกประกาศเพิ่มเติม
และแก้ไขพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙
โดยทรงกำหนดให้แก้ไขธงสำหรับเรือราษฎร
หรือที่เรียกว่าธงค้าขายโดยทรงกำหนดให้
มีลักษณะเป็นริ้วแดงขาวสลับกัน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยในช่วงต้น
สยามยังวางตัวเป็นกลาง แต่ต่อมา
เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงตัดสินพระทัยนำชาติเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร
และทรงประกาศสงครามกับเยอรมนี
และออสเตรีย-ฮังการี ด้วยทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า
การเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
รวมทั้งยังจะเป็นประโยชน์กับประเทศ
มากกว่าการวางตัวเป็นกลาง

ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง
พระพุทธศักราช ๒๔๖๐
เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
ให้เพิ่มสีน้ำเงินแก่ (สีขาบ) ไว้กลางธง
โดยทรงมีพระราชดำริว่าธงสำหรับชาติสยาม
ที่ใช้อยู่นั้นยังไม่สง่างามพอสำหรับประเทศ
สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าอีกสีหนึ่ง
ให้เป็นสามสีตามลักษณะธงชาติของประเทศสัมพันธมิตร
เพื่อแสดงว่าสยามได้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
กับสัมพันธมิตรอีกทั้งสีน้ำเงินนั้น
เป็นสีอันเป็นสิริมงคลแก่พระชนมวาร

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงอธิบายความหมายของแถบสีบนธงไตรรงค์
ไว้ในพระราชนิพนธ์ “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์”ไว้ว่า

๐ ขอร่ำรำพรรณบรรยาย
ความคิดเครื่องหมาย
แห่งสีทั้งสามงามถนัด

๐ ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์
หมายพระไตรรัตน์
และธรรมะคุ้มจิตไทย

๐ แดงคือโลหิตเราไซร้
ซึ่งยอมสละได้
เพื่อรักษะชาติศาสนา

๐ น้ำเงินคือสีโสภา
อันจอมประชา
ธโปรดเปนของส่วนองค์

๐ จัดริ้วเข้าเปนไตรรงค์
จึ่งเปนสีธง
ที่เราแห่งเราชาวไทย

๐ ทหารอวตารนำไป
ยงยุทธ์วิชัย
วิชิตก็ชูเกียรติสยาม ฯ

จากพระราชนิพนธ์ดังกล่าว เป็นที่ประจักษ์ว่า
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเป็นนักออกแบบธงชั้นยอดที่สามารถออกแบบธง
ให้มีความหมายรวมถึงสถาบันหลักของแผ่นดิน
เป็นสัญลักษณ์บนธงได้อย่างสวยงาม กล่าวคือ

สีแดง หมายถึง ชาติ คือ ประชาชน
สีขาว หมายถึง ศาสนา
สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ ก็ยังไม่ทรงทิ้งรูปแบบธงเดิม
ที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของธง
ทรงรักษาและให้ปรากฎอยู่บนธงราชนาวี
ซึ่งเป็นธงชาติอีกแบบหนึ่งที่ใช้ชักในเรือหลวง

นอกจากธงไตรรงค์ และธงราชนาวีแล้ว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้พระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่
กองทหารอาสาสยามที่เข้าร่วมรบ
ซึ่งธงชัยเฉลิมพลนี้มีลักษณะอย่างธงไตรรงค์
แต่มีการเพิ่มรูปสัญลักษณ์พิเศษลงในธง
โดยด้านหน้าธง
เป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น
ในวงกลมพื้นสีแดง
ด้านหลัง
เป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร.๖ สีขาบ
ภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมีสีเหลือง
ในวงกลมพื้นสีแดง
ที่แถบสีแดงทั้งแถบบน แถบล่างทั้งสองด้าน
จารึกพุทธมงคลชัยคาถา บทแรก (ภาษาบาลี)
เพื่อความเป็นสิริมงคล
โดยที่ธงชัยเฉลิมพลนี้ ทหารอาสาของไทย
ได้อัญเชิญเข้าร่วมการสวนสนามฉลองชัยชนะ
ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒

โดยหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ ๑
ด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร
เหตุก็เป็นไปดังพระบรมราชวิสัยทัศน์
กล่าวคือ สยามในฐานะประเทศผู้ชนะสงคราม
ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ
(League of Nation) ทัดเทียมกับประเทศต่าง ๆ
และได้แก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
อันเป็นคุณูปการสำหรับชาติไทยตราบจนทุกวันนี้
********************************
ข้อมูลจากหนังสือ
คู่มือธงไตรรงค์ ธำรงไทย
จัดพิมพ์โดย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

24 กันยายน วันมหิดล
24/09/2021

24 กันยายน วันมหิดล

เมื่อกองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1 ได้จัดการฝึกหัดและสอบไล่ความรู้และความสามารถชั้นต้นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับลักษณปกครองลูก...
02/09/2021

เมื่อกองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1 ได้จัดการฝึกหัด
และสอบไล่ความรู้และความสามารถชั้นต้น
ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับลักษณปกครองลูกเสือ
ข้อ 33 แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้
กองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1 (มหาดเล็กหลวง)
ทำพิธีเข้าประจำกองเฉพาะพระพักตร์
เป็นกองลูกเสือกองแรกของประเทศสยาม
ที่สนามสโมสรเสือป่า พระราชวังดุสิต
เมื่อวันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2454
“ผู้กำกับได้ฝึกหัดลูกเสือถวายตัว
แลได้มีการสอบซ้อมวิชาลูกเสือ
ตามแบบซึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้
สำหรับสั่งสอนเสือป่าแลลูกเสือ” แล้ว
ในวันเดียวกันนั้นได้พระราชทานนาม
กองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1 (มหาดเล็กหลวง)
ซึ่งเป็นกองเริ่มแรกที่ได้ตั้งขึ้นนั้นว่า
“กองลูกเสือหลวง” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้กองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1 (ลูกเสือหลวง)
รวมการปกครองอยู่ในกองร้อยหลวง
หรือกองร้อยที่ 1 กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์
ซึ่งทรงบังคับบัญชาด้วยพระองค์เอง
มาแต่แรกตั้งกอง

ข้อมูลโดยอาจารย์วรชาติ มีชูบท
ในจดหมายเหตุวชิราวุธ

18 สิงหาคมวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ———————————วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถพระบาทสมเ...
18/08/2021

18 สิงหาคม
วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
———————————
วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้ถูกกำหนดขึ้น
เพื่อน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ทรงคำนวณไว้ว่าในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411
จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงโดยจะเห็นชัดที่
ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โดยทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี
การนี้จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลา
ที่ประทับ มีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส
และเซอร์ แฮรี่ ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์
เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์

ผลการคำนวณของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแม่นยำมาก
โดย เซอร์ แฮรี่ ออด ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้
ซึ่งต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
ได้แปลเป็นภาษาไทยในงานหว้ากอรำลึก
ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เมื่อ พ.ศ. 2518 ว่า
"พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลา
สุริยุปราคาของพระองค์ ได้พิสูจน์แล้วว่า
ถูกถ้วนที่สุด ถูกถ้วนยิ่งกว่า
ที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้"

ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์
ที่ได้รับการยกย่องในระดับสากล
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเทิดพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"
เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525
พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี
เป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ"

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีพระบรมราชโองการถวายพระราชสมัญญา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็น “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี
ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช”

ขอขอบคุณภาพพระบรมฉายาลักษณ์ลงสี
และภาพลงสีจากเพจ สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ
และภาพจากอินเตอร์เน็ต

12 สิงหาคม 2564 วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงซึ่งในปีนี้ทรงเจริญพร...
12/08/2021

12 สิงหาคม 2564 วันเฉลิมพระชนมพรรษา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ซึ่งในปีนี้ทรงเจริญพระชนมพรรษา 89 พรรษา
———————————————
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นธิดาใน
หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร
(ภายหลังคือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ)
กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร (ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์)
เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475
ณ บ้านของพลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์
(หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์)
ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร
สำหรับพระนาม "สิริกิติ์" ได้รับพระราชทานจาก
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า
"ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร" เรียกโดยลำลอง
ว่า "คุณหญิงสิริ”
เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
(พระราชอิสริยยศในขณะนั้น)
ทรงให้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น
กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ วังสระปทุม
โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นองค์ประธาน
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
โปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนา
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นเป็น
"สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์"
พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง
มหาจักรีบรมราชวงศ์ในการนี้ด้วย
ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ทรงรับการบรมราชาภิเษก
เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์
ตามโบราณขัตติยราชประเพณีแล้ว
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ
สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
ขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี”
เมื่อ พ.ศ. 2499
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มีพระราชประสงค์จะผนวชเป็นพระภิกษุ
ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน
เป็นระยะเวลา 15 วัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ผนวช
ต่อมาในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
5 ธันวาคมปีเดียวกันนี้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มีพระบรมราชโองการประกาศว่า ตามราชประเพณี
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เคยมีประกาศให้ออกพระนามว่า
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
และทรงพระราชดำริว่า
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในระหว่างที่ผนวช และได้ปฏิบัติพระราชภารกิจ
แทนพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถ
สนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่า
"สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”
และภายหลังจากที่
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559
รัฐสภาจึงกราบบังคมทูลอัญเชิญ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
เสด็จขึ้นทรงราชย์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559
โดยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562
มีพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี
ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณ์อดุลยเดช
สยามินทราธิเบศรราชวโรดม
บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2562
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย
สมเด็จพระบรมชนกนาถ
ตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
และเฉลิมพระนามาภิไธย
สมเด็จพระบรมราชชนนีว่า
“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

วันนี้ในอดีต เมื่อ 101 ปีที่แล้ววันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2463 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรก...
07/08/2021

วันนี้ในอดีต เมื่อ 101 ปีที่แล้ว
วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2463
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สิ้นพระชนม์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กับเจ้าจอมมารดาตลับ ประสูติเมื่อวันพุธ
ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ จุลศักราช 1236 
ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417
ได้รับพระราชทานนามจากพระราชบิดาว่า
“รพีพัฒนศักดิ์”
ทรงเป็นต้นราชสกุลรพีพัฒน์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีพระราชดำริให้พระราชโอรส ไปศึกษา
ยังต่างประเทศ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
เป็นพระราชโอรสกลุ่มแรก
ที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป
เมื่อ พ.ศ.2428 พร้อมกัน 4 พระองค์
คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์
(กรมพระจันทบุรีนฤนาถ),
พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
(กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์),
พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม
(กรมหลวงปราจิณกิติบดี)
และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช
(กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช)
เมื่อพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
ทรงสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมาย
จากประเทศอังกฤษได้กลับมารับราชการ
ทรงเป็นผู้วางรากฐานด้านกฎหมายในเมืองไทย
จนได้รับพระสมัญญานามว่า
“พระบิดาแห่งกฎหมายไทย”
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สิ้นพระชนม์
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463
จึงกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี
เป็น “วันรพี” เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณงามความดี
และคุณูปการของพระองค์ต่อวงการกฎหมายไทย
-------------------------------------------
ข้อมูลจาก ศิลปวัฒนธรรม
ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

วันนี้ในอดีตวันที่ 1 สิงหาคม 2478 พระบาทสมเด็จพระปรเมทรมหาอานันทมหิดลพระอัฐมรามาธิบดินทรมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่ง...
01/08/2021

วันนี้ในอดีต

วันที่ 1 สิงหาคม 2478
พระบาทสมเด็จพระปรเมทรมหาอานันทมหิดล
พระอัฐมรามาธิบดินทร
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
พระพณิชยสารวิเทศ (ผาด มนธาตุผลิน)
เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย
ต่อจากพระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ)

ก่อนเข้ามารับตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย
พระพณิชยสารวิเทศ เคยดำรงตำแหน่งต่าง ๆ อาทิ
อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา
อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร
ผู้กำกับคณะพณิชยสารวิเทศ (คณะพญาไทในปัจจุบัน)
ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ
ผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการ

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2485 ท่านได้ลาออก
จากตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย
เพราะไม่ใคร่สบายเกี่ยวกับโรคกระเพาะ
แต่ก็คงยังรับสอนพิเศษยังที่ต่าง ๆ
เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โรงเรียนเทเวศร์ศึกษา

พระพณิชยสารวิเทศ ถึงแก่กรรมเมื่อ
วันที่ 30 ธันวาคม 2513
ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก
สิริอายุ 83 ปี

ข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์รุ่น
วชิราวุธวิทยาลัย รุ่น 71

วันนี้ในอดีต เมื่อ ๕๙ ปีที่แล้ววันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิ...
29/07/2021

วันนี้ในอดีต เมื่อ ๕๙ ปีที่แล้ว
วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมการประชุมครั้งนี้
ที่คณะอักษรศาสตร์เป็นการส่วนพระองค์
ทรงเป็นประธานของที่ประชุม ทรงร่วมอภิปราย
"ปัญหาการใช้คำไทย" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ เข้าร่วมชี้แจงปัญหา
การใช้คำไทยด้วย

ในครั้งนั้นได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัย
และความห่วงใยในปัญหาการใช้ภาษาไทย
จนเป็นที่ประทับใจผู้ร่วมประชุมเป็นอย่างมาก
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้
แก่คณะอักษรศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรก
และครั้งเดียวที่ทรงร่วมอภิปราย
ในการประชุมทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย

ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติ
เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
เห็นชอบให้กำหนดวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี
เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์
เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ที่ได้พระราชทานแนวคิดต่างๆ
เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย รวมทั้งเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง
เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ
ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
ตลอดจนเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติ
ให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย
อันจะนำไปสู่การร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุง
และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์
และสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า
ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

ขอขอบคุณภาพจากคณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และภาพจากอินเตอร์เน็ตครับ

ทรงพระเจริญ
28/07/2021

ทรงพระเจริญ

28 กรกฎาคม 2564 วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งในปีนี้ทรงเจริญพระชนมพรรษา 69 พรรษา——————————————-พระบ...
28/07/2021

28 กรกฎาคม 2564 วันเฉลิมพระชนมพรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ซึ่งในปีนี้ทรงเจริญพระชนมพรรษา 69 พรรษา
——————————————-
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี
ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชสมภพเมื่อ
วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2495
ทรงเป็นพระราชโอรสใน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เมื่อมีพระชนมายุได้ 1 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนาม
ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ทรงเป็นผู้ตั้งพระนามถวายตามดวงพระชะตาว่า

“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ
บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ์ เทเวศรธำรงสุบริบาล
อภิคุณูปการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร
กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”

ต่อมาเมื่อทรงเจริญพระชนมายุ 20 พรรษา
พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา
ให้ดำรงพระอิสริยยศ “สยามมกุฎราชกุมาร”
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515
มีพระนามาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏว่า

“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน วรขัตติยราชสันตติวงศ์
มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ
สยามมกุฎราชกุมาร”

ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่
ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พสกนิกรชาวไทย
ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของ
สมเด็จพระบรมชนกนาถโดยเฉพาะ
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา
ที่ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ
ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา
ต่อการพัฒนาชาติบ้านเมือง อาทิ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนมัธยมศึกษา
ในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

ต่อเมื่อเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เสด็จสวรรคต ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ปฏิบัติหน้าที่ในนามประธานรัฐสภา
กราบบังคมทูลอัญเชิญ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
พระรัชทายาท เสด็จขึ้นทรงราชย์
เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10
แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2559 มีพระปรมาภิไธย
ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ
บดินทรเทพยวรางกูร”

ภายหลังที่ทรงขึ้นทรงราชย์แล้ว
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน
ยังวชิราวุธวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในรัชกาล
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560
ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตร ทุน และรางวัล
แก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
ประจำปีการศึกษา 2558
ซึ่งในครั้งนั้นวชิราวุธวิทยาลัย
ได้จัดพิธีถวายตัวเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท
และถวายครุยองค์ราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย

และเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น
ตามโบราณขัตติยราชประเพณี
และเฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึก
ในพระสุพรรณบัฏว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี
ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
มหิศรภูมิพลราชวรางกูร
กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช
สยามินทราธิเบศรราชวโรดม
บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวชิราวุธวิทยาลัย
อย่างหาที่สุดมิได้มาโดยตลอด
ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศที่
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
มาพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัล
แก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นครั้งแรก
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520
โดยเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์
มาพระราชทานประกาศนียบัตร
และรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
อุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังเสด็จพระราชดำเนิน
มาทรงเปิดอาคารต่างๆของโรงเรียน อาทิ
อาคารคณะใหม่ (คณะจงรัก คณะภักดี
คณะศักดิ์ศรี คณะมงคล) อาคารนวมภูมินทร์ ฯลฯ
และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้วชิราวุธวิทยาลัยเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา
เราทำความดีด้วยหัวใจ
การแสดงดนตรีในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว
นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานเลี้ยงอาหารเย็นแก่คณะผู้บริหาร
ครู บุคลากรและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
เป็นประจำทุกเดือน

27 กรกฎาคม 2564วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีเป็นปีที่ 10——————————...
27/07/2021

27 กรกฎาคม 2564
วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ
เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
เป็นปีที่ 10
——————————
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ
เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468
เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียว
ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานพระนาม "เพชรรัตนราชสุดา"
ในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่
และโปรดให้ออกพระนามว่า
“สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ
เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี”

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
พระอัฐมรามาธิบดินทร มีพระบรมราชโองการ
ให้ออกพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ
เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ
เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ทรงมุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธาน
ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
อย่างจริงจัง โดยเฉพาะทรงอุปการะกิจการต่าง ๆ
ของวชิราวุธวิทยาลัยมาโดยตลอด
ทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
และในส่วนพระองค์ อาทิ การเสด็จแทนพระองค์
ไปในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศ
ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จแทนพระองค์ไปในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตร
และรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ในการอุดหนุนกิจการต่างๆของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากจะทรงอุปการะกิจการต่างๆของวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว
ยังทรงพระกรุณาให้ครูและนักเรียนเข้าเฝ้าถวายพระพร
เนื่องในวันประสูติ ณ วังรื่นฤดีเป็นประจำ
และเมื่อคราวฉลองพระชนมายุ 6 รอบ
วชิราวุธวิทยาลัยจัดงานเฉลิมฉลอง
ก็ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในการนี้ด้วย

ทั้งนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา
สิริโสภาพัณณวดี เสด็จวชิราวุธวิทยาลัย
เป็นการส่วนพระองค์ซึ่งเป็นการเสด็จยังวชิราวุธวิทยาลัย
เป็นครั้งสุดท้ายของพระองค์

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ
เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการติดเชื้อ
ในกระแสพระโลหิต
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
เวลา 16.37 น. รวมพระชันษา 85 ปี

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สำนักพระราชวัง จัดการพระศพ
ถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี
ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ในพระบรมมหาราชวัง

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงาน
จัดสัปตปฎลเศวตฉัตร กางกั้นพระโกศ
เป็นการพระราชทานพระเกียรติยศให้สูงขึ้น
ตามโบราณราชประเพณี

ที่อยู่

Bangkok
10300

เบอร์โทรศัพท์

+6626694526

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ พระมนูแถลงสารผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

ติดต่อ ธุรกิจของเรา

ส่งข้อความของคุณถึง พระมนูแถลงสาร:

แชร์