04/10/2023
#เด็กอายุ 14 ปี ทำความผิดไม่ต้องรับโทษทางอาญา แต่ยังต้องรับผิดในทางแพ่ง
ตามพ.ร.บ.เด็กและเยาวชนนิยามคำว่า “เด็ก” คือ บุคคลที่อายุไม่เกิน 15 ปี ส่วนคำว่า “เยาวชน” คือ บุคคลที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี
โดยยึดถืออายุของเด็กและเยาวชนในวันที่กระทำความผิด (พ.ร.บ.เด็กและเยาวชนมาตรา 5)
กฎหมายแบ่งแยกความรับผิดเป็นทางแพ่งและอาญา
ในทางอาญา กฎหมายแบ่งช่วงอายุของผู้กระทำความผิดไว้ ดังนี้
• มาตรา 73 เด็กอายุยังไม่เกิน 12 ปี กระทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ
• มาตรา 74 เด็กอายุกว่า 12 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจดำเนินการใดๆ เช่น
- ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป หรือ
- ศาลจะเรียกบิดามารดา หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ด้วยมาว่ากล่าวตักเตือนด้วยก็ได้ หรือ
- ศาลวางข้อกำหนดให้บิดามารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่กำหนดไม่เกิน 3 ปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรชำระแก่ศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาทเมื่อเด็กก่อเหตุร้ายขึ้นอีก หรือ
- ส่งตัวเด็กไปสถานฝึกอบรม หรือ
- กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติ เป็นต้น
• มาตรา 75 ผู้ใดอายุกว่า 15 แต่ต่ำกว่า 18 ปี กระทำความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้นในอันที่จะวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ หากเห็นว่าไม่สมควรลงโทษก็ปฏิบัติตามมาตรา 74 หากเห็นว่าควรลงโทษก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงกึ่งหนึ่ง
• มาตรา 76 ผู้ใดอายุ 18 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปี กระทำความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้
#ในทางอาญาจึงสรุปได้ว่าเด็กกระทำความผิดก็ถือเป็นความผิด แต่จะต้องรับโทษหรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็เป็นไปตามบทกฎหมายข้างต้น ส่วนบิดามารดาไม่ต้องร่วมรับผิดกับเด็กในการกระทำความผิดทางอาญาด้วย
แต่ในทางแพ่ง กฎหมายกำหนดความรับผิดของบิดามารดากรณีที่เด็กกระทำความผิดไว้ชัดเจนในมาตรา 429 ว่า “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์..ก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดา..ต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น”
#ในทางแพ่งจึงสรุปได้ว่าเมื่อเด็กกระทำความผิดก็ต้องรับผิดในผลนั้น และบิดามาดาก็ต้องร่วมรับผิดกับเด็กด้วย เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าตนใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นแล้ว
อ้างอิง https://www.youtube.com/watch?v=KmlbtZwTkEk
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ, ประมวลกฎหมายอาญา, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์