(NBTC) เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารความถี่วิทยุเพื่อกิจการโทรคมนาคม และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม
กสทช.จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
วิสัยทัศน์และนโยบาย
แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2548 – 2550
แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551 - 2553)
ประวัติ
เมื่อวันที่ 4 สิง
หาคม 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ การจัดตั้งกรมไปรษณีย์ขึ้น และในช่วงเวลาเดียวกันการสื่อสารทางโทรเลขเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมโทรเลขขึ้นด้วย โดยได้รับช่วงงานโทรศัพท์จากกรมกลาโหม ต่อมากิจการไปรษณีย์และโทรเลขต้องอาศัยซึ่งกันและกัน มีความสอดคล้องกันอย่างใกล้ชิด ในปี พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมทั้งสองเข้าด้วยกันเป็น กรมไปรษณีย์โทรเลข โดยมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีพระองค์แรก[4]
นับแต่นั้นมากิจการไปรษณีย์โทรเลขทั้งในและต่างประเทศได้เจริญพัฒนามาเป็นลำดับ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของการติดต่อสื่อสารทั่วราชอาณาจักร หลังจากที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพสากลไปรษณีย์ (UPU) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ทำให้มีการประสานงานเชื่อมต่อการให้บริการระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมีบริการหลัก 3 ด้าน ได้แก่ บริการไปรษณีย์ บริการการเงิน และบริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะส่วนงานด้านโทรคมนาคมมีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ. 2475 มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในกรมไปรษณีย์โทรเลข มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการสื่อสารหลายฉบับ มีการปรับองค์กรให้เหมาะสมกับสภาพการณ์หลายครั้ง และมีการแยกงานสำคัญๆ ออกไปจัดตั้งเป็นหน่วยบริการหลายหน่วย เพื่อให้หน่วยงานเหล่านั้นมีโอกาสพัฒนาสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับองค์กรและสนองตอบความต้องการของประชานชนได้อย่างเพียงพอ ได้แก่
งานวิทยุกระจายเสียงในประเทศ โอนไปขึ้นกับกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ ในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. 2482
กิจการของกองคลังออมสิน แยกออกไปจัดตั้งเป็น ธนาคารออมสิน เมื่อปี พ.ศ. 2489
กิจการวิทยุการบินพลเรือน แยกออกไปจัดตั้งเป็น บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2491
กิจการโทรศัพท์ในประเทศ แยกออกไปจัดตั้งเป็น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. 2497
ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 จึงมีการแยกส่วนงานของกรมไปรษณีย์โทรเลขอีกครั้ง คือ
งานระดับปฏิบัติการทางด้านไปรษณีย์และโทรคมนาคม แยกไปขึ้นอยู่กับรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่ คือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน) ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการด้านการสื่อสารแก่สาธารณะ ทั้งบริการไปรษณีย์ โทรคมนาคม และบริการการเงิน
กรมไปรษณีย์โทรเลขรับผิดชอบงานนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 อันเกี่ยวข้องกับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุ งานนโยบาย งานวิชาการ งานวิจัยพัฒนา และงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารในประเทศและระหว่างประเทศ
องค์กรและหน่วยงานในกำกับ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (อังกฤษ: Office of National Telecommunications Commission) หรือ สำนักงาน กทช. - พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 มีผลให้มีการโอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ และงบประมาณของกรมไปรษณีย์โทรเลขไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมทั้งข้าราชการและลูกจ้างของกรมไปรษณีย์โทรเลข สำนักงาน กทช. มีเลขาธิการ กทช. เป็นผู้บริหารสูงสุดที่รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน และรายงานขึ้นตรงต่อ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (อังกฤษ: Telecommunications Research and Industrial Development Institute) หรือ สพท. - จัดตั้งขึ้นโดย คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามภารกิจของอำนาจหน้าที่ในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 มาตรา 51 (15) และ (16) กล่าวคือ การส่งเสริมการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (อังกฤษ: Telecommunications Consumer Protection Institute) หรือ สบท. - จัดตั้งขึ้นโดย กทช. ในปี พ.ศ. 2550 เพื่อดำเนินการต่างๆ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2
สถานีวิทยุ 1 ปณ. - เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ขึ้นตรงกับ สำนักงาน กทช. ทำการส่งกระจายเสียงจากกรุงเทพมหานคร โดยสามารถส่งสัญญาณได้จนถึงปริมณฑล และบริเวณที่ใกล้เคียง ปัจจุบันส่งกระจายเสียงในระบบวีเอชเอฟ ภาค เอฟ เอ็ม ความถี่ 98.5 MHz และ 106.5 MHz แต่ในขณะนี้ทางสถานีฯได้ให้เอกชนเช่าคลื่นความถี่และสัมปทานอยู่
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติมีทั้งหมด 7 คน ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียวนาน 6 ปี ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสามปี ให้กรรมการออกจากตำแหน่งจำนวนสามคนโดยวิธีจับสลาก
คณะกรรมการปัจจุบัน
ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ - ประธานกรรมการ
นายสุชาติ สุชาติเวชภูมิ
รองศาสตราจารย์ สุธรรม อยู่ในธรรม
นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร
นายบัณฑูร สุภัควณิช
รองศาสตราจารย์ พนา ทองมีอาคม
พันเอก นที ศุกลรัตน์
ประธานและกรรมการในอดีต
พลเอก ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ (24 สิงหาคม พ.ศ. 2547 - 28 กันยายน พ.ศ. 2550) - อดีตประธานกรรมการ
ดร. อาทร จันทวิมล (1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 – 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549)
ศาสตราจารย์ เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ (24 สิงหาคม พ.ศ. 2547 - 28 กันยายน พ.ศ. 2550)
นายเหรียญชัย เรียววิไลสุข (24 สิงหาคม พ.ศ. 2547 - 28 กันยายน พ.ศ. 2550)
การจัดตั้ง กสทช.
พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ทำให้สถานะของ กทช. ต้องยุติลง และจัดตั้ง กสทช. ขึ้นแทน
การโอนกิจการ
เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 การโอนกิจการไปสู่การเป็นคณะกรรมการทั้ง องค์กร มีดังต่อไปนี้
19 มกราคม พ.ศ. 2545 กรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม ได้โอนถ่ายบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ หน้าที่ ความรับผิดชอบ การปฏิบัติงานทั้งหมด ไปเป็น สำนักงาน กทช. ส่วนในด้านงบประมาณทั้งเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการกับลูกจ้างซึ่งยังมีผลครอบครองอยู่ พร้อมกับกลุ่มบุคคลเดิม ไปเป็นหน้าที่ของ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ในมาตรา 82,83,84
ส่วนในด้านของกรมประชาสัมพันธ์ ได้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ งบประมาณ การปฏิบัติงานทั้งหมด ในส่วนของกองงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ไปเป็น สำนักงาน กสช. ส่วนในด้านงบประมาณทั้งเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการกับลูกจ้างซึ่งยังมีผลครอบครองอยู่ พร้อมกับกลุ่มบุคคลเดิม ให้ยังคงไว้กับกรมประชาสัมพันธ์อยู่เช่นเดิม ในมาตรา 85,86
ทั้งนี้ กรมไปรษณีย์โทรเลข ถูกยุบเลิกไปเป็น กทช. ตามกฎหมายพระราชกฤษฎีกายุบกรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2545 เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ก็ได้มีการโอนงานฝ่ายแผนงานไปรษณีย์ พ้นจากกรมฯโดยทันที หลังวันเปลี่ยนผ่านไปสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น ส่วนงานด้านโทรเลข ก็ได้ดำเนินการจนถึงปี พ.ศ. 2551 โดยขึ้นกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
แต่ต่อมา พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มีการประกาศบังคับใช้ ทำให้มีการรวมคณะกรรมการทั้งสอง คือ กทช. และ กสช. ไปจัดตั้งใหม่เป็น กสทช. แทน ในวันที่ 20 ธันวาคม ปีเดียวกัน